fbpx
ประชาธิปไตย เด็กหน้าห้อง เด็กหลังห้อง

ประชาธิปไตย เด็กหน้าห้อง เด็กหลังห้อง

พริษฐ์ วัชรสินธุ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สิ่งที่ท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งของการลงสมัครรับเลือกตั้งคือการขึ้นเวทีดีเบต

ไม่ว่าจะเป็นการดีเบตระหว่างตัวแทนพรรคการเมืองในห้องสตูดิโอที่ถูกถ่ายทอดสดสู่คนดูหลักแสน หรือเวทีเล็กๆ ตามงานในชุมชนที่มีคนไม่กี่คนในพื้นที่ออกมานั่งฟังและซักถามผู้สมัครในเขตของเขา

เคยมีพี่จากสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งมากระซิบบอกว่า จากการเก็บข้อมูลของทีมเขา ผมขึ้นเวทีดีเบตของสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ทั้งหมดเกิน 15 ครั้งในช่วงเลือกตั้ง ผมคงจำตัวเลขได้ไม่ดีเท่าทีมเก็บข้อมูลของเขา แต่ผมจำได้ถึงความตื่นเต้นในทุกๆ ครั้งก่อนขึ้นเวที (รวมถึงหลายครั้งที่ต้องนั่งคิดเตรียมตัว บนหลังวินมอเตอร์ไซค์ ระหว่างเดินทางจากพื้นที่บางกะปิที่ผมลงสมัคร มาห้องส่งของสื่อสำนักต่างๆ แถววิภาวดีรังสิต)

แน่นอนว่าในหลายครั้งประชาชนอาจจะตัดสินผู้สมัครต่างๆ บนเวทีจากเสื้อพรรคที่เขาสวมมากกว่าสิ่งที่เขาพูด แต่ถ้าใครยังเชื่อเหมือนผมว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการโน้มน้าวและการแข่งกันเสนอทางออกให้ประเทศ การที่เราได้รับโอกาสขึ้นเวทีสื่อสารกับประชาชนในฐานะผู้สมัคร จึงนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากสำหรับพวกเรา

แต่รู้ไหมครับ ไม่ว่าเราจะสามารถโน้มน้าวให้คนหันมาเลือกเราเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนผ่านเวทีดีเบต ไม่ว่าพรรคต้นสังกัดของเราจะออกแบบนโยบายหรือแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ถูกใจประชาชนมากน้อยแค่ไหน แต่มีสิ่งหนึ่งที่นักการเมืองไม่สามารถควบคุมได้ในสนามเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถพลิกผลแพ้ชนะได้ ทั้งๆ ที่ความคิดเห็นของผู้คนไม่ได้เปลี่ยนเลยสักคน

สิ่งๆ นั้นคือ ระบบเลือกตั้ง

ถึงแม้เราจะตัดเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เจ้าปัญหาออกไป (เรื่องนี้คงต้องอธิบายอีกหนึ่งบทความเต็มๆ) การเลือกใช้ระบบเลือกตั้งที่แตกต่างกันสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตใดเขตหนึ่ง สามารถพลิกผลจากหน้ามือเป็นหลังมือได้

เพื่อให้เห็นภาพ ผมขอให้ทุกท่านลองนึกย้อนกลับไปสมัยเป็นเด็กนักเรียน ผมเชื่อว่าสัมผัสแรกของเราหลายคนกับประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้ง ส.ส. เขต คือ การเลือกตั้งหัวหน้าห้อง

สมมติว่าห้องเรียนหนึ่งมีนักเรียน 100 คน

แทบจะทุกโรงเรียนที่ผมไป เด็กๆ มักเล่าให้ผมฟังว่าเพื่อนของเขาในห้องมักจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ โดยธรรมชาติ ตามประสาชีวิตเด็กนักเรียน

กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่คนมองว่าเป็น ‘เด็กหน้าห้อง’ ที่ตั้งใจเรียน ส่งการบ้านตรงเวลา พูดจาไพเราะ เป็นที่รักของครู แต่อาจถูกเพื่อนๆ มองว่า เป็นคนเงียบๆ ไม่ตลก อยู่ด้วยแล้วอาจไม่เฮฮาหรือทำอะไรที่น่าตื่นเต้น และถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะยอมแหกกฏระเบียบเพื่อช่วยเพื่อนในยามจำเป็นไหม

สมมติว่าในห้องนี้มีกลุ่ม ‘เด็กหน้าห้อง’ ทั้งหมด 40 คน

อีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็น ‘เด็กหลังห้อง’ ที่อาจเป็นที่นิยมของเพื่อนมากกว่า ชอบตั้งคำถามกับครูในประเด็นที่เด็กทุกคนคิดในใจแต่ไม่กล้าพูด ฉลาดไม่แพ้เพื่อน แต่ในบางครั้งอาจถูกเพื่อนๆ มองว่าพูดแรงไปบ้างหรือทำอะไรกระทบกระทั่งความรู้สึกของครูและเพื่อนคนอื่นในบางครั้ง

สมมติว่ากลุ่ม ‘เด็กหลังห้อง’ มีกันทั้งหมด 60 คน

พอมาถึงวันเลือกตั้งหัวหน้าห้อง มีเด็ก 3 คนที่อาสาลงสมัคร

คนที่ 1 คือ กาย

กายเป็นหนึ่งใน ‘เด็กหน้าห้อง’ ที่มีความรับผิดชอบสูง เรียนได้ที่ 1 ของรุ่น แต่เป็นคนเงียบๆ จึงไม่สนิทกับ ‘เด็กหลังห้อง’

คนที่ 2 คือ ขิม

ขิมสนิทกับกลุ่ม ‘เด็กหลังห้อง’ มาก ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอดถึงแม้จะไม่ใช่ผู้นำของกลุ่ม แต่ด้วยอัธยาศัยที่ดี ขิมเลยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนรวมถึง ‘เด็กหน้าห้อง’

คนที่ 3 คือ แคน

แคนเป็นหัวโจกของกลุ่ม ‘เด็กหลังห้อง’ ที่ยกมือแย้งกับครูทุกครั้งที่ไม่เห็นด้วย หรือทุกครั้งที่ตั้งข้อสงสัยถึงความยุติธรรมของกฏต่างๆ ในโรงเรียน

ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ระบบเลือกตั้ง 3 แบบ อาจนำมาสู่ผู้ชนะที่แตกต่างกันออกไป

 

ระบบ 1: เลือก 1 คน / เสียงข้างมากธรรมดา

ระบบนี้เป็นระบบที่ใช้อยู่ปัจจุบันในการเลือกตั้ง ส.ส. เขต ในประเทศไทย

เด็กแต่ละคนมีสิทธิเลือกแค่ผู้สมัคร 1 คน (หรือกา 1 เบอร์) โดยคนที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะได้รับการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าห้อง

พอใช้ระบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน คือเด็กหน้าห้องทั้ง 40 คน เทคะแนนเสียงไปที่ กาย ในขณะที่เด็กหลังห้อง 60 คน เสียงแตกกันออกไป บางคนเลือกขิม และบางคนเลือกแคน

ผลจึงออกมาเป็น

กาย – 40

ขิม – 25

แคน – 35

คนที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้องจึงเป็น กาย

(สังเกตว่า กายได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าห้อง แม้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนเกินครึ่งหนึ่งของห้อง แค่ 40 จาก 100 ภาษาเทคนิคจึงใช้คำว่า ‘เสียงข้างมากธรรมดา’ หรือ ‘simple majority’)

 

ระบบ 2: เลือก 2 รอบ / เสียงข้างมากเด็ดขาด

ระบบนี้เป็นระบบที่ประเทศไทยอาจไม่คุ้นเคย แต่ถูกใช้อยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงการเลือกประธานาธิบดีฝรั่งเศส

เพื่อให้ผู้ชนะเป็นคนที่ได้รับคะแนนเกินครึ่งหนึ่งของคนทุกคน (หรือ ‘เสียงข้างมากเด็ดขาด’) การเลือกตั้งจะถูกแบ่งออกเป็น 2 รอบ

รอบแรกจะเหมือนกับระบบที่ 1 แต่หลังจากการนับคะแนนเสร็จ ถ้าไม่มีใครได้เกิน 50% ของคะแนนทั้งหมด ผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกจะต้องเข้าไปแข่งกันในรอบตัดสิน โดยจะให้ทุกคนลงคะแนนใหม่ แต่เลือกได้เฉพาะผู้สมัคร 2 คนที่เหลืออยู่

พอใช้ระบบนี้ในห้องเรียนของเรา ผลเลือกตั้งรอบแรกจะเหมือนเดิม คือ กาย 40, ขิม 25, แคน 35

แต่ในเมื่อไม่มีใครได้คะแนนเกิน 50% ของทั้งหมด ทางห้องเลยต้องจัดการเลือกตั้งรอบที่ 2 ระหว่างผู้สมัคร 2 คนที่มีคะแนนสูงสุด คือ กายและแคน

ในรอบที่ 2 จึงมี 40 คนที่เลือกกายเหมือนเดิม และมี 35 คนที่เลือกแคนเหมือนเดิม ตัวแปรเลยอยู่ที่ 25 คนว่าพวกเขาจะเลือกใครเมื่อเลือกขิมไม่ได้แล้ว

ปรากฏว่าเมื่อ 25 คนที่เลือกขิมในรอบแรกเป็นกลุ่ม ‘เด็กหลังห้อง’ 20 จาก 25 คน จึงหันไปเลือกแคน ในขณะที่อีก 5 คน หันไปเลือกกาย

ผลจึงออกมาเป็น

กาย – 45

แคน – 55

คนที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้องจึงเป็น แคน

จะเห็นได้ว่าเราไม่ได้เปลี่ยนความคิดของเด็กคนใดใน 100 คน แต่เพียงแค่เราเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง เราจะสามารถเปลี่ยนผู้ชนะได้

 

ระบบ 3: เลือกกี่คนก็ได้ / เลือกแบบอนุมัติ (approval voting)

ระบบนี้เป็นระบบใหม่ที่ไม่เคยถูกใช้ในวงกว้างมาก่อน

กติกาหลักๆ คือการให้ประชาชนเลือกผู้สมัครกี่คนก็ได้ที่ชอบ หรือพร้อม ‘อนุมัติ’ ถ้าชอบคนเดียวก็เลือกคนเดียว, ถ้าชอบ 2 คนก็กา 2 คน, ถ้าโอเคกับทุกคนก็กาทุกคน

โดยคะแนนของผู้สมัครแต่ละคนจะมาจากจำนวนที่ผู้คนกาให้เขา

พอกลับมาที่ห้องเรียนเรา เมื่อขิมเป็นคนที่อัธยาศัยดีกับทุกคน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กหน้าห้องทั้ง 40 คนรู้สึกโอเคทั้งกับกายและขิม แต่ครึ่งหนึ่งไม่โอเคกับแคนเพราะมองว่าแรงไป ในขณะที่เด็กหลังห้องทั้ง 60 คน โอเคกับทั้งขิมและแคน แต่ครึ่งหนึ่งไม่ชอบกายเพราะมองว่ายึดกฏระเบียบเดิมๆ มากไป

ผลที่ออกมาเลยกลายเป็น

กาย – 70 (40 เด็กหน้าห้อง + 30 เด็กหลังห้อง)

ขิม – 100 (40 เด็กหน้าห้อง + 60 เด็กหลังห้อง)

แคน – 80 (20 เด็กหน้าห้อง + 60 เด็กหลังห้อง)

คนที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้องจึงเป็น ขิม

1 ห้องเรียน 3 ระบบ 3 ผู้ชนะ

จะเห็นได้ว่า อำนาจในการออกแบบระบบเลือกตั้งส่งผลเป็นอย่างมากต่อทั้งโอกาสของผู้สมัครแต่ละฝ่าย ยุทธศาสตร์ที่แต่ละฝ่ายต้องเลือกใช้ และบรรยากาศทางการเมืองที่ตามมา

 

ถ้าเราใช้ระบบที่ 1 เราจะสร้างบรรยากาศการเมืองที่ขยับไปสู่การเมือง 2 ขั้ว หรือ การเมือง 2 พรรคใหญ่ เพราะถ้าขั้วใดขั้วหนึ่งมีหลายพรรค (เช่น เด็กหลังห้องมี ขิม และ แคน) ในขณะที่อีกขั้วมีพรรคเดียว (เช่น เด็กหน้าห้องมี กาย) ขั้วที่มีหลายพรรคมาตัดคะแนนกันเองจะเสียเปรียบทันที

ในเมื่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่จะมาถึงใช้ระบบที่ 1 เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่พรรคใหญ่แต่ละขั้วมีความกล้าๆ กลัวๆ ที่จะประกาศส่งผู้สมัคร เพราะกลัวจะไปตัดคะแนนพรรคจากขั้วเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นขั้วของรัฐบาล (ทั้งพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ยังไม่ประกาศตัวผู้สมัคร) หรือ ขั้วของฝ่ายค้าน (ทั้งอนาคตใหม่และเพื่อไทยยังไม่ประกาศตัวผู้สมัคร)

ในกรณีห้องเรียนของเรา ขิมและแคนอาจต้องตกลงกันว่าใครจะหลีกทางให้อีกคนลง เพื่อไม่ไปตัดคะแนน ‘เด็กหลังห้อง’

ถ้าเราใช้ระบบที่ 2 จะทำให้พรรคการเมืองมีอิสระมากขึ้นที่จะกล้าส่งผู้สมัครของตนโดยไม่ต้องกลัวไปตัดคะแนนกันเอง เพราะท้ายสุดแล้วจะมีแค่ 2 คนที่มีคะแนนสูงสุดแล้วได้เข้าไปสู้กันในรอบ 2 หากคนของเราไม่ได้เข้าไปต่อ เราก็สามารถเปลี่ยนไปหนุนอีกคนจากขั้วเดียวกันที่ผ่านเข้าไปในรอบ 2 ได้

เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่แคนได้คะแนนมากกว่าในรอบแรก ก็จะได้รับคะแนนจากผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ของขิม เมื่อเข้าสู่รอบที่ 2

ถ้าใช้ระบบที่ 3 เราจะได้ผู้ชนะที่เป็นคน ‘กลาง’ ที่อาจไม่ได้เป็นที่หนึ่งในใจของใครสักคน แต่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย (เหมือนกับ ขิม ในตัวอย่างห้องเรียนของเรา)

ด้วยเหตุนี้ ระบบที่ 3 หรือ approval voting จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับการหาผู้นำคน ‘กลาง’ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมทุกฝ่ายในสภาพแวดล้อมที่มีความขัดแย้งสูง แต่ยังคงมีที่มาอยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตย (ซึ่งแตกต่างจาก ‘นายกฯ คนกลาง’ ที่เรามักได้ยิน) หรือใช้สำหรับการหาทางออกให้ประเด็นที่ต้องการ ‘ฉันทามติ’ มีการยอมรับจากทุกฝ่าย เช่น การทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ

แทนที่จะเสนอรัฐธรรมนูญให้ประชาชนพิจารณาแค่ร่างดียวแล้วโหวตว่ารับหรือไม่รับ (ซึ่งอาจนำมาสู่การใช้ร่างรัฐธรรมนูญที่เพียง 51% ของคนในประเทศยอมรับ) เราอาจจะเปลี่ยนเป็นการนำเสนอ 3-4 ร่าง และให้ประชาชนเลือกกี่ร่างก็ได้ที่ชอบ หรือพร้อม ‘อนุมัติ’ ซึ่งจะทำให้มีความเป็นไปได้ว่าร่างที่ได้คะแนนสูงสุด จะได้รับการ ‘รับรอง’ จากคนเกิน 70-80% ของประเทศ

‘ระบบเลือกตั้ง’ จึงเป็นประเด็นที่เราควรให้ความสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากเราอยากได้ ‘ผู้ชนะ’ หรือ ‘การเมือง’ แบบไหน เราจำเป็นต้องออกแบบระบบการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับเป้าหมายนั้น

ผมขอทิ้งท้ายด้วยคำถามที่อาจไม่เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง คือ

ล้วห้องเรียนที่เราพูดถึง ควรมีหัวหน้าห้องที่เป็น ‘เด็กหน้าห้อง’ หรือ ‘เด็กหลังห้อง’ ?”

ถ้าเด็กๆ ในห้องเรียนอยากเปลี่ยนห้องเรียนให้มีความก้าวหน้าขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการห้ามครูตีเด็ก การหยุดบังคับให้เด็กตัดผม หรือการกำจัดการทุจริตงบอาหารกลางวันนักเรียน แล้วหัวหน้าห้องควรเป็นแบบไหน?

สำหรับผม ไม่สำคัญว่าหัวหน้าห้องจะเป็นเด็กหน้าห้องหรือเด็กหลังห้อง แต่ทั้งสองต้องผนึกกำลังและช่วยกันทำหน้าที่ที่ตนเองถนัด

ในขณะที่เด็กหลังห้องอาจช่วยทำให้เด็กในห้องกล้าตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับความอยุติธรรมต่างๆ ในห้องเรียน เด็กหน้าห้องอาจช่วยคิดวิธีการเก็บหลักฐานหรือหาข้อมูลเพื่อให้พวกเขามีข้อเสนอหรือทางออกที่ครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น

ในระหว่างที่เด็กหลังห้องกำลังรวมตัวกันที่โรงอาหารเพื่อล่ารายชื่อและปลุกระดมให้เด็กห้องอื่นลุกขึ้นมาร่วมต่อสู้ เด็กหน้าห้องอาจจะกำลังเดินสายหาแนวร่วมในกลุ่มผู้ปกครองและครูจากห้องอื่นที่เห็นตรงกับพวกเขา

ตราบใดที่เด็กหน้าห้องและเด็กหลังห้องมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน พวกเขาอาจเลือกวิธีการที่แตกต่างกันในการได้มาซึ่งเป้าหมายนั้น แต่พวกเขาจะต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ขาดอีกฝ่ายได้

ถึงที่สุด เด็กหน้าห้อง กับ เด็กหลังห้อง จะต้องลงสมัครแข่งกันเป็นหัวหน้าห้องตามวิถีประชาธิปไตย

แต่พวกเขาต้องอย่าลืมว่าพวกเขาเป็น ‘คู่แข่ง’ ไม่ใช่ ‘ศัตรู’

เพราะ ‘ศัตรู’ ของพวกเขาไม่ใช่กันและกัน แต่คือความไม่ถูกต้องของระบบที่ยังขัดขวางความก้าวหน้าของห้องเรียน และควรเป็น ‘จุดร่วม’ ในการต่อสู้ของเด็กทุกคน ตราบใดที่ความไม่ถูกต้องนี้ยังคงหลงเหลืออยู่ในโรงเรียนของพวกเขา

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save