fbpx

คนขาวล้างก้นไม่เป็น: Linguistic Turn กับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์

ไม่มีคำกล่าวใดที่ทำให้ผู้เขียนหงุดหงิดมากไปกว่า ‘เพื่อนกิน’ (สิ้นทรัพย์แล้ว แหนงหนี หาง่ายหลายหมื่นมี มากได้ ฯลฯ) แล้ว เพราะคำดังกล่าวดูเบาความผูกพันอันเกิดขึ้นจากการหักขนมปัง จกข้าวเหนียว จนไปถึงกัดแซนด์วิชเย็นๆ ร่วมกันอย่างไม่น่าให้อภัย

อย่างน้อยที่สุด เพื่อนกินทำให้ชีวิตในประเทศใหม่เหงาน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ตอนเริ่มเรียนปริญญาโท ผู้เขียนโชคดีได้อยู่หอพักนักศึกษาที่มีเพื่อนๆ เป็นพ่อครัวแม่ครัวหัวป่าก์ผลัดกันทำอาหารนานาชาติให้เวียนกันชิม เพื่อนคนหนึ่งที่ผู้เขียนได้จากกิจกรรมเพื่อนกินนี้คือพรีย่า ผู้แนะนำผู้เขียนให้รู้จักเครื่องเทศนานาชนิดจากอินเดียและความสำคัญของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ต่อขบวนการฝ่ายซ้าย

พรีย่าเกิดที่อินเดีย แต่ใช้ชีวิตวัยเด็กในซาอุดิอาราเบียเนื่องจากพ่อเป็นแพทย์ทหารและต้องย้ายที่ประจำการไปรอบโลก นอกจากเป็นหมอแล้ว พ่อของพรีย่ายังเป็นนักดื่มไวน์ตัวยง พรีย่าเล่าว่าในซาอุฯ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย พ่อของพรีย่าจึงมีงานอดิเรกเป็นนักบ่มไวน์ลับๆ ในห้องใต้ดิน พรีย่าได้พ่อมาเต็มๆ เรื่องการดื่มและมี liquor stand dispenser เป็นของตัวเองในหอพักนักเรียน ส่วนแม่ของพรีย่านั้นเป็นครูสอนภาษาอังกฤษสุดเฮี้ยบ เหมือนครูไทยรุ่นเก่าไม่มีผิดเพี้ยน พรีย่าเล่าว่าแม่เข้มงวดกับเธอและพี่สาวเรื่องการเรียนมาก ให้ท่องศัพท์วันละร้อยๆ คำ คุมให้ทำการบ้านและหาที่เรียนพิเศษให้อย่างบ้าคลั่ง ผลคือพี่สาวของเธอสอบเข้าโรงเรียนกฎหมายอันดับหนึ่งของอินเดียได้เป็นลำดับที่สามของทั้งประเทศ (ซึ่งมีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน) ในขณะที่พรีย่าได้ทุนรัฐบาลสิงคโปร์ไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์และได้งานต่อที่นั่น การทำงานที่สิงคโปร์ทำให้เธอได้อาศัยอยู่ไกลบ้านคนเดียวครั้งแรกและทำให้เธอพบว่าอิสระจากครอบครัวนั้นหอมหวาน ในขณะเดียวกัน การเป็นผู้หญิงอินเดียทำงานในสิงคโปร์ก็ทำให้เธอพบกับการกีดกันทางเชื้อชาติและเพศในแบบที่ต่างไปจากที่เธอเคยพบที่บ้านเกิดเช่นกัน หลังจากทำงานให้รัฐบาลสิงคโปร์กว่าสามปี พรีย่าตัดสินใจใช้เงินเก็บมาเรียนต่อปริญญาโทด้านเพศวิถีศึกษาที่อังกฤษ

มิตรภาพระหว่างผู้เขียนกับพรีย่าเป็นไปอย่างสุภาพและเป็นทางการในฐานะเพื่อนบ้าน จนกระทั่งวันหนึ่ง ผู้เขียนเจอพรีย่ากำลังทำหน้างงๆ ยืนอยู่ในครัว พอเห็นผู้เขียนเธอก็หันมาบ่นให้ฟัง “พวกคนขาวนี่ยุ่งจริงๆ ทำไมจะใช้กระดาษชำระ (toilet paper) บนโต๊ะกินข้าวไม่ได้ มันก็เป็นกระดาษเหมือนกัน ต้องซื้อแยกอีกแบบสำหรับโต๊ะอาหาร เปลืองชะมัด” ผู้เขียนพบว่านอกจากชาวไทยเราแล้ว ชาวอินเดียก็ไม่ค่อยแยกระหว่าง toilet paper กับ kitchen towel เช่นกัน ผลิตภัณฑ์อย่างหลังดูเหมือนเพิ่งจะเข้ามาตีตลาดไทยเมื่อไม่นานมานี้ “ถ้ายังไม่ได้เปิดใช้ในห้องน้ำมาก่อน ฉันก็ไม่เห็นว่ามันจะเป็นปัญหาตรงไหนเลย” พรีย่าหัวเราะพร้อมส่ายหน้า

หลังจากนั้นเราก็เริ่มสังเกตนิสัย (ที่พวกเรามองว่า) แปลกๆ ของคนแถวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่คุยเรื่องเงินและความหมกมุ่นกับกีฬาคริกเก็ต (ที่คนอินเดียรับไปเต็มๆ) การทำกับข้าวกับพรีย่าทำให้ผู้เขียนค้นพบว่า ที่บ้านพรีย่าก็มีเมนูไข่ลูกเขยเหมือนกันเด๊ะ แบบที่มีน้ำราดหวานๆ และโรยหอมเจียว ผู้เขียนเลยทึกทักเอาเองว่า อาจจะเคยมีบ้านไหนมีลูกเขยอินเดียแล้วเรียกชื่อดั้งเดิมของเมนูนี้ไม่ถูก (ซึ่งผู้เขียนก็จำไม่ได้เช่นกัน ฮ่า) เลยตั้งชื่อว่าไข่ลูกเขยก็เป็นได้

จากนั้นผู้เขียนก็มีโอกาสได้ไปเยี่ยมครัวพรีย่าบ่อยๆ เพราะการทำอาหารอุ่นๆ กินทุกมื้อทุกวันไม่ใช่วิสัยของ ‘คนขาว’ เท่าไหร่นัก จึงหาแนวร่วมได้ค่อนข้างลำบาก พวกเรามีปฏิญญาอันหนักแน่นร่วมกันว่าหากไม่จำเป็นจะไม่กินแซนด์วิชเย็นๆ ที่แจกฟรีตามงานเสวนากันตายให้เปลืองโควตาแคลอรีต่อวันเด็ดขาด เพราะบั่นทอนจิตวิญญาณเหลือทน

หลังเรียนจบปริญญาโท พรีย่าแต่งงานกับเพื่อนจากคลาสเรียนของผู้เขียน ทำให้พวกเราหลายสิบคนมีโอกาสได้บินไปบังกาลอร์เพื่อร่วมงานฉลอง ผู้เขียนไม่เคยเจอครอบครัวขยายขนาดมหึมาอย่างของพรีย่ามาก่อน แม้เธอยืนยันว่างานแต่งนี้เชิญเฉพาะญาติที่อาศัยอยู่ในเมืองบังกาลอร์เท่านั้น พ่อของพรีย่าดูกรึ่มตลอดงานแต่ง และชวนทุกคนคุยว่าตอนพรีย่าเป็นเด็กต้องพาเธอไปหาหมอเพราะเธองีบหลับทุกๆ สองชั่วโมง ทุกคนคิดว่าเธอเป็นโรค narcolepsy “จริงๆ แล้วเธอแค่ขี้เกียจน่ะ” (พรีย่าเป็นแชมป์นักงีบ เธอเล่าให้ฟังว่าตอนทำงานที่สิงคโปร์ชอบแอบเข้าไปหลับในห้องให้นมบุตรทุกวันจนเจ้าหน้าที่ต้องออกจดหมายเวียนเตือน) ไฮไลท์ของงานคือ ตอนที่พ่อของพรีย่ากล่าวอวยพรคู่บ่าวสาวบนเวที ก่อนจะแซวว่าเธอว่าวิจารณ์สถาบันการแต่งงานทุกวันตั้งแต่เธออายุสิบแปดปี แต่ปีนี้ปีเดียวเธอจัดงานแต่งไปสี่รอบแล้ว เนื่องญาติของพรีย่าเยอะมากและกระจายอยู่ทั่วอินเดีย พรีย่าพูดติดตลกบนเวทีว่า “ไม่ต้องห่วง ได้พาสปอร์ตอังกฤษแล้วเธอจะหย่าแน่นอน” (ความตลกร้ายคือ หลังเรียนปริญญาเอกจบเมื่อปีที่ผ่านมาทั้งสองก็หย่ากันจริงๆ)

หลังแต่งงาน พรีย่าย้ายไปอยู่กับเพื่อนของผู้เขียน เรามีโอกาสได้เจอกันบ่อยขึ้นโดยเฉพาะหลังเริ่มเรียนปริญญาเอก ผู้เขียนอยู่ที่ซัสเซ็กซ์ ต่อ ส่วนพรีย่าได้ทุนที่ LSE วิจัยเรื่องความรุนแรงทางเพศในอินเดียกับประวัติศาสตร์อาณานิคม จึงย้ายไปอยู่ในลอนดอนและผู้เขียนก็เป็นแขกประจำของบ้านนี้เมื่อมีธุระต้องเข้าไปเมืองหลวง

แม้จะได้ทุนจากมหาวิทยาลัย การใช้ชีวิตในลอนดอนทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก พรีย่าจึงตัดสินใจสมัครงานเป็นผู้ดูแลหอพักนักศึกษา ลำพังการเรียนปริญญาเอกก็หนักหนามากแล้ว ผู้เขียนถามเธอว่าการไปเข้าเวรไม่รบกวนเวลาพักผ่อนอันหายากเหรอ พรีย่าหัวเราะก่อนจะตอบว่า “ตอนเราอยู่หอที่ไบรท์ตันกันฉันต้องเดินไปถามข่าว gossip จากเพื่อนๆ ตอนนี้ถ้าหอมีดราม่าอะไร ฉันรู้คนแรกเลย มหาลัยนี่เหมือนจ้างฉันให้ทำงานอดิเรกที่ฉันทำอยู่แล้ว ฮ่าๆ” อธิบายเสร็จเธอก็เล่าว่า คืนก่อนตอนตีสองมีคู่สามีภรรยาทะเลาะกันเพราะฝ่ายชายไม่ยอมเอาขยะไปทิ้ง

บ้านของพรีย่ากลายเป็นสถานที่นัดพบของชาวไบรท์ตันพลัดถิ่น เราผลัดกันทำอาหาร หาหนังมาดูช่วงสุดสัปดาห์ แต่กิจกรรมที่สนุกที่สุดหนีไม่พ้นการเถียงกัน พรีย่าเป็นแชมป์ดีเบตสมัยเรียนปริญญาตรีที่อินเดียและมีคลังแสงคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนไม่เคยได้ยินมาก่อน และแม้ว่าภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาแรกของพรีย่า (ถัดมาคือฮินดี และมาลายาลัม) หากว่ากันตามจริง ภาษาอังกฤษของพรีย่าซับซ้อนและสละสลวยกว่าภาษาอังกฤษของเพื่อนชาวอังกฤษทุกคนรวมกันเสียอีก นี่ทำให้การเถียงกันบันเทิงเหมือนฟังประชุมสภา (ที่เวสต์มินสเตอร์ ไม่ใช่เกียกกาย)        

หนึ่งในหัวข้อที่เถียงกันกินเวลานานที่สุดและเผ็ดร้อนที่สุดยังอยู่ในความทรงจำของผู้เขียนอย่างชัดเจน คือเรื่องความสำคัญของ linguistic turn (อิทธิพลของภาษาต่อความรับรู้ ระบบคิด และโลกทัศน์ของแต่ละคน พูดอย่างหยาบ ภาษา = เงื่อนไขหลักของการรับรู้ความจริง) ต่อความคิดทางการเมืองแบบมาร์กซิสม์ กล่าวอย่างหยาบที่สุด orthodox Marxism เน้นความสำคัญของหลักเศรษฐกิจกำหนดในการอธิบายการมีอยู่ของการกดขี่รูปแบบต่างๆ แน่นอนว่าต่อมานักทฤษฎีต่างๆ พัฒนาคำอธิบายเกี่ยวกับความซับซ้อนของการกดขี่รูปแบบต่างๆ ผ่านกลไกอันหลากหลาย รวมไปถึงความคิดเรื่องทุนทางสังคมอันเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ วัฒนธรรม เพศสภาพ ฯลฯ ด้วย

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าผลของ linguistic turn คือการชูเอา identity politics หรือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ขึ้นมาของฝ่ายซ้าย (ในเมืองหลวงใหญ่ๆของโลก) การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกมองว่าไปบดบังจุดแข็งที่สุดของอุดมการณ์มาร์กซิสม์ คือการรวมตัวกันของชนชั้นแรงงานผู้ถูกกดขี่ ประเด็นทางเศรษฐกิจถูกบดบังด้วยเรื่อง (ที่พวกเขามองว่า) ‘เล็ก’ กว่าเช่นการใช้สรรพนาม they แทน he และ she “พวกพวกชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ๆ ที่ทำให้ขบวนการฝ่ายซ้ายขาดเอกภาพจนการต่อสู้ไม่มีพลังเหมือนในยุคสหภาพแรงงานรุ่งเรืองช่วง 70s” เพื่อนคนหนึ่งสรุป

พรีย่าแย้งว่าการผนวกเอาความคิดเรื่อง discourse analysis เข้าไปทำให้คำอธิบายเรื่องการกดขี่ในทุนนิยมตอนปลายละเอียดและชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์อาณานิคมไม่สามารถอธิบายอย่างทื่อๆ ด้วยการกดขี่ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ประสบการณ์การถูกกดขี่ทั่วโลกนั้นหลากหลาย และไม่สมควรจะถูกผูกขาดความเข้าใจโดย dead white men รวมไปถึงผู้ชายผิวขวาที่อ้างว่าพูดแทนผู้ถูกกดขี่ทั้งโลกด้วย “มันไม่มีหรอกไอเดียอะไรที่ลอยลงมาจากฟ้าแล้วจะสามารถอธิบายทุกประสบการณ์บนโลกได้หมด มาร์กซิสม์อาจจะไม่เคยก้าวพ้นกรอบคิดล้าสมัยแบบเดียวกับโลกของแบบแบบเพลโตเลยก็ได้ ถ้าโลกนี้ไม่มี linguistic turn”

พรีย่าราดน้ำมันลงบนกองไฟโดยการตั้งใจแหย่เรื่องมาร์กซ์กับโลกของแบบแบบเพลโต เพื่อนอีกคนโต้ทันทีว่า “ภาษาไม่ใช่ความจริง ใครอยากจะคิดอย่างนั้นก็เชิญ แต่ถ้าคิดว่าแรงโน้มถ่วงเป็นวาทกรรมที่ผลิตโดยวิทยาศาสตร์ล่ะก็ ลองไปกระโดดลงมาจากลอนดอนบริดจ์ดูก็ได้” เพื่อนคนนั้นทำหน้าเหมือนโดนผีหลอกทันทีที่พูดประโยคนั้นจบเพราะรู้ตัวว่าเดินหมากพลาด พรีย่ายิ้มแบบผู้ชนะ “พอเธอพูดแบบนี้ฉันก็สบายใจ ที่แท้เธอก็เข้าใจ linguistic turn ตื้นๆ ผ่านงานวิจารณ์ไม่มีคุณภาพเองสินะ” อีกฝ่ายยืนยันที่จะไปต่อกับข้อโต้แย้งดังกล่าวเพราะช้าเกินไปที่จะกลับลำแล้ว “แต่ภาษาไม่เท่ากับความจริง ถ้าเธอคิดแบบนั้น ฝ่ายเราคงต้องถามหาหลักฐานหน่อย เว้นแต่หลักฐานก็เป็น discourse เหมือนกัน” หลังจากตบลูกกลับไปให้พรีย่า อีกฝั่งของห้องนั่งเล่นก็จิบเบียร์รอคำตอบ

พรีย่าเดินไปเติมวอดก้าอย่างใจเย็นก่อนจะกลับมานั่งที่โซฟาแล้วเริ่มอธิบาย “พวกเธอที่พูดได้ภาษาเดียวคงจะไม่เข้าใจหรอกสินะว่าการพูดภาษาหนึ่งๆ มันกำหนดกรอบการรับรู้ความจริงไปแบบอัตโนมัติขนาดไหน” 10 แต้มให้กริฟฟินดอร์ ไม่มีประเด็นอะไรจะอ่อนไหว (โดยเฉพาะกับคนอังกฤษ) เท่าเรื่อง monoglottism หรือการพูดได้เพียงภาษาเดียวอีกแล้ว

หลักจากเปิดเกมรุก พรีย่าเสริมข้อโต้แย้งของเธอต่อทันทีด้วยตัวอย่าง “การทดลองหนึ่งที่สำคัญมากทางภาษาศาสตร์ที่อาจจะเล็ดรอดความเข้าใจของมาร์กซิสต์แท้แบบพวกเธอไป พิสูจน์ว่าภาษาที่เธอพูดกำกับการรับรู้ความจริง การทดลองนี้ให้กลุ่มคนที่ใช้ภาษาต่างๆ ที่มี present continuous tense (เช่น I am walking) มานั่งคู่กับอีกกลุ่มคนที่พูดภาษาต่างๆ ที่ไม่มี tense ดังกล่าว ผู้ร่วมทดลองทุกคนดูวิดีโอคนเดินจากจุดเอไปยังจุดบี ผลปรากฏว่าโฟกัสการมองของผู้ที่พูดภาษาที่ไม่มี present continuous tense เคลื่อนสายตาจากจุดเอไปยังจุดบีโดยทันที ในขณะที่ผู้พูดภาษาที่มี present continuous tense ทำให้สายตาของเขาโฟกัสกับการเคลื่อนที่ของคนในวีดีโอนานกว่าอย่างมีนัยสำคัญ” ทุกคนในห้องทำหน้างง พรีย่ายิ้มก่อนจะสรุปให้ว่า “ภาษาไม่ใช่ความจริง แต่สิ่งที่เราคิดว่าคือความจริง ที่แท้ถูกกำหนดอย่างมากโดยภาษาต่างหาก”

อีกฝ่ายพยายามเถียงต่อไปว่าการทดลองนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ economic determinism เลย แต่พรีย่าแย้งว่า linguistic turn ไม่เคยบอกว่าภาษาคือความจริง หากแต่เสนอว่าในทุกๆ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น ภาษาเป็นส่วนสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างไม่รู้ตัว คำว่าไม่รู้ตัวนี้เห็นชัดที่สุดหากคุณพูดได้เพียงภาษาเดียว และไม่สามารถจินตนาการได้ว่ามนุษย์คนอื่นๆ อาจมองโลกด้วยแว่นที่ต่างจากอันที่คุณสวมใส่อยู่อย่างไร เนื่องจากคุณไม่เคยรู้ว่าคุณกำลังสวมแว่นอยู่มาตั้งแต่เกิดด้วยซ้ำ

พรีย่าทิ้งท้ายแบบผู้ชนะแล้วเดินกลับไปที่ liquor dispenser เพื่อเติมเครื่องดื่มอีกรอบ ผู้เขียนเดินไปแสดงความยินดี “ฉันว่าเธอดีเบตชนะนะรอบนี้” พรีย่าหัวเราะ “จะเอาอะไรกับพวกที่ล้างก้นยังไม่สะอาดพวกนี้ ฉันอยู่อังกฤษมาสี่ปีแล้วยังงงว่าเมื่อไหร่ที่นี่จะมีสายชำระ” เธอทำตาโตก่อนวิ่งไปหยิบอะไรบางอย่างมาให้ดู “ฉันเพิ่งสั่งมาวันนี้เลย สายชำระแบบชาร์จแบตเตอรี! เรามาสร้างอารยธรรมที่นี่กันเถอะ”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save