fbpx
เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด?

เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด?

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“หลายคนถามผมว่า ในแต่ละวันนั้นผมทำอะไรบ้าง ผมไม่ทราบว่าเราจะเล่าหน้าที่ของเราได้ครบถ้วนหรือเปล่า ผมรู้เพียงแต่ว่าผมและทหารไทยทุกนายทั่วประเทศ พร้อมที่จะทำทุกอย่าง เดินทางไปทุกแห่ง เพื่อที่จะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพราะเราคือ ทหารของประชาชน” – บางส่วนจากโฆษณาของกองทัพบก

 

คู่ค้าชาวไตัหวันของผมท่านหนึ่ง คุยกับผมเรื่องลูกชายสามคนของเขา ตอนนี้คนโตเรียนจบแล้ว และเพิ่งเสร็จจากการเข้ารับราชการทหารตามกฎหมายของไต้หวัน ที่ผู้ชายทุกคนต้องเข้ารับการฝึกเป็นทหารอย่างน้อยสี่เดือน

เขาเล่าว่าตลอดสี่เดือน วัยรุ่นเหล่านี้ถูกสั่งห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในค่าย ใช้ได้ในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุดที่พวกเขาจะออกมาเจอโลกภายนอก แต่ก็ต้องกลับกรมกองในตอนเย็นก่อนพระอาทิตย์ตก เวลาสี่เดือนนั้นดูจะเป็นเวลาที่ยาวนานไม่น้อย และหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับลูกผู้ชายไต้หวัน เพราะที่นี่ทุกคน ‘ต้อง’ เป็นทหาร ยกเว้นแต่ผู้ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าป่วยจริงๆ เท่านั้น ถึงได้รับการยกเว้น เพื่อนผมบอกว่าที่นี่การเป็นคนข้ามเพศก็ไม่ได้รับการยกเว้น

“ผมว่าน้อยไปหน่อยนะ สมัยผมเป็นทหารอยู่เกือบปี” ในมุมมองของผู้เป็นพ่อ เขามองว่าการที่ลูกได้มีโอกาสฝึกในค่ายทหารเป็นเรื่องดี เพราะนี่คือช่วงเวลาแห่งการเคี่ยวกรำเรื่องวินัยและความอดทน “เรากินนอนอย่างลำบาก แต่เมื่อผ่านมันมาได้ มันก็เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ”

เขาถามผมกลับว่า ที่เมืองไทยเราเกณฑ์ทหารกันอย่างไร ก็เลยเล่าให้ฟังว่าที่ประเทศเรามีระบบ ‘รักษาดินแดน’ เป็นการฝึกทหารระหว่างเรียนไฮสคูลซึ่งทำให้เราไม่ต้องเสี่ยงไปจับฉลากตอนอายุถึงเกณฑ์ ถึงตอนนี้เขาทำหน้างง

“ทำไมประเทศคุณทำอะไรแปลกๆ เป็นทหารทำไมต้องจับฉลาก มันไม่ใช่เรื่องสนุกเลย” โมเมนต์นั้นก็ไม่รู้จะตอบว่ายังไง ตอบไปแกนๆ ว่าก็คงเพราะเราเป็น ‘สยามเมืองยิ้ม’ มั้ง (ว่าแล้วก็ฉีกยิ้มหนึ่งที) ต่อให้เรื่องมันดูแย่และงี่เง่าแค่ไหน เราก็ยังหาช่องทางที่จะสนุกกับมันได้อยู่ดี

บทสนทนาบนโต๊ะอาหารคืนนั้น ทำให้ผมสงสัยขึ้นมาว่า เอ…แล้วการเกณฑ์ทหารในประเทศอื่นเขาทำกันยังไง มันมีจุดร่วมหรือจุดต่างกันอย่างไร

ใน The World Fact Book จัดทำโดย CIA มีการทำลิสต์ของประเทศที่ยังคงมีการเกณฑ์ทหารอยู่ ทั้งหมด 28 ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ปัจจัยทางการเมืองแตกต่างกันไป ขอยกตัวอย่างบางประเทศที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟัง

ประเทศที่ถือว่ามีการเกณฑ์ทหารยาวนานที่สุดคือ เกาหลีเหนือ พลเมืองทุกคนหลังจากที่จบการศึกษาระดับไฮสคูลต้องเข้าเป็นทหาร ไม่ว่าชายหรือหญิง ผู้ชายต้องเข้ารับราชการทหารเป็นระยะเวลา 10 ปี ขณะที่ผู้หญิง 7 ปี แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนทีเดียวที่จะต้องเป็นทหาร ชนชั้นที่เรียกตัวเองว่า ‘ซองบุน’ เช่น ลูกนายทหาร นักการเมือง ขุนนาง หรือผู้ที่มีภูมิหลังทางสังคมที่น่านับถือ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการฝึก แต่หากหนีทหารก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายที่รุนแรง (ซึ่งเอาจริงๆ ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหนี) ซึ่งนั่นทำให้เกาหลีเหนือขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีการเกณฑ์ทหารยาวนานที่สุด และมีจำนวนทหารสำรองมากที่สุดในโลก นั่นคือประมาณ 6.3 ล้านคน

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันอยู่อย่างเกาหลีใต้ ซึ่งผู้ชายต้องรับราชการนาน 21 เดือน น่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วไม่กี่ประเทศที่ให้พลเมืองวัยแรงงานหนุ่มสาวรับราชการนานขนาดนี้ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีวัยรุ่นเรียกร้องและตั้งคำถามกับการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ทำรายได้ให้ประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ เด็กรุ่นใหม่มองว่าประเทศชาติกำลังทำผิด เพราะสองปีของการเป็นทหาร ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้มากมายและขาดความต่อเนื่องของการสร้างฐานแฟนคลับในต่างประเทศ แต่ดูเหมือนยังไม่มีทีท่าอะไรออกมาจากรัฐบาล

ประเทศส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การเลือกผู้ชายเข้ามารับราชการทหารมากกว่าผู้หญิง แต่มีบางประเทศเช่นกันที่เงื่อนไขแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่นในนอร์เวย์ เนื่องจากเป็นประเทศที่คำนึงถึงเรื่องของสิทธิและความเท่าเทียมกันของประชากรมาเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งในทุกๆ ส่วนของสังคม สัดส่วนของหญิงชายและเพศทางเลือกน่าจะมีโอกาสในการทำสิ่งต่างๆ ได้พอๆ กัน นอร์เวย์จึงเป็นประเทศแรกที่เปลี่ยนกฎหมายให้กองทัพต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงที่เป็นทหารราว 40% และยังเปิดโอกาสให้เพศทางเลือกสามารถเข้ารับราชการทหารได้อีกด้วย เป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายเกี่ยวกับทหารที่ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิของพลเมืองเป็นที่ตั้ง ส่วนการเข้ารับการฝึกจะยาวนาน 19 เดือน โดยผู้หญิงระหว่าง 19-44 ปี ต้องเข้ารับการฝึกดังกล่าว คล้ายๆ กับการทบทวนการฝึกเป็นระยะๆ

แต่บางประเทศก็มีการจัดการกับกำลังสำรองที่แตกต่างกันออกไป ประเทศที่ยากจนอย่างรวันดา วิธีการฝึกของทหารเกณฑ์ออกจะดูเป็นแนวอาสาสมัครลูกเสือชาวบ้าน ในทุกเช้าวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน พลเมืองที่มีร่างกายแข็งแรงที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปีต้องเข้ารับการฝึก โดยผู้นำชุมชนจะเป็นผู้จัดการ โดยยึดตามหลักปฎิบัติของทางรัฐบาล

แม้จะดูง่ายๆ แต่นี่เป็นกุศโลบายในการสร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคม เพราะหลังจากเหตุการณ์การฆ่าล่างเผ่าพันธุ์ระหว่างเผ่าฮูลูกับตูซิสในช่วงทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นกับชุมชน และผสานรอยร้าวระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านการฝึกทหาร ซึ่งหลังจากผ่านมาได้สิบปี รวันดาพบว่านี่เป็นวิธีการที่ได้ผล ประชากรวัยหนุ่มสาวกว่า 80% เข้าร่วมในการฝึกประจำสัปดาห์เช่นนี้

โดยรวมแล้ว แต่ละประเทศก็มีการจัดการกับกำลังพลของตัวเองแตกต่างกันไป แล้วแต่ประวัติศาสตร์และสถานการณ์ทางสังคม

ทว่าหากเราเอาแผนที่โลกมากางบนโต๊ะแล้วชี้จุด จะพบว่าภูมิศาสตร์ของการสร้างกำลังทหารนั้น มีแนวโน้มว่าประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนมาก ได้เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารไปเป็นการรับสมัครหรือคัดเลือก โดยมองว่าทหารเป็นอาชีพๆ หนึ่ง ไม่แตกต่างจากครู พนักงานบัญชี หรือวิศวกร ไม่จำเป็นต้องเอาพลเมืองมาเป็นทหารอีกต่อไป บางประเทศก็ใช้วิธีการ ‘จ้าง’ ทหารจากต่างประเทศมาดูแลไปเลยก็มี

แต่สำหรับประเทศไทยที่ไม่เคยมีสงครามกับใครเป็นเรื่องเป็นราวมานาน การเกณฑ์ทหารและข่าววัยรุ่นข้ามเพศโดนทำข่าวในแต่ละปี ยังเป็นเรื่องที่คงอยู่คู่โทรทัศน์ไทย และทหารยังคงสั่งสมกำลังอย่างต่อเนื่อง จนอดคิดไม่ได้ว่า การที่เรามีระบบเกณฑ์ทหารแบบนี้ มันทำให้เราไม่หลุดพ้นจากกรอบความคิดแบบอำนาจนิยม รวมถึงการสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหารจริงหรือเปล่า

แล้วถ้าเรายกเลิกล่ะ มันจะปลดล็อคความเสี่ยงเรื่องการทำรัฐประหารได้ไหม

มีงานเขียนของธนัย เกตวงกต เรื่อง ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย ตอนหนึ่งคุณธนัยแสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า หนึ่งในปัจจัยหลักของการเกิดรัฐประหารคือการเกณฑ์ทหาร เพราะมันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เป็นการสร้าง ‘ช่องทางพิเศษ’ ในการหลีกเลี่ยงการยกเว้นการเป็นทหารเกณฑ์ โดยเฉพาะการตั้งกรมรักษาดินแดนขึ้น เพื่อให้คนที่มีโอกาสเรียนสูง (คิดถึงสมัย 70 ปีก่อน การเรียนชั้นมัธยมหรือ ปวส. ก็ถือว่าได้มีโอกาสเรียนสูงมาก) มีทางเลือกไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ภาระของการเป็นทหารจึงตกไปอยู่ที่ประชาชนที่ไม่มีทางเลือกและตกเป็นเบี้ยล่างของระบบอุปถัมภ์ ไม่แตกต่างจากการจ่ายเบี้ยหวัดของไพร่ตามหัวเมืองสมัยก่อน ที่หากพอมีเงินก็จ่ายเงินแลกกับการไม่ต้องมาเป็น ‘ข้า’ ของราชการ

ความคิดเรื่องการตั้งกรมการรักษาดินแดนเกิดขึ้นหลังจากการทำรัฐประหารใน พ.ศ.2490 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน โดยพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำรัฐประหาร พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในครั้งนั้นได้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 หรือที่เขาเรียกกันเล่นๆ ว่า ‘ฉบับใต้ตุ่มแดง’ มาใช้

ที่ใช้ชื่อนี้ก็เพราะมันเป็นฉบับที่ พล.ท.กาจ เก่งระดมยิง ผู้นำคนหนึ่งของคณะรัฐประหาร เป็นผู้ร่างไว้ตั้งแต่ระหว่างที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ยังบังคับใช้อยู่ และเอาไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มแดงในบ้าน เพราะกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลค้นพบและถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ

พอคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้เด็ดขาดแล้วในตอนค่ำของวันที่ 8 พฤศจิกายน นายเขมชาติ บุณยรัตพันธ์ ได้ใช้เวลาแก้ไขถ้อยคำอีก 7 ชั่วโมงก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูลขอให้ผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นมีพระบรมราชโองการประกาศใช้

แม้ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ก็ใช้อยู่นานนะครับ แล้วก็มีการแก้ไขบทบัญญัติหลายอย่าง เช่นว่า มีการกำหนดให้มีวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ซึ่งเปิดช่องทางให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ (ส่วนมากก็คือทหาร)

ต่อมาในวันที่ 29 มกราคม 2491 สถานการณ์ทางการเมืองภายใต้ระบอบอำนาจนิยม ทำให้นักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมและอำนาจนิยมเป็นผู้กุมอำนาจในสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่ฝ่ายทหารเคยเป็นผู้กุมอำนาจเสียส่วนใหญ่ และใช้เวทีของรัฐสภาในการดำเนินการปรับปรุงอำนาจทางการทหารต่างๆ (ฟังดูคุ้นๆ เนอะ)

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ มีการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักรโดยรัฐบาล (ของคณะรัฐประหาร) โดยเสนอร่างแก้ไขและจัดโครงสร้างภายในกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ หนึ่งในนั้นคือการจัดตั้งกรมการรักษาดินแดน

ในบันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดระเบียบการป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ.2490 ให้เหตุผลของการจัดตั้งกรมการรักษาดินแดนเพิ่มเติมว่า “เพื่อให้กิจการรักษาดินแดนเป็นไปอย่างทั่วถึง โดยวิธีการฝึกหัดให้พลเมืองปกป้องท้องที่ของตนเอง อันเป็นวิธีที่ประหยัดงบประมาณแผ่นดินและพลเมืองไม่เสียเวลาในการประกอบอาชีพ” และ “เป็นการช่วยกำลังทหารในยามที่ส่งหรือใช้กำลังทหารไปช่วยเหลือได้ไม่ทันท่วงที ดังที่ประเทศในเครือสหประชาชาติได้จัดเป็นผลดีมาแล้วในมหาสงครามโลกครั้งที่ 2”

กฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภาอย่างรวดเร็วตามสไตล์รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากทั้งเรื่องของการผ่านกฎหมาย และเรื่องที่ว่ามันไม่ได้ส่งเสริมความเท่าเทียมกันในสังคม แต่เป็นการถ่างความเหลื่มล้ำให้มากขึ้นไปอีก

ว่าไปก็นึกถึงสมัยตัวเองเรียน รด. การเรียน รด. มีค่าใช้จ่ายอยู่มากนะครับ ทั้งชุด ทั้งการเดินทาง ทุกอย่างที่พ่อแม่ต้องลงทุนเพื่อให้ลูกไม่ต้องเข้าไปเกณฑ์ทหาร ผมก็ไม่เข้าใจว่าถ้าคนเขาไม่อยากเป็นกันทั้งประเทศ แล้วทำไมเรายังต้องบังคับให้คนต้องเป็นด้วย ผมเรียนอยู่สองปีก็เลิก เพราะรู้สึกว่าไม่เข้าใจว่าเราจะได้อะไรจากการเรียน นอกเหนือจากเหตุผลที่ว่าไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร และสุดท้ายผมก็เข้าสู่ระบบการจับใบดำใบแดง

แม้ผ่านมานานมากแล้ว แต่ความรู้สึกของการจับฉลากที่ทำให้อะดรีนาลีนสูบฉีดได้มากขนาดนี้ ก็ยังติดอยู่ในความทรงจำ และนอกเหนือจากความรู้สึก ผมยังเห็นด้วยว่าคนที่ไปยืนจับฉลากกับผมนี่คือคนที่ไม่มีทางเลือกที่สุดแล้วในสังคม ไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง แต่ส่วนมากก็ยังเป็นคนที่มาจากชนชั้นล่างของสังคมอยู่ดี และจนถึงทุกวันนี้ ประชากรกลุ่มนี้ก็ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือของระบบอำนาจนิยม และปฎิเสธไม่ได้ว่ามันเกี่ยวข้องกับการสร้างฐานอำนาจของระบบทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่าจำนวนทหารเกณฑ์เหล่านี้เป็นตัวต่อรองให้กับทหารในหลายมิติ

ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชาเอง ก็มีการผ่านฎหมายเกี่ยวกับการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อฝึกทบทวน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2558 โดยสนช. มีมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 192 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง แม้ทหารและรัฐบาลจะออกมาบอกว่า จริงๆ การแก้ไขนี้เป็นเพียงการปรับปรุงเพื่อความทันสมัย เพราะแต่เดิมมีบางข้อที่ซ้อนทับกันอยู่เป็นเพียงแค่การจัดระเบียบใหม่ แต่แน่นอนว่ามันก็หลีกเลี่ยงต่อคำถามเดิมๆ ไม่ได้ว่า มันมาจากความต้องการของประชาชนจริงหรือไม่ กับการแก้ไขกฎหมายในสมัยของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

ที่สำคัญคือการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อฝึกทบทวนที่ยาวนานกว่า 60 วัน โดยที่คนเหล่านี้ออกจากระบบเศรษฐกิจ ย่อมไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะหากว่าคนๆ นั้นเป็นจักรกลสำคัญในระบบ การดึงแรงงานออกจากระบบเศรษฐกิจมาเป็นเครื่องมือของรัฐในยุคนี้เหมาะสมจริงหรือไม่

ในภายหลัง พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในณะนั้น ก็ออกมาชี้แจงว่าห้วง 2 เดือนนั้นจริงๆ จะเรียกฝึกประมาณ 10 วัน แบ่งเป็นการฝึกวิชาทหารตามตำแหน่งหน้าที่ 9 วัน การตรวจสอบ 1 วัน และจะมีการแจ้งล่วงหน้าทั้งนายจ้างและลูกจ้างให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นภาระของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่า แล้วทำไมเราไม่เลือกทางเลือกอื่นที่ดูเหมาะสมกว่า เช่น รับสมัครทหารอาชีพไปเลย เหมือนประกาศรับสสมัครพนักงาน ซึ่งก็พิสูจน์แล้วในหลายประเทศว่าการจัดตั้งกองทหารอาชีพในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพกว่าการเกณฑ์ทหาร เพราะการรบในอนาคตจะใช้คนน้อยลงเรื่อยๆ

ที่จริงยิ่งกว่าคือการเกิดสงครามใหญ่ๆ นั้นมีโอกาสน้อยมากด้วยหลายปัจจัย สำคัญกว่านั้นคือ แรงงานวัยหนุ่มสาวอาจมีประโยชน์กับประเทศมากกว่าเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องการใช้ทหารเพื่อบรรเทาสาธารณภัย รัฐสามารถใช้หน่วยทางสังคมอื่นๆ จัดการแทนได้สบายมาก โดยเฉพาะหากทำพร้อมๆ กับกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น

ภาพที่ทหารลงไปช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว ซ่อมถนน มาดูแลบ้านเมือง รัฐสภา รวมถึงออกกฏหมายให้เรา แล้วบอกว่าเราคือทหารของประชาชนนั้น ผมไม่แน่ใจว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คาดหวังจากทหารหรือเปล่า แต่ในฐานะของประชาชนคนหนึ่ง อยากบอกว่าเป็นห่วง และรู้ว่าทหารก็เหมือนเราๆ ท่านๆ นั่นแหละ

พวกคุณไม่ใช่ดิอะเวนเจอร์ส ไม่ต้องทำทุกอย่างเพื่อเราก็ได้ครับ ผมเกรงใจ

 


 

อ้างอิง

https://www.thairath.co.th/content/549725

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=9_%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%A8%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2490

https://www.baanjomyut.com/library_3/constitutionalism_and_thai_constitutions/08_4.html

http://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2559/hi2559-045.pdf

http://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/14043.pdf

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save