fbpx
ก่อนเซ็ตซีโร่ กกต."ไม่มีใครสั่งผมได้" : สมชัย ศรีสุทธิยากร

ก่อนเซ็ตซีโร่ กกต.”ไม่มีใครสั่งผมได้” : สมชัย ศรีสุทธิยากร

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ขณะเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมชัย ศรีสุทธิยากร ค่อยๆ ขยับตัวเองมาจับงานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ก่อนจะเป็นที่รู้จักในนามผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง หรือ PNET

แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองคือบทบาทกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง ที่ออกท่าทางและท่าทีทางการเมืองยามบ้านเมืองหน้าสิ่วหน้าขวานเมื่อช่วงเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ได้ไม่แพ้เซเลปจากฟากฝ่ายการเมืองอื่นๆ

เป็นชื่อเสียงที่เรียกแขกได้รายวัน ถึงขั้นถูกบุกประชิดตัวจากทั้งขั้วเหลืองและแดง

ผ่านพ้นเลือกตั้ง ก.พ. 2557 ผ่านรัฐประหาร พ.ค. 2557 ผ่านการจัดลงประชามติมา 1 ครั้ง อยู่กับ คสช. มา 4 ปี มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และล่าสุดคือ กกต.ถูกเซ็ตซีโร่

ทั้งหมดทั้งปวง ไม่ว่าจะสวมแว่นตานักรัฐศาสตร์ สวมแว่นตาองค์กรอิสระ หรือมองในฐานะประชาชน เขาทบทวนอดีตและมองไปยังอนาคตทางการเมืองอย่างไร

ในนามของตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องทำให้การเลือกตั้งที่จะมาถึงลุล่วงสมบูรณ์ เขาคิดอะไรอยู่

เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์ของ กกต. สมชัยดังขึ้น มันเป็น Soundtrack ของซีรีส์ยอดฮิตเรื่อง Game Of Thrones

เขากดรับและแจ้งปลายสายว่ากำลังให้สัมภาษณ์ ก่อนจะหันมายิ้มและเริ่มสนทนา…

สมชัย ศรีสุทธิยากร 

วัยหนุ่มคุณเติบโตมาอย่างไร ทำไมถึงขยับจากภาควิชาการมาสู่ภาคการเมือง

ผมเป็นเด็กที่ทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่สวนกุหลาบวิทยาลัย มันเพาะบ่มให้เวลาคิดจะทำงานต้องมุ่งหาวิธีการไปสู่ความสำเร็จ เด็กในยุคผมอาจจะเป็นคนมีความตื่นตัวทางการเมืองมากเพราะบริบทการเมืองด้วย เป็นเด็กมัธยมยุค 14 ตุลาฯ เป็นนักศึกษายุค 6 ตุลาฯ

และผมเป็นคนมีหลายสถาบัน ทั้งสวนกุหลาบ เตรียมอุดม จุฬาฯ สงขลานครินทร์ นิด้า หลังจากนั้นผมมาสมัครเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ โดยที่ผมไม่ได้เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์

พอสมัยที่อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ ท่านเป็นกรรมการในองค์กรกลางการเลือกตั้งท่านก็ดึงผมขึ้นไปเป็นเลขานุการฝ่ายสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง พออาจารย์โคทม อารียา ท่านไปเป็นกรรมการการเลือกตั้ง ทางมูลนิธิองค์กรกลางก็ให้ผมเป็นกรรมการและเลขานุการ ช่วงนั้นทำให้ผมมีบทบาทเต็มที่ในเรื่องการเมืองและการเลือกตั้ง

ที่ว่าเป็นคนหลายสถาบัน เป็นความตั้งใจหรือเป็นจังหวะชีวิต

เป็นจังหวะของชีวิตมากกว่า ตอนผมเรียนสวนกุหลาบ ผมเรียนสายวิทย์ เนื้อหามันยากและพอเราทำกิจกรรมก็ไม่ได้เข้าเรียน ตอน ม.ศ. 4  ผมสอบตกที่สวนกุหลาบจนต้องเรียนซ้ำชั้น

หลังสอบตกผมทดสอบตัวเองว่าจะสอบเข้าเตรียมอุดมได้ไหม ปรากฏว่าได้ แต่เรียนอยู่ได้ประมาณหนึ่งเดือนผมรู้สึกบรรยากาศการเรียนดูจริงจังเกินไป ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาเรียน เวลากลางวันไม่พัก อ่านหนังสือกันอย่างเดียว ไม่ค่อยมีการคุยเล่นกัน การแข่งขันกันสูง ผมก็เดินไปหาคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่าผมขอย้ายไปเรียนศิลป์-คณิต คุณหญิงท่านก็แปลกใจว่า เอ๊ะ เรียนสายวิทย์ได้อยู่ห้องดีแล้วทำไมมาขอย้าย จากนั้นเรียนได้อีก 5 เดือน ผมก็สอบเทียบม.ศ.5 ได้ แล้วก็สอบเอ็นทรานซ์ได้ที่นิติศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นเดียวกับวัฒนา เมืองสุข กิตติพงศ์ กิตยานุรักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

พอไปเรียนไปสักพัก ผมก็เบื่อเพราะถูกสอนให้เน้นท่องจำ ผมเลยไปอยู่ที่ตึกจักรพงศ์มากกว่าจะอยู่ที่ตึกนิติศาสตร์ เพราะเป็นศูนย์รวมของเด็กกิจกรรม จนเกิดเหตุการณ์  6 ตุลาฯ ผมรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ไม่น่าอยู่ จึงสอบเอ็นทรานซ์ใหม่ไปติดคณะวิทยาการจัดการ ที่สงขลานครินทร์

แต่ผมไม่ได้เข้าป่า ช่วงนั้นเป็นอารมณ์รับไม่ได้กับการใช้กำลังทหารเข้ามาปราบปรามนักศึกษา แต่ผมอาจจะโชคดีที่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผมสามารถออกไปนอกธรรมศาสตร์ได้ทัน ไม่ได้ถูกจับและถูกให้ถอดเสื้อคว่ำหน้าในสนามฟุตบอล

เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สอนอะไรคุณ

มันทำให้ผมไม่คิดว่าการใช้กำลังอาวุธหรือการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ความรุนแรงจะเป็นทางออกของบ้านเมืองได้  ผมคิดว่าทางออกของบ้านเมืองคือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลไกสามารถจัดการระบบบางส่วนได้ แม้ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็อาจจะทำให้หลายเรื่องที่อาจจะแย่กว่านี้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้

เช่น ผมอยู่ใน กกต. นี่ไม่มีใครคิดว่าผมจะทำด้านบริหารการเลือกตั้ง ทุกคนคิดว่าผมจะดูเรื่องการมีส่วนร่วม แต่ผมคิดว่าการจับเรื่องการมีส่วนร่วม ถึงทำไป 10 ปี มันก็ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการความเที่ยงธรรมในการจัดการเลือกตั้งได้

ผมเสนอตัวเองว่าขอไปดูงานด้านบริหารเลือกตั้ง พอได้ทำผมก็สามารถไปจัดการกับกลไก หาเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การแจ้งการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด เมื่อก่อนต้องเดินทางไปแจ้งเองต้องกรอกแบบฟอร์ม ต้องถูกซักถามราวกับว่าทำความผิดมา แต่ตอนนี้เราสามารถแจ้งทางอินเทอร์เน็ตได้ เราพยายามใช้เทคโนโลยีที่มีให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

ในโลกโซเชียลเองก็ดูคุณจะใช้มันเต็มที่เพื่อสื่อสารประเด็นทางการเมือง

แต่ผมยังตีกรอบว่าเมื่อผมเป็น กกต. ผมจะเขียนเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง หรือถ้าเกี่ยวกับการเมืองก็เป็นการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือในรัฐสภาแค่นั้น แต่จะไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายการเมือง ยกเว้นกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มายัง กกต. ผมก็จะใช้พื้นที่ของผมตอบโต้ มันก็เป็นสไตล์ผมแบบนี้ มันเลยอาจทำให้เรามีภาพที่คนเห็นว่าไม่เป็นกลาง แต่ความจริงแล้วผมวิจารณ์ทุกฝ่าย

วันที่คุณยิ่งลักษณ์ขึ้นมาผมก็วิจารณ์ วันที่คุณประยุทธ์ขึ้นมาผมก็วิจารณ์ เช่นสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมาขอให้ กกต.อนุมัติเพื่อไปกู้ยืมเงินจากธนาคาร รัฐธรรมนูญบอกว่าช่วงรัฐบาลรักษาการ จะทำอะไรต้องขอ กกต. รัฐบาลอยากกู้เงินสัก 2 หมื่นล้านบาทไปใช้หนี้ให้ชาวนา วันนั้นในฐานะ กกต. ผมก็ไม่ให้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่ารัฐบาลรักษาการไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันไปยังรัฐบาลชุดต่อไปได้ ผมอธิบายว่าถ้ากู้ 2 หมื่นล้านบาท ท่านคาดว่าจะใช้คืนในเวลาเท่าไหร่ รัฐบาลบอกว่าขายข้าวได้เท่าไหร่ก็เอาเมื่อคืน ถ้าขายข้าวได้ประมาณเดือนละ 1 พันล้าน ก็ 20 เดือน ผมถามว่าแล้วจะรักษาการถึง 20 เดือนไหม เขาก็บอกรักษาการอย่างเก่งก็สองสามเดือน ผมก็ให้ไม่ได้ แต่การโต้ตอบแบบนี้ คนก็บอกว่าผมเป็นอุปสรรคทำให้ชาวนาไม่ได้เงิน ผมเอนเอียงไปทางฝ่าย กปปส.

พอมาถึงรัฐบาลประยุทธ์ การที่รัฐบาลให้เราทำการจัดการออกเสียงประชามติ 7 ส.ค. 59 แล้วการเคลื่อนไหวบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม ฝ่ายความมั่นคงก็พยายามจะตีว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในฐานะ กกต. ผมก็บอกว่าไม่ผิดกฎหมาย ถ้าเขาจะแจกเอกสารใบปลิว อภิปรายทางวิชาการ จะใส่เสื้อรณรงค์ก็เรื่องของเขา ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร

คุณกล้าเห็นแย้งกับ คสช. ?

ใน กกต. ผมพูดได้เลยว่ามีผมคนเดียวเท่านั้นที่กล้าพูดต่อสังคมว่าใส่เสื้อโหวตโนไม่ผิด ใบปลิวไม่ผิด อภิปรายไม่ผิด ตราบใดก็ตามที่ไม่ใช่การปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย ตราบใดก็ตามที่ไม่มีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ อะไรก็ตามที่ไม่ใช้ถ้อยคำที่หยาบคายก้าวร้าวรุนแรง

ถ้ามองในจังหวะเวลานั้นผมคิดว่าองค์กรอิสระทุกองค์กรไม่กล้ายุ่งกับรัฐบาล คสช. และทุกคนก็จะเพลย์เซฟ ผมก็พูดอย่างตรงไปตรงมา เพราะผมยืนอยู่บนหลักกฎหมาย

หรือกรณีที่คุณประยุทธ์ถามคำถามประชาชนหกคำถามให้ประชาชนตอบว่า เป็น คสช. จะสามารถสนับสนุนพรรคการเมืองใดได้หรือไม่ ผมเรียนตามตรงว่าทำไมวันนั้นคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญเองก็รู้อยู่ว่าทำไม่ได้ก็ไม่ออกมาพูดให้ชัดเจน แต่กลับมาพูดคลุมเครือด้วยซ้ำว่า คสช. ก็เป็นคนไทย สามารถสนับสนุนพรรคการเมืองได้ ผมก็บอกว่าต้องแยกแยะ ถ้าคสช. แต่ละคนจะสนับสนุนพรรคการเมืองอะไรไม่ผิด แต่ คสช.เป็นองค์อำนาจหนึ่งในสังคมไทยและเป็นองค์อำนาจที่มีอิทธิพลสูงสุดด้วยซ้ำในแม่น้ำ 5 สาย คสช.จะไปหนุนพรรคการเมืองใดไม่ได้

หลายคนบอกว่าการพูดของผมแบบนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ กกต.ถูกเซ็ตซีโร่ แต่ไม่ใช่ ถ้ามีอะไรที่มันไม่ถูกผมก็ยืนยันว่ามันไม่ถูก

สมชัย ศรีสุทธิยากร

วันนี้มีรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 แล้ว ถ้าถอดแว่น กกต. ออก มองแบบคนที่ผ่านความขัดแย้งทางการเมืองมาร่วม 40 ปี คุณคิดว่ามันจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งที่สะสมมาได้ไหม

ผมคิดว่าคนร่างเขาคิดว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะสามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้ ต้องให้เครดิตเขา เขาอาจจะเห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาทางการเมือง ระบบรัฐสภาไม่น่าไว้วางใจ ต้องแก้ไข แต่การเขียนเรื่องการได้มาซึ่ง ส.ว. นั้นแทนที่จะเป็น 200 คนกลับเป็นว่าบทเฉพาะกาลให้มี 250 คน แล้ว 200 คนมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. อีก 50 คนมาจากการรับสมัครสรรหา โดยมีบทบาทลงมติคัดเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย เท่ากับว่ากลไกของฝั่งราชการจะสามารถมากำกับดูแลฝ่ายการเมืองอย่างยาวนานถึงประมาณ 5 ปี

มันกลายเป็นขนมที่จะไปหลอกล่อใครต่อใครว่าถ้าคุณอยากจะมีชื่อเป็น ส.ว. ใน 200 คน คุณต้องทำตามใจคนที่เป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน กลายเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นเหมือนคนใน สปท. และสปช. ที่ดูไม่ค่อยกล้าขัดใจหรือบางครั้งก็ออกมาสรรเสริญเยินยอรัฐบาลค่อนข้างมาก

ผมเองก็เคยถูกชวนให้กินขนม แต่ไม่ได้มาพูดตรงๆ มีคนที่สนิทกับผมเล่าให้ฟังว่าถ้าอาจารย์พูดน้อยๆ หน่อย อาจจะสามารถทำงานในอนาคตร่วมกันได้ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้มีอำนาจหรือไม่ การพูดแบบนี้ทำให้กลายเป็นว่าแทนที่จะให้คนสามารถทำงานได้อย่างอิสระ ก็กลายเป็นทำงานเพื่อหวังผล

นอกจากที่มาของ ส.ว. ก็มีเรื่องเกี่ยวกับการได้มาซึ่งของ ส.ส. ท่านออกแบบบัตรให้เป็นบัตรใบเดียวแล้วเลือกทั้งสองอย่าง ถามในมุม กกต. ชอบไหม เราชอบ เพราะว่าทำงานน้อยลง แทนที่จะมีบัตร 2 ใบ ต้องพิมพ์สองเท่า เราพิมพ์เท่าเดียว แทนที่จะมีหีบสองหีบ นับสองครั้ง เรานับครั้งเดียว การกำหนดคะแนนจากคะแนนผู้สมัครรายคนรายเขตเป็นคะแนนทั้งประเทศแล้วก็คิดเป็นปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้ยากเย็นเข็ญใจหรอก

แต่ถามว่าผลที่มันจะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น อาจจะทำให้เกิดการพยายามเอาชนะกันได้ทุกรูปแบบ การที่คุณหวังว่าจะทำให้พรรคใหญ่มีความได้เปรียบน้อยลงอาจจะไม่ใช่ก็ได้ รูปแบบที่ได้มาซึ่งคะแนนเพื่อมาคำนวณปาร์ตี้ลิสต์จะต้องมาจากการส่งเขตให้มากที่สุด ถ้าคุณส่งเขตน้อยคุณก็จะได้ตัวที่มาร่วมน้อย ดังนั้นกลายเป็นว่าพรรคใหญ่จะมีความได้เปรียบ เป็นต้น

ภาคองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างไร

เรื่ององค์กรอิสระ เราถือว่าเป็นกลไกสำคัญในบ้านเมืองเพื่อที่จะทำงานได้โดยเป็นอิสระโดยที่ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่โดยรูปแบบของการกำหนดคุณสมบัติของคนเป็นองค์กรอิสระนั้นดูเหมือนว่าเจตนาอยากให้ได้คนดีจนกระทั่งหาได้ยาก แล้วมาตรฐานในการบังคับใช้ในแต่ละองค์กรก็ต่างกัน เช่น กกต. กับ กรรมการสิทธิมนุษย์ชน (กสม.) ซึ่งอาจจะแสดงบทบาทค่อนข้างเป็นปฏิปักษ์กับรัฐมากกว่าองค์กรอื่นๆ คุณก็เซ็ตซีโร่เพราะอยากได้คนใหม่มาทำหน้าที่ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินให้อยู่ต่อไปจนครบวาระได้ ป.ป.ช. ให้อยู่ไปจนครบวาระได้ ทั้งๆที่คุณสมบัติก็ไม่ได้เป็นขั้นเทพและยังมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญอีก ศาลรัฐธรรมนูญให้เขาอยู่ต่อไปแม้กระทั่งดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วก็ตาม

ส่วนกระบวนการในการออกแบบให้ได้มาซึ่ง กกต. ก็เห็นแล้วว่ามันไม่สามารถทำให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานได้ คือทุกองค์กรมันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นขั้นเทพ เพราะมันไปปิดโอกาสคนบางกลุ่ม ในขณะที่ไปเปิดโอกาสคนบางกลุ่มซึ่งอาจจะไม่ได้มีความรู้ความสามารถด้วยซ้ำ เช่น จะต้องเป็นระดับหัวหน้าส่วนราชการมาไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็ปิดช่องว่าตำรวจเหลือตำแหน่งเดียวคือ ผบ.ตร. ทหารเหลือแค่ 5 ตำแหน่ง คือ ผบ.เหล่าทัพ ผบ.สูงสุด และปลัดกลาโหม คำถามคือในประเทศไทยมีใครจะเป็น ผบ.เหล่าทัพถึง 5 ปี พอจะเอารอง ผบ.ตร. ที่เคยทำงานเคียงคู่กับ กกต. มาตลอด รู้ปัญหาการเลือกตั้ง จะสมัครก็สมัครไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นผบ.ตร.

ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาการเขียนทั้งรัฐธรรมนูญและการเขียนกฎหมายลูกที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีในการได้บุคลากรเข้ามาทำงาน ถ้าพูดสรุปผมคิดว่า คนร่างเจตนาดีอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่พอร่างออกมาแล้วกลไกต่างๆ จะเป็นกับดักนำไปสู่ความล้มเหลวทางการเมืองยิ่งกว่าเดิม

พูดกันตรงๆ รู้สึกว่าต้องยกเลิกแล้วร่างใหม่ไหม

ต้องร่างใหม่ แต่ผมยังมองไม่ออกว่าจะแก้ได้อย่างไร เพราะว่าหลายอย่างที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเขียนกันการแก้ไขไว้ มัดไว้อีกหลายชั้น มันไม่ง่าย และบางครั้งเรายังมีมายาคติว่าถ้าฝ่ายการเมืองเข้ามาอาจจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมืองเอง แบบนี้ก็จะเกิดการต่อต้านอีก

รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 เป็นประตูที่ปิดตายโดยตัวมันเองไหม

ใช่ๆ ถ้าฝ่ายการเมืองเข้ามาแล้วต้องแก้ ก็ต้องมีความเข้มแข็ง ต้องสามารถสื่อสารให้สังคมเห็นว่ามันมีความจำเป็นต้องแก้ไขอย่างไร ตั้งอยู่บนประโยชน์ของส่วนรวม เป็นการแก้ความขัดแย้งเพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้

ถ้าตัว ส.ส. เองมีมติร่วมกันว่าต้องแก้ ก็น่าจะเป็นวิธีไม่บอบช้ำแบบรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญแบบที่ผ่านมา

ใช่ครับ

วันเลือกตั้งที่หลายคนตั้งตารอว่าจะมีขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 คุณมองว่าช้าไปหรือเร็วไป

สมมติถ้าไม่มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากฎหมายลูกทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็จะไม่กระทบอะไรเลย กรณีที่ไม่มีการยื่นศาล หลังจากนายกฯ ทูลเกล้า แล้วรอโปรดเกล้าฯ 90 วัน ชะลอการใช้ 90 วัน จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ 150 วัน หากนายกฯสามารถทูลเกล้าได้ในเดือนมี.ค.นี้ นับไปอีก 11 เดือน ก็คือ ก.พ. 2562

แต่ถ้ามีการยื่นศาล ต้องทดเวลาเพิ่มอีก 2 เดือน เผื่อให้ศาลวินิจฉัยประมาณเดือนครึ่งและนำกลับมาแก้อีกครึ่งเดือน จึงต้องนับเวลาใหม่ จึงเป็น จากประมาณ 11 เดือน ก็เป็น 13 เดือน แปลว่าจะได้เลือกตั้งเม.ย. 2562 แต่ถ้าเกิดศาลวินิจฉัยแล้วถึงขั้นให้ร่างกฎหมายลูกตกไปก็จะช้าเพิ่มไปอย่างน้อย 6 เดือน

แต่ถ้าเป็นไปตามโรดแม็ป การกำหนดวันเลือกตั้งนั้นต้องมาจาก กกต. ไม่ใช่กำหนดโดยรัฐบาล รัฐบาลเป็นเพียงคนออกกฤษฎีกาในการเลือกตั้งให้ กกต.จัดให้ได้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน

ถ้าถามผม ผมว่าไม่จำเป็นต้องใช้ให้ครบ 150 วัน อาจจะใช้น้อยกว่านั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นเวลาก็จะร่นมาได้อีก อาจจะเป็น พ.ย. หรือ ธ.ค. 2561 ยกเว้นจะมีอภินิหารเพิ่ม เพราะในคำสั่งคสช. ที่ 53/2560 ข้อ 8 บอกว่าหลังจากที่กฎหมาย ส.ส.และ ส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ครม.เชิญ กกต. กรธ. สนช. และพรรคการเมือง มาปรึกษาหารือกันในการกำหนดการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเหมาะสม ก็อาจจะมีการคุยกันอีกแบบหนึ่งว่าควรจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่

ระหว่างที่ประชาชนเฝ้ารอ กกต.เองก็ถูกเซ็ตซีโร่ แล้วความพร้อมที่ กกต.ต้องจัดเลือกตั้งอยู่ตรงไหน

ถ้าสมมติการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ ปัญหามันเกี่ยวกับผมแล้ว เพราะต้องสรรหา กกต. ชุดใหม่ แล้วคาดว่าเสร็จสิ้นกระบวนการประมาณเดือนต.ค. เพราะฉะนั้นการส่งต่อส่งมอบงานให้ กกต.ชุดใหม่จะลำบากพอสมควร จะบอกว่าไม่เป็นปัญหาเลย ผมว่าเด็กคงไม่เชื่อ เพราะมันก็ต้องศึกษาทำความเข้าใจหลายเรื่อง

อีกภาพหนึ่ง ถ้าถึง ต.ค. แล้วปรากฏว่าการได้ กกต.ชุดใหม่ได้มาไม่ถึง 5 คน อาจจะได้มา 2-3 คนแล้วแต่ ผลที่เกิดขึ้นจะต้องขยายไปอีก 6 เดือนเพื่อไปหามาอีกรอบหนึ่ง เพราะฉะนั้น กกต. ชุดเดิมก็ต้องรับหน้าที่เป็นฝ่ายจัดการเลือกตั้งไป ซึ่งโดยส่วนตัวผมค่อนข้างอึดอัดใจว่าในเมื่อคุณไม่อยากให้ผมจัดการเลือกตั้งแล้วคุณเซ็ตซีโร่ผม แล้วทำไมถึงจะมาใช้ผม ผมจัดเลือกตั้งเสร็จ อาจต้องมีให้ใบเหลืองใบแดงแล้วก็ออกไป ซึ่งอาจมีคนไปร้องเรียนมีคดีความติดตัวตามมาอีกก็ได้

ปัญหานี้ผมอยากชี้ให้เห็นว่าการไม่ยอมให้คนที่มีคุณสมบัติครบอยู่ต่อไปได้ พอถึงเวลาคุณหาคนที่มีคุณสมบัติสูงมาทำงานไม่ได้ ก็ให้เราทำงานไปก่อน ผมคิดว่ากระบวนการแบบนี้คนคิดต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ผมรับผิดชอบฝ่ายเดียว

ตรงนี้มีคนคิดว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณต้องมาสมัครเลขาธิการ กกต. อีกใช่ไหม หรือเพราะอะไร

จริงๆ แล้วตำแหน่งเลขาธิการเป็นตำแหน่งสำคัญมาก แม้จะมีฐานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ กกต. การอำนวยการให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งนี้ค่อนข้างมาก และภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่นี้ เลขาฯ กกต. เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วย เปลี่ยนจากประธาน กกต. มาเป็นเลขาฯ และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานทั้งหมดกำกับดูแลคนใน กกต.ทั้ง 2,000 คน กกต.เป็นแค่บอร์ด

ผมก็คิดว่าถ้าผมไปอยู่ตรงนั้น ผมทำอะไรได้มากกว่าการเป็น กกต. บางคนบอกว่าศักดิ์ศรีน้อยลงกว่าเดิม แต่ผมมองในเชิงการสานต่องานให้ต่อเนื่อง ถ้าผมได้เป็นเลขาฯ ก็จะทำงานกับ กกต.ชุดใหม่ได้ต่อเนื่องทันที เพราะตั้งแต่เราถูกเซ็ตซีโร่ งานหลายชิ้นในสำนักงานเขาไม่ทำกันแล้ว เขารอชุดใหม่มาคิดมาตัดสินใจ ถ้าเราอยู่ตรงนี้ เราก็ผลักดันต่อได้

ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ตให้กับคนไทยในต่างประเทศ ผมริเริ่มไว้ มีออกแบบโปรแกรมแล้วไปทดลองทำในสามประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จอร์แดน นอร์เวย์ พอมาถึงวันนี้เจ้าหน้าที่บอกว่าหยุดหมดแล้ว รอชุดใหม่มาทำ

ส่วนบางคนอาจจะรู้สึกว่าที่ผมมาสมัครเลขาฯ คือการแก้เผ็ด คสช. เพราะ คสช. เซ็ตซีโร่ไม่ให้ผมอยู่ ผมก็แปลงร่างมาอยู่ในฐานะเลขาฯ จริงๆ ผมไม่ได้คิดอะไรแบบนี้เลย ผมคิดเรื่องงานเป็นหลัก

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ย้อนไปช่วงเดือน ก.พ. 2557 ถ้าให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ให้สำเร็จ คุณคิดว่าจะแก้ไขอดีตอะไรได้ไหม เพื่อให้ภาพลักษณ์ กกต.วันนั้นไม่ต้องถูกมองว่าไม่อยากจัดเลือกตั้ง

ไม่ใช่ไม่อยากจัด แต่เราทำไม่ได้ เพราะกลไกของรัฐทุกกลไกเป็นอัมพาตหมด ที่ กกต.เสนอว่าให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ผมก็เสนอบนพื้นฐานว่า รัฐบาลขณะนั้นไม่สามารถอำนวยการให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองได้ การรับสมัครก็ไม่สามารถรับสมัครได้ใน 28 เขต ถ้าหากว่าเดินหน้าเลือกตั้งวันหลังก็อาจจะมีคนไปฟ้องว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันเดียวและการเลือกตั้งก็จะเป็นโมฆะ ดังนั้นผมขอให้ขยับออกไปประมาณสามถึงสี่เดือนแล้วค่อยจัดการเลือกตั้งจะดีกว่าไหม พอเสนอแบบนี้ผมโดนข้อกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายไม่อยากให้มีเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคนละประเด็น

ตอนผมไปภาคใต้ก็เจอปิดล้อม ไปภาคเหนือก็เจอการปิดล้อม ผมเจอทั้งสองฝ่าย ตอนไปประชุมที่ลำปาง ชาวบ้านเสื้อแดงที่ไม่ชอบผมเข้ามาล้อมสถานที่ประชุม มีธงแดงไม้เหลาปลายแหลมมาคนละอัน ผมประสานกับทหารในพื้นที่ขอไปพักในค่ายทหารรอเวลาขึ้นเครื่องบินกลับ กทม.ได้ไหม เขาก็บอกว่าทำให้ไม่ได้ ต้องถามส่วนกลางก่อน

พอไปประชุมที่พัทลุง ประชุมได้ประมาณชั่วโมงหนึ่งเสียงนกหวีดก็มาแล้ว เราออกไปเจรจาชวนเขามานั่งร่วมประชุมให้แสดงความเห็นว่าต้องการอะไร เขาก็พอใจ แต่ตอนขาออกมีม็อบต่างอำเภอมาขวางไว้ ยังไม่ทันได้คุย ม็อบอีกอำเภอมาสมทบ ตอนนั้นมีรถตำรวจนำหน้าก็ช่วยอะไรไม่ได้ มวลชนไม่ยอมให้ออก เขาก็จะมาค้นมาตรวจภายในรถ เราก็ให้ม็อบที่หนึ่งไปเจรจาม็อบที่สองเพราะม็อบที่หนึ่งคุยรู้เรื่อง แล้วเขาก็เดินมาบอกว่า อาจารย์รอสักชั่วโมง ชาวบ้านอุตส่าห์มาจากต่างอำเภอให้เขาขวางร้องรำทำเพลงแป๊บนึง เดี๋ยวพออารมณ์เย็นลงเขาเปิดให้เอง ระหว่างนั้นมวลชนก็เขย่ารถอะไรกันไป  ขากลับมากทม. ช่างภาพของ กกต.ที่ถ่ายบรรยากาศตอนนั้นเอาภาพมาให้ผมดู สิ่งที่ขวางอยู่หน้าขบวนรถ กกต. คือ รถเข็นที่มีฟางเต็มคัน แปลว่าถ้าคุยไม่รู้เรื่องเราน่าจะโดนเผา

เรียกว่าอยู่ใต้เจอไก่อบฟาง อยู่เหนือเจอไม้เสียบลูกชิ้น

เจ้าหน้าที่ กกต. ที่ประจำหน่วยต่างๆ ช่วงนั้นไม่มีความสามารถหรือไม่อยากจัด

ทำไม่ได้เลย วันนั้นกลไกของรัฐทุกกลไกไม่สนับสนุนการทำงานของ กกต. ทั้งหมด เช่น เราขอความร่วมมือไปยังโรงเรียน ไปยังค่ายทหาร ไปยังสถานีตำรวจต่างๆ เพื่อให้สนับสนุนการทำงานของเรา ทุกหน่วยราชการปฏิเสธหมดเพราะเขาไม่อยากที่จะเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับความหายนะที่จะมีมวลชนเข้ามารุมล้อม เขากลัวว่า กปปส. จะบุกไปพังโรงเรียนเขา หรือเช่นเวลาเราไปขอสถานที่ของทหาร เขาก็ตอบปฏิเสธ ศาลากลางจังหวัดใน 11 จังหวัดภาคใต้ ผู้ว่าฯ ยังอยู่ไม่ได้เลย

บัตรเลือกตั้งที่เราส่งไปในภาคใต้ติดอยู่ที่ไปรษณีย์ 3 แห่ง ทุ่งสง ชุมพร หาดใหญ่ เพราะว่า กปปส. มาล้อมที่ทำการไปรษณีย์ ผมลงไปดูที่ทุ่งสง จำนวนคนที่ปิดล้อมไม่เยอะหรอก ผมไปตอนเช้าเห็นเขาหุงหาอาหารกันสัก 20-30 คน ผมก็บอกตำรวจว่าคนเท่านี้ฝ่าเข้าไปเอาบัตรสิ ตำรวจบอกว่าแค่อาจารย์คิดจะฝ่าเข้าไป เขาก็เป่านกหวีดมาเพิ่มเป็น 100 คน แล้วมันจะเกิดจลาจล ตำรวจก็บอกว่าไม่ควรเสี่ยง

ตอนอยู่ที่ภูเก็ต กปปส.ปิดล้อมโรงพักที่เก็บบัตรเลือกตั้งไว้ ผมก็โทรไปหานักการเมืองท้องถิ่นภูเก็ตคนหนึ่งบอกว่า ขอให้เห็นแก่ทางราชการเพื่อเอาบัตรเลือกตั้งออกมาได้ไหม เขาบอกขอเวลา 1 ชั่วโมงจะลองคุยให้ หลังจาก 1 ชั่วโมง เขาโทรกลับมาบอกว่าให้ไปไหว้พระแล้วก็กลับกรุงเทพฯ ไปดีกว่า ไม่ต้องทำอะไร เพราะว่าคุยกันไม่รู้เรื่อง

นี่คือภาพที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ กกต.ไม่ตั้งใจจัดการเลือกตั้ง แต่ไม่มีปัญญา ฝ่ายการเมืองพูดราวกับว่า กกต.ใหญ่สุดในวันนั้นสั่งใครก็ได้ทั่วแผ่นดิน

ผมยังคิดว่าในบรรดาหน่วยราชการที่ต้องประสานกับ กกต. ฝ่ายตำรวจพยายามให้ความร่วมมือเรามากที่สุด ทหารเองกลับวางเฉย ฝ่ายปกครองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลก็เสนอข้อมูลที่บางครั้งเป็นไปไม่ได้ ชาวบ้านที่เป็นกรรมการประจำหน่วยก็ถูกกดดันทางสังคมไม่ให้ความร่วมมือ

วันที่ 22 พ.ค. 2557 ในฐานะ กกต. ที่อยู่ในวงประชุมร่วมกับทุกฝ่ายวันนั้น คุณมองออกไหมว่าอะไรจะเกิดขึ้น บรรยากาศวันนั้นที่สโมสรทหารบกเป็นอย่างไร

ก็พอเดาๆ ได้ ก่อนนั้นผมคุยกับเจ้าหน้าที่การทูตแห่งหนึ่งว่า กฎอัยการศึกก็เกือบจะถึงขั้นรัฐประหารแล้ว เพียงแค่เร่งโวลุ่มอีกนิดก็รัฐประหารแล้ว

การเจรจากันระหว่าง 7 กลุ่มการเมืองในวันที่ 21 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ตอนยังเป็นผบ.ทบ. เชิญรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย กปปส. นปช. ส.ว. และ กกต. ฝ่ายละ 5 คน

กกต.พยายามเสนอทางออกวันนั้นว่า หนึ่ง เลือกตั้งไม่ช้าแต่ไม่เร็ว รัฐบาลรับได้ไหม คือเลื่อนไปประมาณสามเดือนเพื่อให้สถานการณ์เย็นลงก่อน สอง รัฐบาลไม่ลาออกก็ได้ แต่ไม่ต้องรักษาการ รัฐมนตรีพักร้อนไปแล้วให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่แทน สาม ปฏิรูปเล็กก่อน ยังไม่ต้องปฏิรูปใหญ่ เพราะปฏิรูปใหญ่ทำมาหลายสิบปีแล้วเคยสำเร็จไหม ปฏิรูประบบราชการเคยปฏิรูปได้ไหม ปฏิรูปตำรวจเคยปฏิรูปได้ไหม ผมเสนอว่าปฏิรูปเรื่องเดียวคือปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ขอให้ช่วยกันดีไซน์ว่าเลือกตั้งยังไงจะแฟร์กับทุกฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ก็บอกให้มาคุยกันในวันรุ่งขึ้น

พอมาวันที่ 22 พ.ค. ล่ะ

พอเข้าประชุม คุณชัยเกษม นิติสิริ ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลเป็นคนเปิดก่อน เขาเอาตามข้อเสนอ กกต.หมดเลย พอถามพรรคเพื่อไทยก็เอาตามรัฐบาล พอถามพรรคประชาธิปัตย์ คุณอภิสิทธิ์ไม่ยอม เขาให้รัฐบาลต้องลาออกเท่านั้น พอถาม นปช. คุณจตุพร แทนที่จะคุมประเด็น ถ้าพูดเหมือนเพื่อไทยกับรัฐบาล จะได้สามเสียง แต่คุณจตุพรอารมณ์ขึ้น เขาบอกถ้างั้นทำประชามติเลยว่าจะเลือกตั้งก่อนปฏิรูปหรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง พอถามคุณสุเทพ เขาบอกยังไงต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ประเด็นก็แตกไป ส่วนคุณสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ฝ่าย ส.ว. ไม่มีความเห็น กกต. ไม่มีความเห็น

พล.อ.ประยุทธ์นั่งฟังอย่างเดียว ?

ใช่ สักพักคุณสุเทพขอพักประชุม เพื่อคุยกับคุณจตุพรตามลำพังครึ่งชั่วโมง คนที่เหลือก็นั่งรออยู่ในห้องไม่ได้ไปไหน แต่ผมลงไปเข้าห้องน้ำชั้นล่าง ผมก็เห็นการเคลื่อนไหวของทหารว่าเขาเริ่มวิ่ง เริ่มตรึงกำลัง ลากเสาอากาศ ขนอาวุธเข้ามา เป็นลักษณะเตรียมการ ระหว่างนั้นผมเห็นกลุ่ม ผบ.เหล่าทัพเดินลงมาหน้าเครียดทุกคน

เราก็เห็นว่าปฏิวัติแน่นอน พอถึงเวลาผมก็กลับขึ้นไปบอกทาง กกต.ว่าน่าจะมีปัญหา แล้วก่อนเริ่มประชุมต่อ คุณสุเทพเดินมาสะกิดหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ขอเวลา 1 นาที คุณสุเทพ พล.อ.ประยุทธ์ คุณจตุพรไปยืนคุยกันสามคนที่มุมห้อง คุยอะไรกันไม่ทราบ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็มานั่งหัวโต๊ะ ท่านก็อารมณ์ขันบอกว่ามีคนบ่นว่าห้องน้ำไม่สะอาด ใครดูแลไปรับผิดชอบหน่อย ที่ประชุมก็หัวเราะกัน แล้วแกก็หันไปถามคุณชัยเกษมว่าเอายังไงดี รัฐบาลเอายังไง ยอมลาออกไหม พล.อ.ประยุทธ์เสนอเลย

วิธีการพูดของคุณชัยเกษมแทนที่เขาจะตัดสินใจเลย ก็ขอปรึกษารัฐบาลก่อน ผมไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอะไรก็ว่าไป แล้วก็วนไปถามคุณสุรชัย เขาบอกไม่มีความเห็น พล.อ.ประยุทธ์ก็ถามกลับไปที่คุณชัยเกษมอีกรอบหนึ่งว่ารัฐบาลยอมลาออกไหม คุณชัยเกษมก็พูดตามเดิมว่าไม่ลาออกหรอกครับ พล.อ.ประยุทธ์ก็ทุบโต๊ะบอกถ้าไม่มีทางออกก็ต้องยึดอำนาจ ทุกคนอยู่ในห้องนี้ ไม่ต้องไปไหน กกต.ไม่เกี่ยว ส.ว.ไม่เกี่ยว ออกไป

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ทบทวนภาพที่เกิดขึ้นจากวันนั้นมาถึงวันนี้ คิดว่า กกต.เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งไหม

เราพยายามเต็มที่ หาทางเจรจากับใครต่อใคร ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. แต่เวลานั้นไม่มีใครอยากคุยกันเพื่อหาทางออก เราคิดว่าสามารถจะช่วยทำให้บ้านเมืองมันเดินหน้าได้ แต่บางคนในรัฐบาลกลับเสนอในสิ่งที่ทำไม่ได้ เช่น บัตรเลือกตั้งที่ถูกปิดล้อมที่ภาคใต้ ผมบอกรัฐบาลว่าให้ตำรวจกับทหารมาช่วยเอาออกมาได้ไหม มีคนเสนอว่าบัตรเลือกตั้งถูกปิดล้อมก็พิมพ์ใหม่สิ โรงพิมพ์เอกชนเยอะแยะ ผมเลยให้คนที่เคยดูมหาดไทยของรัฐบาลอธิบายว่าบัตรเลือกตั้งมันพิมพ์ง่ายๆ เร็วๆ แบบนั้นไหม มันเป็นไปไม่ได้

คุณจำกรณีแยกหลักสี่วันที่ 1 ก.พ.ได้ไหม กปปส.ไปปิดล้อมสำนักงานเขตหลักสี่ก่อนเลือกตั้ง 1 วัน มีปะทะกัน มีมือปืนป๊อปคอร์น มีคนตายชื่ออะแกว แซ่ลิ้ว ที่ไม่เกี่ยวกับมวลชนทั้งสองฝ่าย คุณสรุปบทเรียนนี้อย่างไร

อย่างหนึ่งคือ กกต.ทั้ง 5 คนไม่อยากให้การเลือกตั้งจบลงด้วยการนองเลือด ไม่ประสงค์ให้เกิดการสูญเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว เราเห็นว่าก่อนวันเลือกตั้งมีการสูญเสียชีวิตกันหลายต่อหลายกรณี เพราะฉะนั้นประโยคหนึ่งซึ่งออกมาจากปากประธาน กกต. คือเลือกตั้งไม่เสร็จ เลือกตั้งใหม่ได้ แต่ชีวิตคนตายเอาคืนไม่ได้ เราไม่อยากเป็น กกต.มือเปื้อนเลือด

หลังจากเหตุการณ์นั้น ผมได้ไปคุยกับเอกอัครราชทูตสำคัญแห่งหนึ่ง เขาทักทำนองว่า กกต. ไม่ได้ใช้ความพยายามในการจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ผมก็รีบตอบว่าถ้าหากว่าการเลือกตั้งเสร็จแล้วมีคนตายเราไม่เอา เขาบอกว่าทำไมต้องกลัวคนตายด้วย เลือกตั้งทุกแห่งในโลกก็มีคนตาย ดังนั้นประเทศไทยเลือกตั้งมีคนตายก็ไม่เห็นแปลก ผมก็ตอบเขาไปว่าเราเป็นประเทศเมืองพุทธ ชีวิตมีคุณค่าและการทำให้คนตายเป็นบาป แต่ลึกๆ ในใจผมอยากจะตอบเขาว่า ถ้าคนตายเป็นญาติพี่น้องคุณล่ะ ผมรับไม่ได้ในการเอาชีวิตคนมาต่อรองทางการเมือง ที่ผ่านมามีแต่ประชาชนตาย ผู้นำไม่เคยตาย นักการเมืองไม่เคยตาย

มองไปข้างหน้า เพื่อให้การเลือกตั้งราบรื่นที่สุด ทันสมัยที่สุด ไม่ต้องมีคนตายอีก นวัตกรรมอะไรของ กกต. ที่คุณคิดว่าเป็นประโยชน์บ้าง

มี แต่ถูกทำลายไปแล้วโดย สนช. (หัวเราะ) ซึ่งผมไม่ทราบสาเหตุ

ผมเสนอให้มีการรับสมัคร ส.ส.ทางอินเทอร์เน็ตได้และทำโปรแกรมเสร็จแล้วด้วย แต่ สนช.ไม่เอา ถอดประโยคนี้ออกไป แล้วให้กลับไปรับสมัครในที่ตั้งแบบเดิม ที่ผมคิดแบบนี้ขึ้นมาเพื่อจะแก้ปัญหาตอนรับสมัคร ส.ส. ปี 2557 ที่มี 28 เขตรับไม่ได้ ถ้าการมีช่องทางอินเทอร์เน็ตคู่ขนานไปด้วย การปิดล้อมจะไม่เกิดขึ้นทันที

ที่ผ่านมามีข้อโต้แย้งเรื่องซื้อสิทธิขายเสียงว่าไม่ค่อยมีผลเหมือนเมื่อก่อน เพราะชาวบ้านดูนโยบายมากกว่าเงิน การทุจริตการเลือกตั้งเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายสำหรับการเฝ้าระวังการเลือกตั้ง

คำตอบของนักวิชาการก็ถูกบางส่วน แต่ไม่ได้แปลว่าซื้อเสียงไม่มีผลเลย การใช้เงินเพื่อการเลือกตั้งยังจำเป็น แต่ไม่ใช่รูปแบบของการแจก เป็นเรื่องของการที่คนๆ หนึ่งจะใช้เงินเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเองในการเลือกตั้ง งานศพมีพวงหรีดมีรถขนศพให้ งานบวชงานแต่งให้ยืมเต็นท์ไปตั้งรับแขกได้ เป็นการใช้เงินเกื้อกูลกันในระดับตำบลหมู่บ้าน แต่มันคือการซื้อเสียงทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งจ่ายเงินมากกว่าฝ่ายที่ชนะแล้วไปสรุปว่าเงินไม่เป็นปัจจัย

แต่กรณีช่วยงานศพ กฎหมายเลือกตั้งไปไม่ถึงใช่ไหม

ใช่ ไปไม่ถึง ที่ผ่านมาผมทำแอปพลิเคชันตาสับปะรดขึ้นมาทดลองใช้ตั้งแต่สมัยประชามติ 7 ส.ค. 2559 แต่ว่ายังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากมายนัก มันเป็นช่องทางที่ให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสทุจริตที่เขาพบเห็นเข้ามา จะถ่ายภาพก็ได้ ถ่ายคลิปก็ได้ อัดเสียงก็ได้ พิมพ์ข้อความก็ได้ ส่งมายัง กกต.ได้โดยตรง เมื่อส่งแล้วเขาสามารถที่จะจำกัดตัวเองว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือกับ กกต.ระดับไหน ถ้าพร้อมเปิดเผยข้อมูลเต็มที่ก็บอกชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ที่ติดต่อมาได้เลยเพื่อเป็นพยาน หรือจะแค่ให้ข้อมูลอย่างเดียวก็ได้

เราต้องการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ไม่ต้องการเป็นแบบอดีตที่ใครมาแจ้งเบาะแสทุจริตต้องมาถึงที่ทำการ กกต. ต้องขึ้นไปนั่งต่อหน้าเจ้าหน้าที่ กกต. แล้วก็ต้องไปให้บันทึกปากคำ มีการพิมพ์สำนวนบันทึกถ้อยคำต่างๆ ต้องลงนามสำเนาบัตรประชาชน ความจริงคือใครจะกล้าเสี่ยง เพราะเขาไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ กกต. มันเป็นคนของฝ่ายการเมืองไหนหรือเปล่า หรืออย่างเลวที่สุดมีคนรู้ว่าคุณไปแจ้งความ วันรุ่งขึ้นมีหัวคะแนนไปจัดการคุณในพื้นที่ หรือแม้แต่มีรถตำรวจไปจอดหน้าบ้านเพื่อเก็บข้อมูลแค่นี้ก็ตายได้เหมือนกัน เพราะรู้ทั้งหมู่บ้านว่าบ้านนี้ไปแจ้งตำรวจมา

อีกอันหนึ่งคือแอปพลิเคชั่นฉลาดเลือกผู้แทน ผมได้บทเรียนจากการไปคุยกับคนไทยในต่างประเทศว่าเวลาที่เขาไปเลือกตั้ง เขาไม่รู้จักผู้สมัครแม้แต่รายเดียวเลย เอกสารที่มีอยู่ที่ติดหน้าสถานทูตมีแค่หน้า แล้วก็เบอร์ เขาดูแค่ว่าคนไหนหน้าตาดีก็เลือกตามนั้น

แอปฯ นี้จะให้ข้อมูลว่าเขตเลือกตั้งนี้ ผู้สมัครประกอบด้วยใครบ้าง แต่ละคนมีประวัติความเป็นมาอย่างไร รวมถึงพรรคการเมืองมีนโยบายอย่างไรบ้าง สามารถเสิร์ชได้โดยการพิมพ์ชื่อเขตเข้าไป แอปฯก็จะบอกว่าเขตนี้มีใครบ้าง หรือพิมพ์เลขประจำตัวประชาชนไป มันจะบอกว่าคุณอยู่เขตนี้และในเขตนี้มีใครบ้างที่เป็นผู้สมัคร

แอปฯสุดท้าย คือแอปฯ ดาวเหนือ มันเริ่มมาจากที่ผมไม่รู้ว่าหน่วยเลือกตั้งอยู่ตรงไหน แล้วผมก็จะเดินสุ่มๆ ไป คิดว่าอยู่ที่เดิมมั้ง แต่ปรากฏว่าเปลี่ยนที่ไปแล้ว แล้วต้องไปยืนพลิกเอกสารหน้าหน่วยซึ่งมันไม่สะดวก แต่แอปฯนี้คุณกรอกหมายเลข 13 หลักของคุณลงไป มันจะบอกเลยว่าคุณใช้สิทธิ์ลำดับที่เท่าไรในหน่วยเลือกตั้งที่เท่าไหร่ อยู่ตรงไหนและมีแผนที่นำทางไปยังหน่วยเลือกตั้งนั้นด้วย

ทั้งหมดมี 3 แอปฯ ?

ในฝั่งประชาชนมีสามตัวนี้ แต่ในฝั่งของ กกต. ก็จะมีแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า rapid report เป็นการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการโดยผ่านโทรศัพท์มือถือ หลังหย่อนบัตรแล้วก็ให้กรรมการประจำหน่วยสามารถที่จะใช้โทรศัพท์มือถือในการรายงานผลได้ คะแนนก็จะขึ้นตลอดเวลา ทำให้สื่อมวลชนเห็นว่าคะแนนเปลี่ยนไปๆอย่างไรบ้าง ตอนทำประชามติเสร็จภายใน 3 ชั่วโมงครึ่ง คนรู้ผลทั้งประเทศ

วิธีคิดแบบนี้ก็สู้กันแทบตายกับเจ้าหน้าที่ กกต.ที่จะไม่ยอมทำลูกเดียว เขาอ้างว่ากฎหมายไม่ได้บอกให้เรารายงานผลไม่เป็นทางการ ดังนั้นจะทำไปทำไม ทำตามที่เป็นทางการคือจากหน่วยเลือกตั้ง ขี่มอเตอร์ไซค์มาที่อำเภอ อำเภอก็รวมลงคะแนนแล้วเซ็นรับรองมาส่งจังหวัด จังหวัดก็เซ็นรับรองมาส่งกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ตรวจสอบความถูกต้อง สามวันถึงค่อยประกาศ

คุณกำลังสะท้อนอะไร

สะท้อนว่าพฤติกรรมของราชการจะไม่ทำเกินกว่าสิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมายให้ทำ โดยไม่ได้คำนึงว่าอารมณ์ของคนในสังคมเป็นอย่างไร ผมบอกว่าถ้า กกต.สามวันเก็บเงียบไม่ประกาศผลอาจจะเกิดการจลาจลทั้งประเทศได้ว่า กกต.ไปแปลงคะแนนโกงคะแนน เพราะฉะนั้นคุณต้องให้ประชาชนเขารู้ว่า กกต.กำลังทำอะไรอยู่ จนต้องเขียนไปในกฎหมายถึงยอมทำกัน

นวัตกรรมทั้งหลายมันลดต้นทุนงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้งได้เยอะแค่ไหน

มันไม่ได้ลดต้นทุนการเลือกตั้งเพราะว่าการเลือกตั้งมีต้นทุนของมันอยู่ แต่ที่จะช่วยทำให้ลดต้นทุนได้คือโปรแกรมการเลือกตั้งผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับคนไทยในต่างประเทศ เงินที่เคยใช้ 80 ล้านบาท อาจจะเหลือซักประมาณไม่เกิน 10 ล้านบาท ต้นทุนในการเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศต่อหัวประมาณ 60,000 บาท เช่น ถ้าคุณอยู่ที่อิตาลี มีแค่สองเมืองคือไม่โรมก็มิลาน เพราะมีกงสุลอยู่ที่นั่น ถ้าคุณอยู่เวนิซคุณต้องนั่งรถไฟมา 6 ชั่วโมง ผมว่าไม่เวิร์ค ทางเดียวที่สะดวกที่สุดคือใช้อินเทอร์เน็ต

ในอนาคตจะใช้ในไทยได้ไหม

ตอนนี้ยังจำกัดขอบเขตสำหรับคนไทยในต่างประเทศเท่านั้น เพราะว่าในประเทศเองถ้าหากว่าเรายังไม่วางใจว่านักการเมืองที่มุ่งหวังชนะเลือกตั้งจะมีฤทธิ์เดชหลายอย่าง เราไม่น่าจะไปเปิดโอกาสให้ใช้ เท่าที่ทราบมีเอสโตเนียที่เดียวที่ใช้ได้ทั้งประเทศ อย่างออสเตรเลียเขาใช้กับคน 4 กลุ่ม ได้แก่ คนออสเตรเลียในต่างประเทศ คนพิการ คนที่อยู่กลางทะเลทราย และประเภทสุดท้ายคือพวกที่ฉุกเฉินจริงๆ

ตอนนี้โปรแกรมดีไซน์เสร็จแล้ว แต่ว่าเขาก็ถอยกันแล้ว กฎหมายเขียนเพียงแค่ว่าใช้วิธีการเลือกตั้งโดยบัตรหรือวิธีการอื่น จะต้องต้นทุนต่ำกว่าและป้องกันการทุจริตได้ดีกว่า ซึ่งผมว่าพูดยากเพราะมันต้องมีการพิสูจน์ พอเขาเขียนกฎหมายผูกไว้แบบนี้ บวกกับพอเราใกล้จะพ้นวาระ เขาก็บอกว่าไม่ทำปลอดภัยกว่า

อีกเรื่องที่มีคนไม่เข้าใจมากคือทำไมวันเลือกตั้งต้องห้ามขายแอลกอฮอล์ ถ้าเรามีสมมติฐานว่าคนมีสิทธิเลือกตั้งเขามีวุฒิภาวะที่จะกำหนดอนาคตตัวเองได้

เถียงกันเยอะเรื่องนี้ ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยนะ เพราะผมก็คิดว่ามันไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งรุนแรงได้ ถ้าหากว่าดื่มสุราแล้วไปก่อกวนทำให้เกิดความวุ่นวาย ก็มีกฎหมายอื่นไปจัดการได้ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าเลี้ยงสุราแล้วจะเป็นเหตุของการซื้อเสียงก็มีกฎหมายอื่นรองรับได้ เพราะว่ามันเป็นการเสนอประโยชน์ให้แก่คนเพื่อไปใช้ในการเลือกตั้ง

แต่ตอนนี้เขาลดเวลาห้ามขายลงมาแล้ว เดิมเขาไปคุมถึง 24.00 น. ของวันเลือกตั้ง ตอนนี้ลดลงมาแค่ 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง แต่เอาเข้าจริงก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ เพราะคุณหาซื้อกินได้หรือซื้อมาตุน

สมชัย ศรีสุทธิยากร

วินาทีนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งอะไรท้าทาย กกต. มากที่สุด อะไรที่คุณครุ่นคิดมากที่สุด

การเซ็ตซีโร่ทำให้ทุกอย่างนิ่งและไม่มีใครตั้งใจทำงาน แม้ผมจะตั้งใจทำงานแต่ก็ไม่มีใครเอากับผมด้วย แล้วก็ทุกคนสติแตกหมดแล้ว ทุกคนเตรียมตัวหยุดงานหมดแล้ว ดังนั้นการเซ็ตซีโร่คือการตัดสินใจที่ผิดที่สุด

เอาๆ ง่ายคือถ้าผมจะครีเอทอะไรใหม่ๆ ผมจะครีเอททำไม มันเป็นเรื่องของใจที่มันไม่ไปแล้ว เจ้าหน้าที่ก็เหมือนกันหลายเรื่องเขาก็จะรอชุดใหม่เข้ามาก่อน แล้วการเตรียมการเลือกตั้งให้ดีในอนาคตเป็นแค่การเตรียมวันเลือกตั้งให้เสร็จเท่านั้นเอง ไม่ใช่เตรียมให้ดี ปัญหาคือคุณคิดผิดตั้งแต่เริ่มต้นที่คิดว่าคนใหม่มาจะทำงานได้ดีกว่าคนเก่าเลยทันที

จริงๆ แล้ว เขาอาจจะต้องการเอาผมออกคนเดียว แต่ไม่รู้จะเอาออกอย่างไร

คิดว่าเพราะอะไร

พูดตามตรงคือผมสั่งไม่ได้ ไม่มีใครสั่งผมได้ หลายคนอยากให้เงียบๆ แต่ก็สั่งผมไม่ได้ใช่ไหม (หัวเราะ)

ผมคิดว่าถ้าคุณไม่ปรารถนาจะอยู่ในอำนาจต่อ ก็ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องมากังวลอะไร แต่ถ้าปรารถนาอยู่ในอำนาจต่อ แปลว่ามันต้องใช้กลไกของ กกต.ในการจัดการบางเรื่อง จึงต้องการคนของ กกต.ที่สั่งการได้ ใช่ไหม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save