fbpx
ธรรมชาติของมนุษย์ แรกอรุณของทุกสิ่ง 'The Dawn of Everything: A New History of Humanity' โดย David Graeber and David Wengrow

ธรรมชาติของมนุษย์ แรกอรุณของทุกสิ่ง ‘The Dawn of Everything: A New History of Humanity’ โดย David Graeber and David Wengrow

ธรรมชาติของมนุษย์โดยเนื้อแท้คืออะไร? สังคมมนุษย์จำเป็นต้องมีสถาบันต่างๆ มาควบคุมความเป็นปัจเจกเสรีที่แตกต่างกันหรือไม่? รัฐควรจะออกนโยบายกำหนดกฎเกณฑ์อะไรบนพื้นฐานของเสรีภาพ หรือมุ่งควบคุมความแตกต่างระหว่างปัจเจก?

นี่เป็นคำถามพื้นฐานที่กำลังถกเถียงกันทั่วโลก และยิ่งมีความแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองทั่วโลกที่นับวันจะปะทุขึ้นทุกวัน ระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา และคำถามที่เป็นใจกลางของข้อถกเถียงคือคำถามแรก – ธรรมชาติของมนุษย์โดยเนื้อแท้คืออะไร? – เพราะมันเป็นข้อตัดสินทาง ‘วิทยาศาสตร์’ ว่าใครถูกและใครผิด ดีหรือไม่ดี และถึงที่สุดแล้วตัวเราเองมีความเป็นมนุษย์หรือเปล่า

หนังสือ The Dawn of Everything ซึ่งเป็นหนังสือเล่มล่าสุด (และสุดท้าย) ของเดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตยผู้ล่วงลับ ที่เขียนร่วมกับเดวิด เวนโกร (David Wengrow) นักโบราณคดีแห่ง University College London พยายามตั้งคำถามถึง ‘ธรรมชาติของมนุษย์’ และเสนอว่า ‘ธรรมชาติของมนุษย์’ แบบที่โลกสมัยใหม่เข้าใจ แท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิด และเป็น ‘วาทกรรม’ ผิดๆ ที่ถูกผลิตซ้ำไปมา

หนังสือชวนถกเถียงประเด็นนี้โดยเริ่มด้วยข้อสมมุติฐานของฌอง ฌาค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ที่ว่า โดยเนื้อแท้นั้นมนุษย์ดี แต่เมื่อสังคมมีการพัฒนาและเติบโต ความเหลื่อมล้ำก็เป็นที่สิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลที่ตามมาคือ มนุษย์ก็เริ่มขัดแย้ง เพราะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะจัดแบ่งสันปันส่วนกันยังไง ที่สุดแล้วระบบรัฐจึงเกิดขึ้นเพื่อการจัดการในสังคมมนุษย์

พูดอีกแบบคือ สำหรับรุสโซ แม้มนุษย์จะดี แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ทำให้มนุษย์หลีกหนีไม่พ้นจากความขัดแย้งและการปกครองโดยรัฐไปได้ ซึ่งในแง่นี้บางคนอาจตีความได้ว่า ปลายทางความคิดของรุสโซนั้นสอดคล้องกับความคิดแบบโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ที่ว่า สังคมมนุษย์นั้นต้องแบ่งเป็นชนชั้นโดยปริยาย

ไม่ใช่แค่นักคิดคลาดสิคอย่างรุสโซเท่านั้น เกรเบอร์และเวนโกรยังชี้ให้เห็นด้วยว่า นักคิดกระแสหลักในปัจจุบันอย่าง ยูวาล ฮารารี่ (Yuval Harari) ผู้เขียนหนังสือ Sapiens อันโด่งดัง และสตีเวน พิงค์เกอร์ (Steven Pinker) นักจิตวิทยาชาวแคนาดาผู้เขียนหนังสือ Enlightenment Now ก็เชื่อมั่นถือมั่นว่า วิวัฒนาการตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์คือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’

อย่างไรก็ตาม เกรเบอร์และเวนโกรกลับเสนอว่า วาทกรรมแบบนี้ไม่ได้อยู่บนฐานวิทยาศาสตร์ และยังถูกผลิตซ้ำอยู่ตลอดเวลาจากเหล่านักคิดที่เชื่อวาทกรรมนี้โดยไม่ได้ตรวจสอบหรือมีหลักฐานสนับสนุนที่ดีพอ และยิ่งถูกผลิตซ้ำมากขึ้นในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรม การกดขี่และวุ่นวายทางการเมือง และความเหลื่อมล้ำ

ในหนังสือ The Dawn of Everything ผู้เขียนทั้งสองคนชวนถกเถียงอย่างจริงจังว่า จริงหรือที่ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเราต้องการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการเติบโต เพราะแท้จริงแล้ว การอ้างอิงแนวคิดในยุครู้แจ้ง (European Enlightenment) ที่ว่ากันว่าผูกขาดโดยคนขาวยุโรปมาเป็นฐานคำตอบให้กับสังคมคือ จุดเริ่มต้นของการสร้างข้อเสนอที่ผิดพลาด

เกรเบอร์กับเวนโกรบอกว่า แนวคิดแบบรู้แจ้งที่ว่า ปัจเจกบุคคลมีอิสระเสรีภาพ สามารถร่วมมือกันได้ โดยที่ไม่ต้องมีใครมาจูงนั้นอยู่ในตัวมนุษย์อยู่แล้วตามธรรมชาติแต่แรก ไม่ได้เพิ่งผุดออกมาในศตวรรษที่ 18 พวกเขาอ้างหลักฐานทางมานุษยวิทยา โบราณคดี และประวัติศาสตร์หลากหลาย เพื่อเป็นหลักฐานว่าแนวคิดแบบรู้แจ้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่ ‘รุ่งอรุณของทุกสิ่ง’ อยู่แล้ว เกิดขึ้นและดับวนไปในประวัติศาสตร์ของมนุษย์มานมนานหมื่นๆ ปี ไม่ได้แยกออกมาโดดๆ และมีวิวัฒนาการผูกขาดโดยคนขาวยุโรปอย่างที่นักคิดในกระแสหลักกล่าวอ้าง (และเข้าใจ)

ทั้งสองคนเสนอว่า อันที่จริงแล้วคนยุโรปต่างหากที่เอาแนวคิดแบบรู้แจ้งมาจากคนเนทีฟอเมริกาเหนือ โดยในศตวรรษที่ 18 ซึ่งคนยุโรปได้อพยพมาที่อเมริกาขยายอาณาเขตไปติดต่อและทะเลาะกับคนพื้นเมือง และเมื่อมีสงครามก็จะมีการพูดคุยทำความเข้าใจ หนังสือเสนอว่า เดิมคนยุโรปเมื่อ 300-400 ปีที่แล้ว ยึดติดกับการครอบงำแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากการปกครองโดยรัฐรวมศูนย์มานาน เมื่อได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็ถึงกับงงกับแนวคิดของคนพื้นเมืองอเมริกาเหนือหลากหลายเผ่า ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพความเป็นมนุษย์ สิทธิสตรี ปฏิเสธอำนาจของเงิน การแบ่งชนชั้น ฯลฯ ที่เป็นแนวคิดแบบรู้แจ้ง ในสังคมพื้นเมืองของชนเผ่า ปัจเจกแต่ละคนมีหน้าที่แตกต่างกันและการแบ่งอำนาจหน้าที่ก็ทำอย่างมีระบบ ปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกระจายอำนาจกันไปอย่างทั่วถึงไม่เกี่ยงเพศ

ประเด็นคือ คนเนทีฟอเมริกาเหนือหลากหลายเผ่าใช้ระบบความคิดแบบรู้แจ้งนี้มานานแล้วในสังคมของเขา และเป็นชาวยุโรปต่างหาก ที่นำเข้าเอาความคิดแบบรู้แจ้งไปเป็นประเด็นในการวิพากษ์สังคมตรงข้ามกับแนวคิดรวมศูนย์แบบยุโรปที่พวกเขามี

ประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องราวนักการเมืองพื้นเมืองอเมริกาเหนือคนสำคัญอย่าง ‘คันดิอะรองค์’ (Kandiaronk) ที่ไปโด่งดังในยุโรปเป็นตัวอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีหลักฐานเป็นหนังสือ เรียงความ บทละครและบัตรสนเท่ห์มากมายที่เกี่ยวกับความคิดของคนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ จนมีคำเรียกพวกเขาว่า Noble Savage หรือ ‘สุภาพชนคนเถื่อน’ ที่มีแนวคิดรู้แจ้งแต่ล้าหลังทางวัตถุ (ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคำเหยียดดูไม่ยุติธรรมนัก)

ในมุมของเกรเบอร์กับเวนโกร กระทั่งรุสโซเอง ก็ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดรู้แจ้งของคนพื้นเมืองอเมริกา โดยสิ่งที่รุสโซเขียนในเรื่องเนื้อแท้ของมนุษย์นั้นก็เป็น เพราะเขาส่งเข้าประกวดเรียงความในหัวข้อ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการวิพากษ์ในสังคมเรื่อง ‘สุภาพชนคนเถื่อน’ นั่นเอง

เกรเบอร์กับเวนโกรต้องการจะยกระดับข้อถกเถียงไปอีกโดยอ้างหลักฐานทางโบราณคดีในเรื่องการวิวัฒนาการตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์ พวกเขาพยายามจะบอกว่า มันไม่จำเป็นด้วยซ้ำที่ความก้าวหน้าทางวัตถุต้องมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำ เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นบ่งบอกไปทั้งสองทิศทาง เมืองและอารยธรรมที่มีความก้าวหน้าทางวัตถุทั้งหลายเป็นได้ทั้งสังคมที่มีความเท่าเทียมและสังคมที่เหลื่อมล้ำแบบชนชั้น หลักฐานในแหล่งอารยธรรมที่เป็นที่รู้จักกันดีต่างๆ มักจะบ่งบอกข้อสันนิษฐานทั้งสองข้อ โดยมนุษย์สามารถเลือกอยู่อย่างคอมมูนใช้เทคโนโลยีการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน และในทางตรงกันข้ามก็อาจจะอยู่ในสังคมแบบชนชั้นที่มีการพัฒนาภายใต้ความรุนแรงวนเป็นวัฏจักร

ดังนั้น เทคโนโลยีทางวัตถุจึงเป็นสิ่งที่สังคมมนุษย์เลือกว่าจะไปทางไหน

หลักฐานโบราณคดีที่เห็นได้ชัดคือการขุดเข้าไปในชั้นดินต่างๆ ของแต่ละแหล่งอารยธรรม เราจะเห็นว่าผังของเมืองในแต่ละชั้นดินนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา ในชั้นดินหนึ่งอาจจะมีผังแบบรวมศูนย์ หรือในอีกช่วงชั้นดินหนึ่งก็มีผังเมืองแบบที่กระจายอย่างเสมอภาค โดยที่แต่ละระบบก็ทำให้สังคมอารยธรรมนั้นๆ อยู่ได้เป็นร้อยเป็นพันปี มีหลักฐานมากมายที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เป็นเส้นตรง แต่เป็นการเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างการรวมศูนย์และการกระจายอำนาจ

ยิ่งไปกว่านั้นลักษณะของอารยธรรมต่างๆ ก็ดูจะเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ มากกว่าวิวัฒนาการทางความคิดแบบเส้นตรง หากมีอารยธรรมหนึ่งที่นิยมอำนาจชนชั้นรวมศูนย์ ก็จะมีอีกอารยธรรมข้างเคียงที่นิยมความเสมอภาคออกมาค้านต่อสู้อยู่เสมอ มนุษย์นั้นย้ายข้างทางอุดมการณ์ได้ตลอดเวลา ไม่ได้มีอุดมการณ์ไหนที่ครองความชอบธรรมวิวัฒนาการมาแบบเส้นตรง

เพราะฉะนั้นมันยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจุดสุดท้ายของมนุษย์นั้นคืออะไร หลายๆ ครั้ง เราก็เห็นอารยธรรมที่สูญสลายหายไปโดยปริยาย แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยหาร่องรอยไม่พบ เมื่อระบบสังคมนั้นคงตัวอยู่ไม่ได้

สำหรับเกรเบอร์กับเวนโกร ความคิดที่มองความเหลื่อมล้ำเป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์ จึงไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และควรต้องมีการทำความเข้าใจใหม่ ไม่ให้เราโดนครอบงำโดยวาทกรรมที่ผิดๆ นี้ ระเบียบวิธีการคิดและตั้งคำถามของเกรเบอร์กับเวนโกรนี้เรียกว่า ‘สัจจะวิพากษ์นิยม’ (Critical Realism) โดยยึดการวิพากษ์เป็นสำคัญถึงความเป็นจริงและสัจจะในสังคมมนุษย์ จะเห็นว่าแตกต่างกับวิธีการคิดที่มองสังคมมนุษย์เป็นวิวัฒนาการแบบเส้นตรง

แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า เกรเบอร์กับเวนโกรนั้นเป็นนักวิชาการฝ่ายซ้ายที่โด่งดังในสหราชอาณาจักร มีอุดมการณ์ที่นิยมเสรีภาพความเป็นมนุษย์ และสนับสนุนอนาธิปไตยซึ่งเป็นระบบสังคมที่ระเบียบไม่ได้ออกมาจากอำนาจรวมศูนย์ พวกเขาเองเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาก็คงต้องการที่จะหักล้างความเชื่อฝั่งขวาในทางการเมือง ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงจุดประสงค์ในเรื่องของอุดมการณ์ด้วย

แต่ทั้งนี้หากเราใช้วิธีตามแนวคิดแบบรู้แจ้งที่อยู่ในมนุษย์มานมนาน เราก็ต้องตัดสินความคิดต่างๆ ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เกรเบอร์กับเวนโกรนั้นมีหลักฐานและสามารถอ้างอิงว่าสิ่งที่พวกเขาเสนอในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องของอุดมการณ์ สรุปได้ความว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาไม่สนับสนุนวาทกรรมที่ว่าความเหลื่อมล้ำเป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์

เป็นที่น่าเสียดายว่าเกรเบอร์กับเวนโกรไม่ได้พูดถึงเรื่องการเติบโตในเชิงเศรษฐศาสตร์ แม้จะเขียนในเรื่องวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์และอารยธรรม แต่ก็ไม่ได้โยงไปกับทฤษฎีการสะสมทุนที่เป็นหลักทางเศรษฐศาสตร์ หรือทฤษฎีความยุติธรรมที่เป็นส่วนหนึ่งในข้อโต้แย้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ หนังสือเล่มนี้ก็เลยไม่ได้มีคำตอบหรือวิธีแก้วิกฤตมาให้ เพียงแต่โต้แย้งทำลายวาทกรรมความเหลื่อมล้ำที่ครอบงำสังคมเราอยู่นั่นเอง


หมายเหตุ: ปรับปรุงจากการเผยแพร่ครั้งแรกในเพจ ‘เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save