fbpx
The King and I(ndonesia): การเสด็จชวาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

The King and I(ndonesia): การเสด็จชวาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สกุลไทยออนไลน์ ภาพประกอบ

ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘อินโดนีเซีย’ เป็นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างดีกับไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เมื่อพูดถึงอินโดนีเซียคนไทยจำนวนไม่น้อยอาจจะนึกถึงวรรณกรรมเรื่อง ‘อิเหนา’ ซึ่งมาจากเรื่อง ‘Panji’  ของชวา จนอิเหนากลายเป็นแสลงเรียกประเทศและชาวอินโดนีเซียในสื่อต่างๆ ของไทย ในกรุงเทพฯ ยังมีชุมชนคนไทยเชื้อสายชวาย่านเขตสาทร และมีมัสยิดยะวา (ชวา) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายชวาที่มาตั้งรกรากในบริเวณดังกล่าวด้วย แม้ว่าในปัจจุบันคนไทยเชื้อสายชวาดังกล่าวจะสามารถพูดภาษาชวาและอินโดนีเซียได้อย่างน้อยนิด แต่ยังคงมีสำนึกถึงรากเหง้าดั้งเดิมของตนเองและมักจะถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษซึ่งมาจากชวาให้กับผู้คนที่แวะเวียนไปเยี่ยมเยือนมัสยิดยะวาฟังเสมอ

ไทยและอินโดนีเซียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2493 ซึ่งเป็นเวลาเพียงสองเดือนเศษหลังจากที่อินโดนีเซียได้รับการรับรองเอกราชอย่างเป็นทางการจากประเทศเนเธอร์แลนด์ผู้เป็นเจ้าอาณานิคม ในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียและไทยดำเนินไปด้วยดีโดยเฉพาะในด้านการค้า อินโดนีเซียเป็นคู่ค้ารายใหญ่เป็นอันดับสามในอาเซียน อินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าเกษตรกรรมจากไทย ในด้านการท่องเที่ยว ก่อนหน้ายุคการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีชาวอินโดนีเซียมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยราว 450,000 คน และมีนักท่องเที่ยวไทยไปเยือนอินโดนีเซียราว 150,000 คนต่อปี

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียสามารถสืบย้อนไปได้ไกลตั้งแต่ยุครัฐโบราณ คือตั้งแต่ยังไม่เกิดประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย ในสมัยอาณาจักรศรีวิจายาหรือศรีวิชัยในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ที่มีหลักฐานแสดงถึงการติดต่อค้าขายระหว่างอาณาจักรศรีวิจายาในเมืองปาเล็มปังกับรัฐต่างๆ ในดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในสมัยอยุธยามีชาวมากัซซาร์ (Makassar) อพยพหนีการปกครองของดัตช์มาอยู่ที่อยุธยา จนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฏมักกะสัน” โดยคำว่ามักกะสันมาจากคำว่า ‘มากัซซาร์’ นั่นเอง

ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสชวาถึง 3 ครั้ง โดยการเสด็จชวาครั้งแรกถือเป็นการเสด็จ ‘ต่างประเทศ’ ครั้งแรกของพระองค์ด้วย และแรงบันดาลใจในการพัฒนาสยามให้ทันสมัยก็เป็นผลมาจากการเสด็จชวา ไม่ใช่ยุโรปดังที่หลายคนเข้าใจกัน หลังการเสด็จชวาของรัชกาลที่ 5 ก็ตามด้วยการเสด็จชวาของเจ้านายองค์อื่นๆ อีกหลายพระองค์ นอกจากการเสด็จของรัชกาลที่ 5 ที่ชาวอินโดนีเซียประทับใจแล้ว การต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่ชาวอินโดนีเซียยังจดจำ และบอกเล่าต่อมารุ่นต่อรุ่น คือการเสด็จเยือนอินโดนีเซียของรัชกาลที่ 9 กับพระราชินีในปี 2503 ซึ่งเป็นยุคของประธานาธิบดีซูการ์โนและอินโดนีเซียเป็นประเทศเอกราชอย่างสมบูรณ์แล้ว คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงเรียกประเทศไทยว่า ‘เมืองไทย’ จวบจบทุกวันนี้       

การเสด็จชวา 3 ครั้งของรัชกาลที่ 5 และการปฏิรูปสยามหลังการเสด็จชวา

รัชกาลที่ 5 เสด็จชวาครั้งแรกระหว่างวันที่ 27 มีนาคม 2413 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2414[1] โดยพระองค์เสด็จเมืองปัตตาเวีย (จาการ์ตาในปัจจุบัน) และชวากลาง

การเสด็จชวาครั้งนั้นของรัชกาลที่ 5 สร้างความประทับใจให้กับชาวพื้นเมืองที่ในขณะนั้นยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของดัตช์ มีผู้ประพันธ์โครงกลอนพูดถึงการเสด็จดังกล่าวชื่อว่า ‘Syair Kadatangan Sri Maharaja Siam di Betawi’ (การมาของศรีมหาราชาสยามที่ปัตตาเวีย) ความยาว 27 หน้า และ ‘Syair Gajah Putih’ (ช้างเผือก) ความยาว 7 หน้า ในโครงกลอนดังกล่าวบันทึกว่ารัชกาลที่ 5 เสด็จทอดพระเนตรคุกและทรงเที่ยวชมรอบๆ เมืองปัตตาเวีย โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล การไปรษณีย์ ศาล และสถานที่สำคัญๆ ทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และศาสนา พระองค์ใช้เวลาในปัตตาเวีย 5 วัน ก่อนจะออกเดินทางโดยเรือพระที่นั่งไปยังเมืองเซอมารัง (Semarang) ชวากลาง[2]

การเสด็จชวาครั้งที่ 2 ของรัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นในปี 2439 ซึ่งในครั้งนั้น พระองค์เสด็จไปพักผ่อนตามคำแนะนำของคณะแพทย์เพื่อฟื้นฟูพระวรกายหลังหายจากอาการประชวร และปี 2444 พระองค์ก็เสด็จชวาอีกเป็นครั้งที่ 3 ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า “เพื่อสำราญพระราชอิริยาบถเหมือนครั้งที่สอง ด้วยเหตุว่าที่ในเกาะชวายังมีของที่น่าดู”[3]

เห็นได้ว่ารัชกาลที่ 5 ทรงโปรดชวามากและมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับชาวดัตช์ผู้ปกครองชวาในขณะนั้น นอกจากนั้นในการเสด็จชวาทั้ง 3 ครั้ง พระองค์ได้ทรงได้พบปะกับบรรรดาสุลต่านชวาด้วยเช่นกัน สำหรับเรื่องเสด็จชวาของรัชกาลที่ 5 นี้ได้มีผู้ที่ทำการศึกษาค้นคว้าไว้อย่างดีแล้วคืองานของคุณอิ่มทิพย์ (ปัตตะโชติ) ซูฮาร์โต เรื่อง ‘ตามรอยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสชวาสามครา’ ตีพิมพ์เมื่อปี 2555 คุณอิ่มทิพย์ผู้ที่ใช้ชีวิตในประเทศอินโดนีเซียมายาวนานได้ทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้มาเป็นเวลานานและเขียนออกมาเป็นภาษาอังกฤษแล้วถึง 2 เล่ม     

หลังจากเสด็จชวามีการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปสยามครั้งใหญ่ เช่นในปี 2415 สองปีหลังจากกลับจากเสด็จชวาครั้งแรก ได้มีการปรับปรุงการทหาร สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษขึ้น และการปฏิรูปการบริหารบ้านเมืองอื่นๆ ในสยามให้ทันสมัย ตลอดจนการก่อสร้างอาคารตึกแถว และถนนหนทางต่างๆ ซึ่งคาดว่ามาจากการที่ทรงได้ไปเห็นการบริหารงานการปกครองที่ฮอลันดาใช้ในปัตตาเวีย

ในการเสด็จประพาสชวาครั้งที่ 2 พระองค์ได้เสด็จเมืองโบกอร์หรือบุยเต็นซอก (Buitenzorg) และชื่นชอบสวนพฤกษชาติที่เมืองนั้นมาก จนถึงขนาดว่า หลังเสด็จกลับจากชวา พระองค์ทรงโปรดให้สร้าง ‘พระราชอุทยานสวนดุสิต’ ตามแบบอย่างสวนที่บุยเต็นซอกในพระราชวังดุสิต โดยคำว่าบุยเต็นซอกนี้เป็นคำที่ให้กำเนิดโดยข้าหลวงใหญ่ชาวดัตช์ ที่ตั้งชื่อคฤหาสน์ของเขาเองว่าบุยเต็นซอก ซึ่งมีความหมายว่า ‘ไร้กังวล’

ของที่ระลึก เครื่องหมายความสัมพันธ์ที่ดีของสยามและชวา (?)

หลังการเสด็จชวาครั้งแรก ด้วยทรงรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับอย่างดีจากรัฐบาลอาณานิคมฮอลันดา รัชกาลที่ 5 จึงทรงส่งรูปปั้นช้างสำริดมอบให้เป็นของขวัญแก่ปัตตาเวีย ในปัจจุบัน รูปปั้นดังกล่าวตั้งอยู่ที่หน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ณ กรุงจาการ์ตา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงมีชื่อเล่นว่า ‘พิพิธภัณฑ์ช้าง’ ในทางกลับกัน รัชกาลที่ 5 ก็ทรงได้รับ ‘ของขวัญ’ จากการเสด็จชวากลับมาสยามเช่นกัน

บทความเรื่อง ‘Harga Mahal di Balik Patung Gajah Museum Nasional’ (ราคาแพงเบื้องหลังรูปปั้นช้างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ)” ได้กล่าวถึงการเสด็จชวาครั้งที่ 2 ในปี 2439 ของรัชกาลที่ 5 ว่าพระองค์ได้ทรงขออนุญาตรัฐบาลอาณานิคมฮอลันดานำรูปปั้นและงานศิลปะชวามาที่สยาม ในบทความกล่าวถึงหนังสือเรื่อง Borobudur: Golden Tales of the Buddhas เขียนโดย John Miksic ว่ารูปปั้นและงานศิลปะที่รัชกาลที่ 5 นำกลับสยามนั้นประกอบไปด้วย ภาพแกะสลัก 30 ชิ้น รูปปั้นพระพุทธรูป 5 องค์ รูปปั้นสิงโต 2 ตัว และเครื่องตกแต่งส่วนประตูทางเข้าจันดี (Candi) รวมถึงรูปปั้นทวารบาล ซึ่งเป็นรูปปั้นและงานศิลปะที่พบที่ Bukit Dagi อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบุโรพุทโธ นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นพระพุทธรูป 5 องค์จากบุโรพุทโธที่ถูกนำมาสยามด้วยเช่นกัน[4]

ในบทความเดียวกันนี้ยังกล่าวถึงงานเขียนของนักโบราณคดีนามว่า Utami Ferdinandus ในงานเขียนเรื่อง ‘Arca-Arca dan Relief pada Masa Hindu-Jawa di Museum Bangkok: Sebuah Dokumentasi Ikonografi’ (รูปปั้นและภาพแกะสลักนูนต่ำยุคฮินดู-ชวาที่พิพิธิภัณฑ์กรุงเทพฯ) ได้แบ่งรูปปั้นที่รัชกาลที่ 5 ทรงนำกลับสยามเป็น 8 กลุ่มได้แก่

กลุ่มที่ 1 คือรูปปั้นพระธยานิพุทธะ 5 องค์จากบุโรพุทโธ ซึ่งก่อนหน้านี้ประดิษฐานที่ผนังด้านตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ และส่วนผนังสูงสุด แต่รูปปั้นองค์หนึ่งเกิดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง ทำให้เหลือแค่ 4 องค์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการประดิษฐานที่วัดพระแก้ว ประเทศไทย

กลุ่มที่ 2 คือรูปปั้นสิงโตจากบุโรพุทโธ ตั้งอยู่ตรงประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ ปัจจุบันถูกนำมาวางที่สวนวัดพระแก้ว

กลุ่มที่ 3 คือรูปปั้นมังกร 2 ตัวจากมุมกำแพงด้านหนึ่งของบุโรพุทโธ

กลุ่มที่ 4 คือรูปปั้นหน้ากาล 2 ตัว สันนิษฐานว่ามาจากบันไดทางเข้าบุโรพุทโธ รูปปั้นหน้ากาลทั้ง 2 ตัวเป็นเครื่องตกแต่งรูปปั้นพระธยานิพุทธะตรงระเบียงชั้นที่ 2 และ 3

กลุ่มที่ 5 คือรูปปั้นสถูป 2 หลังจากใกล้ๆ ประตูทางเข้าชั้นที่ 4

กลุ่มที่ 6 คือภาพแกะสลักนูนต่ำเรื่องราวชาดกจากส่วนบันไดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

กลุ่มที่ 7 คือรูปปั้นทวารบาลจากบุโรพุทโธ

กลุ่มที่ 8 คือภาพแกะสลักนูนต่ำ 5 ชิ้น สันนิษฐานว่ามาจากจันดีปรัมบานัน (Candi Prambanan)

นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นและโบราณวัตถุอื่นๆ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่กรุงเทพฯ เช่น รูปปั้นทุรคา, ธารา และพระพิฆเนศ เป็นต้น ซึ่งไม่ได้มาจากบุโรพุทโธแห่งเดียว

“ราชาจุฬาลงกรณ์นำรูปปั้นและภาพแกะสลักนูนต่ำซึ่งมีราคาอย่างยิ่งทั้งหมดนี้กลับสู่ประเทศพระองค์ ในการแลกเปลี่ยนกลับคืนนั้น พระองค์เพียงแค่มอบรูปปั้นช้างซึ่งตอนนี้ตั้งอยู่ที่หน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่จาการ์ตา อย่างน้อยพิพิธภัณฑ์ในที่สุดก็เป็นที่รู้จักในชื่อพิพิธภัณฑ์ช้าง เป็นการให้ที่กล่าวได้ว่าเราจ่ายแพงเกินไป”[5]

ดูเหมือนว่าเรื่องการแลกเปลี่ยน ‘ของขวัญ’ ระหว่างราชาจากสยามกับเจ้าอาณานิคมฮอลันดาจะเป็นความเจ็บปวดในใจลึกๆ ของชาวอินโดนีเซียที่ความรู้สึกว่าสูญเสียโบราณวัตถุของ ‘ชาติ’ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม อาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่าการแลกเปลี่ยนนั้นถูกกระทำในช่วงเวลาที่ชาวพื้นเมืองอินโดนีเซียถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคมดัตช์ พวกเขาไม่ได้มีสิทธิมีเสียง ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินโดนีเซีย ดังที่กล่าวข้างต้นว่าไทยและอินโดนีเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างดีต่อกัน

รูปปั้นช้างสำริด ‘ของขวัญ’ จากรัชกาลที่ 5 หน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินโดนีเซีย ณ กรุงจาการ์ตา มีตัวอักษรจารึกที่ฐานรูปปั้นสามด้าน ด้านหน้าภาษาดัตช์, ด้านซ้ายของรูปปั้นภาษาอาหรับ และด้านขวาของรูปปั้นเป็นภาษาไทย

[1] รัชกาลที่ 5 ไม่ได้เสด็จชวาข้ามปี แต่เป็นการนับการขึ้นปีใหม่แบบสมัยก่อนที่ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ในเอกสารต่างประเทศจะระบุปีที่พระองค์เสด็จชวาครั้งแรก ค.ศ. 1871 (พ.ศ. 2414)

[2] Iwan Santosa, “Kunjungan Raja Chulalongkorn ke Batavia, Inspirasi Modernisasi Thailand” (การเสด็จมาปัตตาเวียของราชาจุฬาลงกรณ์, แรงบันดาลใจการทำประเทศไทยให้ทันสมัย) kompas, https://www.kompas.id/baca/internasional/2020/09/20/kunjungan-raja-chulalongkorn-ke-batavia-inspirasi-modernisasi-thailand/

[3] เมล็ดข้าว, “บันทึกตามรอยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเกาะชวา 3 ครา,” สกุลไทยออนไลน์, http://sakulthaionline.com/magazine/reader/3663/124

[4] Risa Herdahita Putri, “Harga Mahal di Balik Patung Gajah Museum Nasional” (ราคาแพงเบื้องหลังรูปปั้นช้างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ), Majalah Historia, https://historia.id/kuno/articles/harga-mahal-di-balik-patung-gajah-museum-nasional-vZ59M/page/1

[5] Risa Herdahita Putri, “Harga Mahal di Balik Patung Gajah Museum Nasional”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save