fbpx
สำรวจเทรนด์พระสันตะปาปา : การปรับตัวของวาติกัน

สำรวจเทรนด์พระสันตะปาปา : การปรับตัวของวาติกัน

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

พระสันตะปาปากำลังจะเสด็จฯ เยือนไทย และอีกหลายประเทศในแถบนี้ เรื่องน่าสนใจอย่างหนึ่ง จึงคือการชวนมาพินิจว่า พระองค์ทรงมีแนวคิดและทัศนคติต่อเรื่องต่างๆ อย่างไรบ้าง

หลายคนบอกว่า โป๊ปองค์นี้มีความ ‘เสรีนิยม’ มากกว่าโป๊ปองค์ก่อนๆ แต่คำถามก็คือ มีหลักฐานเชิงประจักษ์บ้างหรือเปล่าที่จะบอกว่า ‘สถาบันพระสันตะปาปา’ กำลังเปลี่ยนแปลงไป พระองค์ ‘เสรีนิยม’ มากขึ้นจริงหรือ การจะตอบคำถามนี้ จึงต้องการการตรวจสอบและดูว่ามี ‘เทรนด์’ ในทางความคิดของพระสันตะปาปาอยู่หรือเปล่า

ไม่น่าเชื่อ ว่าคำตอบคือมี

Michael Zängle เป็นนักสังคมศาสตร์เยอรมัน ที่เขียนรายงานชิ้นหนึ่งชื่อ Trends in Papal Communication: A Content Analysis of Encyclicals, from Leo XIIII to Pope Francis แปลเป็นไทยได้ว่า ‘เทรนด์ในการสื่อสารของโป๊ป: การวิเคราะห์เนื้อหาของสาสน์พระสันตะปาปา จากลีโอที่สิบสามถึงโป๊ปฟรานซิส’

หลายคนอาจรู้สึกว่า โป๊ปเป็น ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ ไม่ควรจะไปล้วงข้อมูลต่างๆ เอามา ‘ตรวจสอบ’ กันขนาดนี้ แต่ในโลกที่การตรวจสอบเป็นเรื่องปกติธรรมดา ต่อให้เป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์มากแค่ไหนก็ควรต้องถูกตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งสถาบันสูงสุดทางศาสนาอย่างสถาบันพระสันตะปาปา ซึ่งหากเป็นการตรวจสอบโดยใช้ภววิสัยหรือวัตถุวิสัย ไม่ใช้อคติต่างๆ ไม่ว่าฉันทาคติหรืออคติในแง่ลบ ในที่สุดก็จะให้ผลลัพธ์ ‘ที่เป็นประโยชน์’ ต่อโลกและสังคมออกมาเสมอ ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง

ในงานของ Michael Zängle ชิ้นนี้ (ถ้าจะอ่านฉบับเต็มต้องจ่ายเงิน 9 เหรียญนะครับ) เขาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาวิเคราะห์สาสน์พระสันตะปาปาที่เรียกว่า Encyclicals

จริงๆ แล้ว ซานเกิลอยากวิเคราะห์ ‘เทรนด์’ ในการสื่อสารของพระสันตะปาปาในระยะยาว คือดูว่าแต่ละยุคสมัย ‘ความคิด’ ของพระสันตะปาปาเปลี่ยนไปหรือเปล่า แต่พระสันตะปาปานั้นมีวิธีสื่อสารหลายอย่างมาก เฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็มีตั้งแต่ Papal Bull (คือ สารตราพระสันตะปาปาเป็นคล้ายๆ คำสั่งหรือกฤษฎีกา), Apostolic Constitution (คือการประชุมเลือกสันตะปาปา ซึ่งจะมีบันทึกต่างๆ), Apostolic Exhortation (น่าจะเรียกเป็นไทยได้ว่า สมณสาสน์ แต่อันนี้ไม่แน่ใจเท่าไหร่นะครับ) รวมไปถึงถ้อยคำและงานเขียนอื่นๆ แต่ที่มีบันทึกเอาไว้มากและต่อเนื่องยาวนานที่สุดเป็นลายลักษณ์อักษร มีปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของวาติกันครบถ้วน และมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการด้วย ก็คือ Encyclical ซึ่งคำแปลในไทยไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ บางคนแปลว่าสารตราพระสันตะปาปา บางคนก็แปลว่าสมณสาสน์ แต่เอาเป็นว่า Encyclical ก็คือสาสน์พระสันตะปาปานั่นแหละครับ

พอได้ ‘ต้นทาง’ เป็นสาสน์ที่ว่านี้ ซึ่งเริ่มบันทึกมาตั้งแต่พระสันตะปาปาลีโอที่ 13 ซึ่งตรงดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1878 ไล่เรื่อยมาที่พระสันตะปาปา Pius X, Benedict XI, Pius XI, Pius XII, John XXIII, Paul VI, John Paul II, Benedict XVI และสุดท้ายคือโป๊ปฟรานซิส ก็ทำให้เราเห็น ‘ภาพ’ ของอะไรหลายอย่างมาก

วิธีวิเคราะห์ของผู้เขียนนั้น ใช้ทฤษฎีที่เรียกว่า Moral Foundations Theory หรือ MRT เข้ามาจับ ทฤษฎีนี้พัฒนาขึ้นมาโดย โจนาธาน เฮดท์ (Jonathan Haidt) กับเครก โจเซฟ (Craig Joseph) (ถ้าเผื่อใครไม่รู้จักโจนาธาน เฮดท์ ก็สามารถอ่านหนังสือ Happiness Hypothesis ที่ผมเพิ่งแปลกับสำนักพิมพ์ SALT ได้นะครับ เขาเป็นนักจิตวิทยาสังคมที่รอบรู้กว้างขวางมาก) เป็นทฤษฎีที่มองศีลธรรมหรือ Morality โดยแบ่งออกเป็นมิติต่างๆ 5 มิติ คือ

Harm/Care: ดูเรื่องความใส่ใจในทุกข์ของผู้อื่น

Fairness/Reciprocity: สนใจเรื่องความยุติธรรม ความเสมอภาค

Ingroup/Loyalty: ดูความภักดี ความเป็นสมาชิกของกลุ่ม การไม่ทรยศหักหลัง

Authority/Respect: การให้ความเคารพต่อผู้ที่มีสิทธิอำนาจ

และมิติสุดท้ายคือ Purity/Sanctity: การสนใจในเรื่องความบริสุทธิ์ การควบคุมตัณหาต่างๆ

ทีนี้คุณไมเคิล ซานเกิล ก็ไปหยิบเอาคำพูดต่างๆ ของพระสันตะปาปาที่ปรากฏในสาสน์ที่ว่านี้ ใส่เข้าไปในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แล้วให้อัลกอริธึมแยกแยะออกมาว่า เทรนด์ของ ‘คำ’ ที่ปรากฏในสาสน์ แสดงให้เห็นถึงอะไรบ้าง คำแบบไหนเข้าข่ายมิติไหนใน 5 มิติที่ว่า แล้วแต่ละมิติแสดงให้เห็นถึงอะไรบ้าง

รายงานที่เขาเขียนสนุกมากนะครับ เพราะลงลึกในหลายเรื่อง แต่ในที่นี้จะลองหยิบมาเล่าให้ฟังสักสองสามเรื่อง

อย่างแรกสุด ก่อนวิเคราะห์สาสน์พระสันตะปาปา คุณซานเกิลลองหยิบเอาคำเทศนาจากสองสำนักทางศาสนา คือสำนัก Unitarian ที่พูดได้ว่าเป็นนักเทศน์แนวเสรีนิยม โดยนำมา 69 บทเทศน์ (มี 177,629 คำ) มาเทียบกับคำเทศน์ของสำนัก Southern Baptist ที่พูดได้ว่าเป็นสำนักอนุรักษนิยม จำนวน 34 บทเทศน์ (มี 136,706 คำ) เพื่อใช้ตรงนี้เป็นหมุดหมายหรือ ‘ฐาน’ ในการดู ‘ความซ้าย – ความขวา’ ว่ามิติไหนซ้ายบ้างขวาบ้าง

เขาพบว่าบทเทศน์ของสำนักซ้ายหรือเสรีนิยมนั้นจะมี 3 มิติแรกสูงกว่าของสำนักขวา คือสนใจเรื่องความทุกข์ของคนอื่น, ความยุติธรรม และการรวมกลุ่มกันมากกว่า ในขณะที่บทเทศน์ของสำนักขวาหรืออนุรักษนิยม จะมีมิติเรื่องการให้ความเคารพต่อผู้มีอำนาจ และความบริสุทธิ์หรือการควบคุมตัณหาในตัวมากกว่ามาก

ถัดจากนั้น เขาจึงนำ 5 มิติที่ว่ามาวิเคราะห์คำที่ปรากฏในสาสน์ของโป๊ป โดยเรียงลำดับโป๊ปองค์ต่างๆ ว่าแต่ละองค์มีมิติไหนมากน้อยแค่ไหน ได้ออกมาตามภาพนี้

 

 

ภาพนี้บอกอะไรเราบ้าง?

ผู้เขียนบอกว่า มิติที่น่าสนใจมากๆ ก็คือมิติของ Authority/Respect ซึ่งเป็นมิติที่ฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษนิยมให้ความสำคัญสูง มิติอื่นๆ เราจะไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ แต่มิตินี้จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า มัน ‘ลดลง’ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าขยายออกมา ก็จะได้กราฟนี้

 

 

จากกราฟ จะเห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่าการให้ความสำคัญกับ Authority หรือความเคารพ อันเป็นมิติทางศีลธรรมที่ฝ่ายอนุรักษนิยมยึดถือมาตลอดนั้น ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีนักวิชาการอีกคนหนึ่ง คือ มาร์ค ชาเวส (Mark Chaves) ที่ถนัดเรื่อง Secularization หรือกระบวนการกลายมาเป็น ‘โลกวิสัย’ พูดถึงเรื่องนี้ไว้ด้วยเหมือนกัน

ชาเวสบอกว่า การลดลงของมิติ Authorization นั้น แสดงให้เห็นว่า Secularization กำลังอยู่ในขาขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าศาสนาจะเสื่อมถอย Secularization คือการเสื่อมถอยของ Scope of Religious Authority ต่างหากเล่า พูดง่ายๆ ก็คือเกิดการ ‘ลด’ อำนาจของผู้ปกครองศาสนจักร หรือเกิดการลดอำนาจของ ‘องค์กรศาสนา’ ลงนั่นเอง ซึ่งถ้าดูจากเทรนด์ของมิตินี้ เราอาจพอพูดได้หยาบๆ และไม่รัดกุมนัก ว่านี่อาจเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า ศาสนจักรคาทอลิกเริ่มจะเลื่อนตัวเองมาทางเสรีนิยมมากขึ้น

ถ้าไปดูอีกเทรนด์หนึ่ง คือเทรนด์ตรงข้ามกับ Secularization นั่นก็คือเทรนด์ Sacralization ซึ่งก็คือกระบวนการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ บทความนี้บอกว่าเราพบเทรนด์แนวลบ คือมีการลดลงของกระบวนการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในด้านที่เกี่ยวกับ ‘ภายนอก’ หรือที่เกี่ยวกับตัวองค์กร เช่น ความกังวลเรื่องที่ศาสนจักรคาทอลิกจะต้อง ‘เป็นหนึ่งเดียว’ แบบแบ่งแยกไม่ได้ (พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่มีความหลากหลาย) มีแนวโน้มลดลง แต่หันไปใส่ใจมิติเรื่องจิตวิญญาณ พระคัมภีร์​ พระเยซู หรือความรักมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะสอดรับกันกับความเปิดกว้างที่มากขึ้นด้วย

ยังมีอีกเทรนด์หนึ่งที่น่าสนใจมากๆ นั่นคือการ ‘หายไป’ ของ ‘รหัส’ บางอย่างที่ซ่อนอยู่ในถ้อยคำ

ซานเกิลบอกว่า ในสาสน์ของพระสันตะปาปา จะมี ‘รหัส’ บางอย่างซ่อนอยู่ในคำบางคำ คำพวกนี้มีความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ยาวนาน มักเป็นคำที่เรียกได้ว่า Trendless คือไม่มีการขึ้นลงขาดหาย เพราะเป็นคำที่ ‘ถูกใช้’ อยู่ตลอด จึงเป็นคำที่มีการเข้ารหัส (Encoding) ไว้อย่างแข็งแรงมาก คำกลุ่มนี้มีอาทิคำประเภท Epistemic หรือคำที่เกี่ยวกับการสร้างความรู้ เช่นคำว่า Knowledge, Truth, Reason อีกกลุ่มคำหนึ่งเป็นคำที่เรียกว่า Soteriological คือคำเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องทางรอด ชีวิตหน้า ต่างๆ เช่นคำว่า Salvation, Grace และ Sin แต่กลุ่มคำที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือคำตามประเพณีดั้งเดิม (เรียกว่าเป็น Eschatological Code หรือคำที่เกี่ยวกับการตัดสิน พิพากษาในวันสุดท้าย) เช่นคำว่า Hell, Heaven, Devil หรือ Final Judgement

เขาพบว่า คำที่เคย ‘ไร้เทรนด์’ พวกนี้ บางคำเริ่ม ‘มีเทรนด์’ ขึ้นมาด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในระยะหลัง เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า คำอย่าง Heaven และ Hell หรือสวรรค์กับนรกนั้น เริ่มมีเทรนด์ในด้านลบ คือลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะคำว่า Hell

ในสาสน์จากพระสันตะปาปาของโป๊ปฟรานซิสนั้น เท่าที่ซานเกิลวิเคราะห์มา เขาพบว่าโป๊ปฟรานซิสใช้คำว่า Hell กับ Final Judgement รวมแล้ว 0 ครั้ง โดยมีการใช้คำว่า Devil 3 ครั้ง ซึ่งถ้าเทียบกับโป๊ปลีโอที่ 13 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน พบว่ามีการใช้คำว่า Hell 12 ครั้ง Final Judgement 15 ครั้ง Devil 17 ครั้ง รวมๆ แล้วคือ 44 ครั้งด้วยกัน

หลายคนบอกว่านี่เป็นสัญญาณที่น่าสนใจ เพราะแสดงให้เห็นการลดลงของการใช้คำที่เป็นตัวแทนของแนวคิดแบบ ‘ทวิลักษณ์’ หรือ Dualism ที่เคยเป็นแก่นแกนหลักในศาสนาคริสต์มาตลอด โปรดอย่าลืมว่า คริสตศาสนาสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยหลักศรัทธา ทำให้จำเป็นต้องสร้าง ‘ปีศาจ’ ขึ้นมาเป็นขั้วตรงข้ามมาตั้งแต่ยุคพระคัมภีร์เดิมแล้ว ดังนั้น การลดลงของคำลักษณะนี้ในสาสน์ของพระสันตะปาปา จึงมีผู้วิจารณ์ว่าแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพระสันตะปาปา คือหันมาให้ความสนใจกับเรื่องทางโลกที่กำลังโอบรับความหลากหลาย และตั้งคำถามต่อโลกที่เป็นขาวดำมากขึ้น ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นทัศนคติของชาวคริสต์ยุคใหม่ร่วมสมัย

แม้การวิเคราะห์ทั้งหมดนี้จะวางอยู่บนฐานของ Encyclicals หรือสาสน์จากพระสันตะปาปา เพียงอย่างเดียว โดยยังมีการสื่อสารอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ได้ถูกนำมาศึกษาร่วมด้วย แต่กระนั้นก็อาจพอเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่า ศาสนจักรกำลังปรับตัวรับกับ ‘โลกใหม่’ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้น

รายงานนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมาก ใครสนใจลองดาวน์โหลดมาอ่านดู แล้วจะเห็นได้เลยนะครับว่า ‘สถาบัน’ ระดับโลกที่ยิ่งใหญ่เอามากๆ ยังต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากันกับอุดมคติของโลกยุคใหม่ และผู้คนก็สามารถเข้าไปศึกษา ตรวจสอบ และวิเคราะห์ออกมาได้ ว่ากำลังเกิดเทรนด์แห่งการปรับตัวของศาสนจักรอย่างไรบ้าง

ในโอกาสที่พระสันตะปาปากำลังจะเสด็จฯ เยือนไทย จึงจะน่าใช้โอกาสนี้เพื่อศึกษาเรียนรู้วิธีการแบบนี้ได้ไม่น้อยทีเดียว

เพราะหากไม่ยอมปรับตัว ก็อาจถูกบังคับให้ปรับตัวในที่สุดก็ได้ เพราะนั่นคือความเป็นไปของโลกใบนี้ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save