fbpx
อินเดียกับการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

อินเดียกับการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

 

หลังจากที่ได้เขียนถึงพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคที่ลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ รวมถึงเหตุการณ์การก่อการร้ายที่มีส่วนอย่างมากต่อคะแนนที่ผันผวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอินเดีย ในที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียก็ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปประจำปี 2019 อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ยังรวมถึงการออกประกาศรับสมัครผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ต้องการลงชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้

สำหรับประเทศอินเดียที่มีประชากรมากถึง 1.3 พันล้านคน กำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยในปีนี้มีจำนวนมากถึง 900 ล้านคนเลยทีเดียว

นอกจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มากมายมหาศาลแล้ว ขนาดพื้นที่ในการเลือกตั้งของอินเดียก็ใหญ่ไม่แพ้กัน นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่อินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก การเลือกตั้งของอินเดียจึงเป็นที่จับตามองจากนานาชาติมาโดยตลอด ยิ่งในปัจจุบันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปีล่าสุดอินเดียมีการเติบโตของตัวเลขจีดีพีสูงถึงร้อยละ 7.1 ในขณะเดียวกันขนาดเศรษฐกิจของอินเดียก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การเลือกตั้งในฐานะการกำหนดนโยบายการพัฒนาของประเทศอินเดีย จึงไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะกับคนอินเดียอีกต่อไป แต่ยังสำคัญต่อนักลงทุนที่กำลังรุมจีบอินเดียด้วย

ในครั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียแบ่งจำนวนการเลือกตั้งทั่วไปออกเป็น 7 ครั้ง กินระยะเวลากว่า 1 เดือนเต็ม ต้องขอทำความเข้าใจ ณ ตรงนี้ก่อนนะครับว่า ในระบบการเลือกตั้งของอินเดียนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ต้องจัดให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงวันเดียว แต่สิ่งที่รัฐธรรมนูญอินเดียกำหนดไว้คือการนับคะแนนต้องจัดขึ้นในวันเดียวกันทั้งประเทศ นี่จึงต่างจากบ้านเราที่เลือกตั้งวันเดียวและนับกันวันนั้น ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจครับว่าทำไมอินเดียถึงใช้เวลาเลือกตั้งกันยาวนานขนาดนั้น

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือโลกสภา (Lok Sabha) ของอินเดียจำนวน 543 ที่นั่งด้วย โดยรอบแรกจัดขึ้นวันที่ 11 เมษายน มีการเลือก ส.ส. ทั้งสิ้น 91 คน ในจำนวน 20 รัฐ และยังมีการเลือกตั้งมุขมนตรีในอีก 4 รัฐพร้อมกันไปด้วย คือ รัฐอานธรประเทศ สิกขิม อรุณาจัลประเทศ และโอริสสา  รอบที่ 2 จัดขึ้นวันที่ 18 เมษายน มีการเลือก ส.ส. ทั้งสิ้น 97 คน ในจำนวน 13 รัฐ  รอบที่ 3 จัดขึ้นวันที่ 23 เมษายน มีการเลือก ส.ส. ทั้งสิ้น 115 คน ในจำนวน 14 รัฐ  รอบที่ 4 จัดขึ้นวันที่ 29 เมษายน มีการเลือกส.ส. ทั้งสิ้น 71 คน ในจำนวน 9 รัฐ รอบที่ 5 จัดขึ้นวันที่ 06 พฤษภาคม มีการเลือก ส.ส. ทั้งสิ้น 51 คน ในจำนวน 7 รัฐ  รอบที่ 6 จัดขึ้นวันที่ 13 พฤษภาคม มีการเลือก ส.ส. ทั้งสิ้น 59 คน ในจำนวน 7 รัฐ  และรอบที่ 7 จัดขึ้นวันที่ 19 พฤษภาคม มีการเลือก ส.ส. ทั้งสิ้น 59 คน ในจำนวน 8 รัฐ

นี่แสดงให้เห็นว่าใน 1 รัฐของอินเดีย อาจมีการเลือกตั้งมากกว่า 2 รอบ ยกตัวอย่างเช่น รัฐกานาตาร์กาต้องเลือกตั้ง 2 รอบ หรืออย่างรัฐอุตตรประเทศ รัฐที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ก็มีการจัดการเลือกตั้ง ทั้ง 7 รอบด้วยกัน เป็นต้น ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์และการบริหารจัดการบุคลากร

แม้จะมีความพยายามจากทั้งนักวิชาการ นักวิเคราะห์การเมือง หรือแม้กระทั่งสำนักข่าวต่างๆ ทั้งในและนอกอินเดียในการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่แต่ละพรรคจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยเฉพาะพรรคใหญ่สองพรรคอย่างบีเจพีและคองเกรส แต่การเมืองอินเดียก็เหมือนการเมืองทั่วโลกที่มีบิ๊กเซอร์ไพรส์ให้ได้เห็นอยู่เนืองๆ และหลายครั้งก็หักปากกาเซียนไปหลายคนเหมือนกัน

ครั้งนี้ ผู้เขียนเลยขอถือโอกาสทบทวนเหตุการณ์บิ๊กเซอร์ไพร์ส์ใหญ่ๆ ในอินเดีย ซึ่งสร้างผลดีผลเสียต่อแต่ละพรรคการเมืองไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือมันแทบจะทำให้เกมการเมืองที่เคยเขียนมาก่อนหน้านี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

 

คะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นของฝ่ายขวา

 

หลังจากก่อนหน้านี้คะแนนนิยมและฐานเสียงของพรรคบีเจพีลดลงไปเป็นจำนวนมาก จนนักวิเคราะห์หลายคนมองว่านายกรัฐมนตรีโมดีอาจไม่ได้กลับเข้ามานั่งตำแหน่งนี้เป็นสมัยที่สองแน่ๆ จากการผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจที่ประสบความล้มเหลว ถึงแม้ว่าหลายๆ นโยบายจะส่งผลเชิงบวกในเรื่องการคลังของประเทศ แต่ก็แลกมาด้วยการปิดกิจการจำนวนมากของผู้ค้าขนาดกลางและขนาดย่อย โดยเฉพาะการยกเลิกธนบัตรบางอัตราในประเทศอินเดีย นอกจากนี้นโยบายการปรับอัตราภาษีในมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ ก็ดูจะส่งผลกระทบในด้านบวกแค่กับคนชั้นกลาง เพราะสินค้าพื้นฐานหลายตัวมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผ้าอนามัย

ประเด็นเรื่องผ้าอนามัยกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้พรรคบีเจพีเสียฐานเสียงผู้หญิงจำนวนมาก ผ้าอนามัยถูกเรียกเก็บอัตราภาษีในระดับที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้เกิดกระแสประท้วงนโยบายภาษีผ้าอนามัย หรือ ‘Do not impose tax on my period’ สร้างข่าวฮือฮาไปทั่วโลก จนรัฐบาลอินเดียเสียหน้าอย่างมาก ซ้ำยังถูกองค์กรระหว่างประเทศด้านสุขอนามัยโจมตีอยู่หลายครั้ง การประท้วงเรื่องนี้ในอินเดียกินเวลายาวนานถึงกว่า 1 ปี จนกระทั่งรัฐบาลอินเดียต้องออกประกาศยกเลิกการเก็บภาษีจากผ้าอนามัย แต่รัฐบาลก็เสียคะแนนนิยมไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีปัจจัยบวกใหม่ที่ทำให้กระแสฝ่ายขวาที่กำลังอ่อนแรงกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง โดยเฉพาะปัญหาการก่อการร้ายในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ดังที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ว่าเรื่องนี้ได้ลุกลามกลายเป็นปัญหาระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน นำมาซึ่งการลุกล้ำเขตแดนของกันและกัน สถานการณ์เช่นนี้สร้างคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นให้กับพรรคบีเจพีอย่างปฏิเสธไม่ได้ ถึงแม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะห้ามนำรูปหรือเรื่องราวเหล่านี้ไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็พบเห็นได้ทั่วไปว่าคนของพรรคบีเจพีเอาเรื่องนี้ไปใช้หาเสียงอย่างแพร่หลาย

นอกจากเรื่องนี้จะสร้างกระแสบวกให้พรรคบีเจพีแล้ว ดูเหมือนว่าความพยายามที่ล้มเหลวของอินเดียในการขึ้นบัญชีกลุ่มก่อการร้าย JeM เป็นกลุ่มก่อการร้ายสากล จะกลายเป็นอาวุธเด็ดของพรรคบีเจพีในการทิ่มแทงพรรคคองเกรสด้วย เพราะทุกครั้งที่อินเดียพยายามเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก็จะถูกเตะถ่วงและใช้อำนาจย้ำยั้ง (Veto) โดยจีนเสมอ

แน่นอนว่าปัญหาเรื่องที่นั่งถาวรในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในอินเดียอีกครั้ง เพราะผู้นำของพรรคบีเจพี รวมถึงรัฐมนตรีหลายคนโดยเฉพาะรัฐมนตรีต่างประเทศ ระบุว่าเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีชวาหร์ลาล เนห์รู (อดีตผู้นำพรรคคองเกรส) ที่ไม่ยอมรับข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาในการเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของ UNSC

และไพ่สุดท้ายที่นเรนทรา โมดี และพรรคบีเจพีหยิบขึ้นมาใช้ คือการปราบปรามการทุจริตในช่วงที่ผ่านมาที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ทำเอาพรรคคองเกรสพูดไม่ออก คือการติดตามตัวนักธุรกิจค้าเครื่องประดับของอินเดียที่ทุจริตเงินธนาคารของรัฐอย่างนายนิราฟ โมดี (Nirav Modi) ให้ได้กลับมารับโทษได้สำเร็จ หลังจากที่ศาลอังกฤษไม่ให้เขาประกันตัวและจะส่งตัวกลับมาที่อินเดีย เรื่องการทุจริตของพ่อค้าเครื่องประดับคนนี้เป็นประเด็นการโจมตีใหญ่ที่ฝ่ายคองเกรสใช้เล่นงานรัฐบาลมาตลอด แต่เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ หลายคนในพรรคคองเกรสก็ถึงกับไปต่อไม่เป็น สโลแกนหาเสียงของโมดีในช่วงที่ผ่านมาจึงชูการเป็นนักตรวจสอบการทุจริต หรือ Chowkidar

 

โอกาสที่สำคัญของพรรคคองเกรส

 

ในอีกด้านหนึ่ง ถึงแม้ว่าพรรคคองเกรสจะเจอบิ๊กเซอร์ไพรส์มากมาย ซึ่งเป็นแรงหนุนและผลเชิงบวกให้พรรคคู่แข่งได้มีเกราะกำบังใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นโล่ป้องกันความล้มเหลวในการบริหารงานเศรษฐกิจในช่วงปีท้ายๆ ของการเป็นรัฐบาล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องปากท้องยังคงเป็นเรื่องใหญ่ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอินเดีย และกระแสชาตินิยมที่เติบโตขึ้นนั้นก็เป็นกระแสชั่วครั้งชั่วคราว ส่วนปัญหาปากท้องที่สะสมกันมาเป็นเวลานานนั้น ส่งผลโดยตรงต่อค่าครองชีพและการอยู่อาศัยของประชาชน และนี่คือโอกาสสำคัญของพรรคคองเกรสในการช่วงชิงคะแนนนิยมจากประชาชน

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ความพ่ายแพ้ของคองเกรสจากปัญหาการทุจริตของพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลให้ความนิยมของพรรคตกลงไปอย่างมาก แต่ความพยายามอย่างมากในการปฏิรูปภาพลักษณ์ของพรรคโดยนายราหุล คานธี เริ่มเห็นผลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการชูนโยบายเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาจูงใจประชาชนในการแข่งขันเลือกตั้งในระดับมลรัฐ ซึ่งทำให้คองเกรสประสบความสำเร็จอย่างมาก

ปัจจุบันตัวเลขการว่างงานของคนอินเดียที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นศรพรหมมาศที่ราหุล คานธี ใช้ยิงใส่นเรนทรา โมดี อยู่เนืองๆ เพราะโมดีดันไปรับปากเอาไว้ในช่วงหาเสียงปี 2014 ว่าจะทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งก็เพิ่มขึ้นจริงๆ แต่ดูเหมือนว่าตัวเลขจะไปตกอยู่กับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในอินเดียเสียมากกว่า

ในขณะเดียวกัน การหันหลังให้เกษตรกรของรัฐบาล ส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากในอินเดียต้องจบชีวิตลง รวมถึงการเดินขบวนประท้วงของหลายเครือข่ายเกษตรกรรมภายในประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ผลิตข้าว หอม มันสำปะหลัง กล้วย ฯลฯ ทำให้เกิดความโกลาหลในหลายพื้นที่ของเมืองใหญ่ที่คนเหล่านี้เดินทางไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล

แล้วนโยบายของคองเกรสก็เหมือนยาหอมประโลมใจ ที่เข้าไปสร้างความกระชุ่มกระชวยให้เกษตรกรเหล่านี้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกร โครงการพักชำระหนี้การเกษตร เป็นต้น ความสำเร็จในการผลักดันเรื่องเหล่านี้ในมลรัฐที่คองเกรสพึ่งได้รับชัยชนะมา กลายเป็นปัจจัยบวกให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นเห็นถึงความสามารถในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

นอกจากประเด็นเศรษฐกิจที่ทำให้คองเกรสกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งแล้ว ประเด็นปัญหาสังคมโดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยและชนวรรณะล่าง ก็ส่งผลให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคคองเกรสด้วย คลิปวิดีโอเทศกาลโฮลีเลือด ที่มีการรุมประชาทัณฑ์กันจากการที่ชาวมุสลิมเล่นคริกเกตในช่วงที่ชาวฮินดูเฉลิมฉลองเทศกาลทางศาสนา กลายเป็นกระแสวิจารณ์ไปทั่วสังคมอินเดีย สอดรับกับรายงานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ระบุถึงความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยและวรรณะล่างที่เติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้การปกครองของโมดี

สุดท้ายนี้ อีกปัจจัยบวกที่อาจช่วยให้คองเกรสได้เป็นรัฐบาลคือการรวมกลุ่ม Mahagathbandhan ของพรรคการเมืองท้องถิ่นเกือบทั่วประเทศ เพื่อต่อกรกับการขยายอิทธิพลไปยังที่ต่างๆ ของฝ่ายขวา ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่มีผลทางตรงกับพรรคคองเกรส แต่ก็เป็นเครื่องการันตีว่าพรรคเหล่านี้จะไม่มีทางจับมือในการตั้งรัฐบาลกับพรรคบีเจพีแน่นอน ยิ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยแล้ว กลุ่มพรรคขั้วที่ 3 เหล่านี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะถ้าพรรคบีเจพีและพันธมิตรไม่สามารถรวมเสียงเกินครึ่งสภาได้ โอกาสก็จะตกมาอยู่ในมือของรัฐบาลผสมคองเกรสนั่นเอง

 

ใครสร้างกระแสสำเร็จคนนั้นก็ชนะไป

 

การเมืองอินเดียมีความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าคุณจะเป็นตัวเต็งมายาวนานแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่สามารถรักษากระแสเหล่านั้นได้จนถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง ความพ่ายแพ้ก็มาเยือนได้เสมอ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคคองเกรสในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2014 เพียงไม่กี่วันเท่านั้น นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พรรคการเมืองในอินเดียท่องไว้ในใจเสมอว่า ถ้าสร้างกระแสได้เราก็ชนะ

แน่นอนว่าพรรคบีเจพีมีลุ้นอย่างมากในการสร้างกระแสนิยมจากประชาชน เพราะภาพยนตร์ชีวประวัติของนเรนทรา โมดี จะออกฉายทั่วประเทศก่อนการเลือกตั้งรอบแรกเพียงไม่กี่วัน และถ้าภาพยนตร์นี้ขายได้อย่างที่พรรคบีเจพีคาดไว้ ความหวังในการนั่งเก้าอี้สมัยที่สองของนายกรัฐมนตรีโมดีก็คงอยู่ไม่ไกลเกินฝัน แต่ถ้ากระแสมันตีกลับมา ก็ต้องดูว่าพรรคบีเจพีจะรับมือได้มากน้อยแค่ไหน

ทางฝั่งพรรคคองเกรส การเปิดตัวผู้สมัครหลายๆ คน โดยเฉพาะการเสนอชื่ออัปสรา เรดดี้ หญิงข้ามเพศลงชิงเก้าอี้ ส.ส. ในรัฐทมิฬนาดู ได้สร้างเสียงฮือฮา ไม่เฉพาะในอินเดีย แต่ดังไกลไปถึงต่างประเทศด้วย เพราะนี่ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่พรรคเก่าแก่อย่างคองเกรสปรับโฉมตัวเองมากขนาดนี้ หรือแม้แต่ราหุล คานธี เองก็พยายามเข้าหาคนรุ่นใหม่มากขึ้น ผ่านการแต่งตัวใหม่ๆ การใช้คำพูดใหม่ๆ เพื่อหวังดึงฐานเสียงกลุ่มนี้ให้เพิ่มมากขึ้น

ในส่วนสุดท้าย ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าระบบเลือกตั้งอินเดียมีเพียงการเลือกตั้ง ส.ส. เขตเท่านั้น ผู้สมัครชิงชัยนายกรัฐมนตรีก็ต้องเข้าสู่สังเวียนการแข่งขันในระดับเขตเช่นเดียวกัน โดยทั้งโมดีและราหุล ต่างก็สู้กันในเขตรัฐอุตตรประเทศ หากแต่ต่างเขตเลือกตั้งกัน และระบบการเลือกตั้งอินเดียก็เป็นระบบแพ้คัดออก นั่นคือใครได้เสียงมากสุดคือผู้ชนะ

น่าสนใจว่าระยะห่างระหว่างช่วงการรับสมัคร ส.ส. กับการเลือกตั้งครั้งแรก มีระยะเวลาเพียง 1 เดือน ซึ่งนี่คือ 1 เดือนที่ ผู้สมัคร ส.ส. จะหาเสียงได้ ในขณะที่การลงคะแนนเสียงในปัจจุบันเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ส่งผลให้ผลการเลือกตั้งของอินเดียทั่วประเทศอาจใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวัน และแน่นอนว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียกำหนดวันที่ 23 พฤษภาคม เป็นวันนับคะแนน หลังจากการลงคะแนนรอบสุดท้ายคือวันที่ 19 พฤษภาคม เพียง 4 วันเท่านั้น

ในวันนั้นเอง ที่เราจะรู้ว่าประเทศประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอินเดีย จะได้ใครเป็นผู้นำประเทศ และหน้าตารัฐบาลใหม่จะแปลกตาหรือหน้าเดิม

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save