fbpx
เปิด 6 เทรนด์ โครงสร้างประชากรจีน

เปิด 6 เทรนด์ โครงสร้างประชากรจีน

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

สมัยก่อน ใครๆ ก็บอกว่าจุดแข็งของประเทศจีนอยู่ที่จำนวนประชากรและแรงงานมหาศาล แต่ทราบไหมครับว่าในวันนี้ จีนกำลังเผชิญ ‘ปรากฏการณ์ประชากรหด’ ซึ่งจะทำให้จีนเข้าสู่สภาพ ‘แก่ก่อนรวย’ สร้างความท้าทายต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Chinese Academy of Social Science ได้ตีพิมพ์รายงานสถานการณ์ประชากรและแรงงานจีน โดยได้สรุปเป็น ‘6 เทรนด์โครงสร้างประชากรจีน’ ที่สำคัญ ดังนี้

หนึ่ง ปัจจุบันจำนวนแรงงานจีนกำลังลดลงเรื่อยๆ จากเดิมที่ในยุคหนึ่ง หลายคนเลือกลงทุนที่จีนเพราะจีนมีปริมาณแรงงานมหาศาลและค่าแรงถูก แต่ในวันนี้ จีนเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ประชากรในวัยทำงานมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อยๆ จนถึงปี ค.ศ.2050 แรงงานจีนจะหายไป 200 ล้านคน

สอง สัดส่วนของประชากรเกษียณต่อประชากรวัยทำงานสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยจุดเปลี่ยนคือ ปี ค.ศ.2011 ที่สัดส่วนนี้เริ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรก จากเดิมที่ในปี ค.ศ.2010 ประชากรวัยทำงาน 1,000 คน ต้องเลี้ยงประชากรเกษียณ 342 คน แต่ในปี ค.ศ.2011 ตัวเลขนี้เพิ่มเป็น 344 คน

สาม แม้ว่าอัตราเกิดจะค่อยๆ กลับมาสูงขึ้น แต่ยังถือว่าเพิ่มขึ้นค่อนข้างช้า อัตราเกิดของจีนนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 เป็นต้นมา อยู่ที่ต่ำกว่า 1.6 ตลอดมา (เฉลี่ยผู้หญิงจะมีลูกน้อยกว่า 1.6 คน) จนถึงปี ค.ศ.2013 จึงกลับมาอยู่ที่ 1.6 และในปี ค.ศ.2016 เพิ่มขึ้นเป็น 1.62 แม้ว่าในปัจจุบัน รัฐบาลจีนจะผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียว เปลี่ยนมาใช้นโยบายลูกสองคนแทน แต่คนจีนกลับยังไม่นิยมมีลูกสองคน จนเกิดคำพูดแพร่หลายในจีนว่า “คนจีนยุคใหม่ไม่กล้ามีลูก” เพราะทนแบกรับค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในจีนไม่ไหว

สี่ จีนกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถ้าหากพิจารณาสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะพบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 ถึงปี ค.ศ.2010 สัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เพิ่มจาก 3.76% เป็น 8.40% เท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 0.12% ถัดมาหากนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 ถึงปี ค.ศ.2040 มีการคาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี ค.ศ.2040 สัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 23.84% เท่ากับโตเฉลี่ยถึงปีละ 0.51% นอกจากนั้น ด้วยความเจริญทางการแพทย์ ประชากรในอนาคตจะมีอายุเฉลี่ยยืนขึ้น ทำให้คาดว่าในปี ค.ศ.2041 ประชากรที่มีอายุมากกว่า 80 ปี จะมีสัดส่วนสูงถึง 5.15% ของประชากรจีนทั้งหมด

ห้า ประชากรจีนส่วนใหญ่จะอาศัยในเขตเมือง ในปี ค.ศ.2018 ประชากรจีน 60% อาศัยในเขตเมือง แต่พอถึงปี ค.ศ.2030 ตัวเลขนี้จะสูงถึง 70% และพอถึงปี ค.ศ.2050 จะสูงถึง 80% อาจกล่าวได้ว่า จีนเป็นประเทศที่แปลงชนบทเป็นเมืองอย่างรวดเร็วและมโหฬารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก

หก ในระยะยาว ประชากรจีนจะค่อยๆ ลดจำนวนลง จำนวนประชากรจีนจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ.2029 นั่นคือประมาณ 1,442 ล้านคน หลังจากนั้นประชากรจีนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี ค.ศ.2065 ประชากรจีนจะลดลงเหลือ 1,172 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่กลับมาเท่ากับจำนวนประชากรจีนในปี ค.ศ.1990

‘ปรากฎการณ์ประชากรหด’ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในจีน คล้ายคลึงกับเทรนด์ที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่น เพียงแต่กรณีของจีนนั้น เรียกว่ากำลังเผชิญกับภาวะ ‘แก่ก่อนรวย’ เพราะแม้ปัจจุบันจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (และกำลังจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในอีกไม่นาน) แต่ในแง่ของ GDP ต่อหัวแล้ว (เอาขนาดเศรษฐกิจมาหารเฉลี่ยจำนวนประชากรทั้งหมด) ต้องบอกว่าจีนยังมีช่องว่างหากจากประเทศพัฒนาแล้วอยู่พอสมควร

ดังนั้น ปัญหาโครงสร้างประชากรของจีนจึงถือเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดนโยบายระยะยาวของรัฐบาล เพื่อรับมือความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ปัญหาโครงสร้างประชากรสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลจีนให้ต้องรีบปรับตัวใน 3 เรื่อง ดังนี้

หนึ่ง ความกดดันในเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในอดีต ซึ่งได้แก่ ปริมาณแรงงานมหาศาล หรือการแปลงชนบทเป็นเมือง กำลังจะหมดไป เพราะจีนเริ่มขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกันกระบวนการแปลงชนบทเป็นเมืองก็เริ่มเข้าสู่จุดอิ่มตัว เพราะฉะนั้น รัฐบาลจีนจึงต้องพยายามคิดหาเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ โดยทิศทางก็คือ เน้นส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และเน้นยกระดับสินค้าและนวัตกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตต่อไปให้ได้

สอง ความกดดันในเรื่องรัฐสวัสดิการ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ต่ำ ทำให้ต้องมีการวางแผนระบบสวัสดิการผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพและให้มีความยั่งยืนในทางการคลัง การสร้างรัฐสวัสดิการยังมีความสำคัญ เพราะจะช่วยแบ่งเบาความกดดันในเรื่องค่าครองชีพของคนจีน ซึ่งเป็นตัวกดให้อัตราเกิดต่ำ ทั้งยังจะช่วยปลดปล่อยพลังการบริโภค ทำให้คนจีนนอกจากจะกล้ามีลูกแล้ว ยังกล้าจับจ่ายใช้สอย ไม่ต้องกังวลเก็บเงินตุนไว้สำหรับอนาคต เพราะไม่มั่นใจในระบบสวัสดิการของรัฐ

สาม ความกดดันในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะความท้าทายหลายอย่างที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ต้องอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยรับมือ เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและค่าแรงในจีนที่ปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ หากจีนยังต้องการที่จะรักษาภาคอุตสาหกรรมและคงระดับผลผลิตในภาคอุตสาหกรรม จีนก็ต้องหันมาใช้โรงงานหุ่นยนต์ หรือหันมาเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยี (ใช้คนน้อยลง แต่ต้องได้ผลผลิตมากขึ้น) หรืออย่างปัญหาการดูแลผู้สูงอายุ ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในการรักษาพยาบาล ก็สามารถอาศัยการปรับใช้เทคโนโลยี A.I. หรือปัญญาประดิษฐ์ในวงการแพทย์

มาถึงตรงนี้ ก็ต้องเล่าด้วยว่า ในโลกปัจจุบันยังมีอีกหนึ่งประเทศที่กำลังจะเผชิญสภาพ ‘แก่ก่อนรวย’ เหมือนกับจีน นั่นคือประเทศไทยของเราที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นโครงสร้างประชากรของไทย ก็จะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่สร้างแรงกดดันมหาศาลในอนาคตเช่นกัน

ไม่แน่ใจว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคไหนพูดนโยบายภาพใหญ่ครบวงจร เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายเรื่องโครงสร้างประชากรในระยะยาวนี้บ้างหรือไม่ หรือยังแข่งกันมองแต่ภาพระยะสั้นๆ และปิดตาหนีระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save