fbpx
“จาก ม.112 ถึงรัฐธรรมนูญ : โจทย์การเมืองไทยแห่งปี 2564” กับ พริษฐ์ วัชรสินธุ

“จาก ม.112 ถึงรัฐธรรมนูญ : โจทย์การเมืองไทยแห่งปี 2564” กับ พริษฐ์ วัชรสินธุ

 

กว่า 21 คดี ผู้ต้องหาอย่างน้อย 41 คน ภายในระยะเวลา 2 เดือน ท่ามกลางข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทำให้ ‘ม.112’ หรือ ‘กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์’ กลับมาเป็นปมของการเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปกว่า 2 ปี

ในขณะเดียวกันปมเดิมต่อเนื่องจากปีที่แล้วอย่างการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลายออกง่ายๆ

101 สนทนากับ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ว่าด้วยสองโจทย์ใหญ่ของการเมืองไทยปี 2564 เพื่อร่วมหาคำตอบว่า สังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านอย่างสันติได้อย่างไร

 

:: มาตรา 112 ส่งผลกระทบต่อทั้งต่อประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์เอง ::

 

 

มาตรา 112 ของไทยขัดกับหลักสากลที่ใช้กันทั่วไปในประเทศที่อยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่สามมิติ

มิติที่หนึ่ง คือความหนักของโทษ มาตรา 112 ของไทยกำหนดโทษจำคุกอยู่ที่ 3-15 ปี ซึ่งถือว่าเป็นโทษที่หนักมาก ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับมิติไหนก็ตาม ถ้าเทียบกับกฎหมายอื่นๆ ของไทย จะเห็นว่าโทษของมาตรา 112 เทียบเท่ากับการฆ่าคนโดยไม่เจตนา

ถ้าเทียบกับกฎหมายของไทยในอดีตที่มีลักษณะเดียวกัน โทษของมาตรา 112 ในปัจจุบันหนักกว่าโทษในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก ซึ่งในสมัยนั้นได้กำหนดโทษไว้ที่จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ 7 ปี แล้วแต่ช่วงเวลา จนกระทั่งถูกยกระดับขึ้นมาเป็น 3-15 ปี ตั้งแต่ปี 2519 และใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

หรือหากลองเทียบกับกฎหมายลักษณะเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 112 ของเราก็หนักกว่าอีกหลายชาติเช่นกัน เช่น โมนาโกกำหนดโทษจำคุกครึ่งปี-5 ปี สวีเดนที่ 0-6 ปี เดนมาร์ก 0-8 เดือน และเนเธอร์แลนด์ 0-4 เดือน ขณะที่ประเทศอย่างสหราชอาณาจักร นอร์เวย์ และญี่ปุ่น ไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมายอาญา แต่เป็นกฎหมายแพ่ง จึงไม่มีโทษจำคุก มีแต่เพียงการเรียกร้องค่าเสียหาย

มิติที่สอง คือปัญหาในเชิงการบังคับใช้ ซึ่งไม่ได้มีการวางขอบเขตชัดเจนระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต กับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย ในเชิงกฎหมาย การวิจารณ์โดยสุจริตไม่น่าจะเข้าข่ายความผิด เพราะมาตรา 112 เขียนถึงแค่ความผิดจากการที่ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย..” แต่ในทางปฏิบัติ หลายคนที่แม้จะวิจารณ์โดยสุจริต ก็ถูกตัดสินว่าผิด

ปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนตรงนี้ อาจเป็นเพราะในขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 329, 330 ระบุไว้ชัดเจนสำหรับการหมิ่นบุคคลธรรมดา ว่าการ ‘วิจารณ์โดยสุจริต’ หรือการกล่าว ‘ความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน’ เป็นข้อยกเว้นที่ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่ข้อยกเว้นเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกเขียนกำกับกรณีการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่จริงแล้วการเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตอาจเป็นประโยชน์ต่อสถาบันเองด้วย

นอกจากนี้มาตรา 112 ยังมีความไม่แน่นอนในการบังคับใช้ เช่น กรณีการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งผู้แชร์ถูกตัดสินว่าผิดมาตรา 112 (ทั้งที่ไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท) แต่สำนักข่าวก็ไม่ได้โดนข้อหานี้แต่อย่างใด (ซึ่งถูกต้องแล้วที่ไม่โดนข้อหา และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเนื้อหาในบทความไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท)

มิติที่สาม คือการที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง ทำให้เป็นคดีที่ยอมความกันไม่ได้ ใครๆ จึงสามารถกล่าวโทษและฟ้องคนอื่นได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในสองมิติ มิติแรกคือคนบางกลุ่มอาจตัดสินใจฟ้องมาตรา 112 ด้วยเจตนาที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ แต่เมื่อจำเลยถูกตัดสินว่าผิด ความคับแค้นใจก็ไปตกอยู่ที่สถาบันฯ  ส่งผลให้สถาบันฯ กลายเป็นคู่กรณี แม้ในบางครั้งสถาบันฯ อาจจะไม่รับรู้หรือไม่ได้ต้องการที่จะเอาผิดก็ตาม และอีกมิติหนึ่งก็คือการที่สถาบันฯ ถูกนักการเมืองบางกลุ่มจงใจนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกลั่นแกล้งฝั่งตรงข้าม หรือการนำสถาบันฯ ไปใช้ปกปิดการทุจริต เช่น การระบุว่าเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ จนทำให้คนไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ

ปัญหาของการใช้มาตรา 112 เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองของประเทศถึงสองอย่าง ทั้งต่อประชาธิปไตย-หลักสิทธิมนุษยชน และต่อเสถียรภาพ-เกียรติยศของสถาบันกษัตริย์เอง

 

:: การกลับมาของมาตรา 112 ในห้วงเวลาที่บริบทสังคมเปลี่ยนไป ::

 

 

การที่มาตรา 112 ถูกนำมาใช้อีกครั้งในตอนนี้มีความน่ากังวลหลายด้าน ด้านหนึ่งคือปริมาณของคดีความที่เกิดขึ้นมาถึง 30-40 คดี นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ด้านต่อมาคือความไม่แน่ไม่นอนของข้อกล่าวหา และไม่มีขอบเขตชัดเจนว่าอะไรผิดหรือไม่ผิด เราจะเห็นว่าข้อกล่าวหามีความกว้างมาก ตั้งแต่การพูดบนเวทีปราศรัย การแจกสื่อสิ่งพิมพ์ หรือการจำหน่ายปฏิทิน และด้านสุดท้ายคือความรู้สึกสะเทือนใจของหลายคน โดยเฉพาะการเห็นคนที่ถูกฟ้องบางคนมีอายุเพียง 16 ปี

การพยายามสร้างความหวาดกลัวโดยเอามาตรา 112 กลับมาใช้ ไม่ใช่กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสักเท่าไหร่ เพราะคนก็ยังพูดถึงประเด็นนี้กันอยู่ เวทีวิชาการที่พูดคุยประเด็นนี้ก็มีมากขึ้น และสังคมมีปฏิกิริยาที่เปิดรับในการพูดคุยเรื่องนี้ด้วยเหตุและผลมากขึ้น บริบทสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว ยิ่งเราปล่อยให้ปัญหาของมาตรา 112 นี้เกิดต่อไปโดยไม่มีการสะสางแก้ไข จะยิ่งมีผู้ที่วิจารณ์โดยสุจริตได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ การนำมาตรา 112 กลับมาใช้ ถือเป็นการนำปัญหาเก่าๆ กลับมาสร้างปัญหาใหม่ๆ

ถ้ารัฐบาลฟังอยู่ ผมอยากให้รีบหาทางออกเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด

 

:: มาตรา 112 ควรไปทางไหน ::

 

 

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นประเด็นที่เป็นหัวใจของข้อถกเถียงสำหรับคนทั้งสองฝ่ายในตอนนี้ ข้อเสนอปฏิรูปนั้นกว้างมาก แต่ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่สุดและทุกฝ่ายน่าจะมีโอกาสเห็นตรงกันมากที่สุดในตอนนี้ก็คือการแก้ไขมาตรา 112 เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับทั้งประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์เอง

เพราะฉะนั้นทุกคนไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ฝั่งไหนก็สามารถคุยเรื่องนี้กันได้ นอกจากนี้ หากไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 การหาทางออกร่วมกันเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ผ่านกลไกรัฐสภาจะสามารถทำได้ยากขึ้น และในที่สุดอาจถูกบีบให้ไปพูดกันบนท้องถนน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เวทีที่ดีที่สุดในการหาฉันทมติร่วมกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราปลดล็อกมาตรา 112 เราจะพูดคุยกันได้อย่างปลอดภัย และหาฉันทมติกันได้ง่ายขึ้น

การพิจารณาเกี่ยวกับมาตรา 112 ใหม่ต้องอาศัยหลักการสามอย่าง

หลักการที่หนึ่ง คือเราจะวางโทษใหม่อย่างไร ประเด็นสำคัญคือการลดโทษ โดยการเทียบกับกฎหมายการหมิ่นบุคคลหรือสถาบันอื่นๆ ได้แก่กฎหมายหมิ่นประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้แทนรัฐต่างประเทศ เจ้าพนักงาน ศาล และบุคคลธรรมดา ซึ่งมีโทษที่แตกต่างกันออกไป การจะปรับลดโทษของมาตรา 112 จึงต้องรวมถึงการสะสางโทษการหมิ่นทั้งหมดให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมด้วย

ในการวางโทษใหม่ หนึ่งคำถามที่ต้องขบคิดก็คือว่าการหมิ่นประมาทควรเป็นความผิดทางแพ่งหรืออาญา ซึ่งจะนำเราไปสู่ทางออกห้าแบบ

ทางออกแบบที่หนึ่ง คือการให้การหมิ่นประมาททุกรูปแบบเป็นความผิดทางแพ่งอย่างเดียวเหมือนที่อังกฤษ ญี่ปุ่น และนอร์เวย์ โดยจะไม่มีกฎหมายคุ้มครองประมุขแยกออกมา แต่รวมอยู่ในความผิดทางแพ่งเหมือนคนธรรมดา บางคนก็กลัวว่าแนวทางนี้จะทำให้คนที่มีเงินเยอะพร้อมหมิ่นผู้อื่นหรือสถาบันมากขึ้นโดยเลือกที่จะยอมจ่ายค่าเสียหาย จึงอยากให้มีความผิดทางอาญาด้วย

หากเรามองว่าการหมิ่นประมาทยังควรมีความผิดทางอาญา เราก็มีสองคำถามที่ต้องคิด คำถามแรกคือคดีหมิ่นประมาทควรมีโทษจำคุกด้วยหรือมีแค่โทษปรับ และอีกคำถามคือการหมิ่นสถาบันควรมีโทษเท่ากับหรือต่างจากคดีการหมิ่นบุคคลและสถาบันอื่นๆ จากนั้นสองคำถามนี้จึงนำไปสู่ทางออกอีกสี่แบบ ได้แก่

หนึ่ง คดีหมิ่นสถาบันและคดีหมิ่นอื่น มีโทษปรับอย่างเดียวและปรับเท่ากัน
สอง คดีหมิ่นสถาบันและคดีหมิ่นอื่น มีโทษปรับอย่างเดียว แต่คดีหมิ่นสถาบันมีโทษปรับที่สูงกว่า
สาม คดีหมิ่นสถาบันและคดีหมิ่นอื่น มีโทษจำคุกด้วย แต่จำคุกเท่ากัน
สี่ คดีหมิ่นสถาบันและคดีหมิ่นอื่น มีโทษจำคุกด้วย แต่คดีหมิ่นสถาบันมีโทษจำคุกที่สูงกว่า

ส่วนตัวผมเอง ถ้าสมมติยังคิดอยู่ในกรอบที่ว่าคดีหมิ่นสถาบันยังเป็นความผิดอาญาอยู่ หากกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดายังคงโทษจำคุกไว้ ผมมองว่าการกำหนดโทษการหมิ่นสถาบันไว้เท่ากับการหมิ่นบุคคลธรรมดาถือว่าสมเหตุสมผลที่สุด เพราะโทษของการหมิ่นบุคคลธรรมดาซึ่งปัจจุบันอยู่ที่การจำคุก 0-2 ปี ก็ถือว่าสูงอยู่แล้ว นอกจากนี้การกำหนดโทษไว้เท่ากันยังสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่มองคนทุกคนเท่ากันด้วย

หลักการที่สอง การคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตสามารถทำได้หรือไม่ หลักการนี้เป็นหลักการที่แก้ไขง่ายที่สุด เพราะเรามีกฎหมายอาญามาตรา 329-330 เป็นข้อยกเว้นสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาที่บอกไว้อยู่แล้วว่าการวิจารณ์โดยสุจริตไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท เราสามารถยกหลักการเดียวกันนี้มาใช้เพื่อวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับการหมิ่นประมาทสถาบันได้เช่นกัน

และหลักการที่สาม ก็คือใครจะมีอำนาจฟ้องคดีหมิ่นสถาบันได้บ้าง นี่เป็นประเด็นที่ผมเองก็ยังไม่ตกผลึกว่าทางออกควรเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือต้องไม่ให้เป็นการที่ใครฟ้องก็ได้เหมือนเดิม เพราะปัญหาจะเกิดขึ้นแน่นอน บางฝ่ายเสนอว่าให้สถาบันเป็นคนตัดสินใจว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องเอง โดยอาจดำเนินการผ่านทางสำนักราชเลขาธิการ เหมือนอย่างที่อังกฤษ แต่ก็มีความกังวลว่าจะทำให้สถาบันกลายเป็นคู่กรณีอย่างชัดเจนเกินไป บางฝ่ายก็เสนอให้เว้นระยะห่างออกจากสถาบันหน่อย ก็คือการให้บางองค์กรรับผิดชอบแทน เช่น เนเธอร์แลนด์ที่ให้อำนาจกระทรวงยุติธรรมดำเนินการ

ทางเลือกในการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 มีอยู่หลายทาง อย่างการยกเลิกกฎหมายก็ทำได้ในสองรูปแบบ คือการยกเลิกกฎหมายคุ้มครองประมุขไปเลย โดยประมุขจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายเดียวกับบุคคลธรรมดา หรืออาจยกเลิกมาตรา 112 ที่เป็นอยู่ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคง แต่ย้ายมาเขียนมาตราเสริมในหมวดเดียวกันกับกฎหมายหมิ่นบุคคลธรรมดา ที่ระบุรายละเอียดเฉพาะสำหรับสถาบัน แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเลือกวิธีการ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเราจะยึดหลักการอะไรในการตอบสามประเด็นปัญหาข้างต้น (โทษควรเป็นอย่างไร / วิพากษ์วิจารณ์สุจริตควรทำได้หรือไม่ / ใครควรเป็นคนฟ้องคดีหมิ่นสถาบัน)

กระบวนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สามารถทำได้ โดย ส.ส. 25 คนหรือภาคประชาชนจำนวนหนึ่งหมื่นรายชื่อมีสิทธิเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อตอนที่คณะนิติราษฎร์เสนอแก้กฎหมายนี้ด้วยการลงชื่อจากภาคประชาชน แต่ร่างกฎหมายกลับถูกตีความจากรัฐสภาในตอนนั้นว่าร่างกฎหมายไม่เข้าข่ายกฎหมายที่อยู่ภายใต้กรอบสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงไม่สามารถเสนอร่างได้ ผมก็หวังว่าครั้งนี้ หากมีการเสนอร่างกฎหมายโดยภาคประชาชน รัฐสภาจะไม่ใช้บรรทัดฐานแบบนั้นมาตีความอีก

ที่สำคัญ ไม่ว่าคุณจะอยู่ซีกไหนของการเมือง ไม่ว่าคุณจะเห็นต่างกันอย่างไรในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 แต่ถ้าคุณเห็นเหมือนกันว่ากฎหมายนี้มีปัญหา เราก็ควรมาคุยกันว่าเราเห็นตรงกันหรือต่างกันเรื่องอะไร มาแสดงเหตุผลโน้มน้าวกันและกัน หาทางออกร่วมกัน

 

:: โจทย์ใหญ่การเมืองไทย –
สังคมก้าวหน้า แต่ระบบล้าหลัง ::

 

 

ปัจจุบัน ประเทศเราเจอเกมชักกะเย่อระหว่างระบบกติกากับความคิดคนในสังคม ถ้าดูจากรัฐธรรมนูญปี 2560 เทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 จะเห็นว่าประชาธิปไตยเราถดถอย แต่ตรงกันข้าม ในมุมของสังคม ค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพก้าวหน้าขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในประเทศมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศง่ายขึ้น

คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองโลกมากกว่าจะยึดโยงอยู่กับชาติ เราจะเห็นได้จากข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่แสดงถึงแนวคิดเสรีสูงมาก เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การสมรสเท่าเทียม และสิทธิการยุติการตั้งครรภ์ แต่ขณะที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าเสรีนี้ ระบบกติกาของประเทศกลับดึงไปอีกทางหนึ่ง จนเกิดความตึงเครียดขึ้น และเมื่อดึงกันไปมาถึงจุดหนึ่ง เชือกก็อาจขาดลง ซึ่งอาจหมายถึงการเกิดความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ปฏิกิริยาโต้ตอบจากฝั่งรัฐในตอนนี้ถือว่าน่ากังวลมาก เพราะรัฐพยายามใช้ไม้แข็ง เอากฎหมายมาอ้าง ไม่รับฟังข้อเสนอ ไม่แสดงความจริงใจและความกระตือรือร้นที่จะประนีประนอมกับประชาชน อย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ การชุมนุมก็อาจไม่เกิดขึ้นเลย แต่พอปล่อยมาถึงตอนนี้และเพิ่งจะมาเริ่มทำตอนนี้ ก็สายไปแล้ว หรือเรียกว่า ‘Too little too late’

ผมอยากเห็นรัฐบาลกระตือรือร้นมากขึ้นที่จะรับฟังและประนีประนอมกับประชาชน ยิ่งในตอนนี้เราเจอวิกฤตซ้อนกันถึง 3 วิกฤตคือวิกฤตสุขภาพ เศรษฐกิจ และการเมือง รัฐบาลก็ต้องยิ่งเร่งแก้ไขปัญหาทุกเรื่องควบคู่กันไป ยิ่งทำเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี รัฐต้องแสดงความจริงใจต่อประชาชน แม้จะเห็นต่างกันในประเด็นไหนก็ตาม ต้องหาจุดร่วมกันให้ได้

การอยู่ในสังคมประชาธิปไตยนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีความเห็นตรงกันทั้งหมด ความหลากหลายทางความคิดถือเป็นเรื่องปกติมาก แต่สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ทุกคนยึดหลักประชาธิปไตยที่คนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตประเทศนี้ได้เหมือนกัน

เราต้องสร้างบทสนทนาที่อิงเหตุผลและข้อมูลเป็นหลัก โดยไม่ใช้อารมณ์ และที่สำคัญคือเราต้องสร้างการมีบทสนทนาที่ปลอดภัย ภาครัฐต้องรับรองความปลอดภัยว่าทุกคนสามารถพูดเรื่องต่างๆ กันได้โดยจะไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ถ้าเราสร้างบรรยากาศแบบนี้ได้ เราจะหาทางออกร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หรือกระทั่งเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาตรา 112 ก็ตาม

 

:: แก้รัฐธรรมนูญ ทางออกวิกฤตการเมือง ::

 

 

หนึ่งในปัญหาสำคัญทางการเมืองตอนนี้คือรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีปัญหาทั้งเรื่องของที่มา ที่ถูกเขียนโดยไม่เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น กระบวนการประชามติก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยไม่เปิดให้ฝั่งคัดค้านได้ออกมารณรงค์มากนัก แถมยังมีการจับกุมคนที่รณรงค์โหวตโนด้วย นอกจากนี้ตัวเนื้อหาก็ยังมีความห่างเหินจากหลักประชาธิปไตยสากล เช่นการให้ ส.ว. แต่งตั้งมาเลือกนายกฯ

การแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกของวิกฤตการเมืองได้แน่นอน ตอนนี้ สิ่งที่เราต้องทำคู่กันสองอย่างก็คือ หนึ่ง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งก็อยู่ที่สูตรการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)  และสอง การแก้ไขบางมาตราที่เป็นปัญหาอย่างทันที แต่ถ้าดูจากเหตุการณ์ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมค่อนข้างกังวลกับทั้งสองอย่างนี้

ข้อกังวลที่ 1 คือ รายละเอียดของ ส.ส.ร. ในสูตรที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล ค่อนข้างมีความอันตรายอยู่ เพราะจะมีสมาชิก 50 คน จาก 200 คน ที่มาจากการแต่งตั้งด้วย ซึ่งคนที่ได้รับการแต่งตั้งก็คือตัวแทนของรัฐสภา 20 คน ซึ่งมีทั้ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. ซึ่งจะเห็นว่าในนี้มีคนที่เห็นด้วยกับระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้วเกิน 2 ใน 3

นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งตัวแทนกลุ่มนิสิตนักศึกษาจำนวน 10 คน ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะดี แต่ถ้าไปดูรายละเอียดจะเห็นว่าเป็นการกำหนดให้ กกต. เป็นคนคิดวิธีการคัดเลือก โดยไม่ได้เขียนไว้ชัดว่าให้นักศึกษาคัดเลือกกันเอง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นกลิ่นอายของการพยายามควบคุมเนื้อหารัฐธรรมนูญจากส.ส.ร. สูตรนี้อยู่ ส่งผลให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่อาจไม่ได้เกิดผลลัพธ์อะไรที่แตกต่างจากเดิมมากนัก

ส่วนตัวของผม ผมต้องการให้ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะขนาด ส.ส. ที่ไปร่างกฎหมายของประเทศ ก็ยังมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แล้วเพราะเหตุใด การเลือกตัวแทนที่ไปร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศถึงจะไม่ใช้ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

สูตร ส.ส.ร. ที่ให้มีการแต่งตั้งด้วย ผมเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่ฟังขึ้นได้เลย บางคนอาจบอกว่าการแต่งตั้งต้องมีเพื่อให้เรามี ส.ส.ร. ที่ประกอบด้วยคนหลากหลายวิชาชีพ แต่ผมมองว่าเราสามารถทำให้ ส.ส.ร. มีความหลากหลายได้ภายใต้กรอบของการเลือกตั้ง เช่น การใช้ระบบบัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้ ผมยังเห็นว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ควรใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ประเด็นนี้ผมเห็นต่างจากร่างของพรรคฝ่ายค้าน ที่เสนอให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เพราะผมเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญคือเรื่องระดับประเทศ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ว่าคนในแต่ละจังหวัดจะต้องมองต่างกัน ถ้าเราใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เราจะสามารถกำจัดอิทธิพลท้องถิ่นออกไปได้ และถ้าเรายังอยากให้มีตัวแทนจากแต่ละจังหวัดอยู่ เราก็สามารถทำได้โดยการให้แต่ละกลุ่มจัดระบบบัญชีรายชื่อเช่นกัน เราจะเห็นว่าทุกอย่างทำได้ในกรอบของการเลือกตั้ง

ตอนนี้มีแนวโน้มสูงมากว่า ส.ส.ร. จะเกิดขึ้นในสูตรของพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าคนในรัฐบาลฟังผมอยู่ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผม ผมขอว่าอย่าคิดแทนประชาชน แต่ควรถามประชาชนเพิ่มเข้าไปในประชามติ (ที่ต้องจัดขึ้นอยู่แล้ว) ว่าต้องการ ส.ส.ร. แบบไหน

ข้อกังวลที่ 2 คือ การแก้ไขบางมาตราที่เป็นปัญหาอย่างทันทีไม่ได้เกิดขึ้น เช่น ข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ได้ ที่ถูกเสนอเป็นร่างกฎหมายที่ 4 ในรัฐสภาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ก็ยังถูกตีตก ทั้งที่กฎหมายข้อนี้ขัดกับหลักประชาธิปไตยอย่างชัดเจน และถ้าไม่แก้ข้อนี้ ปัญหาก็จะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมยังไปไกลถึงเรื่องของสถาบันฯ บางประเด็นอาจไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 112 ซึ่งสามารถเสนอรัฐสภาแก้ได้ทันทีโดยไม่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถ้าพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องกลับมาดูเรื่องการแก้ไขหมวด 1-2 ซึ่งโมเดลของ ส.ส.ร. ในปัจจุบันได้ถูกล็อกไว้ว่า ห้ามแตะหมวด 1-2 เพราะกังวลว่าจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง แต่ผมเห็นว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะในมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามเปลี่ยนรูปแบบการปกครองอยู่แล้ว และถ้าเราย้อนไปมองประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540-2550-2560 เราจะเห็นว่ามีการแก้ไขหมวด 1-2 มาโดยตลอด ซึ่งก็ไม่ได้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การห้ามแก้หมวด1-2 ไม่ได้อยู่ในหลักการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่ารัฐสภาอาจแปรญัตติในวาระ 2 ได้ หรือไม่เช่นนั้นก็ใส่เป็นคำถามเพิ่มเติมในประชามติ ถามประชาชนว่าควรให้ ส.ส.ร. มีอำนาจแก้ไขหมวด 1-2 ได้หรือไม่ นอกเหนือไปจากคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสูตร ส.ส.ร.

 

:: แก้รัฐธรรมนูญ ช่วยแก้วิกฤตเศรษฐกิจและสุขภาพได้ด้วย ::

 

 

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีปัญหาแค่ในเชิงการเมือง แต่ยังมีปัญหาในการออกแบบภาครัฐให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เช่น หลักเกณฑ์การกระจายอำนาจ และหลักสิทธิสวัสดิการที่ชัดเจนในวันที่สังคมกำลังมีความเปราะบางมากขึ้น ผมเชื่อว่าการแก้ปัญหาทั้งวิกฤตการเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากวิกฤตสุขภาพ อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้ สามารถแก้ได้ส่วนหนึ่งจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ไหนๆ เราต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองแล้ว ผมก็อยากจะให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อส่งเสริมและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เราสามารถรับมือกับวิกฤตโควิดและวิกฤตอื่นๆ ในอนาคตได้ด้วย

บางคนอาจมีข้อโต้แย้งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะปัญหาเรื่องปากท้องและโควิด-19 สำคัญกว่า แต่ผมเห็นว่าถ้าเราอยากเห็นเศรษฐกิจดี ระบบการเมืองที่ดีก็เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน ถ้าเราไปย้อนมองประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจแต่ละครั้งมักมาพร้อมกับการปฏิรูปการเมือง เช่น การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 ที่เกิดขึ้นไม่กี่ปีหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และ การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมมาก ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับวิกฤตต้มยำกุ้ง นี่ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นเพราะวิกฤตเศรษฐกิจเข้ามาเปิดแผลปัญหาโครงสร้างต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปผ่านการปฏิรูปการเมืองไปด้วย

ถ้าถามว่าการแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจอย่างไร ผมเชื่อว่าถ้าเรามีประชาธิปไตยที่ดี เราจะมีระบบกลไกที่ทำให้ความต้องการของประชาชนเข้ามาสู่การตอบสนองและการพิจารณาของผู้มีอำนาจมากขึ้น

การแก้รัฐธรรมนูญสามารถใส่ประเด็นที่จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ตอนนี้ โควิด-19 ทำให้เราเห็นความเปราะบางของคุณภาพชีวิตประชาชน สิ่งที่รัฐธรรมนูญช่วยได้คือการวางหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ทำให้แม้จะเกิดวิกฤต ประชาชนก็จะมีตาข่ายรองรับ ทั้งสาธารณสุขและการศึกษาที่มีคุณภาพ หรืออาจรวมถึงรายได้พื้นฐานสำหรับคนตกงาน

นอกจากนี้สิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่งที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญ และควรจะถูกใส่เข้าไปก็คือสิทธิในเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพราะเราจะเห็นเลยว่าคนที่เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากออนไลน์ได้มักมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนที่เข้าไม่ถึง ตอนนี้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ควรเป็นอภิสิทธิ์ แต่เป็นสิทธิพื้นฐาน การเพิ่มสิทธินี้เข้าไปจะทำให้รัฐสามารถวางระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มได้มากกขึ้น

อีกประเด็นคือเรื่องของการกระจายอำนาจ ปัญหาโควิดระลอกแรกทำให้เราเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่เรารับมือกับการระบาดได้ดีเป็นเพราะเรามีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รู้ปัญหาของท้องถิ่นตัวเองชัดเจน และสามารถปรับมาตรการต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ นี่เป็นสัญญาณที่บอกว่าเราควรกระจายอำนาจให้แต่ละพื้นที่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้มากขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจท้องถิ่นจัดเก็บภาษีของตัวเองมากขึ้น หรือเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นวางแผนงบประมาณตัวเองมากขึ้น รวมไปถึงการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save