fbpx
สืบ นาคะเสถียร ตัวอย่างข้าราชการผู้ซื่อสัตย์

สืบ นาคะเสถียร ตัวอย่างข้าราชการผู้ซื่อสัตย์

ภาพประกอบ: นิตยสาร ‘สารคดี’ ฉบับที่ 186 เดือนสิงหาคม 2543

22 สิงหาคมที่ผ่านมา ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ‘เปลี่ยนประเทศ รื้อระบบราชการครั้งใหญ่’

ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.1 ระบุว่า หัวหน้าส่วนราชการและผู้นำหน่วยในระบบราชการลอยตัวเหนือปัญหาเดือดร้อนของประชาชน เห็นแก่ตัว แก่งแย่งหวงตำแหน่ง เข้าไม่ถึงประชาชน อยู่บนหอคอยงาช้าง ร้อยละ 96.9 ระบุว่า ระบบราชการมีความอ่อนแอ ล่าช้า ไม่สามารถแก้วิกฤตชาติและของประชาชนได้ทันเวลา ร้อยละ 96.8 ระบุว่า หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 เดือดร้อน เป็นทุกข์ เพราะติดขัดระบบราชการ ระเบียบกฎเกณฑ์ และการทำงานตามเวลาของพวกข้าราชการ และร้อยละ 96.6 ระบุว่า เกิดการทุจริตคอร์รัปชันทั้งจากเงินกู้และเงินช่วยเหลือประชาชน

ภายหลังการทำรัฐประหารในปี 2557 ดูเหมือนภาพลักษณ์ของข้าราชการจะลดต่ำลงเรื่อยๆ จนแทบจะหาแบบอย่างข้าราชการผู้ซื่อสัตย์และทำงานรับใช้ประชาชนจริงๆ

1 กันยายน 2564 เป็นวันครบรอบ 31 ปีการจากไปของคุณสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

สืบได้รับการยกย่องว่า เป็นแบบอย่างของข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และประชาชนอย่างแท้จริง ตัวอย่างเรื่องราวชีวิตบางส่วนของสืบ อาจจะเป็นคำตอบได้

สืบเป็นลูกของนายสลับ นาคะเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีและเป็นเพื่อนสนิทพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่เมื่อเขาต้องเข้าเกณฑ์ทหาร สืบไม่เคยบอกสัสดีว่าเขาเป็นลูกผู้ว่าฯ เพราะไม่ต้องการอภิสิทธิ์ใดๆ แม้กระทั่งการเกณฑ์ทหาร สืบก็ไม่ได้บอกสัสดีจังหวัดว่าเขาเป็นลูกผู้ว่าฯ

สืบเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมกลับไปที่บ้าน ผมไม่เคยขออะไรจากพ่อ ผมไปติดต่อธุระที่อำเภอ ผมไม่เคยบอกเจ้าหน้าที่ว่าผมเป็นลูกใคร ผมไปเกณฑ์ทหารที่ปราจีนฯ ผมก็ไม่ได้บอกพ่อว่า พ่อช่วยหน่อย บังเอิญผมโชคดีจับได้ใบดำ ผมกลับบ้านบอกพ่อ พ่อบอกว่าเอ็งทำไมไม่บอก เพราะว่านายทหารที่อยู่ปราจีนบุรีก็เพื่อนพ่อ เขาสะกิดนิดเดียวชื่อผมก็กระเด็นไปอยู่ข้างนอกทันที…อย่างนี้มันทำกันเยอะในเมืองไทย และผมเห็นใจคนจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสในสังคมแบบนี้ ถูกบีบคั้นถูกเอาเปรียบทุกอย่าง ประเทศไทยจะดีขึ้นถ้าคนที่มีโอกาสยอมสละโอกาสบ้าง”

ภายหลังจบการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบกลับมาศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านวนวัฒน์วิทยา ระหว่างที่เรียน สืบสามารถสอบเข้ากรมป่าไม้ได้เป็นอันดับ 3 ซึ่งในเวลานั้นคนที่สอบได้อันดับ 1-10 มีสิทธิ์เลือกบรรจุกองไหนก็ได้ ซึ่งส่วนมากมักจะเลือกเป็นป่าไม้ เพื่อมีโอกาสจะก้าวไปเป็นป่าไม้จังหวัดหรือป่าไม้เขตในอนาคต แต่สืบกลับเลือกอยู่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรีในปี 2518 โดยให้เหตุผลว่า…

“ผมเลือกที่นี่เพราะเกลียดพวกป่าไม้ แม้มาเรียนป่าไม้ตอนอยู่ในมหาวิทยาลัยก็รู้สึกว่า ไม่ชอบป่าไม้เรื่องที่ว่า ป่าไม้มันโกง พวกป่าไม้มันร่ำรวยมาจากการโกงป่า ผมรู้กำพืดพวกนี้ดี เพราะสมัยนั้นพ่อผมเป็นปลัดจังหวัด ผมไม่อยากไปยุ่ง ไม่อยากไปโกงกับมัน ถ้าผมไม่โกงกับมัน ผมก็อยู่ไม่ได้ ผมเลยเลือกมาอยู่กองนี้”

ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี แดนอิทธิพลอันโด่งดัง สืบเริ่มอาชีพข้าราชการกรมป่าไม้เป็นครั้งแรกอย่างเต็มตัว เขาทุ่มเทให้แก่การทำงานด้านปราบปราม ลุยจับผู้ต้องหาทำลายป่าหรือพรานที่มาส่องสัตว์ล่าสัตว์กลางคืนได้นับร้อยคน “ผมมีหน้าที่ลุยอย่างเดียว จะใหญ่มาแค่ไหนผมจับหมด” แต่ผู้ต้องหาจะไม่เคยได้ยินคำผรุสวาท หรือถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่คนนี้เลย

แต่ภายหลังสืบย้ายมาอยู่งานวิจัยมากกว่าไปทำงานด้านการไล่จับคนทำผิดกฎหมายด้วยเหตุผลว่า “ผมสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะไปวิ่งจับคน เพราะว่าจับได้แค่ตัวเล็ก ๆ ตัวใหญ่ๆ จับไม่ได้ ก็เลยอึดอัดว่า กฎหมายบ้านเมืองนี้มันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรม เรารังแกชาวบ้านในความรู้สึกของเขา เหมือนกับไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่คนในสังคม ในฐานะที่ผมมีหน้าที่ที่ต้องรักษาป่า ผมก็เลยขอไปทำงานทางด้านวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าแทน”

ในปี 2530 ที่จังหวัดกาญจนบุรี มีโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ซึ่งจะทำให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรประมาณ 140,000 ไร่ต้องจมน้ำกลายเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ และกำลังได้รับการคัดค้านจากนักอนุรักษ์ฯ นักวิชาการข้าราชการกรมป่าไม้บางส่วน และชาวเมืองกาญจนบุรี ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลและเสี่ยงต่อโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต 

รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะอนุมัติโครงการขนาดยักษ์แห่งนี้ มีการทำประชาสัมพันธ์ในวงกว้างให้คนทั่วไปได้เห็นถึงประโยชน์จากการสร้างเขื่อนยักษ์ ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนถูกรัฐบาลกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย เป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า ทำแร่เถื่อน มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีการเขียนบทความโจมตีผู้คัดค้านออกทางสื่ออย่างกว้างขวาง และกำลังตกเป็นรองทั้งข้อมูลและการเผยแพร่

สืบ นาคะเสถียร ข้าราชการตัวเล็กๆ ซึ่งเฝ้าติดตามสถานการณ์มาเป็นเวลานาน จึงได้เข้าร่วมการต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนอย่างแข็งขัน โดยใช้บทเรียนจากการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานเป็นกรณีศึกษา

สืบใช้ความเป็นนักวิชาการของเขาอธิบายต่อสาธารณชนให้เห็นว่า เราจะสูญเสียสัตว์ป่ามหาศาลเพียงใดหากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน สืบยืดถือหลักความจริงในทางวิชาการอย่างเคร่งครัด เขาทนไม่ได้ที่จะมีใครพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงทางวิชาการ แม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาของเขาเอง

อธิบดีกรมป่าไม้ในเวลานั้นได้ออกมาพูดสนับสนุนการสร้างเขื่อนในที่ประชุมแห่งหนึ่งว่า ปัญหาด้านสัตว์ป่าไม่น่าเป็นห่วง สามารถแก้ไขได้ โดยยกตัวอย่างเรื่องนกยูงที่ต้องอาศัยหาดทรายดำรงชีพว่า แม้ว่าน้ำจะท่วมหาดทราย แต่เราสามารถสร้างหาดเทียมขึ้นมาทดแทนได้

สืบ ข้าราชการกรมป่าไม้ชั้นผู้น้อย ซึ่งอยู่ที่ประชุมในเวลานั้น ได้กล่าวแย้งอย่างไม่เกรงใจคนระดับอธิบดีว่า “ความคิดนี้เป็นความคิดของคนที่ไม่รู้เรื่องการจัดการด้านสัตว์ป่าเลย”      

สืบได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า “เดี๋ยวนี้เขื่อนเริ่มจะเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์ เพราะว่าป่าข้างนอกหมดแล้ว หากว่าการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ายังทำได้อีกต่อไป ผมคิดว่าป่าอนุรักษ์ในอนาคตคงไม่มีความหมายอะไร เหลือแต่ชื่อเอาไว้ว่าเคยเป็นป่าอนุรักษ์มาก่อน”

ในวันตัดสิน สืบเข้าชี้แจงต่อกรรมการพิจารณาเรื่องเขื่อนน้ำโจนครั้งสุดท้ายด้วยตัวเอง หลังจากประชุมกันหลายชั่วโมง หลายฝ่ายสิ้นความสงสัยว่า สัตว์จำนวนมากต้องล้มตายลงหากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน

ข้าราชการซี 5 คนนี้มีส่วนสำคัญในการคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จนสามารถยับยั้งได้สำเร็จ

ตุลาคม 2531 มีข่าวว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งบางส่วนจะถูกกรมป่าไม้เพิกถอนไปเป็นป่าสัมปทานให้บริษัทไม้อัดไทย ให้มีการตัดไม้ออกมาได้ สืบและเพื่อนนักอนุรักษ์หลายคนได้ร่วมกับคนเมืองอุทัยธานี เร่งจัดนิทรรศการ ประชุม จัดอภิปรายและเดินขบวนรอบเมืองต่อต้านคัดค้านการให้สัมปทาน สืบได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน” จนในที่สุดการต่อสู้ครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เมื่อทางกรมป่าไม้ยอมถอนเรื่องออกไป             

สืบกลายเป็นข้าราชการส่วนน้อย ที่กล้าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือกล้าออกมาพูดในเรื่องที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาล

ปลายปี 2532 ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากพี่สืบให้มาคุยกันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง สืบเล่าให้ผมฟังว่า กำลังตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิต คือพี่สืบได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในขณะเดียวกันทางผู้ใหญ่ก็สั่งให้ไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่หากได้รับโอกาสนี้ก็คงจะเลือกการไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่สำหรับสืบแล้ว ป่าห้วยขาแข้งเป็นป่าสำคัญที่สุดที่ต้องรักษาให้ได้ เขาเคยพูดเสมอว่า หากมีโอกาสไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว เขาขอเลือกสองแห่งคือป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและป่าห้วยขาแข้ง

ต้องเข้าใจว่าป่าห้วยขาแข้งเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ไม่ค่อยมีใครรู้จักและโด่งดังมากเท่าสมัยนี้

ธันวาคม 2532 สืบ นาคะเสถียร เดินทางเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตฯ ด้วยความมุ่งมั่นและใจเต็มร้อยที่จะรักษาผืนป่าที่นี่ให้ดีที่สุด

สืบบอกกับคนรอบข้างว่า “ตอนนี้ผมสามารถให้ทุกสิ่งกับห้วยขาแข้งได้”

ห้วยขาแข้งเป็นป่าที่มีพื้นที่ขนาด 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่เศษ ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครเกือบเท่าครึ่ง อย่าลืมว่าตำแหน่งหัวหน้าเขตฯ ห้วยขาแข้งเหมือนกับตำแหน่งอันโหดที่สุดแล้วสำหรับข้าราชการป่าไม้ เพราะตรงนี้เป็นเขตทำไม้ ทำเหมืองแร่ ล่าสัตว์ ทุกอย่างเกิดขึ้นที่นี่ และกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นทั้งในและนอกเครื่องแบบ สร้างความอึดอัดใจในการปฏิบัติงานของพี่สืบอย่างมาก แกพูดเสมอว่า…

“คนรักษากฎหมาย แต่ทำผิดกฎหมายเสียเองแล้ว บ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร ขณะที่ผู้ใหญ่ไม่ให้ความสำคัญเพียงพอกับการอนุรักษ์ป่า และไม่มีความจริงใจเท่าที่ควร แล้วอนาคตของป่าเมืองไทยจะไปไหวหรือ”

การตัดไม้ทำลายป่ามีรอบป่าห้วยขาแข้ง มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในระดับท้องถิ่นได้เข้ามาสนับสนุนให้มีการกระทำผิด แม้จะถูกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจับได้คาหนังคาเขา แต่ผู้ต้องหาก็ได้รับความช่วยเหลือจากผู้มีอิทธิพลจนคดีหลุดเกือบทุกครั้ง

สืบคงคิดว่า ทางออกสุดท้ายในการรักษาป่าผืนนี้คือทำเอกสารรายงานเพื่อประกาศให้ป่าผืนนี้เป็นมรดกโลก  สืบเชื่อเรื่องของงานวิชาการเพื่อให้สังคมหันมาช่วยเหลือปกป้อง

ทุกเย็นหลังกินอาหารเสร็จ สืบจะเริ่มเขียนรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับคุณค่าความสำคัญของป่าห้วยขาแข้งรวมถึงทุ่งใหญ่นเรศวร พอถึงสี่ทุ่ม ในเขตฯ จะปิดเครื่องปั่นไฟเพื่อประหยัดน้ำมัน หลังจากไฟดับแล้ว บ้านพี่สืบยังมีแสงสว่าง แกจุดเทียนเขียนหนังสือจนดึกดื่นค่อนคืน เป็นจุดเริ่มต้นของการทำรายงานให้เขตป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก

แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่แนวความคิดนี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ทหาร ตำรวจ และข้าราชการท้องถิ่นที่จะมีอำนาจในการจัดการดังกล่าว แต่สืบก็พยายามอย่างหนัก วิ่งหาผู้ใหญ่ วิ่งหาข้าราชการที่เกี่ยวข้องคนนั้นคนนี้ตลอดเวลา ชี้แจงให้ทุกคนเห็นความสำคัญของแนวความคิดนี้เพื่อรักษาป่าที่ดีที่สุดผืนนี้ให้ได้

แต่ดูเหมือนจะมีเพียงความนิ่งเงียบในระบบราชการไทย ทุกครั้งผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้ได้แต่พูดว่า “เอาเลยสืบ คุณทำโครงการมา” แล้วทุกอย่างก็หายเงียบ         

เดือนพฤษภาคม 2533 รัฐมนตรีคนหนึ่งได้ไปตรวจพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และได้รับการบอกเล่าจากบริษัททำไม้ชื่อดังแห่งหนึ่งว่ามีการลักลอบตัดไม้ในห้วยขาแข้ง สืบรู้ดีว่าเป็นการกลั่นแกล้งเขา สืบถูกรัฐมนตรีผู้นั้นเรียกพบที่กรุงเทพฯ เขาเตรียมข้อมูลอย่างดีเพื่อชี้แจงว่าเป็นการทำไม้นอกเขตป่าห้วยขาแข้ง และชาวบ้านแอบไปตัดโดยมีผู้ใหญ่จากอำเภอลานสักหนุนหลัง สืบพยายามที่จะอธิบายถึงปัญหาอันยุ่งยากที่เขาและลูกน้องต้องประสบ แต่เขาไม่มีโอกาสชี้แจง และยังโดนผู้มีอำนาจโยนแฟ้มใส่หน้า พร้อมคำบอกสั้นๆ ว่า “คุณต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมอีก”

สืบโกรธมากและตอบกลับไปว่า “ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว นอกจากว่าท่านจะยืดเวลาหนึ่งวันให้ยาวไปกว่านี้ และผมไม่อาจบอกคนของผมให้ทำงานหนักกว่านี้ได้อีกแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย”

สืบกลับออกมาด้วยความรู้สึกหนักอึ้งและกดดัน เขาบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำให้เขาเชื่อมั่นว่า ความพยายามแทบเป็นแทบตายของเขานั้นไม่ได้รับการตอบสนองจากใครทั้งสิ้น เขารู้สึกสิ้นหวังกับระบบราชการ เขาไม่ได้ภูมิใจกับการเป็นข้าราชการอีกต่อไป เขารู้ว่าเขาไม่อาจจะทำอะไรให้มากกว่านี้แล้ว

เขาบอกคนใกล้ชิดว่า “ทีนี้ผมแน่ใจแล้วว่า ผมกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ผมไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีกต่อไป”

ชัชวาล พิศดำขำ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คนต่อจากสืบ เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ก่อนหน้าคืนที่พี่สืบตาย แกก็ทบทวนเรื่องเอกสารต่างๆ ที่ส่งไป แล้วแกก็ยิงตัวตาย ผมคิดว่าพี่สืบเสี่ยงว่าถ้าตายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คือการเดิมพันชีวิตแกกับการอยู่รอดของป่าห้วยขาแข้ง เพราะหลังจากนั้น ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก รวมถึงเหตุผลต่างๆ และแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ป่าตะวันตก แทบทั้งหมดมาจากกระดาษที่พี่สืบเขียนขึ้นมา เราสัมผัสได้ว่ามันมีค่าจริงๆ

“เวลาผมหมดกำลังใจ คนที่ผมนึกถึงคือพี่สืบ เพราะชีวิตเราก็มีบางช่วงที่เต็มเปี่ยมด้วยพลัง บางช่วงก็เหนื่อยล้าและท้อ ผมไม่ได้นึกถึงพี่สืบแบบพระเอกหรือฮีโร่ในหนัง แต่จะนึกถึงภาพที่แกยืนตากแดดตากฝนที่เขาหินแดง ทั้งโดดเดี่ยว ทั้งเหนื่อยหนัก ทั้งสุ่มเสี่ยง แต่แกยังเป็นตัวตนของแก ยังมีความมุ่งมั่น คนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ชิดสามารถรับรู้ได้ เพราะพี่สืบรักหน่วยงาน รักลูกน้อง  ชีวิตในป่ามันไม่มีทางสบายหรอก บางทีสองทุ่มกว่าก็ต้องดับไฟแล้ว สี่ทุ่มลูกน้องเคาะประตูเรียกเพราะมีเสียงปืนดังขึ้นถี่ พี่สืบจะไปเช่าบ้านอยู่ในเมืองก็ได้ แต่กลับร่วมทุกข์ร่วมสุขกับลูกน้องจนวาระสุดท้าย สิ่งเหล่านี้มันติดตัวผมมาจนถึงทุกวันนี้”

สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งเขาอาจจะถูกยิงตายจากการบงการของผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย

สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งลูกน้องของเขาซึ่งเขาเป็นคนส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ ต้องถูกยิงตายอย่างไร้ค่าเพราะไม่มีใครสนใจ สืบไม่ใช่คนกลัวตาย แต่ทนไม่ได้ที่ลูกน้องเขาต้องตายไปต่อหน้า โดยที่เขาไม่อาจทำอะไรได้

สืบมีความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้สัตว์ป่าและป่าไม้ในป่าห้วยขาแข้งอยู่รอด

เมื่อความมุ่งมั่นของเขาที่มีต่อห้วยขาแข้งถูกทำลายลงอย่างย่อยยับจากระบบราชการ และผู้มีอำนาจในเมืองไทยที่ไม่เคยสนใจปัญหาการทำลายธรรมชาติอย่างจริงจัง

เขาเคยปรึกษาแม่ว่าจะลาออกและไปบวช แต่เขาก็ไม่ลาออก การลาออกเป็นการทรยศต่อตัวเอง ทรยศต่อห้วยขาแข้ง และทรยศต่อลูกทีมของเขา

แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่สามารถทำให้ความมุ่งมั่น ความเชื่อของเขาเป็นจริงได้              

สืบ นาคะเสถียร เป็นคนไม่เคยทรยศต่อหลักการ และความมุ่งมั่นของตัวเอง  

บางทีการตั้งใจฆ่าตัวตายอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้

สืบ นาคะเสถียร คือข้าราชการไทยที่สังคมยกย่องมานาน แต่ปัจจุบัน ข้าราชการแทบจะไม่เคยเดินตามเลย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save