fbpx
ถ้าเปลี่ยนคำตอบไม่ได้ ให้ลองเปลี่ยนคำถาม

ถ้าเปลี่ยนคำตอบไม่ได้ ให้ลองเปลี่ยนคำถาม

พริษฐ์ วัชรสินธุ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากบริษัทเพื่อเข้ามาทำงานการเมือง

ถ้ามองย้อนกลับไป ความสนใจของผมต่องานการเมืองเริ่มต้นตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ถึงแม้ทุกอาชีพมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ผมมีความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่างานการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นกลไกในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ยั่งยืน และซื่อตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด

“เราต่อสู้มาแทบตายให้รัฐบาลเข้าใจประเด็น แต่ผลพวงจากความพยายามหลายปีอาจหายไปได้ภายในวันเดียว ถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามาเปลี่ยนกฎหมายหรือนโยบาย”

ความอึดอัดของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งที่ผมได้เจอที่นครศรีธรรมราช สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความยั่งยืนของการสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านกลไกการเมือง

ผมเริ่มทำงานบริษัทเอกชนในปี พ.ศ. 2557 เมื่อก่อนเคยคิดกับตัวเองมาตลอดว่าจะไม่เข้ามาทำงานการเมืองจนกว่าอายุเกิน 30 ปี และมีความมั่นคงในชีวิตมากกว่านี้ ทั้งเรื่องสถานะทางการเงินและครอบครัว

จนกระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ผลของการลงประชามติปรากฏว่า ประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมถึงบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง เข้ามาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) 500 คนที่มาจากการเลือกตั้ง

ถ้าไม่นับการทำรัฐประหาร การบังคับใช้บทเฉพาะกาลนี้อาจเป็นจุดตกต่ำที่สุดของประชาธิปไตยไทย นับตั้งแต่ผมลืมตาดูโลกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2535

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องซับซ้อน มีหลายมิติที่นักวิชาการก็ยังถกเถียงกันไม่เลิกถึงความหมายที่แท้จริง แต่สิ่งหนึ่งที่คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นแก่นแท้ของประชาธิปไตย คือ การเป็นระบอบที่ให้ประชาชนทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียง เท่ากันในการกำหนดทิศทางประเทศ

การที่ ส.ว. แต่งตั้ง มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. เป็นกติกาที่ขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับหลัก ‘1 สิทธิ 1 เสียง’

เพราะในขณะที่คะแนนเสียงของประชาชนกว่า 38 ล้านคนทั่วประเทศในวันเลือกตั้ง ถูกแปรมาเป็นคะแนนเสียง 500 เสียง (ส.ส.) ในการโหวตเลือกนายกฯ คณะกรรมการสรรหา ส.ว. 10 คน มีอำนาจในการคัดเลือก ส.ว. ที่แปรมาเป็นคะแนนเสียง 250 เสียง (ส.ว.) ในการโหวตเลือกนายกฯ

หมายความว่าประชาชน 1 คน มีอำนาจเท่ากับ 0.0000017% ในการเลือกนายกฯ ในขณะที่ กรรมการสรรหา ส.ว. 1 คน มีอำนาจเท่ากับ 3.3% ในการเลือกนายกฯ

ถ้าให้สรุปง่ายๆ กรรมการสรรหา 1 คน มีอำนาจมากกว่าประชาชนธรรมดา 1 คน ถึง 2 ล้านเท่า

เมื่อกติกาการเมืองไทยห่างไกลจากประชาธิปไตยมากขนาดนี้ ผมก็ไม่สามารถอยู่นิ่งดูดายได้

1 ปีถัดมา ผมจึงตัดสินใจกระโดดเข้ามาเป็นส่วนเล็กๆ ในการพยายามที่จะพัฒนาการเมืองไทย และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ (และอีกหลายประเด็น) ในฐานะกลุ่ม รัฐธรรมนูญก้าวหน้า

แน่นอนว่าเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ ‘คำตอบ’ ของ 15 ล้านคนที่โหวตเห็นชอบกติกานี้ในประชามติเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่อุปสรรคหลักไม่ได้อยู่ที่ ‘คำตอบ’ ของประชาชนผู้ใช้สิทธิในวันนั้น หากอยู่ที่ ‘คำถาม’ ของสังคมไทยในประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ

ถ้าเราสังเกตคำถามเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ได้ยินตามสื่อสารมวลชนหรือสังคมวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นคำถามในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญและการจัดประชามติ หรือคำถามที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำถามส่วนมากไม่ได้เป็นคำถามที่ ‘ใช่’ เมื่อเราต้องการสำรวจมติมหาชนหรือความคิดเห็นที่แท้จริงของทุกฝ่าย

มันเป็น ‘คำถามต้องห้าม’ ที่ไม่ควรใช้สำรวจความคิดเห็นของสมาชิกในสังคม โดยเฉพาะสำหรับเรื่องใหญ่อย่างรัฐธรรมนูญ  ‘คำถามต้องห้าม’ ทั้ง 4 ประเภทที่ควรระวังมีดังนี้

 

คำถามต้องห้าม #1: คำถามชี้นำ (Leading Question)

 

ลองย้อนไปดูคำถามพ่วงในประชามติปี พ.ศ. 2559 ที่ทำให้เราตกอยู่ในวังวนปัญหาเรื่องวุฒิสภาในปัจจุบันกันดู

ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ถ้าเราคิดว่าคำถามนี้เป็นกลาง และไม่คิดว่าคำถามนี้พยายามชี้นำให้คนเอนเอียงไปสู่คำตอบใดคำตอบหนึ่ง

ลองนึกถึงตัวอย่างคำถามในชีวิตประจำวันที่ผมเชื่อว่าหลายคนกำลังจะเจอในช่วงสิ้นปี: เราควรจะต่ออายุบัตรสมาชิกยิมไหม?

สมมติพนักงานยิมเข้ามาถามเราสั้นๆ ว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า ท่านควรจะต่ออายุสมาชิก?”

เราอาจจะสองจิตสองใจว่าควรหรือไม่ควร เอาข้อดีข้อเสียมาเทียบกัน

แต่ถ้าพนักงานคนเดิมเข้ามาถามว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า เพื่อความต่อเนื่องของแผนการออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้ท่านมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืนนาน ท่านควรจะต่ออายุสมาชิก?”

โอกาสต่ออายุสมาชิกจะสูงขึ้นมาทันที เพียงเพราะคำถามทำให้เราคิดถึงเรื่องสุขภาพร่างกาย ทั้งๆ ที่องค์ประกอบอื่นๆ ไม่ได้เปลี่ยน (เช่น ราคาสมาชิก ความขยันหรือขี้เกียจของเราในการออกกำลังกาย)

ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว การมีร่างกายที่แข็งแรงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการต่ออายุสมาชิกยิมแห่งนี้ (ยิมอื่นอาจจะดีกว่า หรือ เราอาจจะต่ออายุแล้วก็ยังคงไม่ได้ใช้บริการอย่างสม่ำเสมออยู่ดี)

เมื่อเทียบกับคำถามในประชามติเกี่ยวกับบทเฉพาะกาล เราจะเห็นลักษณะของการ ‘ชี้นำ’ ที่คล้ายคลึงกัน

เทคนิคการถามคำถามชี้นำเช่นนี้ อาจจะเป็นอะไรที่เรายอมรับได้จากพนักงานขายของ แต่สำหรับการถามคำถามในประชามติ ความเป็นกลางของคำถามเป็นปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย

ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างสหราชอาณาจักร มีความพิถีพิถันมากในประเด็นนี้

ในช่วงไล่เลี่ยกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญไทย สหราชอาณาจักรมีการจัดประชามติเพื่อถามประชาชนว่าต้องการให้ประเทศยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปอยู่หรือไม่ หากสังเกตคำถามที่ถูกใช้ในบัตรลงคะแนนวันนั้น จะพบว่าได้ผ่านการคัดกรองมาอย่างละเอียด

คำถามแรกที่ถูกเสนอต่อคณะกรรมการจัดประชามติคือ “Should the United Kingdom remain a member of the European Union?” (สหราชอาณาจักรควรยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปอยู่ไหม?) โดยมีคำตอบให้เลือกคือ “Yes” กับ “No”

ดูผิวเผินแล้วคำถามนี้อาจดูเป็นกลางเพราะปราศจากท่อนที่ชี้นำไปทางใดทางหนึ่ง แต่คณะกรรมการปัดคำถามนี้ให้ตกไป เพราะเขามองว่าคำถามไม่พูดถึงความเป็นไปได้ของการไม่อยู่ต่อ เลยทำให้คำถามไม่มีความเป็นกลางอย่างถ่องแท้

ผู้เสนอเลยปรับคำถามเป็น “Should the United Kingdom remain a member of the European Union or not?” (สหราชอาณาจักรควรยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือไม่?) โดยมีคำตอบให้เลือกคือ “Yes” กับ “No”

แต่คณะกรรมการก็ยังปัดคำถามนี้จนตกไปด้วย เพราะการที่คำถามมีแต่คำว่า ‘อยู่ต่อ’ (remain) โดยไม่มีคำว่า ‘ออก’ (leave) ปรากฏอยู่ในคำถาม ทำให้คำถามยังไม่มีความเป็นกลางพอ

นักจิตวิทยาเพิ่มข้อสังเกตด้วยว่าถ้าถูกถามคำถามที่คำตอบมีแค่ “Yes” กับ “No” คนที่ไม่มีความเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง มีโอกาสตอบ “Yes” มากกว่า “No” เพราะโดยธรรมชาติ คนจะอยากพูดเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ

ทั้งหมดนี้ เลยทำให้คำถามที่ชาวอังกฤษพบเจอในคูหาในวันลงประชามติคือ

“Should the United Kingdom remain a member of the European Union, or leave the European Union?” (สหราชอาณาจักรควรยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือออกจากสหภาพยุโรป?) โดยมีคำตอบให้เลือกคือ “Remain a member of the European Union” (ยังคงเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป) กับ “Leave the European Union” (ออกจากสหภาพยุโรป)

ที่เล่าทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะบอกว่าถ้าเราเปลี่ยนวิธีการตั้งคำถามให้เป็นกลางกว่าที่เป็นในวันนั้น ผลของประชามติรัฐธรรมนูญจะออกมาแตกต่างจากเดิมที่ 58% โหวตเห็นชอบกับคำถามนี้ (ความไม่เป็นกลางของการจัดประชามติครั้งนั้น หนักหนาสาหัสกว่าแค่เรื่องการเขียนคำถาม) แต่ผมมองว่าการตั้งคำถามแบบนี้ เป็นวิธีการตั้งคำถามที่ไม่เป็นกลางและไม่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

 

คำถามต้องห้าม #2: คำถามแฝงเร้น (Loaded Question)

 

“คุณยังทำร้ายร่างกายภรรยาอยู่หรือไม่?”

นี่เป็นตัวอย่างของคำถามที่ตอบอย่างไรก็ผิด ถึงแม้ชีวิตนี้คุณไม่เคยทำร้ายภรรยาตัวเองเลยก็ตาม

ถ้าตอบว่า “ใช่” แน่นอนว่าเป็นการยอมรับว่าคุณทำร้ายร่างกายภรรยา

ถ้าปฏิเสธว่า “ไม่” ก็ดูเหมือนว่าคุณเคยทำร้ายภรรยา แต่ตอนนี้กลับตัวกลับใจ ไม่ได้ทำแล้ว

ถ้าปฏิเสธที่จะไม่ตอบ นักข่าวก็พาดหัวได้ว่า “xxx ไม่ปฏิเสธว่ายังทำร้ายภรรยาอยู่”

คำถามนี้เป็นตัวอย่างของคำถามแฝงเร้น (หรือ loaded question) ที่คนถามมีธงตั้งไว้อยู่แล้วว่าต้องการจะสื่ออะไรเกี่ยวกับคนตอบ เพียงแต่ถามไปให้คนตอบติดกับดัก

ทักษะการเอาตัวรอดจากการตอบคำถามลักษณะนี้จากนักข่าว ถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับนักการเมือง ยิ่งในยุคของสื่อโซเชียลที่มักมีการพาดหัวให้เกิดดราม่ากว่าสมัยก่อน

ถึงแม้ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญอาจไม่มีคำถามที่แฝงเร้นอย่างชัดเจนเท่ากับตัวอย่างด้านบน แต่คำถามหนึ่งที่ผมมองว่ามีส่วนผสมของความแฝงเร้นคือคำถามที่ชอบบีบให้คนต้องเลือกว่าอะไรสำคัญกว่าระหว่าง ‘รัฐธรรมนูญ’ กับ ‘เศรษฐกิจปากท้อง’

“ถ้าเลือกได้แค่ 1 อย่าง คุณจะเลือกอะไรระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย กับ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง”

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคำถามที่ตอบอย่างไรก็ผิด

ถ้าตอบว่า ‘ปัญหาปากท้อง’ คุณก็จะถูกข้อครหาว่าไม่เป็นนักประชาธิปไตย

ถ้าตอบว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ คุณก็จะถูกข้อครหาว่าไม่เข้าใจปัญหาใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่ประชาชนอาจมองว่าเร่งด่วนกว่า

ทั้งๆ ที่ความจริงคุณอาจจะพยายามหาทางออกให้ทั้งสองปัญหาอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีความจำเป็นต้องเลือกแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น การถามคำถามที่บีบให้คนรู้สึกว่าต้องเลือกระหว่างสองสิ่ง อาจทำให้เราไม่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทั้งสองเรื่องคู่ขนานกันไป

ถ้าเรามุ่งแต่การมองหาทางออกให้กับปัญหาเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงการพัฒนาประชาธิปไตย เราอาจจะเหนื่อยแทบตายในการช่วยกันคิดคำตอบของนโยบายเศรษฐกิจที่ดีที่สุดซึ่งอาจได้การสนับสนุนจากคนหมู่มาก แต่เราก็อาจไม่มีวันมีอำนาจในการทำให้นโยบายนั้นเป็นจริงได้ เพราะอำนาจไม่อยู่ในมือของประชาชน

เช่นดียวกัน ถ้าเรามุ่งแต่แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจสูงสุดตกอยู่ในมือของประชาชนโดยไม่คิดหานโยบายหรือทางออกให้กับปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ เราอาจจะเหนื่อยแทบตายในการต่อสู้เพื่อให้อำนาจในการกำหนดทิศทางประเทศตกมาอยู่ในมือของประชาชน แต่ในวันที่ประชาชนได้อำนาจนั้นมาแล้ว เราอาจไม่รู้ว่าจะใช้มันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนอย่างไร

 

คำถามต้องห้าม #3: คำถามแคบ (Narrow Question)

 

บางครั้ง พอเราเริ่มตั้งคำถามจริงจังกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรามักตีกรอบคำถามจนแคบเกินไป ทำให้มองไม่เห็นความเป็นไปได้หรือทางออกอื่นๆ ที่อาจดีกว่า

ยกตัวอย่างเช่นประเด็นวุฒิสภา หลายคนมักเพ่งเล็งไปที่คำถาม “วุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่?”

ในความเป็นจริง ปัญหาของวุฒิสภาที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ที่ว่าวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง

บางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ เช่น สหราชอาณาจักร ก็มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แต่มาตรฐานที่ประเทศประชาธิปไตยต้องยึดถือ คือความสอดคล้องระหว่างอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภากับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่ามีความยึดโยงกับประชาชนเพียงใด

ถ้าวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง โดยประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง อำนาจก็ไม่ควรมาก เช่น วุฒิสภาของอังกฤษที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจแค่ยับยั้งกฎหมายได้ 1 ปี

ถ้าวุฒิสภามีอำนาจมาก สมาชิกก็ควรมาจากการเลือกตั้ง เช่น วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาที่มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดีได้ ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยตรง

ปัญหาของวุฒิสภาไทยในปัจจุบัน คือ ความไม่สมดุลระหว่างอำนาจที่มีมาก (ถึงขั้นเลือกนายกฯ) กับ ที่มาซึ่งไม่ยึดโยงกับประชาชน (แต่งตั้งโดยกระบวนการที่ไม่แม้กระทั่งเปิดเผยให้ประชาชนรู้)

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ถ้าเราตั้งคำถามว่า “วุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่?” ก็อาจจะมองเห็นแค่ทางออกสำหรับสังคมประชาธิปไตย

ทางเลือกที่ 1 คือการจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. เพื่อยกระดับให้ที่มาของสมาชิกมีความยึดโยงกับประชาชน สอดคล้องกับอำนาจที่มีอยู่สูง

ทางเลือกที่ 2 คือการลดอำนาจ ส.ว. เพื่อลดระดับอำนาจให้สอดคล้องกับที่มาซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน

แต่ในความจริงแล้ว เรามีทางเลือกที่ 3 ซึ่งแต่เดิมอาจมองไม่เห็น หากตั้งคำถามที่แคบเกินไป จนบีบให้มีแค่ 2 ทางเลือก

ทางเลือกที่พูดถึงนี้เป็นทางเลือกที่ถูกนำไปใช้โดยประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นประชาธิปไตย ใช้ระบบรัฐสภา และบริหารแบบรัฐเดี่ยว (20 ใน 31 ประเทศ) และเป็นทางเลือกที่มองเห็นได้เพียงเปลี่ยนคำถามจาก “วุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่?” เป็น “วุฒิสภาจำเป็นต้องมีไหม?”

ทางเลือกนี้คือ ระบบ ‘สภาเดี่ยว’ มีเพียงสภาผู้แทนราษฎร ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภา

ข้อดีหลักๆ ของระบบสภาเดี่ยวคือความรวดเร็วในการออกกฎหมาย เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก และการประหยัดงบประมาณอย่างน้อยปีละ 1,200 ล้านบาท จากค่าตอบแทน ค่าเดินทาง เบี้ยเลี้ยง และเงินเดือนผู้ช่วย ส.ว. รวมถึงค่าสรรหา ส.ว. ทุก 5 ปี เมื่อครบวาระ

สำหรับสิ่งที่หลายคนกังวลว่าจะสูญเสียไปหากไม่มีวุฒิสภา สามารถใช้กลไกอื่นมาทดแทนบทบาทหน้าที่เก่าของ ส.ว. แถมอาจมีประสิทธิภาพกว่าด้วยซ้ำไป

ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพที่เราหาได้จากการเพิ่มบทบาทของสภาวิชาชีพในระดับกรรมาธิการ

การปกป้องผลประโยชน์ของภูมิภาคหรือจังหวัดต่างๆ น่าจะถูกตอบสนองได้มากกว่าด้วยการกระจายอำนาจให้ทุกจังหวัดมีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง และท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นในการจัดการตนเอง

หรือแม้กระทั่งการถ่วงดุลอำนาจที่น่าจะเข้มข้นและเป็นกลางกว่าการพึ่งพิงบุคคล 250 คน ถ้าเราสามารถติดอาวุธและเครื่องมือตรวจสอบให้ประชาชนได้ เช่น การเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดและละเอียดอ่อน การเพิ่มพื้นที่ให้สื่อสืบสวนสอบสวนทำงานอย่างเสรีในโลกสมัยใหม่ หรือการคุ้มครองคนที่กล้าลุกขึ้นมาเปิดโปงคนทุจริต

ไม่ว่าคุณจะคิดเห็นอย่างไรกับข้อเสนอเรื่องสภาเดี่ยว ปฏิเสธไม่ได้ว่าทางเลือกนี้จะไม่ปรากฏขึ้นมา ถ้าเราไม่หลุดออกจากการถามคำถามเดิมๆ ที่แคบเกินไป (เช่น “วุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่?”)

การตั้งคำถามใหม่ อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหาคำตอบหรือทางออกใหม่ๆ

 

คำถามต้องห้าม #4: คำถามแบ่งแยก (Divisive Question)

 

ท้ายที่สุด ไม่ว่าคำถามจะเป็นกลางหรือเปิดกว้างมากแค่ไหน คุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่สำคัญสำหรับคำถามในเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องการฉันทมติจากทุกฝ่าย (เช่น รัฐธรรมนูญ) คือการถามคำถามที่สร้างสรรค์และเชิญชวนให้คนหาจุดร่วม มากกว่าถามคำถามที่แบ่งแยกสังคมเป็นสองด้านและผลักดันให้คนทะเลาะกันบนจุดต่าง

ตัวอย่างที่น่าสนใจของประเด็นนี้ คือการแสวงหาฉันทมติของประชาชนชาวไต้หวัน เกี่ยวกับข้อเสนอให้แอพพลิเคชันเรียกรถ (เช่น Grab, Uber) ถูกกฎหมาย

ประเด็น Uber ถือเป็นประเด็นที่เคยแบ่งแยกสังคมไต้หวันออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน

ทุกครั้งที่มีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อคำถามในเชิงที่ว่า “คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าบริษัทแอพพลิเคชันเรียกรถ (เช่น Uber) ควรจะถูกกฎหมาย” ผลลัพธ์จะออกมาใกล้เคียง 50-50 ทุกครั้ง

ครึ่งหนึ่งของประเทศมองว่าการทำให้ถูกกฎหมายจะช่วยกระตุ้นให้บริษัทแท็กซี่ดั้งเดิมต้องแข่งขันปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ

อีกครึ่งหนึ่งของประเทศมองว่าการทำให้ถูกกฎหมายเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมต่อคนขับแท็กซี่ที่ต้องผ่านการสอบและกระบวนการคัดกรองมาหลายขั้นตอน ก่อนจะได้รับใบอนุญาต

ไม่ว่าจะถามคำถามเดิมไปกี่ครั้ง ผลลัพธ์ก็ไม่เคยเปลี่ยน และรัฐบาลก็เผชิญทางตัน ไม่สามารถตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่งโดยไม่ถูกคัดค้านจากคนอีกครึ่งประเทศ

จุดเปลี่ยนที่ช่วยปลดล็อคทางตันนี้ได้ในที่สุด ไม่ได้เกิดจากการที่ประชาชนคนใดเปลี่ยนคำตอบหรือความเห็นของตัวเอง แต่เกิดจากการที่รัฐบาลเปลี่ยนวิธีตั้งคำถาม

แทนที่จะถามว่า Uber ควรถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นการแบ่งประชาชนออกเป็นคู่ตรงข้ามสองฝั่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลกลับตัดสินใจถามคำถามปลายเปิดที่เอื้อต่อการหาฉันทมติในหมู่ประชาชนทุกฝ่าย นั่นคือ

“อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมแท็กซี่?”

ผลลัพธ์ที่ได้หลังการวิเคราะห์คำตอบที่หลากหลาย คือ ‘จุดร่วม’ หลายอย่างที่คนทั่วประเทศเห็นตรงกัน ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านการทำให้ Uber ถูกกฎหมาย

‘จุดร่วม’ กว่า 80-90% ของผู้ตอบ ครอบคลุมหลายเรื่อง ตั้งแต่ความปลอดภัยของผู้โดยสาร จนถึงการพัฒนาคุณภาพของบริการแท็กซี่ในปัจจุบัน และการป้องกันการผูกขาดของแอพพลิเคชันเจ้าเดียว

‘จุดร่วม’ เหล่านี้ถูกดึงมาเป็นหลักการขั้นพื้นฐานในการออกนโยบายใหม่ ทำให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการเปิดให้คนขับ Uber ทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย หลังจากผ่านกระบวนการตรวจสอบประวัติของรัฐเพื่อความปลอดภัย ควบคู่ไปกับความพยายามให้คนขับแท็กซี่ดั้งเดิมมีโอกาสเข้ามาอยู่ในระบบแอพพลิเคชันต่างๆ

เราจะเห็นได้ว่า ความสำเร็จครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความพยายามจะเปลี่ยนความคิดของคน มากเท่ากับการเปลี่ยนคำถามที่ตั้งขึ้น เพื่อแสวงหา ‘จุดร่วม’ ระหว่างคนในสังคม

ท้ายสุดแล้ว ทุกฝ่ายทางการเมืองอาจมี ‘จุดร่วม’ ที่เยอะกว่า ‘จุดต่าง’ เพียงแต่คำถามที่ถูกตั้ง มักไปขีดเส้นใต้ ‘จุดต่าง’ มากกว่า ‘จุดร่วม’

เรื่องนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่เราควรนำมาใช้กับเรื่องรัฐธรรนูญไทย เพราะนับวันยิ่งดูจะมีความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากกว่าประเด็นเรื่อง Uber ของไต้หวันเสียด้วยซ้ำ

 

ถ้าเราถามประชาชนด้วยคำถามเดิมๆ ว่า “คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เราอาจจะได้รับแต่คำตอบเดิมๆ

ยิ่งในสภาพแวดล้อมทางการเมืองในปัจจุบันที่มีความขัดแย้งสูง ประชาชนยิ่งถูกผลักให้เลือกข้างมากขึ้น ใครที่ชื่นชอบรัฐบาลก็มักจะบอกว่าไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนใครที่ไม่ชื่นชอบรัฐบาลก็จะมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทั้งๆ ที่ความจริง เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปรียบเสมือนกติกาสูงสุดของประเทศ ควรเป็นเรื่องที่ทุกขั้วการเมืองต้องมีฉันทมติร่วมกันมากที่สุด

ไม่ว่าแฟนลิเวอร์พูลกับแฟนแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจะเถียงกันอย่างดุเดือดเพียงใดว่าทีมไหนเก่งกว่าหรือมีเสน่ห์กว่ากัน แต่น้อยครั้งที่ทั้งสองจะเห็นต่างหรือทะเลาะกันว่า กติกาฟุตบอลควรเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น แทนที่จะถามซ้ำว่าควรหรือไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญ ผมมองว่าคำถามที่อาจจะสร้างสรรค์กว่าในการปลดล็อคเรื่องรัฐธรรมนูญ คือคำถามที่ว่า

“อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับรัฐธรรมนูญที่เราอยากเห็น?”

เมื่อถามเช่นนี้ เราก็จะเปิดโอกาสให้คนที่เคยอยู่คนละฝั่งแสดงความเห็นที่อาจมี ‘จุดร่วม’ กันมากขึ้น

คำตอบเช่น “ผ่านการทำประชามติที่เสรีและเป็นธรรม” “เคารพ 1 สิทธิ์ 1 เสียง” “มีระบบการเลือกตั้งที่เข้าใจง่าย” อาจเป็นคำตอบที่เราได้ยินจากคนในทุกขั้วการเมือง และสามารถเป็นรากฐานของบทสนทนาต่อไปได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบรรลุหรือสอดคล้องกับหลักการเหล่านี้เพียงพอหรือยัง

พอเราพลิกบทสนทนาจากคำถามว่าแก้หรือไม่แก้ มาเป็นการทำให้ผู้คนเห็นก่อนว่าช่องว่างระหว่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันกับรัฐธรรมนูญที่เขาอยากเห็นมีอะไรบ้าง เราจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้รับฉันทมติจากหลายฝ่ายให้แก้ในบางส่วนที่ทุกคนเห็นว่าเป็นปัญหาที่สุด

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมตัวผมและกลุ่ม ‘รัฐธรรมนูญก้าวหน้า’ ถึงมุ่งเน้นการพัฒนาและสื่อสารข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ว่าเราอยากเห็นการแก้ไขเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญในส่วนไหนบ้าง

ถ้าเราอยากให้คนที่ยังลังเลหรือไม่แน่ใจ หันมาเห็นความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่น่าจะนำไปสู่ความสำเร็จมากที่สุด ไม่ใช่การขยี้ปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่คือการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันร่างข้อเสนชัดๆ ว่าเราอยากเห็นอะไรในรัฐธรรมนูญ อยากแก้หรือไม่แก้ในประเด็นไหน และทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเราอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ไม่ได้เริ่มต้นจากการเปลี่ยนความคิดคนทันที

การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เริ่มต้นได้ด้วยการตั้งคำถาม

แต่คำถามที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและสังคมที่ก้าวหน้า ต้องเป็นคำถามที่เป็นกลาง ปราศจากความแฝงเร้น ไม่ปิดกั้นความเป็นไปได้ และเชิญชวนให้คนแสวงหา ‘จุดร่วม’

ถ้าเปลี่ยนคำตอบใครไม่ได้ ให้ลองเปลี่ยนคำถาม

 

หมายเหตุ: กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าจะจัดกิจกรรม CONLAB (Constitution Lab) ในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2562 เพื่อเปิดสนามให้ประชาชนจัดทีมมาแข่งกันร่างรัฐธรรมนูญภายในวันเดียว ในรูปแบบคล้าย เกม หรือ Hackathon เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนและแสวงหาฉันทมติร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญที่เราอยากเห็นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save