fbpx
อ่านหนังสือเรียนสมัยคณะราษฎร (พ.ศ. 2475 – 2500) : สิ่งที่คณะราษฎรอยากบอกประชาชน

อ่านหนังสือเรียนสมัยคณะราษฎร (พ.ศ. 2475 – 2500) : สิ่งที่คณะราษฎรอยากบอกประชาชน

‘หนังสือเรียน’ ถือเป็นสื่อที่รัฐไทยทุกยุคทุกสมัยใช้สื่อสารเนื้อหาที่รัฐอยากให้ประชาชนมีความประพฤติตามค่านิยมที่กำหนด ซึ่งช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ภารกิจสำคัญของคณะราษฎร คือการสื่อสารกับประชาชนผ่านเนื้อหาในหนังสือเรียน (พ.ศ. 2475 – 2500) เพื่อบอกให้คนไทยในยุคสมัยนั้นรู้จักสิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปกครองใหม่ ค่านิยมใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายในสังคมไทยที่ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี

แต่ก่อนจะเริ่มเปิดอ่านหนังสือเรียนสมัยคณะราษฎร เพื่อค้นหาเนื้อหาที่คณะราษฎรสื่อสารกับประชาชนในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เราต้องย้อนไปดูจุดเริ่มต้นเพื่อเข้าใจเป้าหมายของคณะราษฎรกันเสียก่อน


จากหลัก 6 ประการสู่เนื้อหาตำราเรียน

“จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” หนึ่งในหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรประกาศแก่ประชาชนหลังทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องระบบการปกครองแบบใหม่ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่คณะราษฎรต้องรีบดำเนินการ เพราะระบอบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ จำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนคุ้นเคยก่อน ทั้งในเรื่องของรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา และสร้างความเข้าใจใหม่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของประชาชน”

การให้การศึกษาแก่ประชาชนยังเป็นตัวชี้วัดที่คณะราษฎรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก (พ.ศ. 2475) โดยระบุว่า หากประชาชนจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด หรืออย่างช้าไม่เกิน 10 ปี ประชาชนจะมีสิทธิเลือก ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เนื่องจากในปี 2475 ประชาชนยังไม่คุ้นเคยกับระบอบประชาธิปไตย จึงมี ส.ส. 2 ประเภท คือ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และ ส.ส. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎร

เมื่อกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนแบบนี้แล้ว คณะราษฎรจึงเริ่มต้นวางแผนเนื้อหาในบทเรียน ซึ่งสิ่งสำคัญที่คณะราษฎรต้องรีบสื่อสารให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจ คือสัญลักษณ์ของการปกครองรูปแบบใหม่


บอกว่าต้องเคารพรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะราษฎรเลือกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารให้คนไทยเข้าใจระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ เพราะจุดกำเนิดของรัฐธรรมนูญ คือสิ่งที่กำหนดกฎระเบียบการปกครองบ้านเมืองที่อำนาจสูงสุดมาจากประชาชน ไม่ใช่ระบอบเก่าที่อำนาจขึ้นอยู่กับชนชั้นนำเพียงแค่กลุ่มเดียว ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงความหมายของรัฐธรรมนูญและข้อดีของการปกครองในระบอบใหม่ คณะราษฎรจึงกำหนดให้รัฐธรรมนูญเป็นเนื้อหาสำคัญในบทเรียนที่ต้องเน้นย้ำ

ในหนังสือเรียนวิชาหน้าที่และพลเมือง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พ.ศ. 2481 เรียบเรียงโดย สหัสส์ กาญจนพังคะ บอกกล่าวถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่า “ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นชื่อการปกครองอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ปกครองต้องดำเนินการปกครองประเทศตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ไม่ใช่ดำเนินการปกครองตามพลการของผู้ปกครอง หลักทั่วไปแห่งการปกครองนั้น มีบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เรียกว่า รัฐธรรมนูญ”

เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้วางรากฐานในสังคมไทยมายาวนาน และประชาชนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับระบอบการปกครองแบบเก่า คณะราษฎรจึงสื่อสารถึงข้อเสียของระบอบเก่าในบทเรียนไว้ว่า “การปกครองที่ไม่ใช่ระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ปกครองประเทศดำเนินการปกครองไปตามความคิดเห็นของตน โดยไม่มีอะไรจำกัดของเขตอำนาจ ไม่มีกฎหมายอันใดบังคับให้จำต้องปฏิบัติอย่างนั้น อย่างนี้ ผู้ปกครองย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจโดยสมบูรณ์” และกล่าวถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ใครจะมาล้มล้างไม่ได้ “การกระทำที่เป็นของฝ่ายบริหารก็ดี พระราชบัญญัติที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ถ้ามีความขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้น หรือพระราชบัญญัตินั้นย่อมเสียไปใช้ไม่ได้ เรียกว่าไม่มีผล”

รัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติที่คณะราษฎรอยากให้ประชาชนเชิดชู เห็นได้ชัดจากหนังสือปลุกใจนักเรียน สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป เขียนโดย นายใช้ เรืองศิลป์ พ.ศ. 2479 ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า “หลักประจำชาติของเราก็คือพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ พุทธศาสนา และธงชาติ” พร้อมกับเน้นย้ำให้นักเรียนเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญ โดยยกตัวอย่างประเทศที่มีรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศ “นักเรียนทั้งปวงจึงควรมีใจเลื่อมใสต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ใครติเตียนรัฐธรรมนูญว่าไม่ดี จงอย่าได้พลอยเชื่อตามคำของเขาเป็นอันขาด ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นของไม่ดีแล้ว ประเทศอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อเมริกา ญี่ปุ่น จีน และประเทศอื่นๆ อีกหลายสิบประเทศ คงไม่ใช้วิธีปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเป็นแน่”

นอกจากต้องการให้ประชาชนเคารพรัฐธรรมนูญแล้ว ในหนังสือเรียนยังอธิบายถึงสิ่งใหม่ที่คนไทยไม่เคยรู้จักมาก่อน


บอกว่าคนไทยต้องเลือกตั้ง


การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดเอาเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนมากำหนดทิศทางของประเทศ วิธีการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นของประชาชนก็คือการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าไปบริหารประเทศ ทำให้คณะราษฎรต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้รู้จักการเลือกตั้งและหน้าที่ของผู้แทนราษฎร

ในหนังสือสอนอ่านเรื่อง ‘การปกครองของสยามสำหรับนักเรียน’ เขียนโดย พระยาประมวญ  วิชาพูล (วงษ์ บุญหลง) พ.ศ.. 2476 จึงอธิบายไว้ว่า “ผู้ใดได้เป็นผู้ออกเสียงเลือก จะต้องเลือกผู้แทนที่ทำงานได้ดีและที่ไว้วางใจได้ดีที่สุด… ถ้าเราเลือกคนไม่ดีเป็นผู้แทน เขาก็ทำงานของเราไม่ได้ดี เราจะเสียใจภายหลัง ยิ่งเป็นผู้แทนราษฎรยิ่งสำคัญมากที่สุด เพราะผู้แทนราษฎรต้องไปเป็นปากเสียงของราษฎรในสภาผู้แทนราษฎร และช่วยเหลือราษฎรให้ได้รับความสุข ความเจริญตามความสามารถ”

ด้วยจุดมุ่งหมายที่อยากให้ประชาชนเข้าใจระบบการปกครองใหม่ ในหนังสือยังมีเนื้อหาที่อธิบายวิธีการเลือกตั้ง คุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี อำนาจของฝ่ายบริหารและตุลาการ ฯลฯ  และมีคำถามท้ายบทเรียนเพื่อทดสอบความเข้าใจของผู้อ่าน เช่น การปกครองแบบใหม่นี้เรียกว่าอะไร สภาผู้แทนมีอำนาจอย่างไรและทำอะไรได้บ้าง จะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้คะแนนเสียงเท่าไหร่ 

หลังจากสื่อสารให้ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งไปแล้ว สิ่งที่คณะราษฎรต้องการคือสร้างพฤติกรรมใหม่ให้ประชาชนพร้อมสู่การปกครองระบอบใหม่

บอกให้กล้าคิดกล้าทำ

ในระบอบประชาธิปไตยนั้น นอกจากต้องการให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งแล้ว คณะราษฎรยังต้องการให้ประชาชนมีค่านิยมใหม่ที่กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลและความรู้ ไม่ใช่คนที่อ่อนน้อมและยอมให้ผู้มีอำนาจชักจูงไปทางไหนก็ได้ ในแบบเรียนหน้าที่พลเมืองสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรียบเรียงโดย นายเจริญ ไชยชนะ พ.ศ. 2501 (พิมพ์ครั้งที่ 7) เนื้อหาตามหลักสูตร พ.ศ. 2493 จึงได้อธิบายไว้ว่า “ตัวอย่างคนสมัยก่อน คนที่เรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ ก็ถือว่าเป็นคนมีจรรยามารยาทดีงาม แต่ทว่าในปัจจุบัน บุคคลที่สงบเสงี่ยมไม่พูดไม่จาเช่นนั้น ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเสียแล้ว ฉะนั้นจรรยามารยาทในข้อนี้ ย่อมจะไม่พึงปรารถนา”

พร้อมกับส่งเสริมและยกย่องคนที่กล้าแสดงความคิดเห็น “ก็คือบุคคลที่เป็นคนจริง มีความเห็นของตนเอง กล้าพอจะแสดงความคิดเห็นของตนออก และกล้าพอที่จะกระทำตามความคิดเห็นนั้นๆ โดยไม่ต้องมองว่าบุคคลอื่นจะคิดเห็นอย่างไรในการกระทำของตน นี่แหละคือบุคคลที่รู้จักพึ่งตนเอง รู้จักนับถือตนเอง และผลสุดท้ายของผลทั้งหมดก็คือการเป็นผู้ชนะ”

ประเด็นการสื่อสารอีกเรื่องที่คณะราษฎรไม่อาจละเลยได้ในฐานะผู้ปกครอง คือการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

บอกว่าทำผลงานอะไรไว้บ้าง

เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแก่ประชาชน ในฐานะที่คณะราษฎรเพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปกครองได้ไม่กี่ปี ประเด็นที่ได้รับการเน้นย้ำในหนังสือเรียนก็คือผลงานที่รัฐบาลได้สร้างไว้ เพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกไว้วางใจว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจะสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะกับผลงานที่รัฐบาลสามารถแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมที่ทำไว้กับชาติตะวันตกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

ในหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์มัธยมปลาย เขียนโดย นายชาญ นาคพงศ์ พ.ศ. 2481 ได้กล่าวยกย่องคณะราษฎรว่า “ชัยชนะในเอกราชอันบริบูรณ์ของการศาล การเมือง และการเศรษฐกิจของสยามที่มีต่อนานาชาติในคราวนี้ เป็นชัยชนะของคณะรัฐบาลพระยาพหล ฯ และคณะราษฎรที่ต่อสู้เพื่อเอกราชอันสมบูรณ์ของสยามด้วย ซึ่งสยามจะลืมเสียมิได้ว่า สยามก้าวขึ้นสู่เวทีอารยธรรมของโลกได้ด้วยความสามารถของคณะรัฐบาลแห่งระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์จะจารึกไปตราบจนสิ้นโลก”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลงานที่สำคัญในสมัยคณะราษฎร คือการพัฒนาการศึกษาให้แก่ประชาชน จากข้อมูลในหนังสือวิวัฒนาการในการจัดการศึกษาภาคบังคับของไทย พ.ศ. 2475-2503 พบว่ารัฐบาลคณะราษฎรได้เพิ่มจำนวนโรงเรียนให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงการศึกษาทั่วทุกตำบล โดยจำนวนโรงเรียนใน พ.ศ. 2485 มีจำนวน 19,629 แห่ง จากเดิมที่จำนวนโรงเรียนใน พ.ศ. 2475 มีเพียงแค่ 7,638 แห่งเท่านั้น สอดคล้องกับเนื้อหาในหนังสือเรียนวิชาหน้าที่และพลเมืองที่ระบุไว้ว่า “ตั้งแต่มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว งบประมาณของรัฐบาลที่จ่ายเพื่อการประถมศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองรัฐบาลให้เงินการประถมศึกษาไม่เกินปีละ 3 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ในแบบเรียนหน้าที่พลเมืองสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ยังกล่าวถึงการพัฒนาในด้านการคมนาคมในสมัยคณะราษฎร ทั้งการสร้างถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้สะดวก และกล่าวถึงข้อดีของระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ว่า “ในสมัยประชาธิปไตยนี้ การทำนุบำรุงบ้านเมืองได้เป็นไปอย่างกว้างขวางและทั่วถึงทุกจังหวัด ทั้งนี้เพราะแต่ละจังหวัดก็มีผู้แทนคอยดูแลรักษาผลประโยชน์ของราษฎรจังหวัดนั้นๆ อยู่  ไม่เหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งการทำนุบำรุงแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระมหากษัตริย์พระองค์ไหนโปรดการศาสนาก็มีการสร้างวัดมาก พระมหากษัตริย์พระองค์ไหนโปรดทางน้ำมากก็มีการขุดคลองมาก และบางพระองค์ก็สร้างวังมากก็มี ไม่เหมือนสมัยประชาธิปไตยที่ราษฎรมีสิทธิมีเสียงคอยขอร้องทักท้วงและควบคุมการปกครองอยู่”

แต่สิ่งที่คณะราษฎรได้สื่อสารผ่านหนังสือเรียนก็ต้องถึงจุดจบ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองอีกครั้ง

ขั้วอำนาจเปลี่ยน บทเรียนก็เปลี่ยน

หนังสือเรียนในยุคสมัยคณะราษฎร เปรียบเป็นพื้นที่ ‘สื่อ’ ที่คณะราษฎรใช้สื่อสารเนื้อหาแก่ประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การปกครองระบอบใหม่ ทั้งในเรื่องการเชิดชูรัฐธรรมนูญ ข้อดีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การสร้างค่านิยมใหม่ให้แก่ประชาชน พร้อมกับการแสดงผลงานของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ แต่เนื้อหาเหล่านี้ก็ต้องสิ้นสุดลงไปพร้อมกับอำนาจของคณะราษฎร เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงครามใน พ.ศ. 2500 และเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในหนังสือเรียน โดยกลับไปเชิดชูการปกครองในระบอบเก่า ตัดเอาคำว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ ออกจากสถาบันหลักของชาติ เหลือแต่เพียง ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ พร้อมกับลดทอนความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและผลงานของคณะราษฎรลงจนถึงปัจจุบัน

—————————

อ้างอิง

  1. วิทยานิพนธ์ “การปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตย ศึกษาผ่านหนังสือเรียนสังคมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย” นางสาวกัปค์ฤทัย ปุงคานนท์  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2552 (บทที่ 3 หน้าที่ 43-78)
  2. หนังสือปลุกใจนักเรียน สำหรับประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป เขียนโดยนายใช้ เรืองศิลป์ พ.ศ. 2479
  3. หนังสือราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ 2475 โดยศราวุฒิ วิสาพรม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save