fbpx
เทรนด์การเมืองใหม่ เมื่อนักเคลื่อนไหวกลายเป็นนักการเมือง

เทรนด์การเมืองใหม่ เมื่อนักเคลื่อนไหวกลายเป็นนักการเมือง

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในยุคหนึ่งนักเคลื่อนไหวรวมถึงเอ็นจีโอบ้านเราเห็นการเมืองกระแสหลัก (เช่นในรัฐสภา) เป็นเรื่องของนักการเมืองอาชีพเท่านั้น ภาพลักษณ์โดยทั่วไปคือเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น มีเงินหนา เข้าสู่สภาเพื่อผลตอบแทนบางอย่างมากกว่าทำเพื่อประชาชน จึงไม่น่าแปลกว่าพื้นที่การเมืองเชิงสถาบัน (institutional politics) ดูเหมือนเป็นเรื่อง ‘สกปรก’ ต้องแยกออกจากพื้นที่การเมืองภาคประชาชน ซึ่งมักเกิดบนท้องถนนมากกว่าในสภา

งานวิจัยที่ศึกษาขบวนการประท้วง-การเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม-พลังประชาชนก็คิดไม่ต่างกันนัก งานสำคัญๆ จำนวนมากศึกษาขบวนการภาคประชาชนซึ่งใช้วิธีระดมพล (mobilisation) และการ ‘ลงถนน’ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองให้ตนบรรลุเป้าหมาย มีงานบางส่วนที่สนใจอิทธิพลของขบวนการภาคประชาสังคมต่อการเมืองเชิงสถาบัน ทว่าก็เน้นกระบวนการล็อบบี้ของขบวนการภาคประชาชนในฐานะกลุ่มผลประโยชน์ (interest group)[1]

ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เริ่มปรากฏงานศึกษาที่ชี้ถึงการข้ามพรมแดน (crossover) ของนักกิจกรรม ซึ่งเปลี่ยนเส้นทางจากแกนนำหรือสมาชิกในขบวนการเคลื่อนไหวไปเป็นสมาชิกสภาราษฎรหรือสภาคองเกรส (ในกรณีที่ประเทศนั้นๆ ปกครองด้วยระบบประธานาธิบดี) งานของ Edwin Amenta และทีมสนใจบทบาททางเมืองเช่นนี้ โดยเสนอว่าอิทธิพลของนักเคลื่อนไหวเปลี่ยนจากการสร้างแรงกดดันทางการเมืองด้วยการชุมนุมประท้วง เป็น ‘political mediation’ หรือการประสานประโยชน์ทางการเมืองได้อย่างไร พูดอีกอย่างคือนักกิจกรรมที่เป็นนักการเมืองเอาหัวชนฝาอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยชี้ชวนให้กลุ่มการเมืองอื่นเห็นว่าจะได้อะไรจากการ ‘ร่วมหอลงโรง’ กับพรรคหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผันตนมาจากนักกิจกรรม[2]

โดยทั่วไป การข้ามพรมแดนจากนักกิจกรรมสู่นักการเมืองอาจแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม

กลุ่มแรก คือ การที่ขบวนการเคลื่อนไหวทั้งขบวนเปลี่ยนเป็นพรรคการเมืองซึ่งชูอุดมการณ์ของขบวนการตน พัฒนาการนี้มีประวัติเก่าแก่ เช่นสหภาพแรงงานในอังกฤษและยุโรปที่กลายเป็นพรรคแรงงาน พรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrat) หรือพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคลักษณะนี้ในการเมืองยุโรปร่วมสมัยคือพรรค Syriza ในกรีซ และ Podemos ในสเปน ซึ่งพัฒนามาจากขบวนการประท้วงต้านนโยบายรัดเข็มขัดและเสรีนิยมใหม่ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ในประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างฟิลิปปินส์ พรรค Akbayan (หรือ Akbayan Citizens’ Action Party) ก็ผันตัวมาจากขบวนการฝ่ายซ้ายในฟิลิปปินส์

ส่วนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เฟื่องฟูในโลกตะวันตกช่วงทศวรรษที่ 70 ถึง 80 ต่อมากลายเป็นพรรคสีเขียวหรือพรรคสิ่งแวดล้อมในยุโรป หรือออสเตรเลีย เป็นต้น[3] ส่วนในเมืองไทย ที่ใกล้เคียงหน่อยอาจเป็นพรรคสามัญชน ซึ่งพัฒนามาจากขบวนการภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

ข้อดีของพรรค-ขบวนการภาคประชาชนเช่นนี้คือมีจุดยืนทางการเมืองและผู้ที่สนับสนุน ซึ่งพร้อมจะหย่อนบัตรเลือกตั้งให้อย่างชัดเจน ทว่าปัญหาคือพรรคที่เกิดมายาวนานอย่างพรรคแรงงานอาจปรับตัวและจุดยืนลำบากเมื่อบริบททางเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไป ดังจะเห็นได้จากความท้าทายของพรรคแรงงานในอังกฤษจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา หรือคะแนนนิยมของพรรคสังคมประชาธิปไตยในยุโรปหลายประเทศที่ลดลง เพราะอัตลักษณ์ของ ‘ชนชั้นแรงงาน’ เปลี่ยนไป ไม่เหมือนเมื่อเริ่มก่อตั้งพรรคเมื่อต้นศตวรรษที่ 20

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถตั้งพรรคใหม่ได้ โดยมากด้วยเหตุผลทางโครงสร้างระบบการเมืองและรูปแบบการเลือกตั้งในประเทศนั้นๆ ฉะนั้นจึงกลายเป็น ‘มุ้ง’ (faction) ในพรรคการเมืองใหญ่

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือขบวนการผู้ตกงานและคนจนในอาร์เจนตินา ที่ใช้นามว่า Piquetero Movement ซึ่งส่งตัวแทนสมัครเลือกตั้งและมีผู้แทนบางส่วนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2007 Piquetero กลายเป็น ‘มุ้ง’ หนึ่งในพรรคฝ่ายซ้ายกระแสหลักของอาร์เจนตินา รวมถึง Peronist Party ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพรรค ‘ประชานิยมฝ่ายซ้าย’[4] ซึ่งเราอาจเริ่มเห็นปรากฏการณ์นี้ก่อตัวขึ้นในพรรคเดโมเครตของสหรัฐฯ โดย ‘มุ้ง’ ใหม่อย่าง Democratic Socialism อาศัยกระแสนิยมของ Bernie Sanders ในปี 2016 และชัยชนะของสมาชิกสภาคองเกรสหน้าใหม่อย่าง Alexandria Ocasio-Cortez (OAC) ในปลายปี 2018 เป็นหมุดหมายของการเติบโต อย่างไรก็ดี ‘มุ้ง’ ดังกล่าวพัฒนามาก่อนหน้านักการเมืองทั้งสอง โดยเริ่มจากขบวนการ Occupy Wall Street ซึ่งต่อสู้กับนายธนาคารใหญ่และนโยบายรัฐบาลสหรัฐฯ ในเวลานั้นที่อุ้มนายธนาคารหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 สมาชิกของขบวนการ Occupy Wall Street เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งกลายเป็นฟันเฟืองในการเปลี่ยนแปลงพรรคเดโมเคตรให้ใส่ใจเรื่องความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

กลุ่มที่สาม คือ นักกิจกรรมในฐานะปัจเจกบุคคลกลายเป็นนักการเมืองในพรรคใหญ่ ปรากฏการณ์นี้มักเกิดในประเทศที่การตั้งพรรคใหม่เป็นไปได้ยาก หรือมีต้นทุนสูง เช่น อินโดนีเซีย ภายหลังการโค่มล้มเผด็จการซูฮาร์โตในปี 1998 นักหนังสือพิมพ์นักเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการอย่าง Djolo Susilo และ Effendi Choirie ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฯ พรรค National Mandate Party และได้ผลักดันพระราชบัญญัติเพื่อปฏิรูปกองทัพอินโดนีเซียร่วมกับกลุ่มภาคประชาสังคมอย่าง Propatria[5] ส่วนในไต้หวัน แกนนำกลุ่มประท้วงรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งในชื่อว่า Sunflower Movement (ปี 2014) บางส่วนร่วมลงเลือกตั้งสภาผู้แทนฯ ในนามพรรคฝ่ายค้านในเวลานั้น (ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน) คือ Democratic Progressive Party (DDP)[6] ในสังคมไทย เราอาจเห็นเค้าลางเช่นนี้บ้างในพรรคอนาคตใหม่ เช่น รังสิมันต์ โรม ซึ่งเคยเป็นสมาชิกหลักของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และต่อมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ สังกัดพรรคอนาคตใหม่

งานศึกษาที่มีอยู่จำกัดชี้ว่าการที่ขบวนการเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมกลายเป็นพรรคการเมือง/นักการเมืองช่วยตอบโจทย์ขบวนการอย่างน้อย 3 เรื่อง

1. สามารถอาศัยพรรคเป็นตัวแทนทางอุดมการณ์ได้ ท่ามกลางภาวะที่กลุ่มผู้เลือกตั้งบางกลุ่มรู้สึกว่าไม่มีพรรคไหนเป็นตัวแทนตนได้ ขบวนการ-พรรคจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่

2. ขบวนการและนักกิจกรรมสามารถอาศัยบทบาทในสภาของตนผลักดันกฎหมายหรือนโยบายซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ของตนได้

3. ขบวนการและนักกิจกรรมสามารถใช้การเมืองเชิงสถาบันขับเคลื่อนกิจกรรมการประท้วงนอกสภาของตน โดยทรัพยากรจากการเมืองเชิงสถาบันอาจปรากฏในลักษณะนามธรรม เช่นพรรค-ขบวนการมีพื้นที่สาธารณะมากขึ้น หรือปรากฏในลักษณะนามธรรม เช่นเครือข่ายพันธมิตร สำนักงาน หรืองบประมาณ เป็นต้น

งานศึกษานักกิจกรรมกลายเป็นนักการเมืองกำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ คงต้องรอดูกันต่อว่าบทวิเคราะห์จะชี้ถึงผลของบทบาททางการเมืองเชิงสถาบันต่อกิจกรรมบนท้องถนนได้ลึกซึ้งมากขึ้นเพียงใด

 


[1] Herbert Kitschelt, “Political Opportunity Structures and Political Protest: Anti-Nuclear Movements in Four Democracies,” British Journal of Political Science 16(1) (1986) 57-85; Sarah A. Soule and Susan Olzak, “When do Movements Matter? The Politics of Contingency and the Equal Rights Amendment,” American Sociological Review 69(4) (2004): 473-479; Brayden G. King, Keith G. Bentele and Sarah A. Soule, “Protest and Policy Making: Explaining Fluctuation in Congressional Attention to Rights Issue, 1960-1986.” Social Forces 86(1) (2007): 137-163.

[2] Edwin Amenta, Neal Caren, Elizabeth Chiarello, and Yang Su, “The Political Consequences of Social Movements.” Annual Review of Sociology 36 (2010): 287-307. ดูเพิ่มเติมใน Lee Ann Banaszak, “Inside and outside the state. Movement insider status, tactics, and public policy achievements,” in Routing the opposition. Social movements, public policy, and democracy, eds. David Meyer, Valerie Jenness and Helen Ingram (Minneapolis: University of Minnesota Press, 2005), 149–176.

[3] Rucht Dieter, “The Impact of Environmental Movements in Western Societies,” in How Movements Matter: Theoretical and Comparative Studies on the Consequences of Social Movements, eds. Marco Giugni, Doug McAdam and Charles Tilly (Minneapolis: University of Minneapolis Press, 1999), 204-224

[4] Federico Rossi, The Poor’s Struggle for Political Incorporation: The Piquetero Movement in Argentina (Cambridge: Cambridge University Press, 2017).

[5] Marcus Mietzner, “Fighting the Hellhounds: Pro-democracy Activists and Party Politics in Post-Suharto Indonesia,” Journal of Contemporary Asia 43(1) (2013): 28-50.

[6] Ming-Sho Ho, ‘The Activist Legacy of Taiwan’s Sunflower Movement,’ Carnegie Endowment for International Peace (August 2, 2019).

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save