fbpx
5 เรื่องควรรู้ เพื่อเข้าใจการเลือกตั้งอินเดีย

5 เรื่องควรรู้ เพื่อเข้าใจการเลือกตั้งอินเดีย

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

1. Maha Deshka: Lok Sabha Election 2019 คือการเลือกตั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

 

ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น เนื่องมากจากประเทศอินเดียถือเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดย United Nations Department of Economic and Social Affairs เผยว่าในปี 2016 อินเดียมีประชากร 1,324,171,354 คน และคาดการณ์ว่าในปี 2019 จะมีประชากรมากกว่า 1.37 พันล้านคน และนั่นทำให้อินเดียเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดีย จะจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ครั้งที่แล้วคือปี 2014 และครั้งปัจจุบันจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2019 โดยแบ่งการเลือกตั้งออกเป็น 7 เฟส เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ในภาษาฮินดีเรียกว่า ‘Lok Sabha’ โดยประชาชนอินเดียที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นั่นทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 900 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2014 ประมาณ 84.3 ล้านคน) โดยมีพรรคการเมืองเสนอตัวแทนชิงตำแหน่ง ส.ส. ทั้งสิ้น 2,143 พรรคการเมือง และมีผู้เสนอตัวในการลงสมัครรับเลือกตั้งมากกว่า 8,000 คน

หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งของประเทศอินเดียคือ Election Commission of India (ECI) แบ่งพื้นที่ 29 รัฐ และ 7 ดินแดนสหภาพ (Union Territories) ออกเป็น 1,035,918 หน่วยเลือกตั้ง (เฉลี่ยแล้วเขตหนึ่งจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขตเพียง 868 คนเท่านั้น) ที่ต้องมีจำนวนหน่วยเลือกตั้งมากขนาดนี้ เนื่องจากอินเดียต้องการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเดินทางมาที่หน่วยเลือกตั้งได้อย่างสะดวกที่สุด โดยบ้านของคนที่ไกลที่สุดจากหน่วยเลือกตั้ง ต้องมีระยะทางไม่เกิน 2 กิโลเมตร

หน่วยเลือกตั้งบางหน่วยถูกจัดขึ้น ทั้งที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นน้อยมาก อาทิ รัฐอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ หรือมุมขวาบนสุดของประเทศ เจ้าหน้าที่ ECI ของอินเดียต้องเดินเท้าเข้าไปในพื้นที่หุบเขาใจกลางป่าลึก เพื่อเปิดหน่วยเลือกตั้งที่หมู่บ้าน Malogram ซึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียง 1 คน นั่นคือ Ms.Sokala Tayang และแน่นอนว่าหน่วยเลือกตั้งนี้ต้องมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า มีการติดตั้งเครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting Machines: EVM) และต้องเปิดหน่วยเลือกตั้งตั้งแต่ 8.00–17.00 น. เช่นเดียวกับหน่วยเลือกตั้งอื่นๆ ทั่วประเทศ แม้จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยนั้นเพียงผู้เดียวก็ตาม

แน่นอนว่าเหตุผลหลักคือ หลักการประชาธิปไตยที่จะต้องให้ทุกคนที่มีสิทธิ สามารถใช้สิทธิได้อย่างเสรีและสะดวก ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญ เพราะรัฐอรุณาจัลประเทศ คือหนึ่งในพื้นที่ที่เป็นกรณีพิพาทฃด้านเขตแดนระหว่างอินเดียและจีน ดังนั้นการแสดงออกให้ประชาคมโลกได้เห็นว่า ประชากรทุกคนในพื้นที่นี้ต้องการและได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลอินเดีย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

 

2. ระบอบประชาธิปไตย ของประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

 

การปกครองของอินเดียเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แยกศาสนาออกจากการเมือง แบ่งอำนาจการปกครองเป็นสาธารณรัฐ (Secular Democratic Republic with a Parliamentary System) โดยทั้ง 29 รัฐ จะมีสภานิติบัญญัติ (Legislative Assembly) หรือในภาษาฮินดีเรียกว่า วิธานสภา (Vidhan Sabha) ของตนเอง ในการออกกฎหมายที่บังคับใช้เฉพาะในแต่ละรัฐ ร่วมกับกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาที่กรุงนิวเดลี โดยแต่ละรัฐจะมีมุขมนตรี (Chief Minister) ที่เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหาร มีบทบาทคล้ายนายกรัฐมนตรีของรัฐนั้นๆ ขณะเดียวกันก็มีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารรัฐบาลกลาง ซึ่งทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละรัฐจะทำงานควบคู่กัน

รัฐสภาของประเทศอินเดียเป็นระบบ 2 สภา หรือ สภาคู่ (Bicameral) ประกอบด้วย ‘ราชยสภา’ (Rajya Sabha) หรือวุฒิสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 245 คน โดยในจำนวนนี้ 12 คนจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกจากประธานาธิบดี โดยจะคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะสาขาศิลปะ, อักษรศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศาสตร์, และตัวแทนจากภาคประชาสังคม โดยประธานาธิบดีจะแต่งตั้งวุฒิสมาชิกประเภทนี้ทุกๆ 2 ปี ขณะที่สมาชิกอีก 233 คน จะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม คือ คัดเลือกโดยสมาชิกวิธานสภาของแต่ละรัฐ สมาชิกราชยสภามีวาระการทำงาน 6 ปี โดยทุกสองปีจะมีการเลือกตั้งและแต่งตั้งสมาชิกราชยสภาจำนวน 1 ใน 3 ใหม่

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกสมาชิก ‘โลกสภา’ (Lok Sabha) หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โลกสภามีสมาชิกได้ไม่เกิน 550 คน โดย 543 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง (530 คนมาจากแต่ละรัฐ 13 คนมาจากดินแดนสหภาพ) และอีกไม่เกิน 2 คนมาจากการคัดเลือกของประธานาธิบดีจากชุมชนอินเดียเชื้อสายอังกฤษ (Anglo-Community) ในประเทศ สมาชิกโลกสภามีวาระคราวละ 5 ปี โดยกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาลกลางจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภา

ปัจจุบันโลกสภามีสมาชิกสภาทั้งสิ้น 545 คน แบ่งออกเป็นพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ที่รวมพรรคการเมืองหลายๆ พรรคในนาม National Democratic Alliance มีจำนวน ส.ส. 341 คน มีพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลคือ พรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party: BJP) ซึ่งมี ส.ส. 269 คน ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ อีก 10 พรรค และมีพรรคร่วมฝ่ายค้านที่รวมพรรคการเมืองหลายๆ พรรคเข้าด้วยกัน ในนาม United Democratic Alliance มี ส.ส. จำนวน 204 ที่นั่ง มีพรรคแกนนำคือ Indian National Congress (INC) ซึ่งมี ส.ส. 45 คน ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ อีก 8 พรรค

 

3. นเรนทรา โมดิ และ BJP ตัวเก็งผู้ชนะการเลือกตั้งและตำแหน่งนายกฯสมัยที่ 2

 

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายนเรนทรา ทาโมทรทาส โมดิ (Narendra Damodardas Modi) แห่งพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party: BJP) ปัจจุบันอายุ 68 ปี ในอดีตเคยเป็นมุขมนตรี (Chief Minister) หรือผู้บริหารสูงสุด เทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีของรัฐคุชราต (Gujarat) ถึง 4 สมัย ระหว่างปี 2001 – 2014 ก่อนจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดียตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน

ในอดีต โมดิคือเด็กผู้ช่วยในร้านขายน้ำชาของพ่อ จากนั้นก็เปิดร้านขายน้ำชาของตนเอง แต่สิ่งที่เขาเรียนรู้ควบคู่ไปกับการชงชาแบบอินเดียที่เรียกว่า Masala chai หรือชาที่ต้มกับนมเดือดๆ และใส่เครื่องแกง ก็คือการเป็นสมาชิกของกลุ่มชาตินิยมฮินดู (Rashtriya Swayamsevak Sangh : RSS) โดยเป็นสมาชิกตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และเริ่มต้นทำงานให้กับ RSS อย่างจริงจังในปี 1971

นักวิชาการด้านอินเดียศึกษาจำนวนหนึ่ง ลงความเห็นว่ากลุ่ม RSS นี้มีหลักการและแนวทางการปฏิบัติที่มีแนวโน้มไปในลักษณะชาตินิยมสุดโต่ง (Ultranationalism) โดยใช้ศาสนาฮินดูเป็นแกนหลักของการดำเนินกิจกรรม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะเห็นโมดิกล่าวในการแถลงแนวนโยบาย (Manifesto) ของพรรค BJP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของกลุ่ม RSS ว่า “Nationalism is our inspiration” ซึ่งนำไปสู่แนวนโยบายในการเปลี่ยนประเทศอินเดียจาก รัฐโลกวิสัย หรือ รัฐฆราวาส (Secular Nation – ประเทศที่แยกชัดเจนระหว่างรัฐกับศาสนจักร) ให้กลายเป็นรัฐฮินดู (Hindu Nation / Hindu State)

ในการหาเสียงเมื่อปี 2014 โมดิเคยประกาศแล้วว่าจะยุติอุตสาหกรรมเนื้อวัวในประเทศอินเดีย แม้ว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโมดิเรียกแนวนโยบายนี้ว่า Pink Revolution แต่นักวิชาการด้านอินเดียศึกษามองว่านี่คือการมุ่งจู่โจมไปที่กลุ่มคนมุสลิมในประเทศอินเดียมากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากชาวมุสลิมในอินเดียคือเจ้าของอุตสาหกรรมเหล่านี้ ที่ครอลคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่เลี้ยง เชือด ชำแหละ ผลิตอาหาร แปรรูป ฟอกหนัง ฯลฯ ไปจนถึงการเป็นผู้บริโภคและผู้ซื้อผลิตภัณฑ์หลัก

แน่นอนว่าแนวนโยบายเช่นนี้ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับผู้นับถือศาสนาอื่นๆ เพราะแม้ว่า 79.8% ของประชากรจะนับถือศาสนาฮินดู แต่ชาวมุสลิมในอินเดียก็มีจำนวนมากกว่า 188 ล้านคน (หรือประมาณ​ 14.2% ของจำนวนประชากร) นั่นทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมค่อนข้างรุนแรง ขณะเดียวกันอินเดียยังเป็นบ้านเกิดของประชากรที่นับถือศาสนาอื่นๆ อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น คริสต์ (2.3%) ซิกข์ (1.7%) พุทธ (0.7%) เชน (0.4%) ดังนั้นการที่กลุ่ม RSS ไปทำการเจิมหน้าผาก (Tikka) อันเป็นวิถีปฏิบัติของชาวฮินดูที่ไปบูชาเทพเจ้าที่วัด บนหน้าผากของอนุสาวรีย์ต่างๆ โดยเฉพาะ บาบาสาเหบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ (Babasaheb Dr. Bhimrao Ramji Ambedkar) หนึ่งในคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ และผู้วางหลักการและระบบการเงินการธนาคารให้ประเทศอินเดีย ซึ่งปฏิเสธการเป็นฮินดูและขอตายในพระพุทธศาสนา ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับคนพุทธอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอินเดียจำนวนมาก นโยบายหลายๆ เรื่องของ BJP และโมดิ ก็ดูจะเข้าตาประชาชนอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอินเดีย ภายใต้นโยบาย ‘Make in India’ รวมถึงนโยบาย Swaccha Bharat ที่เน้นการส่งเสริมให้ประเทศสะอาด ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับความสกปรกของชุมชน การจัดการเรื่องความสะอาดในการทำธุรกิจ เช่น นโยบายการหยุดการใช้ธนบัตร 500 และ 1,000 รูปี (Demonitisation) เพื่อปราบทุจริต โดยผู้ที่ไม่สามารถสำแดงที่มาของเงินได้ จะไม่สามารถนำธนบัตรเก่ามาแลกเป็นธนบัตรใหม่ได้

ยังไม่นับนโยบายอินเดียใหม่ (New India) ที่เน้นการสร้างโอกาสให้คนอินเดียสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตลาดได้ง่ายขึ้นและต้นทุนต่ำลง ผ่านโครงการสำคัญ เช่น 1B Trinity ที่จะทำฐานข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล 1 พันล้านคน เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบัญชีเงินฝาก 1 พันล้านบัญชี และเข้าถึงโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน 1 พันล้านเครื่อง เพื่อใช้บัญชีเหล่านั้นในการทำธุรกรรมและทำธุรกิจ

เหล่านี้คือนโยบายที่คนอินเดียจำนวนมากชื่นชอบ และยิ่งเมื่อเห็นการประกาศศักดาและความเข้มแข็งของอินเดีย เพื่อตอบโต้ภัยจากผู้ก่อการร้าย จนกลายเป็นการปะทะกันระหว่างอินเดียกับปากีสถาน รวมถึงการทดลองระบบขีปนาวุธทำลายดาวเทียมที่ยิงจากพื้นสู่อวกาศ ที่กองทัพอินเดียทำสำเร็จเป็นชาติที่ 4 ในโลก ล้วนทำให้คนอินเดียจำนวนมากต้องการให้โมดิทำงานต่อ

 

4. ราหุล คานธี และ INC ผู้ท้าชิงที่ต้องการปฏิรูปอินเดีย

 

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สนับสนุน โมดิ ที่มีแนวคิดค่อนไปทางชาตินิยมฮินดู และคนเหล่านั้นก็มองมาที่พรรคการเมืองเก่าแก่ที่อยู่คู่กับอินเดียมายาวนานกว่า 133 ปี นั่นคือ พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress: INC) ซึ่งเป็นพรรคที่เกิดขึ้นพร้อมการเรียกร้องเอกราชให้กับประเทศ และยังเป็นรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็น ชวาหะลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศอินเดีย, ลาลพหาทุระ ศาสตรี (Lal Bahadur Shastri) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2, นางอินทิรา คานธี (Indira Gandhi) นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น จักรพรรดินีแห่งอินเดีย ต่อด้วยนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของประเทศนั่นคือ นายราชีพ คานธี (Rajiv Gandhi), นายนรสิงห์ ราว (P. V. Narasimha Rao) นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ผู้มาพร้อมกับนายมันโมฮัน สิงห์ (Manmohan Singh) รัฐมนตรีการคลัง ผู้ปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียในทศวรรษ 1990 และกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศในเวลาต่อมา

ที่ผ่านมานโยบายของ INC อาจไม่เข้าตาประชาชนอินเดียนัก เมื่อเปรียบเทียบกับแนวนโยบายของพรรคการเมืองสายแข็งอย่าง BJP ประกอบกับการเมืองภายในพรรคที่ทำให้ INC ค่อนข้างไร้ทิศทาง และขาดผู้นำที่มีภาวะผู้นำและบารมีที่มากพอ

แต่ทิศทางของ INC เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะหลังการปฏิรูปพรรคภายใต้การนำของประธานพรรคคนปัจจุบัน นั่นคือนายราหุล คานธี (Rahul Gandhi) ซึ่งแน่นอนว่าเพียบพร้อมทั้งคุณสมบัติและรูปสมบัติ นอกจากหน้าตาที่หล่อเหลา เนื่องจากเป็นลูกครึ่งอินเดีย-อิตาเลียน ราหุลยังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Harvard University และปริญญาโทจาก Trinity College, Cambridge University โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ราหุลได้ดึงเอาน้องสาว Priyanka Gandhi Vadra เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้นำพรรคในการหาเสียง ซึ่งทั้งคู่ถือเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลเนรูห์-คานธี มี ชวาหระลาล เนห์รู เป็นคุณทวด มีอินทิรา คานธี เป็นคุณย่า และมีราชีพ คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดียผู้สร้างสันติภาพในเอเซียใต้ เป็นคุณพ่อ

แนวทางการหาเสียงของ INC คือ การตอกย้ำถึงความล้มเหลวของรัฐบาลภายใต้การนำของ โมดิ โดยเฉพาะเรื่องที่เขาเคยหาเสียงไว้ว่าจะสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นให้ได้ปีละ 10 ล้านตำแหน่งในทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งทำไม่ได้จริง และทำให้ปัจจุบันอินเดียมีตัวเลขอัตราการว่างงานสูงที่สุดในรอบ 45 ปี ที่ระดับ 7.2% ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีนักสำหรับประเทศที่มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน รวมถึงการตัดลดงบประมาณแผ่นดินในด้านสาธารณสุขและสวัสดิการ ซึ่งสำหรับประชากรยากจนกว่าร้อยละ 22 ของประเทศ สวัสดิการสังคมและระบบสาธารณสุขถือเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่จะทำให้พวกเขาสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

นโยบายของพรรคคองเกรสและราหุล คือการกำจัดความยากจน หรือ “Final Assault on Poverty” โดยเขาประกาศว่าหาก INC ได้จัดตั้งรัฐบาล อินเดียจะมีสวัสดิการรายได้ขั้นต่ำสำหรับคนยากจน ในขณะที่เกษตรกรจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระหนี้สิน รัฐบาลอินเดียภายใต้ INC จะจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มเติม และเพื่อเอาใจกลุ่มสตรี ซึ่งค่อนข้างถูกกดทับภายใต้แนวคิดของ BJP/RSS ราหุลประกาศว่าเขาจะ สำรอง 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานในภาครัฐให้กับพนักงานหญิงเท่านั้น

แน่นอนว่าเมื่อนโยบายเหล่านี้ถูกประกาศออกมา BJP คงอยู่เฉยไม่ได้ และนั่นนำมาสู่การตอบโต้ อาทิ รัฐบาลประกาศนโยบาย Pradhan Mantri Kisan Samman Nidhi ซึ่งกล่าวง่ายๆ คือ การแจกเงิน โดยรัฐบาลจะให้เงินกับเกษตรกรคนละ 6,000 รูปี (3,000 บาท) โดยมอบเงินให้กับเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินขนาดพื้นที่น้อยกว่า 2 เฮกเตอร์ (12.5 ไร่) และสัญญาว่าจะเพิ่มราคาสินค้าเกษตรให้ได้

ในอีกทางหนึ่ง BJP เองก็เริ่มหาข้อผิดพลาดให้กับราหุล และในเมื่อราหุลไม่ผิด ก็ไปหาเรื่องเอากับคุณทวดของราหุล โดยยกประเด็นที่ นายกรัฐมนตรีชวาหระลาล เนห์รู ไม่รับคำเชิญของรัฐบาลอังกฤษในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ร่วมเป็นหนึ่งในชาติที่เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Permanent member, United Nations Security Council; UNSC) ร่วมกับมหาอำนาจอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เพราะในขณะนั้นนโยบายของอินเดียคือการเป็นประเทศที่เป็นกลางและไม่ฝักใฝฝ่ายใด (ซึ่งเวลาต่อมา มีผลทำให้อินเดียมีบทบาทมากในกลุ่ม Non-Aligned Movement (NAM)) แน่นอนว่าสำหรับกลุ่มชาตินิยมแล้ว การที่อินเดียที่เป็นมหาอำนาจ เป็นประเทศขนาดใหญ่ทั้งในมิติพื้นที่และประชากร แต่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งสมาชิกถาวรใน UNSC ถือเป็นบาปอย่างยิ่ง

 

5. เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย

 

การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น 7 ครั้งในระหว่างวันที่ 11 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2019 จะมีการเลือก ส.ส. จำนวน 543 คน โดยจะมีการนับคะแนนและประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 พฤษภาคม 2019 โดยปกติการนับคะแนนจะเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 7.00 น. และภายใน 16.00 น. ECI ก็จะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้อย่างเป็นทางการ ทำให้เราได้ทราบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 17 จากแต่ละรัฐของอินเดียเป็นใครและมาจากพรรคไหน

ทั้งนี้ เนื่องจากในการจัดการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะทำการเลือกโดยการกดปุ่มที่มีป้ายชื่อพรรคการเมือง (ภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ) และสัญลักษณ์ของพรรค ได้เพียง 1 ครั้ง จากเครื่อง Electronic Voting Machine: EVM (ทำให้ไม่มีบัตรเสีย แต่มีข้อเสียคือถ้ากดผิด คะแนนก็จะไปปรากฏในพรรคที่ผู้เลือกไม่ได้อยากเลือก ไม่สามารถทำให้คะแนนหายไปโดยการกากบาท 2 ครั้งให้บัตรเสียได้)

เครื่อง EVM เป็นการพัฒนาโดย ECI ร่วมกับบริษัท Bharat Electronics โดยเครื่อง EVM นี้จะมีติดตั้งประจำอยู่ 2 เครื่องในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง (ใช้งาน 1 เครื่อง และสำรอง 1 เครื่อง) มีแบตเตอรี่ในตัวเครื่อง ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า และไม่มีการเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อป้องกันการแฮ็คและการแก้ไขข้อมูล ข้อมูลจะถูกบันทึกด้วยการ์ดหน่วยความจำในตัวเครื่อง และหลังจากการเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ (เนื่องจากอินเดียเลือกตั้งกันนานหลายสัปดาห์) เครื่อง EVM จะถูกนำไปเก็บในห้องที่ปิดล็อคและมีเจ้าหน้าที่เฝ้าเอาไว้ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าจะถึงวันนับคะแนน

ดังนั้นเราสามารถคาดการณ์ได้ว่า ผลการนับคะแนน และการจัดตั้งรัฐบาลของประเทศอินเดียน่าจะเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นลงภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2019 (อาจเสร็จก่อนบางประเทศที่มีการเลือกตั้งไปก่อนหน้านั้น)

อีกตัวเลขที่น่าสนใจคือ Election Commission of India ใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งประมาณ​ 552 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 17,500 ล้านบาท) สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 900 ล้านคน และมีหน่วยเลือกตั้งจำนวน 1,035,918 หน่วย เฉลี่ยต้นทุนในการเลือกตั้งต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 คนอยู่ที่ประมาณ 20 บาท โดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถประกาศผลได้ภายใน 1 วัน แม้จะมีการจัดการเลือกตั้ง 7 ครั้งในห้วงเวลาประมาณ 2 เดือน

ในขณะที่ประเทศไทย กกต. ใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง 5,800 ล้านบาท สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,735,326 คน นั่นหมายความว่า เราใช้ต้นทุนเฉลี่ยในการเลือกตั้งอยู่ที่ประมาณ 112 บาท ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 คน หรือสูงกว่าของประเทศอินเดียประมาณ 5.6 เท่า โดยของประเทศไทยใช้การกากบาทลงในกระดาษ ใช้เวลาในการจัดเลือกตั้ง 1 วัน แต่ต้องรอการประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการประมาณ 6-7 สัปดาห์ หรืออาจนานยิ่งกว่านั้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save