fbpx
ไบค์แชริ่ง: ฝันที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะไปถึง

ไบค์แชริ่ง: ฝันที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะไปถึง

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

ตอนนี้เมืองไทยไม่มีอูเบอร์แล้ว แต่กระนั้น บริการของอูเบอร์ ก็ทำให้เราคุ้นเคยกับสิ่งที่เคยถูกเรียกว่าเป็น Sharing Economy (ซึ่งก็ถูกวิจารณ์ยับเยินว่าน่าจะเป็น Renting Economy มากกว่า เพราะมันไม่ได้ ‘แชร์’ จริงๆ) กันมากขึ้น

 

เวลาพูดถึงอูเบอร์ หลายคนจะคิดถึงการให้บริการรถยนต์ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งกับบริการแท็กซี่เป็นอันมาก แต่คุณอาจไม่รู้มาก่อนว่า ที่จริงแล้ว อูเบอร์ไม่ได้ให้บริการด้านรถยนต์อย่างเดียว แต่ตอนนี้ อูเบอร์กำลังทำตัวเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ของการให้บริการจักรยาน ด้วยบริการที่เรียกว่า Uber Bike

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน อูเบอร์ซื้อสตาร์ตอัพหนึ่งที่มีชื่อว่า Jump ไป Jump เป็นบริการที่เรียกได้ว่าเป็น Bike-Sharing หรือการ ‘แบ่งจักรยานกันปั่น’ แล้วอูเบอร์ก็นำ Jump มาเป็นฐานในการให้บริการแบ่งปันจักรยานอีกต่อหนึ่ง

วิธีการก็ง่ายๆ ครับ คือถ้าคุณสมัครเป็นสมาชิกแล้ว มีแอพแล้ว ก็แค่ไปปลดล็อกจักรยานที่อยู่ตามที่ต่างๆ ในเมือง จักรยานเหล่านี้จะล็อกติดอยู่กับที่จอดที่ไม่จำเป็นต้องเป็นจุดจอดเฉพาะ ขอเพียงเป็นที่จอดจักรยานที่ถูกกฎหมายเท่านั้น (เช่น Bike Rack ข้างถนน) หรือต่อให้ไม่ถูกกฎหมาย (มากนัก) เช่น ต้นไม้หรือเสา ก็สามารถปลดล็อกนำมาปั่นได้เหมือนกัน

แต่จักรยานของอูเบอร์ไม่ใช่จักรยานธรรมดา มันจะเป็นจักรยานไฟฟ้าสีแดง ทำให้ผ่อนแรง ไม่ได้ต้องออกแรงปั่นกันจริงจังมากนัก โดยเฉพาะเวลาขึ้นเนินชันๆ ทีนี้เมื่อได้จักรยานแล้ว ก็แค่ปั่นจากที่หนึ่งไปยังจุดหมายปลายทางของคุณ หรือจะปั่นไปไหนก็ได้ตามใจ สุดท้ายก็จะมีการเก็บเงินผ่านบัตรเครดิตเหมือนบริการอูเบอร์แท็กซี่นั่นแหละครับ แล้วพอคุณใช้เสร็จ ก็เอาจักรยานไปจอดไว้ที่ไหนก็ได้ตามใจชอบ แต่ถ้าคุณยังใช้จักรยานไม่เสร็จ ก็สามารถตั้งค่าเป็นโหมด Hold เอาไว้ก่อนก็ได้ เผื่อจะกลับมาใช้ต่ออีก

หลายคนอาจจะบอกว่า ไม่เห็นแปลกเลย ที่ไหนในโลกก็มีบริการแบบนี้ทั้งนั้น ตั้งแต่ลอนดอนถึงไทเป (แม้แต่กรุงเทพฯ ของเรา ก็มีจักรยานแบบนี้จอดอยู่ตามที่ต่างๆ เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยมีใครใช้ และไม่ค่อยมีการรณรงค์ให้ใช้สักเท่าไหร่) แต่ที่อยากจะเล่าให้คุณฟังก็คือ เจ้า ‘เทรนด์’ ของการใช้จักรยานในแบบ ‘แชร์กัน’ แบบนี้ เริ่มกลับมา ‘มาแรง’ อีกครั้งหนึ่งแล้วนะครับ

คู่แข่งสำคัญของอูเบอร์ ก็คือ Lyft ซึ่งให้บริการคล้ายๆ อูเบอร์ ก็เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆนี้ว่า จะตั้งเป้าเป็นบริษัทที่ให้บริการ Bikeshare System ด้วยเหมือนกัน โดยอูเบอร์นั้นได้ Jump ไปใช่ไหมครับ Lyft ก็ไม่น้อยหน้า เพราะ Lyft ซื้อ Motivate ซึ่งเป็นบริษัทจากนิวยอร์ก ที่ปัจจุบันให้บริการจักรยานปันกันปั่นแบบนี้ในเมืองใหญ่ที่สุดและเมืองที่มีความแออัดหนาแน่นที่สุดของสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก เฉพาะสี่เมืองหลัก คือ City Bike ของนิวยอร์ก, Divvy ของชิคาโก, Capital Bikeshare ของวอชิงตันดีซี และ Bluebikes ของบอสตัน สี่ระบบที่อยู่ในเครือของ Motivate ก็คิดเป็น 74% ของการเดินทางแบบ Bikesharing ในอเมริกา (ที่มีมากถึง 35 ล้านเที่ยว) แล้ว เพราะฉะนั้น ก้าวขยับของ Lyft จึงทำให้อูเบอร์หนาวได้ไม่น้อยทีเดียว

อูเบอร์นั้นซื้อ Jump มาในราคา 200 ล้านเหรียญ ส่วน Lyft ซื้อ Motivate มาในราคา 250 ล้านเหรียญ คือยอมลงทุนมากกว่าเห็นๆ ทั้งนี้ก็เพราะบริการแบบใหม่นี้ เป็นเทรนด์ที่เรียกว่า Mobility as a Service คือการเดินทางเคลื่อนย้ายไปมานั้น แท้จริงแล้วคือ ‘บริการ’ สำคัญอย่างหนึ่งของเมืองใหญ่

เราก็คงเห็นกันอยู่นะครับ ว่าผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน ที่จริงเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ในนิวยอร์กหรือเมืองใหญ่อื่นๆ ก็มีปัญหาแบบเดียวกัน นั่นคือคนทั่วไปที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ต้องพึ่งพาพึ่งพิงบริการขนส่งมวลชนเหล่านี้มากเกินไป ปัญหาที่เกิดมีหลายระดับ เช่น รถไฟฟ้าเสีย ทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ตามที่ต้องการ รวมไปถึงเส้นทางไม่ครอบคลุม ทำให้ต้องเสียเวลาต่อรถหลายต่อ หรือในบางกรณี การเดินทางด้วยวิธีอื่นอาจจะเร็วกว่าด้วยซ้ำ

และวิธีเดินทางที่ดีที่สุด เร็วที่สุด ได้ ‘ดั่งใจ’ ที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือการใช้จักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้คนสามารถซอกซอนเข้าไปตรงนั้นตรงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นั่นจึงเป็นช่องทางให้ทั้งอูเบอร์และ Lyft พุ่งเป้าเข้าไปในด้านนี้ แต่ไม่ใช่แค่สองเจ้านี้เท่านั้นนะครับ เพราะแม้กระทั่งบริษัท Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทของกูเกิลเอง ก็กำลังลงทุนถึง 300 ล้านเหรียญ กับบริการที่เรียกว่า LimeBike ซึ่งแต่เดิมเป็นบริการจักรยาน แต่เข้าใจว่าระบบใหม่จะเป็น Scooter-Sharing คือใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่เล็กและคล่องตัวกว่าจักรยานเข้าไปอีก

ในส่วนของอูเบอร์เองก็กำลังขยายตัวเข้าไปสู่ยุโรป ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากทีเดียว เพราะยุโรปมีบริการ Bikesharing ที่เหนียวแน่นมาก นอกจาก Limebike (ในรูปแบบจักรยาน) แล้ว ยังมี Obike และ Ofo ด้วย เฉพาะในเบอร์ลินเองก็มีจักรยานแบบนี้มากกว่า 18,000 คัน จากบริษัทต่างๆ ถึง 8 แห่งอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเจาะเข้าไปได้ยากมาก ล่าสุด Transport for London ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเดินทางในลอนดอน ก็เพิ่งไม่ต่อใบอนุญาตให้อูเบอร์ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อ เพราะเห็นว่ามีปัญหาหลายอย่าง ซึ่งอูเบอร์ก็ต้องต่อสู้อุทธรณ์กันต่อไป

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้เลยว่า Bikesharing Service ที่เคย ‘มาแรง’ มาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ได้แผ่วความมาแรงนั้นลงไปเลย แต่หลายเมืองทั่วโลก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างเห็นความสำคัญของบริการนี้ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่แออัดและความแออัดนั้นทำให้การเดินทางของผู้คนทั่วไปยากลำบากไม่น้อย

ปัจจุบัน บริการจักรยานแบบนี้จะมีสองลักษณะใหญ่ๆ คือเป็นแบบที่มี Dock หรือมีสถานีหรือจุดจอด อย่างที่ระบบจักรยานปันปั่นของกรุงเทพฯ เป็น (หรือระบบจักรยานของไทเปก็เป็นแบบนี้เช่นเดียวกัน) กับอีกแบบหนึ่งคือ Dockless คือไม่จำเป็นต้องมีสถานีหรือจุดจอด สามารถจอดที่ไหนก็ได้ (แบบเดียวกับจักรยานของอูเบอร์ หรือในไทยเข้าใจว่ามีเจ้าใหญ่ๆ ที่เข้ามาให้บริการ คือ Mobike, Ofo และ Obike แต่เป็นการให้บริการในสถานศึกษาเป็นหลัก) ซึ่งก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกันว่า แบบไหนจะเหมาะสมกับเมืองนั้นๆ มากกว่ากัน อย่างในปักกิ่ง ก็มีกรณีจอดจักรยานทิ้งๆ ขว้างๆ ทำให้เกะกะกีดขวางทางเท้าไปทั่วเมืองมาแล้ว

อย่างไรก็ดี Bikesharing หรือ Scooter-Sharing ที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะถ้าไม่มีฐานเป็นการออกแบบเมืองที่เอื้อต่อการใช้งานจักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแล้ว ก็แทบจะพูดได้เลยว่าเปล่าประโยชน์ เนื่องจากคนไม่สามารถนำจักรยานหรือสกู๊ตเตอร์มาใช้ได้

 

ความฝันของใครหลายคนที่จะเห็นกรุงเทพฯ มีบริการ Bikesharing จึงเป็นฝันที่ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้นได้จริง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save