fbpx

50 ปี บังคลาเทศ พัฒนาการท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่

ภาพประกอบจาก ASaber91

16 ธันวาคมถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างชาติบังคลาเทศ และถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่สุดวันหนึ่ง เพราะนี่ถือเป็นวันแห่งชัยชนะ (Victory day) ที่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว กองทัพบังคลาเทศโดยความช่วยเหลือของอินเดีย สามารถมีชัยเหนือปากีสถานได้สำเร็จนับตั้งแต่เริ่มเคลื่อนไหวแยกตัวเป็นเอกราชในช่วงเดือนมีนาคม 1971

ตลอดหลายปีมานี้ เรื่องราวของบังคลาเทศมักถูกบอกเล่าผ่านเพียงมุมมองปัญหาภัยธรรมชาติ ความยากจน และความรุนแรงทางการเมือง ภาพจำเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อตอกย้ำภาพลบ แต่ภายใต้ภาพจำเหล่านั้น บังคลาเทศปฏิวัติตัวเองอย่างต่อเนื่อง และวันนี้บังคลาเทศได้กลายเป็นหนึ่งในชาติที่เติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และกลายเป็นตัวแสดงสำคัญในห่วงโซ่เศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ บังคลาเทศยังมีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มหาอำนาจต่างหมายตาอีกด้วย ครั้งนี้จึงอยากชวนอ่านบังคลาเทศ ในโอกาสที่ดินแดนแห่งนี้มีอายุครบ 50 ปี

กว่าจะเป็นบังคลาเทศ

หากย้อนไปก่อนปี 1971 ดินแดนที่ชื่อว่า ‘บังคลาเทศ’ ในทุกวันนี้ ถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘ปากีสถานตะวันออก’ อันเป็นผลสำคัญจากการประกาศเอกราชจากอังกฤษของดินแดนในแถบเอเชียใต้ในปี 1947 ส่งผลให้เกิดประเทศอินเดียและปากีสถาน โดยปากีสถานกลายเป็นประเทศอกแตกที่มีอินเดียคั่นกลาง มีศูนย์กลางทางการบริหารอยู่ในฝั่งตะวันตก ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในฝั่งตะวันออก

ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากทางการพัฒนาระหว่างปากีสถานตะวันตกและตะวันออก เพราะผู้นำที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชและมีบทบาททางการเมืองของปากีสถานส่วนใหญ่มาจากฝั่งตะวันตก ส่งผลให้นโยบายด้านการพัฒนาและทรัพยากรทางการเงินจำนวนมากถูกใช้ไปกับฝั่งตะวันตก ทั้งที่รายได้หลักของประเทศจำนวนมากมาจากฝั่งตะวันออก ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาไปในเชิงชาติพันธุ์ด้วยแล้ว คนปากีสถานฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่มีชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากคนฝั่งตะวันตกอย่างมาก

ความแปลกแยกและการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมค่อยๆ ขยายกลายเป็นชนวนความไม่พอใจรัฐบาลปากีสถาน จนนำมาซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องอำนาจการปกครองตนเองของปากีสถานตะวันออก นำโดย Sheikh Mujibur Rahman ในปี 1966 ข้อเสนอดังกล่าวส่งผลให้เขาถูกข้อหากบฏ ก่อนจะถูกปล่อยตัวในปี 1969 แต่ความแตกแยกระหว่างปากีสถานตะวันตกและตะวันออกรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนสุดท้ายก็แตกหักในปี 1971 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความพยายามกีดกันการขึ้นสู่อำนาจของ Sheikh Mujibur Rahman หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 1970

ในเดือนมีนาคม 1971 Sheikh Mujibur Rahman นำขบวนประชาชนกว่า 2 ล้านคนเรียกร้องเอกราชจากปากีสถาน เหตุการนี้ส่งผลให้นายพล Yahya Khan ส่งกองกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปในปากีสถานตะวันออกเพื่อสลายการชุมนุม และจับตัว Sheikh Mujibur Rahman เหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้เสียจำนวนมากจนถูกระบุว่าเป็น ‘การสังหารหมู่’ และทำให้ดินแดนปากีสถานตะวันออกกลายเป็นสมรภูมิระหว่างทหารปากีสถานกับกองกำลังเรียกร้องเอกราช

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้น เมื่อปากีสถานโจมตีพื้นที่บางส่วนของอินเดียช่วงต้นเดือนธันวาคม ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียในเวลานั้นตัดสินใจเข้าร่วมสงครามการประกาศเอกราชของบังคลาเทศ สงครามครั้งนี้ยังดึงมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตให้ต้องส่งกองเรือมาที่อ่าวเบงกอลอีกด้วย แรงสนับสนุนของอินเดียส่งผลให้ในช่วงกลางเดือนธันวาคมในปีเดียวกัน ปากีสถานประกาศยอมจำนนและนี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศน้องใหม่ในเอเชียใต้อย่างบังคลาเทศ

50 ปีของบังคลาเทศ ก้าวย่างแห่งความเพียรพยายาม

นับตั้งแต่บังคลาเทศถือกำเนิดในปี 1971 เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน บังคลาเทศต้องฝ่าฝันอุปสรรคหลายอย่าง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ที่นำพาทหารเข้ามาพัวพันในการเมืองหลายครั้ง ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต้องหยุดชะงักอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญที่สุดคือบังคลาเทศต้องเผชิญภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง จนต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ในช่วงเริ่มก่อตั้งประเทศ บังคลาเทศกลายเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเผชิญปัญหาความอยากจนอย่างหนัก จนต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจำนวนมากจากภายนอก เศรษฐกิจและสภาพทางสังคมของบังคลาเทศถือได้ว่าล้าหลังที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอย่างปากีสถาน และอินเดีย

แต่นั่นก็เป็นเพียงภาพจำเก่าๆ ของบังคลาเทศไปแล้ว เพราะในทุกวันนี้ บังคลาเทศกลายเป็นชาติที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ที่สำคัญที่สุดคือ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาการเมืองของบังคลาเทศมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของทหารในทางการเมืองที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีต แต่ที่น่าตกใจที่สุดคือตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของบังคลาเทศหลายตัวปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปากีสถาน เช่นทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่มีมากเป็นสองเท่า หรืออัตราหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ที่คิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปากีสถาน เป็นต้น

ในขณะที่คุณภาพประชากรของบังคลาเทศก็ถือได้ว่ามีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านอายุขัยของประชากร การอ่านออกเขียนได้ การเข้าถึงระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข หรือแม้กระทั้งอัตราส่วนความยากจนของประชาชนภายในประเทศที่ปัจจุบันแซงหน้าปากีสถานในทุกมิติ ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ คุณภาพชีวิตของประชากรหญิงของบังคลาเทศนอกจากจะมีคุณภาพชีวิตดีกว่าปากีสถานแล้ว ยังถือได้ว่าดีกว่าอินเดียอีกด้วย

นอกจากนี้ บังคลาเทศยังประสบความสำเร็จอย่างมากในการปฏิวัติระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการมุ่งสู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรม จากเดิมที่พึ่งพิงรายได้จากภาคเกษตร ปัจจุบันรายได้หลักของบังคลาเทศมาจากภาคอุตสาหกรรม แม้แต่ในเขตชนบท รายได้หลักของครัวเรือนยังมาจากภาคนอกเกษตรเป็นสำคัญ หนึ่งในสินค้าขึ้นชื่อและเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศก็คือ ‘เสื้อผ้าสำเร็จรูป’ ที่บริษัทต่างชาติทั้งหลายต่างใช้บังคลาเทศเป็นฐานในการผลิตสำคัญเพื่อส่งออกไปทั่วโลก

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้บังคลาเทศกลายเป็นชาติสำคัญในห่วงโซ่เศรษฐกิจโลก และยังมีความสำคัญอย่างมากต่อภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกที่หลายๆ ประเทศต่างสนใจเข้าไปลงทุน ในอดีต นักลงทุนรายใหญ่ของบังคลาเทศอาจเป็นเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย แต่วันนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะจีนได้เข้ามาเป็นนักลงทุนคนสำคัญของบังคลาเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในท่าเรือน้ำลึกหลายแห่งของบังคลาเทศตามข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้บังคลาเทศกำลังอยู่ท่ามกลางอิทธิพลของมหาอำนาจในเอเชียอย่างจีนและอินเดีย

บังคลาเทศบนเส้นทางที่ไร้เงาอินเดียปกคลุม

หากย้อนไปในวันที่บังคลาเทศได้รับเอกราชในปี 1971 อินเดียถือเป็นประเทศที่มีบทบาทและอิทธิพลอย่างมากในเกือบทุกมิติ จนบังคลาเทศได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็น ‘อินเดียล็อก’ เพราะทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดกันยาวหลายร้อยกิโลเมตร นับตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของบังคลาเทศไล่เรียงไปทางเหนือจรดทางตะวันตกของประเทศ มีเพียงช่องทางออกสู่อ่าวเบงกอลเท่านั้นที่บังคลาเทศไม่มีพรมแดนติดกับอินเดีย ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้บังคลาเทศยึดโยงกับอินเดียอยู่มาก

โดยเฉพาะในช่วงแรกเริ่มก่อตั้งประเทศบังคลาเทศได้รับอิทธิพลและความช่วยเหลือจำนวนมากจากอินเดียในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกัน อินเดียถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญประเทศหนึ่งของบังคลาเทศอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น บังคลาเทศเองก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับอินเดียเพราะนอกจากจะเป็นเพื่อนบ้านแล้ว พรมแดนทางเหนือของบังคลาเทศยังติดกับช่วงคอไก่ของอินเดีย (บริเวณเชื่อมโยงระหว่างอินเดียแผ่นดินใหญ่กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ เพราะบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับพรมแดนระหว่างจีน-อินเดีย

แต่ความสัมพันธ์อินเดีย-บังคลาเทศในทุกวันนี้ แม้ในภาพกว้างที่เราเห็นจะมีความแนบชิดกันมาก แต่อิทธิพลของอินเดียที่เคยมีเหนือบังคลาเทศในวันนี้กำลังค่อยๆ จางหายไปทีละน้อย เมื่อตัวแสดงใหม่อย่างจีนเข้ามาเล่นบทบาทในเอเชียใต้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ของภูมิภาค ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นบทบาทของอินเดียมาโดยตลอด การสั่งซื้อเรือน้ำจากจีนเข้ามาประจำการในอ่าวเบงกอลของบังคลาเทศเองถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันว่า ภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียใต้ภายใต้การนำของอินเดียนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่บังคลาเทศทำ คือการกำลังเดินหน้าเข้าหาจีนแบบเต็มตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว บังคลาเทศกำลังพยายามสลัดตัวเองออกจากอิทธิพลของอินเดีย และออกมาเดินบนเส้นทางของตัวเองมากยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ วันนี้บังคลาเทศต้องการตัดสินเรื่องทางความมั่นคงและการต่างประเทศได้อย่างอิสระโดยปราศจากแรงกดดันของอินเดียดังที่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งจีนถือเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่บังคลาเทศจะนำมาหยิบใช้เพื่อต่อรองกับอินเดีย ลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงกับบังคลาเทศเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงหลายประเทศในเอเชียใต้ด้วยทั้งศรีลังกา เนปาล และมัลดีฟ

ดังนั้น 50 ปี แห่งเอกราชของบังคลาเทศ แม้ว่าเมื่อเทียบกับอายุของหลายๆ ประเทศอาจดูจะสั้นมาก แต่บังคลาเทศได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเขานั้นได้ปฏิรูปตัวเองอย่างก้าวกระโดด เป็น 50 ปีที่บาดแผลแห่งความเจ็บปวดยังไม่จางหาย แต่ปณิธานแห่งความหวังเพื่อให้ลูกหลานกินดีอยู่ดีนั้นยังคงไม่เคยละทิ้ง และวันนี้พวกเขาก็ทำมันได้สำเร็จไปแล้วจำนวนมาก ที่สำคัญกว่านั้นการวางตัวของประเทศนี้ในเวทีระหว่างประเทศท่ามกลางมหาอำนาจในภูมิภาคยังถือได้ว่ามีความโดดเด่นอย่างมาก ศักยภาพของบังคลาเทศเป็นที่ประจักษ์และกำลังถูกจับตามองอย่างมากในฐานะโมเดลใหม่สำหรับประเด็นพัฒนา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save