fbpx
หนึ่งใบเลว สองใบดี หลายพรรคเลว: เบื้องหลังข้อถกเถียงว่าด้วยระบบเลือกตั้ง

หนึ่งใบเลว สองใบดี หลายพรรคเลว: เบื้องหลังข้อถกเถียงว่าด้วยระบบเลือกตั้ง

หลายคนคงแปลกใจว่า เหตุใดในช่วงหลังมานี้ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ จึงขัดแย้งกันอย่างหนัก ตั้งแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในประเด็นว่าด้วยการเลือกตั้ง ข้อถกเถียงเรื่องงบกลาง มาจนถึงเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แทนที่จะไปสามัคคีมุ่งโค่นล้ม ‘ระบอบประยุทธ์’ มากกว่าที่จะมาเสียเวลากับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้

ผู้เขียนเห็นว่าความเห็นลักษณะนี้มาจากการประเมินโดยมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า แท้จริงแล้วทั้งสองพรรคเป็น ‘คู่ปรับ’ กันบนสนามการเมือง โดยร่องรอยการต่อสู้กันปรากฎชัดเจนในการเลือกตั้ง 2562 เมื่อพรรคเพื่อไทยรณรงค์ให้ทุ่มคะแนนให้พรรคใหญ่ในนามการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ (strategic voting) ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ (ก่อนจะเป็นพรรคก้าวไกล) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ รณรงค์ให้ลงคะแนนให้พรรคทางเลือกเพื่อความเปลี่ยนแปลง (Vote for Change)  

ในบรรดา ‘ดราม่า’ ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ประเด็นที่สะท้อนถึงการแข่งขันกันเองหรือการเป็น ‘คู่ปรับ’ ของทั้งสองพรรคมากที่สุดคือ ‘การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้ง’ ซึ่งทั้งสองกลุ่มจำเป็นต้องแข่งกันเพื่อแย่งชิงฐานเสียงกลุ่มเป้าหมายใกล้กัน โดยพรรคเพื่อไทยเสนอระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ส่วนพรรคก้าวไกลเสนอระบบสัดส่วนผสม ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วตอบโจทย์ที่แตกต่างกัน (ดังจะอธิบายในรายละเอียดต่อไป)

แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ทั้งสองพรรคต่างอ้างว่าระบบเลือกตั้งที่ตนนำเสนอมี ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ และ ‘ความเป็นตัวแทน ที่ดีและสะท้อนเสียงประชาชนมากที่สุด’

การที่ทั้งสองพรรคต่าง ‘อ้าง’ เช่นนี้คงมาจากหลากหลายเหตุผล เช่น 1) ความสับสนหรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง แม้กระทั่งในผู้นำไปปฏิบัติเอง เนื่องจากคำอธิบายถูกทำให้ยุ่งยากเกินไป รวมทั้งการใช้คำเรียก เช่น บัตรใบเดียว บัตรสองใบ หรือบัญชีรายชื่อ ที่ไม่สะท้อนลักษณะของระบบเลือกตั้งเอง และ 2) เหตุผลหรืออคติเบื้องหลังข้อถกเถียงที่ไม่ถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมานัก

ดังนั้น เพื่อขยายความเข้าใจต่อข้อถกเถียงนี้ บทความนี้จึงพยายามนำเสนอวิธีเข้าใจระบบเลือกตั้งอย่างง่าย ระบบและผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พร้อมเปรียบเทียบความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากระบบเลือกตั้งที่ต่างกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าอะไรคือเบื้องหลังของความขัดแย้งนี้

ระบบเลือกตั้ง

วิธีเข้าใจระบบเลือกตั้งอย่างง่ายและเป็นวิธีที่สะท้อนคุณสมบัติของระบบและช่วยป้องกันความสับสนได้ คือการมองระบบเลือกตั้งในฐานะการรวมกันของ 2 สิ่งคือ ‘วิธีการแบ่งเขต’ และ ‘วิธีคิดคะแนน’ ซึ่งสามารถประกอบกันเป็นระบบเลือกตั้งที่หลากหลาย

วิธีการแบ่งเขตมี 2 รูปแบบหลักคือ

1) การแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งแบ่งได้เป็น เขตละหนึ่งคน หรือ ‘แบ่งเขต’ (Single Member Constituency) กับ เขตเดียวหลายคน หรือ ‘รวมเขต’ (Multi Members Constituency)

2) การไม่แบ่งเขตเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งเดียว

ส่วนวิธีการคิดคะแนนนั้นสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ 

 1) ระบบเสียงข้างมาก (Majority Electoral System) แยกย่อยเป็น ‘เสียงข้างมากทั่วไป’ (Simple Majority System) ที่ผู้ได้คะแนนมากที่สุดในเขตเลือกตั้งเป็นผู้ชนะ และ ‘เสียงข้างมากเด็ดขาด’ (Absolute Majority System) ที่ผู้ได้คะแนนมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ชนะ โดยหากไม่มีผู้ใดได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งในรอบแรก จะมีการเลือกตั้งในรอบที่สองโดยตัดผู้สมัครที่ได้คะแนนน้อยออกไปก่อน เรียกว่า ‘ระบบเลือกตั้งสองรอบ’ (Two Round System) ซึ่งวิธีนี้อาจเสียเวลาเพราะต้องเลือกตั้งถึงสองครั้ง จึงมีการพัฒนารูปแบบการลงคะแนนทางเลือก (Alternative Vote) ขึ้น โดยลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่ชอบมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง สอง สาม ลดน้อยลงมาตามลำดับ เพื่อคำนวณหาผู้ชนะที่ได้รับคะแนนมากกว่าครึ่งหนึ่ง

ระบบเสียงข้างมากใช้ร่วมกับการแบ่งเขตแบบ ‘คนเดียว’ หรือ ‘หลายคน’ โดยระบบเสียงข้างมากทั่วไปเป็นวิธีการเลือกตั้งที่ง่ายที่สุด แต่ผู้ชนะอาจได้คะแนนน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรืออาจมีคน ‘ไม่เลือก’ มากกว่าคนเลือก ทำให้มี ‘ความเป็นตัวแทน’ ของประชาชนในเขตเลือกตั้งน้อย

แม้การใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดพอจะบรรเทาปัญหาความชอบธรรมนี้ได้บ้าง แต่ยังคงยังมีปัญหา ‘เสียงตกน้ำ’ จำนวนมาก เพราะบ่อยครั้งก็พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ของเขตนั้นๆ ไม่ได้เลือกผู้สมัครที่เป็นผู้ชนะ เท่ากับว่าเสียงของพวกเขาไม่ได้ถูกนับและไม่มีตัวแทนที่สะท้อนเสียงพวกเขาเลย นอกจากนั้นระบบเสียงข้างมากยังมีอคติ ส่งเสริมการแข่งขันของพรรคการเมืองขนาดใหญ่หรือระบบสองพรรค โดยที่พรรครองลงมาไม่มีโอกาสได้ที่นั่งในสภามากนัก

(2) ระบบสัดส่วน (Proportional Representation System) เป็นระบบที่พยายามแก้ไขข้อจำกัดของระบบเสียงข้างมาก ทำให้ทุกคะแนนมีความหมายสำคัญและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด โดยแต่ละพรรคจะได้ที่นั่งตามสัดส่วนคะแนนจริงๆ ที่ได้รับจากประชาชน จึงเอื้อให้พรรคขนาดกลาง-เล็กหรือกลุ่มเฉพาะที่อาจมีโอกาสชนะในเขตเลือกตั้งน้อย มีโอกาสเก็บที่นั่งได้บ้างจากคะแนนที่กระจัดกระจายอยู่ ขณะที่พรรคใหญ่ไม่ได้เสียประโยชน์อะไรเลย เพียงแต่อาจจะสูญเสียความใกล้ชิดกับประชาชนซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของ ส.ส. เขต เนื่องจากภายใต้ระบบนี้ เขตเลือกตั้งจะมีขนาดใหญ่ขึ้น

การเลือกตั้งในประเทศไทยและผลที่เกิดขึ้น

ระบบเลือกตั้งในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง โดยครั้งสำคัญที่มีการถกเถียงและมีผลต่อการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ คือการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2560

การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540

ก่อนมีรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองในปี 2540 คนไทยคุ้นเคยกับการเลือกตั้งแบบ ‘เขตใหญ่เรียงเบอร์’ คือมี ส.ส.ประเภทเดียวจากการแบ่งเขตแบบ ‘รวมเขต’ เขตละ 3 คน (เขตที่มีประชากรน้อยจะมีจำนวนลดลง) โดยคิดคะแนนแบบเสียงข้างมากทั่วไป ประชาชนลงคะแนนให้กับผู้สมัครเท่ากับจำนวน ส.ส.ที่มีในแต่ละเขต ดังนั้น แม้จะใช้ระบบเสียงข้างมากแต่เมื่อผสมกับการแบ่งเขตแบบนี้ที่ประชาชนสามารถเลือกผู้สมัครที่ชอบต่างพรรคกันได้ ทำให้เกิดระบบพรรคการเมืองแบบหลายพรรคและมักกระจายไปตามความนิยมต่อผู้สมัครในเขตเลือกตั้งและภูมิภาคต่างๆ

ด้วยปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองก่อนหน้านี้ เป้าหมายอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นการสร้างพรรคการเมืองและรัฐบาลที่เข้มแข็ง ดังนั้นการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็น ‘ระบบคู่ขนาน’ (Parallel System)” จึงถูกนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้

ภายใต้ระบบดังกล่าว มี ส.ส.ทั้งหมด 500 คน ประกอบด้วย

1) ส.ส.เขต มาจากระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยแบ่งเป็น 400 เขต มีผู้ชนะเขตละ 1 คน คิดคะแนนแบบเสียงข้างมาก โดยเชื่อว่าเมื่อเขตเล็กจะซื้อเสียงยากขึ้น ส.ส.จะใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น และยังช่วยสร้างความเท่าเทียมในหมู่ประชาชนตามหลัก ‘1 คน 1 เสียง’   

2) ส.ส.สัดส่วน โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คิดคะแนนแบบสัดส่วน กำหนดจำนวนที่ 100 คน โดยพรรคการเมืองจะได้จำนวน ส.ส. เท่ากับสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ ตามลำดับรายชื่อที่ได้เสนอไป

ผลของระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนานนี้คือ ระบบส.ส.เขต ซึ่งกำหนด 400 เขต เขตละ 1 คน (80% ของ ส.ส.ทั้งหมด) ยิ่งเน้นย้ำปัญหาของระบบเสียงข้างมาก (มากกว่าระบบเขตใหญ่ที่ใช้ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเลือกแบบคละพรรคได้) ปัญหาคือประชาชนจำนวนมากไม่มีตัวแทน และพรรคใหญ่ยิ่งได้เปรียบในการแข่งขัน

ขณะที่ระบบสัดส่วน 100 คน (20% ของทั้งหมด) ถึงแม้จะช่วยส่งเสริมสถาบันพรรคการเมืองและทำให้การแข่งขันทางนโนยายสำคัญมากขึ้น แต่ผลที่ได้กลับไม่สะท้อนเป้าหมายเบื้องต้นนี้ หนำซ้ำยังยิ่งไปส่งเสริมพรรคใหญ่ เพราะ ส.ส.ในระบบนี้มีจำนวนน้อยมาก แถมยังมีเกณฑ์ขั้นต่ำว่าพรรคการเมืองจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 5% ถึงจะมี ส.ส.ในระบบสัดส่วนได้ จึงยิ่งตัดโอกาสพรรคเล็กขึ้นไปอีก

ตาราง 1: ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2544

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการเลือกตั้งคือ พรรคใหญ่ได้สัดส่วน ส.ส.ในสภาเกินกว่าสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้รับจริง (คิดจากคะแนนในระบบสัดส่วน) อย่างพรรคไทยรักไทย ปี 2544 ได้สัดส่วนคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 40.64% แต่กลับได้ ส.ส.ทั้งหมดถึง 248 คน ซึ่งคิดเป็น 49.6% ของที่นั่งในสภาทั้งหมด ทั้งที่หากคำนวณจากคะแนนนิยมของพรรคจริงๆ แล้ว ควรจะได้ ส.ส.แค่ 203 คนเท่านั้น (เกินจมา 45 คน) ขณะที่พรรคอันดับสองอย่างประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ทั้งหมด 128 คน คิดเป็น 25.6% ของที่นั่งในสภาทั้งหมด ใกล้เคียงกับคะแนนนิยมจากประชาชนที่ได้สัดส่วน 26.58%

ตาราง 2: ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548

ส่วนในปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้คะแนน 61.17% แต่ได้ ส.ส. ถึง 377 คน คิดเป็น 75.4% ของที่นั่งในสภาทั้งหมด ทั้งที่ตามสัดส่วนคะแนนเสียงเลือกตั้งควรจะได้เพียง 305 คน (เกินมา 72 คน) ขณะที่พรรคอันดับสองอย่างประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. เพียง 96 คน คิดเป็น 19.2% ของที่นั่งในสภาทั้งหมด ทั้งที่ได้คะแนนนิยมจากประชาชนเป็นสัดส่วนถึง 23.22%

การที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างไทยรักไทยได้ ส.ส. เกินสัดส่วนจริงมาถึง 45 และ 72 คนในปี 2544 และ 2548 ตามลำดับ จากจำนวน ส.ส.ในสภาทั้งหมด 500 คน ถือว่ามหาศาลเลยทีเดียว นอกจากนั้น ผลที่ออกมาลักษณะนี้ยังทำให้การเมืองโน้มเข้าสู่ระบบสองพรรคเป็นครั้งแรกในปี 2544 และยังดูคล้ายจะเป็นระบบพรรคเดียวครอบงำในปี 2548

การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 และระบบสัดส่วนผสม (MMP)

ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 มีอคติ และต้องการลดบทบาทของพรรค ‘เครือข่ายทักษิณ’ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ ‘คนเลว’ ทำจะเลวเสียหมด เพราะความผิดถูกชั่วดีไม่ได้ถูกกำหนดจากใครเป็นผู้กระทำอย่างสมบูรณ์ อย่างเป้าหมายของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พยายามทำให้เกิดความสมดุลหรือได้สัดส่วนระหว่างจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคกับคะแนนที่พรรคได้รับจากการเลือกตั้งจริงนั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไรโดยตัวมันเอง ตรงกันข้าม ถ้าคำนึงถึงความเป็นประชาธิปไตยแล้ว นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น

การเลือกตั้งแบบ 2560 ถูกเรียกว่า ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ (Mixed Member Apportionment) หากต้องการเข้าใจระบบเลือกตั้งนี้ ต้องสลัดภาพการเลือกตั้งแบบ 2540 ที่แบ่งแยก ส.ส.เขตและสัดส่วนออกเป็นสองส่วนอย่างเด็ดขาดออกไปก่อน ไม่อย่างนั้นจะจมจ่อมอยู่กับฝันร้ายและความคับข้องใจที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม จากการที่ระบบเลือกตั้ง 2540 อาจมีบางพรรคได้คะแนนมากแต่ได้ ส.ส.จากบัญชีรายชื่อน้อย ขณะที่บางพรรคได้คะแนนน้อยแต่ได้ ส.ส.จากบัญชีรายชื่อมากกว่า

ในระบบนี้ จำนวน ส.ส.ทั้งหมดมี 500 คน โดยประชาชนลงคะแนนให้กับ ส.ส.ในเขตเลือกตั้ง 350 เขต เขตละ 1 คน โดยผู้สมัครที่ได้คะแนนมากที่สุดในแต่ละเขตเป็นผู้ชนะ แล้วนำคะแนนรวมทั้งหมดที่พรรคได้มาคำนวณหาจำนวน ส.ส. ที่แต่พรรคการเมืองควรจะได้ หรือ ‘พึงมี’ จากนั้นจึงลบด้วยจำนวน ส.ส.เขตที่พรรคได้ไปแล้วในขั้นตอนแรกจากเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองได้ ‘เพิ่มเติม’ จากรายชื่อที่เสนอไป เพื่อให้ได้จำนวนเท่ากับ ส.ส. ‘พึงมี’ ในแง่นี้ จึงไม่ควรเรียกส่วนเพิ่มเติมนี้ว่า ‘ระบบบัญชีรายชื่อ’ เพราะไม่ได้คิดคะแนนเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 

ปัญหาอย่างเดียวของระบบเลือกตั้งแบบ 2560 คือที่มาของคะแนนที่ใช้คำนวณ ส.ส.พึงมีมาจากแต่ละเขตเลือกตั้ง จึงอาจบิดเบือนเจตจำนงของประชาชน เพราะไม่อาจสะท้อนได้แท้จริงว่าประชาชนต้องการเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขต หรือเลือกพรรคกันแน่ (เอาเข้าจริงแล้ว ในช่วงหลัง ปัจจัยพรรคมีความสำคัญในการเลือก ส.ส.เขตมากขึ้น ทำให้ประชาชนมักเลือก ส.ส.เขต และสัดส่วนจากพรรคเดียวกัน) และบีบบังคับให้พรรคขนาดเล็กต้องส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งจำนวนมาก เพื่อรวบรวมเสียงมาคำนวณ ส.ส.พึงมี ซึ่งพรรคสามัญชนในปี 2562 ไม่สามารถทำแบบนั้นได้เพราะมีต้นทุนสูงเกินไป จึงทำลายหลักการบางส่วนของระบบสัดส่วนไป

แต่ถ้าตัดปัญหาเรื่องที่มาของคะแนนคำนวณ ส.ส.พึงมีไปแล้ว ระบบจัดสรรปันส่วนผสมอาจไม่ใช่ปีศาจร้ายอย่างที่ใครหลายคนประเมิน เพราะระบบนี้ทำให้พรรคการเมืองได้สัดส่วนจำนวน ส.ส.ใกล้เคียงกับสัดส่วนคะแนนพรรคที่ได้ อันเป็นข้อดีของการคิดคะแนนแบบสัดส่วน ช่วยปิดจุดอ่อนของระบบเสียงข้างมาก ขณะเดียวกัน ส.ส.เขตก็ไม่ได้หายไปไหน จึงยังรักษาข้อดีของความเป็นตัวแทนและใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่ไว้ด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นการลงโทษพรรคที่ชนะในเขตเลือกตั้งอย่างที่ถูกโจมตีอย่างผิดฝาผิดตัว

แต่หากต้องการจะปิดจุดบกพร่องของระบบนี้ ก็สามารถทำได้โดยเปลี่ยนที่มาของคะแนนคำนวณ ส.ส.พึงมี แยกออกจาก ส.ส.เขต คือประชาชนลงคะแนนให้กับ ส.ส.เขต 1 ช่อง และลงคะแนนให้กับพรรคอีก 1 ช่อง (จะใช้เขตประเทศหรือเขตใหญ่แบบภาคก็ได้) เพื่อคำนวณจำนวน ส.ส.ทั้งหมดของพรรคจากช่องที่กาให้พรรค แทนที่จะคำนวณจากคะแนนระบบเขต

วิธีการเลือกตั้งแบบนี้มีอยู่ในระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า ‘ระบบสัดส่วนผสม’ (Mixed Member Proportional Representation – MMP) ที่ถูกนำเสนอและเป็นที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ช่วงของการรณรงค์ประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นนเรื่องใหม่ถอดด้ามอะไร นอกจากนี้ ระบบนี้ยังไม่ได้ยุ่งยากมากอย่างที่คิด เพราะมีวิธีลงคะแนนที่คล้ายกับระบบของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ต่างกันแค่วิธีนำคะแนนมาคำนวณที่นั่ง

  

“หลายพรรคเลว สองพรรคดี”

ตาราง 3: เปรียบเทียบผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจากระบบเลือกตั้งที่แตกต่างกัน ของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนมากที่สุดลำดับ 1-5
โดยคำนวณจากผลคะแนนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

ตารางข้างบนจัดทำขึ้นเพื่อให้เห็นรูปธรรมของข้อถกเถียง โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าระบบเลือกตั้งส่งผลต่อผลการเลือกตั้งอย่างไร โดยเปรียบเทียบผลการเลือกตั้งที่เกิดจาก  (1) ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน (2) ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่สองพรรคใหญ่ซึ่งกำลังแย่งชิงกันเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งใหม่ต้องการนำกลับมาใช้ และ (3) ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่เป็นทางเลือกเสนอโดยพรรคขนาดกลางอย่างก้าวไกลและนักวิชาการบางส่วน โดยใช้คะแนนของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งปี 2562 มาลองคำนวณสัดส่วน หรือ ส.ส. ‘พึงมี’ จากนั้นนำไปแจกแจงว่าในการเลือกตั้งแต่ละแบบ แต่ละพรรคจะได้จำนวน ส.ส. แต่ละประเภท และจำนวน ส.ส.รวมทั้งหมดเท่าไหร่

การเลือกตั้งแบบ 2560 อ้างอิงจากผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจริง ส่วนการเลือกตั้งแบบ 2540 ปรับตัวเลข ส.ส.เขต และ ส.ส.สัดส่วนเป็น 400 และ 100 คน ตามสัดส่วน ขณะที่ในการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมนั้นเหมือนกับ 2560 โดยเป็นเขตเลือกตั้ง 350 คน และเพิ่มจากบัญชีรายชื่ออีก 150 คน แต่หากมีพรรคที่ได้ ส.ส.เขตมากกว่าจำนวน ‘พึงมี’ ซึ่งเกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย ให้พรรคนั้นได้ ส.ส.เท่ากับจำนวน ส.ส.เขต และยังทำให้มี ส.ส. ลทั้งหมดของสภามากกว่า 500 คนที่กำหนดไว้แต่เดิม 

ด้วยคะแนนชุดเดียวกันนี้ เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากจัดสรรปันส่วนผสมแบบ 2560 ไปสู่คู่ขนานแบบ 2540 เพื่อไทยจะได้เพิ่มขึ้นถึง 41 ที่นั่ง โดยอยู่ที่ 177 ที่นั่ง คิดเป็น 35.40 % ของที่นั่งในสภาทั้งหมด ขณะที่ได้คะแนนจริงเพียง 22.29% เท่านั้น ส่วนพลังประชารัฐ จะได้เพิ่มอีก 20 ที่นั่ง โดยอยู่ที่ 135 ที่นั่ง (เพราะได้คะแนนนิยมของพรรคมากกว่า แต่ได้ ส.ส.เขตน้อยกว่าเพื่อไทย) คิดเป็น 27.00 % ของที่นั่งในสภาทั้งหมด ขณะที่มีสัดส่วนคะแนนเลือกตั้งอยู่ที่ 23.73%

ส่วนพรรคขนาดกลางอันดับสาม (อดีต) อนาคตใหม่จะได้ ส.ส.ลดลง 28 ที่นั่ง เหลือเพียง 53 ที่นั่ง คิดเป็น 10.60 % ทั้งที่ได้สัดส่วนคะแนนเลือกตั้งอยู่สูงกว่าที่ 17.63% ส่วนพรรคอันดับ 4 และ 5 อย่างประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยที่ยังมีฐาน ส.ส.เขตอยู่บ้าง จึงได้ที่นั่งแตกต่างจากเดิมเล็กน้อย แต่ก็น่าแปลกใจที่พรรคประชาธิปัตย์กลับไม่รู้สึกรู้สาอะไรนักหากจะกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบ 2540 ทั้งที่ได้ที่นั่งเพียง 9.80% ในสภา เมื่อเทียบคะแนนเลือกตั้งที่ได้สัดส่วน 11.11% คงเป็นเพราะเชื่อมั่นในเขตเลือกตั้งในภาคใต้ของตน และหวังกลับมาเป็นพรรคใหญ่อีกครั้งในอนาคต

แต่หากเปลี่ยนไปใช้ระบบสัดส่วนผสม จำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้ไม่แตกต่างจากผลเลือกตั้งปี 2560 นัก เพราะถูกกำหนดจากคะแนนที่พรรคได้เหมือนกัน ส่วนตัวเลขที่ต่างกันเล็กน้อยนั้นเกิดจากสูตรคำนวณที่พิสดารและล่าช้าของคณะกรรมการเลือกตั้ง รวมถึงการที่พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีถึง 25 ที่นั่ง

เห็นได้ว่า ระบบเลือกตั้งแบบ 2540 ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทั้งพลังประชารัฐและเพื่อไทยได้เปรียบ เพราะได้ ส.ส. มากกว่าคะแนนที่ได้รับหรือความนิยมที่เป็นจริงของประชาชน (popular vote) ดังนั้น ทั้งสองพรรคจึงหวังว่าระบบเลือกตั้งนี้จะทำให้พวกเขาชนะถล่มถลาย โดยพรรคพลังประชารัฐเชื่อมั่นว่า ด้วยเงื่อนไขการทำงานที่ผ่านมาที่เข้าถึงประชาชนและการควบคุมกลไกรัฐราชการจะทำให้พวกเขาได้เปรียบ ส่วนพรรคเพื่อไทยก็คาดหวังว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์และบทบาทฝ่ายค้านที่โดดเด่นในสภาจะช่วยให้พรรคเอาชนะเลือกตั้งได้

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของพรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ ย่อมทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางหรือเล็กหงอยเหงาไปตามกันเพราะมีแนวโน้มจะได้ ส.ส.น้อยกว่าคะแนนที่ได้รับ

ถ้ามองแบบนี้ ทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยต่างปกป้องหรือสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเหมือนกัน ซึ่งไม่ได้ผิดบาปอะไร เพียงแต่ว่าเพื่อไทยต้องการระบบเลือกตั้งที่ตัวเองจะได้ ส.ส.มากกว่าคะแนนที่ได้รับ ขณะที่ก้าวไกลเรียกร้องให้ทุกพรรคได้ ส.ส.เท่ากับคะแนนที่ได้ ซึ่งคงไม่เกินจริงนักหากจะพูดว่าสะท้อน ‘ความเป็นตัวแทน’ หรือ ‘ประชาธิปไตย’ ได้มากกว่า

ดังนั้น หากจะปกป้องระบบเลือกตั้งแบบ 2540 ผู้สนับสนุนไม่ควรหลงประเด็นป่าวประกาศเชิดชูว่า ระบบเลือกตั้งแบบนี้มี ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ หรือ ‘สะท้อนเสียงประชาชน’ มากกว่า เพราะแท้จริง ทั้งสองประเด็นนี้ล้วนเป็นจุดอ่อนของระบบเลือกตั้ง 2540 และข้ออ้างที่ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นสาธารณรัฐแบบเยอรมัน จึงไม่ควรใช้ระบบสัดส่วนผสมซึ่งเป็นตัวแบบมาจากเยอรมนี ก็เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล

ทางที่ดี ควรอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาว่า ระบบเลือกตั้ง 2540 สนับสนุนพรรคการเมืองขนาดใหญ่หรือระบบสองพรรค (อย่างน้อยก็ในขณะที่เพื่อไทยยังเป็นพรรคขนาดใหญ่อยู่) เพราะต้องการให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ เหมาะสำหรับสังคมไทยมากกว่าระบบหลายพรรค

ทั้งนี้ ในทางวิชาการ ระบบพรรคการเมืองสองพรรคหรือหลายพรรคดีกว่า มีข้อถกเถียงได้มากมาย ผู้เขียนเองไม่ได้มีปัญหากับระบบสองพรรคนัก แต่เห็นว่าควรเกิดจากพัฒนาการของพรรคการเมืองและการสนับสนุนจากประชาชนเอง แต่ไม่ใช่ด้วยการเอื้อประโยชน์จนเกินไปของระบบเลือกตั้ง แล้วตัดโอกาสการเติบโตหรือตัวเลือกอื่นของประชาชนออกไปจากการแข่งขันที่เป็นจริง  

พูดอย่างเป็นรูปธรรม ในการแข่งขันกันเองของ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ในขณะนี้ การกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากที่อยู่บนฐาน ส.ส.เขตเป็นหลัก เท่ากับบีบให้ประชาชนไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากทุ่มคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่มีโอกาสชนะในเขตเลือกตั้ง ซึ่งมักเป็นพรรคขนาดใหญ่

ในการเลือกตั้ง 2562 พรรคเพื่อไทยเคยเสนอให้ ‘เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์’ โหวตพรรคใหญ่ให้เข้าไปอยู่ในสภามากที่สุด แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก การกลับไปหาระบบเลือกตั้ง 2540 นี้เองที่จะทำให้การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่หวังไว้ของพรรคเพื่อไทยเป็นจริงอย่างอัตโนมัติ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save