fbpx

ASEAN Foundation กับการออกนอก Comfort Zone

ASEAN Foundation คืออะไร?

มูลนิธิอาเซียน หรือ ASEAN Foundation (AF) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี การสถาปนาอาเซียน (8 สิงหาคม 1967-1997) โดยมี ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ณ เวลานั้น เป็นผู้เสนอแนะต่อการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน เนื่องจากท่านอาจารย์สุรินทร์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน ต่างก็พบว่า สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญในทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อน ผลักดันให้ข้อตกลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ให้เดินหน้าเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีภารกิจมากล้นอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับทรัพยากรบุคคล เงินทุน และเวลา ดังนั้นส่วนงานสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนอาเซียน รวมทั้งประชาชนนอกประชาคมอาเซียน ให้ได้รับรู้ถึงความสำคัญและบทบาทหน้าที่ของอาเซียน (ASEAN Awareness) รวมทั้งการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน (ASEAN Identity) จึงยังไม่ได้รับการผลักดันอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) จึงถูกสถาปนาขึ้น เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว โดยเป็นอีกหนึ่งองค์กรระหว่างประเทศ ทำหน้าที่ควบคู่ สนับสนุน เกื้อกูลไปกับการทำหน้าที่ของสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat)

วิสัยทัศน์ของมูลนิธิอาเซียนคือการสร้างประชาคมอาเซียนที่ผูกพันยึดโยงและมั่งคั่งรุ่งเรือง (To build a cohesive and prosperous ASEAN Community) ผ่านพันธกิจสำคัญในการมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการรับรู้ ‘อาเซียน’ ผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอาเซียนเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทร ผูกพันเชื่อมโยง เสมอภาค ครอบคลุม และสันติ (To commit to promoting ASEAN awareness through people-to-people interaction and collaboration with ASEAN stakeholders to build a caring, cohesive, equitable, inclusive and peaceful ASEAN Community.)

ที่ผ่านมา ASEAN Foundation มีกลุ่มเป้าหมายหลักในการดำเนินกิจกรรมให้กับเยาวชนอาเซียน เพื่อสร้างทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 อันได้แก่

1) การพัฒนาความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Sense of Empathy)

2) สร้างเครือข่ายมิตรภาพเยาวชน

3) การพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีดิจิทัล

4) การพัฒนาภาวะผู้นำ

5) การสร้างจิตวิญญาณการทำงานร่วมกันเป็นทีม

6) สร้างจิตสำนึกการพัฒนาที่ยืดหยุ่นยั่งยืน (Resilience)

กิจกรรมหลักๆ ของ ASEAN Foundation มีอยู่ใน 4 รูปแบบ ได้แก่ งานด้านศิลปวัฒนธรรม งานสร้างประชาคม งานสนับสนุนการศึกษา และการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนในแขนงต่างๆ

ทำไมเราไม่ค่อยจะรู้จัก ASEAN Foundation เลย?

แน่นอนว่างานของ ASEAN Foundation ถือเป็นงานที่สำคัญ มีคุณประโยชน์ต่อประชากรอาเซียนทั้ง 670 ล้านคนใน 10 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้งานจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ หากแต่ความรับรู้ของภาคส่วนต่างๆ ของอาเซียนถึงการมีตัวตนอยู่ของ ASEAN Foundation ยังคงไม่เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง ASEAN Foundation ยังไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณะอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากข้อจำกัดที่สำคัญ 2 ส่วน

  1. ASEAN Foundation เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับส่งเสริมความรับรู้ของอาเซียน หากแต่ยังคงขาดแคลนอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ นั่นคือเงินทุนสนับสนุน งบประมาณที่ ASEAN Foundation ได้รับสนับสนุนจากเงินค่าสมาชิกของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน อยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะครอบคลุมต้นทุนในการดำเนินการ (Operating Cost) เท่านั้น การสร้างกิจกรรมต่างๆ ยังคงต้องพึ่งพาเงินทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอก โดยที่ผ่านมา ASEAN Foundation ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากประเทศคู่เจรจาสำคัญๆ อาทิ ASEAN-China Cooperation Fund, ASEAN-Korea Cooperation Fund, เงินผลประโยชน์จากกองทุนตั้งต้น (Endowment Fund) ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ร่วมกับเงินทุนสนับสนุนจากภาคเอกชน อาทิ Huawei, Google, Microsoft, MayBank และ 3M
  2. กลุ่มเป้าหมายของการทำโครงการต่างๆ ของ ASEAN Foundation อยู่ที่เด็กและเยาวชน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง เพราะการลงทุนพัฒนาทักษะและความรับรู้เรื่องอาเซียนให้กับเด็กและเยาวชนคือ การลงทุนเพื่ออนาคตในระยะยาว ซึ่งยังคงต้องดำเนินการต่อไปอย่างไม่ย่อหย่อน หากแต่เพื่อกล่าวถึง impact และ visibility ที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้น ASEAN Foundation อาจต้องขยายกลุ่มเป้าหมายออกไปเพิ่มขึ้น อาทิ การทำงานร่วมกับประชาคมธุรกิจในอาเซียนและประเทศคู่เจรจา เครือข่ายนักวิชาการ/นักวิจัย เครือข่ายสื่อมวลชนที่จะเป็นปากเสียงเสริมสร้างการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม  

นั่นหมายถึงการดำเนินการของ ASEAN Foundation ต่อจากนี้อาจต้องออกไปทำงานนอก Comfort Zone ที่ตนเองเคยทำงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเดินหน้าทั้งการรับรู้ความต้องการและการประสานผลประโยชน์ระหว่าง ASEAN Foundation ที่มีบุคลากรที่รอบรู้เรื่องอาเซียนแต่ไม่มีงบประมาณ กับประเทศคู่เจรจาหลักของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป รวมทั้งภาคเอกชน และบริษัทข้ามชาติที่อยากเข้ามาทำการค้าการลงทุนในอาเซียน ซึ่งแน่นอนว่ามีเงินทุนสนับสนุน หากแต่ไม่มีบุคลากรที่รู้จักอาเซียนดีเท่ากับบุคลากรของ ASEAN Foundation

ASEAN Foundation คงต้องเริ่มต้นอย่างหนักแน่นเพื่อสร้างพันธมิตรอันทรงพลัง ขอบเขตของกิจกรรมคงต้องขยายตัวออกไป เช่นเดียวกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งยังต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว (long-term strategy) ว่า ในที่สุดแล้วเป้าหมายในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องอาเซียน และการสนับสนุนเสริมสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ควรจะอยู่ที่จุดไหน ในระยะเวลาใด แล้ววิธีการไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ดังกล่าว (strategic ways) จะมีเส้นทางไหนบ้าง ควรต้องดำเนินการเรื่องใดบ้าง ในช่วงเวลาใด รวมทั้งคงต้องวางแผนอย่างชัดเจนเรื่องเครื่องมือที่จะบรรลุเป้าหมาย (strategic means) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพยากรบุคคล เงินทุน และองค์ความรู้

ออกนอก Comfort Zone

นอกจากองค์กร ASEAN Foundation ที่ต้องเดินออกจาก Comfort Zone แล้ว ผู้อำนวยการบริหาร (Executive Director – ED) เองก็ต้องเดินออกนอกพื้นที่สะดวกสบายที่เป็นวิถีการปฏิบัติงานดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติด้วยเช่นกัน

หลังจากที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกผู้บริหารในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา ผู้เขียนจะเริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่สำคัญนี้ในวันที่ 17 มกราคม 2023 โดยต้องเดินทางไปประจำทำงานอยู่ที่อาคาร ASEAN Heritage Building ในย่าน South Jakarta ทางทิศใต้ของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเวลา 3 ปี นั่นหมายถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิตครั้งสำคัญอีกครั้ง

ผู้เขียนเริ่มต้นการทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในปี 2001 หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาโท International Economics and Finance ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยงานสอนครั้งแรก เริ่มต้นที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยได้รับการสนับสนุนจากท่านอธิการบดีในขณะนั้น นั่นคือ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งกำลังเริ่มต้นก่อตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับท่านอาจารย์ ดร. โฆษะ อารียา คณบดีท่านแรกของคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ก่อนที่จะย้ายงานมาที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2002

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา (2002-2022) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบเสมือนบ้านที่ให้อิสระ และความอบอุ่นอย่างเต็มที่ในการทำงานวิชาการ ได้สอนหนังสือในวิชาที่อยากสอน ได้ศึกษาหาความรู้ผ่านการทำวิจัยในหัวข้อที่ตนมีความสนใจ รวมทั้งได้โอกาสออกไปสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและมหาวิทยาลัยผ่านการบริการวิชาการสู่สังคม สิ่งที่ท่านอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านที่เป็นบุคคลต้นแบบ (mentor) อบรมสั่งสอนผ่านการแสดงตัวอย่างให้ดูมาโดยตลอด ก็คือ เวลาทำวิจัย อย่าหวังเอาแต่จะเอาเงินจากค่าตอบแทนนักวิจัย เพราะผลตอบแทนจากการทำวิจัยคือการสร้างองค์ความรู้ จงใช้เงินงบประมาณการทำวิจัยอย่างเต็มที่ที่สุด ลงพื้นที่ เก็บข้อมูล วิเคราะห์อย่างรอบด้าน เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด องค์ความรู้ที่ได้ค่อยนำมาสอนหนังสือให้นิสิต แล้วในที่สุดรายได้ก็จะตามมาเมื่อเกิดงานบริการวิชาการกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม

นั่นคือวิธีคิดที่ทำมาตลอด 20 ปี โดยในช่วงตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา เรื่องสำคัญที่สุดที่อยู่ในความสนใจของผู้เขียน คือประชาคมอาเซียน การเรียนรู้วิชาอาเซียนศึกษาผ่านมุมมองสหสาขาวิชา (multidisciplinary) โดยเฉพาะจากมุมมองภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ (geo-political economy บางท่านอาจจะเรียกว่าภูมิเศรษฐกิจการเมือง) เพื่อเข้าใจพัฒนาการของประชาคมอาเซียน ประเทศสมาชิก และประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย นั่นคือ Comfort Zone ของผู้เขียนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าในช่วงปีท้ายๆ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้เห็นความสำคัญของวิชาอาเซียนศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น แต่กำลังใจ กำลังสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นๆ ทั้งในมหาวิทยาลัย และนอกมหาวิทยาลัยกลับเพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับที่คนไทย และประชาคมโลกก็กำลังให้ความสำคัญกับประชาอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า จากประสบการณ์ทำงานตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ร่วมกับองค์ความรู้เรื่องประชาคมอาเซียนที่ตนเองพอจะมีอยู่บ้าง น่าจะทำให้การออกจาก Comfort Zone ไปลองเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ในการทำงานเป็นผู้บริหารองค์กรระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคอย่าง ASEAN Foundation เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าจะเข้าไปทดลองในตลอด 3 ปีต่อเนื่องจากนี้

และผู้เขียนก็ตั้งใจไว้อย่างเต็มที่ด้วยเช่นเดียวกันว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานใน ASEAN Foundation 3 ปีต่อจากนี้น่าจะเป็นประโยชน์ของคนไทย และประชาชนอาเซียน รวมทั้งเมื่อจบสิ้นภารกิจในอีก 3 ปีข้างหน้า ผู้เขียนก็จะนำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในการสอนหนังสือ ทำงานวิจัย และบริการวิชาการให้กับสังคมไทย ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดิมเหมือนกับที่เคยปฏิบัติมาตลอดครึ่งชีวิตที่ผ่านมา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save