fbpx
150 ปี มหาตมะ คานธี: อุดมการณ์ ข้อครหา และลูกหลานในปัจจุบัน

150 ปี มหาตมะ คานธี: อุดมการณ์ ข้อครหา และลูกหลานในปัจจุบัน

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่องและภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

ในวันที่ 2 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งของอินเดีย เพราะถือเป็นวันเกิดของมหาบุรุษผู้นำพาอิสรภาพมาสู่ประเทศ บุคคลที่ทุกคนสามารถพบหน้าเขาได้ตามธนบัตรเงินรูปีทุกราคา นั่นก็คือ นายโมหันทาส กรรมจันทร์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า ‘มหาตมะ คานธี’ หากเขายังมีชีวิตอยู่ ปีนี้จะมีอายุครบ 150 ปีพอดี ดังนั้นรัฐบาลอินเดียจึงจัดงานเฉลิมฉลอง รวมถึงเผยแพร่แนวคิด และอุดมการณ์ของมหาตมะ คานธีให้เป็นที่รับรู้มากยิ่งขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย แต่หากจะมาเล่าเพียงเรื่องราวประวัติและอุดมการณ์ของมหาตมะ คานธี เพียงอย่างเดียวก็คงกระไรอยู่

ครั้งนี้เลยถือโอกาสพาทุกคนทำความเข้าใจแนวคิดและอุดมการณ์พื้นฐาน ชีวประวัติและผลงานสำคัญ รวมไปถึงข้อครหาและมุมมองบางเรื่องที่ส่งผลให้ มหาตมะ คานธี ถูกเกลียดชัง หรือสร้างความไม่พอใจในคนบางกลุ่ม ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนคงสงสัยว่าภายหลังการจากไปของท่านมหาตมะ คานธี ลูกหลาน และตระกูลคานธีมีบทบาทอย่างไรในประเทศอินเดียบ้าง

Gandhi Smriti บ้านพักของคานธี ณ กรุงนิวเดลี
Gandhi Smriti บ้านพักของคานธี ณ กรุงนิวเดลี

ชีวิตบนเส้นทางการเรียกร้องเอกราช

หากจะย้อนเรื่องราวของมหาบุรุษผู้นำพาอิสรภาพสู่อินเดีย อย่างมหาตมะ คานธี คงต้องใช้กระดาษหลายใบ หรืออาจยาวเป็นหนังสือหลายเล่ม แต่หากจะให้สรุปคงไม่ยากนัก เพราะเรื่องราวชีวิตของบุรุษผู้นี้ไม่ได้แตกต่างไปจากคนทั่วไปมากนัก คานธีเกิดในตระกูลพ่อค้า หรือในระบบวรรณะของอินเดียคือกลุ่มวรรณะไวศยะ ในรัฐคุชราตทางตะวันตกของอินเดีย หนึ่งในบุคคลที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อคานธี คือ แม่ของเขา ซึ่งมีความศรัทธาในศาสนาเชน นอกจากศาสนาเชนแล้ว ศาสนาฮินดูเองก็ส่งผลอย่างมากต่อคานธีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะคัมภีร์สองเล่มสำคัญ คือ อุปนิษัทและภควัทคีตา

ฉะนั้นตลอดช่วงชีวิตของคานธี อุดมการณ์ แนวคิดในการเคลื่อนไหว และการใช้ชีวิตล้วนได้รับอิทธิพลมาจากคำสอนทางศาสนาทั้งสิ้น หลังจบการศึกษาด้านกฎหมายที่อังกฤษ คานธีเริ่มชีวิตที่ประเทศแอฟริกาใต้และต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติมากมาย จนเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กับคนอินเดียจากเจ้าอาณานิคม ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของคานธี เลื่องลือจากแอฟริกาใต้สู่ดินแดนมาตุภูมิ จนมีคนเชิญชวนให้คานธีเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อปลดแอกคนอินเดียจากการกดขี่ของอังกฤษ

ในช่วงการเคลื่อนไหวเริ่มแรกคานธีพยายามอย่างมากในการนำเสนอแนวทางการเคลื่อนไหวที่มุ่งเน้นการแสวงหาความจริง หรือ ที่รู้จักกันทั่วไปว่า สัตยาเคราะห์ (Satyagraha) โดยปราศจากความรุนแรง หรือแนวทางแบบ อหิมสา (Ahimsa) ซึ่งทั้งสองคำนี้ล้วนได้รับอิทธิพลสำคัญจากแนวคิดทางศาสนาทั้งจากฮินดู เชน และพุทธ อย่างไรก็ตามแนวทางนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนักในช่วงแรก เพราะคนจำนวนมากไม่เข้าใจแนวคิดดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ และความวุ่นวายในอินเดีย จนคานธีต้องประกาศเลิกประท้วงเพื่อทำความเข้าใจถึงพื้นฐานความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว ที่คานธีมองว่าจะนำพาเอกราชมาสู่อินเดียได้โดยปราศจากบาดแผลที่ยากจะประสานในอนาคต

บทบาทและแนวทางประท้วงของคานธีเริ่มมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นภายหลังจากคานธีรับตำแหน่งประธานคองเกรสแห่งอินเดียในปี 1920 และเริ่มการเคลื่อนไหว ‘ไม่ให้ความร่วมมือ’ (Non-cooperation movement) เพื่อส่งสัญญาณถึงอังกฤษ โดยเรียกร้องให้คนอินเดียเลิกให้ความร่วมมือใดๆ กับรัฐบาลบริติชราชในช่วงนั้น และหันมาพึ่งพาและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ การประท้วงหลายครั้งของคานธีทำให้เขาถูกจับกุมและคุมตัว แต่ทุกครั้งคานธีก็พยายามให้ทุกคนไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านรัฐ เพื่อสานต่ออุดมการณ์ของเขา

หนึ่งในความสำเร็จสำคัญคือการต่อต้านกฎหมายเกลือที่รัฐบาลพยายามเรียกเก็บภาษีในอัตราสูง และไม่อนุญาตให้มีการผลิตเกลือเอง คานธีและคองเกรสตัดสินใจเดินทางไกลจากบ้านตัวเองด้วยผู้ติดตามเพียง 80 คน สู่ชายฝั่งทะเลในรัฐคุชราตเป็นระยะทางกว่า 388 กิโลเมตร โดย ณ จุดสิ้นสุดการเดินทาง มีคนอินเดียร่วมล้านคนติดตามคานธีเพื่อต่อต้านกฎหมายดังกล่าวด้วยการผลิตเกลือใช้เอง แน่นอนเหตุการณ์นี้ทำให้คานธีและผู้นำพรรคคองเกรสหลายคนถูกจับกุม

แต่เรื่องนี้ส่งผลสะเทือนต่อสถานะของรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองอินเดียอย่างมาก และถูกนำไปใช้สานต่อเพื่อประท้วงรัฐบาลอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านการเคลื่อนไหว Quit India Movement ซึ่งคานธีและคองเกรสแห่งอินเดียเลือกที่จะไม่สนับสนุนอังกฤษในการทำสงคราม และเรียกร้องให้คนอินเดียทุกคนวางตัวนิ่งเฉย เพื่อขอคำมั่นสัญญาจากอังกฤษว่าจะมอบเอกราชให้กับอินเดีย ซึ่งสถานการณ์ครั้งนี้ต่างจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่คานธีสนับสนุนอังกฤษในการทำสงครามโดยหวังว่าอังกฤษจะตอบแทนด้วยการมอบเอกราชให้อินเดีย

ถึงแม้การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะประสบความล้มเหลวจากการประสานงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และกลุ่มการเมืองในอินเดียแตกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่การกระทำดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษรู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากไม่มอบอิสรภาพให้กับอินเดีย ฉะนั้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอังกฤษจึงเริ่มแผนคืนเอกราชให้กับประเทศอินเดีย และวันที่ 15 สิงหาคม 1947 อินเดียก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษ และถือเป็นจุดสิ้นสุดการเดินทางการประท้วงแบบไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องเอกราชของคานธี แม้อินเดียที่คานธีหวังให้เป็นจะถูกแบ่งเป็น 2 ประเทศ และคานธีมีชีวิตได้เห็นเอกราชของอินเดียเพียง 1 ปีเท่านั้นก็ตาม

รูปปั้นมหาตมะ คานธี ณ Gandhi Smriti
รูปปั้นมหาตมะ คานธี ณ Gandhi Smriti

เหยียดผิว วรรณะ และความเป็นคนธรรมดาของคานธี

แม้ว่าคานธีจะเสียชีวิตมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับตัวเขายังคงมีอยู่ถึงทุกวันนี้ เพราะบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มักมีข้อบกพร่อง และนั่นก็คือสิ่งที่ทำให้มหาบุรุษก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง มหาตมะ คานธีเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น แม้ว่าคานธีจะเป็นต้นแบบของโลกในการผลักดันแนวคิดการเคลื่อนไหวโดยปราศจากความรุนแรงเพื่อเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างจากรัฐ แต่คานธีก็มีจุดบกพร่องหลายเรื่องอันเป็นเหตุมาจากแนวความคิด และความเชื่อของเขา และหนึ่งในเรื่องที่สำคัญประการหนึ่งที่ข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมากชี้ว่า มหาตมะ คานธี อาจจัดอยู่ในกลุ่มคนที่เหยียดสีผิว (Racist)

หนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ถูกหยิบมาพูดถึงและนำไปสู่ปัญหาในการทำลายรูปปั้นของมหาตมะ คานธีในประเทศกานา คือ เอกสารที่คานธีเขียนถึงสภาเมืองนาตัล (Natal) ในปี 1893 ที่ระบุเกี่ยวกับสถานะของคนอินเดียที่น่าจะสูงหรือดีกว่าคนพื้นเมืองหรือคนแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่เป็นข้อเขียนของคานธีอีกหลายชิ้นที่สะท้อนมุมมองของเขาว่ามองคนอินเดียเหนือกว่าคนแอฟริกา ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าความเห็นและความคิดดังกล่าวของคานธีอาจได้รับผลมาจากความคิดเรื่องความยิ่งใหญ่ของชาติอารยันที่คานธีได้รับการศึกษาผ่านคัมภีร์ทางศาสนา

อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้นักวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ และนักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าคานธีเป็นพวกเหยียดผิวคือในช่วงที่คานธีเรียกร้องสิทธิให้กับชาวอินเดียในแอฟริกาใต้นั้น คานธีไม่เอ่ยปากหรือพูดถึงเรื่องสิทธิของชาวแอฟริกาพื้นเมืองเลย พูดง่ายๆ ก็คือคานธีแยกเรื่องสิทธิของคนอินเดียออกจากสิทธิของชาวแอฟริกาพื้นเมือง ทั้งยังแสดงทัศนะมากมายที่สะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างคนอินเดียและคนแอฟริกันพื้นเมือง ที่สำคัญคือในช่วงปี 1906 ชนเผ่าซูรูลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ แต่คานธีกลับเป็นหนึ่งในคนที่สนับสนุนรัฐบาลอังกฤษในการปราบปรามการลุกฮือดังกล่าว เรื่องเหล่านี้กลายเป็นจุดด่างพลอยสำคัญของมหาตมะ คานธี

อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้คานธี มีจุดบกพร่องไม่ต่างไปจากคนธรรมดาอย่างเรา คือเรื่องสิทธิทางการเมืองของกลุ่มคนดาลิต หรือคนไทยนิยมเรียกว่า ‘จัณฑาล’ แม้ว่านักวิชาการและหลายคนมีความเชื่อว่าคานธีต่อต้านระบบวรรณะ และต้องการยกเลิกระบบวรรณะให้หมดไปจากอินเดีย แต่มีบุคคลหนึ่งที่ไม่เชื่อเช่นนั้น และกล่าวว่า “คานธี ไม่ควรถูกเรียกว่ามหาตมะ” เขาคนนั้นก็คือ ดร.อัมเบรดการ์ นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิให้คนดาลิต ที่อยู่ร่วมยุคร่วมสมัยกับคานธี แต่ความคิดเห็นในเรื่องสิทธิของกลุ่มคนดาลิตมีความแตกต่างกัน

คานธีมีความเชื่อว่าปัญหาระบบวรรณะจะหมดสิ้นไปต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคม ฉะนั้นคานธีจึงเปลี่ยนวิธีเรียกคนดาลิตใหม่ ต่างกันออกไป อัมเบรดการ์มองว่าระบบการกดขี่ทางวรรณะจะสิ้นสุดหากกลุ่มคนดาลิตมีสิทธิทางการเมือง เขาจึงเลือกจะเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและการมีที่นั่งพิเศษให้กลุ่มคนดาลิตในรัฐสภา สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้คานธีขวางความคิดอัมเบรดการ์อย่างสุดตัวด้วยการอดอาหารประท้วง พร้อมย้ำชัดว่าดาลิตก็คือกลุ่มคนเดียวกับคนฮินดูทั้งหมด ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ต้องมีที่นั่งพิเศษในรัฐสภา

ข้อถกเถียงและการกระทำดังกล่าวของคานธี ทำให้อัมเบรดการ์วิจารณ์คานธี อย่างหนักหน่วงว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาระบบวรรณะ และกระทำการต่างๆ เพียงเพื่อสร้างภาพและชูอุดมการณ์ที่ยากจะประสบความสำเร็จ ความขัดแย้งระหว่างอัมเบรดการ์และคานธีต่อประเด็นเรื่องดาลิตกลายเป็นความขัดแย้งและจุดด่างสำคัญของคานธีจากอดีตถึงปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะเห็นกลุ่มคนที่สนับสนุนแนวคิดของดร.อัมเบรดการ์ในปัจจุบันไม่ค่อยจะพอใจในตัวคานธีนัก

ฉะนั้นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่อย่างมหาตมะ คานธี ก็มีรอยด่างพร้อยไม่ได้แตกต่างไปจากคนธรรมดาทั่วไป และด้วยความด่างพร้อยเหล่านี้เองที่ทำให้คานธีคือมนุษย์คนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกด้วยสองมือและสติปัญญา เป็นคนที่ไม่ได้ดีไปทุกมุม แต่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่างในตัวเอง

แม้กระทั่งหลานชายของเขา นายราชโมหัน คานธี ผู้เขียนชีวประวัติของคานธียังระบุว่า “คานธีก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่คนไม่สมบูรณ์แบบคานธี ก็ก้าวล้ำคนร่วมยุคในการเปลี่ยนแปลงสังคมอินเดีย”

ที่นอนและเครื่องใช้สอยของมหาตมะ คานธี เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
ที่นอนและเครื่องใช้สอยของมหาตมะ คานธี เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่

ตระกูลคานธีที่หายไปจากประวัติศาสตร์การเมืองอินเดีย

นอกจากเรื่องตัวตนของคานธีในมิติการเมืองและสังคมจะน่าสนใจแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจไม่ต่างกันคงเป็นเรื่องราวภายในครอบครัวของคานธีเองที่หาข้อมูลได้ยากยิ่ง ก่อนอื่นต้องขอแก้ไขความเข้าใจผิดในบางเรื่องเกี่ยวกับตระกูลของมหาตมะ คานธี กับการเมืองอินเดีย คือหลายคนมีความคิดว่า อินทิรา คานธี คือลูกสาวหรือลูกสะใภ้ของมหาตมะ คานธี ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น ทั้งสองไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ทางสายเลือดเลย เพราะอินทิรา คานธี เป็นลูกของชวาหร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย และมีสามีชื่อฟีโรส คานธี ซึ่งเป็นชาวปาสี และไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับมหาตมะ คานธีด้วยเช่นกัน ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่านับตั้งแต่การเสียชีวิตลงของมหาตะ คานธี ลูกหลาน และสายตระกูลคานธีแทบจะหายไปจากกระดานการเมืองของอินเดียอย่างสิ้นเชิง คำถามของใครหลายคนคงอยู่ที่ว่าลูกหลานของคานธี บุรุษผู้ได้รับยกย่องให้เป็นบิดาของชาติอินเดีย ประกอบอาชีพการงานและอยู่กันอย่างไรภายใต้ร่มเงาชื่อของมหาตมะ คานธี

คงต้องบอกว่าเรื่องราวของตระกูลนี้ค่อนข้างจะลึกลับและมีข้อมูลไม่มากนักนอกจากงานเขียนที่ลูกหลานชั้นถัดๆ มาเขียนถึงบรรพบุรุษของตน ในชั้นลูกของคานธี เขามีลูกกับภรรยาทั้งสิ้น 4 คน ซึ่งแต่ละคนมีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป ลูกชายคนโตของคานธี (Harilal Gandhi) มีชีวิตที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของพ่อ และจบชีวิตด้วยโรคสุราเรื้อรัง และมักถูกคานธีวิจารณ์และบ่นว่าปัญหาของลูกชายคนนี้ใหญ่หลวงเสียยิ่งกว่าการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ในขณะที่ลูกชายคนที่สอง (Manilal Gandhi) สาม (Ramdas Gandhi) และสี่ (Devdas Gandhi) ของคานธีร่วมเรียกร้องและเคลื่อนไหวกับคานธี และทำงานด้านสื่อภายหลังจากอินเดียได้รับเอกราชอย่างเงียบๆ

ในขณะที่ชั้นหลานของคานธีนั้น ต่างคนต่างไปมีอาชีพที่หลากหลาย แต่ไม่มีใครหันหน้าเข้าสู่การเมืองอินเดียเลย บางส่วนเดินเส้นทางของการเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง Arun Manilal Gandhi ที่มุ่งเผยแพร่อุดมการณ์และแนวคิดของคานธี เช่นเดียวกับน้องสาวของเขา Ela Gandhi ที่นอกจากจะเป็นนักเคลื่อนไหวแล้ว ยังลงเล่นการเมืองในประเทศแอฟริกาใต้ในฐานะสมาชิกรัฐสภาด้วย ในขณะหลานคานธีอีกส่วนเลือกเดินเส้นทางการเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการ เช่น Kanu Gandhi ที่ทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ประจำนาซ่า Rajmohan Gandhi เป็นศาสตราจารย์ด้านเอเชียใต้ประจำ University of Illinois at Urbana–Champaign เช่นเดียวกัน Ramchandra Gandhi ทำงานเป็นอาจารย์ด้านปรัชญาและผู้ริเริ่มก่อตั้งภาควิชาปรัชญาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วอินเดีย ในขณะที่ Gopalkrishna Gandhi เลือกเดินในสายงานราชการและเกษียณอายุราชการของตัวเองด้วยการเป็นผู้ว่าราชการรัฐเบงกอลตะวันตก

สำหรับในชั้นเหลนของคานธีเองก็ยังไม่มีใครเลือกเดินสายการเมือง แต่กลับทำงานเป็นนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา และนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ซึ่งอยู่ห่างไกลความยิ่งใหญ่ของมหาตมะ คานธีมาก เรียกได้ว่าลูกหลานของมหาตมะ คานธี อยู่กันอย่างคนธรรมดา ไม่เปิดเผยตัวตนต่อคนภายนอกมากนักถึงสายสัมพันธ์ที่ตัวเองมีต่อมหาบุรุษคนสำคัญของอินเดีย และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอินเดียหลังได้รับเอกราช ซึ่งแตกต่างจากตระกูลของบัณฑิตชวาหร์ลาล เนห์รู ที่ทุกวันนี้ตระกูลของเขายังคงวนเวียนอยู่ในวังวนการแก่งแย่งอำนาจทางการเมืองภายในอินเดีย

อาจเรียกได้ว่าตระกูลของมหาตมะ คานธี ได้หายหน้าไปจากประวัติศาสตร์การเมืองอินเดียอย่างสิ้นเชิงภายหลังอินเดียได้รับเอกราช และทุกคนอยู่อย่างคนธรรมดาไม่ว่าจะในต่างประเทศหรือในอินเดียเองก็ตาม ความธรรมดานี้เองที่มหาตมะ คานธีคอยบอกและสอนลูกหลานตลอดมา ส่งผลให้ตระกูลคานธีไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากปัญหาการเมือง และมหาตะ คานธีก็ไม่เคยสูญเสียสถานะบิดาแห่งชาติอินเดีย เป็นบุคคลซึ่งแป็นแรงบันดาลใจในการเคลื่อนไหวทั่วโลกทั้งในแอฟริกาใต้ และสหรัฐอเมริกา


อ้างอิง – หนังสือ The South African Gandhi: stretcher-bearer of empire

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save