fbpx
Editor’s Note 2021 : ปฏิบัติการเด็ดดอกไม้สะเทือนดาว

Editor’s Note 2021 : ปฏิบัติการเด็ดดอกไม้สะเทือนดาว

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

– 1 –

ปาฏิหาริย์จอร์เจีย?

 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ, ‘จอร์เจีย’ กลายเป็นรัฐตัดสินอนาคตของสหรัฐอเมริกา

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 โจ ไบเดน สามารถทำลาย ‘กำแพงแดงแดนใต้’ อันแข็งแกร่งของรีพับลิกันลงได้อย่างเหนือความคาดหมาย พรรคเดโมแครตคว้าชัยที่จอร์เจียได้สำเร็จหลังจากรีพับลิกันยึดครองพื้นที่มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่การปฏิวัติเรแกนในปี 1984 (ที่ผ่านมามีแค่บิล คลินตันเท่านั้นที่แย่งชิงจอร์เจียได้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1992)

เป็นชัยชนะแบบหายใจรดต้นคอจนแซงขึ้นนำ ถ้าจำกันได้ ในคืนแรกหลังนับคะแนนได้มากกว่า 90% โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงขึ้นนำแบบสูสี กระทั่งนับครบทั้งหมด คะแนนของไบเดนจึงพลิกชนะ 12,000 เสียง จากผู้ลงคะแนนทั้งหมดประมาณ 5 ล้านคน!

จอร์เจียไม่ได้แค่ช่วยส่งทรัมป์กลับบ้านเก่าและส่งมอบทำเนียบขาวต่อให้ไบเดนเท่านั้น แต่ยังเป็นสนามตัดสินที่ส่งมอบวุฒิสภาให้พรรคเดโมแครตในที่สุดด้วย

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 แม้เดโมแครตยังคงรักษาเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไว้ได้ แต่ในส่วนของวุฒิสภา หลายคนคิดว่าหมดโอกาสยึดคืนมาจากรีพับลิกันเสียแล้ว พรรครีพับลิกันได้เก้าอี้รวมในวุฒิสภา 50 เสียงจากทั้งหมด 100 เสียง ส่วนเดโมแครตได้ 48 เสียง อีกสองเก้าอี้ที่ยังไม่สามารถตัดสินหาผู้ชนะได้คือสองที่นั่งจากจอร์เจียนี่เอง ซึ่งเดิมเป็นของรีพับลิกันทั้งคู่

ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่จอร์เจียในวันนั้น รีพับลิกันชนะหนึ่งศึก แชมป์เก่า เดวิด เปอร์ดิว มหาเศรษฐี อดีตซีอีโอรีบอคและห้างดอลลาร์เจเนอรัล เอาชนะจอน ออสซอฟ อดีตสื่อมวลชนหัวก้าวหน้า มือทำสารคดีวัย 33 ปี ส่วนเดโมแครตชนะอีกหนึ่งศึก สาธุคุณราฟาเอล วอร์นอค คว้าชัยเหนือเจ้าของที่นั่งเดิม เคลลี ลอฟเฟลอร์ อดีตนักธุรกิจผู้สนับสนุนทรัมป์เต็มตัว

แล้วทำไมถึงยังสรุปผลไม่ได้ว่า รีพับลิกันได้ที่นั่งรวมในวุฒิสภา 51 เสียง ส่วนเดโมแครตได้ 49 เสียง?

ก็เพราะกฎหมายเลือกตั้งของจอร์เจียกำหนดว่า ถ้าผู้ชนะได้คะแนนเสียงไม่ถึง 50% ต้องเอาผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดสองคนมาแข่งขันกันใหม่ ปรากฏว่าผู้ชนะจากทั้งสองศึกเสียงไม่ถึง 50% ทั้งคู่ แต่ฝ่ายรีพับลิกันคงเจ็บปวดกว่า เพราะเก้าอี้ตัวที่รีพับลิกันเป็นฝ่ายชนะในรอบแรก เปอร์ดิวได้คะแนนเสียง 49.7% เรียกว่าเกือบจะถึงครึ่งหนึ่งอยู่แล้วเชียว แต่ก็ได้แค่เกือบ ทุกคนเลยต้องลงเลือกตั้งใหม่กันอีกรอบในการเลือกตั้งนัดพิเศษวันที่ 5 มกราคม 2021

พรรคเดโมแครตที่ดูเหมือนจะสอบตกในสงครามชิงวุฒิสภาไปแล้ว จึงมีโอกาสโกงความตายได้สอบซ่อมอีกครั้ง ในการเลือกตั้งราคาแสนแพงที่คนทั่วโลก-ทั้งประเทศจับตามอง เพราะมีเสียงข้างมากในวุฒิสภาเป็นเดิมพัน

รีพับลิกันต้องการหนึ่งเก้าอี้ ส่วนเดโมแครตต้องเหมาสองเท่านั้น!

 

โจ ไบเดน ช่วยผู้สมัครพรรคเดโมแครตหาเสียงในจอร์เจีย | ที่มา: เฟซบุ๊ก Stacey Abrams

 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ, แล้วเดโมแครตก็ทำได้จริงๆ

ผู้สมัครพรรคเดโมแครตคว้าชัยได้ทั้งสองเก้าอี้ในการเลือกตั้งที่สุดสูสี แพ้ชนะกันระดับ 51% ต่อ 49% ทั้งสองสนาม วอร์นอคกลายเป็นสมาชิกวุฒิสภาผิวดำคนแรกของจอร์เจีย และออสซอฟกลายเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่อายุน้อยที่สุด

พรรคเดโมแครตได้คะแนนเสียงในวุฒิสภาเพิ่มเป็น 50 เสียง เท่ากับพรรครีพับลิกัน แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้รองประธานาธิบดีเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง มีสิทธิออกเสียงชี้ขาดในกรณีที่คะแนนเท่ากัน จึงถือว่าเดโมแครตคือพรรคเสียงข้างมากในวุฒิสภา

ในที่สุดเดโมแครตก็ขึ้นครองอำนาจแบบแฮตทริก (trifecta) ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ ครั้งหลังสุดคือช่วงสองปีแรกของรัฐบาลบารัค โอบามา (2009-2010)

หลายคนเรียกชัยชนะของเดโมแครตในสงครามเลือกตั้ง 2020 ว่า ‘ปาฏิหาริย์จอร์เจีย’ แต่สำหรับคนที่ติดตามการเมืองสหรัฐอเมริกาอย่างเข้มข้นจะรู้ว่ากรณีจอร์เจียไม่ใช่ปาฏิหาริย์ ไม่ใช่เหตุบังเอิญ ไม่ใช่ความโชคดี หากมาจากการตั้งหน้าตั้งตาลงแรงทำงานหนัก ไม่หยุดหย่อน ไม่ลดละ ไม่ท้อถอยของสามัญชนคนการเมืองในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องร่วมทศวรรษ

และสถาปนิกการเมืองคนสำคัญที่เปลี่ยนสี ‘จอร์เจีย’ จากแดงเป็นน้ำเงิน จนเปลี่ยน ‘สหรัฐอเมริกา’ ได้สำเร็จ คือ สตรีผิวดำวัย 47 ปี นักต่อสู้เพื่อสิทธิเลือกตั้ง อดีตนักการเมืองจอร์เจียผู้พ่ายแพ้ในศึกชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐครั้งก่อน จนเอาคืนได้อย่างถึงใจในครั้งนี้

‘สเตซีย์ อับรามส์’

 

สเตซีย์ อับรามส์ | ที่มา: เว็บไซต์ Fair Fight

 

– 2 –

“นี่ไม่ใช่ที่ทางของเธอ!”

 

รัฐทางใต้ เช่น จอร์เจีย เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งการเหยียดสีผิว และการกดขี่สิทธิเลือกตั้งของคนผิวดำ

แม้ว่าประธานาธิบดีอัมบราฮัม ลิงคอล์น ประกาศเลิกทาสนับตั้งแต่ปี 1863 สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐฝ่ายเหนือและรัฐฝ่ายใต้ยุติลงในปี 1865 และมีการบัญญัติบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 15 เพื่อยืนยันสิทธิเลือกตั้งของคนทุกคนโดยไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ สีผิว และความเป็นทาสในอดีต ในปี 1870

แต่ในโลกแห่งความจริง คนผิวดำจำนวนมหาศาลก็ยังไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างแท้จริง กลับถูกขัดขวางด้วยอาวุธทางกายภาพ อาวุธทางกฎหมาย และอาวุธทางวัฒนธรรม ตั้งแต่การใช้ความรุนแรงระดับการทำร้ายร่างกายจนถึงการฆ่าแขวนคอ ไปจนถึงการออกกฎหมายระดับรัฐเพื่อลิดรอนสิทธิเลือกตั้ง โดยใช้สารพัดวิธีเพื่อกีดกันไม่ให้คนดำใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างสะดวกง่ายดาย โดยเฉพาะอดีตทาสและคนยากจน เช่น การเก็บภาษีเลือกตั้ง ถ้าไม่จ่ายเงินก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือการทดสอบความรู้ เช่น การอ่านออกเขียนได้ ถ้าสอบไม่ผ่านก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น

กว่าที่คนผิวดำจะใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างภาคภูมิเต็มคนต้องใช้เวลาอีกกว่าร้อยปี ผ่านการต่อสู้เรียกร้อง เสียเลือดเสียเนื้อ จนผลักดันกฎหมายสิทธิเลือกตั้งได้สำเร็จในปี 1965 ในสมัยประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน ซึ่งมีผลยกเลิกกฎกติกาการเลือกตั้งในระดับรัฐและท้องถิ่นที่แบ่งแยกกีดกันไม่ให้คนผิวดำใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างสมบูรณ์สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

หลังกฎหมายสิทธิเลือกตั้งบังคับใช้ จำนวนคนผิวดำที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งมีสัดส่วนพุ่งสูงขึ้นมาก เช่น ที่มิสซิสซิปปี เพิ่มขึ้นจากเกือบ 7% เป็น 60% และที่จอร์เจีย เพิ่มขึ้นจากเกือบ 30% เป็น 50%

143 ปีหลังสงครามกลางเมืองยุติ และ 43 ปีหลังจากกฎหมายสิทธิเลือกตั้งบังคับใช้ บารัค โอบามา ชนะเลือกตั้ง ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ เป็นหมุดหมายสำคัญแห่งความก้าวหน้าของการเมืองเรื่องสีผิว แต่ใช่ว่าปัญหาสิทธิเลือกตั้งของคนผิวดำจะหมดลงไปจากการเมืองอเมริกาอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในกลุ่มชนต่ำชั้นผิวสีที่ด้อยฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการเลือกตั้งคล้ายจะเป็นเรื่องห่างไกลจากชีวิตปากกัดตีนถีบประจำวันของพวกเขา

หลายคนอาจมองข้ามพลังการเมืองของคนกลุ่มนี้ แต่ไม่ใช่ ‘สเตซีย์ อับรามส์’ และกลุ่มเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเธอ

 

สเตซีย์ อับรามส์ | ที่มา: เฟซบุ๊ก Stacey Abrams

 

“สเต-ซีย์ย์ย์ย์ อ-อ-อ-อับรามส์ … สเต-ซีย์ย์ย์ย์ อ-อ-อ-อับรามส์”

กลุ่มผู้สนับสนุนหลายพันคนตะโกนกึกก้องหน้าทำเนียบขาวในบ่ายวันเสาร์ สี่วันให้หลังการเลือกตั้ง เมื่อผลเลือกตั้งชี้ชัดว่าประธานาธิบดีคนใหม่ไม่ใช่คนเก่า

ไม่ใช่ ‘ไบเดน’ หรือ ‘ทรัมป์’ เท่านั้น แต่ ‘อับรามส์’ เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ได้รับการเอ่ยถึงมากที่สุดหลังการเลือกตั้ง 2020 ในฐานะผู้ชนะตัวจริง

มีมขอบคุณ ‘สเตซีย์ อับรามส์’ ขอบคุณ ‘จอร์เจีย’ ปลิวว่อนทั่วโซเชียลมีเดีย

‘สเตซีย์ อับรามส์’ คือใคร?

อับรามส์ใช้ชีวิตวัยเด็กที่มิสซิสซิปปีในครอบครัวยากจน เป็นลูกคนที่สองในหมู่พี่น้องหกคน ต่อมาไม่นานพ่อแม่ย้ายมาเรียนหนังสือด้านศาสนาและตั้งรกรากอยู่ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย แม่ทำงานเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุดโรงเรียน ส่วนพ่อเป็นคนงานท่าเรือ

เธอเคยเล่าว่าสมัยเรียนมัธยมทำคะแนนได้สูงสุดจนเป็นนักเรียนดีเด่น มีโอกาสเข้าพบผู้ว่าการรัฐจอร์เจียร่วมกับเด็กเก่งทั่วรัฐ เธอนั่งรถเมล์ไปทำเนียบผู้ว่าฯ กับพ่อแม่ แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าทำเนียบไม่ยอมเปิดประตูให้เธอและครอบครัวเข้าร่วมงาน เพราะไม่เชื่อว่าคนผิวดำในครอบครัวยากจนอย่างเธอจะทำได้

อับรามส์บอกว่า ในวันนั้น แม้เธอสามารถเข้าไปร่วมงานได้ในที่สุด แต่กลับจำเหตุการณ์อะไรเกี่ยวกับผู้ว่าการรัฐไม่ได้เลย จำได้แต่เพียงคำพูดของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตอนปิดประตูใส่หน้าเธอ

“นี่ไม่ใช่ที่ทางของเธอ!”

อับรามส์จึงมุ่งมั่นว่าในอนาคตขอเป็นคนเปิดประตูนั้นให้กว้างขวางที่สุด เพื่อชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม เธอจะทำให้ทำเนียบผู้ว่าฯ เป็นที่ทางของทุกคน

ในช่วงเรียนมัธยมปลาย อับรามส์เริ่มลองเชิงเข้าไปช่วยงานการเมือง ตั้งต้นจากอาสาสมัครพิมพ์ดีดในสำนักงานเลือกตั้ง เมื่ออายุได้ 17 ปี ก็รับหน้าที่เป็นคนเขียนสุนทรพจน์ให้นักการเมืองท้องถิ่น เพราะมีทีมงานเห็นแววหลังจากได้อ่านเนื้อหาที่เธอช่วยปรับแก้ตอนพิมพ์เอกสาร

อับรามส์เข้าเรียนปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมวิทยา ที่วิทยาลัยสเปลแมน ได้คะแนนสูงที่สุดในรุ่น ต่อมาจบปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน และปริญญาเอกด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเยล

หลังสำเร็จการศึกษา เธอสะสมประสบการณ์ทำงานด้านกฎหมาย การเงิน และธุรกิจ จากนั้นก็เข้าสู่แวดวงการเมืองในปี 2007 โดยลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนในระดับรัฐจอร์เจีย เธอได้รับเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง และดำรงตำแหน่งผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนรัฐจอร์เจียตั้งแต่ปี 2010 จนลาออกจากตำแหน่งในปี 2017 เพื่อเตรียมตัวลงชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐจอร์เจียในการเลือกตั้งปี 2018 ตามความฝัน

อับรามส์ชนะการเลือกตั้งขั้นต้นเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตด้วยคะแนนขาดลอย 75% ความไม่ธรรมดาอยู่ตรงที่เธอเป็นสตรีผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ของสองพรรคใหญ่ที่เป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ ถ้าเธอชนะก็จะเป็นผู้ว่าการรัฐสตรีผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา และความยิ่งไม่ธรรมดาอยู่ตรงที่เป็นจอร์เจีย – รัฐทางใต้ ป้อมปราการอนุรักษนิยม ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งการเหยียดสีผิว

คู่แข่งของอับรามส์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน คือนักการเมืองตัวพ่อของจอร์เจีย ไบรอัน เคมป์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาในระดับรัฐจอร์เจีย ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการรัฐในขณะนั้น (2010-2018) ในฐานะเลขาธิการรัฐ เคมป์จึงมีหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งของรัฐโดยตำแหน่ง แต่ตัวเขาเองกลับไม่ยอมลาออก จนทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนดังกระหึ่ม

ยังมิต้องพูดถึงว่าการทำงานของเคมป์ถูกตั้งข้อสังสัยมาตลอดโดยเฉพาะในเรื่องการกีดกันสิทธิเลือกตั้ง เพราะในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการรัฐหลายปี ได้ยกเลิกการลงทะเบียนเลือกตั้งของประชาชนไปกว่า 1.4 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงปี 2017 ก่อนหน้าที่ตัวเขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งได้ยกเลิกไปถึง 7 แสนคน และในช่วงก่อนหน้าวันเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐปี 2018 ก็ยังได้เตะถ่วงใบสมัครลงทะเบียนเลือกตั้งของประชาชนอีกกว่า 5.3 หมื่นคน

แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกยกเลิกและเตะถ่วงคือคนผิวดำ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต!

 

– 3 –

ผู้พ่ายแพ้?

 

สเตซีย์ อับรามส์ | ที่มา: เว็บไซต์ Fair Fight

 

ย้อนกลับไปในปี 2010 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อับรามส์ก้าวขึ้นมารับบทบาทผู้นำเสียงข้างน้อยของพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนรัฐจอร์เจีย

ปีนั้นนับเป็นจุดต่ำสุดของพรรคเดโมแครตในจอร์เจียก็ว่าได้ เพราะพ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้ง สูญเสียเก้าอี้ในฝ่ายบริหารของรัฐทุกตำแหน่ง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนก็ลดลงมาก ส่วนจำนวนสมาชิกวุฒิสภาเหลือน้อยเสียจนฝ่ายรีพับลิกันกลายเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด

พลพรรคเดโมแครตหลายคนถอดใจเพราะมองไม่เห็นอนาคตว่าพรรคตัวเองจะกลับมาได้อย่างไร

แต่นั่นไม่ใช่ ‘สเตซีย์ อับรามส์’

“ชัยชนะในจอร์เจียเป็นไปได้จริง ให้ที่ทางฉัน แล้วจะเปลี่ยนโลกให้ดู”

เธอเคยกล่าวกับผู้สนับสนุนตอนออกไประดมทุนหาเงินเมื่อสิบปีก่อน

อีกหนึ่งปีถัดมา พรรครีพับลิกันที่ยึดครองทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐจอร์เจียก็ขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ความได้เปรียบยิ่งมาอยู่ทางรีพับลิกันเช่นเอาชุมชนคนลาตินอเมริกาไปกระจายรวมอยู่ในเขตคนผิวขาว พรรคเดโมแครตยิ่งทำงานยากขึ้น เพราะต้องต่อสู้ในแผนที่การเมืองใหม่ที่คู่แข่งได้เปรียบทุกประตู

แต่อับรามส์ก็ยังไม่ยอมแพ้

“การต่อสู้คงใช้เวลามากกว่าที่คาดไว้ แต่ไม่มากเกินจินตนาการของฉันหรอก”

เธอวิจารณ์ว่าแกนนำพรรคเดโมแครตในอดีตมัวแต่ต่อสู้อยู่ในเกมการเลือกตั้งแบบเก่า เช่น พอเห็นว่าจอร์เจียเป็นแดนอนุรักษนิยม ก็มักต่อสู้ด้วยการทำตัวเอียงไปทางอนุรักษนิยมให้สอดคล้องกับคลื่นลมทางการเมือง มัวแต่กลัวว่าถ้าต่อสู้ด้วยความคิดก้าวหน้าจะไม่ได้รับเลือกตั้ง เอาแต่มุ่งพยายามเปลี่ยนใจคนผิวขาวให้หันมาเลือกเดโมแครต หรือเลือกส่งผู้สมัครสายกลางที่ฝ่ายอนุรักษนิยมรับได้

อับรามส์คิดว่านั่นไม่ใช่ทางออก แต่เป็นสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้ด้วยซ้ำ

เธอมองไปข้างหน้า วิเคราะห์อนาคตแล้วเห็นว่าโครงสร้างประชากรของจอร์เจียกำลังเปลี่ยนแปลง หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 เกิดการอพยพย้อนกลับ คนผิวดำทั่วประเทศกลับ ‘บ้าน’ ทางใต้มากขึ้น เศรษฐกิจแดนใต้หลายเมือง รวมถึงจำนวนประชากร เติบโตสูงมาก เช่น แอตแลนตาในจอร์เจียกลายเป็นมหานครที่เต็มไปด้วยพลวัตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะในกลุ่มคนผิวดำ หรือฟริสโกในเท็กซัส ซึ่งในช่วงสิบปีหลังเป็นเมืองที่ขยายตัวสูงสุดในสหรัฐอเมริกา ด้วยอัตรา 70%

นับวัน รัฐทางใต้มีสัดส่วนของคนผิวสีมากขึ้น เช่น ในจอร์เจียมีสัดส่วนของคนผิวดำ ลาตินอเมริกัน และเอเชียนอเมริกัน เพิ่มจาก 30% เป็น 40% (ในแอตแลนตามีสัดส่วนของคนผิวสีในระดับครึ่งต่อครึ่งกับคนผิวขาว) นอกจากนั้น สัดส่วนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในรัฐก็เพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี กลุ่มเหล่านี้เป็นฐานเสียงที่เอนเอียงไปทางพรรคเดโมแครตมากกว่ารีพับลิกัน

และคำตอบของอับรามส์ต่อสมการการเมืองใหม่ทั้งหมดนี้ คือการย้อนกลับไปหากิจกรรมการเมืองขั้นพื้นฐานที่เธอเคยเป็นอาสาสมัครลงมือทำตั้งแต่เมื่อครั้งอายุยังน้อยไม่ถึงเกณฑ์ใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยซ้ำ

นั่นคือ การทำงานรณรงค์ด้านสิทธิเลือกตั้ง

 

สเตซีย์ อับรามส์ | ที่มา: เฟซบุ๊ก Stacey Abrams

 

ตั้งแต่ปี 2013 อับรามส์ตั้งกลุ่ม New Georgia Project (โครงการจอร์เจียใหม่) ทำงานมวลชนลงไปหาแนวร่วมทางการเมืองใหม่ในกลุ่มคนผิวดำ ลาตินอเมริกัน เอเชียนอเมริกัน คนรุ่นใหม่ จนถึงผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน เธอเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘เสียงข้างมากใหม่ของอเมริกา’ ข้อมูลปัจจุบันชี้ว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ประชากรทั้งหมดของจอร์เจียเพิ่มสูงขึ้น 18% โดยกลุ่มเสียงข้างมากใหม่กลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 62% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจอร์เจีย แต่มีคนลงทะเบียนเลือกตั้งแค่ 53% เท่านั้น

ช่องว่างที่เห็นคือสนามการเมืองนอกสภาของเธอ

โจทย์สำคัญก็คือจะสร้างแนวร่วมการเมืองใหม่เพื่อกำหนดเกมเลือกตั้งใหม่อย่างไร และจะเปลี่ยนกลุ่มที่ไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยไม่สนใจการเมืองหรือถูกกีดกันทางการเมือง ให้กลายเป็นกลุ่มที่ลงทะเบียนเลือกตั้ง และในที่สุดเป็นกลุ่มที่ลุกขึ้นมาออกเสียงลงคะแนนในวันเลือกตั้งได้อย่างไร

New Georgia Project ลงไปทำงานภาคสนาม คุยกับคนแบบคนต่อคน กลุ่มต่อกลุ่ม ให้เห็นคุณค่าความสำคัญของการเลือกตั้ง มองเห็นความเชื่อมโยงของการเลือกตั้งต่อชีวิตของพวกเขา สอนวิธีลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ถูกมองเห็นในอดีตอย่างชนต่ำชั้นผิวสี นอกจากนั้น ยังมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวจอร์เจียทั้งผิวขาวและผิวดำ คนผิวขาวและคนผิวสีที่ย้ายมาจากรัฐอื่น และกลุ่มลาตินอเมริกันและเอเชียนอเมริกันในจอร์เจียที่มักถูกละเลยทางการเมือง

ในปีแรก เธอตั้งเป้าเพิ่มจำนวนคนลงทะเบียนเลือกตั้งให้ได้ 120,000 คน ระดมทุนให้ได้ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการเลือกตั้งปี 2014 แต่ทำได้จริงแค่ 46,000 คน ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ปี 2016 เธอจึงตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 170,000 คน และระดมทุนให้ได้ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตั้งเป้าลุย ถ้าไม่สำเร็จ ไม่หยุด ไม่ถอย แต่เดินหน้า สู้ให้หนักขึ้น – อับรามส์สไตล์เป็นเช่นนั้น

 

สเตซีย์ อับรามส์ ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย 2018 | ที่มา: เฟซบุ๊ก Stacey Abrams

 

ตัดภาพกลับมาในปี 2018 – ศึกชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐจอร์เจียระหว่างอับรามส์กับเคมป์

ทั้งคู่ต่อสู้กันอย่างสูสี เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายครองอำนาจรัฐที่พยายามจำกัดสิทธิเลือกตั้ง กับฝ่ายท้าชิงที่พยายามขับเคลื่อนผลักดันให้คนลงทะเบียนและออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

คนหนึ่งตัด คนหนึ่งปลูก

แล้วการเลือกตั้งที่ถูกตั้งคำถามเรื่องความใสสะอาดและการลิดรอนสิทธิเลือกตั้งมากที่สุดครั้งหนึ่งในสังคมอเมริกันร่วมสมัยก็จบลง

บทจบวันชื่นคืนสุขแบบเทพนิยายไม่มีจริง อับรามส์ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าเคมป์ประมาณ 5.5 หมื่นคะแนน

ผีกดขี่สิทธิเลือกตั้งของคนผิวดำยังคงตามหลอกหลอนลูกหลานในจอร์เจียต่อไป

อับรามส์คือผู้พ่ายแพ้?

 

– 4 –

ปฏิบัติการ Fair Fight

 

สเตซีย์ อับรามส์ ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย 2018 | ที่มา: เฟซบุ๊ก Stacey Abrams

“สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศทรงอำนาจ เพราะเราเป็นประเทศแห่งการทดลอง สร้างสรรค์โอกาสในการแก้ไขสิ่งชำรุดทรุดโทรม”

หลังความพ่ายแพ้ อับรามส์ประกาศสู้ต่อ เธอบอกว่าแพ้แล้วหันหลังกลับ ไม่ใช่ทางเลือก ยืนเฉยๆ ไม่ทำอะไร ก็ไม่ใช่ทางเลือก มีแต่ต้องเดินหน้าต่อเท่านั้น

บนเวที TED Talks ที่จัดขึ้นหลังการเลือกตั้ง อับรามส์เปิดเผยวิธีคิดว่า ไม่ว่าเธอลงมือทำอะไร จะตั้งคำถามสามข้อก่อนเสมอว่า สิ่งที่ต้องการคืออะไร ทำไมถึงต้องการ และจะได้มาอย่างไร

หลังการเลือกตั้ง แม้จะไม่สมหวัง แต่เธอกลายเป็นดาวรุ่งคนดังของเดโมแครตที่คนทั่วประเทศและทั่วโลกรู้จัก หลายคนเสนอตำแหน่ง เสนอหน้าที่การงานใหม่ เสนอให้ลงเลือกตั้งวุฒิสภาระดับชาติ แต่เธอขอปักหลักอยู่ชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐอีกครั้งในปี 2022

อับรามส์บอกว่า ถ้ารู้ชัดเจนว่าตัวเราต้องการอะไร เราก็จะเดินหน้าลุยต่อไป แม้ไม่สมหวัง แต่ความเหนื่อยล้าก็เป็นโอกาสดีให้เราประเมินใหม่ว่าตัวเองต้องการสิ่งนั้นมากแค่ไหน แม้ว่าทำเต็มที่แล้วแต่ไม่สำเร็จ ให้กลับไปที่คำถาม ‘ทำไม’ อีกครั้งว่าทำไมเราถึงต้องการ ทำไมเราถึงตื่นนอนทุกเช้าด้วยความตื่นเต้น ทำไมเราถึงรู้สึกโกรธจนต้องลงมือทำ แล้วสู้ให้หนักขึ้น เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

ถึงวันนี้ เธอชัดเจนที่สุดในคำตอบแห่งชีวิต

ต้องการอะไร? สังคมที่ยุติธรรม

ทำไม? เพราะความอยุติธรรมเป็นสิ่งที่ไร้ศีลธรรม ยอมรับไม่ได้

ทำได้อย่างไร? ก็ด้วยการเดินลุยไปข้างหน้าทุกวี่ทุกวัน ไม่มีหยุด

เธอจึงไม่หยุด และก็เป็นโชคดีของจอร์เจียและพรรคเดโมแครตที่โจทย์ส่วนตัวของเธอกับโจทย์ส่วนรวมของพรรคและประเทศเป็นเรื่องเดียวกัน

 

 

ในวันพ่ายแพ้เลือกตั้ง เธอประกาศปฏิบัติการใหม่ – Fair Fight (สู้เพื่อเลือกตั้งเป็นธรรม) กลุ่มปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มุ่งเรียกร้องการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงประชาธิปไตยได้อย่างถ้วนหน้า

แล้วรอบนี้ไม่ใช่แค่ในจอร์เจีย แต่เป็นปฏิบัติการในพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ โดยจับตาและเกาะติดการเลือกตั้งทุกระดับ มุ่งผลักดันให้ประชาชนออกไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งให้มากที่สุด สร้างหลักประกันว่าทุกคะแนนเสียงถูกนับ และให้การเรียนรู้เรื่องการเลือกตั้งและสิทธิเลือกตั้งแก่ประชาชน นอกจากนั้นยังนำเสนอแนวทางปฏิรูประบบเลือกตั้งให้เป็นธรรม ฝึกอบรมอาสาสมัครจับตาเลือกตั้งในสนามเลือกตั้งสำคัญ และนำคดีเลือกตั้งไม่เป็นธรรมขึ้นสู่ศาล

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 Fair Fight ระดมทุนในช่วงหนึ่งเดือนก่อนเลือกตั้งได้มากกว่า 34.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำงานรณรงค์ในพื้นที่มากกว่า 24 รัฐ เพื่อให้ประชาชนมาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด โดยลงทุนอย่างเข้มข้นในสมรภูมิจอร์เจีย

ข้อมูลของรัฐจอร์เจียชี้ว่า ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งในปี 2020 มีจำนวน 7.6 ล้านคน สูงขึ้นกว่าการเลือกตั้งปี 2016 และ 2018 ที่มีจำนวน 6.67 ล้านคน และ 7 ล้านคนตามลำดับ เรียกว่าในระยะห่างหนึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดี จาก 2016 ถึง 2020 มีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งในจอร์เจียเพิ่มมากขึ้นถึงเกือบ 1 ล้านคน!

อดคิดไม่ได้ว่าใน 1 ล้านคนนี้ จะเป็นผลพวงจากงานหนึ่งทศวรรษของอับรามส์และมิตรสหายผ่าน New Georgia Project และ Fair Fight ทั้งทางตรงและทางอ้อม สักเท่าไหร่

 

Fair Fight | ที่มา: เฟซบุ๊ก Stacey Abrams

“ความก้าวหน้าไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปได้เท่านั้น แต่มันคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

แม้เป็นสัจธรรม แต่การกระทำและคำพูดของอับรามส์ก็ช่วยยืนยันให้เรายิ่งมั่นใจ

แล้วการเมืองจอร์เจียก็เปลี่ยนไป จากการลงมือทำ ครั้งแล้วครั้งเล่า ยาวนานเป็นทศวรรษ ในงานที่รากหญ้าที่สุด ในระดับที่พื้นฐานที่สุด อย่างไม่เคยหยุด

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ชนะโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จอร์เจีย 12,000 เสียง จากผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 4.9 ล้านคน

ในการเลือกตั้งวุฒิสภาครั้งพิเศษ จอน ออสซอฟ ชนะเดวิด เปอร์ดิว 55,000 เสียง และราฟาเอล วอร์นอค ชนะเคลลี ลอฟเฟลอร์ 94,000 เสียง จากผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 4.5 ล้านคน

ข้อมูลชี้ว่าคนผิวดำออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น 20% ลาตินอเมริกัน 72% และเอเชียนอเมริกัน 91% ขณะที่คนผิวขาวออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้น 16% ส่วนผสมการเมืองใหม่ที่น่าตื่นเต้นระดับนี้เกิดขึ้นเฉพาะที่จอร์เจียเท่านั้น

นี่คือเหตุผลว่าทำไมหลายคนถึงยกให้อับรามส์คือ MVP แห่งการเลือกตั้งครั้งนี้

 

สเตซีย์ อับรามส์ กับ ราฟาเอล วอร์นอค | ที่มา: เฟซบุ๊ก Stacey Abrams

 

ความสำคัญของชัยชนะแห่งจอร์เจียไม่ได้มีความหมายแค่ในเชิงปริมาณที่ผู้สมัครพรรคเดโมแครตได้คะแนนเสียงมากกว่าผู้สมัครพรรครีพับลิกันเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่เป็นการเอาชนะเลือกตั้งด้วยผู้สมัครสายก้าวหน้าในรัฐอนุรักษนิยมอีกด้วย การเลือกตั้งครั้งนี้จึงแตกต่างจากชัยชนะมาตรฐานในภาคใต้ของเดโมแครตในอดีตที่มักเกิดขึ้นจากการเลือกผู้สมัครสายกลาง

ความสำเร็จที่จอร์เจียยังดึงดูดทุนสนับสนุนทางการเมืองให้เปลี่ยนทิศอีกด้วย มหาเศรษฐีหัวก้าวหน้าหลายคนเริ่มมีแนวโน้มบริจาคเงินให้นักเคลื่อนไหวการเมืองท้องถิ่นลงสนามไปทำงานด้านสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งยั่งยืนกว่าการรอบริจาคเงินให้กับแคมเปญหาเสียงเมื่อปี่กลองเลือกตั้งดังขึ้นเท่านั้น ดังที่มีข่าวว่าซูซาน แซนด์เลอร์ เตรียมบริจาคเงิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ สนับสนุนองค์กรที่ทำงานสร้างความยุติธรรมทางสังคมในรัฐทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีคนผิวดำอยู่เป็นจำนวนมากและมีปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านเชื้อชาติสีผิว ภารกิจสำคัญหนึ่งก็คือการดึงกลุ่มชนต่ำชั้นผิวสีมาลงทะเบียนเลือกตั้งในหลายรัฐ เช่น เท็กซัส เวอร์จิเนีย แอริโซนา และฟลอริดา เพื่อปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองตามแบบจอร์เจียโมเดล

ปรากฏการณ์จอร์เจียจึงส่งผลสะเทือนเขย่าภูมิทัศน์การเมืองในรัฐทางใต้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะในหลายพื้นที่ที่เผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยที่สุดจอร์เจียโมเดลก็สร้างแรงบันดาลใจและความคึกคักในจิตใจชาวเดโมแครตว่า มันเป็นไปได้แล้ว และมันจะเป็นไปได้อีก ด้วยพลังการเมืองใหม่ข้ามเชื้อชาติสีผิว โดยเฉพาะในเขตเมืองและชานเมือง

ดูแผนที่เลือกตั้งแล้ว เป้าหมายระยะยาวแห่งต่อไปที่เดโมแครตหมายมั่นปั้นมือจะเปลี่ยนกำแพงสีแดงให้กลายเป็นสมรภูมิสีน้ำเงินคงหนีไม่พ้น … เท็กซัส!

ซึ่งถ้าทำได้จริง การเมืองอเมริกาจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกรอบแน่นอน

วัตถุดิบอยู่ตรงหน้า รอแต่คนปรุงรส ซึ่งอับรามส์และมิตรสหายที่จอร์เจียลงมือทำให้ดูแล้ว

 

สเตซีย์ อับรามส์ กับ จอน ออสซอฟ | ที่มา: เฟซบุ๊ก Stacey Abrams

 

– 5 –

เด็ดดอกไม้สะเทือนดาว

 

ชัยชนะมีรสหวาน มันช่วยยืนยันกับเราว่าความฝันและความจริงเป็นเรื่องเดียวกันได้

ในขณะที่ชาวเดโมแครตส่วนใหญ่ต่างยินดีเฉลิมฉลอง อับรามส์มองว่าชัยชนะรอบนี้ยังสูสีเกินไป แปลว่าพวกเราต้องทำงานให้หนักมากยิ่งขึ้นอีก

เมื่อคิดถึงงานการเมือง หลายคนจะนึกภาพเทศกาลหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง การเดินสายพบปะชาวบ้าน การขึ้นเวทีปราศรัยเรื่องนโยบาย การโต้วาทีระหว่างผู้สมัคร การวางแผนยุทธศาสตร์การสื่อสาร แต่สิ่งที่อับรามส์พยายามทำตลอดสิบปีที่ผ่านมาไม่ใช่แค่เรื่องฉากหน้าที่มีสีสันเร้าใจ หรือฉากหลังที่เต็มไปด้วยการเดินหมากหักเหลี่ยมเฉือนคม แต่มันเป็นเรื่องพื้นฐานธรรมดาที่สุดของสังคมประชาธิปไตยและแสนตรงไปตรงมาอย่างการชวนคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

“การลงทะเบียนเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาทั้งมวล เพราะมันคือการพูดคุยเรื่องอำนาจ”

เธอสรุปทิ้งท้ายจุดเริ่มต้นของเธอไว้อย่างนั้น

 

สเตซีย์ อับรามส์ | ที่มา: เฟซบุ๊ก Stacey Abrams

 

เราเรียนรู้อะไรจากปฏิบัติการจอร์เจียของอับรามส์

หนึ่ง การทำงานสร้าง ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ทางการเมืองใหม่เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ถ้าจะเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจที่จะทำให้ชนะยาวและยั่งยืนต้องมีฐานรากที่เข้มแข็งจากล่างขึ้นบน

โจทย์โครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่คนทำงานการเมืองมักหลงลืม มัวแต่ทำงานกระแส ทำงานเฉพาะกิจ ทำงานตอบโต้ ทำงานบนเวทีท่ามกลางแสงไฟ โดยลืมคิดไปถึงการทำงานพื้นฐานเบื้องหลัง บางทีไม่ใช่ลืมคิด แต่เพราะการทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานมันเหนื่อยกว่า น่าเบื่อกว่า มันต้องคลุกโคลนคลุกดิน แถมไม่เด่นไม่ดัง มันเรียกร้องต้องการคนอึด คนอดทน คนใจเย็น คนที่มองเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ แม้อาจดูเล็กน้อย แต่เมื่อสะสมความเล็กน้อยมากเข้า มันคือความมากล้นมหาศาล

สอง การต่อสู้ทางการเมืองเป็นเกมระยะยาว แต่เป็นเกมระยะยาวที่ต้องเริ่มทำทันที มิเช่นนั้นผลระยะยาวก็ไม่เกิดสักที เกมระยะยาวไม่ใช่เกมแพ้ชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในครั้งเดียว แต่เป็นเกมสะสมทุนการเมืองข้ามเวลา

อับรามส์ชวนให้เราฝึกสายตามองเส้นทางอนาคตที่ไปไกลกว่าที่คนทั่วไปเห็น และกล้ากำหนดเกมของตัวเอง ยึดมั่นกับมัน มุ่งมั่นเดินหน้าไม่ลดละ แล้วชัยชนะระยะยาวจะเกิดในที่สุด

แต่เส้นทางจากระยะสั้นถึงระยะยาวมักเปลี่ยวเหงา และอาจเต็มไปด้วยความพ่ายแพ้  ต้องคิดเสียใหม่ว่าในเกมระยะยาว ความพ่ายแพ้มันไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่ความพ่ายแพ้วันนี้คือการลงทุนเพื่อชัยชนะในวันหน้า เพราะเราเรียนรู้ได้ เก่งขึ้นได้ กว้างขึ้นได้ ลึกขึ้นได้ คมขึ้นได้ แม่นยำขึ้นได้ มีทีเด็ดทีขาดมากขึ้นได้ การทำงานการเมืองระยะยาวคือการต่อเชื่อมจุดและเก็บแต้มอัพเลเวลไปเรื่อยๆ

ทุกอย่างที่เราทำวันนี้ มีผลต่อวันหน้า และไม่ใช่ต่อเราเท่านั้น แต่มีผลต่อขบวนการที่เรายึดมั่น โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวเราอยู่ในนั้นก็ได้

สาม อย่าให้อุปสรรคกั้นขวางทำให้เราถอยหลัง ถ้าพ่ายแพ้ ต้องไม่เอาชนะในอนาคตด้วยการตั้งเป้าหมายของตัวเองให้ต่ำลง เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะแบบง่ายๆ ในโจทย์ที่ถูกลดทอนลง

อับรามส์ทำให้เราเห็นเสมอว่า ให้ทุ่มสุดขั้วกับเป้าหมาย และก้าวร้าวจริงจังกับความทะเยอทะยานของตัวเอง

สุดท้าย เห็นพลังของการเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวของอับรามส์ไหมครับ

เราทำงานการเมืองของเราไป ในสิ่งที่เราเชื่อ ในส่วนที่เราถนัด แล้วมันจะส่งต่อพลังที่ยิ่งใหญ่เกินตัว เกินความคาดหวัง และเกินจินตนาการในที่สุด ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน อับรามส์คงไม่คิดว่าปฏิบัติการจอร์เจียของเธอจะเป็นส่วนสำคัญของปฏิบัติการโค่นทรัมป์ รักษาประชาธิปไตยในอเมริกาและช่วยให้โลกสงบสุข หรือจะกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้เดโมแครตได้เสียงข้างมากในวุฒิสภาที่ไบเดนใฝ่หาในช่วงวิกฤตการเมือง

การชวนคนหนึ่งคนมาลงทะเบียนเลือกตั้งและเชียร์ให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คนแล้วคนเล่า ปีแล้วปีเล่า ส่งผลสะเทือนไปไกลกว่าการเลือกตั้งหนึ่งครั้ง รัฐหนึ่งแห่ง ประธานาธิบดีหนึ่งคน และโลกหนึ่งใบ

พลังเด็ดดอกไม้สะเทือนดาวจะทำงานของมัน ไม่มีใครรู้ว่ามันทำงานอย่างไร ไม่มีใครคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเมื่อไหร่ รู้แต่เพียงว่าถ้าเราไม่เริ่มเด็ดดอกไม้ ดวงดาวก็ไม่มีวันสะเทือน

อับรามส์เคยให้สัมภาษณ์ว่า

“ฉันไม่ใช่คนวิเศษวิโสอะไรเลย เป็นแค่คนกัดไม่ปล่อย”

ช่างแม่งกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ โฟกัสกับสิ่งที่ควบคุมได้คือมือเรา มาลุยเด็ดดอกไม้กันต่อไป ปากกัดมือเด็ด เด็ดให้ดีที่สุด เด็ดกันอย่าหยุด ดอกใครดอกมันก็ได้ เด็ดกันให้เยอะๆ เอาให้บนฟ้าสั่นไหว ดวงดาวสะเทือน.

 

สเตซีย์ อับรามส์ | ที่มา: เฟซบุ๊ก Stacey Abrams

 

MOST READ

editor's note

9 Mar 2022

‘นโยบายสาธารณะ’ ไทยในโลกใหม่: เปิดตัว ‘101 PUB’ – 101 Public Policy Think Tank

101 เปิดตัว 101 PUB ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทำงานบนฐานวิชาการ การพัฒนา และประชาธิปไตย

ปกป้อง จันวิทย์

9 Mar 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save