fbpx

อันวาร์กับทะเลป่วนๆ ที่ซาราวัก

Yasuyoshi CHIBA / POOL / AFP และ AMTI / CSIS: ภาพประกอบ

โจทย์หนึ่งที่รอรับผู้นำประเทศมาเลเซียยุคใหม่มาแต่ไหนแต่ไร คือการปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนในน่านน้ำทะเลจีนใต้โดยไม่กระทบกระเทือนความสัมพันธ์กับคู่กรณียักษ์ใหญ่คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้นำคนไหนโชคดีเข้ารับตำแหน่งในยามที่สถานการณ์สงบนิ่งก็ดีไป แต่คนไหนโชคร้ายนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในยามที่ปักกิ่งอาละวาดฟาดหาง หากพลาดพลั้งอาจนำไปสู่สถานการณ์ลำบากใจ ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดกับนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ไม่กี่เดือนหลังจัดตั้งรัฐบาล

อันวาร์เข้าพบปะกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) และนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง (Li Qiang) ที่ศาลามหาประชาชน (Great Hall of the People) กรุงปักกิ่ง ในวาระการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา สำหรับมาเลเซียและอันวาร์ การพบปะครั้งนี้มีความความสำคัญทางเศรษฐกิจของมาเลเซียเป็นอย่างยิ่ง เพราะจีนที่เป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซียมาตั้งแต่ พ.ศ. 2552 โดยในปี 2565 มูลค่าทางการค้าระหว่างมาเลเซียและจีนสูงถึง 1.09 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการค้ากับสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกันเท่ากับ 6.055 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อันวาร์กลับบ้านพร้อมข่าวดีเรื่องจีนสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและยานยนต์ ถือเป็นผลงานของนายกฯ คนใหม่ยามที่ประเทศกำลังหาทางฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

การพบปะระหว่างอันวาร์ อิบราฮิม และ สี จิ้นผิง
ที่มา: Xinhua/Rao Aimin

ทุกอย่างคงเป็นไปด้วยดีถ้าสองผู้นำจะหยุดอยู่ที่เรื่องเงินๆ ทองๆ แต่แน่นอนยังมีเรื่องสำคัญมากกว่านั้น สำนักข่าวเบอร์นามาของทางการมาเลเซียรายงานเนื้อหาการประชุมสรุปการเยือนจีนของอันวาร์กับเจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรีที่ปุตราจายาในวันที่ 3 เมษายน ซึ่งรวมทั้งเนื้อหาในการพูดคุยกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิงและคณะ มีตอนหนึ่งเขากล่าวว่าประธานาธิบดี สี ได้ยกประเด็นเรื่องสิทธิเหนือเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้ใกล้กับเกาะซาราวักขึ้นระหว่างการพูดคุย และแสดงความไม่สบายใจที่บริษัทเปโตรนาส (Petronas) ของรัฐบาลมาเลเซียยังคงปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่

อันวาร์บอกกับที่ประชุมว่า ตนเองได้กล่าวตอบประธานาธิบดีสีว่า มาเลเซียเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของมาเลเซีย ดังนั้นเปโตรนาสจึงจะเดินหน้าปฏิบัติการต่อไป

ถ้าอันวาร์จะจบเพียงแค่นี้ เรื่องก็คงไม่บานปลายกลายเป็นเป็นข่าวฮือฮาทั่วประเทศ แต่เขาขยายความต่อว่าตนเองได้กล่าวกับฝ่ายจีนไปว่า ถ้าหากจีนคิดว่าตนเองมีสิทธิเหนือน่านน้ำนี้ เขาก็พร้อมที่จะเจรจา “จีนอ้างกรรมสิทธิเหนือพื้นที่นี้เช่นกัน  ผมเลยบอกไปว่าในฐานะของประเทศเล็กๆ ที่ต้องการทรัพยากรน้ำมันและแก๊ส เราต้องเดินหน้าต่อไป แต่ถ้ามีเงื่อนไขที่ต้องมีการเจรจา (negotiate) เราก็พร้อมที่จะเจรจา” สำนักข่าวเบอร์นามารายงาน

แม้ว่าอันวาร์จะไม่ระบุชื่อพื้นที่อย่างชัดเจน แต่เป็นที่รู้กันว่ามันคือพื้นที่ขุดเจาะแก๊สธรรมชาติ ‘คาซาวารี’ (Kasawari) ในน่านน้ำมาเลเซียบริเวณ Block SK316 ซึ่งตั้งอยู่ราว 200 ไมล์ (กว่า 321 กิโลเมตร) จากหาดบินตูลู (Bintulu) บนเกาะซาราวัก (Sarawak) คาซาวารีตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ) นอกชายฝั่งซึ่งมาเลเซียถือเป็นน่านน้ำของตนตามกฎหมาย แหล่งแก๊สธรรมชาติคาซาวารีถูกค้นพบเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2554 ผลการสำรวจคาดว่ามีแก๊สธรรมชาติอยู่ราวสามล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ปัจจุบันมีบริษัทเปโตรนาส คาลิกาลี PETRONAS Carigali ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเปโตรนาส เป็นผู้พัฒนาและบริหารกำลังเตรียมจะเริ่มกระบวนการการผลิตภายในปีนี้ โดยคาดว่าแหล่งคาซาวารีจะสามารถผลิตแก๊สได้วันละ 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต

แผนที่พื้นที่ขุดเจาะแก๊สธรรมชาติ ‘คาซาวารี’ 
ที่มา: Asia Maritime Transparency Initiative (AMTI), Center for Strategic and International Studies (CSIS)

อุตสาหกรรมน้ำมันที่ดำเนินการโดยบริษัทเปโตรนาสของรัฐบาลมาเลเซีย เป็นประหนึ่งกล่องดวงใจที่เป็นแหล่งรายได้ใหญ่ของประเทศ ปีนี้โครงการคาซาวารีซึ่งใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านริงกิตมาเลเซียหรือราว 35,500 ล้านบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน และกำลังเตรียมเดินเครื่องผลิตแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อส่งขายให้ กับบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ของไทยเป็นเวลา 15 ปีตามสัญญาที่ลงนามไว้

คำพูดของ สี จิ้นผิง ต่ออันวาร์ สร้างความกังขาว่าน่านน้ำที่ตั้งของแหล่งแก๊สคาซาวารีจะขยับฐานะเข้าใกล้พื้นที่พิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ที่จีนเดินหน้าชนอ้างกรรมสิทธิเต็มที่ เช่น หมู่เกาะสแปรตลี (Spratly Islands) หรือเปล่า ในช่วงใกล้เคียงกับการพบปะของผู้นำทั้งสอง เว็บไซต์ Asia Maritime Transparency Initiative (AMTI) ของ Center for Strategic and International Studies (CSIS) องค์กร think tank สัญชาติอเมริกันรายงานว่า เรือรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง CCG 5901 ของจีนได้วนเวียนลาดตระเวนในน่านน้ำห่างจากพื้นที่คาซาวารีเพียง 1.5 ไมล์มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนกลางเดือนมีนาคม เรือรบ KD Badik ของมาเลเซียที่กำลังล่องไปเกาะซาบาห์ (Sabah) ก็ได้แวะหยุดที่ซาราวักในระยะห่างที่พอเหมาะกับเรือจีน ถึงแม้จะไม่ได้มีทีท่าว่าจะเผชิญหน้ากัน แต่อันวาร์กล่าวในสภาฯ ว่า ครั้งนี้มาเลเซียไม่ได้ประท้วงอย่างเป็นทางการ แต่หากเรือรบของสองประเทศมีท่าทีจะเป็นเช่นนั้น กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียจะทำเรื่องประท้วงไปยังรัฐบาลจีนต่อไป

คำว่า ‘เจรจา’ จากปากนายกฯ อันวาร์ทำเอาสะดุ้งกันไปหลายวงการ แรงกระเพื่อมจากปักกิ่งและคาซาวารีสะเทือนไปถึงกัวลาลัมเปอร์และอาจถึงบางประเทศในอาเซียน สำหรับมาเลเซียในฐานะของประเทศ สิทธิเหนือน่านน้ำกับอธิปไตยเหนือดินแดนเป็นเรื่องเดียวกันและเป็นสิ่งที่ไม่อาจเจรจาได้ สำหรับประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยเฉพาะที่เป็นคู่พิพาทกับจีนในเรื่องนี้ ก็อาจกังขากับคำพูดของอันวาร์ว่า หรือมาเลเซียจะแยกตัวไปเจรจาแบบเดี่ยวๆ โดยลืมประชาคมอาเซียน ทั้งที่การเจรจาหาข้อยุติข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ทำกันในกรอบของประชาคมอาเซียนมาตลอด

ผู้ที่กระโดดออกมาวิพากษ์วิจารณ์แบบไม่ไว้หน้าคนหนึ่งคืออดีตนายกรัฐมนตรี มูห์ยีดดีน ยาสซีน (Muhyiddin Yassin) ประธานพรรคเบอร์ซาตู (Parti Pribumi Bersatu Malaysia: Bersatu) และผู้นำแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านเปอริกาตันเนชันแนล  (Perikatan Nasional: PN) มูห์ยีดดีนออกแถลงการณ์ตำหนินายกฯ อันวาร์ว่า “ขาดความระมัดระวัง” ในการพูดการจาเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ แล้วเตือนว่าคำพูดของเขาอาจเปิดทางให้การอ้างสิทธิของจีนเป็นจริง

มูห์ยีดดีนเห็นว่าถึงแม้จีนพยายามอ้างสิทธิใดๆ ก็ตาม มาเลเซียต้องแน่วแน่ในการปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ โดยอ้างอิงจากแผนที่พรมแดนมาเลเซียที่ร่างขึ้นใน พ.ศ. 2522 การพูดคุยใดๆ จะต้องทำในกรอบความเห็นร่วมกันของอาเซียน และหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (South China Sea Code of Conduct) มาเลเซียจะต้องจัดการกับปัญหาทะเลจีนใต้อย่างระมัดระวังมากกว่านี้เมื่อคิดว่าอาเซียนเป็นประชาคมที่มีสมาชิกถึง 10 ประเทศ

“ในความเป็นจริง พื้นที่การสำรวจของเปโตรนาสเป็นเขตอธิปไตยเหนือดินแดนของมาเลเซียอย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่อาจต่อรองได้แม้ว่าจีนจะอ้างสิทธิก็ตาม” แถลงการณ์กล่าว “..คำแถลงของนายกรัฐมนตรีเรื่องมาเลเซียเปิดกว้างในการเจรจาเรื่องสิทธิเหนือดินแดน เป็นการสร้างความเสี่ยงต่ออธิปไตยของมาเลเซีย”

ไม่แปลกที่อันวาร์จะถูกฝ่ายค้านตั้งคำถามอย่างร้อนแรงในสภาฯ ซึ่งเขาชี้แจงว่าตนเองยืนยันต่อนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ประประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ว่าพื้นที่ปฏิบัติงานของเปโตรนาสเป็นพื้นที่น่านน้ำของมาเลเซีย หลังจากนั้นกระทรวงต่างประเทศมาเลเซียจึงแก้ลำด้วยการออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาว่า คำว่า ‘เจรจา’ ของนายกฯ อันวาร์นั้นอยู่ในบริบทที่ว่า การแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ควรทำโดยสันติโดยหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง ในขณะเดียวกันรัฐบาลมาเลเซียมีจุดยืนปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนและสิทธิเหนือน่านน้ำของประเทศตามที่ระบุไว้ในแผนที่พรมแดนมาเลเซีย พ.ศ. 2522 มาเลเซียสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโดยสันติและสร้างสรรค์ตามหลักกฎกมายระหว่างประเทศ รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS 1982) ในบริบทนี้ มาเลเซียจะเดินหน้าใช้วิธีการทางการทูตในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ รวมทั้งจีนต่อไป

เหตุใดจีนจึงไม่ลดราวาศอกในการอ้างกรรมสิทธิเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้อย่างไม่มีทีท่าถนอมน้ำใจประเทศอาเซียนแม้แต่น้อยนิด คำตอบอยู่ที่คำว่า ‘Malacca dilemma’ ที่มีบันทึกว่าอดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา (Hu Jintao) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเอ่ยขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2546 เพื่อใช้อธิบายภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกไม่รู้จะไปทางไหนดีกับการไร้อำนาจควบคุมในช่องแคบมะละกาที่เป็นเส้นทางสำคัญทางการค้าทางทะเลที่สำคัญยิ่งยวดของจีน ครั้งนั้นประธานาธิบดี หู เรียกร้องให้จีนมองหายุทธศาสตร์ใหม่ๆ มาใช้เพื่อปกป้องจุดอ่อนสำคัญด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศในช่องแคบมะละกาและทะเลจีนใต้

ช่องแคบมะละกาตั้งอยู่ระหว่างชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย และชายฝั่งตะวันตกของแหลมมลายูหรือประเทศมาเลเซีย และมีส่วนเชื่อมกับช่องแคบสิงคโปร์ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาว 805 กิโลเมตร กว้าง 65–250 กิโลเมตร และค่อนข้างตื้นคือ 23 เมตรซึ่งบางช่วงต้องขุดลงเพิ่มความลึกเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้ ถึงจะไม่ใช่ช่องแคบขนาดใหญ่ แต่การที่มันเป็นประตูเปิดเส้นทางเดินเรือที่สั้นที่สุดระหว่างมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกกับมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก จึงทำให้ทะเลจีนใต้ที่คั่นกลางอยู่กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าทางทะเลที่สำคัญของโลก  ช่องแคบมะละกา-ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดอับดับสองของโลกรองจากช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz) ที่เชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับมหาสมุทรอินเดีย และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเลในปริมาณหนึ่งในสี่ของโลก

จุดตายของ ‘Malacca dilemma’ สำหรับจีนอยู่ที่ระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจที่มีต่อช่องแคบมะละกาและทะเลจีนใต้โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศ ใน พ.ศ. 2559 จีนซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบอันดับหนึ่งของโลก มีการนำเข้ามันเกือบร้อยละ 80 ผ่านการขนส่งทางทะเลผ่านมหาสมุทรอินเดีย ช่องแคบมะละกา และทะเลจีนใต้ งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าความต้องการพลังงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นทำให้การพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศของจีนจะเพิ่มจากร้อยละ 65 ในปี  2559 เป็นร้อยละ 80 ในปี 2573 นอกจากน้ำมันแล้ว การส่งออกร้อยละ 80 ของจีนก็ขนส่งผ่านเส้นทางนี้ ถึงแม้ว่าจีนจะพยายามแสวงหาเส้นทางในการขนส่งใหม่ๆ มาหลายปีแต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะพบเส้นทางใดที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพเท่าเส้นทางนี้

สาเหตุของความหวาดเสียวจนกลายเป็น dilemma ในความคิดของประธานาธิบดี หู และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในปัจจุบัน อาจอยู่ที่ความหลากหลายทางการเมืองและนโยบายต่างประเทศของประเทศอาเซียน รวมทั้งความใกล้ชิดสหรัฐอเมริกาของบางประเทศเช่นฟิลิปปินส์ ถ้าจะมองสถานการณ์ด้วยสายตาด้านความมั่นคง ช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นช่องแคบที่ไม่ใหญ่โตที่กองเรือใหญ่ๆ อาจปิดทางได้ไม่ยาก โดยเฉพาะกองเรือที่เจ็ดและห้าของสหรัฐอเมริกาที่มีรัศมีปฏิบัติการในอินโด-แปซิฟิกครอบคลุมถึงตะวันออกกลางในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้ที่เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้น

อาวุธของจีนในการจัดการกับความไม่มั่นคงนี้คือ ‘แผนที่’ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จีนอ้างแผนที่แดนจีนยุคโบราณเป็นหลักในการออกแผนที่ระบุขอบเขตดินแดนจีนในน่านน้ำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หลายฉบับ และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แผนที่ซึ่งรู้จักกันดีฉบับหนึ่งคือแผนที่ที่ใช้เส้นประเก้าเส้น (nine-dash-line) ที่เชื่อมต่อกันในลักษณะตัว U ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ทับซ้อนกับน่านน้ำของหลายประเทศ ถึงแม้ว่า ใน พ.ศ. 2559 The Permanent Court of Arbitration ตัดสินว่าแผนที่เส้นประเก้าเส้นของจีนไม่มีหลักฐานทางกฎหมายสนับสนุน จึงไม่สามารถใช้กล่าวอ้าสิทธิใดๆ ได้ แต่จีนยังส่งเรือหลากหลายชนิดออกลาดตระเวนรวมทั้งทำกิจกรรมอื่นๆ ที่หลายครั้งหวิดปะทะกับบางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์

บทความของ Bill Hayton จากสถาบันด้านนโยบายศึกษา Chatham House ประเทศอังกฤษ ชี้ว่าจีนเริ่มออกแผนที่ฉบับแรกที่อ้างสิทธิเหนือน่านน้ำบางส่วนในทะเลจีนใต้ แผนที่ฉบับแรกออกใน พ.ศ. 2491 เรียกว่า ‘Location Sketch Map of the South China Sea Islands’ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่เขตการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน แผนที่ดังกล่าวประกอบด้วยจุดประแปดจุดเชื่อมต่อกันเป็นรูปตัวยูในน่านน้ำทะเลจีนใต้ Hayton อ้างบทความ Drawing the U-Shape Line: China’s claim in the South China Sea 1946-1947 ในปี 2559 ของ Chris Chung ซึ่งระบุว่าบันทึกการประชุมคณะกรรมการที่กระทรวงมหาดไทยของจีนวันที่ 25 กันยายน 2491 ชี้ว่าในครั้งนั้นคณะกรรมการร่างแผนที่มีจุดมุ่งหมายที่จะใช้แผนที่ฉบับนี้เป็นตัวบ่งชี้การอ้างสิทธิของจีนเหนือเกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้

หลังจากออกแผนที่ฉบับแรก จีนก็ปรับเปลี่ยนแผนที่นี้อีกหลายครั้ง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนถกเถียงกันเรื่องความชัดเจนของสิทธิเหนือหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จีนตัดสินใจอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลี แผนที่ฉบับที่สองประกาศอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2491 โดยมีจุดประเพิ่มขึ้นเป็น 11 จุด ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ผลของการเจรจาระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ทำให้จีนแก้แผนที่เหลือจุดประเก้าจุด โดยตัดจุดประที่ล้ำไปในเขตน่านน้ำเวียดนามแต่ยังรวมเอาหมู่เกาะสแปรตลีและหมู่เกาะพาราเซล (Paracel) รวมทั้งเกาะไต้หวันไว้ด้วย

จีนเปลี่ยนแผนที่ทะเลจีนใต้ไปมา ใน พ.ศ. 2552 ผู้แทนของสาธารณรัฐจีนประจำสหประชาชาตินำเสนอแผนที่ฉบับใหม่ที่ปรับจุดประเก้าเส้นในน่านน้ำเล็กน้อย และใน พ.ศ. 2556 หน่วยงาน Sinomap ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านแผนที่ของของรัฐบาลจีนตีพิมพ์แผนที่ที่เพิ่มจุดประเป็น 10 จุด โดยจุดที่เพิ่มขึ้นอยู่ทางตะวันออกของไต้หวัน

เมื่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ อันวาร์ในกรณีคาซาวารีทำท่าจะซาลง จีนก็ออกแผนที่ฉบับใหม่ที่สร้างความฮือฮาไม่เฉพาะในอาเซียนแต่ลามไปถึงอินเดีย วันที่ 28 สิงหาคมปีนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (Ministry of Natural Resources) ของจีนได้ออกแผนที่แสดงสิทธิเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ฉบับใหม่ ครั้งนี้เพิ่มเส้นประจากเก้าจุดเป็น 10 จุด  ทับซ้อนเขตน่านน้ำของมาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เวียดนาม ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้รวมทั้งไต้หวันและรัฐอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) ของอินเดียที่อยู่บริเวณพรมแดนอินเดีย-จีน

แผนที่จีนฉบับปี 2023 ที่ออกโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม
ที่มา: Twitter – Global Times

ในสายตาของ Hayton เขาเห็นว่าแผนที่นานาฉบับของจีนเป็นเรื่องไร้สาระที่ไม่มีความหมายอะไร ทว่ารัฐบาลประเทศที่เกี่ยวข้องคงไม่เห็นด้วยกับเขา ครั้งนี้รัฐบาลมาเลเซียไม่รอช้า จับมือประสานเสียงประท้วงไปพร้อมกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินเดีย กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียออกหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการ ระบุว่ามาเลเซียปฏิเสธไม่ยอมรับแผนที่ดังกล่าว “มาเลเซียไม่ยอมรับการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ของจีนตามที่ระบุไว้ในแผนที่มาตรฐานของจีนฉบับ ค.ศ. 2023 ซึ่งล่วงน้ำเข้าในเขตน่านน้ำของมาเลเซีย.. แผนที่นี้ไม่มีผลผูกพันใดๆ กับมาเลเซีย”

ในปีนี้ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนเริ่มต้นรื้อฟื้นเรื่องข้อพึงปฏิบัติ (code of conduct) ในทะเลจีนใต้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยตัวแทนประเทศอาเซียนและจีนร่วมประชุมกันครั้งแรกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามระดับความไว้วางใจของประเทศอาเซียนบางประเทศ รวมทั้งมาเลเซีย ที่มีต่อจีน ดูเหมือนว่าจะไม่เต็มร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่แผนที่ฉบับล่าสุดของจีนออกสู่สายตาชาวโลก

สำหรับนายกฯ อันวาร์ ลวดลายบนโต๊ะเจรจาของจีนน่าจะเป็นบทเรียนที่เขาลืมเลือน ครั้งนี้ถ้าเขาพลาดพลั้ง Malacca Dilemma ของประธานาธิบดี หู อาจลุกลามมาเป็น Sarawak dilemma ของมาเลเซียในยุคของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมาเลเซียจะต้องเสียน่านน้ำยุทธศาสตร์ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติไป ไม่รู้แน่ว่าอันวาร์อาจกำลังนั่งทบทวนการดำเนินนโยบายทางการทูตแบบใหม่ๆ กับยักษ์ใหญ่จีนอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ เขาควรเปิดดูเทปการแข่งขันของเทควันโดหญิงของน้องเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในเอเชียนเกมส์ที่หางโจวเมื่อเดือนที่แล้ว แล้วอาจจะเข้าใจ


อ้างอิง

Malaysia says Beijing concerned about its energy projects in South China Sea.

Kasawari Gas Development Project, Sarawak, Malaysia.

S. China Sea Becomes Part of China on Beijing’s New “Standard Map”

Philippines, Taiwan, Malaysia reject China’s latest South China Sea map

China’s Claim on the South China Sea: How Many Dashes Make a Line?.

Jean-Marc F. Blanchard and Colin Flint (2017, 2 April). The Geopolitics of China’s Maritime Silk Road Initiative. Geopolitics, Vol. 22, No. 2.

China’s “Malacca Dilemma”. China Brief Volume: 6 Issue: 8.Ian Storey. April 12, 2006 <

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save