fbpx

After Yang วาระสุดท้ายของพี่ชายร่างเทียมหัวใจเปี่ยมไมตรี

ด้วยจริตส่วนใหญ่ของทั้งงานวรรณกรรมและภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ไซ-ไฟ ซึ่งมักจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องราวการต่อสู้ผจญภัยในโลกอนาคตผ่านบทบาทของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ผู้มีพลังพิเศษต่างๆ จนหลายๆ ครั้งงานแนวทางนี้ก็มักจะถูกมองว่าแข็งกระด้างและแก่เทคนิคจนมอบได้เฉพาะความน่าตื่นเต้นชวนระทึกใจ แต่กลับไม่สามารถสร้างความ ‘ประทับใจ’ ในเชิงความรู้สึกได้มากนัก

ที่ผ่านมาจึงมีภาพยนตร์แนวไซ-ไฟสัญชาติอเมริกันเพียงจำนวนนับเรื่องได้ ที่สามารถนำเสนอภาพในโลกจินตนาการหรือโลกอนาคตที่ยังถ่ายทอดผ่านภาวะที่แท้ของการเป็นมนุษย์จนชวนให้เกิดความประทับใจไปพร้อมๆ กับเรื่องราวของโลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงานอย่าง Close Encounters of the Third Kind (1977) กับ E.T. the Extra-Terrestrial (1982) ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) เรื่อง Cocoon (1985) ของ รอน โฮวาร์ด (Ron Howard), เรื่อง Her (2013) ของ สไปค์ โจนซ์ (Spike Jonze) หรือ Arrival (2016) ของ เดอนีส์ วีลล์เนิฟ (Denis Villeneuve)

ท่ามกลางหนังอภิมหาบล็อกบัสเตอร์ตระกูลไซ-ไฟแนวอึกทึกโครมครามที่มีออกมาให้ชมกันอย่างไม่ขาดสาย จึงกลายเป็นความน่ายินดีที่เราจะมีโอกาสได้ชมหนังตระกูลไซ-ไฟที่หันมาเล่าเรื่องละเอียดอ่อนภายในจิตใจของทั้งมนุษย์และหุ่นสมองกล A.I. กันบ้าง อย่างในเรื่อง After Yang ของผู้กำกับ โคโกนาดะ (Kogonada) เรื่องนี้

After Yang ดัดแปลงเค้าโครงมาจากเรื่องสั้นชื่อ ‘Saying Goodbye to Yang’ ในเล่ม Children of the New World (2016) ของ อเล็กซานเดอร์ ไวน์สตีน (Alexander Weinstein) แล้วนำมาขยายเรื่องราวจนได้เป็นผลงานความยาว 96 นาทีกำลังดี ที่ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่-ลูกสาวบุญธรรม และหุ่น A.I. ที่ทำหน้าที่เป็น ‘พี่ชาย’ ให้บุตรสาวของบ้าน ผ่านการตีความที่นำเสนอเนื้อหาในทิศทางที่ออกจะแตกต่างไปจากเรื่องราวในต้นฉบับอยู่บ้างอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนเป็นงานชิ้นใหม่ที่ไม่ได้ถ่ายทอดจินตนาการของผู้แต่งอเล็กซานเดอร์ ไวน์สตีน ซึ่งได้นำเสนอไว้ในเรื่องสั้น ‘Saying Goodbye to Yang’ มาแบบทื่อ ๆ ตรง ๆ

โดยเรื่องราวในเรื่องสั้น ‘Saying Goodbye to Yang’ ของไวน์สตีนนั้นกล่าวถึงครอบครัวอเมริกันที่มีสมาชิกเป็นบิดามารดาผิวขาว ถ่ายทอดผ่านเสียงเล่าของบิดาเป็นบุรุษที่หนึ่ง โดยสามีภรรยาคู่นี้ได้อุปการะเลี้ยงดูบุตรสาวบุญธรรมกำพร้าสัญชาติจีน ชื่อ มิกะ (Mika) และได้หาซื้อหุ่นยนต์ A.I. ผู้ทรงความรู้ด้านอารยธรรมและความเป็นอยู่แบบจีนนาม หยาง (Yang) มาคอยเป็นพี่ชายให้มิกะเพื่อไม่ให้เธอรู้สึกแปลกแยก

แต่เช้าวันหนึ่ง คำสั่งปฏิบัติการของหยางก็เกิดเพี้ยนรวนจนเขาก้มกระแทกหน้าลงบนถ้วยนมธัญพืชเข้าอย่างจัง จากนั้นหยางก็หมดสติไปไม่สามารถฟื้นกลับมาเปิดเครื่องใหม่ได้อีกเลย ฝ่ายบิดาจึงต้องพาร่างของหยางไปรักษา ไม่ว่าจะเป็นช่างซ่อมเครื่องจักรเก่ามือฉมัง บริษัทผู้ผลิต และบริษัทที่รับประกัน แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ นอกเสียจากแกะกล่องเสียงและหน่วยความจำของเขาออกมาติดลำโพงให้ยังได้ยินเสียงพูดของหยางได้ ขณะที่ทุกความคิดและจิตวิญญาณของเขาได้สูญสลายไปนับตั้งแต่ตัวร่างกายเกิดอาการติดขัดลัดวงจร แต่สุดท้ายครอบครัวนี้ก็เลือกที่จะไม่แยกส่วนความทรงจำของหยางเก็บไว้ หากร่วมกันจัดพิธีฝังศพร่างกายที่จะไม่สูญสลายเปื่อยเน่าของหยางด้วยวิถีทางเดียวกันกับการแสดงความอาลัยอาวรณ์ก่อนการกล่าวคำอำลาตลอดกาลต่อ ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง เนื้อหาในเรื่องสั้นจึงเน้นความเรียบซึ้งที่แสดงให้เห็นว่าหยางเป็นหุ่นยนต์ที่มีบทบาทสำคัญทางจิตใจต่อครอบครัวนี้มากเพียงไหน แม้ว่าเขาเองจะมีเพียงสมองหากยังร้างไร้หัวใจในความเป็นมนุษย์ที่แท้ แต่สุดท้ายเขาก็ได้กลายเป็นเหมือนบุตรชายคนโตประจำบ้าน ที่ต้องจัดงานฌาปนกิจให้สมเกียรติในวาระที่เขาจำต้องจากลาไปโดยไม่มีวันหวนย้อนกลับ

ด้วยโครงเรื่องอันเรียบง่ายแต่กินใจนี้ ผู้กำกับโคโกนาดะก็ได้นำมาพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ด้วยตัวเอง โดยได้ปรับรายละเอียดและขยายเรื่องราวส่วนต่าง ๆ ให้มีความร่วมสมัยและได้บรรยากาศเชิงภาพยนตร์ในแบบไซ-ไฟที่แตกต่างไม่เหมือนใครด้วยอีกทางหนึ่ง สิ่งแรกที่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดคือ โคโกนาดะปรับเชื้อชาติของคู่สามีภรรยา เจคและไครา (Jake-Kyra) ซึ่งรับบทโดย โคลิน ฟาร์เรลล์ (Colin Farrell) และ จูดี เทอร์เนอร์-สมิธ (Jodie Turner-Smith) ตามลำดับ ให้เป็นคู่รักต่างผิวสี โดยเจคเป็นคนอเมริกันผิวขาว และไคราเป็นคนอเมริกันผิวดำ ทำให้เมื่อทั้งคู่ได้ร่วมเฟรมเป็นครอบครัวเดียวกันกับบุตรสาวมิกะที่รับบทโดย มาเลอา เอ็มมา จันทราวิดยายา (Malea Emma Tjandrawidjaja) และหุ่นมนุษย์หยางซึ่งแสดงโดย จัสติน เอช มิน (Justin H. Min) ผู้มีลักษณะเป็นคนจีนแบบเอเชีย ครอบครัวนี้จึงมีคุณสมบัติของการเป็นครอบครัวผสมผสาน ที่แต่ละฝ่ายเหมือนจะมีที่มาจากต่างเผ่าพันธุ์ แต่กลับสามารถอยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้อย่างอบอุ่นไม่แพ้ครอบครัวร่วมสายเลือด ภาพของครอบครัว micro family จตุสมาชิกนี้จะถูกเน้นย้ำในฉากเปิดเรื่องของการร่วมสวมชุดคอสตูมแข่งเต้นตามท่าบังคับอย่างเป็นลำดับพร้อมเพรียงของครอบครัวสมัยใหม่จากทั่วโลก ที่จะมีให้เห็นทั้งครอบครัวที่มีสมาชิกหลากเชื้อชาติ หรือกระทั่งครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นหญิงล้วน เข้าร่วมกิจกรรมทำให้เกิดภาพสมัยใหม่ที่แตกต่างไปจากภาพครอบครัวหญิงชายคนเชื้อสายเดียวกันที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ทั้งเจคและไคราก็ไม่ได้โอบรับวัฒนธรรมชาวจีนด้วยการรับอุปถัมภ์มิกะและหาหยางมาดูแลเป็นพี่ชายเท่านั้น  หากพวกเขายังเลือกใช้ชีวิตตามแบบวิถีชาวจีนที่ให้กลิ่นอายในแบบเอเชีย ทั้งการประกอบอาชีพเปิดร้านขายใบชาของเจค เสื้อผ้าเครื่องกายของทั้งคู่ที่แลดูคล้ายเสื้อคลุมชาวจีน ไปจนถึงอาหารการกินที่แต่ละฝ่ายใช้ตะเกียบโซ้ยบะหมี่ราเม็ง (ซึ่งมีต้นกำเนิดจากจีนแต่ไปดังในญี่ปุ่น) กันอย่างแคล่วคล่อง การปรับรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ มีผลดีอย่างยิ่งต่องานออกแบบโปรดักชั่นของหนังในการสร้างบรรยากาศที่ผสมผสานความนุ่มนวลของอารยธรรมโลกตะวันออกให้เข้ากับความล้ำสมัยของโลกตะวันตกได้อย่างอุ่นหูอวลตา ทั้งสามารถประกาศถึงวิถีชีวิตของชีวิตผู้คนร่วมสมัยที่มีอิสระในการเลือกสมาทานตนเองเข้ากับวัฒนธรรมใดๆ ก็ได้ที่พวกเขาพึงใจ ซึ่งล้วนเป็นรายละเอียดที่ไม่ได้มีในเรื่องสั้นต้นฉบับ

ในส่วนของตัวละครสำคัญอย่างหยางเอง ผู้กำกับและมือเขียนบทโคโกนาดะ รวมทั้งนักแสดง จัสติน เอช มิน ก็ได้ช่วยกันออกแบบสร้างขึ้นมาได้อย่างลุ่มลึกมีชีวิตชีวา สามารถผสมผสานความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องในเรื่องปัญญาผ่านอานุภาพแห่งสมองกล A.I. ไม่ว่าจะถามความรู้เรื่องอะไรก็สามารถให้คำตอบได้ แต่เหนืออื่นใดคือน้ำจิตน้ำใจไมตรีของความเป็นมนุษย์ที่เหมือนจะเกิดมาเพื่อเป็นผู้ให้ ที่ถูกตั้งค่ามาให้เอาใจใส่เรียนรู้วิถีความต้องการของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่มีความปรารถนาในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันออกไป เขาจึงสามารถเป็น ‘พี่ชาย’ ที่เข้าอกเข้าใจและดูแลมิกะอย่างดีในทุกๆ มุมด้าน จัดการหาคำอธิบายประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อให้น้องสาวสามารถเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในสังคมที่ยังคงขาดความสมบูรณ์

ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่ตัวละครหุ่นหยางจะเป็นที่รักใคร่ของคนทุกๆ ฝ่าย ทั้งในครอบครัวของเจคเอง เพื่อนบ้านที่รู้จักและได้เห็นพฤติกรรมความมีอัธยาศัยอันดีเลิศ แฟนสาวมนุษย์โคลน (cloning) ที่หยางเก็บงำเป็นความลับไม่ให้ครอบครัวต้องเดือดร้อนห่วงใย ไปจนถึงผู้ชมที่ไม่ว่าใครได้เห็นก็คงอยากจะให้หยางร่วมมาเป็นหนึ่งในสมาชิกภายในบ้าน ซึ่งจะสามารถสร้างวิมานในครัวเรือนแก่ผู้ที่ร่วมอาศัยใกล้ชิดได้อย่างแน่แท้ และเมื่อถึงเวลาที่เขาต้องลาจากไปจริงๆ โดยไม่สามารถกู้คืนได้ ความรู้สึกใจหายเหมือนญาติสนิทมิตรสหายต้องตายลงไปต่อหน้าต่อตาจึงกลายเป็นความน่าเจ็บปวดชวนสะดุ้งสะเทือนใจ เมื่อความผูกพันตลอดช่วงชีวิตที่เขาเคยมอบให้ จักต้องสูญสิ้นมลายสลายไปกลายเป็นเพียงความทรงจำในอดีต

เอาเข้าจริง ๆ จากบทสนทนาที่หยางเคยคุยกับไคราก็แสดงโดยนัยอยู่แล้วว่าหยางรู้ตัวเป็นอย่างดีว่าวันหนึ่งจุดจบของเขาก็คงจะมาถึง และแม้ว่าปลายทางของการมีชีวิตเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ A.I. ของเขาจะกลายเป็นความว่างเปล่าอนัตตาไม่สามารถจะจีรังยั่งยืนใดๆ เขาก็พอใจกับการใช้ชีวิตเท่าที่เคยมีนี้อยู่แล้ว สะท้อนการมองภาพชีวิตตามสัจธรรมของหลักปรัชญาตะวันออกที่หยางเคยเรียนรู้จนเชี่ยวชาญ นอกจากนี้การที่หยางเอ่ยกับไคราว่า เขาสามารถพูดตามความรู้สึกจริงๆ ได้หรือไม่ จนทำให้ไคราทักว่า แล้วเธอเองสามารถพูดอะไรที่ไม่ตรงกับใจจริงได้ด้วยหรือ รวมถึงความรู้สึกรักใคร่แบบหนุ่มสาวที่หยางมีต่อเอดา ก็แสดงให้เห็นได้ชัดเลยว่า ชายหนุ่มมนุษย์ A.I. รายนี้มีอารมณ์ความคิดอ่านที่แทบจะไม่ต่างจากความเป็นมนุษย์จริงๆ ทั้งยังสามารถกลายเป็นมนุษย์ต้นแบบที่สร้างสมดุลระหว่างความฉลาดด้านสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ให้สามารถทำงานร่วมกัน จนการแบ่งหั่นชิ้นส่วนต่างๆ หลังจากที่เขาไม่สามารถดำรงชีวิตได้ต่อไปเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำใจได้ และต้องจัดพิธีไว้อาลัยขุดหลุมฝังร่างของเขาราวเป็นญาติสนิทที่ลาจากไป เพราะเขาก็ขึ้นชื่อว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัวนี้แม้ไม่ได้มีเลือดสักหยดที่สืบทอดร่วมกัน!

ไม่น่าประหลาดใจที่บรรยากาศแบบไซ-ไฟซึ่งปรากฏในหนังเรื่อง After Yang นี้ จะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากหนังไซ-ไฟเน้นเนื้อหาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเรื่องอื่นๆ ที่เราอาจจะเห็นกันมาจนชินตา เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายในบ้าน ผ่านวิธีการตกแต่งที่ดูอบอุ่นมินิมอลและร่วมสมัย ไม่ถึงกับล้ำยุคอะไรมากนัก เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ผู้ชมรู้สึกว่าครอบครัวสมัยใหม่ครอบครัวนี้ก็มีความผูกพันที่มิต่างอะไรกับครอบครัวอเมริกันในยุคปัจจุบัน แม้แต่ฉากโรงซ่อมหุ่นยนต์และเครื่องจักร ก็ยังผสมผสานทั้งความสกปรกรกเรื้อตามประสานายช่างโดยทั่วไป กับอะไหล่อุปกรณ์ร่วมสมัย ที่ดูจะตัดกับฉากการโดยสารยานยนต์ได้คนขับที่แสดงแสงสีของตัวเมืองผ่านรังสีตกกระทบของลำแสงที่แลดูอบอุ่นสบายตาเป็นพิเศษ เป็นภาพโลกอนาคตที่ไม่ถึงชวนให้หดหู่ ดิสโทเปียกันจนเกินเหตุ แต่ก็มีสีสันชีวิตอะไรใหม่ๆ ที่ชวนให้อยากลองใช้เวลาสักช่วงหนึ่งไปสัมผัสด้วยตนเองอยู่เหมือนกัน

และทั้งหมดนี้ก็น่าจะแสดงให้เห็นถึงความพิเศษ ของ After Yang ที่จริงๆ แล้วก็เป็นหนังอิสระฟอร์มเล็ก ไม่ได้ทุ่มทุนสร้างหรืออ้างอิงการใช้สเปเชียล เอฟเฟ็กต์สมากมายแต่อย่างใด  หากเป็นหนังไซ-ไฟร่วมสมัยเพียงไม่กี่เรื่องที่หันมาสนใจเล่าเรื่องราวและมิติความเป็น ‘มนุษย์’ ของตัวละคร กระตุ้นป้อนทั้งแง่มุมความคิดให้ได้ใคร่ครวญด้วยสมองไปพร้อมๆ กับการกอดประคองหัวใจผู้ชมได้อย่างอ่อนโยนด้วยความอบอุ่นและอิ่มเอม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save