fbpx
ประวัติการต่อสู้เพื่อสิทธิการมีที่อยู่อาศัยในสวีเดน

ประวัติการต่อสู้เพื่อสิทธิการมีที่อยู่อาศัยในสวีเดน

การเคลื่อนไหวต่อสู้ของภาคประชาชนในสวีเดนมีความเป็นมายาวนานหลายร้อยปี แต่งานศึกษาที่ว่าด้วยประวัติการต่อสู้เพื่อสิทธิการมีที่อยู่อาศัยนั้นค่อนข้างจะน้อยสักหน่อย

แต่โชคดีที่เร็วๆ นี้เพิ่งจะมีหนังสือที่พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ของ ฮันเนส รอล์ฟ (Hannes Rolf) ชื่อ En Fackförening för Hammen [A Union for the Households] (2020) ตีพิมพ์ออกมา หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหวของกลุ่มสหภาพผู้เช่าในช่วงปี 1875-1942 ที่อยู่อาศัยในสตอกโฮล์มและเยอเตอบอร์ย สองเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะเจาะจงไปที่การต่อสู้ระหว่างผู้ให้เช่า (ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและเคหะ) และผู้เช่าที่รวมตัวกันเป็นสหภาพ


หนังสือของฮันเนส รอล์ฟ ว่าด้วยความเคลื่อนไหวสหภาพผู้เช่าในสวีเดน (ที่มา: https://www.arbetarmakt.com/)


ประวัติของการเคลื่อนไหว

           
ตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ประชากรในเมืองใหญ่ทั่วยุโรปเหนือมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นจากพัฒนาการของทุนนิยมในภูมิภาค สังคมสแกนดิเนเวียทั้งหมดค่อยๆ กลายจากสังคมชาวนาไปสู่ผู้ประกอบการภายใต้ระบบทุนนิยม ครอบครัวไม่ได้เป็นหน่วยการผลิตอย่างที่เคยเป็น เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายของลูกหลานชาวนาเข้าสู่เมือง ไปเป็นแรงงานเพื่อหาเงินประทังชีวิตและเก็บหอมรอมริบสร้างครอบครัว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรวดเร็วเช่นนี้ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ เกิดชุมชนแออัดในเมืองและสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานมีคุณภาพต่ำ

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดพลังสองพลังซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มเจ้าของที่อยู่อาศัยหรือให้เช่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน และอีกฝ่ายหนึ่งคือผู้เช่าที่ถูกกำหนดด้วยข้อแม้และกฎเกณฑ์มากมาย ซึ่งไม่มีอะไรจะใช้ต่อรองได้นอกจากต้องรวมตัวกันและกระทำการต่อสู้ทางการเมือง อันเป็นที่มาของการศึกษานี้ 


การแสดงการต่อสู้

           
รอล์ฟใช้มโนทัศน์ของ ชาร์ลส์ ทิลลี (Charles Tilly) และซิดนีย์ ทาร์โรว์ (Sidney Tarrow) เรื่องการแสดงการต่อสู้ (contentious repertoire) เพื่อศึกษากิจกรรมรวมหมู่และการเคลื่อนไหวของสหภาพผู้เช่า เขายังเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวเช่นนี้เข้ากับการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายในระดับสากลในช่วงเวลาที่ศึกษาด้วย นั่นหมายความว่า การเคลื่อนไหวของสหภาพผู้เช่าในเวลานั้นคือการต่อสู้ทางชนชั้น

เป้าประสงค์ทางยุทธศาสตร์หลักของสหภาพผู้เช่าคือทำให้ผู้เช่าถูกยกเลิกสัญญาเช่าให้ยากที่สุด ยิ่งเจ้าของไล่ผู้เช่าเก่าออกเพื่อหาผู้เช่าใหม่ได้ยากเท่าใด การต่อสู้ยิ่งสำเร็จมากเท่านั้น พวกเขากระทำการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางความคิดในเรื่องสิทธิการมีที่อยู่อาศัยที่ดีของมนุษย์ สนับสนุนการพัฒนาการเคหะแห่งชาติเพื่อรับรองสิทธิ กระทั่งเคลื่อนไหวก่อการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้เงินเป็นเพียงสิ่งกำหนดความเป็นอยู่ของมนุษย์แต่เพียงประการเดียว


เฟอร์นิเจอร์ของผู้เช่าที่ถูกไล่ออก ถูกนำออกมากองข้างนอกท่ามกลางหิมะในสตอคโฮล์มช่วงประมาณ 1900-1920 (เครดิตภาพ Axel Malmström/Stockholmskällan)


ในสตอกโฮล์ม การเคลื่อนไหวเริ่มต้นขึ้นในปี 1917 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้เช่าฉวยโอกาสขึ้นค่าเช่า มัดมือชกให้ผู้เช่าต้องจ่ายเนื่องจากสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในเมืองขาดแคลน จึงเกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้เช่าหลากหลายกลุ่มที่ล้วนแสดงความเป็นปึกแผ่น (solidarity) ต่อกันและกัน สหภาพผู้เช่าเคลื่อนไหวอยู่เนืองๆ จนกระทั่งเมื่อฝั่งเจ้าของที่อยู่อาศัยมีแผนจะขึ้นค่าเช่าถึง 50% ในปี 1920 ทางสหภาพผู้เช่าถึงเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยการปิดถนน

ในเยอเตอบอร์ย เมืองขนาดใหญ่รองมาจากเมืองหลวงของประเทศ การเคลื่อนไหวก็เป็นไปในทิศทางคล้ายกัน การเคลื่อนไหวของสหภาพผู้เช่าเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1920 พวกเขาปิดถนน เดินขบวนประท้วง และทำงานความคิดกันอย่างแข็งขัน และยิ่งจะเข้มข้นรุนแรงยิ่งกว่าทางเมืองหลวงเสียด้วยซ้ำ


การ “ซื้อ” สิทธิการมีที่อยู่อาศัย


ในอีกสามปีถัดมา เกิดสมาคมผู้เช่า HSB (Hyresgästernas sparkasse och byggnadsförening) ซึ่งดำเนินการเป็นสหกรณ์ มุ่งหมายจะเป็นองค์กรที่ช่วยจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้เช่าในระดับชาติ แต่ในงานศึกษาของรอล์ฟ ดูเหมือน HSB จะแก้ปัญหาในการเคลื่อนไหวประกันสิทธิการมีที่อยู่อาศัยในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเริ่มมีการเพิ่มรูปแบบการเป็นเจ้าของเคหะสถานขึ้น คือผู้เช่าสามารถเริ่ม ‘เป็นเจ้าของ’ สิทธินั้นด้วยการใช้เงินซื้อได้

ผู้เช่าสามารถ ‘ซื้อ’ สิทธิในการอยู่อาศัยในเคหะสถานจากเจ้าของที่ดิน คือเป็นเจ้าของสิทธิ ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน เป็นการเปลี่ยน ‘สิทธิ’ ที่คนทุกคนพึงมีในฐานะมนุษย์ให้กลายเป็นสินค้าตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นสินค้าที่คนคนหนึ่งมีได้หากมีเงินถึง ส่วนอีกคนมีไม่ได้เพราะยากจน

เมื่อว่ากันด้วยการใช้เงินซื้อแล้ว นั่นหมายความว่า ก็ขายได้ (และราคาของสิทธินี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาดตามตรรกะของระบบทุนนิยม) การซื้อขายสิทธิของที่อยู่อาศัยจึงส่งผลกระทบต่อสหภาพผู้เช่า เป็นการโจมตีสองทาง

โจมตีในทางแรก คือการใช้ระบบทุนนิยมในการแก้ปัญหาทางสังคม คือผู้เช่าที่มีรายได้สูงกว่าก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารในการซื้อสิทธิที่อยู่อาศัยนี้ได้ ต่างจากผู้เช่าที่มีรายได้ต่ำหรือรายได้ไม่แน่นอนที่ไม่สามารถกู้เงินได้ (หรือไม่อยากจะกู้!) ที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเมืองจึงมีราคาสิทธิที่สูงกว่าที่อยู่อาศัยบริเวณชานเมืองรอบนอก

การโจมตีในทางที่สอง คือพุ่งเป้าไปที่สหภาพการเคลื่อนไหวโดยตรง เพราะเป็นการบ่อนทำลายความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของการเคลื่อนไหวรวมหมู่ แรงงานที่เคยเป็นผู้เช่าจำนวนมากถูกระบบแบบใหม่นี้ชักชวนให้เชื่อว่าตนเองขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวกลายเป็นคนชั้นกลางได้ เพราะตนเองสามารถกู้หนี้ยืมสินจากธนาคารมาซื้อสิทธิในการอยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์กลางเมืองสตอกโฮล์มหรือเยอเตอบอร์ยได้ ในที่สุดสหภาพก็อ่อนแอลงเนื่องจากวิธีการแก้ปัญหาเช่นนี้


คนไร้บ้าน ที่ยังเห็นได้ในสวีเดน (ที่มาภาพ: www.flickr.com)


ยืนหยัดต่อสู้รวมหมู่

           
หนังสือของฮันเนส รอล์ฟเล่าว่า ท่ามกลางแรงโจมตีที่กัดกร่อนความเคลื่อนไหวรวมหมู่ สหภาพผู้เช่าในมหานครทั้งสองแห่งต่างก็ยืดหยัดเคลื่อนไหวทั้งทางการก่อการและทางความคิด ในสตอกโฮล์มนั้นเข้มข้นที่สุดในช่วงปี 1928-1936 ส่วนในเยอเตอบอร์ยคือในช่วงปี 1923-1937

ผลคือการต่อสู้รวมหมู่ (เขาย้ำถึงความรวมหมู่ ไม่ใช่การต่อสู้แบบวีรชนเดี่ยวๆ) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่า หลังจากการประท้วงของสหภาพฯ ผู้ให้เช่าต้องยอมรับข้อเรียกร้อง หรือทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร เช่น ต้องมีตัวแทนของสหภาพผู้เช่าเข้าไปกำหนดการวางแผนการเปลี่ยนแปลงของการเคหะในทุกๆ ช่วง ผลของการเคลื่อนไหวนี้นำมาสู่การออกกฎหมายว่าด้วยการเช่าในปี 1939 เป็นต้น

ดังนั้น ควบคู่กับการเกิดขึ้นของ HSB ความพยายามในการต่อรองกับเจ้าของที่ดินและผู้เช่า เป็นความพยายามที่เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวต่อสู้รวมหมู่นี้นั่นเอง


หลังสงครามและการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์


ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์เรื่องที่อยู่อาศัยในประเทศสวีเดนไปอย่างมาก

ความคิดตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1920 ที่ว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรในรูปแบบสหกรณ์สำรับผู้เช่า รวมไปถึงการรวมตัวกันเป็นสหภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นอ่อนกำลังลง ความคิดเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยจำนวนมากในเขตนอกเมืองหรือเขตปริมณฑลก้าวเข้ามาแทน ในกระบวนการนี้ HSB จะค่อยๆ กลายเป็นองค์กรที่รวมศูนย์ค่อนข้างมาก และถูกลดบทบาทลงไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่หนังสือเล่มนี้ศึกษา หากปราศจากความเคลื่อนไหวรวมหมู่ของสหภาพ อาจไม่เกิดการผลักดันกฎหมาย การผลักดันการสร้างที่อยู่อาศัยค่าเช่าต่ำโดยรัฐ และการกำหนดมาตรฐานที่อยู่อาศัยตามกฎหมาย

การเคลื่อนไหวทั้งหมดต่างเป็นเส้นทางมาสู่การยืนยันถึงสิทธิที่จะมีที่อยู่อาศัยที่สมศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์

ซึ่งได้มาด้วยการต่อสู้

ไม่ได้มาจากความเมตตาของชนชั้นนำแต่อย่างใด


หลังสงคราม มีการสร้างอาคารที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่จำนวนมากบริเวณนอกเมือง ในรูปคือเขตริงคบีนอกสตอคโฮล์ม (ที่มาภาพ: wikimedia.org)


อ้างอิง

– Hannes Rolf, En fackförening för hemmen: Kollektiv mobilisering, hyresgästorganisering och maktkamp på hyresmarknaden i Stockholm och Göteborg 1875-1942 (Ersta Sköndal Bräcke högskola, 2020)

– Göran Salmonsson, “När hyresgästerna tog strid”, Arbetaren 2 (2021), 48-51.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save