fbpx

เมื่อ ‘สังหารหมู่’ เป็นรูปแบบหนึ่งของการฆ่าตัวตาย .. และ ‘ฆ่าตัวตาย’ กำลังเป็นโรคระบาดในสังคมไทย กับ เดชา ปิยะวัฒน์กูล

“ถ้าดูจากพฤติการณ์ในการก่อเหตุ คนร้ายใช้เวลา 2 ชั่วโมง ทำทุกอย่างเป็นขั้นตอน แต่เจ้าหน้าที่กลับไปรีบสรุป ว่าคนร้ายทำเพราะเกิดจากการใช้ยาเสพติด เกิดจากความคลุ้มคลั่ง นั่นจะยิ่งเป็นอันตรายต่อสังคมไทย เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะปล่อยให้เรื่องนี้จบไปด้วยข้อสรุปว่าเป็นอาชญากรรมที่เกิดจากคนเสียสติคนหนึ่ง และจะยังคงไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงต่อไป เพราะเราจะไม่วิเคราะห์ ไม่ใช้หลักวิชาการ ไม่ทำอะไร และจะมีเหตุการณ์สังหารหมู่เกิดขึ้นอีก”

นายแพทย์เดชา ปิยะวัฒน์กูล จิตแพทย์และนักวิชาการอิสระ เป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามกระตุกให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยิงที่ อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู หันมาสนใจวิเคราะห์สาเหตุของการสังหารหมู่ครั้งนี้อย่างจริงจัง โดยนำมุมมองในเชิงพฤติกรรมศาสตร์และหลักจิตวิทยาเข้ามาวิเคราะห์ด้วย โดยเฉพาะการเฉพาะเจาะจงไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะนอกจากจะเป็นหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่สรุปสำนวนคดี ยังเป็นอดีตต้นสังกัดของคนร้ายด้วย จึงยิ่งจำเป็นต้องศึกษาวิเคราะห์หามูลเหตุอย่างจริงจัง

ก่อนจะลงลึกไปถึงประเด็นสำคัญ นายแพทย์เดชา ย้ำว่า “แม้เราอาจจะต้องยอมรับว่า คนร้ายมีสติในระหว่างก่อเหตุ ไม่ใช่เพราะเมา ไม่ใช่คนบ้า แต่เราต้องไม่ยอมรับเหตุผลใดๆ ก็ตามของคนร้ายในการก่อเหตุที่ร้ายแรงเช่นนี้ เพราะเป็นเหตุผลที่เขาคิดไปเองว่าถูก แต่แท้จริงแล้วมันไม่มีเหตุผลเลย เป็นการกระทำที่จิตสำนึกบกพร่อง”

“ยาเสพติดก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ไม่ใช่เราไปสรุปว่า ยาเสพติดเป็นต้นเหตุของการก่อเหตุ เรารู้ว่าคนร้ายเป็นคนที่มีปัญหาในชีวิตแน่ๆ มีประวัติการใช้ยาเสพติดแน่ๆ แต่เราไปสรุปว่ายาเสพติดเป็นสาเหตุเดียวไม่ได้ เพราะถ้าเราใช้หลักวิชาการ ก็จะเห็นเลยว่า คนร้ายไม่ได้ตะโกนบ้าบอ ไม่ได้เมาคุ้มคลั่ง แต่เขาทำทุกอย่างอย่างเป็นระบบ ผ่านการคิด และเห็นได้ชัดว่า เขามีสติในระหว่างก่อเหตุ”

ดังนั้น สิ่งที่นายแพทย์เดชา พยายามจะชี้ให้เห็นในฐานะจิตแพทย์ ก็คือ

“การสังหารหมู่เป็นรูปแบบหนึ่งของการฆ่าตัวตาย”

“เป้าหมายแรกของคนเหล่านี้คือเขาจะฆ่าตัวตาย …. นี่เป็นข้อมูลที่ค้นหาได้จากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาไปศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับเหตุสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง และพบข้อเท็จจริงที่ตรงกันว่า คนร้ายที่ก่อเหตุสังหารหมู่ทุกรายจะลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย หรือแม้จะถูกวิสามัญฆาตกรรมก็จัดว่าเป็นสิ่งที่คนร้ายรู้อยู่แล้วว่าเขาจะต้องตายแน่ๆ จากการก่อเหตุเช่นนี้ และพอไปค้นประวัติของคนร้ายแบบเจาะลึกลงไป ก็จะพบต่อไปอีกว่า ทุกคนเคยส่งสัญญาณว่าจะฆ่าตัวตาย ดังนั้น จึงมีข้อสรุปได้ว่า การสังหารหมู่เป็นรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนจะฆ่าตัวตาย”

นายแพทย์เดชา ปิยะวัฒน์กูล จิตแพทย์และนักวิชาการอิสระ
ที่มาภาพ: Facebook – เดชา ปิยะวัฒน์กูล

‘Call for Help’ คือคำศัพท์จิตวิทยา ซึ่งหมายถึง ‘สัญญาณ’ ที่นายแพทย์เดชาพูดถึง โดยระบุข้อค้นพบว่า คนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย มักจะพยายามบอกอะไรบางอย่างออกมาให้ผู้อื่นรับฟัง แต่ได้รับผลตอบกลับเป็นไปในเชิงลบ เช่น ไม่ถูกสนใจรับฟัง ถูกรับฟังแต่ถูกโต้แย้ง ถูกบอกให้ยอมรับปัญหานั้นโดยดี ดังนั้นจึงอาจหันความเกลียดชังที่มีต่อตัวเอง ที่เดิมจะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย แล้วไปเจออะไรบางอย่างจากสังคมภายนอกเข้ามากระทำกับเขาในช่วงนี้อีก ก็อาจหันความเกลียดชังนั้นไปสู่สังคมรอบๆ ตัวด้วย จนนำไปสู่การวางแผนทำร้ายผู้อื่นก่อนที่จะจบเรื่องด้วยการฆ่าตัวตาย

“สัญญาณที่เราสังเกตได้โดยทั่วไปจากคนที่มีอาการป่วยเป็นซึมเศร้า คือเขาจะเงียบ เก็บกด พูดน้อยลง ไม่ค่อยออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ความสามารถในการทำงานน้อยลง ซึ่งอาจส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปถึงการเปรยว่าโลกไม่น่าอยู่ ต้องการตาย ซึ่งเขาต้องการถูกรับฟัง หรือต้องการโอกาสได้พบกับจิตแพทย์”

“ผมทราบมาว่า คนร้ายที่หนองบัวลำภู เคยเปรยกับคนใกล้ชิดว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่และเคยไปพบจิตแพทย์ด้วย นั่นทำให้เราไปเจอจุดบอดที่สำคัญต่อไปอีกว่า จังหวัดหนองบัวลำภูที่มีประชากรประมาณ 5 แสนคน กลับไม่มีจิตแพทย์ประจำอยู่แม้แต่คนเดียว ทุกๆ สัปดาห์จึงต้องส่งจิตแพทย์จากจังหวัดเลยมาพบคนป่วยสัปดาห์ละครั้ง คุณลองคิดดูว่า มีคนป่วยมากเท่าไหร่ที่ต้องการพบจิตแพทย์ แต่มีเวลาพร้อมกันสัปดาห์ละไม่กี่ชั่วโมง ดังนั้นจิตแพทย์ก็จะมีเวลาคุยกับผู้ป่วยคนละ 3-5 นาที แล้วผู้ป่วยเหล่านี้จะมารอพบแพทย์อีกหรือ”

ดังนั้น นายแพทย์เดชาจึงชี้ชัดว่า การจะวิเคราะห์สาเหตุเพื่อป้องกันเหตุสังหารหมู่ จึงต้องเริ่มจากการวิเคราะห์การฆ่าตัวตาย

“แต่น่าเสียดาย ในประเทศไทยไม่มีใครวิเคราะห์เหตุสังหารหมู่ ไม่มีการเก็บสถิติอะไรเลยด้วยซ้ำ” …

************** 

ฆ่าตัวตาย กำลังเป็น “โรคระบาด” ในสังคมไทย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีความเสี่ยงสูงกว่าอาชีพอื่น

“การระบาดของการฆ่าตัวตายในประเทศไทยเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่กรมสุขภาพจิตก็ไม่กล้าที่จะพูดออกมาดังๆ”

นี่เป็นคำตอบจากคำถามว่า …. ถ้าการสังหารหมู่เกิดจากการฆ่าตัวตาย แล้วทำไมจึงเพิ่งมาเกิดเหตุสังหารหมู่ในประเทศไทย เพียงในช่วงประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา … นายแพทย์เดชาจึงให้คำตอบในภาพกว้างเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของฆ่าตัวตาย กับการสังหารหมู่ พร้อมระบุด้วยว่า ประเทศไทยพบอัตราเร่งของการฆ่าตัวตายมาก่อนหน้านี้ประมาณ 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่กลุ่มจิตแพทย์ที่ทำงานเชื่อมโยงกับเรื่องระบาดวิทยาด้วยจะทราบดี

“ถ้าถามว่าเกิดจากอะไร เราพบว่า ประเทศไทยมีปัจจัยพิเศษ คือเป็นประเทศที่ติดกับดักการพัฒนา เราเป็นประเทศที่มีตัวเลขดัชนีความสิ้นหวังสูงมาก เช่น เรามีระดับการศึกษาของประชากรสูงขึ้นมากจนเทียบเคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว แต่กลับมีระดับความโปร่งใสของระบบราชการพอๆกับประเทศด้อยพัฒนา หรือเรามีประชากรหนุ่มสาวที่มีคุณภาพสูงขึ้นมาก แต่กลับไม่มีงานดีๆ มารองรับเขา มีแต่งานในรูปแบบเดิมๆ ทำให้คนเหลานี้รู้สึกว่าถูกทิ้งขว้าง สถิติที่ชี้ชัดได้เลยคือไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ คนเกิดน้อย เพราะคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก” นายแพทย์เดชา ยกตัวอย่าง

และถ้าเจาะลึกลงไปที่ ‘งาน’ ของ ‘เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง’ นายแพทย์เดชา เห็นว่ามีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับการเกิดเหตุสังหารหมู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรีบนำมาวิเคราะห์อย่างจริงจัง

“ลักษณะงานของเขา วัฒนธรรมองค์กร ตรงข้ามกับหลักจิตวิทยาทุกอย่าง”

นั่นเป็นคำนิยามที่นายแพทย์เดชา พูดถึงลักษณะงานของเจ้าหน้าที่ ตำรวจ และทหาร

“ระบบอำนาจนิยม ต้องทำตามคำสั่งไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ ต้องผ่านหลายชั้นบังคับบัญชา จริงๆ แล้ว มันก็อยู่ในระบบราชการไทยทั้งระบบ แต่ในระบบของตำรวจและทหารถูกระบบอำนาจนิยมกดทับมากกว่าข้าราชการส่วนอื่น มีโครงสร้างองค์กรที่โบราณมาก การจะเติบโตในหน้าที่การงานได้ ต้องมีทั้งเส้นสาย และยังต้องทำงานในอีกรูปแบบคือ เซ่นไหว้ผู้บังคับบัญชา ดังนั้น กลุ่มตำรวจ ทหาร จึงเป็นกลุ่มที่มีความก้าวร้าวเก็บกดมากกว่ากลุ่มอื่น”

“ระบบของมันทำลายมนุษย์ครับ อำนาจนิยมในสายงานของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเป็นเหมือนโรงงาน เป็นเครื่องบดเนื้อหนังออกไป เหมือนเราเอาคนที่มีอุดมการณ์ มีความฝัน มีความหวังใส่ลงไปในเครื่องนี้ แล้วก็ได้หุ่นยนต์ที่พร้อมทำตามคำสั่งทุกอย่างออกมาแทน ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งที่ดีหรือไม่ดี เราจึงพบว่า เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตเยอะมาก ติดเหล้า มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง และดันเป็นกลุ่มที่มีอาวุธติดตัว มีทักษะการใช้อาวุธ ได้รับการฝึกฝนเรื่องยุทธวิธีมาด้วย ก็เลยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่ต้องการฆ่าตัวตาย แล้วจะไปทำร้ายคนอื่นๆ จนมีผลรุนแรง”

“เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีก มันเป็นโรคระบาดที่เรียกว่า Mass Murder Epidemic ในกลุ่มจิตแพทย์ที่ศึกษาเรื่องระบาดวิทยาจะรู้ว่ามันอาจจะกำลังเป็นโรคระบาดทางพฤติกรรม”

นายแพทย์เดชา ปิยะวัฒน์กูล จิตแพทย์และนักวิชาการอิสระ
ที่มาภาพ: Facebook – เดชา ปิยะวัฒน์กูล

นายแพทย์เดชา ยืนยันว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเหตุการณ์สังหารหมู่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสถานศึกษา มีความพยายามทำความเข้าใจเพื่อหาสาเหตุของมันเช่นเดียวกัน และยังมีการแบ่งประเภทของเหตุการณ์ ให้คำจำกัดความที่ชัดเจน เช่น ในหน่วยงาน FBI จะหมายถึงการก่อเหตุฆาตกรรมมากกว่า 4 คน บวกกับเกณฑ์ชี้วัดตัวอื่น แต่ในประเทศไทยยังไม่เคยนำเหตุการณ์หลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์เลย

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจะนำสถิติการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงมาพล็อตจุดเป็นกราฟ และหาความเชื่อมโยงกับการสังหารหมู่ ซึ่งอาจรวมไปถึงเหตุการณ์อื่น เช่น การที่มีตำรวจหรือทหารถือปืนไปยิงเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายในที่ทำงานของตัวเอง นั่นจะทำให้เราพบคำตอบบางอย่างว่า ปัญหาเหล่านี้มีปัจจัยเชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างไร”

“แน่นอนว่า การแก้ไขที่ต้นเหตุคือต้องปฏิรูประบบราชการ เปลี่ยนแปลงระบบอำนาจนิยมในวงราชการ แต่มันก็คงทำได้ยากและคงไม่ยอมรับกันด้วยซ้ำว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ ดังนั้นแม้จะต้องแก้ที่ปลายเหตุก็ต้องแก้กันไปก่อน คือต้องรวบรวมกลุ่มคนที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนี้เข้ามาช่วยกันศึกษา วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ หาแนวโน้ม หาทิศทาง หาสัญญาณที่อาจจะเกิดเหตุขึ้นอีก เพราะมันเป็นรูปแบบของอาชญากรรมที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษเข้ามาถอดรหัส ไขปริศนา เช่นเดียวกับกลุ่มฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่อาชญากรรมที่จะใช้ตำรวจทั่วไปมาทำคดีได้ โดยอย่างน้อยควรมีนักจิตวิทยา นักอาชญาวิทยา นักสังคมศาสตร์ และนักมนุษยศาสตร์เข้ามาร่วมมือกันศึกษา”

“ผมคิดว่า มันเร่งด่วนมากนะ มันจะเกิดขึ้นอีก ควรเริ่มกันเองไปก่อนเลย เนื่องจากเราไม่มีเวลามากพอที่จะรอให้รัฐตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ตามระบบราชการ ซึ่งใช้เวลามากเกินไป”

เมื่อสถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยที่เพิ่มสูงขึ้นไม่เคยถูกนำเปิดเผย จึงไม่เคยถูกนำมาวิเคราะห์ เมื่อโครงสร้างที่กดทับยังไม่เคยถูกมองว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับการเลือกมีชีวิตอยู่หรือไม่ของผู้คน เมื่อเหตุฆาตกรรมหรืออาชญากรรมต่างๆ ยังคงถูกสรุปคดีอย่างรวดเร็วด้วยแพะที่มีชื่อว่า ‘คนบ้า’ และ ‘ยาเสพติด’

หากมองในสายตาของจิตแพทย์ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า นายแพทย์เดชา ปิยะวัฒน์กูล กำลังพยายามขุดเอา ‘ระเบิดเวลา’ ที่ซุกอยู่ใต้พรมในสังคมไทยออกมาวางไว้กลางแจ้งให้ทุกคนได้เห็นความจริงไปด้วยกัน  … อย่างที่เราเห็นกัน เมื่อเหตุสังหารหมู่ที่หนองบัวลำภู เป็นหนึ่งในระเบิดเวลาที่สร้างความเสียหายไปแล้วตั้งแต่ที่มันยังถูกซุกอยู่ใต้พรม

“สุดท้ายรัฐก็จะแก้ไขปัญหาการสังหารหมู่ด้วยการกลับไปเพิ่มโทษการครอบครองยาเสพติด แต่ไม่พูดถึงโครงสร้างของราชการที่เป็นปัญหาเลย ผมไม่แน่ใจว่ารัฐหลงทางจริงๆ หรือจงใจหลงทาง เพราะไม่กล้าไปเดินในทางที่ถูกต้องกันแน่” นายแพทย์เดชา กล่าวทิ้งท้าย 

นายแพทย์เดชา ปิยะวัฒน์กูล จิตแพทย์และนักวิชาการอิสระ
ที่มาภาพ: Facebook – เดชา ปิยะวัฒน์กูล

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save