fbpx
เกมการยั่วแหย่ในยุทธศาสตร์ข้อพิพาททะเลจีน

เกมการยั่วแหย่ในยุทธศาสตร์ข้อพิพาททะเลจีน

พฤติกรรมที่กลายเป็นแบบแผนอย่างหนึ่งในการต่างประเทศจีนช่วงไม่กี่ปีมานี้ คือการฉายภาพตนเองว่าตกเป็นเหยื่อการใส่ร้ายป้ายสีที่ไร้มูลความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อครหาที่ว่าจีนปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมกับคนฮ่องกงและซินเจียง จีนจึงจำต้องโต้กลับด้วยท่าทีที่ค่อนข้างดุดัน เพื่อไม่ให้เป็นฝ่ายเสียเปรียบและถูกกลั่นแกล้งอยู่ร่ำไป นั่นคือปฏิกิริยาที่จีนมีต่อเสียงวิจารณ์จากตะวันตกและชาติใหญ่อย่างสหรัฐฯ แต่เมื่อหันมองความสัมพันธ์กับชาติเล็กกว่าที่รายล้อมจีนอยู่ในเอเชียแล้ว สถานะที่ว่าใครเป็นฝ่ายถูกกระทำและใครเป็นฝ่ายใช้กำลังกลั่นแกล้งอาจดูกลับตาลปัตร 

สำหรับในเอเชียตะวันออก พฤติกรรมที่กลายเป็นแบบแผนของจีนในช่วงไม่นานมานี้ คือการใช้อำนาจทางทะเล ขู่เข็ญ และ ‘ยั่วแหย่’ หรือกระทั่งเรียกได้ว่า ‘รังควาน’ ชาติข้างเคียงที่มีข้อพิพาทพรมแดนทางน้ำกับจีน การใช้กองกำลังหลากหลายรูปแบบทั้งเรือสำรวจ เรือประมง เรือขุดลอกทราย เรือหน่วยยามฝั่ง แม้กระทั่งเรือรบและเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA Navy) แล่นโฉบเฉียดน่านน้ำที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ กำลังสร้างความกังวลแก่หลายชาติ ทั้งในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก และช่องแคบไต้หวัน โดยพฤติกรรมที่ดูก้าวร้าวขึ้นของจีนกำลังเปลี่ยนสถานะชาติเหล่านี้ให้กลายเป็นฝ่ายถูกกระทำมากยิ่งขึ้น 

สถานการณ์ยิ่งน่าวิตก เมื่อจีนเพิ่งออกกฎหมายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี้ ให้อำนาจหน่วยยามฝั่ง (coast guard) ใช้กำลังอาวุธโจมตีเรือต่างชาติที่ละเมิดน่านน้ำของจีนได้ แม้หน่วยงานนี้จะมีหน้าที่เทียบเท่าตำรวจในการรักษาความปลอดภัยและกฎหมายภายในประเทศ แต่เรือของหน่วยยามฝั่งจีนแล่นลาดตระเวนออกไปกว้างไกลในน่านน้ำที่จีนอ้างความเป็นเจ้าของ ทำให้หลายชาติมองว่าจีนใช้หน่วยยามฝั่งไม่ต่างไปจากกองทัพเรือเพื่อข่มขู่เพื่อนบ้าน ซ้ำร้ายความหวั่นเกรงต่อภัยจีนยังถูกโหมให้ยิ่งน่ากลัวขึ้น เมื่อผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก แสดงทัศนะว่าอำนาจทางทะเลของจีนกำลังเพิ่มพูนขึ้นจนอาจล้ำหน้าสหรัฐฯ ทำให้จีนอาจบุกยึดไต้หวันสำเร็จได้ภายใน 6 ปีข้างหน้า

ภายใต้สถานการณ์ทั้งหมดนี้ คำสำคัญที่ได้รับความสนใจในการมองท่าทีของจีนคือคำว่า ‘ยุทธศาสตร์แดนสีเทา’ (gray zone strategy) ซึ่งหมายถึงกลวิธีที่อยู่ก้ำกึ่งเพื่อปลุกปั่นให้ศัตรูเกรงกลัวและเสียขวัญ แต่ก็ไม่ถึงขั้นทำให้ตอบโต้รุนแรงหรือเกิดศึกสงคราม ความก้ำกึ่งนี้รวมไปถึงการใช้วิธีการและเครื่องมือหลากหลายขนานร่วมกัน โดยนอกจากยุทธวิธีทางทหาร อาจใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ การทูต การข่มขู่กดดัน การให้คุณให้โทษในทางอื่น หรือการใช้ศักยภาพกึ่งกำลังทหารอย่าง การส่งเรือประมงหรือเรือยามฝั่งขโยงใหญ่ไปปรากฏในพื้นที่ใกล้เคียงหรือภายในน่านน้ำของอีกฝ่าย ไปจนถึงการซ้อมรบทางทะเลในบริเวณต่างๆ เพื่อแสดงแสนยานุภาพข่มขวัญคู่พิพาท

จุดสนใจของข้อเขียนนี้มุ่งไปที่กลวิธีสีเทาที่จีนกำลังใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ นั่นคือการ ‘ยั่วแหย่’ ทางทะเลต่อชาติคู่อริในทะเลจีน โดยสำรวจว่าพฤติกรรมนี้ตอบสนองผลประโยชน์ของจีนอย่างไร ส่งผลทำให้ชาติคู่พิพาทเผชิญสถานการณ์เช่นไร และใช้มาตรการใดรับมือ โดยมองญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษา อาจกล่าวโดยคร่าวให้เห็นภาพก่อนว่า พฤติการณ์ยั่วแหย่ที่ไม่รุนแรงถึงขั้นใช้กำลังสู้รบ อาจส่งผลสะเทือนใหญ่หลวงกว่าที่เห็นเป็นเหตุการณ์ละเมิดย่อยๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยไปหน่อยจนดูน่ารำคาญ นั่นเป็นเพราะยุทธศาสตร์นี้เล็งผลระยะยาวในการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสภาพการณ์และระเบียบของภูมิภาคให้เป็นไปตามที่จีนต้องการแบบไม่กระโตกกระตาก และอาจเอื้อต่อยุทธศาสตร์ใหญ่ในการต่อกรกับสหรัฐฯ โดยจำกัดการเข้าถึงพื้นที่และสถาปนาความเป็นใหญ่ของจีนในภูมิภาคขึ้นได้ 

ยุทธศาสตร์สีเทาๆ ภายใต้เงาทะมึนของจีน

‘ยุทธศาสตร์แดนสีเทา’ เป็นที่พูดถึงกันไม่น้อยในหมู่ผู้ศึกษายุทธศาสตร์จีน โดยเฉพาะในยามที่ภาพการผงาดอย่างสันติและการเป็นมหาอำนาจที่เผื่อแผ่ของจีน เริ่มเปรอะเปื้อนด้วยพฤติกรรมการใช้แสนยานุภาพและความกลัวขยายเขตอำนาจไปเบียดเบียนชาติอื่น โดยอ้างการทวงคืนสิ่งที่จีนถูกยื้อแย่งไปในอดีต เหตุที่เรียกว่า ‘สีเทา’ เพราะกลยุทธ์ของจีนมุ่งที่จะสร้างความตึงเครียด แต่ก็ไม่สุดโต่งจนทำให้เป้าหมายโต้กลับด้วยมาตรการรุนแรง การยั่วแหย่ด้วยกองกำลังทางทะเลที่ไม่ใช่กองทัพเรือ และไม่ถึงขั้นยั่วยุจนทำให้เกิดการสู้รบ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ลักษณะนี้ ซึ่งอาจดำเนินไปพร้อมกันหลายแนวหน้าร่วมกับเกมการทูตในเวทีต่างๆ เพื่อบั่นทอนกำลังและขวัญกำลังใจของศัตรู

กลวิธียั่วแหย่ของจีนยังสะท้อนลักษณะสีเทาอีกอย่างคือ การใช้แนวทางที่ไม่ค่อยธรรมดานัก (unconventional) ทำให้อีกฝ่ายงุนงงจนตั้งรับไม่ถูก อย่างการส่งกองเรือประมงหรือเรือขุดลอกทรายจำนวนมากเข้าไปทำกิจกรรมประชิดน่านน้ำของญี่ปุ่นและไต้หวันในแบบรายวัน ควบคู่ไปกับการใช้เรือยามฝั่ง เรือรบ และอากาศยานลาดตระเวน นอกจากนั้น การสร้างเกาะเทียมในหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซล ก็เป็นอีกแนวหน้าในยุทธวิธีสีเทาที่ดำเนินมาแล้วระยะหนึ่ง จนคืบหน้าเป็นรูปเป็นร่างในทะเลจีนใต้อย่างที่ไม่อาจโละทำลายกลับไปสู่สภาพเดิมได้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกโฉมหน้าหนึ่งของยุทธวิธีสีเทา นั่นคือการเล็งผลระยะยาวในแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยรุกคืบทีละน้อยจนสามารถกุมความได้เปรียบในพื้นที่ได้ในที่สุด

ปัจจัยที่เอื้อให้จีนเล่นเกมไม่รุกไม่ถอยแต่สามารถรอคอยจนกว่าจะชนะ โดยค่อยๆ ปรับแปลงสภาพการณ์ในภูมิภาค รวมทั้งพฤติกรรมของชาติต่างๆ ให้ยอมจำนน คือความได้เปรียบเชิงทรัพยากรและเศรษฐกิจที่คอยหนุนอำนาจทางทะเล โดยจีนสามารถนำศักยภาพเหล่านี้มาลงทุนและหล่อเลี้ยงยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูงได้โดยไม่เดือดร้อนเท่าใดนัก ซึ่งการแหย่และหลอกล่อให้อีกฝ่ายต้องดำเนินมาตรการรับมือ อย่างเช่นการส่งกำลังเข้าประกบ ขับไล่เรือจีนออกจากพื้นที่ หรือเฝ้าระวังตลอดเวลา ก็เป็นเทคนิคการตัดทอนกำลังของอีกฝ่ายที่มีศักยภาพด้อยกว่า เพราะการรับมือต่อการรังควานของจีนที่เกิดขึ้นเป็นกิจวัตรย่อมมีค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปไม่น้อย ทำให้ทรัพยากรร่อยหรอลงเรื่อยๆ

อีกปัจจัยหนึ่งคือการที่รัฐในเอเชียต้องพึ่งพิงจีนในทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จีนต้องพึ่งชาติเหล่านี้ ทำให้เกิดเงื่อนไขที่จีนสามารถใช้เศรษฐกิจในการต่อรองและกดดันได้ง่าย จนทำให้การให้คุณให้โทษของจีนกลายเป็นตัวแปรในการกำหนดท่าทีของชาติเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ปัจจัยนี้ทำให้จีนกล้าที่จะขยายปฏิบัติการสีเทาทางทะเลออกไปได้โดยไม่เกรงกลัวการโต้กลับ เนื่องจากชาติที่มีผลประโยชน์ยึดโยงกับจีนมักตกอยู่ในภาวะลังเลใจที่จะใช้มาตรการรุนแรง ทั้งด้วยไม่แน่ใจในเจตนาของจีนและไม่อยากทำให้สถานการณ์แย่ลง รัฐเหล่านี้โดยส่วนใหญ่เผื่อแนวทางผูกมิตรเข้าหาจีนไว้จึงเลี่ยงการใช้มาตรการสุดโต่ง และรับมือการละเมิดของจีนด้วยวิธีละมุนละม่อมเป็นคราวๆ ไปมากกว่า 

การยั่วแหย่ซึ่งอยู่ก้ำกึ่งระหว่างการรบกวนและการรุกรานจึงเป็นการใช้ข้อได้เปรียบของจีนปั่นประสาทชาติคู่ปรับให้ต้องหามาตรการที่พอเหมาะในแดนสีเทาเช่นกัน เหตุใดจีนถึงเลือกเล่นเกมนี้ ที่ทำให้ดูเหมือนว่าใช้อำนาจกลั่นแกล้งชาติข้างเคียงไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งที่ความเหลื่อมล้ำในพลังอำนาจอาจทำให้เรานึกจินตนาการว่าจีนสามารถเผด็จศึกและฮุบพื้นที่ที่ตนต้องการได้ไม่ยาก ที่ยุทธศาสตร์แดนสีเทามีความจำเป็นก็เพราะปัจจัยสองประการ ได้แก่ สถานะอำนาจของจีนที่อยู่ระหว่างชาติด้อยแสนยานุภาพกว่าในเอเชีย กับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และสถานะอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ต้องการระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องเป็นเครื่องปกปักรักษา 

เราอาจมองยุทธวิธีสีเทาว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ยุทธศาสตร์แบบอสมมาตร’ ที่จีนใช้ป้องปรามสหรัฐฯ จริงอยู่ที่ปฏิบัติการรังควานของจีนเล็งเป้าไปยังชาติในเอเชีย แต่ชาติคู่พิพาทกับจีนมักมีสหรัฐฯ คอยหนุนหลังด้านการทหาร อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ จีนจึงได้แต่กดดันคู่พิพาทเหล่านี้แบบที่ไม่ยั่วยุให้สหรัฐฯ เห็นท่าว่าจะต้องออกโรง เนื่องจากการเปิดศึกหรือแม้แต่ถูกสหรัฐฯ กดดัน เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในเวลานี้ ด้วยความอสมมาตรทางกำลังอำนาจทำให้จีนยังยึดแนวทาง ‘ต่อต้านการเข้าถึง-ปฏิเสธพื้นที่’ (anti-access, area denial: A2/AD) เพื่อสกัดสหรัฐฯ การใช้กำลังคุกคามพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างโจ่งแจ้ง จึงรังแต่จะทำให้สหรัฐฯ รีบเร่งเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น และเป็นอุปสรรคในการขยายอิทธิพลของจีน 

ในอีกด้าน จีนต้องการรับประกันอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยการรักษา ‘ความชอบธรรมจากการสร้างผลงาน’ (performance legitimacy) ที่จริงแล้วการวางท่าแข็งกร้าวและไม่อยู่เฉยในประเด็นดินแดนก็มีส่วนส่งเสริมความชอบธรรมนี้ โดยเป็นการสร้างผลงานสนองตอบต่อแนวคิดชาตินิยมในสังคมจีน ถึงกระนั้นผลงานที่พรรคให้ความสำคัญมากกว่าน่าจะเป็นการรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่ประชาชน ในแง่นี้แม้จีนจะตั้งเป้าเป็นรัฐที่พึ่งตนเอง แต่ก็ยากจะปฏิเสธว่าจีนพัวพันอยู่กับเศรษฐกิจโลกอย่างปลีกตัวออกได้ยาก ดังนั้นภาวะการเผชิญหน้า ถูกปิดล้อม ไปจนกระทั่งทำสงคราม อาจทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสั่นคลอนฐานอำนาจของพรรคได้

ดังนั้น การจัดวางยุทธศาสตร์ให้ดำเนินไปในขอบเขตสีเทาจึงถือเป็นการรุกคืบของจีนโดยอาศัยศักยภาพที่มีมากขึ้น ขณะที่พยายามสร้างสมดุลโดยพิจารณาข้อจำกัดด้านกำลังที่ไม่อาจเผชิญหน้าโดยตรงกับสหรัฐฯ ได้ในเวลานี้ และยังต้องดำรงสภาพการณ์ที่เอื้อต่อการหาผลประโยชน์มาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและประชาชนของตน

เป้าหมายเล็กและใหญ่ ในยุทธศาสตร์ไม่รุกไม่ถอยคอยจนกว่าจะได้เปรียบ

คำถามที่ต้องสนใจต่อมาคือจีนมีเป้าประสงค์หรือคาดหวังอะไรจากเกมการยั่วแหย่ในยุทธศาสตร์แดนสีเทา เราอาจแบ่งข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ออกเป็นเป้าหมายเล็กระยะกลาง ที่มุ่งกำราบชาติคู่พิพาทในพื้นที่ และเป้าหมายใหญ่ระยะยาวที่มุ่งปรับเปลี่ยนระเบียบของภูมิภาค และงัดข้อกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ 

สำหรับในระยะกลาง การขู่ด้วยฝูงเรือ การลาดตระเวนลุกล้ำอาณาเขต การซ้อมรบในทะเลพิพาทต่างๆ มีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ในตัว คือการยืนยันกรรมสิทธิ์ โดยย้ำให้เห็นว่าจีนสามารถใช้ศักยภาพที่เพิ่มพูนขึ้นสนับสนุนการอ้างสิทธิ วิธีการใช้เรือประมงและเรือยามฝั่งมากกว่าเรือรบในปฏิบัติการนี้ มีนัยว่าการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และบังคับกฎหมายเป็นเรื่องภายในของจีนที่ใครไม่ควรก้าวก่าย วิธีนี้ยังช่วยทำให้ความเคลื่อนไหวจำกัดอยู่ในขอบเขตสีเทาและไม่ยั่วยุจนอีกฝ่ายมีปฏิกริยารุนแรง แต่ก็สามารถบรรลุเป้าหมายในการข่มขู่เพื่อสกัดคู่กรณี ไม่ให้กล้าขยับปรับเปลี่ยนสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ (status quo) เพิ่มมากขึ้น

การซื้อเกาะในหมู่เกาะเซงคะคุหรือที่จีนเรียกว่าเตียวหยู ของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี 2012 ดูจะเป็นจุดพลิกผันทำให้จีนหันมาใช้วิธีการยั่วแหย่ในทะเลจีนตะวันออกอย่างหนักหน่วง นับจากปีนั้น ญี่ปุ่นพบเห็นเรือจีนหลายสังกัดเข้ามาแล่นในบริเวณพิพาท โดยทำสถิติทั้งในแง่จำนวนครั้งที่เข้ามาและระยะเวลาที่ป้วนเปี้ยนอยู่ในเขตของญี่ปุ่น ด้วยวิธีนี้ จีนอาจหวังผลระยะสั้นในการปรามญี่ปุ่นไม่ให้กล้าดำเนินการบุ่มบ่ามเพื่อกระชับกรรมสิทธิ์เช่นการซื้อเกาะ และคงสภาวะที่เป็นอยู่ไว้ ทั้งยังอาจเป็นวิธีบีบให้ญี่ปุ่นยอมรับการปรากฏขึ้นบ่อยครั้งของเรือจีนในบริเวณนั้นอีกด้วย จนมีผู้เชี่ยวชาญถึงกับมองว่าในตอนนี้ น่านน้ำบริเวณเกาะเซงคะคุเป็นเสมือนพื้นที่ ‘ลาดตระเวนร่วม’ โดยเรือยามฝั่งทั้งของญี่ปุ่นและของจีนไปแล้ว

ประเด็นหลังนี้สะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว การทำให้อีกฝ่ายยึดอยู่กับ status quo เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นเท่านั้น ก่อนที่จีนจะค่อยๆ รุกคืบและกดดันให้อีกฝ่ายค่อยๆ ถอย ชาติคู่ปรับอาจรู้สึกว่าสามารถไล่เรือจีนออกไปได้ทุกครั้ง และปกป้องสถานะความเป็นเจ้าของ ตลอดจนความมั่นคงของพรมแดนได้ แต่การยั่วแหย่ครั้งแล้วครั้งเล่าโดยที่ไม่ได้ยกระดับให้รุนแรงขึ้น อาจทำให้ญี่ปุ่นมองการละเมิดเหล่านั้นเป็น ‘สถานการณ์ปกติ’ และเลือกจะถนอมกำลังและทรัพยากรเอาไว้สำหรับกรณีที่วิกฤตกว่านี้ ซึ่งนี่ก็อาจเป็นเป้าหมายระยะถัดมาของยุทธวิธีสีเทา นั่นคือทำให้อีกฝ่ายชินชากับการรังควานและมองเป็นสถานการณ์ปกติ (normalize)

การที่จีนกระตือรือร้นในพื้นที่พิพาท ขณะที่อีกฝ่ายไม่อาจตามไล่กวดหรือเลือกที่จะไม่ตอบสนองอย่างจริงจัง เป็นสถานการณ์ที่นักยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นหวั่นเกรงและเคยเตือนสติมาก่อนว่าอาจทำให้จีนอ้างสิทธิ ‘ครอบครองปรปักษ์’ (effective control) ก็ในเมื่อเกาะห่างไกลเหล่านั้นถูกปล่อยทิ้งร้างไร้เจ้าของและผู้พัฒนา นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้รัฐบาลซื้อเกาะเซงคะคุเมื่อสิบปีก่อน แต่ความกังวลก็ยังคงอยู่ในปัจจุบัน จากการที่จีนรุกคืบเข้ามาทำกิจกรรมจนเป็นกิจวัตร โดยที่ฝ่ายญี่ปุ่นอาจลังเลใจและไม่จริงจังในการขับไล่ ด้วยเกรงว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งจนทำให้สถานการณ์บานปลาย เมื่อภาวะเช่นนี้ดำเนินไปนานเข้า จีนอาจบรรลุเป้าหมายในการกลืนกลายพื้นที่เสมือนว่าจีนเป็นเจ้าของแล้วในทางปฏิบัติ

ปฏิบัติการยั่วแหย่อย่างต่อเนื่องยังอาจทำให้จีนได้เปรียบอีกหลายแง่ นอกจากการรุกคืบเข้าไปในพื้นที่พิพาทได้แล้ว การสร้างสถานการณ์ให้คู่อริต้องระดมกำลังเข้าสกัดหรือขับไล่ แม้ว่าจะไม่ได้ถึงกับปะทะกัน แต่ก็เป็นการบั่นทอนทรัพยากรและกำลังไม่น้อย อย่างที่มีรายงานข่าวว่าฝ่ายความมั่นคงของไต้หวันโอดครวญถึงการต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอเพื่อรับมือการละเมิดของเครื่องบินรบจีน ทำให้เกิดภาระด้านงบประมาณ การซ่อมบำรุง และสร้างความเหนื่อยล้าให้แก่กองกำลัง แต่ครั้นจะไม่เคลื่อนไหวก็อาจทำให้จีนฮึกเหิมและขยายหรือยกระดับปฏิบัติการในพื้นที่ให้ยิ่งน่ากังวล ในอีกแง่หนึ่ง กลวิธีนี้ยังอาจมุ่งเป้าบั่นทอนความน่าเชื่อถือ (credibility) ของระบบพันธมิตรของสหรัฐฯ กับชาติต่างๆ

นั่นเป็นเพราะความเคลื่อนไหวในขอบเขตสีเทามักทำให้ภัยคุกคามดูไม่เด่นชัด ความคลุมเครือนี้เป็นปัญหาทำให้เกิดความลักลั่นใน ‘ระดับการระวังภัย’ (threat perception) ระหว่างชาติในพื้นที่ที่ถูกจีนรังควานโดยตรง กับพันธมิตรผู้ให้การคุ้มครองอย่างสหรัฐฯ โดยต่างฝ่ายอาจให้ความสำคัญต่อปัญหาและแสดงความเอาจริงเอาจังในการรับมือไม่เท่ากัน อาจมองว่าในแง่หนึ่ง การยั่วแหย่ของจีนน่าจะทำให้ระบบพันธมิตรยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นสถานการณ์ทดสอบความเหนียวแน่นของพันธมิตรที่จะต้องแสดงออกว่าจะไม่ทิ้งกัน สหรัฐฯ อาจถูกพันธมิตรเรียกร้องให้ต้องออกหน้าและมีปฏิกิริยาเกินกว่าที่ต้องการ การเลือกตอบสนองอย่างไรต่อเหตุการณ์เหล่านี้ และจะเพียงพอต่อความคาดหวังของพันธมิตรหรือไม่ อันเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทางฝั่งสหรัฐฯ ก็มีส่วนอย่างมากต่อความเชื่อถือของพันธมิตร

ประเด็นนี้สามารถมองโยงกับเป้าหมายระยะยาวของยุทศาสตร์แดนสีเทา ซึ่งมุ่งปรับแปลงสภาพการณ์ในภูมิภาคให้เอื้อต่ออำนาจจีน และจำกัดบทบาทในเอเชียของมหาอำนาจโลก นั่นคือ ในกรณีที่พันธมิตรเสื่อมศรัทธาต่อสหรัฐฯ แนวโน้มที่จะโอนเอียงเข้าหาและประนีประนอมกับจีนก็อาจมีมากขึ้น เมื่อชาติเหล่านี้โดยลำพังไม่อาจถ่วงดุลอำนาจกับจีนได้อยู่แล้ว แต่เมื่อไม่อาจมั่นใจว่าสหรัฐฯ จะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับตน ตัวเลือกหนึ่งเพื่อเลี่ยงการถูกจีนกดดันก็คือการยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องบางอย่าง นี่หมายถึงการยอมรับในสภาพการณ์และระเบียบที่จีนค่อยๆ จัดแจงเปลี่ยนแปลงทีละน้อย ซึ่งแม้รัฐเหล่านี้จะยังคงรักษาพรมแดนทางทะเลดั้งเดิมต่อไปได้ แต่ก็อาจยากที่จะต่อต้านการขยายปฏิบัติการของกองกำลังจีนในน่านน้ำของตน

จีนที่สามารถใช้ทัพเรือหลายรูปแบบที่ทางการกำกับ ขยายขอบเขตการลาดตระเวนไปได้กว้างไกลและปราศจากการกีดขวางจากเพื่อนบ้าน ทั้งในทะเลจีนตะวันออก ช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ หมายถึงการสามารถบรรลุยุทธศาสตร์ใหญ่ในการจัดวางอุปสรรคและจำกัดมหาอำนาจจากภายนอกไม่ให้ย่างกรายเข้ามาใน ‘เขตอิทธิพลจีน’ ที่ลากจากเหนือลงใต้ตามแนวเกาะเส้นแรก (First Island Chain) โดยมีไต้หวันและทะเลพิพาทต่างๆ อยู่ในรัศมีที่จีนเข้าถึงได้โดยง่าย และอยู่ภายใต้การสอดส่องตรวจตราด้วยกองกำลังอยู่เสมอ การตรึงกำลังในแนวเขตนี้ทำให้ยุทธศาสตร์ A2/AD มีประสิทธิภาพในการป้องปรามและชะลอการแทรกแซงของศัตรูนอกภูมิภาค นั่นหมายถึงสหรัฐฯ อาจต้องคิดมากขึ้นในการส่งกำลังเข้ามาข่มขู่จีนหรือสนับสนุนพันธมิตร 

การยึดแนวเกาะเส้นแรกได้ ทำให้พรมแดนจีนปลอดภัยและเป็นฐานไปสู่การแผ่อำนาจไกลออกไปในมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะที่ทางฝั่งยูราเชีย จีนอาจพยายามขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทูตภายใต้โครงการแถบทาง (BRI) แต่การคุมทะเลจีนฝั่งตะวันออกได้ทั้งหมดด้วยกองกำลังนั้น จะทำให้จีนมีอำนาจต่อรองและกดดันได้มากขึ้น จากการที่น่านน้ำบริเวณนี้เป็นเส้นทางเดินเรือที่หล่อเลี้ยงการพาณิชย์และปัจจัยยังชีพ (lifeline) ของชาติต่างๆ อยู่ ในที่สุดแล้ว ความสามารถของจีนในการกุมพื้นที่ทั้งหมดนี้ได้อาจเป็นผลมาจากพฤติการณ์ที่ดูไม่สลักสำคัญอย่างการยั่วแหย่ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในเวลานี้

เมื่อญี่ปุ่นต้องรับมือยุทธวิธีสีเทา

พฤติการยั่วแหย่ของจีนกระทบต่อหลายประเทศ แต่คงไม่มีชาติใดเผชิญสถานการณ์หนักหนาสาหัสเท่าไต้หวัน เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญอันดับต้นในการขยายอิทธิพลของจีน กระนั้นก็ตาม ในที่นี้จะขอหยิบยกท่าทีของญี่ปุ่นมาพิจารณาเป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นปัญหาที่ชาติทั้งหลายเผชิญเมื่อต้องรับมือกลวิธีสีเทาที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างการก่อกวนกับการรุกราน โดยมุ่งวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวใหม่ หลังจากที่จีนปรับกฎหมายให้หน่วยยามฝั่งสามารถใช้กำลังอาวุธต่อเรือของต่างชาติได้

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้อาจมองเป็นการยกระดับการรุกคืบของจีน โดยส่งสัญญาณว่าตนกำลังเอาจริงในการกระชับความเป็นเจ้าของ โดยหวังผลให้คู่กรณีเกิดความลังเลในการใช้มาตรการสกัดเรือจีน และต้องยับยั้งชั่งใจมากขึ้นหากไม่อยากทำให้สถานการณ์บานปลาย ด้วยความได้เปรียบของจีนในหลายแนวหน้า ชาติเหล่านี้อาจไม่ต้องการยั่วยุจีนกลับเท่าไหร่ เนื่องจากเสี่ยงที่จะถูกจีนลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ นานา เมื่อความตึงเครียดระหว่างกันทวีมากขึ้น ข้อถกเถียงในญี่ปุ่นเรื่องมาตรการรับมือที่เหมาะสมจึงสะท้อนความท้าทายเมื่อต้องเผชิญกับกลยุทธ์ทำนองนี้

การไม่ขยับมาตรการตามจีนอาจเกิดผลลบทางจิตวิทยา เป็นสัญญาณความอ่อนแอซึ่งรังแต่จะเชิญชวนให้อริได้ใจและยิ่งรุกมากขึ้น แต่ปฏิกิริยาที่ตื่นตูมเกินไปก็เสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการปะทะและกลายเป็นเหตุผล (pretext) ให้จีนอ้างเพื่อเล่นงานหนักข้อขึ้น การหามาตรการแบบก้ำกึ่งที่ไม่เกินกว่าเขตสีเทาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หนทางกึ่งกลางที่รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกดำเนินการเพื่อตอบโต้ในกรณีล่าสุดนี้ คือการตีความกฎหมายโดยให้อำนาจหน่วยยามฝั่งซึ่งเคยใช้กำลังได้จำกัดเฉพาะในกรณีฉุกเฉินและป้องกันตนเอง ให้สามารถใช้กำลังได้ในกรณีที่มีฝ่ายใดพยายามขึ้นบนเกาะเซงคะคุ

ที่ว่ามาตรการนี้เป็นทางเลือกกลางๆ เพราะมีข้อเสนอที่สุดโต่งกว่าอย่างการส่งกองกำลังป้องกันตนเอง (SDF) ที่มีศักดิ์เทียบเท่าทหารเข้าร่วมยับยั้งเรือจีนด้วยเช่นกัน โดยในสมัยนายกฯ ชินโซ อาเบะ ที่ผ่านมามีการปรับให้ SDF สามารถทำหน้าที่พิทักษ์กฎหมายและความปลอดภัยทางทะเลได้แล้วระดับหนึ่ง ในกรณีที่เหตุการณ์รุนแรงเกินกว่าความสามารถของหน่วยยามฝั่งจะเอาอยู่ แต่ญี่ปุ่นก็มักลังเลต่อการใช้ SDF ประมือกับจีนในกรณีที่ยังไม่เกิดการใช้กำลังอย่างโจ่งแจ้ง อย่างไรก็ดี หลังจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีน ก็มีเสียงเรียกร้องเกิดขึ้นในญี่ปุ่นว่า ควรให้ SDF ลาดตระเวนพร้อมไปกับเรือยามฝั่งไปเลยแทนที่จะรอให้เกิดเหตุสุ่มเสี่ยงขึ้นก่อน

อันที่จริงการแก้กฎหมายเมื่อปี 2015 ในสมัยรัฐบาลอาเบะ ก็สะท้อนการไหวตัวของญี่ปุ่นต่อการที่อาจเผชิญยุทธวิธีแบบก้ำกึ่งในแดนสีเทา โดยญี่ปุ่นแบ่งวิกฤตทางทหารออกเป็นสามระดับจากน้อยไปหามาก ได้แก่ สถานการณ์ ‘ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ’ ‘วิกฤตความอยู่รอด’ และ ‘การถูกโจมตีด้วยกำลัง’ สองสถานการณ์แรกอาจเรียกได้ว่าเป็นแดนสีเทาที่ตามกฎหมายดั้งเดิม SDF ไม่มีอำนาจจัดการ แต่เพื่อให้การรับมือเป็นไปได้ทันท่วงทีและ ‘ไร้รอยต่อ’ จึงมีการพิจารณาแก้กฎหมายในช่วงปีดังกล่าว

ญี่ปุ่นเข้าใจเกมในแดนสีเทาว่าจะเข้ามาครอบงำภูมิภาค โดยนักยุทธศาสตร์คนสำคัญ ชินอิจิ คิทะโอกะ เรียกสถานการณ์นี้ว่า ความขัดแย้งระดับความรุนแรงต่ำ (low-intensity conflict) ที่จะต้องเตรียมรับมือให้ดี แต่การหาแนวทางกลางๆ ไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไปก็เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะหาฉันทามติร่วมกัน ดังเช่นที่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง เคน จิมโบ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการพิจารณานำหมาก SDF มาใช้ โดยเตือนว่าอาจเป็นการยั่วยุจีนและเป็นการเล่นใหญ่เกินไป จีนอาจใช้ท่าทีนี้ชี้ถึงการเปลี่ยนเป็นรัฐทหารของญี่ปุ่น และยกเป็นเหตุผลในการเพิ่มแสนยานุภาพและสกัดกั้นญี่ปุ่นก็เป็นได้

เครื่องมืออีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือการกระตุ้นให้พันธมิตรอย่างสหรัฐฯ ร่วมแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ กฎหมายยามฝั่งของจีนจึงถือเป็นบททดสอบพันธมิตรชิ้นแรกๆ สำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ ซึ่งท่าทีเอาจริงของโจ ไบเดน และทีมยุทธศาสตร์ดูจะทำให้ญี่ปุ่นอุ่นใจและเชื่อได้ว่าสหรัฐฯ จะกลับมาเป็นเกราะกำบังญี่ปุ่นต่อไป อย่างไรก็ดี เกมการต่อสู้ในแดนสีเทานี้จะดำเนินต่อไปอีกยาวนาน นั่นหมายความว่าบทพิสูจน์ความเข้มแข็งของพันธมิตรจะมีมาอีกเรื่อยๆ และคงต้องดูว่าสหรัฐฯ จะแสดงออกอย่างเสมอต้นเสมอปลาย หรือยกระดับท่าทีให้สอดรับกับการรุกคืบของจีนได้มากแค่ไหน เพื่อไม่ให้พันธมิตรเสื่อมศรัทธาและบั่นทอนแนวหน้าการสกัดอิทธิพลของจีน 

ในท้ายสุดนี้ จึงต้องดูต่อไปว่าแรงจูงใจของฝ่ายใดจะมีพลังแรงกล้ากว่ากันในเกมที่เล็งผลระยะไกล จีนที่มีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรและเศรษฐกิจซึ่งคอยหล่อเลี้ยงกำลังทางทะเล อีกทั้งความแน่วแน่ที่จะยึดคืนดินแดนและปกป้องเขตอิทธิพล รัฐเล็กกว่าในภูมิภาคที่กำลังอ่อนล้าเสียขวัญและควานหามาตรการรับมือเพื่อความอยู่รอด หรือมหาอำนาจจากภายนอกอย่างสหรัฐฯ ที่มียุทธศาสตร์ใหญ่ในการรักษาดุลอำนาจในเอเชีย เพื่อไม่ให้มีชาติศัตรูใดผงาดขึ้นมาเป็นใหญ่และท้าทายสถานะของตน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save