fbpx

‘Africa Deja Coup’ สำรวจโดมิโนรัฐประหารแอฟริกา กับ ลลิตา หาญวงษ์

นับตั้งแต่ปี 2020 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกามีความพยายามก่อรัฐประหารขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเกิดขึ้นถึง 8 ครั้ง ใน 7 ประเทศ ได้แก่ มาลี, ชาด, กินี, ซูดาน, บูร์กินาฟาโซ และ 26 กรกฎาคม 2023 นี้ ประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม (Mohamed Bazoum) แห่งไนเจอร์ก็ถูกจับกุมและยึดอำนาจโดยทหารหน่วยอารักขาประธานาธิบดี เพียง 5 สัปดาห์ถัดจากนั้น ภาพคล้ายๆ เดิมก็เกิดขึ้นอีกครั้งในกาบอง เมื่อ อาลี บองโก (Ali Bongo) ประธานาธิบดีที่เพิ่งชนะเลือกตั้งอีกสมัยได้เพียง 4 วันถูกยึดอำนาจโดยทหารหน่วยอารักขาเช่นกัน

ขนาบข้างไปด้วยประเทศที่ปกครองโดยทหารซึ่งขึ้นสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหาร เมื่อไนเจอร์ซึ่งเป็นชาติประชาธิปไตยแห่งท้ายๆ ในแอฟริกาตะวันตกที่ยังไม่เกิดการรัฐประหารล้มลง ความหวั่นวิตกจึงแผ่ซ่านไปทั่วภูมิภาคและแผ่ไกลจนถึงพันธมิตรตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส การรัฐประหารในไนเจอร์ตามมาด้วยท่าทีอันแข็งกร้าวของ ECOWAS องค์การความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ขู่ว่าจะใช้กำลังทางทหารเข้าแทรกแซง หากไม่คืนอำนาจแก่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ผ่านมากว่า 3 เดือนแล้ว การบุกไนเจอร์ยังไม่เกิดขึ้น แต่ความตึงเครียดยังคงปกคลุมภูมิภาค พร้อมความหวาดหวั่นว่าการสู้รบอาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้

การขจัดอิทธิพลและการแทรกแซงจากฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คณะรัฐประหารในประเทศอดีตอาณานิคมฝรั่งเศสเหล่านี้นำมาใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจจากรัฐบาลเดิม เช่น ในกรณีของกาบอง ตระกูลบองโกซึ่งมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับฝรั่งเศสได้ปกครองประเทศมาแล้วกว่า 53 ปี คลื่นการรัฐประหารระลอกนี้จึงสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อมหาอำนาจ เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนการโต้กลับของขบวนการชาตินิยม ที่ปะทุออกมาเป็นแรงหนุนการทำรัฐประหาร ภายใต้ความสลับซับซ้อนของประวัติศาสตร์จากยุคอาณานิคมและตัวแสดงที่หลากหลาย การทำความเข้าใจภูมิทัศน์การเมืองแอฟริกาจึงเป็นส่วนต่อขยายในการทำความเข้าใจการเมืองโลก

ในทัศนะของคนที่มองจากภูมิภาคซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป สถานการณ์ในแอฟริกาคงไม่ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงไทยหรืออาเซียน แต่หากพิจารณาถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือหันไปมองประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคก็จะพบว่าการรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ต่างกัน การรัฐประหารไม่ใช่เรื่องปกติในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่สำหรับประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ซีกโลกใต้’ ซึ่งไม่ได้มีประชาธิปไตยเต็มใบสมบูรณ์แบบเช่นกันนั้น สิ่งที่ประชาชนในสองภูมิภาคนี้เผชิญร่วมกันคือผลกระทบจากความขาดเสถียรภาพทางการเมืองที่ส่งผลต่อปากท้องและความเป็นอยู่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

101 พาไปทำความเข้าใจกับภูมิทัศน์ทางการเมืองในแอฟริกา ไขคำตอบที่ว่าเหตุใดการทำรัฐประหารจึงลุกลามไปยังหลายประเทศในแอฟริกาเหมือนโดมิโนล้ม สนทนากับ ลลิตา หาญวงษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองบทบาทองค์การระดับภูมิภาคเทียบกับอาเซียน ในฐานะที่อยู่ในวังวนการรัฐประหารเช่นกัน เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแอฟริกา

การครอบงำของอดีตเจ้าอาณานิคม และการโต้กลับของชาตินิยมแอฟริกา

“เวลาเราพูดถึงแอฟริกา เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดเกิดขึ้นบ้าง ด้วยประวัติศาสตร์บาดแผลจากการเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจที่ยังมีอิทธิพลต่อชนชั้นปกครองและอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน แม้แต่ประเทศที่น่าจะมั่นคงที่สุดก็ยังเกิดรัฐประหารขึ้นได้ อาจกล่าวได้ว่าเกือบทุกประเทศในภูมิภาคล้วนเจอกับวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารมาโดยตลอด”

ลลิตากล่าวว่าการทำความเข้าใจภูมิทัศน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาคแอฟริกา ควรตั้งต้นจากการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคม โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นมหาอำนาจอาณานิคมสุดท้ายก่อนที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะทยอยได้รับเอกราชในทศวรรษ 1960 การล่าถอยออกจากดินแดนแอฟริกาของเจ้าอาณานิคมยุโรปทิ้งไว้ซึ่งความไม่พร้อมของชาวแอฟริกาในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อปกครองตนเอง หลายประเทศจึงลงเอยด้วยการด้วยการปฏิวัติ สงครามกลางเมือง ไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งยังไว้ความไร้เสถียรภาพมาจนถึงปัจจุบัน

หากพิจารณาประเทศในแอฟริกาที่มีการทำรัฐประหารในช่วง 3 ปีมานี้ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางจะพบว่าทั้งหมดล้วนเป็นอดีตอาณานิคมฝรั่งเศส ตั้งแต่ทศวรรษของการประกาศเอกราช ท่าทีของฝรั่งเศสแตกต่างไปจากเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษที่ ‘ออกแล้ว ออกเลย’ เพราะฝรั่งเศสยังเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของอดีตประเทศอาณานิคมอยู่เรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

‘Francafrique’ ซึ่งมาจากคำว่า France คือประเทศฝรั่งเศส และ Afrique คือทวีปแอฟริกา เป็นกรอบความคิดซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลฝรั่งเศส โดยเชื่อว่าประเทศในแอฟริกาตะวันตกทั้งหมดที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ยังเป็น ‘หลังบ้าน’ หรือเขตอิทธิพลที่ฝรั่งเศสสามารถเข้าไปมีบทบาทกับกิจการภายในได้ในหลายมิติ การจัดวางตำแหน่งแห่งที่เช่นนี้ของฝรั่งเศส ล้วนสร้างความคับข้องใจให้กับประชาชนในแอฟริกาตะวันตก ในระดับที่กลุ่มผู้ก่อรัฐประหารในภูมิภาคนี้ต่างหยิบฉวยมาเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจ

ด้านการเมือง ฝรั่งเศสเข้าไปมีอิทธิพลผ่านการสนับสนุนและผูกสัมพันธ์กับนักการเมืองในประเทศกลุ่มแอฟริกาตะวันตก เพื่อให้นักการเมืองเหล่านี้เปิดโอกาสให้บริษัทจากฝรั่งเศสได้รับสัมปทานน้ำมันหรือทรัพยากรอื่นๆ ได้มากขึ้น ลลิตามองว่าคลื่นการรัฐประหารในไม่กี่ปีมานี้จึงเป็นการปะทุของความโกรธแค้นและการต่อต้านการเข้ามามีอิทธิพลเหนือกิจการภายในแอฟริกาของฝรั่งเศส

“ก่อนเกิดการรัฐประหาร ผู้นำจำนวนมากในแอฟริกาตะวันตกเป็นผู้นำที่ ‘โปรฝรั่งเศส’ โดยเฉพาะผู้นำเผด็จการที่อยู่ในตำแหน่งอย่างยาวนาน ซึ่งฝรั่งเศสเป็นผู้ช่วยให้ผู้นำเหล่านี้ยึดเกาะเก้าอี้ไว้ได้ด้วยการอัดฉีดเงินหรือซื้อสัมปทาน มันอาจจะเป็น win-win situation ของชนชั้นปกครอง แต่คนฝรั่งเศสเองก็เบื่อหน่ายและตั้งคำถามว่าทำไมต้องเอาเงินทอนหรือเงินใต้โต๊ะไปให้ผู้นำในแอฟริกาตะวันตก ขณะเดียวกันทางฟากแอฟริกาก็เกิดกระแสต่อต้านฝรั่งเศสมากขึ้นจากประชาชนทั่วไป ที่มองว่าประเทศของตนเป็นเอกราชมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้ว มันเรื่องอะไรที่ฝรั่งเศสยังจะเข้ามาแทรกแซงไม่หยุดหย่อน”

นอกจากด้านการเมืองแล้ว ลลิตายังขยายภาพอิทธิพลที่ครอบงำด้านเศรษฐกิจผ่านสกุลเงิน ‘ฟรังก์เซฟา’ (CFA franc) สกุลเงินร่วมของ 8 ประเทศในแอฟริกาตะวันตกที่ค่าเงินมีความผันผวนสูง อัตราแลกเปลี่ยนถูกแทรกแซงและกำหนดโดยปารีส นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันว่าสหภาพเศรษฐกิจและการเงินแห่งแอฟริกาตะวันตก (West African Economic and Monetary Union: WAEMU) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ใช้สกุลเงิน CFA มีการบริหารจัดการและควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยองค์กรภาครัฐและเอกชนของฝรั่งเศส “จะเห็นว่าหน่วยเงินตรานี้มีคำว่า ‘ฟรังก์’ อยู่ ทั้งที่ประเทศต้นกำเนิดอย่างฝรั่งเศสยังเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินยูโรแล้ว แต่การที่แอฟริกาตะวันตกยังใช้ค่าเงินฟรังก์อยู่ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าฝรั่งเศสยังมีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตกอยู่มาก” ลลิตากล่าว

ข้อน่าสังเกตอีกประการคือ มาลี กินี บูร์กินาฟาโซ ชาด ซูดาน และไนเจอร์ ซึ่งเกิดการรัฐประหารขึ้นติดต่อกัน ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เขตซาเฮล’ (Sahel) ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างทะเลทรายซาฮาราทางตอนเหนือและภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้าสะวันนาทางตอนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกจรดมหาสมุทรอินเดียทางตะวันออก เขตซาเฮลเป็นพื้นที่เปราะบางต่อปฏิบัติการก่อการร้ายเพราะเป็นเขตรอยต่อที่อยู่ไม่ไกลจากตะวันออกกลาง อีกทั้งอยู่ใกล้กับทะเลทรายเวิ้งว้างกว้างใหญ่ที่ไม่มีหน่วยงานใดมาคอยตรวจตรา

เขตซาเฮลจึงเป็นฐานของกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic state: IS) ที่เคลื่อนไหวอยู่ตามแนวพรมแดนของมาลี-ไนเจอร์ รวมถึงบูร์กินาฟาโซ ลลิตากล่าวว่าเนื่องจากประเทศในเขตซาเฮลเกือบทั้งหมดเป็นประเทศมุสลิม การมีกลุ่ม IS เคลื่อนไหวอยู่รายรอบและคอยให้การสนับสนุนมุสลิมติดอาวุธ ทั้งในมาลี ชาด หรือซูดาน ได้สร้างความหวาดหวั่นต่อความมั่นคงภายใน รัฐบาลหลายประเทศในเขตซาเฮลจึงพยายามอย่างมากที่จะตั้งกองกำลังขึ้นเพื่อปราบปรามกลุ่ม IS และอีกทางเลือกคือการพึ่งพากองทัพของฝรั่งเศส

แม้ว่าฝรั่งเศสไม่ได้มีอิทธิพลครอบงำกองทัพของประเทศในเขตซาเฮลโดยตรง แต่ก็มีอิทธิพลในทางอ้อม จากการส่งกองกำลังเข้าไปประจำการในพื้นที่ เริ่มจากปฏิบัติการบาร์คาน (Operation Barkhane) ในปี 2013 ที่ฝรั่งเศสส่งกองกำลังทหารร่วม 3,000 นายเข้าไปร่วมสกัดกั้นขบวนการมุสลิมติดอาวุธที่รุกคืบพื้นที่ตอนเหนือของมาลีจากการร้องขอของรัฐบาลมาลี (ในขณะนั้น) ประเทศอื่นๆ ที่มีรัฐบาลโปรฝรั่งเศสก็ตามรอยมาลีด้วยการร้องขอกองกำลังจากฝรั่งเศสให้เข้ามาประจำการในประเทศตน โดยในช่วงที่สถานการณ์ตึงเครียด มีทหารฝรั่งเศสถูกส่งไปประจำการในพื้นที่ซาเฮลมากกว่า 5,000 นาย ลลิตากล่าวว่าการปรากฏตัวของทหารฝรั่งเศสในอดีตประเทศอาณานิคมสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอยู่ไม่น้อย เนื่องจากกองกำลังเหล่านี้ไม่ได้ทำให้กลุ่มมุสลิมติดอาวุธลดจำนวนลง บ้างมองว่าเหตุผลในการคงทหารไว้เป็นไปเพื่อปกปักพื้นที่ผลประโยชน์ของฝรั่งเศสบริเวณเหมืองแร่ยูเรเนียมมากกว่าปกป้องประชาชน

“ในไนเจอร์ซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ยังมีทหารฝรั่งเศสอยู่มากถึง 1,500 นาย ลองพิจารณาเทียบกับเอเชีย เช่น ในญี่ปุ่น แม้จะมีสนธิสัญญาด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เราก็ได้เห็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจผ่านการเดินขบวนเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนฐานทัพออกไปอยู่เรื่อยๆ นับประสาอะไรกับกรณีของแอฟริกาตะวันตก ที่ไม่ได้มีสนธิสัญญาใดระบุไว้ว่าให้ฝรั่งเศสสามารถเข้ามาตั้งกองทัพในพื้นที่ตรงนี้ได้ ประชาชนย่อมมองว่าการมีทหารฝรั่งเศสอยู่ในประเทศเช่นนี้เป็นการแทรกแซง”

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2022 ฝรั่งเศสได้ทยอยถอนกองกำลังทหารออกจากประเทศในเขตซาเฮลแล้ว แม้จะอ้างว่าเป็นการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและชาติพันธมิตรแอฟริกาเสียใหม่ แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการรัฐประหารและยึดอำนาจจากผู้นำเก่าซึ่งโปรฝรั่งเศส ทำให้ความร่วมมือด้านการทหารกับฝรั่งเศสค่อยๆ คลายไป

จะเห็นได้ว่าอิทธิพลของอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสที่ครอบงำประเทศในแอฟริกา ทั้งด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจ โดยมีนักการเมือง ‘โปรฝรั่งเศส’ ทำหน้าที่ประสานผลประโยชน์ให้ เป็นชนวนของความรู้สึกต่อต้านที่อัดแน่นอยู่ในจิตใจของประชาชน ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นภาพมวลชนนับพันออกมาสนับสนุนและให้กำลังใจคณะรัฐประหาร ที่สามารถขับผู้นำซึ่งประชาชนมองว่าเป็นหุ่นเชิดของฝรั่งเศสออกจากอำนาจได้ การรัฐประหารในไนเจอร์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรายังได้เห็นภาพผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารบุกสถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงนีอาเมและจุดไฟเผาประตู

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เกิดการรัฐประหารขึ้นตั้งแต่ปี 2020 ก็ยังไม่มีประเทศใดที่สามารถฟื้นฟูกลับสู่วิถีทางประชาธิปไตยได้ และภายใต้การปกครองของผู้ก่อรัฐประหาร คุณภาพชีวิตของประชาชนก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจและการเอื้อผลประโยชน์แก่พรรคพวกก็ยังมีดังเดิม ท้ายสุดแล้วจึงเป็นที่ตั้งคำถามว่าผู้ก่อรัฐประหารกำลังฉกฉวยความคับแค้นของประชาชนเพื่อขึ้นสู่อำนาจและกลายเป็นเผด็จการคนถัดไปหรือไม่

Protesters gather in front of the French Embassy in Niamey during a demonstration that followed a rally in support of Niger’s junta in Niamey on July 30, 2023. Thousands of people demonstrated in front of the French embassy in Niamey on Sunday, before being dispersed by tear gas, during a rally in support of the military putschists who overthrew the elected president Mohamed Bazoum in Niger. Before the tear-gas canisters were fired, a few soldiers stood in front of the embassy to calm the demonstrators. (Photo by AFP)

ECOWAS: ประชาคมเศรษฐกิจ กองทัพ และการแทรกแซง

หนึ่งในตัวแสดงที่เป็นที่จับจ้องหลังเกิดการรัฐประหารในไนเจอร์คือประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐของแอฟริกาตะวันตก (Economic Community of West African States: ECOWAS) องค์กรเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกที่มีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ ทันทีที่การรัฐประหารในไนเจอร์ปะทุขึ้น ECOWAS ได้จัดประชุมฉุกเฉินและออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คืนอำนาจแก่ประธานาธิบดีบาซุม ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยขีดเส้นตายในการดำเนินการไว้ที่ 7 วัน มิเช่นนั้น ECOWAS จะใช้มาตรการทางการทหารเข้าแทรกแซง ลลิตากล่าวว่าคนในอาเซียนอาจจะรู้สึกแปลกใจเมื่อเห็นในหน้าข่าวว่า ECOWAS มีกองกำลังเป็นของตัวเอง อีกทั้งมีมาตรการทางการทหารไว้แทรกแซงชาติสมาชิก ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักการของอาเซียน “เมื่อเห็นแล้วว่าภูมิภาคนี้เกิดการรัฐประหารขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นต้นตอของความไม่มีเสถียรภาพที่ส่งผลกระทบต่อการค้า ฉะนั้นแม้ว่าจะเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแต่ก็มีกองทัพไว้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองที่จะทำให้เศรษฐกิจต้องสะดุด”

เมื่อถามว่าที่ผ่านมา ECOWAS เคยใช้กำลังทหารเข้ายุติการรัฐประหารในชาติสมาชิกสำเร็จหรือไม่ ลลิตาตอบว่ายังไม่มีครั้งใดที่มาตรการนี้ได้ผล การมีมติว่าจะใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงไนเจอร์ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ประชาคมตัดสินใจจะใช้มาตรการอันแข็งกร้าว หลังจากล้มเหลวในการยับยั้งการรัฐประหารในมาลี, กินี และบูร์กินาฟาโซ อย่างไรก็ตาม การบุกไนเจอร์ก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่ ECOWAS ก็มีการเตรียมพร้อมกำลังทหาร ขณะที่ไนเจอร์เองก็ยกระดับความพร้อมกองทัพเพื่อเตรียมรับมือการรุกราน

แม้จะผ่านมา 3 เดือนหลังเกิดการรัฐประหาร ความคืบหน้าในการฟื้นฟูประชาธิปไตยในไนเจอร์ยังไม่ปรากฏ ความตึงเครียดยังปกคลุมพื้นที่โดยรอบไนเจอร์ ลลิตาเชื่อว่าแม้ ECOWAS จะไม่สามารถรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคเพื่อให้การค้าขายและเศรษฐกิจได้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ได้แต่ ECOWAS ก็ถือเป็นกลไกสำคัญในการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันและคะคานอำนาจกับคณะรัฐประหาร

“การประชุมเพื่อถกประเด็นเกี่ยวกับไนเจอร์ที่มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการทางด้านประชาธิปไตยในแอฟริกาตะวันตกและในแอฟริกาโดยรวมแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะก่อนหน้านี้ถ้ามีประเทศใหญ่เสนออะไรหรือ ECOWAS มีมติออกมา ชาติสมาชิกอื่นก็จะเออออตามหรือไม่ก็ไม่ได้สนใจไปเลย ถ้าไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ประเทศเขา โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับไนเจอร์ ประเทศเล็กๆ ที่ไม่ได้สลักสำคัญมากนักต่อประชาคมในภาพรวม แต่ในครั้งนี้เราได้เห็นการพูดคุยถกเถียงอย่างแอ็กทีฟกันมากขึ้นจากหลายชาติ”  

ตลอดหลายปีมานี้ที่ความขัดแย้งปะทุขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลก เราได้เห็นการใช้มาตรการคว่ำบาตรหลายรูปแบบ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กลับไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จนเป็นที่ตั้งคำถามว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยังเป็นเครื่องมือที่ได้ผลในการสร้างแรงกดดันหรือไม่ เมื่อถามว่าการคว่ำบาตรจะใช้ได้ผลกับไนเจอร์มากน้อยแค่ไหน ลลิตาตอบว่า “ท่าทีของไนเจอร์จะก้าวร้าวใส่ ECOWAS หรือประเทศเพื่อนบ้านมากไม่ค่อยได้ เพราะข้อสำคัญคือไนเจอร์เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล แล้วประเทศในกลุ่มแอฟริกา แม้จะเป็นประเทศขนาดใหญ่อย่างไนจีเรีย กานา หรือเซเนกัล สินค้าที่ผู้คนบริโภคภายในประเทศส่วนใหญ่คือสินค้านำเข้า เพราะต้นทุนการผลิตเขาสูง ไม่เหมาะแก่การตั้งโรงงานผลิตในประเทศ ท้ายที่สุดแล้ว เพนพอยต์ในการเข้าถึงสินค้าจะทำให้ผู้นำคณะรัฐประหารยอมปฏิบัติตามมติประชาคมไม่มากก็น้อย เพราะไม่สามารถที่จะอยู่ตัวคนเดียวหรือปิดประเทศไปได้ตลอด”

สื่ออังกฤษ The Economist วิเคราะห์ว่าการมีอยู่ของมาตรการคว่ำบาตรจาก ECOWAS และชาติตะวันตกอื่นๆ เป็นวัตถุดิบที่คณะรัฐประหารซึ่งขึ้นมาบริหารประเทศจะหยิบฉวยมาเป็น ‘แพะ’ ในการอธิบายกับประชาชน ในกรณีที่ดำเนินนโยบายล้มเหลวหรือไม่ได้ดีขึ้นจากรัฐบาลชุดก่อนหน้า

ขยับมามองในระดับประชาชน การมีอยู่ของ ECOWAS ก็ถูกแปะป้ายว่าเป็นประชาคมที่ถูกฝรั่งเศสแทรกแซงเช่นกัน ลลิตากล่าวว่าอิทธิพลของฝรั่งเศสต่อทิศทางนโยบายของประชาคมเศรษฐกิจนี้มีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น แทรกแซง ECOWAS ผ่านการแทรกแซงรัฐบาลไนจีเรียอีกทอด ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียน และเป็น ‘พี่ใหญ่’ ของประชาคมในขณะนี้ ไนจีเรียแสดงบทบาทอย่างขันแข็งในการผลักดันมติใช้กำลังทหารเข้ายับยั้งการรัฐประหารในไนเจอร์ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้มีให้เห็นภายใต้การเป็นประธานของชาติอื่น แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าเพราะมีพรมแดนประชิดกัน ความไร้เสถียรภาพในไนเจอร์ย่อมกระทบผลประโยชน์ของไนจีเรียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงได้เห็นการคว่ำบาตรที่ทำโดยไนจีเรียอย่างการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้า ไปจนถึงความพยายามจะนำ ECOWAS เข้าบุกไนเจอร์

ลลิตากล่าวว่าการแทรกแซงทางการทหารคือสิ่งที่ประชาชนรับไม่ได้อย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับประเทศ Francophone ที่มีลักษณะชาตินิยมมาก และยังถูกแทรกแซงอย่างต่อเนื่องจากอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง

มองแอฟริกา พิจารณาอาเซียน: ภูมิภาคแห่งการรัฐประหาร

แม้จะอยู่ห่างกันคนละซีกโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบพบเจอคล้ายกับภูมิภาคแอฟริกา คือวงจรการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ อีกทั้งยังมีองค์การความร่วมมือระดับภูมิภาคไว้เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการความสัมพันธ์เช่นเดียวกัน แต่ต่างออกไปจาก ECOWAS ของแอฟริกาตะวันตก ASEAN ไม่ได้มีกองทัพหรืออำนาจในการเข้าแทรกแซง พูดให้ถึงที่สุดคือไม่มีแนวคิดจะเข้าแทรกแซงเสียด้วยซ้ำ แม้จะมีประวัติศาสตร์ที่ตกอยู่ภายใต้เจ้าอาณานิคมเหมือนๆ กัน แต่จุดใดที่เป็นทางแยกในการออกแบบหรือสร้าง ‘DNA’ ประชาคมระดับภูมิภาคที่ต่างกัน

“การก่อตั้งอาเซียนไม่ได้เป็นเจตจำนงของผู้นำของอาเซียนร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกาในยุคสงครามเย็นที่ต้องการจะเห็นภูมิภาคนี้มีความเป็นปึกแผ่น และเป็นหนทางที่ทำให้ผู้นำในประเทศต่างๆ ช่วยกันปราบปรามคอมมิวนิสต์หรือเป็นหูเป็นตาให้กับอเมริกา ฉะนั้นอาเซียนไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเป็นขบวนการทางการเมืองที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกตั้งแต่ต้น ด้วยกฎบัตรที่เรามีอยู่ซึ่งระบุไว้ว่าห้ามแทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก กลไกที่เหลืออยู่ในการแก้วิกฤตทางการเมืองเลยไม่ได้มีพลังมากขนาดนั้น เช่นในพม่า มติที่จะส่งผู้แทนไปเจรจาก็ไม่ได้เกิดผลอะไรเป็นรูปธรรม การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้สะเทือนตัดมาดอว์จนถึงขั้นต้องยอมทำตาม และเราก็ไม่ได้มีกองทัพเป็นของตัวเอง และเชื่อว่าในอนาคตก็คงไม่มีอยู่ดังเดิม

“แต่กรณีของแอฟริกา แม้จะรวมกลุ่มกันเพื่อเศรษฐกิจ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ทางการเมืองภายในแอฟริกาล่อแหลมอย่างมากที่จะเกิดความรุนแรง เวลาพูดถึงความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงในแอฟริกา อย่าได้มองข้ามระดับความรุนแรงว่าคงรบกันนิดหน่อย เพราะมันสามารถบานปลายถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แล้วอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในแอฟริกาตะวันตกหรือในเขตซาเฮลก็มีอยู่เต็มไปหมด อีกทั้งเป็นฐานของกลุ่มก่อการร้าย ทั้งหมดนี้ทำให้องค์การระดับภูมิภาคต้องมีอำนาจ มีท่าทีที่แข็งกร้าวกว่า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่อาจขยายตัว”

ข้อแตกต่างอีกประการคือการรัฐประหารในอาเซียนมักจะเกิดจากกองทัพ แต่การรัฐประหารในแอฟริกา ดังที่เห็นล่าสุดในไนเจอร์และกาบอง เกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ ก็คือหน่วยอารักขาประธานาธิบดี ซึ่งแม้จะไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ทั้งกองทัพ แต่ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่มีประเทศมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงอยู่ตลอดดังที่กล่าวไปในตอนต้น ความรู้สึกต่อต้านได้ขยายตัวเป็นวงกว้างในหมู่ประชาชน หากมีผู้โค่นล้มรัฐบาลที่คอยอุ้มผลประโยชน์ให้กับมหาอำนาจก็น่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นแน่

“กองทัพที่เข้ามายึดอำนาจในแอฟริกาเป็นกองทัพย่อยๆ มีอยู่ไม่กี่คน แต่กองทัพที่เข้ามายึดอำนาจในไทยหรือพม่าเป็นกองทัพทั้งหมด มันชี้ให้เห็นว่าความวุ่นวายทางการเมืองในอาเซียนไม่ใช่ความขัดแย้งของคนกลุ่มเล็กกับคนกลุ่มใหญ่แต่มันเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มใหญ่กับคนกลุ่มใหญ่หรือระหว่างอีลีตกับอีลีตด้วยกัน แต่ในแอฟริกามีความซับซ้อนกว่ามาก เพราะยึดโยงกับหลายตัวแสดงทั้งในประเทศ ในภูมิภาค และมหาอำนาจที่อยู่ห่างในทางภูมิศาสตร์แต่อิทธิพลเหลือล้น” ลลิตากล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save