fbpx
เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนผ่านมาถึงประตูบ้าน ‘สื่อพม่า’

เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนผ่านมาถึงประตูบ้าน ‘สื่อพม่า’

ธิติ มีแต้ม, ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แวดวงสื่อมวลชนโลกต่างแสดงความยินดีกับ ‘วา โลน’ และ ‘จอ โซ อู’ สองนักข่าวชาวพม่า สังกัดสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดีพม่าให้ปล่อยตัวจากการถูกจองจำนานถึง 511 วัน โทษฐานที่พวกเขานำเสนอข่าวความลับทางราชการในคดีที่ทหารพม่าก่อเหตุสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ จนเป็นเหตุให้เกิดการอพยพลี้ภัยของชาวโรฮิงญากว่า 7 แสนคน

แต่ในเสียงยินดีปรีดา ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเป็นภาพสะท้อนของบ้านเมืองที่ยังถือมั่นอำนาจนิยมอยู่ด้วย กรณีจองจำ ‘วา โลน’ และ ‘จอ โซ อู’ จึงฉายความอึดอัดคับข้องของคนในแวดวงสื่อ ที่ต้องทำงานท่ามกลางกระแสหันขวาของนานาประเทศที่กำลังรุ่งเรืองไปด้วยในเวลาเดียวกัน แม้ดูเหมือนว่าพม่ากำลังเปิดรับสายลมประชาธิปไตยเข้ามา แต่อะไรคือความเป็นไปจากปรากฏการณ์จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนที่เกิดขึ้น

ในห้วงเวลาการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย สื่อพม่าปรับตัวและเปลี่ยนผ่านอย่างไร อะไรคือความท้าทายของสปิริตสื่อมวลชนพม่าที่กำลังเผชิญอยู่ คำถามเหล่านี้ได้รับการอธิบายจาก 3 บรรณาธิการและ 1 นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานเกาะติดวิกฤตโรฮิงญา โดยทั้งหมดได้ร่วมกันทำหนังสือชื่อ Myanmar Media in Transition: Legacies, Challenges and Change

 

 

โฉมหน้าสื่อพม่าในปัจจุบัน

 

“พม่าเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในปี 2010 คนที่เข้ามาในพม่าในเวลานั้นไม่ได้มีความรู้หรือเข้าใจประวัติศาสตร์ในประเทศ มันมีวาทกรรมที่บอกว่า journalism และภาคประชาสังคมในพม่าไม่มีก่อนปี 2010 ซึ่งนั่นเป็นปัญหามาก เพราะถ้าคุณไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของประเทศ จะยากที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้” ลิซ่า บรูทเทนฮัส นักวิชาการเรื่องพม่า ไทย และฟิลิปปินส์ 1 ในคณะบรรณาธิการ ‘Myanmar Media in Transition’ เกริ่นถึงพอยท์ในการเกิดหนังสือเล่มดังกล่าวขึ้นมา

ปัจจุบันลิซ่า เป็นรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และดิจิทัล มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นอิลลินอยส์ เธอเคยใช้ชีวิตอยู่แนวชายแดนไทย-พม่า ระหว่างปี 1989-1992 และเริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับสื่อพม่ามาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เธอเคยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในเรื่องสื่อพม่าพลัดถิ่นและการสื่อสารทางการเมือง นอกจากนี้เธอยังเป็นที่ปรึกษาองค์กรสื่อหลายแห่ง อาทิ ฟรีดอมเฮ้าส์, PEN American Center, and Radio Free Asia Burmese Service

 

ลิซ่า บรูทเทนฮัส

 

เธอบอกว่าสิ่งที่สำคัญคือเราต้องขยายนิยามของคำว่า ‘สื่อ’ ที่ไปไกลกว่า journalism เพราะการมองแค่ journalism นั้นแคบเกินไปสำหรับการเข้าใจผลกระทบและวัฒนธรรมของสื่อ

“หนังสือเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านในพม่านั้นมักเขียนโดยชาวยุโรป อเมริกัน หรือคนที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ มันจึงสำคัญมากที่จะรวบรวมเสียงของคนพม่า ทั้งนักข่าว นักเขียน คนทำภาพยนตร์ และคนอื่นๆ แต่น่าเสียดายอย่างหนึ่งเพราะว่าพม่าปิดประเทศมาหลายปี ความสนใจทางวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์สื่อในพม่าจึงไม่มี”

ลิซ่าให้มุมมองต่อประเด็นคลาสสิกสองเรื่องในวงการสื่อว่า หนึ่ง การควบคุมสื่อจากรัฐซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกำลังเป็นประเด็นในพม่าอย่างมาก เธอบอกว่ามีบริษัทเพียงหยิบมือเท่านั้นที่เข้ามาคุมสื่อ และสอง การเซ็นเซอร์สื่อได้เปลี่ยนจากการเซ็นเซอร์แบบตรงๆ ด้วยการใช้กฎหมายมาเซ็นเซอร์ตัวเองแทน

แล้วอะไรคือภาพวงการสื่อพม่าปัจจุบันที่ลิซ่ากำลังเห็นอยู่ เธอบอกว่าเทรนด์ความเป็นอำนาจนิยมกำลังแบ่งแยกประชาชนออกเป็นสองฝ่าย สิ่งหนึ่งที่มีผลมากคืออิทธิพลของโซเชียลมีเดีย

“อัลกอริทึมแบ่งพวกเราออกจากกัน ฉันมีเพื่อนเป็นอีกฝั่งอย่างชัดเจน และหน้าฟีดของเขาแตกต่างกับฉันอย่างสิ้นเชิง การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนเกี่ยวเนื่องกับช่วงการเปลี่ยนผ่านเป็นอย่างมาก มันคล้ายคลึงกับไทย ไม่กี่ปีก่อนในเมืองย่างกุ้ง เราจะเห็นผู้คนอ่านนิตยสารอยู่ทุกแห่ง ชาวพม่าภูมิใจในวัฒนธรรมการอ่าน แต่ตอนนี้ทุกคนเดินไปเดินมาพร้อมกับสมาร์ทโฟน สิ่งนี้ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของสื่อ เพราะคนมักคิดว่าเราจะมีโฆษณาในแพลนฟอร์มออนไลน์ แต่สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะโฆษณาได้พุ่งตรงไปถึงเฟซบุ๊กเลย ไม่ได้ผ่านสื่อ” ลิซ่าทิ้งท้าย

 

เปลี่ยนผ่านไปสู่หนใด

 

“การใช้คำว่า ‘การเปลี่ยนผ่าน’ นั้นท้าทายมาก มันไม่ใช่เรื่องขาวหรือดำ เราไม่ต้องการจะบอกว่ามันเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบใด แน่นอนมันมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังคงมีคนโดนข้อหา หรือมีการใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพอยู่”

เจน แมดลีน แมคเอลโอเนส ผู้เชี่ยวชาญด้านวารสารศาตร์และการพัฒนาสื่อ ได้ออกตัวถึงหนังสือที่เธอร่วมเป็นคณะบรรณาธิการด้วย เธอมีประสบการณ์ด้านการสนับสนุนและสร้างศักยภาพขององค์กรสื่อและผู้สื่อข่าวหลายประเทศ และร่วมทำโครงการสื่อต่างๆ ในพม่า อัฟกานิสถาน และติมอร์-เลสเต ปัจจุบันเธอพำนักอยู่ในพม่า และเป็นสมาชิกองค์กรที่ปรึกษาการพัฒนาสื่อสากล International Media Development Advisors (www.imdadvisers.com)

 

เจน แมดลีน แมคเอลโอเนส

 

ต่อคำถามที่ว่า ธุรกิจสื่อพม่าในปัจจุบันเป็นอย่างไร เธอมองว่ามันเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ยิ่งอยู่ในการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ รวมถึงสภาพแวดล้อมภายในประเทศ สื่อที่มีบริษัทเอกชนหนุนหลังก็ยังเจอกับอุปสรรค

“เมื่อคุณอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การเงินในประเทศไม่ได้แข็งแรง มันจึงยากที่จะดึงดูดนักลงทุน และเรารู้ว่าสื่อในรัฐชาติพันธุ์ มีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการสนับสนุน จริงๆ แล้วพวกเขาลงทุนลงแรงทำเอง”

เจนบอกว่า มีคนพยายามหาความเป็นไปได้ในการลงทุนกับธุรกิจสื่อ แต่มันเป็นกระบวนการที่ช้ามาก ถึงขนาดมีหลายคนมองว่าตอนนี้เป็นจุดเสี่ยงที่สุดของสื่อในรอบหลายปีที่ผ่านมา สื่อเล็กๆ ในรัฐชาติพันธุ์อยู่ในจุดที่อ่อนแอมากและต้องการจะอยู่รอด การสนับสนุนสื่อเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าหากไม่ทำแล้วก็อาจมีปัญหาเรื่องการเป็นกระบอกเสียงสำหรับวาระทางการเมืองบางอย่างได้ หรืออาจตกเป็นเหยื่อของรัฐบาลต่างประเทศได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อพูดเรื่องความยั่งยืนของสื่อ มันยังคงไม่เปลี่ยนผ่าน ยังก้ำกึ่งอยู่ เพราะว่าสื่อไม่สามารถแข่งขันกันในสภาพแวดล้อมแบบที่เป็นอยู่ได้

ส่วนประเด็นเรื่องความยั่งยืน เจนมองว่ามันไม่ใช่เรื่องขาวหรือดำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องการเวลา แน่นอนว่าสื่อดิจิทัลคืออนาคต แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนภายใน 5 นาที คุณต้องทำสิ่งที่คุณทำทุกวันและต้องการความเข้าใจ สื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ตายในพม่า และเมื่อ 5 ปีก่อนคนก็ยังพูดแบบนี้ แต่ทุกวันนี้คนยังอ่านสิ่งพิมพ์กันอยู่

“อีกข้อถกเถียงกันในวงการพัฒนาสื่อ ทั้งในระดับพื้นที่และนานาชาติ คือการเลือกที่จะทำงานหรือไม่ทำงานภายใต้สื่อของรัฐ ก่อนที่พม่าจะเปิดประเทศ รัฐไม่ใช่พาร์ทเนอร์ที่เราจะทำงานด้วย แต่เมื่อเปิดขึ้นมา พวกเขาเป็นอีกส่วนที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงมีความกดดันและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในวงการสื่อว่าควรจะทำงานกับสื่อของรัฐดีหรือไม่” เจนทิ้งท้าย

 

ถามหาคุณค่าสื่อ

 

กายาทรี เวนกิตสวารัน บรรณาธิการร่วมของหนังสือ ‘Myanmar Media in Transition’ ตอนนี้เธอเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม วิทยาเขตกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และทำงานวิจัยเรื่องการปฏิรูปสื่อและบทบาทภาคประชาสังคมในอินโดนิเซียและพม่าด้วย

เธอชวนมองคุณค่าของการเปลี่ยนผ่านของสื่อพม่าว่า เวลาเรามองสื่อในฐานะข่าวหรือแพลตฟอร์ม เรามักจะคิดว่ามันเป็นประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ หรือมีคุณค่าแบบประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่เมื่อมองประวัติศาสตร์ หรือกระทั่งในปัจจุบันก็ตาม มันยังเป็นปัญหา และต้องมีการตั้งคำถาม เพราะจะเห็นว่าสื่อเป็นกลไกหนึ่งที่คอยสร้างแนวคิดต่างๆ ขึ้นมาด้วย สื่อเป็นสถาบันที่ทรงพลังและไม่ได้เป็นประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ

 

กายาทรี เวนกิตสวารัน

 

อีกเรื่องที่เธอชี้ให้เห็นคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อที่ต้องใช้เงิน แต่บทเรียนคือเรามักไม่สนใจเรื่อง ‘ความเป็นเจ้าของ’ ของสื่อต่างๆ

“ปกติมันง่ายที่จะบอกให้รัฐหยุดควบคุมสื่อ แต่เมื่อเราพูดว่า ‘ใครถือครองสื่อ’ มันซับซ้อนกว่านั้น หลายปีที่ผ่านมาในอินโดนิเซียและยุโรปตะวันออก มักมีการพูดถึงการควบคุมและกฎหมายมากกว่าที่จะพูดเรื่องการถือครองสื่อ”

เช่นนั้นแล้ว ความท้าทายของการยกระดับองค์กรสื่อในพม่าอยู่ตรงไหน เธอมองว่าพม่ามีอุปสรรคมาก ยากมากที่จะเปลี่ยนวิธีคิดต่างๆ ในวงการสื่อ เพราะพวกเขาต่างได้รับผลประโยชน์ เธอยังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในชุมชนสื่อเอง

“องค์กรสื่อไม่เคยมีการส่งเสียงออกประกาศแสดงจุดยืนใดๆ ร่วมกันออกมา ถ้าเป็นแบบนี้ก็ยากที่จะก้าวต่อไป”

เธอยืนยันว่าแม้ว่าภาคประชาสังคมจะถูกควบคุมจากรัฐ แต่มันสำคัญมากที่ภาคประชาสังคมจะก่อตั้งสมาคมสื่อเพื่อสร้างภราดรภาพร่วมกันในการส่งเสียงของประชาชนในเรื่องกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เพราะยังคงมีคนที่มีพลังและกระตือรือร้นในการส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่

“การคำนึงถึงคุณค่าของสื่อเสรีจะนำมาซึ่งวัฒนธรรมประชาธิปไตย คุณค่าที่เราสามารถเห็นได้คือสื่อสามารถหยิบเอาข้อความที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมาเผยแพร่ได้”

เมื่อพูดถึงการปฏิรูปสื่อ เธอมองว่าเป็นการปฏิรูปที่ค่อนข้างอ่อนแอ เพราะการปฏิรูปนั้นกลับมองสื่อในฐานะรูปแบบ แต่ไม่ได้มองในฐานะกระบวนการ เมื่อจะมีการออกนโยบายต่างๆ คุณต้องคิดว่าใครถือครองสื่อบ้าง และจะขยายการสื่อสารออกไปได้อย่างไร สิ่งที่เราเห็นคือสื่อถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นต้องทิ้งวิธีคิดเก่าๆ เราต้องมองหากระบวนการให้สื่อเป็นสื่อที่เสรีจริงๆ

กายาทรีทิ้งท้ายว่า “เราต้องพูดถึงประเด็นว่า อะไรคือหน้าที่ของสื่อในช่วงเวลาที่พม่ากำลังเปิดประเทศให้เป็นประชาธิปไตย สื่อสามารถทำหน้าที่เพื่อสร้างความรู้ให้กับประชาชน และสะท้อนปัญหาภายในได้หรือไม่ เรายังต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับการพัฒนาด้วย อาจจะยากเกินไปหน่อย เพราะมันต้องการเวลาสำหรับให้คุณค่าได้ลงหลักปักฐานในสถาบันต่างๆ”

 

อนาคตที่ยังไม่แน่นอน

 

“ในฐานะคนที่โตมาในพม่า การเปลี่ยนผ่านไม่การันตีว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตยหรือสิ่งใดได้ ในปี 2007 ฉันยังคงต้องซ่อนหนังสือเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ไว้ เพราะกลัวจะโดนจับ ในตอนนี้ประเทศเปิดมากขึ้น และผู้คนต่างมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ชาวพม่าสามารถเข้าไปคอมเมนต์บนเฟซบุ๊กในเรื่องเกี่ยวกับรัฐบาลได้ ขณะที่ Hate Speech ก็เต็มไปหมดในโซเชียลมีเดียด้วย นี่คือการเปลี่ยนผ่านที่ฉันเห็น”

Eaint Thiri Thu นักศึกษาปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชนที่ Humphrey School of Public Affairs and College of Liberal Arts, University of Minnesota ให้ภาพบรรยากาศการใช้สื่อของชาวพม่าในปัจจุบัน

 

Eaint Thiri Thu

 

ปลายปี 2016 เธอทำหน้าที่ประสานงานให้กับสื่อต่างๆ ลงพื้นที่ในรัฐยะไข่ และได้ทำวิจัยภาคสนามเรื่องวิธีเข้าถึงข้อมูลและการแชร์ข้อมูลของชาวยะไข่พุทธ, ชาวมุสลิมโรฮิงญา และชาวมุสลิมกาไม และบทบาทของโซเชียลมีเดีย การปล่อยข่าวลือในการสร้างและแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ในหนังสือ ‘Myanmar Media in Transition’ เธอรับหน้าที่ออกแบบภาพหน้าปก โดยเธออธิบายว่าต้องการรวบรวมเสียงในประเทศที่ไม่ใช่แค่เพียงเสียงนักข่าวเท่านั้น ในหนังสือจึงมีเสียงสัมภาษณ์ทั้งกวี นักข่าว ผู้กำกับภาพยนตร์ รวมถึงผู้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสื่อ ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาจะบอกว่าระหว่างการเปลี่ยนผ่านของพม่านี้ อนาคตสื่อเองก็ยังไม่แน่นอน

“บางคนบอกว่าการเปลี่ยนผ่านกำลังพาเดินถอยหลัง หรือบางคนก็รู้สึกว่าไม่มีเสรีภาพสื่อเลย ดังนั้นฉันจึงตั้งชื่อภาพปกหนังสือว่า ‘Twilight’ เพราะว่ามันเกิดขึ้น 2 ครั้งต่อวันก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและตก เหมือนการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของพม่า 2 ครั้ง คือช่วงที่เผด็จการเข้ามายึดอำนาจ และช่วงปัจจุบันที่กำลังเปิดประเทศ ซึ่งเราไม่แน่ใจเห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้จะนำพาไปสู่จุดไหน”

เมื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับยุคสมัย เธออธิบายว่า เฟซบุ๊กกลายเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารในพม่าไปแล้ว คนมักบอกว่าถ้าอยากให้ประเด็นได้รับความสนใจก็ไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก แล้วคนก็จะแชร์กัน ล่าสุดมีประเด็นเรื่อง #JusticeforVictoria ที่เพิ่งเกิดขึ้น เป็นเรื่องการข่มขืนเด็ก คนก็ออกมาประท้วงกัน ขณะที่มีอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจ เพราะไม่ได้ถูกพูดถึงในเฟซบุ๊ก

Eaint Thiri Thu มองว่าหน้าที่ของของโซเชียลมีเดียเป็นส่วนสำคัญในพื้นที่สื่อ เพราะทุกวันนี้ผู้คนต่างพึ่งพาเฟซบุ๊ก แชร์เนื้อหาจากเฟซบุ๊ก ทุกคนสามารถเป็นสื่อเองได้ ในงานวิจัยที่เธอทำ สะท้อนว่าคนไม่ได้แยกสื่อออนไลน์กับสื่อแบบดั้งเดิมออกจากกันแล้ว

เธอบอกว่าเธอเริ่มการเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่อายุ 17 และการเปลี่ยนผ่านสำหรับเธอ นอกจากเสรีภาพในการแสดงออกแล้ว สิทธิที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยคือประเด็นสำคัญ เธอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายและสถาบันต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องประชาชนของตน.

 


หมายเหตุ – เก็บความจากวงเสวนาเปิดตัวหนังสือ Myanmar Media in Transition: Legacies, Challenges and Change เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 จัดโดยมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save