fbpx
ระเบียบโลกแบบหยินหยาง

ระเบียบโลกแบบหยินหยาง

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หยินหยางเป็นปรัชญาจีนที่ลึกซึ้ง และอาจตีความได้หลากหลาย ความเข้าใจหนึ่งเกี่ยวกับหยินหยางคือ เป็นสองขั้วพลังที่สมดุล และเป็นสองขั้วพลังที่ขัดแย้งกัน แต่อยู่ร่วมกันได้

ภาพของหยินหยางเป็นวงกลมครึ่งขาวครึ่งดำหมุนเวียนเปลี่ยนผัน ในขาวมีดำ ในดำมีขาว สลับสับเปลี่ยนเป็นวงจร

สมัยผมเรียนที่จีน อาจารย์ท่านหนึ่งเคยเปรียบเทียบอย่างคมคายว่าคนจีนเป็นนักมองโลกแบบหยินหยาง ไม่ได้คิดแบบไม่ขาวก็ดำ ภูมิปัญญาจีนสามารถลื่นไหลกับความซับซ้อนของโลก และหาจุดสมดุลระหว่างพลังสองขั้วที่ขัดแย้งกันได้ ตัวอย่างเช่น  จีนเป็นทั้งสังคมนิยมและทุนนิยม ทั้งรวมศูนย์อำนาจและกระจายอำนาจ ทั้งลอกเลียนแบบและสร้างนวัตกรรม ในหลากหลายมิติมีทั้งหยินและหยางอยู่ในตัวเอง

ไม่ใช่เฉพาะจีนนะครับ อีกชาติหนึ่งที่เก่งในการมองแบบหยินหยาง ก็คือ สหรัฐฯ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น สหรัฐฯ คบค้ากับจีนมาตลอดหลายสิบปี แม้ว่าจีนเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ยังเป็นมิตรค้าขายกันได้ ในสหรัฐฯ เอง แม้ขั้วการเมืองทั้งสองขั้วจะไม่ค่อยเห็นอะไรตรงกันสักอย่าง แต่ก็สามารถแข่งขันและอยู่ร่วมกัน ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจได้

หากให้ทำนายระเบียบโลกหลังโควิด ผมขอสรุปว่าจะเป็นระเบียบโลกแบบหยินหยาง ความหมายคือ เป็นระเบียบโลกที่ซับซ้อน ไม่เสถียร มีขั้วพลังตรงข้ามที่สมดุลและถ่วงดุลกัน แตกต่างจากระเบียบโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเคยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำเดี่ยว เคยมีระเบียบกฎหมายและกลไกระหว่างประเทศชัดเจน โครงสร้างอำนาจโลกเคยมีความเสถียร คาดเดาได้ไม่ซับซ้อน

มาถึงตอนนี้ ระเบียบโลกที่เคยเสถียรดูจะเปราะบางเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย บทบาทของสหประชาชาติเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ประสิทธิภาพขององค์การการค้าโลกลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้กระทั่งองค์การการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกก็ประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากรทางการเงิน องค์การอนามัยโลกยิ่งไม่ได้รับการยอมรับนับถือแม้ท่ามกลางวิกฤตโควิด

การระบาดของโควิดเป็นเสมือนสงครามที่เปลี่ยนดุลอำนาจโลก นำไปสู่สมดุลใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน กลายมาเป็นคู่หยินกับหยางที่กลืนกันไม่ลง สหรัฐฯ เผชิญวิกฤตสาธารณสุขเข้าขั้นหายนะ นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จนพลังของสหรัฐฯ ค่อยๆ ตกต่ำลง ส่วนจีนที่ก่อนหน้านี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นบน ก็ถูกกดให้ทะยานขึ้นช้าลงเช่นกัน เนื่องจากการระบาดของไวรัสก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในของจีน รวมทั้งภาพลักษณ์ของจีนในวงการระหว่างประเทศ จีนเองต้องหันกลับมาให้ความสนใจปัญหาภายในของตนก่อน ทั้งการขยายอิทธิพลของจีนก็ประสบแรงต้านรอบด้าน

สถานการณ์โลกกลับมาคล้ายคลึงกับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในขณะนั้นจักรวรรดิอังกฤษกำลังค่อยๆ สูญเสียความเป็นมหาอำนาจ ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของโลกก็ยังไม่พร้อมที่จะขึ้นมาเล่นบทบาทนำแทนที่อังกฤษ วันนี้ก็คล้ายกัน การระบาดของโควิดกำลังตอกย้ำและเร่งเทรนด์การสิ้นสุดการเป็นผู้นำเดี่ยวของสหรัฐฯ แต่ตัวจีนเองก็ยังไม่พร้อมที่จะสวมบทบาทผู้นำใหม่ของโลกแทนที่สหรัฐฯ จึงเกิดเป็นสูญญากาศแห่งอำนาจและระเบียบโลก

แม้หลายคนจะวิเคราะห์ว่า สมดุลใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะผลักให้โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นอีกครั้ง แต่ความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์จีนสหรัฐฯ จะซับซ้อนกว่านั้น คือ แม้จะไม่ใช่ขาวแบบเป็นมิตรคบค้าอย่างใกล้ชิดเช่นในอดีต แต่ก็ไม่ใช่ดำแบบรบพุ่งและขัดแย้งกันจนหาจุดร่วมไม่ได้

จีน-สหรัฐฯ ยุค Next Normal จะเป็นความสัมพันธ์แบบหยินหยาง กล่าวคือ มีทั้งหยินคือด้านของความร่วมมือ และหยางคือด้านของการแข่งขัน หากมองจากมุมของสหรัฐฯ ถ้าใช้ศัพท์ในวงการทูตก็คือ มีทั้งการเชื่อมโยงมีปฏิสัมพันธ์กับจีน (Engagement) พร้อมๆ ไปกับการสกัดดาวรุ่งไม่ให้จีนทะยานไปมากกว่านี้ (Containment)

สาเหตุเพราะผลประโยชน์จีนและสหรัฐฯ แยกขาดจากกันไม่ได้ ในหลายเรื่องนั้น หากฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ อีกฝ่ายก็จะเสียประโยชน์ไปด้วย นี่เป็นจุดที่ต่างจากสงครามเย็นครั้งที่สหรัฐฯ แข่งขันกับสหภาพโซเวียต เพราะในยุคนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่มีความเชื่อมโยงกับสหภาพโซเวียต แม้ว่าสหรัฐฯ ทุบจนสหภาพโซเวียตพัง สหรัฐฯ ก็ไม่กระทบกระเทือน แต่วันนี้เศรษฐกิจจีนเชื่อมกับทั้งสหรัฐฯ และโลก หากเศรษฐกิจจีนเกิดปัญหา ก็คงพาทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกดิ่งเหว

โลกเองก็คงไม่ได้แบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน แต่จะมีความซับซ้อนแบบไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เป็นแนวหยินหยางขาวดำสลับเปลี่ยนเวียนไป ภาษาวิชาการเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคไร้ขั้วเสถียร (non-polarity) สหภาพยุโรปที่แม้เดิมจะเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ แต่ก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีและมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับจีน ส่วนรัสเซียนั้น แม้สหรัฐฯ ในสมัยทรัมป์จะพยายามสานสัมพันธ์กับปูตินเพื่อมาคานอำนาจจีน แต่จีนเองก็มีความสัมพันธ์ในเชิงยุทธศาสตร์กับรัสเซีย และคงไม่ง่ายที่จะมาแตกหักกัน ส่วนญี่ปุ่นและอินเดีย แม้จะมีประวัติศาสตร์บาดหมางกับจีน แต่โดยหลักก็ยึดถือนโยบายเป็นกลางและเน้นผลประโยชน์ของประเทศที่อยู่ตรงหน้าเป็นสำคัญ

อาเซียนเองก็ต้องสร้างสมดุลให้ได้ระหว่างการเดินร่วมกันกับการต่างคนต่างเดิน ปัจจุบัน เทรนด์ทั่วโลกกำลังทวนกระแสโลกาภิวัตน์และการรวมกลุ่มอย่างชัดเจน สหภาพยุโรปที่เคยเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับอาเซียน บัดนี้กลายเป็นตัวอย่างของปัญหาที่อาจเกิดจากการรวมกลุ่ม ดังที่เห็นวิกฤต Brexit ซึ่งอังกฤษเลือกถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ตามมาด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัย ปิดท้ายด้วยความล้มเหลวของกลไกสหภาพยุโรปในการประสานและรับมือกับการระบาดของโควิด

ท่ามกลางกระแสโลกเช่นนี้ สำหรับอาเซียนแล้ว การรวมกลุ่มทางการเมืองและเศรษฐกิจ (Political and Economic Integration) ในระดับที่สูงขึ้นจึงเป็นไปได้ยาก แต่อาเซียนมีความจำเป็นที่จะต้องผนึกกำลังกันในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Integration) ยิ่งขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ต้องเป็นอาเซียนแบบหยินหยาง คือทั้งผนึกรวมกันให้ได้ด้วยความมุ่งหมายทางยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจ ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงให้อิสระแต่ละประเทศมีพื้นที่ทางนโยบายของตนในด้านการเมืองและเศรษฐกิจภายใน

โลกแบบหยินหยางที่กล่าวมาจึงเป็นยุคของความผันผวน ซับซ้อน มีสมดุล มีขั้วอำนาจ และแนวคิดขัดแย้งที่ต้องผสมผสานร่วมกันอย่างมีศิลปะ ในบริบทรอบตัวใหม่เช่นนี้ ไทยเองต้องหันมาเดินเกมยุทธศาสตร์การต่างประเทศแบบหยินหยางเช่นเดียวกัน หมดยุคมองโลกหรือมหาอำนาจเป็นขาวกับดำ

อย่าเห็นว่าไทยต้องเลือกข้าง อย่าถามว่าจะเลือกข้างไหนดี แต่คำถามใหม่ต้องเป็นว่า ไทยจะเล่นตัวและเล่นเกมเชิงภูมิรัฐศาสตร์อย่างมีศิลปะได้อย่างไร เพราะในโลกที่ปั่นป่วนเช่นนี้ แน่นอนว่าเป็นโลกที่เสี่ยงขึ้นสำหรับผู้ที่คุ้นชินกับการมองโลกแบบขาวกับดำ แต่เป็นโลกที่จะเต็มไปด้วยโอกาสสำหรับผู้ที่เปี่ยมด้วยลูกเล่นลูกชนและเท่าทันเกมสมดุลอำนาจใหม่สไตล์หยินหยาง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save