fbpx

“เราจะเป็นหลักประกันความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับโลก” เปิดวิสัยทัศน์อินเดียในปีที่ 75 กับทูตอินเดียประจำประเทศไทย

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในอารยธรรมอันเก่าแก่ของโลก หากแต่ในฐานะรัฐเอกราช ‘อินเดีย’ เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1947 หลังประกาศอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ นับถึงตอนนี้ ประเทศอินเดียจึงมีอายุเพียง 75 ปี ซึ่งถือได้ว่ายังเป็นประเทศที่ใหม่มาก แต่ในเวลาเพียงไม่กี่ปีนี้เอง อินเดียก็พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายมิติจนเป็นหนึ่งในขั้วอำนาจที่เป็นตัวแปรสำคัญยิ่งต่อความเป็นไปของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน จึงไม่เกินไปนักถ้าจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่โลกในวันนี้จะไม่สนใจอินเดีย

ประเทศไทยเองก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันถึงบทบาทของอินเดียที่กำลังทวีความเข้มข้นขึ้น ด้วยว่าประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งแห่งหนทางภูมิศาสตร์ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของนโยบายต่างประเทศของอินเดีย ภายใต้นโยบาย ‘ปฏิบัติการตะวันออก’ (Act East Policy) ซึ่งเป็นการมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออก รวมถึงวิสัยทัศน์ ‘อินโด-แปซิฟิก’ (Indo-Pacific Vision) ซึ่งจัดวางศูนย์กลางไว้ที่อาเซียน ขณะเดียวกัน ปี 2022 นี้ยังเป็นวาระครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอินเดีย ซึ่งนับได้ว่าเป็นปีหมุดหมายสำคัญของการยกระดับกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีก

ในวันที่อินเดียก้าวขึ้นมายืนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก และกำลังทวีบทบาทอันสำคัญในภูมิภาคแถบนี้ รวมถึงประเทศไทย อย่างเข้มข้นขึ้นทุกขณะ 101 ชวนทำความรู้จักและเจาะลึกถึงวิสัยทัศน์ของอินเดียในโลกยุคปัจจุบันอันเต็มไปด้วยความผันผวนไม่แน่นอน ผ่านการสนทนากับเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย สุจิตรา ทุไร (Suchitra Durai) พร้อมเปิดใจถึงระยะเวลา 3 ปีครึ่งในการรับตำแหน่งของเธอ ที่ต้องเจอความท้าทายไม่น้อย โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิด-19 และชวนมองไปข้างหน้าถึงอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-ไทย หลังเข้าสู่หมุดหมายครบรอบ 75 ปีแห่งสายสัมพันธ์ทางการทูต

คุณรับหน้าที่เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยมาได้ราว 3 ปีครึ่งแล้ว คุณได้ประสบการณ์หรือได้เรียนรู้อะไรจากประเทศไทยบ้าง

ช่วงเวลา 3 ปีครึ่งนี้เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก ฉันได้เห็นว่าทั้งไทยและอินเดียมีความคล้ายคลึงกันมากในหลายแง่มุม ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ต่อกันมาช้านาน โดยยืนอยู่บน 3 เสาหลัก เสาแรกคือด้านวัฒนธรรม เสาที่ 2 คือด้านภาษา เพราะภาษาไทยมีหลายคำที่หยิบยืมมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต และเสาที่ 3 ก็คือศาสนา โดยเฉพาะทางด้านศาสนาพุทธ ซึ่งทั้งสองประเทศมีสายสัมพันธ์ระหว่างกันที่แข็งแกร่ง รวมถึงศาสนาอย่างพราหมณ์-ฮินดูด้วย

การได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยทำให้ฉันสัมผัสได้อย่างหนึ่งว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้อนรับผู้คนดีมาก และเปิดกว้างต่อโลกภายนอกสูงมาก ย้อนไปตั้งแต่ในยุคประวัติศาสตร์ อาณาจักรต่างๆ ของไทยประกอบด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด จนทุกวันนี้ประเทศไทยก็ยังคงเปิดรับคนจากทั่วโลกโดยเฉพาะในฐานะแหล่งท่องเที่ยว ตอนที่ฉันเริ่มเข้ามาประจำการที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นคือปี 2019 ก่อนที่จะมีโควิด-19 ฉันได้สัมผัสความคึกคัก แสงสี และเทศกาลต่างๆ ในกรุงเทพฯ มันเป็นเมืองที่มีกิจกรรมเยอะมาก วันหนึ่งมีมากถึง 5-6 อิเวนต์ เยอะถึงขนาดที่ว่าฉันต้องมานั่งเลือกว่าจะไปงานไหน แล้วจะแบ่งให้เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ไปงานไหนดี

แล้วการที่ฉันเข้ามารับช่วงในตำแหน่งเอกอัครราชทูตในปีนั้นก็ถือว่าเป็นงานใหญ่มาก เพราะเป็นปีที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนพอดี แล้วอินเดียเองก็ถือว่าเป็นหนึ่งใน 6 ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ฉันก็เลยได้เข้าร่วมในหลายกลไกของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) การประชุมอาเซียนพลัสต่างๆ (ASEAN Plus Summits) รวมถึงการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum) แล้วตอนนั้นก็มีรัฐมนตรีต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงเดินทางมาเยือนไทยกันบ่อยมาก

ในปี 2019 นั้นเองยังถือว่าเป็นปีที่ดีมากสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับไทย อย่างในด้านการค้า ตอนนั้นมูลค่าการค้าทวิภาคีของเราสูงกว่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนักท่องเที่ยวอินเดียก็มาเที่ยวไทยมากถึง 1.9 ล้านคน แต่ละสัปดาห์มีมากถึง 300 เที่ยวบินที่บินระหว่างทั้งสองประเทศ ส่วนทางด้านการศึกษา ความร่วมมือแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศก็เป็นไปด้วยดี และประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศแรกนอกอินเดียเลยที่มีการจัดเทศกาลอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast India Festival) ซึ่งผ่านไปด้วยดีมาก

นั่นคือช่วงปีแรกที่คุณเข้ามารับตำแหน่ง แต่ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ใหญ่ขึ้นกับเราทั้งสองประเทศ นั่นคือการระบาดของโควิด-19 การทำงานของคุณในช่วงนั้นเป็นอย่างไร แล้วมันทำให้การดำเนินงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศชะงักไปขนาดไหนบ้าง

แน่นอนหลังจากปี 2019 มา ทุกอย่างก็ยุ่งยากขึ้นเพราะวิกฤตการระบาด สำหรับประเทศไทย ก่อนอื่นฉันต้องขอชื่นชมทางการที่จัดการการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีบางช่วงที่เผชิญกับการระบาดระลอกต่างๆ แต่โดยรวมแล้วชีวิตหลายอย่างก็ดำเนินไปได้ปกติ อย่างสถานทูตของเราก็ไม่ต้องปิดทำการเลย และทางการไทยก็ยังให้ความร่วมมือช่วยเหลือเราดีมากในภารกิจช่วยเหลือคนอินเดียที่ตกค้างในไทยให้เดินทางกลับประเทศได้ และเช่นกัน เราก็ให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างในอินเดีย ให้เดินทางกลับบ้านได้ด้วย

ในช่วงที่อินเดียเจอปัญหาการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในระลอก 2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย รวมถึงรัฐบาล ประชาชน และชุมชนคนอินเดียในประเทศไทย ได้ให้ความช่วยเหลือเราในการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นทางการแพทย์ อย่างเช่นเครื่องผลิตและถังออกซิเจน และตอนที่ประเทศไทยกำลังลำบากกับการระบาดระลอก 3 ตอนนั้นทางเราก็อยากตอบแทนบุญคุณ รัฐบาลอินเดียจึงบริจาคเครื่องผลิตออกซิเจน 300 ชุดให้ประเทศไทย

เราเห็นได้ว่า แม้การระบาดของโควิด-19 เข้ามาทำให้การดำเนินความสัมพันธระหว่างไทย-อินเดียหลายด้าน ต้องเจอความยุ่งยากท้าทายขึ้น แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังคงมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันได้ ผู้นำของทั้งสองชาติก็ยังคงมีการติดต่อพบปะกันอยู่ ส่วนการค้าก็ยังเดินหน้าต่อได้ ถึงแม้จะถดถอยในปี 2020 แต่พอถึงปี 2021 มูลค่าการค้าระหว่างกันก็ดีดตัวกลับมาสูงขึ้นมาก โดยทำมูลค่าไปสูงถึงราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าในปี 2019 ก่อนมีโควิด-19 เสียอีก

แม้ปี 2021 จะยังคงอยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 แต่มันก็เป็นปีที่มหัศจรรย์ยิ่งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเราทั้งสองประเทศ และยังเป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับฉันในการเป็นเอกอัครราชทูต ปีนั้นฉันมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับหลายๆ มหาวิทยาลัย ได้พบปะพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ๆ ได้เยี่ยมเยียนพูดคุยกับชุมชนคนอินเดียในไทย และเราก็ยังมีโอกาสได้สานงานด้านการเผยแพร่วัฒนธรรมต่อเนื่อง อย่างที่ศูนย์วัฒนธรรมสวามี วิเวกานันท์ (Swami Vivekananda Cultural Center) ของเรา ก็ยังคงดำเนินกิจกรรมหลากหลาย ทั้งชั้นเรียนวัฒนธรรมต่างๆ การแสดงศิลปวัฒนธรรม การเล่นโยคะ รวมถึงงานเสวนาและอิเวนต์ต่างๆ ต่อให้จะเป็นงานที่จัดได้แค่ในสเกลเล็กๆ ก็ตาม

และที่สำคัญที่สุดเลย เราได้เห็นความร่วมมือทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยระหว่างกันในช่วงเวลานี้ โดยอินเดียก็เพิ่งบริจาควัคซีนโคโวแวกซ์ (COVOVAX) ให้กับไทยทั้งหมด 200,000 โดส ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบความช่วยเหลือด้านวัคซีนของประเทศกลุ่มควอด (Quad Vaccine Initiative; Quad ประกอบด้วยอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา) ภายใต้วิสัยทัศน์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Vision) โดยวัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต (protein subunit) ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับคนที่มีอาการภูมิแพ้ต่างๆ ถือเป็นวัคซีนตัวใหม่ที่มีความปลอดภัย และเป็นวัคซีนที่อินเดียผลิตเอง ขณะเดียวกัน เราก็มีแผนที่จะลงนามข้อตกลง MOU ร่วมกันเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาทางด้านการแพทย์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา

อย่างที่คุณบอกว่าอินเดียได้เผชิญวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในระลอกสายพันธุ์เดลตาที่หนักมาก อยากให้คุณเล่าให้ฟังว่าอินเดียผ่านวิกฤตนั้นมาอย่างไร

ตอนที่เกิดวิกฤตขึ้น เราระดมสรรพกำลังและยกระดับการจัดการทางสาธารณสุขกันอย่างเต็มที่ โรงพยาบาลสนามหลายแห่งถูกสร้างขึ้น แล้วรัฐบาลก็ได้ใช้หลายมาตรการ อย่างการให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยและการหมั่นล้างมือ และที่สำคัญ เรายังเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เดินหน้าฉีดวัคซีนขนานใหญ่ให้กับประชาชน จนถึงตอนนี้ เราฉีดวัคซีนให้คนอินเดียไปแล้วทั้งหมด 1.85 พันล้านโดส ทำให้มีประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดสคิดเป็นร้อยละ 90 ของทั้งประเทศ ขณะที่ประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 โดสคิดเป็นร้อยละ 80 และในตอนนี้เราได้เริ่มเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชากรอายุ 16-18 ปี พร้อมกับที่เพิ่งอนุมัติการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 5-12 ปี และ 12 ปีขึ้นไปด้วย อีกไม่นานเด็กๆ อินเดียทั้งหมดก็จะได้รับวัคซีนกันอย่างถ้วนหน้า

โครงการฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ช่วยประเทศเราให้จัดการกับการระบาดได้ดีขึ้นมาก ทุกวันนี้ เรามีจำนวนผู้ติดเชื้อเหลือเพียงแค่ไม่ถึงวันละ 3,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ถึง 1.38 พันล้านคน จนตอนนี้เราสามารถเปิดประเทศได้เต็มที่แล้ว เที่ยวบินพาณิชย์กลับมาให้บริการได้อีกครั้ง และไม่ได้มีการล็อกดาวน์ใดๆ อีกต่อไป การฉีดวัคซีนของเราถือว่าประสบความสำเร็จมาก

แล้วอย่างที่รู้กันว่า เราผลิตวัคซีนของเราเอง ซึ่งเราไม่ได้ผลิตเพื่อประเทศเราเองเท่านั้น แต่ยังให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วย โดยในช่วงไม่กี่เดือนแรกของปี 2021 เราบริจาควัคซีนให้มากถึง 66 ประเทศ แต่ต้องชะงักไปหลังเจอการระบาดใหญ่ ตอนนี้พอสถานการณ์ในประเทศเราเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราก็กลับมาบริจาคใหม่อีกครั้งภายใต้ Quad Vaccine Partnership ที่เริ่มต้นไปเมื่อเดือนกันยายน 2021 ซึ่งนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ก็ได้ให้คำมั่นไว้ว่าจะบริจาคให้ประเทศในพื้นที่อินโด-แปซิฟิกให้ได้ทั้งหมดประมาณ 500,000 โดส โดยเราได้บริจาคให้กัมพูชาไปแล้ว 325,000 โดส รวมถึงประเทศไทยที่เราเพิ่งบริจาคไป 200,000 โดส

แล้วในแง่เศรษฐกิจ รัฐบาลอินเดียทำอะไรบ้างเพื่อช่วยให้ประเทศฟื้นฟูตัวเองจากความย่ำแย่ในช่วงวิกฤตการระบาดได้

เศรษฐกิจปากท้องก็เป็นเรื่องสำคัญมากไม่แพ้กับมิติสาธารณสุข สิ่งที่รัฐบาลอินเดียทำเพื่อให้ช่วยให้ประชาชนฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ คือการทำโครงการที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ อย่างโครงการแจกพืชพันธุ์ธัญญาหารให้ประชาชนฟรีเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นข้าว แป้งสาลี ถั่วเลนทิล น้ำมัน น้ำตาล และซอสต่างๆ โดยโครงการนี้ครอบคลุมประชากรถึงราว 800 ล้านคน หรือร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ เรายังมีการแจกเงินโดยตรงไปยังบัญชีของผู้หญิงอินเดียถึงกว่า 2 ร้อยล้านคน รวมถึงเกษตรกรอีกกว่า 90 ล้านคน แล้วเราก็ยังมีโครงการรับประกันการจ้างงานในพื้นที่ชนบท ภายใต้โครงการรับประกันการจ้างงานในชนบทแห่งชาติของมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi National Rural Employment Guarantee Program) ซึ่งครอบคลุมถึงกว่า 136 ล้านครัวเรือน

รัฐบาลอินเดียยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ด้วยมูลค่าร่วมกันกว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเม็ดเงินมหาศาลก้อนนี้มุ่งตรงไปสู่หลายภาคส่วนในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือไม่มีดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เรามีโปรเจกต์อย่าง National Infrastructure Pipeline ซึ่งประกอบไปด้วยโปรเจกต์ย่อยกว่า 7,400 โปรเจกต์ ที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานหลายประเภท ด้วยมูลค่ารวมกันทั้งหมดราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศด้วย

นอกจากนั้น เรายังมีโครงการ Production Linked Incentive (PLI) Scheme ซึ่งรัฐบาลจะให้เงินทุนอุดหนุนสำหรับภาคการผลิตในประเภทสินค้าที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือโทรคมนาคม หรือเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor chips) โดยนโยบายนี้ได้ช่วยกระตุ้นภาคการผลิตของเราให้เติบโตขึ้น จากที่ก่อนหน้าเราไปเน้นพึ่งพาการนำเข้ามากกว่า และยังช่วยให้ผู้ผลิตในประเทศของเรามีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้นด้วย

หลังจากที่ผ่านพ้นช่วงเลวร้ายที่สุดของวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจอินเดียก็กำลังเติบโตอย่างสดใส เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเราเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไอเอ็มเอฟ (IMF) ก็คาดการณ์ว่าเราจะเป็นหนึ่งประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยคาดว่าจะโตได้สูงถึงร้อยละ 8.5 ในปี 2022-2023 ซึ่งเราเชื่อว่าการเติบโตที่สูงระดับนี้จะช่วยผลักดันคุณภาพชีวิตประชาชนจำนวนมากให้ดีขึ้นได้ด้วย

ต่อให้โควิด-19 จะเป็นความท้าทายที่ใหญ่ขนาดไหน แต่ท้ายสุดมันก็เป็นโอกาสให้เราปฏิรูปตัวเองได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มความง่ายในการประกอบธุรกิจ เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่กำลังไปได้ด้วยดี

สรุปแล้ว อินเดียได้เรียนรู้อะไรบ้างจากวิกฤตโควิด-19

บทเรียนใหญ่ของเราเลยก็คือการลงทุนในด้านสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ที่ผ่านมาเรามีทั้งการลงทุนที่ทำโดยรัฐบาล และทุกวันนี้เราก็เริ่มเห็นภาคเอกชนเข้ามาช่วยตรงนี้ด้วย ตอนนี้เราก็เริ่มได้เห็นภาครัฐและภาคเอกชนจับมือดำเนินการพัฒนาเรื่องนี้ร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมประชากรอินเดียให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้เรายังมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับกลุ่มคนเปราะบางโดยเฉพาะ ในชื่อโครงการอายุษมาน ภารัต โยชนา (Ayushman Bharat Yojana) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ด้วยความเชื่อของเราที่ว่า สุขภาพที่ดีของประชากรสำคัญอย่างยิ่งต่อความผาสุกทางเศรษฐกิจของประเทศ

ตอนนี้ทั้งไทยและอินเดียผ่านพ้นช่วงเลวร้ายของวิกฤตโควิด-19 มาแล้ว ก็คงถึงเวลาที่ทั้งสองประเทศจะกลับมาดำเนินความสัมพันธ์กันได้อย่างเต็มที่ นับจากนี้ เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ในช่วงหลังโควิด-19 เดินไปทิศทางไหน จะได้เห็นโปรเจกต์อะไรใหม่ๆ และจะมีความร่วมมืออะไรไหมที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยและอินเดียจับมือฟื้นตัวไปพร้อมกันได้

ปี 2022 นี้เป็นวาระครบรอบ 75 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอินเดีย-ไทย เราวางแผนจัดกิจกรรมไว้หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงหรือการประกวดต่างๆ งานหนึ่งที่เรากำลังวางแผนทำอยู่คืองานนิทรรศการจัดแสดงงานศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างพิพิธสถานแห่งชาติของอินเดียและไทย แล้วเราอาจจะมีการออกตราไปรษณียากรที่ระลึกเนื่องในวาระครบรอบความสัมพันธ์นี้ นอกจากนี้เรายังคาดหวังว่าจะมีการเดินทางแลกเปลี่ยนของบุคลากรเจ้าหน้าที่ รวมถึงนักเรียนนักศึกษา และเยาวชน ในเชิงวัฒนธรรมระหว่างกันด้วย

ส่วนในแง่การค้า ที่จริงตอนนั้นเราก็มีข้อตกลงการค้าทวิภาคีระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งครอบคลุมรายการสินค้า 83 ประเภท แล้วเราก็ยังมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN–India Free Trade Area) ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2010 อีกด้วย ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังเดินหน้าทำงานเพื่อลดข้อกีดกันทางการค้าระหว่างกันในอีกหลายส่วน เพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้เพิ่มขึ้นอีก โดยเราเห็นผลได้ชัดตั้งแต่ในช่วงโควิด-19 ที่มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วเราก็ยังเห็นช่องทางที่จะทำให้มูลค่าตรงนี้เติบโตขึ้นได้อีกในอนาคตจากนี้ เพราะประเทศไทยเองก็มีจุดแข็งหลายอย่างโดยเฉพาะในภาคยานยนต์ ภาคอิเล็กทรอนิกส์ และภาคเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งอินเดียก็หวังว่าจะได้ร่วมมือกับไทยในด้านเหล่านี้ด้วย ขณะเดียวกัน อินเดียก็มีจุดแข็งในด้านวิศวกรรมยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอ และเภสัชกรรม ซึ่งไทยสามารถมาร่วมมือกับเราได้เช่นกัน

ทราบว่าอินเดียกับอาเซียนกำลังทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันอยู่ จุดประสงค์ของการทบทวนครั้งนี้คืออะไร จะเป็นประโยชน์อย่างไรกับทั้งสองฝ่าย

ทั้งอินเดียและอาเซียนเห็นชอบเรื่องนี้ร่วมกันในปี 2019 ซึ่งตอนนี้การเจรจาก็ยังดำเนินอยู่ ฉันอาจจะยังให้รายละเอียดได้ไม่มากนัก แต่ในภาพรวมคือเรากำลังพยายามที่จะให้ข้อตกลงครอบคลุมประเภทสินค้ามากขึ้น แล้วก็จะพยายามขยายครอบคลุมไปถึงความตกลงทางด้านการลงทุนและภาคบริการด้วย ซึ่งอินเดียยังคงมีความร่วมมือในเรื่องนี้กับเพียงบางประเทศในอาเซียนในระดับทวิภาคีเท่านั้น อย่างเช่น สิงคโปร์ ที่เรามีข้อตกลงในการเคลื่อนย้ายคนระหว่างกันได้อย่างเสรี

ตอนนี้เราก็อยากเพิ่มความร่วมมือกับหลายๆ ประเทศอาเซียน เช่น ในแง่เทคโนโลยีการเงิน (FinTech) หรือการค้าออนไลน์ (E-commerce) ที่ประเทศแถบนี้รวมถึงไทยมีจุดแข็งอยู่แล้ว และเราก็คิดว่าวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจะถือเป็นตัวกระตุ้นให้ความร่วมมือเหล่านี้มีโอกาสเกิดมากขึ้น นอกจากนี้เรากำลังมีความคิดที่จะผลักดันให้สามารถใช้บัตรเครดิตในระบบของธนาคารอินเดีย เป็นทางเลือกให้ใช้ในประเทศต่างๆ รวมถึงไทยได้ นอกเหนือจากบัตรอย่างวีซ่า (Visa) หรือในระบบอื่นๆ ที่ใช้กันทั่วไปอยู่แล้ว เพราะอย่างประเทศไทยก็มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาจำนวนมาก ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง มันก็จะสะดวกและเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ  

ทำไมอินเดียให้ความสำคัญกับอาเซียนมาก อินเดียจัดวางอาเซียนไว้อย่างไรในยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศ

ย้อนไปเมื่อปี 1992 ผู้นำอินเดียตอนนั้นตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะฝากอนาคตของอินเดียไว้ที่นโยบาย ‘มองตะวันออก’ (Look East Policy) ซึ่งนโยบายนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรีอินเดียตอนนั้นเดินทางเยือนประเทศไทย และถัดมาในปี 2014 นโยบายมองตะวันออกก็พัฒนามาเป็นนโยบาย ‘ปฏิบัติการตะวันออก’ (Act East Policy)

ก่อนหน้านี้ภายใต้ Look East Policy อินเดียยังเป็นเพียงคู่เจรจาเฉพาะด้าน (sectoral partner) ของอาเซียนเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อปรับมาสู่ Act East Policy เราก็ยกระดับขึ้นมาเป็นประเทศคู่เจรจาอย่างเต็มรูปแบบ (full dialogue partner) ตามด้วยการเป็นคู่เจรจาในระดับการประชุม (summit-level partner) และตอนนี้ก็ถือได้ว่าอินเดียคือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partner) ของอาเซียน โดยมีความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้าน ด้วยกลไกมากกว่า 30 กลไก นับว่าเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่น เต็มไปด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ และได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

นอกจากนั้น อินเดียยังประกาศวิสัยทัศน์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งนายกรัฐมนตรีโมดีก็เน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่านี่จะเป็นวิสัยทัศน์ที่ครอบคลุมประเทศในพื้นที่มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกทั้งมวล โดยเป็นวิสัยทัศน์ยึดกฎกติกาเป็นรากฐาน (rule-based order) และที่สำคัญยิ่งก็คือ อาเซียนถือเป็นศูนย์กลาง (ASEAN Centrality) ภายใต้วิสัยทัศน์อินโด-แปซิฟิกนี้ เราเชื่อว่ากลไกของอาเซียนไม่ว่าจะเป็น East Asia Summit หรือ ASEAN Regional Forum ที่ผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากกว่า 40 ประเทศมาประชุมร่วมกัน เป็นกลไกที่มีความแข็งแรงอย่างยิ่ง และจะสามารถนำความก้าวหน้า ความมั่งคั่ง และความมั่นคง มาสู่อินโด-แปซิฟิกของเราได้

คุณคิดว่าอนาคตของ Act East Policy น่าจะเดินไปทางไหน แล้วถ้ามองเฉพาะประเทศไทย นโยบายนี้จะช่วยเกื้อกูลความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียได้อย่างไร

Act East Policy ไม่ใช่ว่าเราทำทีเดียวแล้วสิ้นสุด แต่มันเป็นปฏิบัติการที่ต่อเนื่อง แล้วแน่นอนว่าจะเดินต่อไปในอนาคตด้วย และเราเชื่อว่าอนาคตของ Act East Policy จะเป็นประโยชน์กับทั้งไทยและอินเดียในหลายมิติ และจะช่วยเสริมสร้างเติมเต็มนโยบายของไทยได้ด้วย

ที่ผ่านมา อินเดียได้พูดคุยเจรจากับไทยในหลายประเด็น และมีหลายเรื่องที่กำลังเดินหน้า อย่างเช่น การสร้างความเชื่อมโยงทางท่าเรือโดยตรง อย่างในปี 2019 ท่าเรือ 4 แห่งทางชายฝั่งภาคตะวันออกของอินเดีย ได้แก่ ท่าเรือเจนไน (Chennai Port) กฤษณะปัฏนัม (Krishnapatnam Port) วิศาขปัฏนัม (Visakhapatnam Port) และโกลกัตตา (Kolkata Port) ก็ได้ลงนาม MOUs ร่วมกับท่าเรือของไทย โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าของทั้งสองประเทศได้ นอกจากนั้น เราก็กำลังดำเนินโครงการสร้างทางหลวงเชื่อมอินเดีย เมียนมา และไทย (India-Myanmar-Thailand Trilateral Highway) อยู่ด้วย โดยตอนนี้เส้นทางฝั่งไทยและอินเดียพร้อมแล้ว ขณะที่ฝั่งพม่ากำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ แล้วเมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้น เราก็ต้องมาเดินหน้าเรื่องการทำข้อตกลงการข้ามแดนของยานพาหนะ (Motor Vehicle Agreement) ระหว่างกันอีกด้วย โดยการเจรจาได้เริ่มไปแล้วบางส่วน

นอกจากความร่วมมือในระดับภูมิภาคแล้ว อินเดียยังมีส่วนร่วมในกลไกความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคด้วย ไม่ว่าจะเป็นความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) และความร่วมมือแม่น้ำโขง-คงคา (MGC) ซึ่งไทยก็ล้วนเป็นสมาชิกร่วม ความร่วมมือเหล่านี้คืบหน้าไปอย่างไรแล้วในตอนนี้

BIMSTEC ถือว่าเป็นกลไกความร่วมมือหนึ่งที่สำคัญมาก มีมายาวนานตั้งแต่ปี 1997 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกลไกหนึ่งสำคัญยิ่งต่อการเดินหน้าความร่วมมือระหว่างไทยกับอินเดีย อีกทั้งปีนี้ก็เป็นปีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม BIMSTEC ด้วย

เช่นเดียวกัน MGC ก็เป็นกรอบความร่วมมือที่มีมาเกินกว่า 20 ปี โดยตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งก็มีความร่วมมือหลายด้านทั้งการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา การขนส่ง และการสื่อสาร แล้วจนถึงตอนนี้ก็ได้ได้ขยับขยายมาสู่ด้านสาธารณสุข เกษตรกรรม ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การจัดการทรัพยากรน้ำ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการพัฒนาทักษะความสามารถของคน ซึ่งก็ล้วนเป็นไปด้วยดี โดยตั้งแต่ปี 2015-2016 ฝั่งอินเดียก็ได้มีโครงการเล็กๆ ร่วมกับประเทศสมาชิกหลายโปรเจกต์ อย่างเรื่องการติดตั้งปั๊มน้ำ การทำศูนย์การเรียนรู้ภาษาและไอที การสร้างพิพิธภัณฑ์ และการมอบทุนการศึกษา

ทั้ง BIMSTEC และ MGC รวมถึงโครงการอย่าง India-Myanmar-Thailand Trilateral Highway มีประเทศสมาชิกอีกประเทศหนึ่ง นั่นคือพม่า แต่ตอนนี้พม่ามีปัญหาการเมืองภายในที่รุนแรงมาก สถานการณ์ในพม่าได้ทำให้ความร่วมมือเหล่านี้ชะงักลงไปหรือไม่

มันไม่เชิงว่าความร่วมมือเหล่านี้ชะงักไปเสียทั้งหมด แต่แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าทำให้เกิดความล่าช้าบ้าง หลายเรื่องก็เดินหน้าได้ หลายเรื่องก็ต้องหยุดไว้ก่อน แต่เราก็พยายามทำให้มันเดินหน้าต่อได้

ต้องยอมรับว่าสำหรับอินเดีย การมีความร่วมมือกับพม่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ว่าจะในมิติสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง กระทั่งความมั่นคง พม่าคือประเทศเพื่อนบ้านของทั้งอินเดียและไทย เราล้วนมีพรมแดนติดกับพม่าที่ยาวเหยียด ในหลายรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่มีอาณาบริเวณติดต่อกับพม่า ประชาชนระหว่างสองฝั่งก็มีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นต่อกัน ทั้งในเชิงมิตรภาพ สายสัมพันธ์ทางครอบครัว และการค้าขาย เพราะฉะนั้นความเป็นไปในพม่าถึงได้สำคัญกับเรามาก และแน่นอนว่าในฐานะที่เราเป็นประเทศประชาธิปไตย เราก็หวังให้พม่าเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน ที่ผ่านมาเราถึงได้เรียกร้องให้พม่ากลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองอย่างเร็วที่สุด เพื่อเดินหน้าสู่การพูดคุยเจรจาหาทางออกร่วมกัน แล้วเราก็สนับสนุนการใช้กลไกของอาเซียนในการจัดการปัญหาด้วย ซึ่งเราก็หวังว่าทั้งหมดนี้จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้

ขณะเดียวกัน อินเดียก็ให้ความช่วยเหลือพม่าในเชิงมนุษยธรรมเช่นกัน อย่างช่วงเดือนธันวาคม 2021 เราได้บริจาควัคซีนให้พม่า 1 ล้านโดส รวมไปถึงอาหารและยาที่จำเป็น และเราก็ยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนา เช่น โครงการสร้างที่พักอาศัยในพื้นที่รัฐยะไข่ ซึ่งมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่

ตอนนี้โลกไม่ได้มีเพียงพม่าเท่านั้นที่มีปัญหาประชาธิปไตยถดถอย แต่ยังมีอีกหลายประเทศ ในฐานะที่อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลก และอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบด้านประชาธิปไตย อินเดียจะสามารถแสดงบทบาทในการรักษาประชาธิปไตยของโลกได้อย่างไร

อินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรหลากหลาย ทั้งในแง่ภาษา ชาติพันธุ์ และศาสนา เพราะฉะนั้นการที่คนในประเทศจะอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความหลากหลายนี้ ระบอบประชาธิปไตยจึงตอบโจทย์มากที่สุดสำหรับเรา มันเป็นระบอบที่ดีที่สุดที่จะรวมคนจากหลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียว แล้วเราก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะถ่ายทอดแบ่งปันบทเรียนและประสบการณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้กับประเทศอื่นๆ อย่างช่วงที่พม่ากำลังเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย อินเดียก็ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือในการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงการอบรมฝึกหัดบุคลากรเกี่ยวกับกระบวนการการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งหนึ่งที่อินเดียทำอย่างต่อเนื่องร่วมกับหลายประเทศที่พยายามเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

ในภาพที่กว้างกว่านั้น อินเดียจัดวางแนวนโยบายต่างประเทศของตัวเองอย่างไรบ้างในสถานการณ์โลกตอนนี้ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปมหาศาล

นี่คือยุคโลกาภิวัตน์ แน่นอนว่าอินเดียไม่สามารถโดดเดี่ยวตัวเองออกจากความเจริญก้าวหน้าของโลกภายนอกได้ นโยบายต่างประเทศของอินเดียยึดหลักการสำคัญข้อหนึ่งเสมอ นั่นคือ ‘Vasudhaiva Kutumbakam’ หรือ ‘โลกทั้งใบล้วนเป็นครอบครัวเดียวกัน’ เพราะฉะนั้นอินเดียจึงยึดมั่นที่จะเดินหน้าสานสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ทั้งในแบบทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงพยายามถ่วงดุลอำนาจระหว่างหลายฝ่าย ไม่เอียงเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ท่ามกลางโลกที่เข้าสู่ยุคหลายขั้วอำนาจ (multipolar world)

ในโลกหลายขั้วอำนาจอย่างตอนนี้ การแข่งขันกำลังเป็นไปอย่างเข้มข้นในหลายมิติ ทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ภูมิเศรษฐศาสตร์ (geoeconomics) และตอนนี้ก็ยังขยับขยายมาถึงมิติภูมิศาสตร์เทคโนโลยี (geotechnology) ซึ่งกำลังสำคัญอย่างยิ่ง เพราะใครก็ตามที่เป็นเจ้าเทคโนโลยี คนนั้นก็จะเป็นผู้ครอบครองโลก

พัฒนาการทางเทคโนโลยีของโลกทุกวันนี้ไม่ใช่เพียงทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังนำมาสู่รัฐศาสตร์กระแสใหม่ๆ อย่างการเกิดขึ้นของภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ (non-traditional threats) ที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือ นอกจากนี้เรายังเห็นภัยคุกคามใหม่อย่างวิกฤตการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีก ซึ่งโควิด-19 ที่ผ่านมาก็ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นไปของโลกมหาศาลเช่นกัน นี่ทำให้อินเดียต้องมาจัดวางแนวนโยบายต่างประเทศท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งมวลที่เกิดขึ้น

สำหรับอินเดีย เราให้ความสำคัญอย่างมากกับการกระชับสายสัมพันธ์ต่อประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้งหลาย ภายใต้นโยบาย ‘เพื่อนบ้านมาก่อน’ (Neighborhood First Policy) มันจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศที่มีรั้วรอบขอบชิดกับเรา

อย่างไรก็ตาม เพื่อนบ้านของเราตอนนี้ไม่ใช่เพียงประเทศที่มีพรมแดนติดกับเราเท่านั้นแล้ว แต่ยังขยายรวมถึงประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วย และความมั่นคงปลอดภัยก็ถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพื้นที่แถบนี้ เพราะนี่คืออาณาบริเวณที่การค้าโลกมูลค่ามหาศาลเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอินเดียถึงได้มีข้อริเริ่มต่างๆ เพื่อมาส่งเสริมเรื่องความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิก ประการหนึ่งก็คือยุทธศาสตร์ ‘ความปลอดภัยและการเติบโตสำหรับทุกคนในภูมิภาค’ (Security and Growth for All in the Region) หรือที่เรียกว่า SAGAR ซึ่งในภาษาฮินดี คำนี้หมายถึง ‘มหาสมุทร’ ด้วย ภายใต้วิสัยทัศน์นี้ เราเดินหน้าผลักดันความเป็นหุ้นส่วนกับทุกดินแดนในภูมิภาคแถบนี้ เพื่อช่วยเป็นหลักประกันความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของภูมิภาค อย่างในช่วงวิกฤตโควิด-19 เราถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ออกมาให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับหลายประเทศ ด้วยการบริจาควัคซีน ยา อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงส่งแพทย์ไปช่วยกู้วิกฤตด้วย นอกจากนี้เรายังให้ความช่วยเหลือในวิกฤตอื่นๆ อย่างอัฟกานิสถาน เราก็ได้ส่งมอบข้าวสาลีไปเพื่อให้ประชาชนที่กำลังขาดแคลนอาหาร หรืออย่างศรีลังกาซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ เราก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน รวมทั้งส่งมอบเชื้อเพลิงและอาหารเพื่อช่วยบรรเทาภาวะวิกฤต

ส่วนในเวทีระดับโลก ตอนนี้เราเป็นสมาชิกแบบไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ซึ่งเราก็ยึดหลักความเป็นกลาง และส่งเสริมให้ทุกฝ่ายเจรจาหาฉันทมติในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน แล้วที่สำคัญเราก็กำลังเดินหน้าเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างของ UNSC ให้สอดรับกับความเป็นไปของสถานการณ์โลกในปัจจุบันมากขึ้น

อีกประเด็นบนเวทีโลกที่อินเดียกำลังถูกจับตาก็คือท่าทีต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อินเดียวางแนวทางของตัวเองในเรื่องนี้อย่างไร

ใช่ค่ะ เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก คุณรู้ไหมว่าต่อให้เราจะเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะมาก แต่เมื่อเทียบอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหัวประชากรแล้ว อินเดียถือว่าต่ำที่สุดประเทศหนึ่ง แต่เราก็ให้คำมั่นเรื่อยมาที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล่าสุดในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีของเราก็ได้ให้คำมั่นว่าจะการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศเราจะต้องเป็น 0 ให้ได้ภายในปี 2070 และอันที่จริงก็ไม่ใช่ว่าอินเดียเพิ่งมาเริ่มทำในช่วงนี้ แต่ทำมานานแล้ว อย่างเมื่อปี 2008 ก็มีการออกแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งครอบคลุมหลายเรื่อง ทั้งเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดการน้ำ การเกษตรที่ยั่งยืน และการเดินหน้าสู่อินเดียสีเขียว (Green India)

เพื่อจะบรรลุเป้าหมายตามที่เราได้ให้คำมั่นสัญญา สิ่งที่เราทำอย่างแรกคือการจัดการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซขนาดใหญ่ โดยเรากำลังพยายามเดินหน้าให้ภาคอุตสาหกรรมเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซได้ และอีกประการที่สำคัญคือการจัดการกับภาคพลังงาน เพราะตอนนี้เราพึ่งพาพลังงานฟอสซิลสูงมาก เราจึงกำลังเดินหน้าเปลี่ยนผ่านรูปแบบการใช้พลังงาน โดยเริ่มผสมผสานกับการใช้พลังงานรูปแบบอื่น โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ซึ่งเราก็กำลังทำเรื่องนี้กันอย่างสุดความสามารถ จนถึงตอนนี้เราสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกแล้ว โดยในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เราผลิตได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50

เรามีความพยายามหลากหลายรูปแบบในการพาอินเดียเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เช่น การตั้งเป้าให้มีการผสมเอทานอลในพลังงานเชื้อเพลิงอย่างเต็มสูบ การตั้งเป้าเปลี่ยนระบบรถไฟสู่การใช้ระบบไฟฟ้า การผลักดันการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงมีโครงการประธาน มนตรี อุชชวลา โยชนา (Pradhan Mantri Ujjwala Yojana) ซึ่งเป็นการมอบถังแก๊สหุงต้มที่ใช้พลังงานสะอาดให้กับผู้หญิงตามครัวเรือนรายได้น้อย เพื่อให้เปลี่ยนจากการใช้ฟืนหรือเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ที่มีส่วนสร้างมลภาวะ ขณะเดียวกันเราก็มีแผนที่จะเปลี่ยนระบบรถไฟจากเดิมที่ใช้พลังงานดีเซลมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากเช่นกันเพราะรถไฟถือเป็นหัวใจสำคัญของการเดินทางของคนทั่วทั่งประเทศอินเดีย

นอกจากในมิติพลังงาน เรายังมีความพยายามในอีกหลายด้าน เช่น การแบนการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง โดยเราพยายามหาวัสดุอื่นทดแทน มีการให้รางวัลจูงใจหลายอย่างสำหรับคนที่ไม่ใช้พลาสติก และหลายรัฐก็มีการส่งเสริมให้นำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการทำถนน หรือการผลิตสิ่งทอ

นี่เป็นความพยายามส่วนหนึ่งเท่านั้นของอินเดียในการจะบรรลุคำมั่นสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราให้ไว้กับนานาชาติ และเราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของอีกหลายแพลตฟอร์มความร่วมมือระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งในหลายแพลตฟอร์ม อินเดียก็ได้รับเลือกตั้งจากหลายประเทศให้ดำเนินบทบาทผู้นำ เป็นสิ่งสะท้อนว่าเราเป็นหนึ่งในชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาคมนานาชาติให้เป็นผู้นำในการเดินหน้าหลายประเด็น น่าจะเป็นเพราะว่าแนวทางการทำงานของเราอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย ไม่ใช่การเอาแต่สั่งให้คนอื่นทำตามเรา เพราะมันเป็นวิถีปฏิบัติของเอเชียที่ต้องเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน

เห็นได้ว่าตอนนี้อินเดียกำลังให้ความสำคัญกับการส่งออกวัฒนธรรมของตัวเองอยู่มากเหมือนกัน อินเดียดำเนินการเรื่องนี้ไปอย่างไรบ้าง แล้วจัดวางทิศทางไว้อย่างไร

อย่างที่ฉันพูดไปว่าเรื่องการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่สำคัญมากของเอเชีย ไม่เพียงแค่นั้น มันยังเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของความเป็นอินเดียด้วย นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของเราอย่างหนึ่งเลย

พูดถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ตอนนี้เรามีหลายอย่างที่โลกสนใจ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์อินเดียที่กำลังโด่งดังมาก หรือในด้านสุขภาพ ก็มีโยคะที่แพร่หลายไปทั่วโลก รวมถึงศาสตร์การแพทย์แบบอายุรเวท และยาแผนโบราณแบบอินเดีย ล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เพิ่งเปิดตัวศูนย์การแพทย์แผนโบราณระดับโลกที่ประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าศาสตร์การแพทย์แบบอินเดียกำลังได้รับความสำคัญในระดับโลก ไม่ใช่มีเพียงแต่การแพทย์แบบแผนตะวันตกที่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป นี่บ่งบอกว่าอินเดียกำลังก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้และวัฒนธรรมของโลกอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสะท้อนความจริงที่ว่าโลกได้เข้าสู่ยุคหลายขั้วอำนาจ และยังเป็นยุคสมัย ‘ศตวรรษแห่งเอเชีย’ (Asian Century)

ปีนี้คือวาระครบรอบ 75 ปีของประเทศอินเดีย และก็เป็นวาระครบรอบ 75 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-ไทยเช่นกัน อนาคตของอินเดียและอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจะเดินไปทางไหนนับจากนี้

อายุ 75 ปีถือว่าน้อยมากสำหรับประเทศๆ หนึ่ง อินเดียยังเป็นชาติที่อ่อนวัยมาก และมีหลายสิ่งที่ยังต้องทำต่อไปข้างหน้า ตอนนี้อินเดียกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งถือเป็นแรงกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ ประเทศเรามีอายุเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่เพียง 28 ปี ซึ่งนับว่าน้อยที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ด้วยประชากรหนุ่มสาวที่มากมายนี้เอง เราเลยเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาส และเราก็ตั้งใจที่จะส่งมอบโอกาสต่างๆ นั้นให้กับคนหนุ่มสาวในประเทศของเรา

ตอนนี้อินเดียกำลังเดินหน้าที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ในหลายด้าน ขณะที่ในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศเราก็กำลังไปได้สวย เราตั้งเป้าว่าจะมีมูลค่าเศรษฐกิจในประเทศรวมกัน 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันเราทำได้แล้วที่ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเราบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ก็จะนำประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าหลายอย่าง และที่สำคัญที่สุดเราต้องกระจายความมั่งคั่งนี้ให้ประชากรทุกคนอย่างเท่าเทียมให้ได้

เราเชื่อด้วยว่า อินเดียที่มั่งคั่งขึ้น จะช่วยให้ประเทศอื่นมั่งคั่งขึ้นด้วยเหมือนกัน และเราก็จะยังสามารถช่วยธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงให้กับโลกได้ด้วย นี่คืออนาคตของแนวนโยบายต่างประเทศที่อินเดียกำลังมุ่งหน้าไป เสียงของเราบนเวทีโลกจะเป็นเสียงแห่งความเป็นกลาง และเป็นเสียงที่จะสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยเจรจาร่วมกันเพื่อความก้าวหน้า มั่งคั่ง และมั่นคงของประชากรโลกทั้งผอง

นายกรัฐมนตรีโมดีได้ประกาศวิสัยทัศน์ ‘อมฤต กาล’ (Amrit Kaal) ซึ่งเป็นโรดแมปของอินเดียในอีก 25 ปีข้างหน้านับจากนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดในวาระครบ 100 ปีของการได้รับเอกราชของอินเดียพอดี ภายใต้วิสัยทัศน์นี้ อินเดียได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาไว้หลายด้าน ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น เราเชื่อว่าอินเดียจะสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ได้ในปีที่ 100 ของประเทศเราพอดี

ส่วนทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและไทย ก็เรียกได้ว่าเราเดินทางมาถึงช่วงเวลาที่สำคัญยิ่ง ที่ผ่านมาเรามีความร่วมมือระหว่างกันด้วยดีมาตลอด ทั้งสองประเทศต่างมีความไว้เนื้อเชื่อใจและมิตรภาพที่ดีซึ่งกันและกัน ทั้งในระดับผู้นำ ระดับประชาชน ในแง่การค้า การท่องเที่ยว การศึกษา และอีกหลายๆ แง่มุม คุณรู้ไหมนโยบายการศึกษาใหม่ของอินเดียตอนนี้ยกให้ภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศหนึ่งที่ใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนในอินเดียแล้ว นี่ก็สะท้อนได้อย่างหนึ่งว่าอินเดียให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศไทย แล้วนับจากนี้ อินเดียก็หวังว่าจะได้กระชับความสัมพันธ์กับไทยและทำงานร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ The101.world

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save