fbpx
TikTok (น่า) จะเป็นยังไง ถ้าไมโครซอฟต์ได้ไปครอบครอง

TikTok (น่า) จะเป็นยังไง ถ้าไมโครซอฟต์ได้ไปครอบครอง

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เหมือนจะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปที่เราจะได้เห็นข่าวของ โดนัล ทรัมป์ ออกมาทำแสดงความคิดเห็นหรือตัดสินใจอะไรบางอย่างที่ทำให้ผู้ฟังมีเครื่องหมาย ‘?’ เกิดขึ้นในสมอง ล่าสุดทรัมป์ออกมาประกาศว่าจะตัดสินใจแบนแอปพลิเคชัน TikTok ในอเมริกาภายใน 45 วันถ้าทางไมโครซอฟต์ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการซื้อขายบริษัท TikTok จาก ByteDance ได้สำเร็จ (ไม่ว่าจะแค่บางส่วนหรือทั้งหมดก็ตาม) จากรายงานของ New York Times บอกว่าผู้ใช้งานทั้งหลายทั้งผู้สร้างคอนเทนต์อย่างอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ใช้งานทั่วไปต่างรู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจฉับพลันเกินไปและควรมีทางออกที่ดีกว่านี้ มีการโพสต์อำลา บ่นด่ามากมายบนทวิตเตอร์

หลายคนอาจจะรู้จัก TikTok ว่าเป็นเพียงแอปพลิเคชันตลกๆ มีการออกมาเต้น มุกตลกโปกฮา หรือเป็นพวกข้อมูลขนาดสั้น ข่าวสั้นๆ ฯลฯ แต่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงภาพด้านหน้าของ TikTok เท่านั้น เพราะที่จริงแล้ว TikTok เป็นแอปพลิเคชันขนาดยักษ์ มีผู้ใช้งานกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก (ภายในเวลา 4 ปี) และถูกใช้ในกว่า 154 ประเทศทั่วโลก กลายเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดระหว่างปี 2018-2019 กลายเป็นแหล่งของคอนเทนต์เพื่อความสนุก ฆ่าเวลาและเป็นพื้นที่ทองคำแห่งใหม่ในการสร้างตัวตนของเหล่าเซเลบฯ ดาราทั้งหลายด้วย ภายหลังเราก็เริ่มเห็นสำนักข่าวนำข่าวสั้นๆ มาลงใน TikTok ยิ่งตอนนี้ใกล้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง ก็จะมีข่าวหาเสียงต่างๆ เข้ามาด้วยเช่นเดียวกัน เลยกลายเป็นแหล่งข้อมูลของกลุ่มเด็ก Gen Z ชั้นดีเลยทีเดียว

ความสัมพันธ์ระหว่าง TikTok กับรัฐบาลของสหรัฐฯ ก็ลุ่มๆ ดอนๆ มาโดยตลอด ผู้นำในออฟฟิศหลายคน รวมถึงตัวโดนัล ทรัมป์เองด้วยที่รู้สึกว่าแอปพลิเคชันตัวนี้อาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับข้อมูลส่วนตัวของประชากรพวกเขา เพราะว่าบริษัทแม่ ByteDance เป็นของจีน ทางสหรัฐฯ เองก็กลัวว่า ByteDance จะเอาข้อมูลไปใส่ซองให้รัฐบาลจีนเพื่อทำอะไรบางอย่าง ถึงแม้ว่า ByteDance จะปฏิเสธ แต่ทางสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มีหลักฐานอะไรที่จะทำให้เชื่อใจ ByteDance ได้ จนกลายมาเป็นประเด็นในตอนนี้ (ซึ่งที่จริงประเทศอินเดียก็มีการแบน TikTok ไปก่อนหน้านี้เพราะเหตุผลเดียวกัน และญี่ปุ่นก็กำลังหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย)

ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นประเด็นว่าไมโครซอฟต์จะปิดดีลนี้ได้แบบไหน แล้วถ้าปิดได้แล้ว TikTok จะออกมาเป็นยังไงต่อ เบื้องต้นคือถ้าทุกอย่างเรียบร้อย ข้อมูลของประชากรชาวอเมริกันจะถูกย้ายมาเก็บไว้ที่ฝั่งอเมริกาแทนเพื่อความปลอดภัย ไมโครซอฟต์เองก็จะดูแลออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดาด้วย แต่มันจะออกมาในรูปแบบไหนกัน?

แบบแรกที่ชัดเจนที่สุดอาจจะเกิดขึ้นคือ TikTok แบบเวอร์ชัน Spin-Off ที่ทำงานได้แค่ในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา เท่านั้น โดยคนที่อยู่ในประเทศเหล่านี้ก็จะเห็นแค่คอนเทนต์จากสี่ประเทศนี้ ประเทศอื่นไม่เห็น กลับกันประเทศอื่นก็จะไม่สามารถเข้าถึงคอนเทนต์จากประเทศทั้งสี่ด้วยเช่นกัน

แอปพลิเคชันก็ยังคงน่าจะใช้ชื่อ TikTok ได้ และน่าจะทำงานเหมือนเดิม จนกระทั่งไมโครซอฟต์เริ่มพัฒนาและออกเวอร์ชันใหม่ๆ ตามมาทีหลัง ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการแยกกันทำงานอย่างชัดเจน ไม่ข้องเกี่ยวกันไม่ว่าทางใดทั้งนั้น ข้อมูลเก็บไว้คนละที่ไม่มีการสื่อสารกันใดๆ ทั้งสิ้น และก็เป็นวิธีที่น่าเบื่อที่สุดด้วย ถ้าลองคิดดูว่าเฟซบุ๊กมีแต่คอนเทนต์ที่มาจากประเทศไทย? มันก็คงน่าเบื่อและสุดท้ายผู้ใช้งานก็คงจะออกไปหาที่อื่นดีกว่า แนวคิดก็คล้ายๆ กัน ถ้าปิดกั้นแยกกันทั้งหมดแบบนี้ ผู้ใช้งานในประเทศเหล่านั้นที่ควบคุมโดยไมโครซอฟต์ก็คงเฉาๆ และแห้งเหี่ยวไปในที่สุด (แต่ก็ตัดทางเลือกนี้ออกไม่ได้เพราะอย่างในประเทศจีนก็มีแอปฯ ที่เหมือนกับ TikTok ชื่อว่า Douyin ที่มีผู้ใช้งานต่อวันกว่า 400 ล้านคน)

แบบที่สองที่อาจจะเกิดขึ้นคือ TikTok อันเดียวแต่แบ่งกันดู แล้วแต่ว่าตอนนี้ผู้ใช้งานอยู่ที่ไหน ก็จะมีกฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่นั้นบังคับใช้อยู่ (อารมณ์เหมือนกับ EU-U.S. ‘Privacy Shield’) โดยไมโครซอฟต์ก็จะเอาข้อมูลของผู้ใช้งานมาอยู่ในอเมริกาก่อน และผู้ใช้งานก็ใช้งานได้ตามปกตินั้นแหละ แต่ว่าจะมีกฎหมายมารองรับข้างหลังว่าข้อมูลถูกฝากไว้ตรงไหนและใช้เพื่อทำอะไรต่อได้บ้าง โดยเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการโอนย้ายข้อมูลระหว่างฐานข้อมูล ก็จะต้องมีการเปิดเผยว่ามีอะไรบ้าง ฟังก์ชันต่างๆ ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม อัลกอริทึมก็ไม่เปลี่ยนแปลง และ ByteDance ก็พัฒนาแอปพลิเคชันต่อไป

วิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการก้าวไปข้างหน้าต่อสำหรับการทำงานด้วยกัน แต่ติดปัญหาตรงที่ว่าทั้งสองฝั่งจะต้องเชื่อใจกันเวลาทำงาน เพราะแอปพลิเคชันก็ยังพัฒนาโดย ByteDance แม้ว่าจะเก็บข้อมูลไว้แยกกันก็ตามที ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ทางรัฐบาลของอเมริกาไม่เห็นด้วย

วิธีต่อมาคือ TikTok และไมโครซอฟต์ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาสองเวอร์ชันของ TikTok ที่ทำงานด้วยกันได้ ยกตัวอย่างแอปพลิเคชันที่สามารถโพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์ได้ แต่ก็มีบางฟีเจอร์ที่ใช้ไม่ได้เพราะทางทวิตเตอร์ไม่ได้สร้างช่องทางการเชื่อมต่อหรือ API ไว้ให้ตั้งแต่แรก การที่ ByteDance และไมโครซอฟต์จะทำงานร่วมกันได้คือการสร้าง API เพื่อจะสามารถเรียกวิดีโอจากที่อื่นๆ บนโลกมาดูได้ (กลับกันทั่วโลกก็เรียกจาก TikTok ของไมโครซอฟต์ไปดูได้เช่นกัน)​ ซึ่งตัว API จะทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวเชื่อมโยงระหว่างสองฝั่งเข้าด้วยกันนั่นแหละ (ซึ่งถ้าเป็นวิธีแรกคือหมดสิทธิ์) TikTok ของทั้งสองฝั่งก็จะเห็นคอนเทนต์ของกันและกันได้ แต่ก็อาจจะมีบางฟีเจอร์ที่ขาดหายไป อัลกอริทึมการทำงานก็จะต่างกัน ในตอนแรก TikTok ของทั้งสองฝั่งจะยังเหมือนกันอยู่ จนกระทั่งเวลาผ่านไป ทั้งไมโครซอฟต์ และ ByteDance ก็จะพัฒนา TikTok ของตัวเองและจะทำงานต่างกันออกไป มีฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนกันออกมาเรื่อยๆ

แต่สุดท้ายแล้วตอนนี้เราก็ยังไม่รู้หรอกว่าเวลาประมาณเดือนกว่าๆ ที่ไมโครซอฟต์ต้องปิดดีลให้ได้นั้นจะเพียงพอหรือไม่ จะตกลงเรื่องหุ้นส่วนและราคากับ ByteDance ได้ไหม ซึ่งถ้าได้จริงแล้ว ไมโครซอฟต์จะทำตรงนี้ต่อสำเร็จรึเปล่า เพราะพวกเขาเองก็ไม่ได้ชำนาญทางด้านนี้ แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม สำหรับ ByteDance แล้วการที่มีเส้นตายถูกขีดเอาไว้แบบนี้ ไมโครซอฟต์ก็เหมือนจะเป็นทางเลือกเดียว ที่พวกเขามีในการเก็บผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลเอาไว้ (แม้อาจจะไม่ได้เต็มใจมากนัก) ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ก็อุ่นใจว่าอย่างน้อยฐานข้อมูลของประชากรจะปลอดภัย (มากขึ้น) ส่วนสำหรับผู้ใช้งานก็คงมีความสุขกับการได้นั่งดูคลิปวิดีโอคนเต้น คลิปตลก และข่าวสารสั้นๆ ที่ตัวเองสนใจอยู่ต่อไป

 

อ้างอิง

Trump says he will ban TikTok

How TikTok’s Owner Tried, and Failed, to Cross the U.S.-China Divide

Trump administration gives TikTok 45 days to sell to Microsoft or leave US

 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save