fbpx
อดีตอันแสนหวาน คือยาสมานแผลจากการเติบโต

อดีตอันแสนหวาน คือยาสมานแผลจากการเติบโต

ถึงจะบอกว่า Coming of Age เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้เติบโตและเรียนรู้อะไรๆ ที่ผ่านเข้ามาระหว่างการเปลี่ยนผ่านของช่วงชีวิต แต่อย่างที่เห็นกันอยู่ ทั้งในชีวิตจริงและหนังแนวนี้แทบทุกเรื่อง ที่ความขัดแย้งภายในตัวละครนั้นช่างยิ่งใหญ่ ขมขื่น และพัดพาเอา ‘ความเครียด’ จากการเติบโตเข้ามาให้ปวดหัวพอเป็นกระษัย

 

ผลสำรวจดัชนีความเครียดจาก AU Poll มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาทำให้เราเห็นภาพคร่าวๆ ของเรื่องที่ทำให้คนไทยในแต่ละเจเนอเรชันรู้สึกปวดตัวปวดใจจากสิ่งรอบตัว โดยกลุ่มที่มีความเครียดมากที่สุดสองอันดับแรก (และเดาได้ไม่ยาก) คือชาวเจน Y อายุ 25-35 ปี ที่เครียดด้วยเรื่องการเงินการงาน ตามมาด้วยเจน Z อายุ 19-24 ปี ที่เครียดกับเรื่องเรียนและงานในอนาคต

จะเรียนต่อที่ไหน? จบแล้วจะทำอะไรเลยดีไหม? งานที่ทำยังดีต่อใจอยู่รึเปล่า? จะเปลี่ยนงานหรือจะทนอยู่ต่อไป? เป็นคำถามคลาสสิกที่เกี่ยวพันกับการตัดสินใจเพื่อก้าวสู่สภาวะเติบโตของชีวิตในขั้นต่อไป

วิธีจัดการความเครียดและความเจ็บปวดระหว่างการเปลี่ยนผ่านของชีวิตมีหลากหลายวิธี พี่อ้อยอาจบอกในคลับฟรายเดย์ให้ลืมความเจ็บปวดในอดีตเพื่ออนาคตที่สดใส เพลงพี่บอยด์โกฯ อาจบอกให้อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง ส่วนไลฟ์โค้ชอาจบอกให้โอนค่าคอร์สก่อนแล้วจะบอกให้

แต่เราจะขออยู่กับอดีตอันแสนหวาน เพื่อลืมความเศร้าในช่วงเวลา Coming of Age ไม่ได้เลยหรือ

คำตอบคือ… ได้สิ!

 

ภาวะรู้สึกโหยหา อาลัยอาวรณ์อดีต หรือความ ‘Nostalgia’ คือความรู้สึกอบอุ่นใจ สบายใจที่เกิดขึ้นเมื่อเรานึกถึงช่วงเวลาในอดีตที่เคยเจอมา บางทีอาจไม่จำเป็นต้องเป็นความทรงจำที่แจ่มชัดที่เจอกับตัวเอง แค่จำได้ว่ามีอะไรบางอย่างที่อยู่ในช่วงเวลาของความทรงจำก็เพียงพอ เช่นถ้าเราเคยได้ยินเพลงเก่าที่พ่อแม่เปิดฟังสมัยเด็กๆ เมื่อมาได้ยินอีกที สมองก็จะเชื่อมโยงความรู้สึกนั้นเข้ากับความทรงจำด้านบวกในสมัยเด็ก

แต่นอสทัลเจียมันคืออะไรกันแน่นะ?

เชื่อหรือไม่ว่าคำว่านอสทัลเจียเปิดตัวเป็นครั้งแรกในฐานะ ‘อาการทางประสาท’ เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดนแพทย์ทหารชาวสวิตเซอร์แลนด์ โยฮัน ฮอฟเฟอร์ ที่ทำให้เหล่าทหารรับจ้างเกิดอาการจิตหลอน จนต่อมาก็ยังถูกมองเป็นหนึ่งในภาวะอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับคนที่ย้ายถิ่นฐาน (ในช่วงนั้นถูกจัดรวมเข้ากับอาการ homesick)

เมื่อมีการศึกษาอย่างจริงจัง ก็พบว่านอสทัลเจียคือความรู้สึกที่คนทั้งโลกเป็นเหมือนกัน และเจอแม้กระทั่งในเด็กอายุ 7 ขวบที่นึกถึงความทรงจำในวันเกิดและวันที่ไปเที่ยวกับครอบครัว และเป็นกันมากที่สุดในช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น (เท่ากับช่วงของชาวเจน Y และ Z ในตอนนี้) ก่อนจะลดลงในวัยกลางคน และพุ่งขึ้นอีกครั้งตอนที่เราแก่ตัวลง

มากไปกว่านั้น การศึกษาเรื่องนอสทัลเจียยังพบอีกว่า การนึกย้อนถึงอดีตไม่ใช่แค่ทำให้อบอุ่นใจ แต่ยังอบอุ่นไปถึงอุณหภูมิในร่างกายด้วย จากการทดลองที่ให้คนไปนั่งในห้องที่หนาวเย็นเทียบกับอีกห้องที่อุ่นกว่า พบว่าหลายคนที่อยู่ในห้องที่หนาวจะเกิดภาวะนอสทัลเจียบ่อยครั้ง พอนอสทัลเจียแล้ว จะรู้สึกว่าร่างกายอบอุ่นขึ้น ทำให้นักจิตวิทยาคาดกันว่า นี่อาจเป็นความรู้สึกที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษของเรา ทำให้การเรียกความทรงจำเก่าๆ ส่งผลต่อการอยู่รอด

เรื่องน่าแปลกคือ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกในอดีตเฉพาะด้านบวกเท่านั้นที่สร้างความรู้สึก ‘ความทรงจำสีจาง’ ช่วยให้เราอบอุ่นใจในปัจจุบันอันหดหู่ เหตุการณ์แย่ๆ ที่เกิดขึ้นก็นอสทัลเจียได้ด้วย ผู้หญิงที่เคยผ่านประสบการณ์คลอดลูก แม้จะเจ็บปวด แต่เกือบทุกคนเมื่อนึกย้อนกลับไปกลับอยากมีลูกอีกครั้ง หรือเด็กที่เคยผ่านความเจ็บปวดในช่วงสงครามโลก เมื่อโตขึ้นและนึกถึงเหตุการณ์ตอนนั้นก็จะมองเห็นว่าครอบครัวของตัวเองสำคัญมากแค่ไหน

ในแง่นี้ ความนอสทัลเจีย นั่งนึกถึงอดีต จึงเป็นกลไกที่ช่วย ‘จัดการ’ ความโศกเศร้าของผู้ที่ผ่านความสูญเสีย มากกว่าจะตอกย้ำความเจ็บปวดที่เคยเจอมา

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะการจัดการความรู้สึกด้านลบ (ในปัจจุบัน) ของมนุษย์เป็นเหมือนภูมิคุ้มกันทางจิตวิทยา เช่นเดียวกับเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกาย เพียงแต่แทนที่จะเข้าไปสวาปามเชื้อโรคร้าย ร่างกายของเราจัดการกับความรู้สึกแย่ๆ ด้วยการทำให้มันหายไปจากความทรงจำเร็วกว่าความรู้สึกด้านบวก เมื่อนำมาร้อยเรียงใหม่จากการหวนคิดถึงอดีต จากเหตุการณ์ที่เคยรู้สึกแย่ จึงถูกสร้างใหม่เป็นเรื่องที่ดีกับใจ

เคลย์ รูท์เลดจ์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย North Dakota State เจ้าของงานวิจัยในหัวข้อ Nostalgia: Content, Triggers, Functions ที่สำรวจความเป็นไปได้และข้อดีต่างๆ ของภาวะนอสทัลเจียได้บอกไว้ว่า

เมื่อมนุษย์รู้สึกมองโลกในแง่ดี [จากความรู้สึกดีที่เกิดจากภาวะนอสทัลเจีย] เราจะเริ่มมองถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และเฝ้ารอให้มาถึงด้วยความรู้สึกด้านบวก มากกว่าจะจมอยู่กับความรู้สึกแย่ที่เจอมา

ช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ 9/11 และวิกฤตซับไพรม์เมื่อปี 2007 ในสหรัฐอเมริกาคือหลักฐานที่ยืนยันสมมติฐานนี้ เพราะทั้งอุปสงค์และอุปทานของวงการบันเทิง ทั้งละครโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับความทรงจำในอดีต ภาพยนตร์แนวนอสทัลเจีย ล้วนพุ่งสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ เพื่อให้ชาวอเมริกันเกิดความรู้สึกโหยหาอดีต ลืมความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ความสูญเสียทั้งสองเหตุการณ์

 

การพาตัวเองเข้าสู่ภาวะนอสทัลเจียพาให้เราก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลาได้อย่างราบรื่นมากขึ้น อย่าแปลกใจถ้าในช่วงเวลา Coming of Age ที่เจอหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญๆ ของชีวิต เราจะรู้สึก (และเจอแต่คนที่) อยากกลับไปฟังเพลงยุค 90s นั่งอ่านกระทู้อวดรูปเพจเจอร์ หรือนั่งดูละครเก่าๆ และเจอกับละครหรือหนังรีเมคออกมาเต็มไปหมด

เพราะในเมื่อคนที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คือคนที่เคยนั่งดู โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ในอดีต การพาความทรงจำเก่าๆ ให้หวนกลับมาอีกครั้งจึงเป็นหนึ่งในหนทางเยียวยาของคนยุคนี้ ผู้เป็นเจ้าของกลุ่มใหญ่ที่สุดของความเจ็บปวดจากการเปลี่ยนผ่าน

ไม่แน่เหมือนกันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เราอาจได้เห็น Pokemon Go! ย้อนกลับมาทำใหม่อีกรอบ

 

เพราะมันคือนอสทัลเจียที่ไม่ต่างกัน

 

 

อ่านเพิ่มเติม

ผลสำรวจ ดัชนีความเครียดคนไทยยังสูง 67% เบื่อ-ไร้ความสุข สาเหตุใหญ่จากเรื่องเรียน ปัญหาเศรษฐกิจ จาก Mtoday, 20 กุมภาพันธ์ 2560

บทความเรื่อง 90s Nostalgia Sells So Well Because We’re Chasing Fleeting Happiness ของ Kevin Wong จาก Vice, April 25, 2017

บทความเรื่อง What Is Nostalgia Good For? Quite a Bit, Research Shows ของ John Tierney จาก The New York Times, July 8, 2013

บทความเรื่อง Nostalgia: Content, Triggers, Functions จาก The American Psychological Association

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save