fbpx
107 ปี คานธีคืนถิ่นอินเดีย: ชาวอินเดียพลัดถิ่นจากโลกอาณานิคมสู่นโยบายอินเดียที่พึ่งพาตัวเองได้

107 ปี คานธีคืนถิ่นอินเดีย: ชาวอินเดียพลัดถิ่นจากโลกอาณานิคมสู่นโยบายอินเดียที่พึ่งพาตัวเองได้

Elliott & Fry ภาพประกอบ

วันที่ 9 มกราคมของทุกปีคือ ‘วันประวาสี ภารติยะ ทิวา’ (Pravasi Bharatiya Divas) ของอินเดีย ซึ่งเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของอินเดีย โดยเป็นวันที่ระลึกการเดินทางของมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi, 1869-1948) จากแอฟริกาใต้กลับสู่ประเทศอินเดีย ณ เมืองบอมเบย์ ในวันที่ 9 มกราคม 1915 ภายหลังที่คานธีได้เดินทางไปประกอบอาชีพทนายความอยู่ที่แอฟริกาใต้ถึง 21 ปี

ชีวิตในแอฟริกาใต้มีส่วนในการหล่อหลอมความคิดทางสังคมการเมืองของคานธีอย่างลึกซึ้ง เขาได้พบกับการกดขี่ ความอยุติธรรม และการปฏิบัติที่เลวร้ายของชาวผิวขาวที่มีต่อชาวอินเดียพลัดถิ่นที่นั้น รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่คานธีถูกห้ามไม่ให้โดยสารในรถไฟชั้นหนึ่งเพราะสีผิวของเขา ในขณะเดียวกัน แอฟริกาใต้ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของคานธีในการเริ่มต้นการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ เจ้าอาณานิคมของอินเดีย โดยคานธีก่อตั้งองค์การอินเดียน คองเกรส เพื่อต่อสู้กับการแบ่งแยกเชื้อชาติ และช่วยพัฒนาแนวคิดเรื่องการประท้วงโดยสันติของพลเมือง ซึ่งส่งผลให้เขาเริ่มเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

ควรกล่าวด้วยว่า นอกจากเป็นวาระของการกลับสู่อินเดียแล้ว วันประวาสี ภารติยะ ทิวา ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราชของอินเดีย เพราะเมื่อคานธีเดินทางกลับมาอินเดียแล้ว ก็ได้ละทิ้งการแต่งกายแบบตะวันตก หันมาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของแคว้นคุชราต และออกเดินทางไปทั่วประเทศอินเดียเพื่อได้รู้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของอินเดียภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม

นอกจากนี้ วันประวาสี ภารติยะ ทิวายังเป็นวันที่ระลึกถึงชาวอินเดียพลัดถิ่นในดินแดนต่างๆ ด้วย รัฐบาลอินเดียกำหนดวันนี้ให้เป็นวันสำคัญครั้งแรกในปี 2000 และมีการจัดงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2003 หลังจากนั้นก็มีการจัดงานทุกๆ สองปีต่อครั้งเรื่อยมา

บทความชิ้นนี้พาไปสำรวจการเดินทางของชาวอินเดียพลัดถิ่นจากในอดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อเป็นการร่วมฉลองวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอินเดีย

ชาวอินเดียพลัดถิ่นกับโลกอาณานิคม

         

ชาวอินเดียพลัดถิ่นมีมาตั้งแต่ก่อนการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เนื่องจากอินเดียเป็นศูนย์กลางอารยธรรมที่รุ่มรวยของโลกโบราณ รวมถึงเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ ชาวอินเดียจึงเดินทางไปทำการค้าต่างแดนอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่ยุคพระเวท

ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru, 1889-1946) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังยุคอาณานิคมอังกฤษ เขียนถึงพ่อค้าชาวอินเดียในโลกโบราณว่าเป็นกลุ่มพ่อค้าที่สามารถควบคุมตลาดได้ในหลายดินแดน ซึ่งชาวอินเดียทำการค้ากับดินแดนต่างๆ ทั้งการค้าทางบกและการค้าทางทะเล

การเข้ามาปกครองอินเดียของจักรวรรดิอังกฤษกว่า 3 ศตวรรษ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการย้ายถิ่นฐานของชาวอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลายเป็นลูกจ้างและแรงงานสำคัญในระบบการปกครองและระบบการผลิตของอังกฤษในดินแดนอาณานิคมต่างๆ เนื่องจากอังกฤษขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในภาคการเกษตรกรรม ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว เมื่อสัญญาจ้างหมดลง ชาวอินเดียจำนวนมากมักไม่ได้เดินทางกลับอินเดีย แต่จะได้รับการจ้างงานต่อตามการอนุญาตของข้าหลวงปกครองในดินแดนต่างๆ อีกทั้งเจ้าของกิจการก็มักจะดึงดูดให้ชาวอินเดียพลัดถิ่นทำงานกับตนต่อไป จึงทำให้เกิดการตั้งรกรากของชาวอินเดียพลัดถิ่นในดินแดนอาณานิคมอื่นๆ ขึ้น

นอกจากนี้ อังกฤษยังนำนักโทษชาวอินเดียไปเป็นแรงงานในดินแดนปกครองของตนในพื้นที่ต่างๆ เช่น ในปีนัง หมู่เกาะอันดามัน และสิงคโปร์ นักโทษเหล่านี้จะได้รับการจัดลำดับชั้นตามระวางโทษ และระยะเวลาในการรับโทษ ซึ่งนักโทษที่มีความประพฤติค่อนข้างดีจะได้รับการมอบหมายงานบางประเภท เช่น งานก่อสร้าง และงานผลิตในอาณานิคมเพาะปลูก โดยบางกลุ่มก็อาจได้รับค่าตอบแทน นอกจากจะเป็นการลงโทษแล้ว การนำนักโทษไปเป็นแรงงานยังกลายเป็นการสะสมทุนรอนของนักโทษเหล่านี้ไปในตัว ทำให้เมื่อพ้นโทษแล้ว นักโทษอินเดียอพยพบางกลุ่มสามารถที่จะตั้งถิ่นฐานและเลือกที่จะไม่กลับอินเดียได้

ชาวอินเดียพลัดถิ่นบางกลุ่มยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชการของอังกฤษในดินแดนอาณานิคม โดยปฏิบัติงานเป็นข้าราชการระดับล่างทั้งในอินเดียและดินแดนอาณานิคมอย่างพม่าและมลายา หรือแม้แต่รัฐเอกราชอื่น เช่น สยาม/ไทย ก็มีชาวอินเดียจำนวนหนึ่งมารับจ้างเป็นข้าราชการในกองตระเวน ซึ่งเป็นหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อยและเป็นต้นกำเนิดของตำรวจในปัจจุบัน

แม้การเดินทางของชาวอินเดียพลัดถิ่นจะถูกขับเคลื่อนด้วยการเคลื่อนย้ายแรงงานในระบบอาณานิคมเป็นหลัก แต่บทบาททางการค้าของพ่อค้าอินเดียก็ยังคงอยู่ ชาวอินเดียจำนวนหนึ่งสามารถเข้าไปประกอบกิจการต่างๆ ตามการขยายตัวของระบอบทุนนิยมในโลกอาณานิคม พวกเขาได้ลงหลักปักฐานและมีบทบาทในสังคมที่ตนเข้าไปอยู่ไม่มากก็น้อย สร้างเครือข่ายทางการค้าและประสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับผู้ปกครองท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน โดยลักษณะสำคัญประการหนึ่งของชาวอินเดียที่ไปประกอบการในดินแดนต่างๆ คือ พวกเขาสามารถประสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับผู้ปกครองท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี และสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเชิงการเมืองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งลักษณะดังกล่าวได้ดำเนินมาจนถึงภายหลังที่อินเดียได้รับเอกราช แตกต่างจากกรณีของชาวจีนโพ้นทะเล ดังในกรณีที่เกิดขึ้นในสยาม/ไทย และมาลายา/มาเลเซีย

โลกอาณานิคมถือเป็นทั้งวิกฤติและโอกาสของชาวอินเดียพลัดถิ่น อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ชาวอินเดียจำนวนมากก็ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและถูกกดขี่จากผู้ปกครองในดินแดนต่างๆ ด้วยเช่นกัน จนนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการต่อต้านอังกฤษของคานธี

ชาวอินเดียพลัดถิ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงประวาสี ภารติยะ ทิวา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อปี 1945 กระบวนการเรียกร้องเอกราชของอินเดียดำเนินไปอย่างเข้มข้น กระทั่งอินเดียได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการในปี 1947 โลกก็เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล เกิดการเสื่อมสลายของระบอบจักรวรรดินิยมที่มีชาติยุโรปเป็นผู้นำ ความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเองก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากโลกต้องการฟื้นฟูจากความเสียหายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความต้องการแรงงานมีทักษะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การเดินทางของชาวอินเดียพลัดถิ่นจากการไปเป็นแรงงานระดับล่างเปลี่ยนแปลงไปเป็นแรงงานที่มีทักษะระดับสูง ทั้งในกลุ่มวิศวกร แพทย์ และนักเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

อันที่จริง ในช่วงแรกของการอพยพหลังสงคราม ชาวอินเดียถูกกีดกันและการเข้มงวดต่อการอพยพเข้าไปทำงาน แต่ด้วยความต้องการแรงงานมีทักษะที่เพิ่มมากขึ้นและการเกิดขึ้นของรัฐกำลังพัฒนาหลายแห่งที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ทำให้เกิดการผ่อนคลายความเข้มงวดและเปิดรับแรงงานชาวอินเดียพลัดถิ่นมากขึ้น ในทศวรรษที่ 1960s ชาวอินเดียพลัดถิ่นเดินทางไปทำงานทั้งในอังกฤษ ออสเตรเลีย ประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา เป็นจำนวนมาก สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ภาวะสมองไหล (brain drain) ของอินเดีย ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลอินเดียอย่างมาก เนื่องจากอินเดียต้องการพัฒนาประเทศหลังสงครามเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ภาวะสมองไหลของอินเดียเริ่มบรรเทาลงตั้งแต่ทศวรรษ 1990s เป็นต้นมา เมื่อรัฐบาลอินเดียดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT revolution) มีการตั้งเมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีและธุรกิจซอฟแวร์ที่บังกาลอร์และไฮเดอราบัด นโยบายดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลอินเดียต้องพยายามดึงดูดแรงงานอินเดียทักษะสูงที่ทำงานอยู่ต่างประเทศให้กลับประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจเทคโนโลยีจำนวนมากที่ได้รับการจัดตั้งในช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่บริหารและก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวอินเดียพลัดถิ่น โดยพวกเขาได้รับสิทธิพิเศษในการลงทุนจากรัฐบาล ในแง่นี้อินเดียจึงประสบความสำเร็จในการดึงดูดชาวอินเดียพลัดถิ่นที่ประสบความสำเร็จให้กลับมาลงทุนในประเทศด้วย ความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยียังส่งผลให้มีการดึงดูดแรงงานมีทักษะในภาคอื่นๆ อย่างแพทย์ พยาบาล วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์อีกด้วย

หากมาตรการทางเศรษฐกิจคือ แม่เหล็กสำคัญที่รัฐบาลอินเดียใช้ดึงดูดชาวอินเดียพลัดถิ่นแล้ว กล่าวได้ว่าวันประวาสี ภารติยะ ทิวาขึ้น ที่รัฐบาลอินเดียเริ่มต้นเฉลิมฉลองในปี 2000 เพื่อเป็นการระลึกถึงชาวอินเดียพลัดถิ่นในต่างแดนก็นับเป็นหมุดหมายของนโยบายทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งสะท้อนผ่านการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลอินเดียในตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะการจัดงานของสถานเอกอัครราชทูตอินเดียทั่วโลกที่มีการมอบรางวัลเกียรติยศให้ชาวอินเดียพลัดถิ่นในประเทศต่างๆ การจัดงานนี้นับเป็นความพยายามเชื่อมโยงชาวอินเดียพลัดถิ่นเข้ากับมาตุภูมิ อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารให้ชาวอินเดียพลัดถิ่นรับทราบว่ารัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับพวกเขาอย่างมาก

บทส่งท้าย: ประวาสี ภารติยะ ทิวาและอัตมานิรภาร์ ภารัต

เมื่อรัฐบาลของนเรนทรา โมดี (Narendra Modi, 1950-ปัจจุบัน) ประกาศนโยบายอินเดียที่พึ่งพาตัวเองได้หรือ ‘อัตมานิรภาร์ ภารัต’ (Atmanirbhar Bharat) ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนเร่งพัฒนาการผลิตและใช้สินค้าของอินเดียให้มากขึ้น ชาวอินเดียพลัดถิ่นยิ่งกลายเป็นส่วนสำคัญภาคส่วนหนึ่งในการพัฒนาอินเดีย เนื่องจากพวกเขาจะมีส่วนสำคัญในการนำเข้าเทคโนโลยี องค์ความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ต่างๆ มาช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวอินเดียภายในประเทศได้มากขึ้น นอกเหนือไปจากการพัฒนาภายในประเทศของรัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น

กล่าวโดยภาพรวมแล้ว การเดินทางของชาวอินเดียพลัดถิ่นมีความเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก จากการเดินทางเพื่อการค้าทางไกลในโลกยุคโบราณ การกลายเป็นแรงงานสำคัญในโลกอาณานิคม และการเข้าสู่การเป็นเจ้าของกิจการทางธุรกิจและเป็นมันสมองในกิจการต่างๆ ทำให้ชาวอินเดียพลัดถิ่นเป็นกลุ่มคนสำคัญที่รัฐบาลอินเดียปัจจุบันพยายามทำให้พวกเขายังสามารถเชื่อมโยงกับมาตุภูมิได้ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้กลับมาพัฒนาประเทศ โดยการตั้งวันประวาสี ภารติยะ ทิวา อันเป็นวันที่คานธีเดินทางกลับสู่อินเดียเป็นวันที่ระลึกถึงชาวอินเดียพลัดถิ่นในดินแดนต่างๆ


อ้างอิง

India Today. (9 January 2022). Pravasi Bharatiya Diwas 2022: History, significance, wishes and quotes on Non-Resident Indians Day. Retrieved from https://www.indiatoday.in/information/story/pravasi-bharatiya-diwas-2022-history-significance-wishes-and-quotes-on-non-resident-indians-day-1897897-2022-01-09

Ministry of External Affairs, Government of India. (n.d.). Pravasi Bharatiya Divas. Retrieved from https://pbdindia.gov.in/en/about-us

PANDE, A. (2013). Conceptualising Indian Diaspora: Diversities within a Common Identity. Economic and Political Weekly, 48(49), 59–65. http://www.jstor.org/stable/24478375

บีบีซี ไทย. (2 ตุลาคม 2019). มหาตมะ คานธี: 150 ปี แห่งชาตกาล กับ 7 ช่วงเวลาสำคัญในชีวิตมหาบุรุษแห่งอินเดีย. เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/features-49882002

ศรัทธา พูลสวัสดิ์. (2552). อินเดียพลัดถิ่น: การเดินทางจากอนุทวีปสู่โลกใหม่. วารสารมนุษยศาสตร์, 16 (1), 52-63. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/abc/article/view/64216

สิทฑารธ ศรีวัสตวา. (11 มกราคม 2549). อินเดียโหยหาพี่น้องโพ้นทะเล. เข้าถึงจาก https://mgronline.com/around/detail/9490000003830

ฮอง ลิซ่า (ผู้เขียน), วารุณี โอสถารมย์ (ผู้แปล). สิทธิสภาพนอกอาณาเขตในกรุงเทพฯ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 1868-1910: เสียงที่ไม่ประสานกันของลัทธิสากลนิยมกึ่งเมืองขึ้น. เอกสารประกอบการสัมมนาเฉลิมพระเกียรติครบรอบ 150 ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 21 กันยายน 2547 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ.


หมายเหตุ: ข้อความและข้อคิดเห็นต่างๆ เป็นของผู้เขียนบทความ ไม่ถือเป็นความเห็นของศูนย์อินเดียศึกษา และศูนย์ฯ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับข้อความและข้อคิดเห็นใดๆ ของผู้เขียน 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ The101.world

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save