ธิติ มีแต้ม, ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ เรื่อง
ธิติ มีแต้ม ภาพ
ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แวดวงสื่อมวลชนโลกต่างแสดงความยินดีกับ ‘วา โลน’ และ ‘จอ โซ อู’ สองนักข่าวชาวพม่า สังกัดสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดีพม่าให้ปล่อยตัวจากการถูกจองจำนานถึง 511 วัน โทษฐานที่พวกเขานำเสนอข่าวความลับทางราชการในคดีที่ทหารพม่าก่อเหตุสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ จนเป็นเหตุให้เกิดการอพยพลี้ภัยของชาวโรฮิงญากว่า 7 แสนคน
แต่ในเสียงยินดีปรีดา ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเป็นภาพสะท้อนของบ้านเมืองที่ยังถือมั่นอำนาจนิยมอยู่ด้วย กรณีจองจำ ‘วา โลน’ และ ‘จอ โซ อู’ จึงฉายความอึดอัดคับข้องของคนในแวดวงสื่อ ที่ต้องทำงานท่ามกลางกระแสหันขวาของนานาประเทศที่กำลังรุ่งเรืองไปด้วยในเวลาเดียวกัน แม้ดูเหมือนว่าพม่ากำลังเปิดรับสายลมประชาธิปไตยเข้ามา แต่อะไรคือความเป็นไปจากปรากฏการณ์จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนที่เกิดขึ้น
ในห้วงเวลาการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย สื่อพม่าปรับตัวและเปลี่ยนผ่านอย่างไร อะไรคือความท้าทายของสปิริตสื่อมวลชนพม่าที่กำลังเผชิญอยู่ คำถามเหล่านี้ได้รับการอธิบายจาก 3 บรรณาธิการและ 1 นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานเกาะติดวิกฤตโรฮิงญา โดยทั้งหมดได้ร่วมกันทำหนังสือชื่อ Myanmar Media in Transition: Legacies, Challenges and Change
โฉมหน้าสื่อพม่าในปัจจุบัน
“พม่าเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ในปี 2010 คนที่เข้ามาในพม่าในเวลานั้นไม่ได้มีความรู้หรือเข้าใจประวัติศาสตร์ในประเทศ มันมีวาทกรรมที่บอกว่า journalism และภาคประชาสังคมในพม่าไม่มีก่อนปี 2010 ซึ่งนั่นเป็นปัญหามาก เพราะถ้าคุณไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของประเทศ จะยากที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้” ลิซ่า บรูทเทนฮัส นักวิชาการเรื่องพม่า ไทย และฟิลิปปินส์ 1 ในคณะบรรณาธิการ ‘Myanmar Media in Transition’ เกริ่นถึงพอยท์ในการเกิดหนังสือเล่มดังกล่าวขึ้นมา
ปัจจุบันลิซ่า เป็นรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และดิจิทัล มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นอิลลินอยส์ เธอเคยใช้ชีวิตอยู่แนวชายแดนไทย-พม่า ระหว่างปี 1989-1992 และเริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับสื่อพม่ามาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เธอเคยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในเรื่องสื่อพม่าพลัดถิ่นและการสื่อสารทางการเมือง นอกจากนี้เธอยังเป็นที่ปรึกษาองค์กรสื่อหลายแห่ง อาทิ ฟรีดอมเฮ้าส์, PEN American Center, and Radio Free Asia Burmese Service

เธอบอกว่าสิ่งที่สำคัญคือเราต้องขยายนิยามของคำว่า ‘สื่อ’ ที่ไปไกลกว่า journalism เพราะการมองแค่ journalism นั้นแคบเกินไปสำหรับการเข้าใจผลกระทบและวัฒนธรรมของสื่อ
“หนังสือเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านในพม่านั้นมักเขียนโดยชาวยุโรป อเมริกัน หรือคนที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ มันจึงสำคัญมากที่จะรวบรวมเสียงของคนพม่า ทั้งนักข่าว นักเขียน คนทำภาพยนตร์ และคนอื่นๆ แต่น่าเสียดายอย่างหนึ่งเพราะว่าพม่าปิดประเทศมาหลายปี ความสนใจทางวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์สื่อในพม่าจึงไม่มี”
ลิซ่าให้มุมมองต่อประเด็นคลาสสิกสองเรื่องในวงการสื่อว่า หนึ่ง การควบคุมสื่อจากรัฐซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกำลังเป็นประเด็นในพม่าอย่างมาก เธอบอกว่ามีบริษัทเพียงหยิบมือเท่านั้นที่เข้ามาคุมสื่อ และสอง การเซ็นเซอร์สื่อได้เปลี่ยนจากการเซ็นเซอร์แบบตรงๆ ด้วยการใช้กฎหมายมาเซ็นเซอร์ตัวเองแทน
แล้วอะไรคือภาพวงการสื่อพม่าปัจจุบันที่ลิซ่ากำลังเห็นอยู่ เธอบอกว่าเทรนด์ความเป็นอำนาจนิยมกำลังแบ่งแยกประชาชนออกเป็นสองฝ่าย สิ่งหนึ่งที่มีผลมากคืออิทธิพลของโซเชียลมีเดีย
“อัลกอริทึมแบ่งพวกเราออกจากกัน ฉันมีเพื่อนเป็นอีกฝั่งอย่างชัดเจน และหน้าฟีดของเขาแตกต่างกับฉันอย่างสิ้นเชิง การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนเกี่ยวเนื่องกับช่วงการเปลี่ยนผ่านเป็นอย่างมาก มันคล้ายคลึงกับไทย ไม่กี่ปีก่อนในเมืองย่างกุ้ง เราจะเห็นผู้คนอ่านนิตยสารอยู่ทุกแห่ง ชาวพม่าภูมิใจในวัฒนธรรมการอ่าน แต่ตอนนี้ทุกคนเดินไปเดินมาพร้อมกับสมาร์ทโฟน สิ่งนี้ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของสื่อ เพราะคนมักคิดว่าเราจะมีโฆษณาในแพลนฟอร์มออนไลน์ แต่สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้น เพราะโฆษณาได้พุ่งตรงไปถึงเฟซบุ๊กเลย ไม่ได้ผ่านสื่อ” ลิซ่าทิ้งท้าย
เปลี่ยนผ่านไปสู่หนใด
“การใช้คำว่า ‘การเปลี่ยนผ่าน’ นั้นท้าทายมาก มันไม่ใช่เรื่องขาวหรือดำ เราไม่ต้องการจะบอกว่ามันเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบใด แน่นอนมันมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังคงมีคนโดนข้อหา หรือมีการใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพอยู่”
เจน แมดลีน แมคเอลโอเนส ผู้เชี่ยวชาญด้านวารสารศาตร์และการพัฒนาสื่อ ได้ออกตัวถึงหนังสือที่เธอร่วมเป็นคณะบรรณาธิการด้วย เธอมีประสบการณ์ด้านการสนับสนุนและสร้างศักยภาพขององค์กรสื่อและผู้สื่อข่าวหลายประเทศ และร่วมทำโครงการสื่อต่างๆ ในพม่า อัฟกานิสถาน และติมอร์-เลสเต ปัจจุบันเธอพำนักอยู่ในพม่า และเป็นสมาชิกองค์กรที่ปรึกษาการพัฒนาสื่อสากล International Media Development Advisors (www.imdadvisers.com)

ต่อคำถามที่ว่า ธุรกิจสื่อพม่าในปัจจุบันเป็นอย่างไร เธอมองว่ามันเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ยิ่งอยู่ในการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ รวมถึงสภาพแวดล้อมภายในประเทศ สื่อที่มีบริษัทเอกชนหนุนหลังก็ยังเจอกับอุปสรรค
“เมื่อคุณอยู่ในพื้นที่ห่างไกล การเงินในประเทศไม่ได้แข็งแรง มันจึงยากที่จะดึงดูดนักลงทุน และเรารู้ว่าสื่อในรัฐชาติพันธุ์ มีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการสนับสนุน จริงๆ แล้วพวกเขาลงทุนลงแรงทำเอง”
เจนบอกว่า มีคนพยายามหาความเป็นไปได้ในการลงทุนกับธุรกิจสื่อ แต่มันเป็นกระบวนการที่ช้ามาก ถึงขนาดมีหลายคนมองว่าตอนนี้เป็นจุดเสี่ยงที่สุดของสื่อในรอบหลายปีที่ผ่านมา สื่อเล็กๆ ในรัฐชาติพันธุ์อยู่ในจุดที่อ่อนแอมากและต้องการจะอยู่รอด การสนับสนุนสื่อเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าหากไม่ทำแล้วก็อาจมีปัญหาเรื่องการเป็นกระบอกเสียงสำหรับวาระทางการเมืองบางอย่างได้ หรืออาจตกเป็นเหยื่อของรัฐบาลต่างประเทศได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อพูดเรื่องความยั่งยืนของสื่อ มันยังคงไม่เปลี่ยนผ่าน ยังก้ำกึ่งอยู่ เพราะว่าสื่อไม่สามารถแข่งขันกันในสภาพแวดล้อมแบบที่เป็นอยู่ได้
ส่วนประเด็นเรื่องความยั่งยืน เจนมองว่ามันไม่ใช่เรื่องขาวหรือดำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องการเวลา แน่นอนว่าสื่อดิจิทัลคืออนาคต แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนภายใน 5 นาที คุณต้องทำสิ่งที่คุณทำทุกวันและต้องการความเข้าใจ สื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ตายในพม่า และเมื่อ 5 ปีก่อนคนก็ยังพูดแบบนี้ แต่ทุกวันนี้คนยังอ่านสิ่งพิมพ์กันอยู่
“อีกข้อถกเถียงกันในวงการพัฒนาสื่อ ทั้งในระดับพื้นที่และนานาชาติ คือการเลือกที่จะทำงานหรือไม่ทำงานภายใต้สื่อของรัฐ ก่อนที่พม่าจะเปิดประเทศ รัฐไม่ใช่พาร์ทเนอร์ที่เราจะทำงานด้วย แต่เมื่อเปิดขึ้นมา พวกเขาเป็นอีกส่วนที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงมีความกดดันและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในวงการสื่อว่าควรจะทำงานกับสื่อของรัฐดีหรือไม่” เจนทิ้งท้าย
ถามหาคุณค่าสื่อ
กายาทรี เวนกิตสวารัน บรรณาธิการร่วมของหนังสือ ‘Myanmar Media in Transition’ ตอนนี้เธอเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม วิทยาเขตกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และทำงานวิจัยเรื่องการปฏิรูปสื่อและบทบาทภาคประชาสังคมในอินโดนิเซียและพม่าด้วย
เธอชวนมองคุณค่าของการเปลี่ยนผ่านของสื่อพม่าว่า เวลาเรามองสื่อในฐานะข่าวหรือแพลตฟอร์ม เรามักจะคิดว่ามันเป็นประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ หรือมีคุณค่าแบบประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่เมื่อมองประวัติศาสตร์ หรือกระทั่งในปัจจุบันก็ตาม มันยังเป็นปัญหา และต้องมีการตั้งคำถาม เพราะจะเห็นว่าสื่อเป็นกลไกหนึ่งที่คอยสร้างแนวคิดต่างๆ ขึ้นมาด้วย สื่อเป็นสถาบันที่ทรงพลังและไม่ได้เป็นประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ

อีกเรื่องที่เธอชี้ให้เห็นคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อที่ต้องใช้เงิน แต่บทเรียนคือเรามักไม่สนใจเรื่อง ‘ความเป็นเจ้าของ’ ของสื่อต่างๆ
“ปกติมันง่ายที่จะบอกให้รัฐหยุดควบคุมสื่อ แต่เมื่อเราพูดว่า ‘ใครถือครองสื่อ’ มันซับซ้อนกว่านั้น หลายปีที่ผ่านมาในอินโดนิเซียและยุโรปตะวันออก มักมีการพูดถึงการควบคุมและกฎหมายมากกว่าที่จะพูดเรื่องการถือครองสื่อ”
เช่นนั้นแล้ว ความท้าทายของการยกระดับองค์กรสื่อในพม่าอยู่ตรงไหน เธอมองว่าพม่ามีอุปสรรคมาก ยากมากที่จะเปลี่ยนวิธีคิดต่างๆ ในวงการสื่อ เพราะพวกเขาต่างได้รับผลประโยชน์ เธอยังมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในชุมชนสื่อเอง
“องค์กรสื่อไม่เคยมีการส่งเสียงออกประกาศแสดงจุดยืนใดๆ ร่วมกันออกมา ถ้าเป็นแบบนี้ก็ยากที่จะก้าวต่อไป”
เธอยืนยันว่าแม้ว่าภาคประชาสังคมจะถูกควบคุมจากรัฐ แต่มันสำคัญมากที่ภาคประชาสังคมจะก่อตั้งสมาคมสื่อเพื่อสร้างภราดรภาพร่วมกันในการส่งเสียงของประชาชนในเรื่องกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เพราะยังคงมีคนที่มีพลังและกระตือรือร้นในการส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่
“การคำนึงถึงคุณค่าของสื่อเสรีจะนำมาซึ่งวัฒนธรรมประชาธิปไตย คุณค่าที่เราสามารถเห็นได้คือสื่อสามารถหยิบเอาข้อความที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมาเผยแพร่ได้”
เมื่อพูดถึงการปฏิรูปสื่อ เธอมองว่าเป็นการปฏิรูปที่ค่อนข้างอ่อนแอ เพราะการปฏิรูปนั้นกลับมองสื่อในฐานะรูปแบบ แต่ไม่ได้มองในฐานะกระบวนการ เมื่อจะมีการออกนโยบายต่างๆ คุณต้องคิดว่าใครถือครองสื่อบ้าง และจะขยายการสื่อสารออกไปได้อย่างไร สิ่งที่เราเห็นคือสื่อถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นต้องทิ้งวิธีคิดเก่าๆ เราต้องมองหากระบวนการให้สื่อเป็นสื่อที่เสรีจริงๆ
กายาทรีทิ้งท้ายว่า “เราต้องพูดถึงประเด็นว่า อะไรคือหน้าที่ของสื่อในช่วงเวลาที่พม่ากำลังเปิดประเทศให้เป็นประชาธิปไตย สื่อสามารถทำหน้าที่เพื่อสร้างความรู้ให้กับประชาชน และสะท้อนปัญหาภายในได้หรือไม่ เรายังต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับการพัฒนาด้วย อาจจะยากเกินไปหน่อย เพราะมันต้องการเวลาสำหรับให้คุณค่าได้ลงหลักปักฐานในสถาบันต่างๆ”
อนาคตที่ยังไม่แน่นอน
“ในฐานะคนที่โตมาในพม่า การเปลี่ยนผ่านไม่การันตีว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตยหรือสิ่งใดได้ ในปี 2007 ฉันยังคงต้องซ่อนหนังสือเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ไว้ เพราะกลัวจะโดนจับ ในตอนนี้ประเทศเปิดมากขึ้น และผู้คนต่างมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ชาวพม่าสามารถเข้าไปคอมเมนต์บนเฟซบุ๊กในเรื่องเกี่ยวกับรัฐบาลได้ ขณะที่ Hate Speech ก็เต็มไปหมดในโซเชียลมีเดียด้วย นี่คือการเปลี่ยนผ่านที่ฉันเห็น”
Eaint Thiri Thu นักศึกษาปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชนที่ Humphrey School of Public Affairs and College of Liberal Arts, University of Minnesota ให้ภาพบรรยากาศการใช้สื่อของชาวพม่าในปัจจุบัน

ปลายปี 2016 เธอทำหน้าที่ประสานงานให้กับสื่อต่างๆ ลงพื้นที่ในรัฐยะไข่ และได้ทำวิจัยภาคสนามเรื่องวิธีเข้าถึงข้อมูลและการแชร์ข้อมูลของชาวยะไข่พุทธ, ชาวมุสลิมโรฮิงญา และชาวมุสลิมกาไม และบทบาทของโซเชียลมีเดีย การปล่อยข่าวลือในการสร้างและแก้ปัญหาความขัดแย้ง
ในหนังสือ ‘Myanmar Media in Transition’ เธอรับหน้าที่ออกแบบภาพหน้าปก โดยเธออธิบายว่าต้องการรวบรวมเสียงในประเทศที่ไม่ใช่แค่เพียงเสียงนักข่าวเท่านั้น ในหนังสือจึงมีเสียงสัมภาษณ์ทั้งกวี นักข่าว ผู้กำกับภาพยนตร์ รวมถึงผู้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสื่อ ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาจะบอกว่าระหว่างการเปลี่ยนผ่านของพม่านี้ อนาคตสื่อเองก็ยังไม่แน่นอน
“บางคนบอกว่าการเปลี่ยนผ่านกำลังพาเดินถอยหลัง หรือบางคนก็รู้สึกว่าไม่มีเสรีภาพสื่อเลย ดังนั้นฉันจึงตั้งชื่อภาพปกหนังสือว่า ‘Twilight’ เพราะว่ามันเกิดขึ้น 2 ครั้งต่อวันก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและตก เหมือนการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของพม่า 2 ครั้ง คือช่วงที่เผด็จการเข้ามายึดอำนาจ และช่วงปัจจุบันที่กำลังเปิดประเทศ ซึ่งเราไม่แน่ใจเห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้จะนำพาไปสู่จุดไหน”
เมื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับยุคสมัย เธออธิบายว่า เฟซบุ๊กกลายเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารในพม่าไปแล้ว คนมักบอกว่าถ้าอยากให้ประเด็นได้รับความสนใจก็ไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก แล้วคนก็จะแชร์กัน ล่าสุดมีประเด็นเรื่อง #JusticeforVictoria ที่เพิ่งเกิดขึ้น เป็นเรื่องการข่มขืนเด็ก คนก็ออกมาประท้วงกัน ขณะที่มีอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจ เพราะไม่ได้ถูกพูดถึงในเฟซบุ๊ก
Eaint Thiri Thu มองว่าหน้าที่ของของโซเชียลมีเดียเป็นส่วนสำคัญในพื้นที่สื่อ เพราะทุกวันนี้ผู้คนต่างพึ่งพาเฟซบุ๊ก แชร์เนื้อหาจากเฟซบุ๊ก ทุกคนสามารถเป็นสื่อเองได้ ในงานวิจัยที่เธอทำ สะท้อนว่าคนไม่ได้แยกสื่อออนไลน์กับสื่อแบบดั้งเดิมออกจากกันแล้ว
เธอบอกว่าเธอเริ่มการเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่อายุ 17 และการเปลี่ยนผ่านสำหรับเธอ นอกจากเสรีภาพในการแสดงออกแล้ว สิทธิที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยคือประเด็นสำคัญ เธอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายและสถาบันต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องประชาชนของตน.
หมายเหตุ – เก็บความจากวงเสวนาเปิดตัวหนังสือ Myanmar Media in Transition: Legacies, Challenges and Change เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 จัดโดยมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์