fbpx

โควิดในอาเซียน: ความล้มเหลวในเชิงสถาบัน

ในวันที่เขียนบทความนี้ (24 กรกฎาคม 2021) ทั่วภูมิภาคอาเซียนมีคนติดเชื้อโควิดมากกว่า 6.5 ล้านคนและ 126,787 คนเสียชีวิตไปแล้ว[1] โดยอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดกลายเป็นศูนย์กลางของการระบาดของภูมิภาค มีคนติดเชื้อมากที่สุดและเสียชีวิตมากที่สุด รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย แนวโน้มของสถานการณ์ดูเหมือนว่าจะยังไม่ถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่สูง

โลกนี้มีภูมิรู้ในการคิดค้นมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหานี้อยู่ไม่กี่อย่าง เริ่มต้นจากการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กักกันโรค ปิดชุมชน ทำงานจากที่บ้าน และฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน มนุษยชาติสามารถคิดค้นวัคซีนได้ไม่กี่แบบ ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีที่เก่าหรือใหม่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวันว่า มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสู้กับไวรัสมรณะที่กลายพันธุ์พัฒนาตัวเองตลอดเวลาได้แค่ไหน

ทุกประเทศในอาเซียนออกมาตรการทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเหมือนๆ กัน และใช้วัคซีนไม่กี่ยี่ห้อ เช่น ไฟเซอร์ โมเดิร์นนา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แอสตราเซเนกา สปุตนิกวี ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ปัจจัยที่วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวของทุกรัฐบาลในภูมิภาคนี้ก็อยู่ที่ว่า เลือกที่จะออกมาตรการต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์และเลือกยุทธศาสตร์ในการบริหารวัคซีนอย่างไร

สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีประสบการณ์กับภัยพิบัติขนาดใหญ่มาไม่น้อย ตั้งแต่โรคซาร์สในปี 2003 สึนามิในปี 2004 ไม่นับแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุใหญ่ อุทกภัย ในประเทศสมาชิกที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละปี จะเห็นว่าอาเซียนในฐานะองค์กรมีบทบาทไม่น้อยในการเข้าไปช่วยจัดการกับภัยพิบัติเหล่านั้น ผิดกับการระบาดใหญ่ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์โลกคราวนี้ที่กลุ่มอาเซียนมีบทบาทน้อย จนกระทั่งคนในภูมิภาคนี้ลืมไปว่ากลุ่มอาเซียนมีข้อตกลงและกลไกหลายอย่างในการรับมือกับภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ หรือหลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่ามีกลุ่มอาเซียนอยู่ หรือกำลังเกิดคำถามว่าประเทศในภูมิภาคนี้จะรวมตัวกันทำไมในเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้แล้วไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มเช่นว่านั้นเลย

บทความนี้ทำการสำรวจว่าอาเซียนในฐานะองค์กรระหว่างประเทศซึ่งทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสมาชิกอยู่มีความตกลง กลไกการบริหารสถานการณ์วิกฤต และตอบสนองต่อภัยพิบัติจากโควิดนี้อย่างไร โดยต้องการโต้แย้งว่าสิ่งที่อาเซียนมีอยู่และทำมานั้นน้อยไปและช้าไป สมควรที่จะมองหาแนวคิดและยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ในการรับมือกับวิกฤตขนาดใหญ่ระดับโลกที่กระทบกระเทือนถึงทุกชีวิตในภูมิภาคนี้

แถลงการณ์ที่ฉับไว

ถ้าจะว่าไปแล้ว กลุ่มอาเซียนซึ่งตอนนั้นเวียดนามเป็นประธานตื่นตัวค่อนข้างเร็วต่อการระบาดของโควิด-19 เพราะองค์การอนามัยโลกประกาศยืนยันพบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเป็นรายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2020 ในประเทศไทย[2] ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มอาเซียนและรายแรกที่เป็นการระบาดในท้องถิ่นของไทยเองก็ได้รับการยืนยันในเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นคือวันที่ 31 มกราคม 2020 ซึ่งก็เป็นเวลาเพียง 1 วันหลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขจากประเทศอาเซียนกับผู้เชี่ยวชาญเริ่มหารือกันว่าจะทำความร่วมมือกันเพื่อรับสถานการณ์นี้อย่างไร

สมาชิกอาเซียนเริ่มตอบสนองต่อสถานการณ์โดยการแสวงหาความร่วมมือผ่านกลไกทั้งที่มีอยู่แล้วของกลุ่ม เช่นเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน (ASEAN Emergency Operations Center Network) ประสานความร่วมกับจีนผ่านกลไกของอาเซียนบวกสาม (คือความร่วมมืออาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) เพื่อให้มีการอัพเดตสถานการณ์การระบาดเป็นรายวัน 

สองสัปดาห์หลังจากนั้นมีแถลงการณ์ของประธานอาเซียนออกมาเพื่อตอกย้ำพันธะของอาเซียนว่าจะร่วมแรงร่วมใจกันในการต่อสู้กับโรคร้ายคราวนี้ จะกระชับความร่วมมือและการประสานงาน จะเพิ่มทวีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล ประสบการณ์และแนวปฏิบัติระหว่างสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ กับจีนและกับองค์การอนามัยโลก จะสนับสนุนให้มีการใช้กลไกความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อรับมือกับปัญหา จะมอบหมายให้หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขของประเทศสมาชิกจัดตั้งเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทางด้านการคมนาคมขนส่งและตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้รับมือกับปัญหาทั้งหมดได้อย่างครอบคลุมเป็นระบบ (holistic)[3]

ระหว่างนั้นมีการประชุมรัฐมนตรีของอาเซียนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีกลาโหม (19 กุมภาพันธ์ 2020) รัฐมนตรีเศรษฐกิจ (10 มีนาคม) และรัฐมนตรีเกษตร (15 เมษายน) ต่างก็พูดถึงความร่วมมือในการเผชิญหน้าและรับมือกับไวรัสมรณะโควิด-19 ด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญที่สุดคือการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษเพื่อหารือและออกมาตรการในการรับมือโควิด-19 เป็นการเฉพาะเจาะจงในวันที่ 14 เมษายน 2020 ซึ่งเรียกร้องให้สมาชิกเพิ่มทวีความร่วมมือระหว่างกัน แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลและแนวปฏิบัติระหว่างสมาชิกด้วยกันและกับองค์การระหว่างประเทศและประชาคมโลก ให้ใช้กลไกความร่วมมือทั้งหมดที่มีอยู่ของกลุ่มอาเซียนในการรับมือกับปัญหา 

ประการสำคัญที่สุดคือส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 (COVID-19 ASEAN Response Fund)[4] ซึ่งกองทุนดังกล่าวได้รับการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 ในวันที่ 26 มิถุนายน 2020 และเวียดนามในฐานะประธานกลุ่มอาเซียนได้ประกาศในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2020 ว่าจะใส่เงิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐลงไปในกองทุนดังกล่าว[5] ทำให้ตอนนั้นมีเงินประเดิมอยู่ในกองทุนรวม 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากทั้งสมาชิกและประเทศคู่เจรจาของอาเซียนช่วยกันลงขันซึ่งรวมทั้ง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐจากประเทศไทย[6] 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากญี่ปุ่น[7]และ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากอินเดีย[8]

นอกจากนี้อาเซียนยังประกาศจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข (ASEAN Regional Reserve of Medical Supplies-RRMS) ให้การรับรองกรอบยุทธศาสตร์สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข (ASEAN Strategic Framework for Public Health Emergencies) ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางสำหรับประเทศสมาชิกในการปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข และพร้อมกันนั้นที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ยังอนุมัติแผนปฏิบัติการเพื่อการฟื้นตัวจากโควิดเอาไว้เป็นแนวทางในการดำเนินการ หลังจากที่สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งในแผนปฏิบัติการดังกล่าวนั้นจะรวมถึงการเสริมสร้างระบบสาธารณสุข เสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ การใช้ศักยภาพของตลาดภายในกลุ่มอาเซียนให้เต็มที่ และเร่งขยายการบูรณาการทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน การเร่งขยายระบบดิจิทัลในกลุ่มอาเซียนเป็นต้น[9]

กลไกความร่วมมือที่หลากหลาย

กลุ่มอาเซียนรู้จักและมีประสบการณ์เกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจแล้วตั้งแต่การอุบัติขึ้นของโรคซาร์ส (Sever Acute Respiratory Syndrome – SARS) จากจีนในปี 2003 และเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome—MERS) จากซาอุดิอาระเบียในปี 2012 เพียงแต่อาจจะไม่คาดคิดว่าจะมีการระบาดของเชื้อโรคแบบนี้ในระดับทั่วโลกอย่างโควิด-19 ได้รวดเร็วขนาดนี้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่เคยตระหนักว่าภัยพิบัติขนาดใหญ่จะคุกคามภูมิภาคนี้ แผ่นดินไหวในอินโดนีเซียที่ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิในเดือนธันวาคม 2004 ที่เป็นเหตุให้คนกว่า 200,000 คนใน 14 ประเทศรวมทั้งสมาชิกอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ไทย และพม่าต้องเสียชีวิตไปนั้น เป็นสิ่งที่คาดหมายว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และประเทศต่างๆ จะไม่สามารถเผชิญหน้าหรือรับมือกับภัยพิบัติได้โดยลำพัง แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือและความช่วยเหลือจากประเทศอื่น และกลุ่มอาเซียนเองก็อยู่ในฐานะที่จะต้องประสานความร่วมมือและความช่วยเหลือเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในครั้งนั้น กลุ่มอาเซียนก็บรรลุความตกลงว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response ซึ่งลงนามกันเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2005 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ และถือว่านี่เป็นเอกสารหลักที่ใช้ในการจัดการภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน

คำว่าภัยพิบัติในมาตรา 1(3) ของความตกลงดังกล่าวหมายถึง ภัยที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงโดยฉับพลันซึ่งก่อความเสียหายให้กับมนุษย์ ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติที่เกิดจากโรคระบาดอาจจะเข้ากับคำนิยามนี้ด้วย แต่เนื่องจากกลุ่มอาเซียนคุ้นเคยภัยธรรมชาติเช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุ น้ำท่วม ฝนแล้ง ไฟป่า มากกว่าโรคระบาดเป็นวงกว้างขนาดนี้ แม้โรคทางเดินหายใจที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ก็เกิดเพียงระยะสั้นๆ และทำร้ายผู้คนไม่ได้มากขนาดนี้ ดังนั้นจึงสร้างกลไกการทำงานในลักษณะที่เป็นเชิงรับและเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมกับประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบ เช่น ศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Center for Humanitarian Assistant and Disaster Management—AHA Center) ในปี 2011 และระบบส่งกำลังบำรุงสำหรับภัยพิบัติฉุกเฉิน (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN ในปี 2012 ทำให้อาเซียนไม่คุ้นเคยกับการรับมือของภัยพิบัติที่เกิดจากโรคระบาด[10]

เมื่อเกิดปัญหาโควิด กลุ่มอาเซียนจึงหันไปหากลไกความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขที่มีอยู่เดิมคือที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน แต่กลไกนี้เป็นกลไกที่ใช้ทำงานประจำในสถานการณ์ปกติ และที่ประชุมของเจ้าหน้าอาวุโสด้านสาธารณสุขของอาเซียนซึ่งเป็นกลไกที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับที่ประชุมระดับรัฐมนตรีตามสไตล์กลไกราชการของกลุ่มอาเซียน โดยกลไกเหล่านี้ทำงานตามแนวทางที่ปรากฏในวาระการพัฒนาทางด้านสาธารณสุขหลังปี 2015 (ASEAN Post-2015 Health Development Agenda) และถูกนำมาใช้เพื่อแลกเปลี่ยนทางด้านเทคนิควิชาการ ข่าวสารข้อมูลและมาตรการทางด้านนโยบายเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดยพยายามพิจารณาปัญหาให้รอบด้านที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตั้งแต่การเตรียมการ การติดตามโรค การเยียวยา และมาตรการอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขทั้งหมดที่มีอยู่ 

กลไกหลักที่กลุ่มอาเซียนหยิบมาใช้เพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-19 ประกอบไปด้วย ASEAN Emergency Operations Center Network มีมาเลเซียเป็นผู้นำ เป็นกลไกเดิมที่ตั้งขึ้นก่อนมีสถานการณ์โควิด โดยมี AHA Center ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาร์กาตาทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุนหลัก กลไกนี้ใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลและอัพเดตสถานการณ์รายวัน ผ่านเครือข่ายการสื่อสารเช่นอีเมล์และ WhatsApp ทั้งระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองและกับประเทศคู่เจรจาในกลุ่มอาเซียนบวกสาม (ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว) 

กลไกต่อมาคือศูนย์ข้อมูลชีวภาพเสมือน (ASEAN BioDiaspora Virtual Center) มีฟิลิปปินส์เป็นผู้ประสานงานหลักเพื่อใช้ big data ในการวิเคราะห์และจัดทำรายงานประเมินสถานการณ์การระบาดทั่วภูมิภาคอาเซียน รายงานดังกล่าวออกเป็นประจำสม่ำเสมอ ตัวอย่างรายงานสถานการณ์ล่าสุดของศูนย์นี้ออกมาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกลุ่มอาเซียนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2021 เมื่อเวียดนามประกาศล็อกดาวน์ภาคใต้ทั้งภาค ลาวประกาศขยายระยะเวลาการใช้มาตรการเข้มงวดออกไปอีก 15 วัน และไทยขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีก 14 วัน[11]

กลไกที่สามคือเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขระดับภูมิภาค (Regional Public Health Laboratories Network) ตั้งขึ้นก่อนการระบาดของโควิดไม่นานคือเมื่อเดือนตุลาคม 2019 โดยการนำของไทย และการสนับสนุนจากสหรัฐฯ (USAID) เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวกด้านความพร้อมของห้องปฏิบัติการ เทคนิควิชาการ วัสดุอุปกรณ์ และการเฝ้าระวังในห้องปฏิบัติการ

กลไกที่สี่คือศูนย์สื่อสารและจัดการความเสี่ยงของอาเซียน ASEAN Risk Management and Risk Communication Center นำโดยมาเลเซียอีกเช่นกัน ทำหน้าที่ในการสื่อสารมาตรการต่างๆ ที่ใช้ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

นอกจากนี้เพื่อให้การปฏิบัติการรับมือกับโควิดได้ดียิ่งขึ้น กลุ่มอาเซียนได้ตั้งคณะทำงานและกลไกพิเศษอีกหลายอย่าง เช่นคณะทำงานเฉพาะกิจรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน-จีน เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลสนับสนุนการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษของอาเซียนและอาเซียนบวกสามซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2020

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องกิจการอาเซียนเห็นว่า บรรดากลไกความร่วมมือของกลุ่มอาเซียนที่มีอยู่ และการตอบสนองของกลุ่มอาเซียนต่อการระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 ก็ยังถือว่าน้อยไปและช้าไป ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ศึกษาความมั่นคงนอกแบบ (Non-traditional Security Study) ของมหาวิทยาลัยนานยางสิงคโปร์ ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างการทำงานที่แยกส่วนของกลไกต่างๆ ของอาเซียนนั่นเองที่กลายเป็นจุดอ่อนของกลุ่มในการรับมือกับภัยพิบัติ “ในขณะที่กลุ่มอาเซียนมีกลไกความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขระดับภูมิภาคอยู่ เช่น ฝ่ายสาธารณสุขของสำนักเลขาธิการอาเซียน (ที่กรุงจาร์กาตา) ได้ส่งคำเตือนล่วงหน้าไปยังที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสาธารณสุขอาเซียนเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะและได้มีการเปิดใช้งาน (reactivate) กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม (2020) และมีการประชุมกันในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็ยังไม่มีการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้นจนกระทั่งในเดือนมีนาคม”[12]

นอกจากนี้กลุ่มอาเซียนปล่อยให้ความช่วยเหลือจากภายนอกกลุ่มไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากกว่าจะผ่านการประสานงานและการประเมินความต้องการของกลุ่มอาเซียน ซึ่งนั่นทำให้เกิดคำถามเรื่องขีดความสามารถของกลุ่มในการประสานงานและจัดการเรื่องการให้ความช่วยเหลือ ในสถานการณ์ที่วัคซีนขาดแคลนและการระบาดรอบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วภูมิภาคอาเซียนยิ่งสะท้อนว่า กลไกการทำงานต่างๆ ของอาเซียนอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ 

ในขณะที่ประเทศสมาชิกมียุทธศาสตร์เรื่องวัคซีนแตกต่างกัน กลุ่มอาเซียนซึ่งขณะนี้บรูไนเป็นประธานยังไม่มีความริเริ่มใดๆเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีน หลายประเทศที่มีขีดความสามารถในการจัดหาวัคซีนได้น้อยกำลังเรียกร้องให้กลุ่มอาเซียนใช้เงินกองทุน 10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตต่างๆ ของโลกมาใช้ให้เพียงพอ[13] แน่นอนทีเดียวแม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวนมากยกเว้นไทย จะเข้าร่วมโครงการ Covax และได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอื่นๆ แต่นั่นก็เป็นไปโดยศักยภาพของรัฐบาลประเทศนั้นๆ และความสัมพันธ์แบบทวิภาคี โดยที่กลุ่มอาเซียนในฐานะองค์กรที่มีเครือข่ายกลไกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย 

ประการต่อมา ความสมานฉันท์ของอาเซียนอาจจะไม่ใช่เรื่องที่มีอยู่จริงในสถานการณ์ที่ทุกประเทศเกิดวิกฤตเหมือนกัน รัฐบาลของสมาชิกอาเซียนย่อมจะมองผลประโยชน์ของตนเองมากกว่ากลุ่ม ยกตัวอย่างประเทศไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา อาจจะจำเป็นต้องบังคับห้ามการส่งออกวัคซีนชนิดนี้[14]ไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเพราะรัฐบาลไทยกำลังโดนมรสุมการเมืองภายในประเทศอันเนื่องมาจากยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด ทำให้ไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

สรุป

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เผชิญกับภัยพิบัติอยู่เป็นประจำ โดยที่ภัยนั้นมีมาในรูปแบบต่างๆ หลากหลายชนิด แม้ว่ากลุ่มอาเซียนจะคุ้นเคยกับภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ที่เกิดขึ้นประจำในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ พายุ น้ำท่วม ความแห้งแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในแผ่นดินใหญ่ แต่โรคระบาดอย่างโควิด-19 ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมาย และอาเซียนก็พิสูจน์ให้เห็นว่าได้เรียนรู้ เตรียมการ สร้างกลไกความร่วมด้านสาธารณสุขเอาไว้รับมือแล้ว แต่ปัญหาที่จะต้องพิจารณาคือ ขีดความสามารถในการบริหารจัดการอย่างเป็นองค์รวมและความสมานฉันท์ภายในกลุ่มอาเซียนเอง อาจจะกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กลุ่มอาเซียนไม่สามารถรับมือกับภัยคุกคามชนิดนี้ได้ดีพอ

การบริหารงานในกลุ่มอาเซียนในระยะหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่อาเซียนมีกฎบัตรเมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมาจะพึ่งพิงความสามารถและความกระตือรือร้นของประเทศที่เป็นประธานและตัวเลขาธิการเป็นสำคัญ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อาเซียนภายใต้การนำของเวียดนามในปี 2020 เมื่อโควิดเริ่มระบาดนั้นตอบสนองต่อสถานการณ์ของโควิดได้ค่อนข้างรวดเร็ว แม้ว่าการปฏิบัติอาจจะล่าช้าติดขัดที่ระบบการบริหารและกลไกภายในอยู่มากก็ตาม แต่อาเซียนภายใต้การเป็นประธานของบรูไนในปีนี้ ซึ่งมีสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง รวดเร็ว กลับไม่มีความเคลื่อนไหวหรือความริเริ่มอะไรที่ทันท่วงทีออกมาเลย 

กลไกและความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขของอาเซียน 2003-ปัจจุบัน

ช่วงเวลา (การอุบัติของโรค)กลไกความร่วมมืออาเซียน
2003-2009 (SARS, H1N1)– ASEAN plus 3 Emerging Inflection 
– ASEAN Highly Pathogenic Avian Influenza Task Force 
– ASEAN-Japan Project for Stockpile of Antivirals and PPE against Potential Pandemic Influenza
– ASEAN plus 3 Partnership Laboratories
– MOU between ASEAN Secretariat and WHO
(MERS, pre-Covid-19)– One ASEAN One Response Framework in ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response (AADMER)
– Disaster Safety of Health Facilities in the AADMER Work Programme
– ASEAN +3 Field Epidemiology Training Network (FETN)
– ASEAN Risk Communication Resource Centre
– ASEAN Emergency Operations Centre (EOC) Network for public health emergencies
– ASEAN Coordinating Council Working Group (ACCWG) on Public Health Emergencies 
– ASEAN Plus Three Field Epidemiology Training Network (ASEAN+3 FETN)
– ASEAN Risk Assessment and Risk Communication Centre (ARARC)
Regional Public Health Laboratories Network (RPHL)
2020-ปัจจุบัน (COVID-19)– ASEAN Plus Three Senior Officials Meeting for Health Development (APT SOMHD) Mechanism Responding to COVID-19
– ASEAN Health Ministers and ASEAN Plus Three Health Ministers in Enhancing Cooperation on COVID-19
– ASEAN BioDiaspora Virtual Centre (ABVC) for Big Data Analytics and Visualization 
ที่มา: รวบรวมจาก ASEAN website 


[1] ข้อมูลจาก Center for Strategic and International Studies วอชิงตัน  (https://www.csis.org/programs/southeast-asia-program/projects/southeast-asia-covid-19-tracker)

[2] World Health Organization.WHO statement on novel coronavirus in Thailand. 13 January 2020 (https://www.who.int/news/item/13-01-2020-who-statement-on-novel-coronavirus-in-thailand)

[3] Chairman’s statement on ASEAN collective response to the outbreak of coronavirus disease 2019. 15 February 2020 (https://asean.org/storage/2020/02/ASEAN-Chairmans-Statement-on-COVID-19-FINAL.pdf)

[4] Declaration of the Special ASEAN Summit on Coronavirus Disease 2019. 14 April 2020 (https://asean.org/storage/2020/04/FINAL-Declaration-of-the-Special-ASEAN-Summit-on-COVID-19.pdf)

[5] Viet Anh “Vietnam commits $5million to ASEAN Covid-19 response fund” VNExpress 12 November 2020 (https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-commits-5-million-to-asean-covid-19-response-fund-4190837.html)

[6] “PM urges Asean travel relaunch” Bangkok Post 27 June 2020 (https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1941628/pm-urges-asean-travel-relaunch)

[7] “Japan pledges $1mil.in fund to assist ASEAN’s Covid-19 response” Kyodo News 9 September 2020 (https://english.kyodonews.net/news/2020/09/46d85657a4e7-japan-pledges-1-mil-in-fund-to-assist-aseans-covid-19-response.html)

[8] Dipanjan Roy Chaudhury “India announces $1million aid to ASEAN Covid-19 Respond Fund” The Economic Times 13 November 2020 (https://economictimes.indiatimes.com/news/politics-and-nation/india-announces-1-million-aid-to-asean-covid-19-response-fund/articleshow/79207359.cms)

[9] Chairman statement of the 37th ASEAN summit Hanoi 12 November: Cohesive and Responsive. 12 November 2020 p.3 (https://asean.org/storage/43-Chairmans-Statement-of-37th-ASEAN-Summit-FINAL.pdf)

[10] Lina Gong and S. Nanthini. The Covid-19 Catalyst: Implication for Disaster Management in ASEAN. NTS Insight. No.IN20-09 (Singapore:RSIS Center for Non-Traditional Security Studies), Nanyang Technology University, Singapore, 2020 p.4

[11] ASEAN BioDiaspora Virtual Center. Covid situation report in ASEAN region เข้าถึงได้ที่ https://asean.org/storage/COVID-19_Situational-Report_ASEAN-BioDiaspora-Regional-Virtual-Center_19July2021.pdf

[12] Ibid. p.7

[13] Huyen Le “ASEAN urged to spend $10.5 to purchase Covid vaccines” VNExpress 18 June 2021 (https://e.vnexpress.net/news/news/asean-urged-to-spend-10-5-mln-to-purchase-covid-vaccines-4296117.html)

[14] Panarat Thepgumpanat and Panu Wongcha-um “Thailand considering limits on AstraZeneca vaccine export” Reuters.14 July 2021 (https://www.reuters.com/world/asia-pacific/thailand-considering-regulating-volume-astrazeneca-vaccine-exports-health-2021-07-14/)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

Thai Politics

9 Jun 2021

ชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน: ว่าด้วยคำในป้ายหน้าค่ายทหาร

คอลัมน์ สารกันเบื่อ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง ชวนตั้งคำถามกับชุดคำ ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน’ ที่สลักอยู่บนป้ายหินอ่อนที่ปรากฏอยู่ทุกหน้าค่ายทหารว่า กองทัพกำลังปกป้องอะไรอยู่กันแน่?

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

9 Jun 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save