fbpx

ข้ามฟ้ามาให้ประหาร – ชะตากรรมของสาวงาม เรือดำน้ำ และเงินใต้โต๊ะ

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศาลฝรั่งเศสเปิดแผลเก่าเรื่องการทุจริตอื้อฉาวข้ามชาติของมาเลเซียที่ลากยาวมานานปีโดยยังไม่สิ้นสุด โดยศาลได้เปิดการสืบสวนอย่างเป็นทางการต่อบริษัท Thales Asia ซึ่งเป็นบริษัทด้านอาวุธและเทคโนโลยีด้านความมั่นคงสัญชาติฝรั่งเศส ในกรณีจ่ายสินบนให้หน่วยงานต่างประเทศ ในการขายเรือดำน้ำของบริษัท DCN International (DCNI) ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือรบของรัฐบาลฝรั่งเศส ให้รัฐบาลมาเลเซียในปี 2545 ซึ่งเป็นที่สงสัยกันว่าอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก จำเลยคดีทุจริตก้องโลก 1MDB รวมถึงพรรคอัมโน (United Malays National Organisation – UMNO) ของเขา มีเอี่ยวในการรับเงินใต้โต๊ะหลักร้อยล้านยูโร

ตามกฎหมายฝรั่งเศส การเปิดการสืบสวนอย่างเป็นทางการหมายความว่า มีการพบหลักฐานที่มีน้ำหนักและมีความต่อเนื่องพอที่จะบ่งชี้ว่าผู้ถูกกล่าวหาอาจมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดจริง อย่างไรก็ตาม ในท้ายสุดการเปิดการสืบสวนอาจนำไปสู่หรือไม่นำไปสู่การดำเนินคดีในศาลก็ได้

กรณีเงินทอนในการซื้อเรือดำน้ำสามลำจากประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ เรือดำน้ำ Scorpene-class สองลำ และ Agosta หนึ่งลำมูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คงเป็นเรื่องที่ปิดได้เงียบเชียบ ถ้าไม่มีกรณีพิศวาสฆาตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง 

เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ. 2549 เมื่อสาวสวยชาวมองโกเลียผู้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนายอับดุล ราซัก บากินดา (Abdul Razak Baginda) คนสนิทของนาจิบ ราซัก (Najib Razak) ผู้เป็นตัวกลางใน ‘ดีล’ รับเงินใต้โต๊ะ ถูกฆาตกรรมอย่างสยดสยองในป่าใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์  การสอบสวนคดีถูกขยายผลจนไปพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับตำรวจจากหน่วยพิเศษ (Special Actions Unit) สองนาย ที่บังเอิญเป็นบอดีการ์ดของนาจิบ ราซัก และยังโยงใยไปถึงการทุจริตข้ามทวีปของบริษัทฝรั่งเศสกับรัฐบาลมาเลเซีย

‘กรณีอื้อฉาว Scorpene’ เริ่มขึ้นในปี 2534 เมื่อนาจิบ ราซัก ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นประธานพรรคอัมโนที่ทรงอิทธิพล นาจิบ ราซัก เริ่มแผนสร้างความแข็งแกร่งให้กองทัพครั้งใหญ่ด้วยการซื้อแหลก โดยเตรียมการจัดซื้อทั้งรถถัง เครื่องบินขับไล่ Sukhoi เรือลาดตระเวนชายฝั่ง และเรือดำน้ำ

แผนพัฒนากองทัพมาเลเซียเปรียบได้กับดอกไม้ที่ล่อแมลงให้มาไต่ตอม แมลงเหล่านั้นคือบรรดาบริษัทผู้ผลิตอาวุธจากนานาประเทศประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน รัสเซีย และดัตช์ ที่กระโดดลงสนามแข่งขันกันอย่างเข้มข้นทุกวิถีทาง รวมทั้งการหาเส้นสายเพื่อเข้าถึงบุคคลสำคัญรัฐบาลมาเลเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

บริษัท Thales Asia ของฝรั่งเศสผูกสัมพันธ์กับอับดุล ราซัก บากินดา นักวิชาการและอดีตอาจารย์ซึ่งสอนที่วิทยาลัยการทหาร Malaysian Armed Forces Defense Collage และได้ลาออกมาตั้งองค์กร think tank ของตนเองในชื่อ Malaysian Strategic Research ในเวลาต่อมา โดยเป็นองค์กรที่รับงานด้านการวิเคราะห์การเมือง จัดสัมมนา และตีพิมพ์เอกสารวิชาการ และพร้อมๆ กัน หลายคนต่างรู้ดีว่าเขาเป็นที่ปรึกษาของนาจิบ ราซัก อีกด้วย 

ชีวิตส่วนตัวของอับดุล ราซัก บากินดา มีเสรีไม่น้อย เพราะแม้ว่าเขาจะแต่งงานมีครอบครัวแล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับอัลตันตูยา ชารีบู (Altantuya Shaaribuu) สาวชาวมองโกเลียวัย 28 ปี ซึ่งทั้งคู่ได้พบกันในปี 2547

อับดุล ราซัก ชวนเธอทำงานเป็นล่ามให้เขาในการติดต่อประสานงานดีลเรือดำน้ำกับฝรั่งเศส เอกสารที่ทางการฝรั่งเศสยึดได้ในภายหลังแสดงหลักฐานว่า เธอเดินทางร่วมกับอับดุล ราซัก ไปเยือนสำนักงานใหญ่ของบริษัท DCNI ที่ฝรั่งเศส เมื่อการเจรจาเสร็จสิ้น รัฐบาลมาเลเซียก็เซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำทั้งสามลำกับ Thales Asia และ DCNI เป็นลำดับต่อมาในปี 2545

ระหว่างนั้น อัลตันตูยามีโอกาสได้ท่องยุโรปใช้ชีวิตหรูหรากับอับดุล ราซัก บากินดา ด้วยความสัมพันธ์ที่หวานชื่น แต่ชีวิตรักของคนทั้งสองอยู่ได้ไม่นาน อับดุล ราซัก เริ่มตีตัวออกห่าง ความสัมพันธ์จืดจางลง กระทั่งแยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน   

แต่ทันทีที่เธอรู้ข่าวว่า บริษัทฝรั่งเศสโอนเงินจำนวน 114 ล้านยูโรจากดีลเรือดำน้ำให้กับบริษัท Perimekar ในมาเลเซียที่ภรรยาของอับดุล ราซัก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เธอจึงฝากลูกชายไว้กับบิดาที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แล้วจับเครื่องบินจากมองโกเลียเข้ากัวลาลัมเปอร์กับลูกพี่ลูกน้อง ก่อนมาปรากฏตัวต่อหน้าอับดุล ราซักเพื่อทวงเงิน 500,000 เหรียญสหรัฐฯ ที่เธออ้างว่าเป็นค่าจ้างในการทำงาน

ไม่รู้แน่ว่าเป็นเพราะพิษรักหรือผลประโยชน์ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน เธอถึงได้ตามไปกดดันด้วยการปรากฏตัวอยู่หน้าบ้านเขาหลายครั้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือชะตากรรมอันน่าเศร้าและสยดสยองไปพร้อมกัน วันที่ 19 ตุลาคม 2549 เมื่อเธอไปหน้าบ้านของเขาอีกครั้ง ตำรวจจากหน่วยพิเศษสองนายชื่ออาซีลาห์ ฮาดรีดาน (Azilah Hadridan) และไซรุล อัซฮาร์ โอมาร์ (Sirul Azhar Omar) ซึ่งทำหน้าที่บอดี้การ์ดของนาจิบ ราซัก ก็จัดการบังคับพาตัวเธออกไป  โดยพาไปยังป่าไร้ผู้คนในพื้นที่ชาห์ อาลาม (Shah Alam) ใกล้กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ แล้วยิงเธอที่ศีรษะสองครั้ง ก่อนพยายามกลบเกลื่อนหลักฐานทำลายร่างของเธอด้วยระเบิดที่มีรายงานว่าเป็นระเบิด C-4

เมื่อตระหนักว่าเธอหายตัวไป ลูกพี่ลูกน้องที่เดินทางมาพร้อมกันจึงขอความช่วยเหลือไปทางสถานทูตมองโกเลียที่กรุงเทพฯ จากนั้นตำรวจมาเลเซียพบร่องรอยที่ยังเหลืออยู่ในที่เกิดเหตุหนึ่งเดือนหลังการฆาตกรรม และพิสูจน์ทราบว่าเป็นอัลตันตูยาด้วยการตรวจดีเอ็นเอ อับดุล ราซัก บากินดาและตำรวจทั้งสองจึงถูกจับตัวพร้อมๆ กัน แต่อับดุล ราซักถูกปล่อยตัวแทบจะทันที โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียตั้งข้อหาว่าเขามีส่วนรู้เห็นในการฆาตกรรมแต่ศาลตัดสินให้พ้นผิดด้วยเหตุผลว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนพอ หลังจากนั้นไม่นานเขาเดินทางออกจากมาเลเซียไปอาศัยที่ประเทศอังกฤษ ใช้เวลาในการเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) จนได้รับปริญญาเพิ่ม และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาเลเซีย  

ปี 2551 ศาลชั้นต้นของมาเลเซียตัดสินว่าอดีตตำรวจทั้งสองนายมีความผิดในข้อหาฆาตกรรม มีโทษประการชีวิต แต่ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินในปี 2557 ให้ปล่อยตัวจากที่คุมขัง จังหวะนี้เองไซรุลออกนอกประเทศไปอยู่ออสเตรเลีย หลังจากนั้นไม่นานศาลสูงสุด (Federal Court) ตัดสินยืนยันตามศาลชั้นต้นในข้อหาฆาตกรรม โดยกำหนดโทษประหารชีวิต ปัจจุบันอาซีลาห์รอรับโทษอยู่ในคุก ส่วนทางด้านไซรุล รัฐบาลออสเตรเลียปฏิเสธที่จะส่งตัวเขากลับ เนื่องจากมาเลเซียเป็นประเทศที่มีโทษประหารชีวิต ทำให้การส่งตัวกลับขัดต่อกฎหมายภายในของออสเตรเลีย

คดีอัลตันตูยาค่อยๆ เงียบหายไป แม้ว่าในสมัยรัฐบาลปากาตัน อาราปัน (Pakatan Harapan, 2561-2563) บิดาของเธอพยายามร้องขอให้ตำรวจเปิดการสืบสวนคดีอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาแรงจูงใจของการฆาตกรรมบุตรสาว แม้กระทั่งประธานาธิบดีมองโกเลียก็ได้ขอร้องนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ในเวลานั้นให้เร่งหาความยุติธรรมในกรณีอัลตันตูยา แต่การเปลี่ยนรัฐบาลอีกรอบหนึ่งหลังจากนั้น ทำให้ไม่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่อ

ในช่วงที่นาจิบ ราซัก ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พ.ศ. 2552-2561 เขาเริ่มเรื่องอื้อฉาวที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือกรณีทุจริตกองทุน 1MDB (1Malaysia Development Berhad) ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาล โดยถือเป็นการทุจริตที่สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ กรณีสินบนเรือดำน้ำจึงกลายเป็นเรื่องเก่าที่ถูกเรื่องใหม่มาเบียดบัง

อย่างไรก็ตาม ที่ฝรั่งเศส การสืบสวนคดีติดสินบนเรือดำน้ำยังไม่ยุติง่ายๆ ในปี 2553 องค์กรสิทธิมนุษยชน ‘สวารัม’ (Suara Rakyat Malaysia – SUARAM) ของมาเลเซีย ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีทุจริตของเจ้าหน้าที่มาเลเซียไปยังศาลฝรั่งเศส นำไปสู่การสืบสวนของทางการฝรั่งเศสในปีเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสบุกเข้าตรวจค้นบริษัท DCNI ตามข้อกล่าวหาว่าเป็นตัวกลางในการจ่ายสินบนให้อับดุล ราซัก และพวก ซึ่งเป็นการผิดอนุสัญญาว่าด้วยการติดสินบน (Convention on Bribery) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development – OECD) และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในฝรั่งเศส

ในการบุกค้นบริษัท DCNI เจ้าหน้าที่พบเอกสารจำนวนมากที่ยืนยันเรื่องการจ่ายใต้โต๊ะ และความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างการฆาตกรรมอัลตันตูยากับเงินค่าคอมมิชชัน รวมทั้งข้อมูลเครือข่ายของบริษัทต่างๆ ที่ใช้เป็นตัวกลางในการจ่ายเงิน  รวมถึงบริษัท Perimekar ของอับดุล ราซก บากินดา เอกสารที่ค้นพบยังแสดงให้เห็นด้วยว่า DCNI รับรู้ตั้งแต่ต้นว่า พรรคอัมโนคือผู้รับเงินปลายทาง

ในปี 2555 ทางการฝรั่งเศสแต่งตั้งผู้พิพากษาสองคนเข้ารับผิดชอบคดีนี้ จนในปี 2560 ศาลก็ได้ตั้งข้อหาต่ออับดุล ราซัก บากินดา ว่ามีส่วนรู้เห็นในการติดสินบน ร่วมกับผู้บริหารบริษัท Thales และ DCNI รวม 9 คน ทางการฝรั่งเศสระบุว่า มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะจำนวน 114.96 ล้านยูโร (121.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากบริษัทในเครือ DCN International ผ่านบริษัท Perimekar ที่เป็นของอับดุล ราซัก บากินดา และภรรยาในมาเลเซีย ไปยังพรรคอัมโน เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการซื้อเรือดำน้ำมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนั้นยังมีเงินอีกก้อนหนึ่งอย่างน้อย 36 ล้านยูโร ที่ถูกโอนจากบริษัทลูกของ DCN ไปยังบริษัทนอกอาณาเขตในฮ่องกงชื่อ Terasasi Hong Kong Ltd โดยปรากฏชื่อเจ้าหน้าที่หลักของบริษัท ซึ่งพบว่าเป็นเพื่อนสนิทของนาจิบ ราซัก การกระทำนี้ถือเป็นการละเมิดกฎ OECD และกฎหมายฝรั่งเศส

บริษัท Perimekar ระบุว่าเงิน 114 ล้านยูโรที่โอนเข้าจากฝรั่งเศส เป็นค่าตอบแทน “บริการสนับสนุนและประสานงาน” (support and coordination services) ให้แก่บริษัท DCNI อย่างไรก็ตาม มีเรื่องไม่ชอบมาพากลบางประการเกี่ยวกับบริษัท Perimekar เรื่องหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ Perimekar เป็นบริษัทที่ถูกตั้งขึ้นใหม่เพียงไม่กี่เดือนก่อนการเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำ โดยไม่ปรากฏว่าบริษัทนี้มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงการในลักษณะนี้มาก่อน

ทั้งรัฐบาลมาเลเซีย ทั้งอับดุล ราซัก บากินดา และกลุ่มบริษัท Thales ยืนกรานปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ทางอับดุล ราซัก ยอมรับว่าได้รับเงิน 30 ล้านยูโรจริง แต่เป็นเงินค่าประสานงานและให้บริการที่ได้รับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

น่าสังเกตว่าในขณะที่ศาลฝรั่งเศสให้ความสำคัญต่อประเด็นติดสินบนอย่างจริงจัง และมีท่าว่าจะใช้เวลานานกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการ แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อคดีอัลตันตูยา ตรงข้ามกับมาเลเซียที่ศาลดำเนินคดีฆาตกรรมจนถึงที่สุด แต่ไม่เคยแตะต้องคดีรับสินบนที่เกี่ยวพันกับอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก และพรรคอัมโน ความคืบหน้าในการสืบสวนของฝรั่งเศสไม่ได้ส่อสัญญานว่าจะมีผลกระทบใดๆ ต่อผู้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก และพรรคอัมโน

ท่ามกลางกระแสการเมืองและผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมข้ามชาติ อัลตันตูยาคือแมลงตัวน้อยที่ต้องแสงไฟจนร่วงลง โดยอาจไม่รู้เลยว่าขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เธอกำลังเล่นอยู่กับอะไร


อ้างอิง

Up Periscope! Sub Scandal Resurfaces in Malaysia

Scorpene submarine investigation going well, says French envoy

Najib’s associate charged over French submarine deal linked to murder of Mongolian translator

France’s Thales charged over 2002 submarines deal with Malaysia

Ramkarpal confident with new evidence, Altantuya’s murder case will be reopened

Mongolian president wants to see justice in Altantuya’s case

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save