fbpx
ตุลาการในรัฐประหาร 2490

ตุลาการในรัฐประหาร 2490

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 45/2496

“ข้อเท็จจริงได้ความว่าใน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไขยกเลิกและออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติ เพื่อบริหารประเทศชาติต่อไป มิฉะนั้นประเทศชาติจะตั้งด้วยความสงบไม่ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์”

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ได้กลายเป็นห้วงเวลาสำคัญที่ได้รับความสนใจจากแวดวงวิชาการเพิ่มมากขึ้นในมากกว่าทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งได้มีงานวิชาการที่ทำให้การมองภาพเห็นรัฐประหารครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก[1]

หากพิจารณาในภาพรวม รัฐประหารในคราวนี้เป็นการมุ่งกำจัดฝ่ายคณะราษฎร (ปีกของปรีดี พนมยงค์) ที่พยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ 2475 และเป็นจุดเริ่มของการครอบงำโดยกลุ่มทหารที่มาพร้อมกับการฟื้นฟูแนวความคิดกษัตริย์นิยมในสังคมไทย[2] สำหรับความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของฝ่ายตุลาการในเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 มักจะจำกัดการพิจารณาไว้แค่เพียงคำพิพากษาที่ให้การยอมรับต่ออำนาจของคณะรัฐประหารในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการให้ ‘เหตุผลทางกฎหมาย’ ว่าเมื่อกลุ่มบุคคลใดสามารถยึดอำนาจได้เป็นผลสำเร็จก็ย่อมจะกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่สามารถใช้อำนาจในบัญญัติหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย รวมถึงการตรารัฐธรรมนูญขึ้นประกาศใช้

การศึกษาเฉพาะแนวทางคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการที่มีต่อการรัฐประหารมักทำให้ผู้ศึกษาให้ความสำคัญว่า แนวความคิดแบบใดที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินไปในทิศทางดังกล่าว แม้การศึกษาในลักษณะเช่นนี้อาจจะช่วยให้พอมองเห็นเหตุผลหรือข้ออ้างของฝ่ายตุลาการได้ชัดเจนมากขึ้น แต่การเพ่งความสนใจที่แนวความคิดเพียงอย่างเดียวของบุคคลหรือองค์กรบางองค์กรก็อาจทำให้ไม่เห็นบทบาทในการต่อสู้ ช่วงชิง รักษาอำนาจและผลประโยชน์ของฝ่ายนั้นๆ

ดังเช่นงานวิทยานิพนธ์ปริญญาของผู้เขียนเรื่อง ปัญหาทางกฎหมายของการปฏิวัติ [3] ที่ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจสถานะทางกฎหมายของการรัฐประหารและคำสั่งอันเกิดจากคณะรัฐประหารผ่านแนวคิดทางด้านนิติปรัชญา แม้การศึกษาในแนวทางดังกล่าวจะพอเป็นประโยชน์อยู่บ้าง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจทำให้มองไม่เห็นบทบาทที่เป็นอยู่จริงในทางการเมืองของฝ่ายตุลาการ หรืออาจทำให้ดูราวกับว่าฝ่ายตุลาการมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในทางการเมืองเลยแม้แต่น้อย ปัญหาของคำวินิจฉัยในการรองรับต่ออำนาจรัฐประหารนั้นอยู่ที่การสมาทานแนวความคิดทางปรัชญากฎหมายที่ผิดพลาดเท่านั้น

แต่หากพิจารณาถึงความเป็นจริงในมิติทางด้านประวัติศาสตร์การเมืองของไทยจะพบว่าความเข้าใจดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดเลย ฝ่ายตุลาการมีบทบาทเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร 2490 อย่างมากและอย่างสำคัญ

 

ตุลาการที่ถูก ‘แทรกแซง’ หลัง 2475

 

แม้ฝ่ายตุลาการอาจไม่ได้แสดงบทบาทออกมาอย่างเด่นชัดเฉกเช่นเดียวกันกับสถาบันการเมืองอื่นแต่ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายตุลาการอยู่ห่างไกลจากการเมือง แล้วดำรงตนอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องในทางการเมือง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ฝ่ายตุลาการซึ่งเคยมีสถานะเป็น ‘ขุนนางกระฎุมพี’ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันหมายถึงการมีสถานะและบทบาทอันเป็น ‘พิเศษ’ ก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองด้วยเช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบอบการเมืองที่เปลี่ยนไปทำให้สถานะของฝ่ายตุลาการต้องเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจสูงสุดของระบอบการเมืองใหม่ จากเดิมที่เคยดำรงอยู่อย่างค่อนข้างมั่นคงภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มามากกว่าศตวรรษ ฝ่ายตุลาการจึงต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นเดียวกัน ความพยายามของคณะราษฎรในการเข้ากำกับอำนาจตุลาการผ่านโครงสร้างการบริหารงานของศาลยุติธรรม ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีหน่วยงานราชการใดจะเป็นอิสระโดยปราศจากการตรวจสอบหรือยึดโยงกับประชาชน แต่ความพยายามดังกล่าวดูจะไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าใด ฝ่ายตุลาการจึงยังสามารถดำรงความเป็นเอกเทศไว้ได้ค่อนข้างมาก

ในท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายนิยมเจ้าในห้วงเวลาภายหลัง 2475 ก็ได้มีปฏิบัติการในหลากหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อสถานะและความมั่นคงของฝ่ายตุลาการอยู่ไม่น้อย รวมทั้งได้กลายมาเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลอย่างมากต่อการกำหนดท่าที จุดยืน และปฏิบัติการทางการเมืองของฝ่ายตุลาการ

เหตุการณ์หนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลที่นำโดยคณะราษฎรและรัชกาลที่ 7 ซึ่งนำไปสู่การสละราชสมบัติในท้ายที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์นี้ได้เกิดการสั่งโยกย้ายผู้พิพากษาใน ‘คดียึดทรัพย์พระปกเกล้าฯ’ อันเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของฝ่ายตุลาการอย่างมาก คดีนี้เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่นำโดยจอม ป. พิบูลสงคราม ทางกระทรวงการคลังได้ยื่นฟ้องรัชกาลที่ 7 เมื่อเดือนมิถุนายน 2481 เพื่อให้ส่งมอบพระราชทรัพย์แก่รัฐบาลภายหลังการสละราชสมบัติ พร้อมยื่นคำร้องต่อศาลให้ยึดทรัพย์ไว้ก่อน แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง มีความเห็นว่าทางรัฐบาลไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยึดทรัพย์จึงได้ยกคำร้องของกระทรวงการคลัง ต่อมาหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีคำสั่งย้ายผู้พิพากษาคนดังกล่าวและมีคำสั่งให้ออกจากราชการในภายหลัง[4]

สำหรับในแวดวงตุลาการแล้วคำสั่งให้ออกจากราชการในกรณีนี้ถือเป็น ‘เหตุผลทางการเมือง’ รวมทั้งถูกพิจารณาว่าเป็นการกระทำที่มีความรุนแรงอย่างมาก เพราะในมุมมองของฝ่ายตุลาการถือว่า “เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ศาลไทยสมัยใหม่นับแต่ปฏิรูประบบศาลและการยุติธรรมเป็นต้นมา จึงส่งผลกระทบกระเทือนในวงการตุลาการอย่างฟ้าผ่า ทำให้เป็นที่ตระหนักว่าแต่นี้ต่อไปผู้พิพากษาไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว”[5]

นอกจากการสั่งปลดผู้พิพากษาในคดียึดทรัพย์รัชกาลที่ 7 แล้ว ยังมีการปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการ ด้วยการกำหนดให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการ “ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายที่รัฐบาลแถลง” ซึ่งได้ถูกมองจากฝ่ายตุลาการว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นการเปิดทาง “ให้ฝ่ายบริหารเข้ามาควบคุมฝ่ายตุลาการอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นซึ่งเลียนแบบแนวคิดเผด็จการของฮิตเลอร์ที่ปฏิเสธหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาโดยสิ้นเชิง”[6]

เหตุการณ์ที่กล่าวมาเป็นเพียงบางตัวอย่างที่มีผลต่อการสร้างความรู้สึกร่วมของเหล่าผู้พิพากษาว่าอำนาจตุลาการได้ถูกแทรกแซงต่อความเป็นอิสระในการตัดสินคดีจากผู้มีอำนาจนำทางการเมืองอย่างรุนแรง และนับเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อทรรศนะและจุดยืนทางการเมืองของฝ่ายตุลาการซึ่งดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้ามกับคณะราษฎร

 

ร่วมตระเตรียมร่างรัฐธรรมนูญก่อนรัฐประหาร

 

บทบาททางการเมืองที่สำคัญของฝ่ายตุลาการในรัฐประหาร 2490 ก็คือ การมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับใต้ตุ่ม’ ก่อนการรัฐประหารจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เอกสารหลายชิ้นได้ระบุว่านาวาอากาศเอกกาจ กาจสงคราม หนึ่งในคณะรัฐประหารเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทูตสหรัฐฯ ได้รับการบอกเล่าจากแกนนำรัฐประหารถึงรายชื่อของบุคคลที่เข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญ อันประกอบด้วยฝ่ายรอยัลลิสต์หลายคน เช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์, พระยาอรรถการีนิพนธ์ เป็นต้น แต่ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ ได้ปรากฏรายชื่อของพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกาในขณะนั้น (ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2484) และพระยารักตประจิตธรรมจำรัส ผู้เคยเป็นกรรมการศาลฎีกา[7] ร่วมอยู่ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับการรัฐประหารโดยปราศจากอำนาจใดรองรับย่อมเป็นการกระทำที่เป็นความผิดทั้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา โดยเฉพาะความผิดตามกฎหมายอาญากรณีนี้ถือได้ว่าเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรซึ่งมีโทษหนัก[8] ดังนั้น การเข้าร่วมของผู้พิพากษาระดับสูงระดับอธิบดีศาลฎีกา (ปัจจุบันคือ ตำแหน่งประธานศาลฎีกา) ในการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะบังคับใช้ภายหลังการรัฐประหารย่อมสะท้อนถึงความคับข้องใจ และยังเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองของฝ่ายตุลาการในห้วงเวลาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ถือเป็นหัวหน้าสูงสุดในฝ่ายตุลาการ

ทั้งนี้ ภายหลังการรัฐประหารสำเร็จก็ได้มีการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แทนรัฐธรรมนูญ 2489 และถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ถือกำเนิดขึ้นจากการรัฐประหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา

สำหรับ พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ไม่ใช่เพียงดำรงตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกาเพียงอย่างเดียว หากยังเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนี้อย่างยาวนานมากกว่า 10 ปี (ตั้งแต่ 17 มกราคม 2484 ถึง 2495) ต่อจากนั้นก็ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรมต่ออีกเกือบ 4 ปี (31 กรกฎาคม 2496 ถึง 21 มีนาคม 2500) การดำรงตำแหน่งต่อเนื่องทั้งในฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหารในกระทรวงยุติธรรม แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ย่อมมิใช่เป็นเพียงผู้พิพากษา ‘ธรรมดา ๆ’ ในแวดวงตุลาการอย่างแน่นอน และยังเป็นผู้มีบทบาทนำจากฝ่ายตุลาการที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีอำนาจทางการเมืองในห้วงเวลานั้นมาอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากคณะราษฎรหมดอิทธิพลในทางการเมือง

การพิจารณาถึงบทบาทและความเกี่ยวข้องของผู้พิพากษากับการรัฐประหาร 2490 ในด้านหนึ่ง ก็สามารถทำให้เข้าใจได้ถึงแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาซึ่งบุคคลสำคัญขององค์กรได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น คำพิพากษาที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 2490 ที่ได้กลายเป็นบรรทัดฐานหลักในการตัดสินของศาลฎีกาสืบเนื่องต่อมากระทั่งปัจจุบัน จึงอาจไม่ใช่เป็นเพียงแค่การมีจุดยืนทางด้านแนวคิดหรืออุดมการณ์ของผู้ตัดสินแต่เพียงอย่างเดียว หากเกี่ยวพันไปถึงสถานะ จุดยืน และผลประโยชน์ในทางการเมืองของฝ่ายตุลาการอีกด้วย

 

ตุลาการเล่นการเมือง

 

แม้ว่าในทางอุดมคติแล้ว ฝ่ายตุลาการถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทในประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างเป็นกลางและเป็นอิสระ (แน่นอนว่าคงมิใช่ความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระแบบสัมบูรณ์ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นกับผู้คนธรรมดาๆ หรือสถาบันทางการเมืองได้) ความเข้าใจในลักษณะดังกล่าวอาจจะพอเป็นไปได้ในสังคมที่ได้มีการต่อสู้และมีการวางรากฐานให้เกิดขึ้นกับฝ่ายตุลาการมาอย่างมั่นคงพอสมควร

แต่สำหรับสังคมการเมืองไทย ภายหลังจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายตุลาการดำรงอยู่ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงและมีผลกระทบต่อตนเองด้วยเช่นกัน โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนให้โครงสร้าง อุดมการณ์และวัฒนธรรม ของฝ่ายตุลาการสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยมากนัก

ฝ่ายตุลาการจึงไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นกลางและเป็นอิสระดังที่มักจะเข้าใจกัน ฝ่ายตุลาการมีจุดยืน รสนิยมทางการเมือง ความเห็นและความเชื่อในประเด็นปัญหาต่างๆ เฉกเช่นสามัญชนคนอื่น และบ่อยครั้งที่ฝ่ายตุลาการก็ ‘เล่นการเมือง’ เพื่อปกป้องแนวความคิดและผลประโยชน์ของฝ่ายตนในรูปแบบอันหลากหลาย เพียงแต่ว่าบทบาทดังกล่าวของฝ่ายตุลาการมีความแตกต่างไปจากสถาบันและองค์กรอื่นเป็นอย่างมาก รูปธรรมอันหนึ่งอาจปรากฏอยู่ในคำพิพากษาที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน

ในความเห็นของผู้เขียน การเล่นการเมืองของฝ่ายตุลาการไม่ได้มีแค่เพียงในเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 และจบลงไป ฝ่ายตุลาการยังคงมีส่วนสัมพันธ์กับการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนใน พ.ศ. 2549 และก็ยังสืบเนื่องต่อมากระทั่งในปัจจุบัน ฝ่ายตุลาการอยู่ในท่ามกลางปัญหาและความยุ่งยากในสังคมการเมืองไทย โดยมิใช่สถาบันที่ลอยพ้นไปจากความขัดแย้งแต่อย่างใด

 

 


[1] ธงชัย วินิจจะกูล “คำนำเสนอ หนังสือดี ประวัติศาสตร์ใหม่ และการเซนเซอร์” ใน ณัฐพล ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491 – 2500 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2563)

[2] สำหรับบทบาทของแต่ละฝ่ายในการมีส่วนร่วมต่อความเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ งานของ ณัฐพล ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีฯ ได้อภิปรายไว้เป็นอย่างดีแล้ว ผู้เขียนจึงจะไม่นำมากล่าวซ้ำอีกแต่อย่างใด

[3] สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “ปัญหาทางกฎหมายบางประการของการปฏิวัติ” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539

[4] ตราชูหญิง, “บรรพตุลาการตัวอย่าง: ความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ”, ดุลพาห ปีที่ 42 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2538) : 160 – 182

[5] ปรีดี เกษมทรัพย์, “ระบบ ก.ต. และความเป็นอิสระของตุลาการ”, นิติศาสตร์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2535) หน้า 338 – 339

[6] ดุษฎี ห์ลีละเมียร, ประวัติความเป็นมาของความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และวิวัฒนการของการพัฒนาระบบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในประเทศไทย, เอกสารวิชาการส่วนบุคคล หลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 1 ปี 2556 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, หน้า 54

[7] ณัฐพล ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ฯ, เชิงอรรถที่ 2 หน้า 60 – 61 รายชื่อดังกล่าวณัฐพล ได้อ้างอิงจากเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ และ สยามนิกร, 11 พฤศจิกายน 2490 ซึ่ง สุชิน ตันติกุล, รัฐประหาร พ.ศ. 2490 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2557) หน้า 112 ก็ได้ใช้เอกสารอ้างอิงจากสยามนิกรเช่นกัน

[8] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 114 “ผู้ใดสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อเป็นกบฏ หรือยุยงราษฎรให้เป็นกบฏ หรือรู้ว่ามีผู้จะเป็นกบฏ แล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save