fbpx

Agony Uncle* Hema ลุงเฮม่าตอบปัญหา: ว่าด้วยชุดทีมชาติไทยในพิธีเปิดโอลิมปิกโตเกียว 2020 (ซึ่งจัดปีนี้)

Q: เมื่อคืนก่อนดูพิธีเปิดโอลิมปิกหรือเปล่าลุง สนุก ตื่นเต้นที่ได้เห็นนักกีฬาเป็นร้อยๆ ประเทศ ชุดสวยๆ เท่ๆ ก็มี เฉยๆ ก็มี ลุงคิดไงกับชุดนักกีฬาไทย หนูดูแล้วแปลกๆ แต่บอกไม่ถูกว่าแปลกยังไง – นัท

A: ตอบคุณนัท

ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับเหรียญทองแรกของไทยโดยน้องเทนนิสครับ เป็นข่าวดีที่สุดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเลย

คิดเหมือนกันครับว่าชุดที่ทีมชาติไทยเลือกมาใส่ในพิธีเปิดดูแปลกๆ และนึกไม่ออกว่าทำไม แต่หลังจากดูรูปสักพักจึงได้คำตอบ

ก่อนจะเข้าถึงความแปลกของชุดนักกีฬาไทยในพิธีเปิด เราคงต้องคุยเรื่องนี้กันก่อน เนื่องจากได้ยินคนบ่นมากว่าเสื้อผ้าดูเชย ถึงขนาดเอาไปเปรียบกับเจ้าหน้าที่การปกครองส่วนท้องถิ่นขณะออกไปดูงานต่างประเทศเป็นหมู่คณะ บางคนบอกว่าดูอย่างประเทศโน้นประเทศนี้ที่เขาใช้ดีไซเนอร์ หรือแบรนด์เสื้อผ้าของประเทศเป็นคนรับผิดชอบ ล้วนแต่ดังๆ ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นโปโล ราล์ฟ ลอเรน (สหรัฐอเมริกา), ลากอส (ฝรั่งเศส), อาร์มานี (อิตาลี), เบน เชอร์แมน (อังกฤษ) หรือแบรนด์เสื้อผ้าอาโอกิ (ญี่ปุ่น) เพื่อใช้โอกาสนี้สร้างภาพพจน์และประกาศฝีไม้ลายมือเรื่องเสื้อผ้า หน้าตาของประเทศ รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมด้วย

กล่าวมานั้นคือประเทศที่อยากอวดความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ให้ชาวโลกเห็น (ซึ่งเป็นวิธีการที่ฉลาดมาก เพราะรูปร่างอย่างนักกีฬานั้น ใส่อะไรก็ออกมาดูดีอยู่แล้ว แถมยังได้ช่องทางสื่อสารทั่วโลกฟรีๆ) เราอาจจะแบ่งประเทศต่างๆ ในคืนพิธีเปิดได้เป็นสองค่าย ค่ายแรกตั้งใจเล่นใหญ่ ใส่เสื้อนอกแต่งองค์ทรงเครื่องกันอย่างเป็นทางการ ซึ่งถ้านับเรื่องเสื้อนอกแล้วทีมชาติไทยน่าจะพอจัดอยู่ในค่ายนี้ได้

ส่วนค่ายที่สองนั้น หลายประเทศเลือกที่จะไม่ใช้รูปแบบทางการเพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว พากันทิ้งเสื้อนอกและเครื่องแต่งกายเป็นทางการ เลือกจะแต่งตัวสบายแต่ยังสวยสะดุดตาและยังเน้นอัตลักษณ์ของชาติ (เป็นการแสดงเอกลักษณ์ในระดับพอเหมาะ เพราะนี่คือกีฬาโอลิมปิก ไม่ใช่เวทีประกวดมิสแกรนด์ฯ) เพื่อที่จะบ่งบอกตัวตนของประเทศนั้นๆ อย่างแอฟริกาใต้ใส่ชุดแขนสั้นขาสั้นผ้าพิมพ์ลายกราฟิกที่มีแรงบันดาลใจมาจากม้าลาย สะท้อนนิสัยใจคอและภาพพจน์ของประเทศอย่างชัดเจน, มาเลเซียสวมชุดประจำชาติแหละ แต่เล่นลายผ้าเป็นกราฟิกที่ชายผ้าโสร่งและผ้านุ่ง จากชุดประจำชาติเชยๆ เลยกลายเป็นเท่และสดใส บ่งบอกเรื่องราวของประเทศเล็กๆ ในเอเชียที่ผสมผสานรากเหง้าและความก้าวหน้าได้อย่างลงตัว, ออสเตรเลียใส่ขาสั้นแขนสั้นสีขาวและเขียวอ่อน มาสบายๆ ตามนิสัยของคนชาตินี้, เบนินสวมชุดผ้าพิมพ์ลายแอฟริกันจ๋าสีสดใส ขับสีผิวดำสนิทของนักกีฬาอย่างสวยงาม, เบอร์มิวดาสวมกางเกงขาสั้นทรงเบอร์มิวดาซึ่งยาวถึงเข่า ผู้ชายสวมกางเกงชมพูอ่อน เสื้อนอกสีน้ำเงินเข้ม ผู้หญิงสวมกางเกงหรือกระโปรงดำ เสื้อนอกสีชมพูสดใส อันนี้ลุงขออนุญาตให้คะแนนส่วนตัวว่าชอบที่สุด ดูตั้งใจ แต่ผลลัพธ์ออกมาไม่ได้รู้สึกว่าพยายามเกินไปเหมือนราล์ฟ ลอเรนปีนี้ ซึ่งเกือบจะเป็น United State of Ralph Lauren อยู่รอมร่อ แต่สิ่งหนึ่งที่ทีมอเมริกาไม่พลาดคือ ภาพพจน์ความเป็นอเมริกันในความหมายของโปโล ซึ่งเก่งเรื่องการหยิบเอาแบบแผนการแต่งตัวแบบลำลองของกระฎุมพีฝรั่งในสมัยก่อนสงครามโลก มาตีความใหม่ออกมาเป็นสิ่งที่ทางบ้านโปโลมองว่านี่แหละอเมริกันจ๋า และเน้นการใช้งานกับเทคโนโลยี (เนื้อผ้า RL Cooling System คุยว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการระบายความร้อนจากร่างกาย)

คราวนี้เรามาดูชุดเสื้อนอกสองกระดุมสีเทาอ่อน กางเกงทรงสกินนีสีดำ (หรือน้ำเงินเข้มก็ไม่แน่ใจ) ทั้งชายหญิง เน็กไทลายจืดจางซึ่งมีสีธงไตรรงค์เป็นแรงบันดาลใจ (เขาว่ามางั้น) สำหรับนักกีฬาชาย และฟลอปปีโบว์ลายใกล้เคียงกันสำหรับนักกีฬาหญิง ซึ่งชุดนักกีฬาไทยฯ ในพิธีเปิดโอลิมปิกโตเกียว 2020 นี้มีกระแสแสดงความเห็นตั้งแต่ ‘เอ็นดู’ ไปจนถึง ‘เหมือนโอลิมปิกวิชาการ’ คือเรียบเฉย ไม่แสดงออกถึงเอกลักษณ์อะไรของประเทศไทยเลย

หรือเป็นเพราะว่า เราไม่ได้อยากแสดงเอกลักษณ์อะไรอย่างที่ชาติอื่นเขาทำๆ กัน

หรือเป็นเพราะว่า ใครก็ตามที่รับผิดชอบเรื่องนี้ จะอยากสื่อความเป็นประเทศไทยในยุคนี้ไว้ให้เป็นที่ปรากฏ ตามคำจำกัดความของรัฐไทยในยุคนี้

นั่นคือเราเป็นประเทศไทยซึ่งกำลังเข้มข้นด้วยจิตวิญญาณของรัฐราชการ เป็นพื้นที่ซึ่งอัดแน่นด้วยกฎระเบียบและการทำตามกฎโดยไม่เหลือที่ว่างสำหรับจินตนาการใดๆ เป็นภาวะที่เชื่อว่ากฎชุดเดียวสามารถเอามาใช้งานได้เบ็ดเสร็จทุกเม็ดทุกเรื่อง จะเห็นได้ว่าสำหรับเสื้อผ้านักกีฬาชายและหญิงนั้น ความแตกต่างเดียวคือผู้ชายผูกเน็กไทและผู้หญิงผูกโบว์แบบผู้หญิงซึ่งบางครั้งเราเรียกว่าเน็กโบว์ หรือฟลอปปีโบว์

แต่ไปๆ มาๆ เราก็มาพลาดเรื่องการใช้ accessory

accesory หรือที่แปลกันว่าเครื่องประดับ — ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ — accessory หมายถึงอะไรก็ตามที่เราสวมใส่นอกเหนือจากเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นหมวก กระเป๋า รองเท้า ถุงเท้า เข็มขัด เครื่องประดับ เน็กไทและฟลอปปีโบว์ นี่เป็นตัวอย่างของ accessory

นอกเหนือจากการใช้งานแล้ว accessory ช่วยให้การแต่งกายของเรา ‘จบ’ และออกมาดูดี เช่น เราคาดเข็มขัดเพื่อช่วยให้สวมกางเกงแล้วเข้าที่ ไม่หลวมไม่เลื่อน ขณะเดียวกันถ้าเลือกเข็มขัดสีใกล้เคียงกับรองเท้า ก็จะช่วยให้ชุดของเราออกมาสวย ไม่มีเหตุให้ขัดหูขัดตา

ฟลอปปีโบว์ซึ่งเป็นโบว์ฟุ้งๆ ขยุ้มๆ นั้นเหมาะกับชุดเสื้อนอกซึ่งตัดเป็นทรงผู้หญิง คงเคยเห็นกันนะครับ แบบเอวคอด ชายสั้นนิดนิง แขนเสื้ออาจจะร่นขึ้นมาหน่อย เป็นทรงเสื้อที่เน้นสรีระของผู้หญิง สวมเสื้อนอกทรงนี้แล้ว ผูกฟลอปปีโบว์นี่คือออกมาสวยเลย

แต่พอฟลอปปีโบว์มาอยู่กับเสื้อนอกทรงผู้ชายอย่างของทีมนักกีฬาไทย ดูแล้วมันไม่ใช่เลย

สังเกตทีมประเทศอื่นที่เลือกใส่เสื้อนอกเบลเซอร์ ซึ่งเป็นเครื่องแบบอย่างโบราณแต่ดูไม่ขัดหูขัดตา ก็เพราะบางประเทศ (อย่างเบอร์มิวดา) แยกทรงเสื้อนอกชายหญิงชัดเจน ส่วนบางประเทศที่ใช้ทรงเสื้อนอกชายหญิงใกล้เคียงกัน กลับออกมาสวยเพราะเขาใช้สีเก่ง อย่างกางเกงแดงสดกับเสื้อนอกเบลเซอร์สีขาวชมพูเรื่อของนักกีฬาญี่ปุ่น เสื้อนอกสีชาเขียวชนิดใส่นมหมดขวด คือเขียวอ่อนมาก และกางเกงขาวของนักกีฬาเกาหลี ให้ความรู้สึกสวยสบายน่ามอง แถมนักกีฬาผู้หญิงบางคนก็แอบซนด้วยกางเกงขาสามส่วนบ้าง ขาเจ็ดส่วนดูเป็นผู้หญิงคล่องแคล่วน่ารัก

เข้าใจว่านักกีฬาผู้หญิงญี่ปุ่นได้รับผ้าพันคอไหมมา ใครจะผูกก็ได้ ไม่ผูกหรือเอามาคล้องคอเล่นเฉยๆ ก็ได้ ส่วนเน็กไทของนักกีฬาเกาหลีนั้นเป็นเน็กไทแบบถัก ให้ภาพที่ทะมัดทะแมง ลายเล่นสีธงชาติเกาหลี แต่จังหวะสีหนักแน่นเด็ดขาด เด่นเลยเวลาอยู่บนเสื้อผ้าสีอ่อนแบบนั้น (สีชาเขียวชนิดใส่นมหมดขวด)

มันก็เลยไม่แปลก

ลุงกลุ้มใจกับเน็กไทและฟลอปปีโบว์สีธงชาติจืดจางของทีมชาติไทยมาก เพราะพอสวมใส่แล้วมันเหมือนคนแต่งตัวไม่เป็น ทำให้ท่อนบนกับท่อนล่างแยกออกจากกันโดยที่ accessory เอาไม่อยู่ คนที่ชอบแต่งตัวหน่อยจะรู้ว่าเสื้อนอกเบลเซอร์สีอ่อนๆ เมื่อใส่กับกางเกงสีเข้มขนาดนั้น ถ้าผูกไทสีเข้มรับกับกางเกง รับรองว่าหล่อเลย ไม่ใช่ใช้เน็กไทสีดูเหมือนไม่ตั้งใจแบบนี้

มันก็เลยพลาด

เอ้า พูดไปพูดมาเหมือนคนแก่ขี้บ่น พอดีกว่า

ได้ยินมีคนที่ไม่อยากให้ชาวบ้านมาพูดจา ‘ด้อยค่า’ ชุดนักกีฬาทีมชาติไทย โดยให้เหตุผลว่าเป็นเสื้อสามารถ ลุงก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ เพียงอยากจะบอกว่ามันเป็นเสื้อ (และชุด) ที่ ‘สามารถ’ จะออกมาดีกว่านี้ได้จริงๆ

นักกีฬาของไทยขนาดชุดไม่สวยยังเก่งขนาดนี้ ถ้าชุดออกมาดีงาม จะเก่งครบเครื่องขนาดไหน

 
Agony uncle หมายถึง ชายเจ้าของคอลัมน์ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตทั่วไป ในช่วงแรกๆ ลุงเฮม่าจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์ เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกันได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่หลังจากเขียนคอลัมน์นี้มาได้ปีสองปีก็เริ่มตาสว่าง และที่สำคัญคือ หลังจากโลกรอบตัวมีแต่กฎเกณฑ์และการใช้อำนาจ (ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ออกกฎ) ลุงเลยเปลี่ยนแนวมาเขียนตอบโดยเริ่มที่กฎเกณฑ์ แล้วตามด้วยวิธีหลอกล่อเล่นสนุกกับกฎนั้นๆ แทน      

**ส่งคำถามมาได้ที่ [email protected]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save