fbpx

อินเดียสู้ตาย! Chak De! India

ผมเพิ่งสมัครใช้บริการดูหนังใน prime video เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และใช้เวลาช่วง 2-3 วันแรกหมดไปกับการซอกแซกค้นหาว่ามีอะไรน่าดูและน่าสนใจบ้าง

ผลคือเจอะเจอหนังและซีรีส์ที่ ‘อยากดู’ รวมทั้งสิ้น 119 เรื่อง ครึ่งหนึ่งของทั้งหมดนี้เป็นหนังอินเดีย

Chak De! India เป็นหนึ่งในรายการดังกล่าว และเป็นเรื่องแรกๆ ที่ผมตัดสินใจเลือกดู ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือผมได้ยินชื่อเสียงและความนิยมของชาห์ รุคห์ ข่าน พระเอกระดับซูเปอร์สตาร์มานานพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่เคยดูผลงานของเขาเลย จึงอยากพิสูจน์ทราบเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาตนเองให้สิ้นสงสัย 

ถัดมาคือจากข้อมูลคร่าวๆ เบื้องต้น มันเป็นหนังเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬา

เท่าที่ผมเคยดูหนังหมวดหมู่เดียวกันอย่าง Lagaan: Once Upon a Time in India (คริกเก็ต), Sultan (มวยปล้ำ) และ Dangal (มวยปล้ำ) ทำให้ผมเชื่อสนิทใจว่าหนังอินเดียในแนวทางนี้ เวลาทำถึง ทำออกมาดี (เรื่องที่ทำได้แย่ก็มีอยู่เยอะนะครับ) มักจะเข้าขั้นสนุกและดีมากเป็นพิเศษ

Chak De! India เป็นหนังเกี่ยวกับการแข่งขันฮอกกี้ ออกฉายในปี 2007 ประสบความสำเร็จติดอันดับ 3 หนังทำเงินสูงสุดของอินเดียในปีนั้น, หลังจากออกฉายเพียงไม่กี่วัน ยอดจำหน่ายไม้ฮอกกี้พุ่งสูงขึ้นกว่าปกติถึง 30%, เพลงประกอบในเรื่อง (ชื่อเดียวกับหนัง) กลายมาเป็นหนึ่งในเพลงเชียร์ประจำชาติที่ผู้ชมนำมาร้องทุกครั้งที่ทีมชาติอินเดียทุกประเภทกีฬาลงแข่งขัน, ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดของชาห์ รุคห์ ข่าน ซึ่งได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม Film Fare Award (เทียบได้ประมาณรางวัลออสการ์ของวงการหนังอินเดีย) จากบทโค้ชในเรื่องนี้, ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวด้านบวกในแวดวงกีฬาของอินเดียขนานใหญ่, หนังสือ 50 Films That Changed Bollywood, 1995-2015 เขียนโดยสุภรา คุปตะ ได้เลือก Chak De! India เป็นหนึ่งในนั้น

ย่อหน้าข้างต้นเป็นสิ่งที่ผมมาอ่านเจอทีหลังนะครับ ตอนเริ่มดูผมอยู่ในสภาพ ‘หนูไม่รู้’ อะไรทั้งสิ้น เป็นการดูโดยทำใจเผื่อล่วงหน้า (ตามประสาคนมีความอดทนจำกัดและใจเย็น…เป็นไฟ) ว่าถ้าหนังไม่สนุกหรือไม่น่าสนใจก็จะบอกลากันทันที

ถ้าเปรียบเป็นเกมฟุตบอล หนังเรื่อง Chak De! India ก็เข้าข่ายเขี่ยบอลเริ่มเล่นได้ไม่กี่วินาที มีการยิงประตูเกิดขึ้นเรียบร้อย แปลง่ายๆ คือสนุกและชวนติดตามตั้งแต่เปิดเรื่อง และเป็นเช่นนั้นไปตลอดความยาว 2 ชั่วโมง 33 นาทีของหนัง

หนังเปิดฉากด้วยการแข่งขันฮอกกี้ชายนัดชิงชนะเลิศเพื่อเป็นแชมป์โลก ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน เหลือเวลาอีกแค่ 2 นาที ทีมอินเดียเป็นฝ่ายตามอยู่ 0 ประตูต่อ 1 และพยายามบุกหนัก จนกระทั่งเหลือ 15 วินาที ก็ได้จุดโทษ กาบีร์ ข่าน กัปตันทีมรับหน้าที่สังหาร และยิงข้ามคาน

อินเดียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ กาบีร์ ข่านกลายเป็นแพะรับบาป ตกเป็นเป้าให้บรรดากองเชียร์ที่ผิดหวังและโกรธแค้นรุมประณามด่าทออย่างสาดเสียเทเสีย ยิ่งไปกว่านั้น สื่อมวลชนก็พากันจุดไฟซ้ำเติม ด้วยการชูประเด็นว่า กาบีร์ ข่าน ‘สมยอม’ แกล้งยิงจุดโทษพลาด (โดยมีหลักฐานเบาบางมาก คือภาพถ่ายหลังจบเกม ซึ่งกาบีร์ ข่านเป็นผู้เล่นอินเดียคนเดียวในทีมที่จับมือกับฝ่ายตรงข้ามเพื่อแสดงน้ำใจนักกีฬา)

เรื่องราวลุกลามบานปลายถึงขั้น กาบีร์ ข่านโดนรุมประณามว่าเป็นคนทรยศคนขายชาติ จนต้องพามารดาย้ายบ้านหนี และเลิกราจากการเล่นฮอกกี้

7 ปีต่อมา สมาคมฮอกกี้อินเดียประชุมผู้บริหาร เกี่ยวกับการตระเตรียมส่งทีมฮอกกี้หญิงเข้าแข่งรายการชิงแชมป์โลกที่ออสเตรเลีย นายกสมาคมและกรรมการส่วนใหญ่ต่างแสดงทีท่าละเลยไม่ใส่ใจ เห็นว่าทีมหญิงนั้นมีขึ้นพอเป็นพิธี ไม่ต้องเน้นหรือสนับสนุนให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ส่งไปแข่งก็มีแต่จะแพ้ตกรอบ ควรนำทุกสิ่งที่มีไปทุ่มเทให้ทีมชาย ซึ่งมองเห็นโอกาสและความหวังที่จะประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม (ทัศนคติของกลุ่มผู้บริหารสมาคม มองว่าผู้หญิงจะเล่นกีฬาให้วุ่นวายไปทำไม ในเมื่อบทบาทหน้าที่อันเหมาะควรของพวกเธอก็คือการทำอาหารและทำงานบ้าน)

ความเห็นของเหล่าผู้บริหารคือยินยอมส่งทีมฮอกกี้หญิงเข้าร่วมรายการ ด้วยเป้าหมายว่าไปแข่งสัก 2-3 นัด แพ้ ตกรอบ และคิดเสียว่าได้ไปเที่ยวเมืองนอก

ปัญหาคือทัศนคติดังกล่าวไม่ได้มีแค่เฉพาะกลุ่มผู้บริหารสมาคมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงแฟนกีฬา ซึ่งไม่เคยให้ความสนใจกับทีมหญิง สื่อมวลชนมองข้ามและไม่ยอมให้พื้นที่ในการเสนอข่าว รวมถึงบรรดาโค้ชเก่งๆ ไม่อยากเปลืองตัวมาคุมทีมที่ปราศจากอนาคต

ทีมฮอกกี้หญิงอินเดีย ซึ่งกรรมการสมาคมคนหนึ่ง (อดีตเพื่อนร่วมทีมชาติของกาบีร์ ข่าน) สู้อุตส่าห์เดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือกผู้เล่นฝีมือดีมาได้จนครบทีม จึงประสบปัญหาขาดคนที่จะมาเป็นโค้ช

ท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมเช่นนี้ กาบีร์ ข่านกลับมาปรากฏตัวต่อสาธารณชนอีกครั้ง เพื่อสมัครเป็นโค้ชรับงานที่เสมือนดัง ‘เผือกร้อน’ กับภารกิจยากลำบาก แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะประสบความสำเร็จ โดยมีแรงจูงใจสำคัญคือต้องการสะสางคลี่คลายเงื่อนปมในใจให้หลุดพ้นจากความผิดหวังพ่ายแพ้เมื่อ 7 ปีก่อน

เรื่องราวที่เหลือก็เป็นไปตามสูตรสำเร็จของหนังเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาทุกประการ ทีมฮอกกี้ที่มีสภาพเป็น ‘มวยรองบ่อน’ ต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ นานา ทั้งปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างโค้ชกับลูกทีม ซึ่งเริ่มต้นอย่างไม่เป็นมิตร เต็มไปด้วยความขัดแย้งสารพัดสารพัน การฝึกซ้อมอันหนักหน่วง การเตรียมทีมอย่างโดดเดี่ยวโดยขาดแรงสนับสนุนช่วยเหลือจากทุกๆ ฝ่าย การแข่งขันเผชิญหน้ากับทีมชั้นนำระดับโลก ซึ่งเหนือกว่าทุกๆ ด้าน

รวมถึงอุปสรรคและปัญหาอีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นความลับทางภาพยนตร์ที่ไม่พึงเปิดเผย

พูดง่ายๆ เป็นเนื้อเรื่องและเค้าโครงที่สร้างเป็นหนังออกมาเยอะมากจนนับไม่ถ้วน และเป็นเรื่องราวที่ผู้ชมเคยผ่านตากันมานักต่อนัก เป็นหนังในแบบที่พอติดตามไปได้สักพัก ผู้ชมก็คาดเดาเค้าโครงเรื่องคร่าวๆ ทั้งหมดได้ทะลุปรุโปร่ง และไม่มีทางเดาผิด สิ่งที่ต้องลุ้นติดตามจึงเป็นว่า เหตุการณ์คุ้นๆ ประเภท ‘จาก a นำไปสู่ b’ จะเกิดขึ้นเป็นไปตามนั้นด้วยรายละเอียดปลีกย่อยวิธีการใด (ตรงนี้ละครับที่ชี้วัดตัดสินว่าหนังกีฬาเรื่องไหน จะสนุกหรือไม่ จะดีหรือแย่)

ตามความเห็นของผม การคิดและสร้างรายละเอียดในการเล่าเรื่องของ Chak De! India เก่งกาจเอามากๆ ทำให้เรื่องราวแบบรู้ทั้งรู้ ชวนลุ้นใจหายใจคว่ำได้ตลอดเวลา และสนุ้กสนุก ทั้งที่เป็นหนังฮอกกี้ ไม่ใช่สนุกเกอร์

นอกจากจะมีพล็อตและการดำเนินเรื่องเป็นสูตรสำเร็จสุดๆ แล้ว บทหนังของ Chak De! India ยังเต็มไปด้วยองค์ประกอบที่สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นหนังในแบบที่ผู้ชมดูแล้วต้องร้องยี้ เช่น ตัวละครถูกกำหนดบุคลิกให้ดูร้ายอย่างจงใจและตื้นแบนขาดความลึก (กลุ่มผู้บริหารสมาคมกีฬาฮอกกี้และสื่อมวลชนเป็นตัวอย่างที่เด่นชัด) หรือฉากในลักษณะที่เรียกว่า cliché ซึ่งทำกันซ้ำๆ บ่อยๆ จนกระทั่งแลดูเฝือ

ความเก่งกาจของหนังเรื่องนี้คือ การพุ่งชนเล่นกับสิ่งต้องห้ามข้างต้นโดยไม่พยายามหลีกเลี่ยง แต่คุมให้อยู่ในปริมาณพอเหมาะไม่ล้นเกิน และบอกเล่าด้วยจังหวะจะโคนอันแม่นยำ รวมถึงการใส่ลูกเล่นพลิกแพลงเล็กๆ น้อยๆ  ทำให้สิ่งที่คนดูคุ้นเคยและควรจะเชย กลับกลายเป็นความเท่ ชวนให้รู้สึกซาบซึ้งประทับใจได้อย่างน่าทึ่ง

ตามขนบของหนังเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬา มักจะมุ่งเน้นการเร้าอารมณ์นะครับ และเมื่อเป็นการแข่งขันระดับชาติด้วยแล้ว ผลพวงอย่างหนึ่งที่ติดตามมาโดยปริยายก็คือการปลุกเร้าความรู้สึกแบบชาตินิยม

Chak De! India (ลืมบอกไปครับว่าชื่อหนังมีความหมายประมาณ อินเดียสู้ ๆ อินเดียสู้ตาย หรืออินเดียสู้โว้ย) ทำให้ผู้ชมรู้สึกฮึกเหิม ภาคภูมิใจ และเอาใจช่วยเชียร์อินเดียอย่างเต็มเปี่ยม ผมดูแล้วก็พอจะจินตนาการได้ว่าสำหรับผู้ชมชาวอินเดีย อารมณ์และความรู้สึกขณะดูหนังเรื่องนี้คงจะเข้าขั้นสุดเอามากๆ (ตี๋เต็มร้อยอย่างผมยังดูแล้วปีติน้ำตาซึมอยู่หลายฉากเลยครับ)

สิ่งที่น่าสนใจใน Chak De! India คือขณะที่หนังเต็มไปด้วยการเชิดชูสดุดีอินเดีย ปลุกเร้าให้ผู้ชมเกิดอารมณ์รักชาติอย่างได้ผลและทรงพลัง อีกด้านหนึ่ง หนังก็ให้น้ำหนักความสำคัญกับการสะท้อนภาพปัญหาสังคมด้านลบของอินเดียเอาไว้เยอะพอๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างและไม่ลงรอยกันระหว่างตัวละคร (นักกีฬาทีมชาติ) ซึ่งมาจากต่างภูมิภาค พูดกันคนละภาษา มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ และทัศนคติผิดแผกกัน, ความเป็นสังคมที่ยังล้าหลังในหลายแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญของหนังเรื่องนี้คือการสะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ

ในแง่นี้ บทวิจารณ์หลายชิ้นที่ผมอ่านเจอ ยกย่องให้ Chak De! India เป็นหนังเฟมินิสต์ที่โดดเด่นมากๆ อีกเรื่องหนึ่งของวงการหนังอินเดีย

เท่าที่ผมสัมผัสจับต้องได้ หนังพูดถึงปัญหาสิทธิสตรีหลากหลายแง่มุมผ่านตัวละครนักกีฬาทีมชาติฮอกกี้หญิงทั้ง 16 คน  ซึ่งมีบุคลิกนิสัยแตกต่าง พื้นเพความเป็นมาหนหลังไม่เหมือนกัน รวมถึงช่วงวัยอายุขัย ฐานะความเป็นอยู่ แต่รวมความแล้วกล่าวรวบรัดได้ว่า ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ โดยวิธีและรายละเอียดที่แตกต่างกัน

ความฝันที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันฮอกกี้ชิงแชมป์โลกของพวกเธอจึงไม่ใช่แค่มุ่งหมายชัยชนะในเกมกีฬา แต่ลึกไปกว่านั้น ยังเป็นการต่อสู้เพื่อปลดแอกเป็นอิสระ พิสูจน์คุณค่าของตนเอง และเรียกร้องสิทธิต่างๆ อันพึงจะได้รับ ฯลฯ

ความดีงามของเนื้อหาแง่มุมดังกล่าวอยู่ที่การบอกเล่าออกมาอย่างกลมกลืนสอดคล้องกับเนื้อเรื่องหลัก ไม่ได้ชูธงท้ารบอย่างแข็งทื่อ หรือพยายามใส่สาระจนมีลักษณะเหมือนบทความ

ผมมีข้อสังเกตว่า ขณะที่อารมณ์ฮึกเหิมรักชาติ และตัวละครผู้ชายส่วนใหญ่ (ยกเว้นพระเอก) เข้าลักษณะวิธีการแบบเมโลดรามา มีความจงใจและไม่สมจริง เนื้อหาในส่วนของประเด็นความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย รวมถึงตัวละครฝ่ายหญิง แม้จะมีเค้าร่องรอยของความเป็นเรื่องแต่งอยู่บ้าง แต่โดยรวมส่วนใหญ่แล้ว ก็มีน้ำหนักมุ่งไปทางสมจริง

ตามขนบของหนังเกี่ยวกับการแข่งกีฬา (อีกแล้วครับ) ช่วงที่เป็นเสมือนลูกชิ้นหรือไฮไลต์ มักได้แก่ ฉากไคลแมกซ์ว่าด้วยเกมการแข่งขันนัดสำคัญ ซึ่งนำไปสู่จุดสุดยอดในทางอารมณ์ ทั้งตื่นเต้นลุ้นระทึกและความซาบซึ้งประทับใจ

ไคลแมกซ์ของ Chak De! India ก็คงไว้ซึ่งอารมณ์ดังกล่าว (วัดจากความรู้สึกส่วนตัวของผมเอง  เป็นฉากจบที่ทำได้ตามเป้าหมายของหนังทำนองนี้ แต่ผมคิดว่านั่นไม่ใช่ช่วงที่ดีที่สุดของหนัง) ตรงนี้คล้าย ๆ กับเรื่อง Dangal นะครับ ช่วงสนุกและพีคสุดคือฉากแข่งขันตอนจบ แต่ช่วงที่ดีงามน่าประทับใจสุดคือ ช่วงที่เล่าถึงความรัก ความขัดแย้ง และความผูกพันระหว่างพ่อกับลูกสาว

ช่วงที่ผมชอบมากสุดใน Chak De! India คือ เหตุการณ์ตั้งแต่โค้ชเจอกับลูกทีมครั้งแรกแล้วเริ่มซ้อม ไปจนถึงตอนออกเดินทางไปแข่งขัน

จุดเน้นของช่วงดังกล่าว คือโค้ชได้พบว่ามีปัญหาด้านทีมสปิริตและความแตกแยก ผู้เล่นประสบการณ์คร่ำหวอดติดทีมชาติมานานไม่เชื่อฟังคำสั่งโค้ช, บางคนมาจากถิ่นไกลแดนกันดารมีปัญหาเรื่องภาษา ไม่อาจสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม, บางคนมาจากครอบครัวฐานะดี ทำตัวเป็นคุณหนูผู้เอาแต่ใจ, บางคนมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์, บางคนมีปัญหาชีวิตแต่งงาน, บางคนมีปัญหาเรื่องสัยและวุฒิภาวะ ฯลฯ

รวมความแล้ว อาจพูดได้ว่าสมาชิกในทีมทุกคนล้วนมีปัญหากันไปคนละอย่าง จนนำไปสู่ความไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ที่ผมชอบเป็นเบื้องต้นคือในหนังเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬา ทีมหรือผู้เล่นที่คนดูติดตามเอาใจช่วย มักมีลักษณะเป็น underdog เป็นไก่รองบ่อน เป็นมวยรองบ่อน

ความเป็น underdog ของสาวๆ ทั้ง 16 คน (หลังจากหนังออกฉาย พวกเธอก็ได้รับการเรียกขานรวมๆ ด้วยสมญาว่า Chak De Girls) อยู่ที่เกินครึ่งค่อนทีมเป็นนักกีฬาหน้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน ส่วนน้อยที่เป็นตัวเก๋าเกมก็มีประวัติไม่เคยลิ้มรสชัยชนะและไม่เคยประสบความสำเร็จ

สิ่งที่ทำให้เป็น underdog หนักหนาขึ้นคือการเตรียมทีมฝึกซ้อมอย่างโดดเดี่ยวปราศจากแรงสนับสนุน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก และปัญหาส่วนตัวของทุกคน ซึ่งเป็นปัจจัยภายใน

แต่สิ่งที่บรรดา Chak De Girls มีและต่างจากสูตรสำเร็จอยู่บ้างก็คือทุกคนเป็นนักกีฬาที่เก่งและมีความสามารถ เพียงแต่ยังไม่ได้รับการขัดเกลาปลุกปั้นอย่างถูกต้อง และยังมีปัญหาเรื่องอัตตาและทัศนคติในการเล่นกีฬาเป็นทีม

หนังเล่าถึงการหลอมรวมนักกีฬาร้อยพ่อพันแม่ ให้กลายเป็นทีมที่มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้อย่างแนบเนียนค่อยเป็นค่อยไป และเก่งมากในการทำให้ผู้ชมเชื่อถือคล้อยตาม

ที่สำคัญกว่านั้นคือมันมีฉากดรามาดีๆ อยู่เต็มไปหมด

ผมอ่านเจอบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่ง เขียนสรุปถึงหนังเอาไว้ว่า old fashion but still fresh ช่วงสร้างทีมสปิริตนี่แหละครับ คือส่วนจะแจ้งเด่นชัดมากสุดในการทำให้หนังพล็อตเก่าบรมเรื่องนี้เกิดความสดใหม่

จุดเด่นสุดท้ายที่ Chak De! India ได้รับคำชื่นชมมากคือการแสดงที่ดีเป็นหมู่คณะ ครอบคลุมไปถึงชาห์ รุคห์ ข่าน และเหล่า Chak De Girls ทั้ง 16 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่นักแสดงอาชีพ (มีบางคนที่เป็นดาราอยู่ก่อนแล้ว แต่ก็เพิ่งเล่นหนังไม่กี่เรื่อง)

พูดง่ายๆ คือ เป็นการประชันบทบาทระหว่างหนึ่งซูเปอร์สตาร์กับ 16 สาวโนเนม ทั้ง 2 ฝ่ายมีบทบาทและความโดดเด่นพอๆ กันในการดำเนินเรื่อง ที่น่าประทับใจมากคือเป็นเคมีส่วนผสมที่ลงตัว เสริมส่งซึ่งกันและกัน

ดูจบแล้ว ผมก็สิ้นสงสัยว่าเพราะเหตุใด ชาห์ รุคห์ ข่านจึงเป็นพระเอกยอดนิยม คำตอบสั้นๆ คือครบเครื่องทั้งพลังดาราและความสามารถในการแสดง

เป็นนักแสดงหมวดหมู่เผ่าพันธุ์เดียวกับเหลียงเฉาเหว่ยและไรอัน กอสลิงนะครับ เป็นดาราจำพวกที่แค่ปรากฏตัวบนจอ ยืนเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรก็เท่แล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save