fbpx

#ComicsBrokeMe (นัก) วาดทั้งน้ำตา : เมื่อวงการนักวาดกำลังทำลายสายผลิต

“ฉันเคยใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ ลงสีทั้งเล่มให้คอมิกในเครือสำนักพิมพ์ไดนาไมต์ ไม่ได้นอนเลยสามวันเต็ม และคิดว่านี่น่าจะเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดละ แต่จากนั้นก็พบว่าตัวเองมีภาวะไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia -อาการปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อ) และสุขภาพฉันก็ไม่เคยแข็งแรงขึ้นอีกเลยมาหกปีแล้ว”

“ฉันวาดการ์ตูนลงแพล็ตฟอร์มออนไลน์ จู่ๆ พวกเขาก็ไม่จ่ายเงินให้นักวาดตามยอดคนอ่านแล้ว แต่ไปจ่ายตามยอดการคลิกเข้าไปดูโฆษณาแทน เฉลี่ยแล้วเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์จะได้รับค่าตอบแทน 100 เหรียญฯ (ราว 3,500 บาท) ต่อเดือนเท่านั้น นี่เงินเก็บก็ใกล้หมดแล้วด้วย”

“เรารักการวาดมากๆ และจะไม่หยุดทำงานนี้แน่นอน แต่จะให้ใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ คงไม่ไหวจริงๆ เพราะต้องทำงานอื่นสี่วันต่อสัปดาห์ เพื่อนร่วมงานพากันคิดว่าเราเอาวันหยุดไปพักผ่อนสบายๆ แต่ความจริงคือต้องตาลีตาเหลือกปั่นต้นฉบับให้ทันเส้นตายทุกสัปดาห์”

“วาดงานสี่หน้าต่อวัน ทำแบบนี้ทุกวัน ลงเอยที่ความรวดร้าวหาจะเปรียบ หน้าที่การงานก็ไม่คืบหน้า เงินเก็บก็ไม่มี ร่างกายก็พัง ห่วยแตกสุดยอดไปเลยใช่ไหมล่ะ”

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เหล่านักวาดการ์ตูน-นักวาดคอมิก หรือที่เรียกกันอย่างลำลองว่า ‘สายผลิต’ พากันบอกเล่าถึง ‘ความเป็นพิษ’ ในวงการนักวาดภายใต้แฮชแท็ก #ComicsBrokeMe หลังการเสียชีวิตในวัยเพียง 38 ปีของ เอียน แม็กกินตี นักวาดภาพชาวอเมริกันจาก Adventure Time และ Invader Zim ที่แม้ยังไม่มีการประกาศแน่ชัดว่าเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด แต่หลายคนก็คาดการณ์ว่ามาจากการทำงานอย่างหนักในฐานะนักเขียนและนักวาดคอมิก #ComicsBrokeMe จึงถือกำเนิดขึ้นมาโดยผู้คนในอุตสาหกรรมงานวาดที่พากันออกมาเปิดประเด็นว่าด้วยภาระงานหนักหน่วง เรียกร้องทั้งแรงกายแรงใจมหาศาล ค่าตอบแทนบางเบา ตลอดจนปัญหาด้านสุขภาพเรื้อรังในแง่มุมต่างๆ

กระแส #ComicsBrokeMe ขยับขยายมาถึงในไทยเช่นกัน เมื่อสายผลิตหลายคนร่วมแบ่งปันปัญหาที่พบเจอในอุตสาหกรรมงานวาด สิ่งที่น่าจับตาคือ แม้ระยะหลังการตีพิมพ์การ์ตูนหรือคอมิกแบบหนังสือเล่มจะซบเซาลงไปมาก -สะท้อนผ่านข่าวคราวการปิดตัวลงของสำนักพิมพ์ใหญ่หลายๆ แห่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา- กระนั้น มันก็ถูกทดแทนด้วยการถือกำเนิดของแพล็ตฟอร์มอ่านการ์ตูนออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงลิ่ว จนถือเป็นเสมือนบ้านหลังใหม่ของชุมชนนักวาดให้ได้พักพิง

อย่างนั้นแล้ว ทำไม #ComicsBrokeMe จึงยังเกิดขึ้นในไทย มีปัญหาใดอีกบ้างที่ยังถูกซุกซ่อนอยู่ใต้น้ำหมึกในอุตสาหกรรมนี้

เมื่อเราต้องเป็นมากกว่า ‘นักวาด’

BYSNE (บีเน่) คร่ำหวอดอยู่ในวงการนักวาดมาตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษา ช่วงวัยที่เขาตัดสินใจแล้วว่าจะเติบโตขึ้นทำอาชีพว่าด้วยงานวาดจึงแบกเป้เข้าไปขอทำงานเป็นผู้ช่วยนักเขียน ผ่านร้อนหนาวมาในวงการร่วมสิบปี มีหนังสือของตัวเองที่ได้รับการตีพิมพ์ทั้งในรูปแบบหนังสือเล่มและออนไลน์ในชื่อ ‘มานาประพันธ์มนตรา’

วงการนี้ไม่ง่าย ยิ่งถ้าหวังจะทำเป็นอาชีพหลักเลี้ยงตัวเอง ยิ่งไม่ง่ายเข้าไปใหญ่ และชายหนุ่มตระหนักเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยทำงานเป็นผู้ช่วยนักเขียน เมื่อเห็นรุ่นพี่ในสายงานเผชิญหน้ากับปัญหาทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ

“เมื่อก่อนมันก็ยาก ลำบาก ตอนอยู่ที่สำนักพิมพ์ใครจะเสนองานอะไรก็เข้มงวดมาก เพราะเขาก็ต้องทำให้มันขายได้ อยู่ให้ได้ ค่าต้นฉบับก็ไม่ได้มากมายอะไร และต้องมียอดขั้นต่ำที่ต้องทำให้ได้ต่อเดือนด้วย” เขาย้อนความ “ทุกวันนี้ สิ่งพิมพ์หายไปเยอะมาก สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนก็แทบไม่มี นักเขียนที่อยู่ยากอยู่แล้วก็ต้องอยู่ยากกว่าเดิม

“ผมเข้าใจว่านักวาดหลายคนไปเป็นนักวาดภาพประกอบบ้าง บางคนไปเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์บ้าง หรือไปทำงานลงแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นแพล็ตฟอร์มใหญ่ ซึ่งตัวผมมองว่ามันเป็นเหมือนทางเลือกใหม่ๆ ให้ทั้งคนอ่านและคนเขียนที่ผลิตผลงานด้วย”

งานนักวาดเป็นงานสร้างสรรค์ นั่นก็ใช่ แต่อีกด้าน มันก็เป็นเสมือนงานแรงงานด้วยเช่นกัน ในเมื่อมันเรียกร้องศักยภาพจากนักวาดทุกเมื่อเชื่อวัน

“เหนื่อยครับ” เขาบอก “บางคนเขาก็รู้สึกว่าถ้าทำมากก็ได้มาก ทำน้อยได้น้อย ผมเห็นนักเขียน นักวาดบางคนมีวิธีคิดที่ว่า ถ้าวาดเนื้อหาเยอะ หน้าก็จะเยอะ และจะได้ค่าต้นฉบับเยอะตามไปด้วย ซึ่งนี่ก็แล้วแต่ระบบ ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ก็คิดเป็นค่าหน้า แต่ถ้าเป็นพวกแพล็ตฟอร์มออนไลน์ก็จะแบ่งเป็นพิกเซล พิกเซลเท่านี้ถึงเท่านี้นับเป็นหนึ่งพารากราฟ แล้วคำนวณว่าการ์ตูนตอนหนึ่งๆ จะมีความยาวเท่าไหร่ แล้วออกมาเป็นตัวเลข กลายเป็นรายได้ให้นักเขียน

“เมื่อก่อนพิมพ์หนังสือการ์ตูนหนึ่งเรื่องเป็นจำนวนหมื่นเล่มถือว่าปกติ แต่ยุคนี้ได้สักสามพันเล่มก็เก่งแล้ว เป็นยอดที่สะท้อนว่าคุณเป็นนักเขียนที่ค่อนข้างมีชื่อในยุคนี้แล้วนะ” เขาบอกอย่างเข้าใจ “ขณะเดียวกันก็มีคนอ่านที่กระจายมายังแพล็ตฟอร์มออนไลน์ด้วย เราจะพบว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปตลอด วิธีเล่าเรื่อง สไตล์ภาพหรือพล็อตหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเหมือนกัน”

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่เขาค้นพบระหว่างถางทางตำแหน่งแห่งที่ให้ตัวเองในสายงานวาดคือ ไม่ว่าจะอยากยอมรับกันหรือไม่ แต่ถึงที่สุดในเวลานี้ อุตสาหกรรมเรียกร้องคนทำงานมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นักวาดต้องเป็นมากกว่านักวาด นักเขียนต้องไปให้ไกลกว่าการเขียน ทั้งหมดนี้ยิ่งกัดกินและฉีกทึ้งเนื้อตัวคนทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ -กระนั้น นี่ก็เป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทายให้คนทำงานต้องปรับตัว

“การทำการ์ตูนในปัจจุบันที่จะทำให้ผมอยู่รอดได้ ก็เหมือนคนทำคอนเทนต์ ครีเอเตอร์กลายๆ สมัยก่อนตัดต่อวิดีโอได้ว่าเจ๋งแล้ว แต่ตอนนี้ไม่พอ ต้องเขียนคอนเทนต์ได้ ตัดต่อได้ ทำกราฟิกได้ ผมว่านักเขียนก็เหมือนกัน ต้องขยับตัวเองเป็นครีเอเตอร์ให้ได้ แล้วผลิตผลงานออกมา จากเมื่อก่อนที่เขียนงานแล้วส่งบรรณาธิการ ส่งคนตรวจงาน แล้วมีคนช่วยลงสี ทำภาพ แต่ตอนนี้เราต้องทำมากขึ้น เราเลยต้องกระตือรือร้น ทำเยอะขึ้นกว่าเดิม” เขาบอก “วางแผนระยะยาวว่าถ้าทำการ์ตูน โปรเจกต์นี้ออกมา ก็เหมือนการทำสินค้าชิ้นหนึ่ง คือจะทำอย่างไรให้คนยังติดตามเรื่องของเราและคอยซื้ออยู่ตลอดเพื่อเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้เราทำงานตรงนี้ต่อได้ในระยะยาว ซึ่งแน่นอนว่าการทำการ์ตูนให้คนอ่านติดตามในระยะยาวก็ต้องเตรียมตัวเยอะด้วย”

นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย -เขาย้ำ หากแต่ก็เป็นเรื่องที่จำต้องกัดฟันฝ่าไปให้ได้

ทว่า สำหรับบีเน่ ด้านหนึ่งย่อมมีแง่งามหากเราพินิจในแง่มุมที่ว่า เราต่างอยู่ในยุคสมัยที่ผู้คนในสังคมเปิดกว้างให้กับคอนเทนต์การ์ตูนและมังงะมากกว่าเมื่อก่อนหลายเท่า พร้อมกันกับที่จำนวนนักอ่านซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อโลกเดินหน้าเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย และยังผลให้นักวาดมี ‘โอกาส’ ในการขายงานมากกว่าเดิม ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ความเห็นของบรรณาธิการหรือแนวทางสำนักพิมพ์อีกต่อไป

นี่ย่อมหมายถึงการกระโดดขึ้นไปยืนเหนือตลาดการขายงานให้ได้ในทะเลแห่งการแข่งขันอันกว้างใหญ่ ดังนั้น สำหรับบีเน่แล้ว เขาจึงไม่อยากให้เพื่อนน้ำหมึกสิ้นหวังกับวงการนี้มากไปนัก เพราะถึงที่สุด เขาคิดว่านักเขียนจำเป็นต้องเอาชนะความท้าทายของปัจจัยต่างๆ เพื่อจะเข้าถึงโอกาสที่มากขึ้น อันจะเป็นใบเบิกทางไปสู่อิสระในการทำงานกับรายได้ก็เพิ่มขึ้นมหาศาลกว่ายุคก่อนๆ ด้วยเช่นกัน

กล่าวอย่างเห็นภาพ ในวงการที่ยังไม่เสถียรและปราศจากระบบที่แน่นอนมานานหลายสิบปีเช่นนี้ เขาให้ภาพนักวาดที่กระโจนเข้ามาอยู่ในสังเวียนนี้เป็นเสมือนหนูถีบจักร “ตอนเด็กๆ ที่ทำงานเป็นผู้ช่วยนักเขียน ผมเห็นรุ่นพี่หลายคนก็ต้องตกอยู่ในวังวนนี้ คือทำงานเหมือนเครื่องจักรเลย และเราก็ถามตัวเองว่าอนาคตเราก็ต้องเจอแบบนี้เหมือนกันใช่ไหม ถ้าต้องเจอ ทำยังไงถึงจะรอด “ความฝันของผมอยากทำอาชีพนี้ก็จริง แต่ก็ต้องมองความเป็นจริงด้วย เพราะทำงานที่รักก็ใช่ แต่งานที่รักก็ต้องทำให้เราเลี้ยงปากท้อง ให้เราอยู่ได้ด้วย”

ในระบบที่บีบให้คนทำงานกลายเป็นหนูถีบจักรตามคำที่เขาบอก เลี่ยงไม่ได้เลยที่ร่างกายมนุษย์หนึ่งคนซึ่งอยู่เบื้องหลังงานสร้างสรรค์ทั้งมวลจะพังทลาย และหากว่ากันตามตรง ในแวดวงนักวาด-นักเขียน อาการปวดหลังไปจนถึงปัญหากล้ามเนื้อกลายเป็นปัญหาใหญ่ ชนิดที่ โยชิฮิโระ โทงาชิ นักวาดมังงะมืออาชีพจาก Hunter × Hunter และ YuYu Hakusho ยังต้องรับมือกับความป่วยไข้ของร่างกายที่เกิดจากการโหมงานหนักจนนั่งไม่ได้ และต้องนอนเขียนหนังสือแทน

บีเน่เองก็เช่นกัน ในวัยยังไม่แตะเลขสาม เขาเริ่มมีปัญหาเรื่องเอ็นข้อมืออักเสบ “เมื่อก่อนโหมงานเยอะ จำได้ว่าปวดข้อมือเอามากๆ ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้วต้องตัดโมเดลส่งงานอาจารย์ ตอนนั้นก็รู้แล้วว่าเรากำลังเดินผิดทาง ผมเคยเห็นพี่ๆ นักวาดเป็นแบบนี้มาแล้ว บางคนหลังพังไปเลยก็มี” เขาบอก และทางแก้ไขหรือป้องกันแรกๆ ที่เขาทำคือการซื้อโต๊ะไฟฟ้าที่ปรับระดับได้ และซื้อเก้าอี้ที่เหมาะสำหรับการนั่งทำงาน “นอกจากนี้ ผมว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะพัก มีพี่ในวงการเคยเตือนผมตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า ถ้าร่างกายคุณเริ่มฟ้อง ให้หยุดตั้งแต่ตอนนั้นเลย ก่อนที่จะรู้ตัวอีกทีว่าไม่ไหวแล้ว แล้วก็ต้องมาเสียเงินรักษา”

พ้นไปจากแง่มุมของร่างกาย อาชีพนักวาดก็ต้องรับมือกับแง่มุมของสุขภาพใจเช่นกัน การรับมือกับคำวิจารณ์ที่มีให้งานซึ่งกลั่นกรองออกจากส่วนเสี้ยวของชีวิตย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย และสำหรับบีเน่ นี่เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน “เวลาออกแบบแคมเปญอะไรแล้วยอดไม่ถึงเป้านี่ผมก็ใจฝ่อเหมือนกันแหละ” เขาว่า “ผมว่างานเราเป็นงานใช้อารมณ์ความรู้สึกด้วยมั้ง มันมีคนเคยบอกว่ากฎในการอยู่โลกอินเทอร์เน็ตคือ คุณต้องเรียนรู้ที่จะเลิกสนใจมัน เพราะมันมีพวกความคิดเห็นเป็นพิษอยู่แล้ว คุณต้องเมินมันให้เป็น ต้องแยกแยะระหว่างที่มีประโยชน์กับความเห็นที่เอาแค่ด่า”

ใจรักก็อาจจะส่วนหนึ่ง แต่การจะยืนระยะในสังเวียนนี้ได้ บีเน่ย้ำเตือนเรื่องการมองโลกตามความเป็นจริงเสมอ  และนั่นเท่ากับว่า เขาต้องวางน้ำหนักระหว่างงานที่ใจเขาอยากทำจริงๆ กับงานที่เรียกลูกค้า และหาทางกลั่นมันออกมาให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้ “ผมว่าเราต้องหาสมดุลระหว่างงานที่อยากทำกับงานที่ขายได้ เพราะเราก็อยากทำงานที่เราอยากทำ ก็ใช่ แต่เราก็ต้องประกันรายได้ตัวเองด้วย คนอ่านเขาสนใจสิ่งที่เราอยากเล่า พล็อตที่เราอยากเขียนไหม อยากรู้เรื่องนี้ไหม แล้วมันก็ไปถึงจุดที่ว่าเราจะหาทางขายงานเราอย่างไร โฆษณามันอย่างไร”

ทั้งหมดนี้ย้อนกลับไปยังเรื่องที่ว่า นักวาดในยุคใหม่ถูกหน้าที่การงานเรียกร้องให้ต้อง ‘เป็น’ มากกว่านักวาด แต่อาจหมายรวมถึงงานด้านการตลาด การเข้าถึงกลุ่มลูกค้า นักวาดหลายคนจึงต้องแบกรับภาระมหาศาลในการจะผลักดันงานตัวเองออกสู่สายตาสาธารณะ ยังไม่นับว่าต้องประเมินสถานการณ์ ความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ แทบจะรายเดือน หรือกระทั่งรายสัปดาห์ เพื่อหาทางรับมือกับอนาคตตรงหน้าของตัวเอง

“ทุกวันนี้ผมก็ต้องทำงานเยอะ งานส่วนหนึ่งของผมในทุกวันนี้คือต้องอ่านงานใหม่ๆ เสมอ เพื่อดูกระแสว่าเขาคุยกันถึงไหนแล้ว เพราะถ้าคนอ่านไม่อ่านงานเรา เราจะเอารายได้มาจากไหน คือมันไม่มีอะไรแน่นอนเลย ระวังตัวเองตลอด” เขาบอก และใช่- ว่านี่ย่อมเป็นเรื่องที่หนักหนา เรียกร้องพลังงานสูงลิ่วในการจะขับเคลื่อนงานสร้างสรรค์สักหนึ่งชิ้น

และหากสภาพการณ์เช่นนี้คือสิ่งที่นักวาดไทยต้องแบกรับ จะแปลกอะไรที่หลายคนจะร่วมแบ่งปัน บอกเล่าประสบการณ์ของตนใน #ComicsBrokeMe

เพราะงานวาดคืองานที่เอาทั้งเนื้อทั้งตัวเข้าแลก

‘สะอาด’ ยืนระยะในฐานะคนวาดการ์ตูนมากว่าสิบปีแล้ว -และเขาเพิ่งอายุเหยียบเลขสามต้นๆ เท่านั้น เท่ากับว่า ชายหนุ่มย่างเท้าเข้าวงการคนเขียนหนังสือการ์ตูนมาตั้งแต่สมัยเรียน แผ้วถางจนความฝันตั้งแต่วัยเด็กกลายมาเป็นหนังสือการ์ตูนที่หลายคนอาจคุ้นตา ทั้ง ‘ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต’, ‘ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง’ ตลอดจน ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’ 

ระยะเวลาหนึ่งทศวรรษในสังเวียนนักวาด ไม่เกินเลยถ้าจะเรียกสะอาดว่าเป็นคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ได้รับทั้งอ้อมกอดและกำปั้นจากวงการนี้ วงการซึ่งเขาไม่ปฏิเสธว่าด้านหนึ่งก็เดือดดาล กัดกินไม่แพ้ฝั่งอเมริกา จนไม่น่าแปลกใจที่ #ComicsBrokeMe ถูกหยิบมาใช้โดยชุมชนนักวาดในไทยด้วย

“สภาพตลาดในไทยตอนนี้ ถ้ามีใครสักคนมาบอกเราว่าอยากจะเป็นนักเขียนการ์ตูนอาชีพ เราจะมองภาพเขาทำงานนี้เกินสิบปีแทบไม่ออกเลย เพราะงานจะหนัก ตลาดเล็ก เงินน้อย คู่แข่งเยอะ และหาช่องทางเติบโตยากมาก” เขากล่าวสรุปภาพรวมวงการ และยิ่งเมื่อเทียบกันกับในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นต้นธารของแฮชแท็กชวนหัวใจสลายนั้น เขาก็ยังมองว่าอุตสาหกรรมงานวาดในอเมริกาใหญ่โตและได้รับการยอมรับมากกว่าในไทย อันจะเห็นได้จากงานคอมิกซูเปอร์ฮีโรที่ยังมีแฟนคลับติดตามเหนียวแน่นหลายสิบปี ทั้งยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์-ซีรีส์ทำเงินหลายต่อหลายเรื่อง ฉะนั้น เทียบกับของไทยแล้ว พื้นที่ของเหล่านักวาดฝั่งตะวันตกน่าจะกว้างขวางกว่าของไทย

กระนั้น นักวาดในตลาดที่ใหญ่ขนาดนั้นก็ยังต้องเผชิญกับสภาวะพังทลายในโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของอุตสาหกรรมงานวาด ในไทยเอง เป็นที่รู้กันอยู่เนืองๆ ว่ามีนักวาดไม่กี่คนเท่านั้นที่ ‘ยังชีพ’ ได้ด้วยงานวาดเพียงอย่างเดียว

“เท่าที่คิดออกและนับเฉพาะงานฟรีแลนซ์ เรามีรายได้จากการตีพิมพ์หนังสือซึ่งอาจจะจ่ายเหมาหรือแบ่งลิขสิทธิ์ให้นักเขียน เฉลี่ยแล้วคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์จากราคาปกคูณยอดพิมพ์ หรือบางคนที่มีกลุ่มคนอ่านเหนียวแน่นก็อาจจะลงทุนพิมพ์ขายเองตามออนไลน์และงานอีเวนต์ต่างๆ หรือไม่ก็ทำเป็น e-book ไป” สะอาดจำแนกรายได้ของนักวาดในไทยคร่าวๆ ขณะที่แพล็ตฟอร์มออนไลน์นั้น นักวาดจะได้รายได้ประจำต่อตอนตามที่บริษัทจ่ายให้ และมีรายได้เพิ่มจากคนอ่านที่ยอมจ่ายเพื่ออ่านตอนใหม่ๆ ก่อนใคร 

ทว่า ในมุมกลับ สะอาดก็เห็นว่าโครงสร้างธุรกิจของแพล็ตฟอร์มอ่านคอมิกออนไลน์เหล่านี้คือการ ‘นำเข้า’ คอมิกจากประเทศอื่นมาแปลเป็นภาษาไทย มากกว่าจะเน้นสร้างนักวาดไทยขึ้นมาเอง และนี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่หลายแพล็ตฟอร์มไม่กล้าเสี่ยงลงทุนกับนักวาดชาวไทย -ทั้งในแง่ค่าต้นฉบับหรือสวัสดิการ- มากนัก ซึ่งด้านหนึ่งย่อมส่งผลให้อำนาจต่อรองของนักวาดชาวไทยต่ำและแทบรวมตัวกันเรียกร้องใดๆ ไม่ได้ กลายเป็นอีกบาดแผลที่สะสมจนเกิดภาวะทดท้อ บาดเจ็บหัวใจกันไป

“เราเข้าใจว่าในกลุ่มคนทำงานกลุ่มต่างๆ ฟรีแลนซ์น่าจะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่รัฐมองเห็น เพราะผลประโยชน์ร่วมกันไม่ชัด นักวาดฟรีแลนซ์คนนึงอาจมีลูกค้าประจำอยู่ที่แคนาดา อีกคนอยู่ญี่ปุ่น คนหนึ่งทำงานกับเอเจนซีเป็นหลัก อีกคนผลิตของขายเอง และด้วยเหตุนี้มันเลยรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพยากด้วย ส่วนตัวเราเลยคิดว่าในการเรียกร้อง ระหว่างนักวาดฟรีแลนซ์รวมตัวกันเรียกร้องสวัสดิการของนักวาด สู้เรียกร้องสวัสดิการถ้วนหน้าไปเลยมีพลังกว่า”

พ้นไปจากนี้ หลายคนยังหาทางออกด้วยการรับ commission หรืองานรับจ้างวาดรูปตามที่ลูกค้าต้องการ ตลอดจนร่วมออกแบบสินค้า, วาดสตอรี่บอร์ดงานโฆษณา ไปจนถึงวาดภาพประกอบงานต่างๆ “ในภาพรวม งานส่วนที่ผูกกับแบรนด์และโฆษณา รายได้จะเยอะสุด งานที่ผูกกับโปรเจกต์ใหญ่ๆ เช่นภาพยนตร์หรือลูกค้าต่างชาติ ก็ได้ลดหลั่นกันมา” เขาอธิบาย “สำหรับเราตอนนี้ เรามีรายได้ประจำจากการเขียนแก๊กในสื่อออนไลน์ รายได้เสริมจากการรับงานลูกค้า หรือโปรเจกต์ต่างๆ ที่เข้ามา และทำโปรเจกต์ของตัวเอง ทั้งหนังสือ เพจ และปั้นคาแรคเตอร์ ทำของขาย 

“เราพยายามออกแบบให้มันเป็นระบบนิเวศ คือทำให้ทุกงานส่งเสริมกัน เช่น เราชอบเขียนคอมิกเป็นหนังสือ ซึ่งใช้เวลาทำนานและสร้างรายได้ไม่มาก แต่คนชอบหนังสือที่เราทำ ก็จะเป็นลูกค้าจ้างงานเรา หรืออุดหนุนสินค้าอื่นๆ ที่สร้างรายได้มากกว่าได้”

การทำหนังสือคอมิกหนึ่งเล่ม สำหรับสะอาด -รวมทั้งนักวาดคนอื่นๆ- ถือเป็นสิ่งที่ต้องลงทั้งแรงกายและแรงหัวใจเยอะมาก ยังไม่นับเรื่องเวลาที่อาจต้องปลุกปล้ำกันอยู่นานนับปี “คล้ายการทำหนังเลย เราต้องหาข้อมูล, เขียนบท, เขียนสตอรี่บอร์ดและวาดต้นฉบับ ซึ่งต้องวาดหลายร้อยหลายพันช่อง สมมุติเราใช้เวลาอย่างเร็วสุดๆ 4-5 เดือนเพื่อทำหนังสือหนึ่งเล่ม 250 หน้า สำนักพิมพ์จ่ายเรา 10% ก็อาจจะได้อย่างมากประมาณเจ็ดหมื่นบาท ถ้าพิมพ์ขายเองก็ต้องมารับความเสี่ยงจากการลงทุน และจัดการงานหลังบ้านต่างๆ เอง

“การจะเลี้ยงชีพจากการเขียนคอมิกอย่างเดียวได้เลยต้องใจรักมากๆ ประหยัดมากๆ หรือไม่มีภาระ เว้นแต่งานคุณจะขายดีมากๆ สร้างชื่อเสียงและฐานคนอ่านขึ้นมา ซึ่งก็ยากกว่ายาก เพราะต้องแข่งกับมังงะญี่ปุ่นและมันฮวาเกาหลีในสนามเดียวกัน ขณะที่คุณมีทรัพยากรต่ำกว่ามหาศาล”

เช่นเดียวกับผู้คนในสายงานสร้างสรรค์อีกหลายประเภท นักวาดหลายคนไม่เพียงแต่ต้องเผชิญกับความป่วยไข้ของร่างกายอันเนื่องมาจากการโหมงานหนัก -อันเป็นหนึ่งในผลพวงความบิดเบี้ยวของอุตสาหกรรมที่ผลักให้คนทำงานต้องรีดเค้นทุกหยาดเหงื่อเพื่อแลกค่าแรงน้อยนิด- แต่ยังต้องรับมือกับความป่วยไข้ของสภาพจิตใจด้วย “กลับไปเรื่องที่มันเป็นงานหนักเงินน้อย และความที่ธรรมชาติของงานทำให้เราต้องอยู่กับตัวเองเยอะ วันไหนเรารู้สึกว่าวันนี้กูเขียนบทได้ดีจัง กูวาดได้สวยว่ะ ก็ดีไป แต่ถ้าช่วงไหนต้องอดนอน ร่างกายเริ่มล้า เสียงต่างๆ จะเข้ามาในหัวง่ายมาก ว่ากูกำลังทำอะไรอยู่ กูติดกับดักคนอยากทำตามฝันอยู่รึเปล่า ทำไมกูไม่เอาแรงไปทำอะไรที่ได้เงินกว่านี้” เขาบอก “แล้วระหว่างที่ฟุ้งซ่านมือก็ต้องวาดไปด้วย เพราะเดี๋ยวงานไม่เสร็จ

“และการที่จะเขียนคอมิกเรื่องนึงขึ้นมา ส่วนใหญ่มันต้องเอาทั้งเนื้อทั้งตัวเข้าแลกแบบนี้ พอผลตอบรับไม่ดีก็เลยยิ่งเศร้าหนัก บางคนโดนคนอ่านว่าผลงาน ก็รู้สึกเหมือนโดนว่าตัวเอง เพราะงานคือเนื้อตัวของเขา”

ขยับขยายไปในแง่การสนับสนุนจากภาครัฐซึ่งที่ผ่านมานั้นดูเหมือนแทบจะไม่เคยมองเห็นวงการนักวาดอยู่ในสายตา อย่างไรก็ดี สะอาดมองด้วยสายตาเข้าอกเข้าใจพอสมควร เพราะสำหรับเขา เทียบกันกับอุตสาหกรรมงานสายสร้างสรรค์อื่นๆ แล้ว วงการนักวาดในประเทศไทยยังตั้งหลักตั้งแหล่งให้ตัวเองมีระบบที่แน่นอนไม่สำเร็จ รัฐจึงมีแนวโน้มจะทุ่มเงินงบประมาณให้วงการสร้างสรรค์อื่นๆ ไม่ว่าจะภาพยนตร์หรือดนตรี ที่พร้อมมากกว่า ทั้งในแง่ที่ทางและตลาด

“ถึงที่สุด เราคิดว่าตัวรูปแบบของคอมิกมีศักยภาพ และคนทำงานจำนวนมากก็มีศักยภาพ แต่ระบบไม่เอื้อให้คนยืนระยะอยู่ได้เลย ทั้งที่จริงๆ แล้ว กว่าจะสร้างคนหนึ่งคนให้เขียนคอมิกได้ดีย่อมต้องใช้เวลา” เขาบอก “เมื่อมันไม่มีพื้นที่ให้เติบโต คนมีศักยภาพเหล่านี้ก็จะค่อยๆ กระเด็นออกจากวงการไปทำงานอื่นที่ได้เงินมากกว่า”

Comics ไม่ควรจะ Broke ใคร

จะว่าไป บาดแผลเรื้อรังที่เกิดขึ้นในวงการนักวาด ก็อาจเดินรอยใกล้เคียงกันกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวงการภาพยนตร์ ละครเวที หรือนักเขียน ที่ความจำกัดจำเขี่ยของค่าแรง ความบิดเบี้ยวของโครงสร้าง และระบบอันเอาแน่เอานอนไม่ได้ บีบให้คนทำงานต้องหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพเสริมหลายอย่าง และหากร่างกายไม่พังทลายไปเอง หลายคนก็ตัดสินใจเดินออกจากวงการนี้ในที่สุด

ดังนั้นแล้ว ปลายทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดอาจจะเป็นการสร้างสหภาพ หรือระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมคนทำงานสร้างสรรค์ และการจ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรม เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีใครหลุดวงโคจรไปจากงานที่พวกเขารักอีก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save