fbpx
เมื่อฝุ่นทำให้เมืองไม่น่าอยู่

เมื่อฝุ่นทำให้เมืองไม่น่าอยู่

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ขอบคุณภาพจาก FM91 Trafficpro

 

ECA International บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับนานาชาติ ซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูลความเป็นอยู่ต่างๆ และนำมาจัดอันดับเมืองน่าอยู่ เพิ่งออกมาเผยผลที่ทำให้ชาวฮ่องกงแอบตระหนกเล็กน้อย

นั่นเพราะฮ่องกงตกกระป๋องเมืองน่าอยู่ (Livalble City) จากที่เคยอยู่ในท็อป 30 เมืองแรกของโลก กราวรูดลงมาถึง 12 อันดับ จนกระทั่งมาอยู่ที่อันดับ 41 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

แล้วรู้ไหมครับ ว่าเพราะอะไรฮ่องกงจึงตกอันดับได้มากขนาดนี้

หนังสือพิมพ์ South China Morning Post รายงานคำอธิบายของ ลี ควอน (Lee Quane) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการในภูมิภาคเอเชียของ ECA International เอาไว้ว่า (ดูรายละเอียด ที่นี่)

“การที่ฮ่องกงมีระดับมลพิษทางอากาศสูงแบบเดียวกับที่เราคาดหมายได้ในเมืองของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เช่น กรุงเทพฯ มะนิลา และเซี่ยงไฮ้ คือสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการขยับอันดับความน่าอยู่ของฮ่องกง”

พูดง่ายๆ ก็คือ ฮ่องกงตกกระป๋องเมืองน่าอยู่ ก็เพราะฝุ่นควันนี่แหละครับ

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ECA Internaional นี่เป็นใครกันหรือ ถึงได้มาจัดอันดับอะไรพวกนี้ได้ คำตอบก็คือ ECA เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1971 แล้ว โดยถือว่าเป็นบริษัทประเภท Human Resource Consulting คือเป็นบริษัทที่ปรึกษาในด้านทรัพยากรมนุษย์ (หรือทรัพยากรบุคคล) ในระดับนานาชาติ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ทั้งลอนดอน นิวยอร์ก ซิดนีย์ และฮ่องกง

ECA จะเก็บข้อมูลต่างๆ มากมายหลายด้าน เช่น ค่าครองชีพ (Cost of Living) เงินเดือน ค่าที่อยู่อาศัย ภาษี กฎหมายแรงงานในประเทศต่างๆ รวมไปถึงผลประโยชน์และคุณภาพชีวิตของการไปพำนักอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ

ข้อมูลที่เก็บได้นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน เช่นว่าจะไปเปิดสาขาที่ประเทศไหน เมืองไหน ถึงจะเข้ากันได้กับธุรกิจของตัวเอง และมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม รวมทั้งทำให้พนักงานของตัวเองมีความเป็นอยู่และสภาพชีวิตที่ดี โดย ECA เก็บข้อมูลจากเมืองต่างๆ ราว 480 เมืองทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งแหล่งอ้างอิงข้อมูล ที่เหล่าบริษัทและ Expats ทั้งหลายใช้ เพื่อดูว่าประเทศที่จะไปเปิดสาขา หรือบริษัทส่งไปอยู่นั้น มีความน่าอยู่อย่างไรบ้างไหม ถ้าไม่น่าอยู่นัก ก็อาจจะต้องเรียกร้องสวัสดิการหรือค่าตอบแทนต่างๆ เพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ การสำรวจของ ECA จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน หลายฝ่ายจึงนำไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะข้อมูลที่ได้จะมีความเป็นกลาง ไม่ได้เกิดจากการสำรวจข้อมูลเพื่อนำไปประชาสัมพันธ์ประเทศหรืออะไรทำนองนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นข้อมูลที่เหมาะกับ Expats หรือคนที่จะต้องเข้าไปทำงานในประเทศนั้นๆ มากกว่า

แล้วด้วยความที่ ECA มีข้อมูลเยอะ ดังนั้นในแต่ละปี เขาก็จะจัดทำอันดับของเมืองที่น่าอยู่ (Most Livable Locaion) ขึ้นมา โดยผลล่าสุดที่ออกมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม คืออันดับของเมืองน่าอยู่สำหรับ Asian Expatriates โดยเมืองน่าอยู่ 10 อันดับแรกก็คือ สิงคโปร์ บริสเบน ซิดนีย์ อะเดเลด โอซาก้า นาโงย่า โตเกียว เวลลิงตัน แคนเบอร์ร่า เพิร์ธ โคเปนฮาเกน และโยโกฮาม่า (ใน 10 อันดับแรก จะมีมากกว่า 10 เมือง เพราะบางเมืองได้คะแนนเท่ากัน จึงอยู่ในอันดับเดียวกัน)

หลายคนอาจจะเบะปาก พอรู้ว่าสิงคโปร์ได้อันดับหนึ่ง เพราะคิดว่าสิงคโปร์เป็นเมืองน่าเบื่อ เวลาไปเที่ยวจะรู้สึกว่าไม่มีอะไร แต่จากผลการสำรวจของ ECA พบว่าสิงคโปร์อยู่ในอันดับต้นๆ มาตลอด นับต้ังแต่ปี 2005

ถามว่าทำไมสิงคโปร์ถึงน่าอยู่ ลี ควอน บอกว่าเรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจเลย เพราะสิงคโปร์มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้กลายเป็นเมืองในอุดมคติของ Expats อย่างแรกเลยก็คือการมีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ดี เข้าถึงได้สะดวกง่ายดายมากๆ มีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำ คุณภาพทางการศึกษาและสาธารณสุขก็สูง แถมยังมีกลุ่มชาว Expats หลากเชื้อชาติอาศัยอยู่ในสิงคโปร์ด้วย นั่นทำให้คนไม่ต้องมาทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างชาติพันธุ์

ลี ควอน บอกด้วยว่า แม้หลายเมืองในเอเชียจะมีลักษณะคล้ายๆ สิงคโปร์ แต่ก็สู้ไม่ได้ นั่นทำให้สิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะอยู่อันดับหนึ่งต่อไปเรื่อยๆ ไม่น่ามีใครโค่นสิงคโปร์ลงได้

ที่จริงแล้ว เวลาเขาพิจารณาความน่าอยู่ของเมือง ECA ไม่ได้พิจารณาแค่เรื่องเมืองเท่านั้น แต่ยังพิจารณาไปถึงเรื่องภัยธรรมชาติด้วย อย่างเช่นฮ่องกงที่ถูกปรับลดลงมา ส่วนหนึ่งก็เพราะมีไต้ฝุ่นมังคุดพัดเข้าทำลาย สร้างความเสียหายให้กับฮ่องกง ประมาณว่า สาธารณูปโภคทั้งหลายเสียหายไป คิดเป็นมูลค่าราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ฮ่องกงเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย

ส่วนเมืองอื่นๆ ของจีน เช่น ปักกิ่ง นานกิง และเซียะเหมินนั้น อันดับดีขึ้น เนื่องจากมีการปรับปรุงเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ แต่ข้อเสียก็คือ การก่อสร้างที่กว้างขวางและรวดเร็วฉับพลันเหล่านี้ ทำให้ระดับมลพิษทางอากาศสูงขึ้นจนหยุดไม่อยู่ คะแนนจึงไม่สูงขึ้นมากนัก

ในขณะที่เมืองของญี่ปุ่นยังคงแข็งแกร่ง อย่างเช่น 4 เมืองที่อยู่ใน 10 อันดับแรก คือโตเกียว นาโงย่า โอซาก้า และโยโกฮาม่า ซึ่งเมืองเหล่านี้แม้จะเผชิญกับภัยธรรมชาติเหมือนกัน เช่น ไต้ฝุ่นที่รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต แต่เมื่อดูโดยรวมแล้ว สาธารณูปโภคต่างๆ ฟื้นฟูกลับมาอย่างรวดเร็ว บางเมืองจึงตกอันดับลงมาเพียงเล็กน้อย เช่น โอซาก้า ที่อยู่ในอันดับ 5 ตกจากอันดับ 3 เมื่อปีที่แล้ว

ส่วนเมืองในภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือไปจากเอเชีย ผลการสำรวจนี้ก็บอกว่าหลายเมืองในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนเอเชีย (Asian Expats) มากกว่าทางยุโรปเสียอีก เนื่องจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ใกล้กับเอเชียมากกว่ายุโรป คะแนนก็เลยสูงกว่า แต่การที่เมืองอย่างโคเปนฮาเกนเข้ามาใน 10 อันดับแรกได้ ก็แปลว่าเป็นเมืองที่เจ๋งมากๆ ที่จริงโคเปนฮาเกนเป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกเมื่อปีที่แล้ว คือน่าอยู่ในแบบคะแนนรวม ไม่ใช่แค่สำหรับคนทำงานชาวเอเชียเท่านั้น

เล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วกรุงเทพฯ ของไทยเราล่ะ อยู่ตรงไหนในการสำรวจของ ECA กันแน่?

คำตอบที่อาจพอคาดเดาได้ว่าต้อง ‘ต่ำ’ แน่ๆ ก็คือ กรุงเทพฯ อยู่อันดับที่ 89 ซึ่งถ้าจะเทียบกับ 480 อันดับทั้งหมด ก็ต้องบอกว่าไม่เลวเท่าไหร่ โดย ลี ควอน บอกว่า กรุงเทพฯ อันดับดีขึ้นมาเล็กน้อยด้วยนะครับ เนื่องจากมีพัฒนาการเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะการเดินทางและการขนส่ง การตัดถนนต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งเมื่อนำมานับรวมๆ กันกับความน่าอยู่อื่นๆ แล้ว หลายคนอาจจะประหลาดใจด้วยซ้ำไป ที่กรุงเทพฯ น่าอยู่สำหรับ Expats ชาวเอเชียมากกว่ากัวลาลัมเปอร์เสียอีก เพราะกัวลาลัมเปอร์ได้อันดับที่ 98

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกไว้ด้วยนะครับ ว่าการสำรวจของ ECA เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ฝุ่นจะถล่มเมืองอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้านับรวมปัจจัยเรื่องฝุ่นเข้าไปด้วยแล้ว กรุงเทพฯ จะตกอันดับลงไปมากเท่าไหร่

ก็ขนาดฮ่องกงยังหล่นไปตั้ง 12 อันดับ ไม่รู้เหมือนกันว่า มหันตภัยฝุ่นที่ไร้การจัดการของกรุงเทพฯ จะทำให้เราต้องหล่นลงไปอีกเท่าไหร่

บอกตรงๆ นะครับ ว่าตอนนี้กรุงเทพฯ ไม่มีความน่าอยู่เอาเสียเลย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save