fbpx
แอปเปิล จีนและทฤษฎีสมคบคิด

แอปเปิล จีนและทฤษฎีสมคบคิด

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

  กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาตอนนี้ ดูเหมือนว่าไม่น่าจะจบลงง่ายๆ โดยเฉพาะระหว่างรัฐบาลกรุงวอชิงตันกับรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะทำทุกวิถีทางเพื่อกีดกันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีของจีนให้ถึงที่สุด แต่เบื้องหลังของความขัดแย้งนั้นซับซ้อน มีเงื่อนงำเกี่ยวพันกันไปหมด และไม่ง่ายอย่างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อยากให้เป็น ฉะนั้น วันนี้ผมก็เลยจะพามาเที่ยวเมืองกุ้ยโจว เมืองแห่งเมฆ เมืองพัฒนาใหม่ของจีนที่มีเจ้าเมืองที่ชื่อ ‘แอปเปิล’

 

1

 

กุ้ยโจวเป็นมณฑลที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา อากาศที่นี่ค่อนข้างคงที่ทั้งปี ไม่ร้อน ไม่หนาวจนเกินไป หากตั้งหลักจากปักกิ่ง กุ้ยโจวจะอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ เมืองหลวงและเมืองใหญ่สุดของมณฑลคือกุ้ยหยาง ตั้งอยู่ตอนกลางของมณฑล

มณฑลกุ้ยโจวอยู่ติดตกับเขตปกครองตนเองกว่างซีทางทิศใต้ ติดมณฑลยูนนานทางทิศตะวันตก ติดมณฑลเสฉวนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดเทศบาลนครฉงชิ่งทางทิศเหนือ และมณฑลหูหนานทางทิศตะวันออก ประชากรของมณฑลนี้มีอยู่ประมาณ 34 ล้านคน ถือเป็นมณฑลที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 19 ของประเทศจีน

กุ้ยโจวเคยเกือบจะรุ่งเรือง ในอดีตเคยมีความพยายามในการจะพัฒนาให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทางตอนใต้ของจีน ในสมัยของเหมา เจ๋อ ตุง ได้มีการพัฒนามณฑลกุ้ยโจวให้เป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลจากการรุกรานของโซเวียตและอเมริกา ซึ่งก็ดูจะไปได้สวย เพราะว่าเป็นแหล่งแร่สำคัญ เหมาะกับการทำเหมืองถ่านหิน แต่เนื่องจากการเดินทางไปมาที่ไม่ค่อยสะดวกนัก ด้วยระยะทางที่ค่อนข้างห่างไกลจากเมืองใหญ่ กุ้ยโจวจึงไม่ได้ไปต่อ

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี กุ้ยโจวมี GDP ต่อหัวต่ำเป็นอันดับสามในประเทศจีน นำหน้าก็เพียงมณฑลกานซู และมณฑลยูนนานที่ตั้งอยู่ติดกันเท่านั้น

แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว

หลังจากปี 2014 มณฑลกุ้ยโจวกลายเป็นหนึ่งในมณฑลที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในประเทศจีน เพราะรัฐบาลปักกิ่งมุ่งพัฒนากุ้ยโจวให้เป็นศูนย์กลางด้านข้อมูล (data hub) ซึ่งซุ่มทำอย่างเงียบๆ ไม่ประกาศใหญ่โต จนกระทั่งเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนก็เมื่อ พฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลปักกิ่งประกาศว่าจะพัฒนามณฑลกุ้ยโจวให้กลายเป็นศูนย์กลาง Big Data ของโลก และพัฒนาธุรกิจการแลกเปลี่ยน Big Data ขึ้นมา หรือเรียกว่าเป็น data asset trading เพื่อให้ภาคธุรกิจของจีนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล Big Data ให้แก่กัน เพื่อช่วยและใช้ในการพัฒนาธุรกิจของตัวเอง

คำถามก็คือ ทำไมไม่เป็นเมืองอย่างหางโจว ซึ่งเป็นที่ตั้งของยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา หรือเทนเซ็นต์หรือไม่เป็นเซี่ยงไฮ้ หรือปักกิ่ง แต่ทำไมต้องเป็นกุ้ยโจว ซึ่งเป็นเมืองยากจนและไม่มีแม้กระทั่งทางออกสู่ทะเลด้วยเล่า

ก็ต้องตอบแบบนิยายจีนว่า หากผืนแผ่นดินจีนเป็นกระดานหมากรุก แม่ทัพเหล่านี้ก็มีหมากให้เดินมากเสียเกิน

 

2

 

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่จีนเลือกลงทุนที่นี่ น่าจะมาจากการวางหมากให้มณฑลกุ้ยโจวเป็นตัวดึงเศรษฐกิจของจีนตอนใต้ให้คึกคักมากขึ้น และกลยุทธ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องการรวมชนกลุ่มน้อยเข้าด้วยกันผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล เมื่อคนอิ่มท้อง อย่างอื่นก็ไม่ใช่เรื่องยาก

มณฑลกุ้ยโจวจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในมณฑลที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดในประเทศจีน มีสัดส่วนของชนกลุ่มน้อยมากกว่าร้อยละ 37 ของประชากรทั้งหมด การลงทุนพัฒนากุ้ยโจวให้เป็น data hub นั้น เริ่มตั้งแต่ออกกฎหมายพิเศษเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมาลงทุนที่นี่ และได้สิทธิการยกเว้นภาษีทั้งหมด รวมถึงสิทธิประโยชน์อีกมากมายเพื่อจูงใจนักลงทุน เช่น การลดค่าเช่าพื้นที่ การลดค่าไฟฟ้าค่าสาธารณูปโภค นอกจากนี้ จีนยังลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ด้วย เช่น เครือข่ายไฟเบอร์ความเร็วสูง รถไฟความเร็วสูง ถนน ระบบสาธารณูปโภค และสนามบินใหม่

แผนการนี้ก็ดูจะได้ผล หัวเหว่ยตัดสินใจเข้ามาตั้งศูนย์ Big Data ของบริษัทที่เมืองกุ้ยอาน (Guian) ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ในมณฑล ศูนย์ Big Data ของหัวเหว่ยครอบคลุมพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร สามารถบริหารจัดการเซิร์ฟเวอร์ได้กว่า 600,000 หน่วย

แต่การมาถึงของหัวเหว่ยอาจดูไม่แปลกเท่ากับการมาถึงของแอปเปิล

แอปเปิลตัดสินใจเปิดศูนย์เซิร์ฟเวอร์ของตัวเองที่นี่ในปี 2017 มูลค่าการลงทุนมากถึง 30,000 ล้านบาท แน่นอนว่านอกเหนือจากแอปเปิลจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว มองไปในระยะยาวกว่านั้น การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม Big Data ของจีน ย่อมเป็นการวางหมากของภาคเอกชนของสหรัฐเหมือนกันที่อยากเข้าไปนั่งอยู่ในใจของคนจีน ซึ่งยังคงเป็นประเทศเดียวในโลกที่กำลังการบริโภคยังคงสูงอยู่ (แม้กระทั่งช่วงโควิด จีนเป็นประเทศเดียวที่ GDP ยังไม่ติดลบ)

มองในมุมหนึ่ง การลงทุนครั้งนี้คุ้มค่า เพราะแอปเปิลได้ประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งเรื่องการพึ่งพิงตลาด การเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจีน

แอปเปิลใช้พื้นที่เกือบ 1,000,000 ตารางเมตรในการสร้างสถานที่เก็บเซิร์ฟเวอร์ว่า 30,000 หน่วย โดยร่วมมือกับ Guizhou-Cloud Big Data Industry Development Co., Ltd. (GCBD) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันและที่สำคัญสร้างงานให้กับคนในพื้นที่นับพันตำแหน่ง

การมาถึงของยักษ์ใหญ่ทั้งแอปเปิลและหัวเหว่ย ทำให้ทั้งไมโครซอฟท์ เทนเซ็นต์ อาลีบาบา กูเกิลและเฟซบุ๊ก เริ่มให้ความสนใจที่จะมาลงทุนที่กุ้ยโจว

ไม่เพียงแต่การตั้งโรงงานเท่านั้น กุ้ยโจวได้เริ่มจัดงาน Big Data Expo มาตั้งแต่ปี 2015 และเติบโตมาเรื่อยๆ ปีที่แล้วงาน Big Data Expo สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนขึ้นไปแตะ 5,000 ล้านบาทในช่วงการจัดงานหนึ่งสัปดาห์ และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 120,000 คน ไม่ต้องคิดเลยว่า พวกเขาจะเก็บเกี่ยวข้อมูลจากผู้เข้าร่วมงานได้มากอีกเท่าไหร่

มองในภาพรวมแล้ว การกระจายความเจริญไปสู่มณฑลที่จนที่สุดของจีน เริ่มออกดอกออกผล มณฑลกุ้ยโจวมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 10% ต่อปีติดต่อกันมาสองปีแล้ว ถือว่าสูงเป็นอันดับสามของประเทศ

การประกาศแบนแอพลิเคชั่นอย่าง TikTok และ WeChat ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั้น จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับแอปเปิลอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบถึงแผนระยะยาวของแอปเปิลที่ปูทางไว้ในการสร้างฐานลูกค้าในประเทศจีน ยิ่งถ้าหากไอโฟนไม่สามารถติดตั้ง WeChat จริงๆ น่าจะกระทบกับยอดขายของแอปเปิล ยิ่งไปกว่านั้น มันจะกระทบความสัมพันธ์กับลูกค้าชาวจีนของแอปเปิลในหลายมิติ

ในปัจจุบัน หากนับรวมเม็ดเงินที่แอปเปิลลงทุนในจีนนั้น มีมากกว่า 300,000 ล้านบาท เกินครึ่งหนึ่งของส่วนประกอบของไอโฟนที่เราใช้กัน ล้วนทดสอบ วิจัย พัฒนาและใช้โรงงานจากในประเทศจีน สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ในเรื่องความสัมพันธ์ของรัฐบาลทั้งสองประเทศ จึงเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยทีเดียวสำหรับแอปเปิล

อดคิดไม่ได้ว่าการที่แอปเปิลออกมาประกาศเรื่องการจำกัดการเข้าถึงของเฟซบุ๊กบนอุปกรณ์ของแอปเปิล อาจเป็นการสร้างข้อต่อรองที่เกี่ยวโยงไปถึงมาตรการของรัฐ (เฟซบุ๊กมีฐานผู้ใช้งานในประเทศนอกจีนมากกว่า) การชะลอการเปิดตัวตัวไอโฟนรุ่นใหม่ออกไปก็อาจมีเหตุผลที่มากกว่าผลิตไม่ทันเพราะผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดก็เป็นได้ ไม่แน่ว่าแอปเปิลอาจกำลังรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนและความหวังใหม่ๆ ในการเจรจาการค้ากับจีน

แบรนด์ยอดนิยมในดวงใจของคนจีนกับความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอเมริกันที่ต้องรักษาไว้

…หมากเกมนี้ฉันไม่รู้ว่าจะต้องลงเอยอย่างไรจริงๆ ครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save