fbpx

‘นโยบายสาธารณะ’ ไทยในโลกใหม่: เปิดตัว ‘101 PUB’ – 101 Public Policy Think Tank

(1)


โลกของ ‘นโยบายสาธารณะ’ เต็มไปด้วยความสนุกตื่นเต้นเสมอ

เพราะเป็นพื้นที่เชื่อมร้อย ‘ทฤษฎี’ ในโลกความคิดเข้ากับ ‘ปฏิบัติการ’ ในโลกความจริง

เป็นพื้นที่เชื่อมสมาน ‘ศาสตร์’ และ ‘ศิลป์’ สารพัดสาขาเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว

เป็นพื้นที่เชื่อมต่อ ‘ความฝัน’ ถึงสังคมที่ดีกว่ากับ ‘การลงมือทำ’ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง จนทำให้ความเป็นไปได้ใหม่กลับออกดอกงอกงามจากสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในที่สุด

และแน่นอน เป็นพื้นที่เชื่อมทางระหว่าง ‘อดีต’ และ ‘ปัจจุบัน’ ไปสู่ ‘อนาคต’

(2)

เราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่อง ‘การเมือง’

เป็นการเมืองในความหมาย ‘การเมืองของประชาชน’ มิใช่การเมืองของผู้ใช้อำนาจรัฐในรัฐบาลหรือรัฐสภา หรือจำกัดอยู่เฉพาะวงแคบของผู้ใช้ความรู้เป็นอำนาจอย่างเทคโนแครตในระบบราชการและเครือข่าย

เพราะนโยบายสาธารณะคือหลักและแนวปฏิบัติของรัฐ (ในรูปของมาตรการ ระเบียบ นโยบาย กฎหมาย และอื่นๆ) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาสาธารณะ โดยมีจุดหมายปลายทางเพื่อ ‘ผลประโยชน์ของสาธารณะ’

ในแง่นี้ เราควรนิยาม ‘ผลประโยชน์สาธารณะ’ ให้กว้างขวางหลากมิติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรสาธารณะอย่างคุ้มค่า (สร้างประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุด ต้นทุนส่วนรวมต่ำที่สุด), การกระจายผลประโยชน์หรือสิ่งที่สังคมให้ค่า (รายได้ ความมั่งคั่ง ผลผลิต หน้าที่ สิทธิ อำนาจ โอกาส ตำแหน่ง เกียรติยศ) อย่างเป็นธรรม, การสร้างคุณค่าความหมายต่อทุกคนถ้วนหน้ากัน ประชาชนเข้าถึงได้จริง ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นครอบคลุมทั่วถึงกว้างขวาง และไม่ละเลยทอดทิ้งใคร, การมุ่งสร้างสนามแข่งขันที่เสมอภาคกัน ภายใต้กฎกติกาที่เป็นธรรม กรรมการทำหน้าที่อย่างไม่เลือกปฏิบัติ คนที่ด้อยโอกาสกว่ามีอำนาจต่อรองตามสมควร ไม่ถูกกดทับด้วยอำนาจ สถานะสังคม และฐานะเศรษฐกิจที่สูงกว่า รวมถึงการมองไกล มุ่งเน้นผลประโยชน์สาธารณะระยะยาว โดยนึกถึงคนรุ่นอนาคต

ในชีวิตของนโยบายสาธารณะ จึงต้องมีชีวิตของผู้คนอยู่ในนั้นเสมอ โดยเฉพาะคนข้างล่างและคนข้างหลังที่มักถูกมองไม่เห็น

ปัญหาสำคัญคือนโยบายสาธารณะแทบทุกเรื่องล้วนส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อประชาชนทั้งในระดับส่วนตัวและส่วนรวม แทบทุกนโยบายมีคนได้และคนเสีย แล้วใครจะเป็นคนกำหนดว่าใครได้-ใครเสีย จะออกแบบเวทีและกติกาในการเจรจาต่อรองเพื่อหาสมดุลและข้อยุติที่เป็นธรรมจนยอมรับทั่วกันได้อย่างไร อีกทั้งจะแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคลในนามของส่วนรวมอย่างไร คำตอบต่อคำถามเหล่านี้แตกต่างกันตามระบอบการเมือง สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตอบแบบหนึ่ง เผด็จการก็แบบหนึ่ง ส่วนประชาธิปไตยก็อีกแบบหนึ่ง

ถ้าเราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย คำว่า ‘สาธารณะ’ ย่อมหมายถึงประชาชนคนส่วนใหญ่ เพราะชาติคือประชาชน โดยรัฐบาลเป็นตัวแทนของสาธารณะที่มีหน้าที่บริหารกิจการบ้านเมืองเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น การทำงานด้านนโยบายสาธารณะจึงต้องทำงานกับประชาชน มีกลไกเชื่อมโยงกับประชาชน ตั้งต้นจากประชาชนและจบลงที่ประชาชน เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีระบบรับผิดรับชอบต่อประชาชน และเปิดเผยโปร่งใสให้ประชาชนตรวจสอบได้

ในโลกประชาธิปไตย การออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะจึงต้องมี ‘สาธารณะ’ ซึ่งเท่ากับประชาชน เป็นตัวแปรหลักอยู่ในสมการอำนาจเสมอ มิใช่การมุ่งทำงานรับโจทย์และรับใช้ผู้มีอำนาจ มิพักต้องพูดถึงว่าผู้มีอำนาจเหล่านั้นมีความชอบธรรมเชิงอำนาจเพียงใด หรือกฎหมายที่กำกับนโยบายสาธารณะเหล่านั้นมีความยุติธรรมเพียงใด

แม้จะหวังดีต่อสังคมแค่ไหน แต่การที่ผู้รู้หวังยื่นงานวิจัยใส่มือผู้กำหนดนโยบายภาครัฐหรือนักเทคนิควิชาการมุ่งกระซิบข้างหูของผู้มีอำนาจ แล้วหวังว่าคนเหล่านั้นจะตื่นรู้มารับบทผู้นำการเปลี่ยนแปลง คงไม่ใช่คำตอบในยุคการเมืองใหม่ที่ประชาชนตาสว่างไปก่อนแล้ว และต้องการลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตใหม่ด้วยมือของตัวเอง

(3)

โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยความท้าทายในทุกมิติทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำพาสังคมสู่ยุคดิจิทัล ความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขึ้น ความผันผวน-ซับซ้อน-ไม่แน่นอน-คลุมเครือของโลกใหม่ (VUCA World) การก้าวข้ามสู่ความเป็นพลเมืองโลก ความแตกต่างขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองและเศรษฐกิจที่สั่นคลอนระเบียบโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความไม่ลงรอยระหว่างเจเนอเรชัน เป็นต้น

กระบวนการนโยบายสาธารณะ (public policy process) ในโลกยุคใหม่จึงจำเป็นต้อง ‘คิดใหม่-ทำใหม่’ ด้วยความรู้ชุดใหม่ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและพร้อมรับมือกับความท้าทายแห่งอนาคต ไล่เรียงตั้งแต่ (1) การกำหนดวาระเชิงนโยบาย (policy agenda-setting) ด้วยการตั้งโจทย์ที่ ‘ใช่’ ในเรื่องสำคัญต่อชีวิตของผู้คนและสังคม เพื่อสร้างบทสนทนาสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นปัญหาและทางเลือกเชิงนโยบาย (2) การกำหนดนโยบาย (policy formation) โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ความรู้ใหม่และเครื่องมือใหม่เป็นฐานในการออกแบบและจัดทำนโยบาย การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง และการระดมปัญญารวมหมู่ของสังคม เรื่อยไปจนถึง (3) การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ (policy implementation) โดยสร้างหลักประกันว่านโยบายได้รับการบังคับใช้ตรงตามเจตนารมณ์ ตอบโจทย์เรื่องประสิทธิภาพและความยุติธรรมในการดำเนินการบังคับใช้นโยบาย รวมทั้งปรับแก้ปัญหาช่องโหว่ของนโยบาย และผลพวงที่ไม่ได้ตั้งใจจากนโยบาย (unintended consequences) และขั้นตอนสุดท้าย (4) การประเมินผลนโยบาย (policy evaluation) กล่าวคือ การออกแบบระบบประเมินผลที่มีคุณค่าความหมายอย่างแท้จริง และส่งผลสะท้อนกลับถึงผู้รับผิดชอบอย่างทันท่วงที เพื่อให้เกิดพลวัตการปรับตัวของนโยบาย ผ่านกลไกการปฏิรูปเชิงสถาบัน เช่น การแก้ไขกฎหมาย และกลไกการแก้ไขปัญหาในระดับปฏิบัติการ

ในโลกของนโยบายสาธารณะยุคใหม่ที่ประชาชนเป็นองค์ประธาน โจทย์สำคัญคือการเพิ่มพลังของประชาชนด้วยข้อมูลและชุดความรู้ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประกอบตัดสินใจอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในเรื่องสำคัญที่มีความหมายต่อชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และสังคม

ในแง่นี้ สถาบันวิชาการอย่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ศูนย์การเรียนรู้รูปแบบต่างๆ รวมถึงสื่อสารมวลชน จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง

เราเชื่อว่า สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะที่มีคุณค่าความหมาย และตอบโจทย์สังคมไทยแห่งอนาคตในโลกยุคใหม่ ต้องเป็นสถาบันที่ตั้งหลักหนักแน่นบนฐานที่เข้มแข็งทั้ง 3 ฐานพร้อมกัน ขาดฐานใดฐานหนึ่งไปมิได้ ฐานหลักเหล่านั้นคือฐานวิชาการ ฐานการพัฒนา และฐานประชาธิปไตย

(1) ฐานวิชาการ : ทำงานบนหลักวิชาอย่างซื่อตรงและเป็นมืออาชีพ, ตั้งโจทย์ที่ ‘ใช่’ ในเรื่องสำคัญต่อชีวิตของผู้คนและสังคม และนำเสนอทางออกและทางเลือกที่น่าสนใจ, ตอบโจทย์ที่ซับซ้อนผ่านการทำงานเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ต่างๆ, มีความเป็นอิสระ ผลิตบทวิเคราะห์และวิพากษ์ได้อย่างตรงไปตรงมา, ติดตามพรมแดนความรู้ เกาะติดโจทย์ใหม่ ทดลองใช้ระเบียบวิธีใหม่ และตรวจสอบท้าทายความเชื่อ องค์ความรู้ และทฤษฎีดั้งเดิมอยู่เสมอ     

(2) ฐานการพัฒนา : นำเสนอวิสัยทัศน์และข้อเสนอเชิงนโยบายบนฐานวิชาการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทั้งในแง่การปฏิรูปโครงสร้างและสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและการเพิ่มผลิตภาพ การสร้างความเป็นธรรมและการลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูประบบการเรียนรู้ การสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงในทุกมิติ รวมถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางความคิด

(3) ฐานประชาธิปไตย : ยึดมั่นในคุณค่าของหลักประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิส่วนบุคคล สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และความแตกต่างหลากหลายของอุดมการณ์ ความเชื่อ และความคิดเห็น เพราะการพัฒนาบนวิถีประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะตอบโจทย์ ‘ผลประโยชน์ของสาธารณะ’ และมีความหมายต่อประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้า

นี่คือความคิดและความฝันของเรา

(4)

วันนี้เราขอเริ่มต้นลงมือทำ

ทีมงาน ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ เป็นทีมทำงานความรู้ เราตั้งใจเชื่อมร้อย ‘โลกแห่งความรู้’ กับ ‘โลกแห่งความคิดสร้างสรรค์’ เข้าด้วยกัน และมุ่งมั่นที่จะเป็น ‘สะพาน’ เชื่อมลดช่องว่างระหว่าง ‘โลกวิชาการ’ กับ ‘โลกมวลชน’ ผ่านการทำงานสื่อสารความรู้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งสารคดี บทความ บทสัมภาษณ์ ภาพยนตร์ อินโฟกราฟิก คลิปความรู้ รายการโทรทัศน์ เวทีเสวนาสาธารณะ พ็อดแคสต์ อีเวนต์ความรู้ ในสารพัดแพลตฟอร์มทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มาตั้งแต่ปี 2556

กระทั่งเดือนมีนาคม 2560 เราเปิดตัวเว็บไซต์สื่อความรู้สร้างสรรค์ The101.world เพื่อเป็นตลาดวิชาออนไลน์ ทำงานสื่อสารความรู้คุณภาพของนักวิชาการ นักคิด นักเขียน นักเปลี่ยนแปลงสังคม และสื่อมวลชนไทยและโลกสู่สาธารณะผ่านผลงานสื่อหลากหลายรูปแบบ ด้วยหวังว่าจะเป็นสื่อที่ชวนสังคมตั้งคำถามที่ ‘ใช่’ ในเรื่องสำคัญต่อชีวิต และมีส่วนร่วมในการกำหนดวาระสาธารณะ วาทกรรมสาธารณะ และข้อถกเถียงสาธารณะในสังคม รวมถึงบอกเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังของสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจ อย่างครบถ้วน รอบด้าน ถูกต้อง ลึกซึ้ง แตกต่าง และน่าเชื่อถือ

มาถึงเดือนมีนาคม 2565 เราขอเปิดพื้นที่ความรู้ใหม่ โดยต่อยอดจากงานสื่อสารความรู้ปลายน้ำมาทำงานวิจัยต้นน้ำ เพื่อสร้างสรรค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะบนอุดมการณ์ แนวคิด และวิถีปฏิบัติดังที่ได้แสดงไว้ตอนต้น

นั่นคือ

101 PUB หรือชื่อเต็มว่า 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

101 PUB มุ่งทำงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะของไทยในบริบทโลกใหม่ โดยมีวิถีการทำงานที่เชื่อมั่นในพลังของประชาชน ภารกิจของเราคือการทำงานวิเคราะห์ ออกแบบ ขับเคลื่อน และสื่อสารเรื่องนโยบายสาธารณะร่วมกับสาธารณะหรือประชาชน บนฐานวิชาการ ฐานการพัฒนา และฐานประชาธิปไตย

101 PUB จะโฟกัสการทำงานอยู่ที่ 4 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1. การสร้างประชาธิปไตย ทั้งในเชิงสถาบันและวัฒนธรรม 2. การพัฒนาที่นับรวมทุกคน โดยเฉพาะการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืน 3. การฟื้นฟูหลักนิติธรรมในสังคมไทย เช่น การปฏิรูประบบยุติธรรม การปฏิรูปกฎหมายบนวิถีประชาธิปไตย และ 4. การพัฒนาเด็กและระบบนิเวศการเรียนรู้ เพราะการพัฒนาเด็กคือการสร้างอนาคตใหม่ของสังคม โดยเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาเด็กคือการทำให้เด็กสามารถเติบโตอย่างเต็มศักยภาพสูงสุดตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง และสร้างอนาคตที่ดีที่สุดให้กับตัวเองได้

เราหวังว่า 101 PUB จะเป็นอีกหนึ่งตัวละครเล็กๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มความหลากหลายให้กับระบบนิเวศด้านนโยบายสาธารณะในสังคมไทย เหมือนที่ The101.world เป็นหนึ่งในตัวละครเล็กๆ ที่เพิ่มความหลากหลายให้กับแวดวงสื่อสารมวลชนไทย

101 PUB ตั้งใจร่วมสร้างชุมชนนโยบายที่หลากหลาย ผสมผสานนักคิด นักวิชาการ นักศึกษา และนักเปลี่ยนแปลงสังคมจากหลากศาสตร์ หลายวิชาชีพ มาร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยน ร่วมถกเถียง ร่วมทำวิจัยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ในโจทย์ที่มีความหมายและกำลังท้าทายสังคมไทย โดยมุ่งเน้นการทำงานความคิดร่วมกับภาคประชาชนและให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์และสื่อสารความรู้สู่สาธารณะเป็นหลัก

101 PUB ตั้งใจนำเสนอบทวิเคราะห์นโยบายสาธารณะที่สำคัญของรัฐบาล ติดตามนโยบายสาธารณะที่ถูกนำเสนอและผลักดันโดยภาคประชาสังคม ผลิตงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะ เกาะติดข้อถกเถียงใหม่ๆ ว่าด้วยนโยบายสาธารณะในระดับโลก บอกเล่าประเด็นความท้าทายใหม่ที่สังคมไทยและโลกกำลังเผชิญ ทั้งหมดนี้ผ่านผลงานวิชาการและผลงานสื่อที่ถูกออกแบบมาให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ตรงประเด็น สนุกชวนติดตาม และสามารถใช้เป็นฐานสำหรับการถกเถียงในหมู่นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ และเป็นฐานอ้างอิงในการทำงานต่อของเพื่อนสื่อมวลชน

ทั้งหมดนี้ผ่านคุณค่าและวิถีปฏิบัติที่ทีมงาน 101 PUB ยึดถือ นั่นคือ ตอบโจทย์สังคมอย่างมีความหมาย (Relevant), ยีดมั่นหลักคนเท่ากัน (Egalitarian), มืออาชีพ (Professional), เชื่อมั่นในพลังความหวัง (Upbeat), อิสระ-ซื่อตรง (Boundless), เป็นไท (Liberating), คิดใหม่-ทำใหม่ (Innovative) และทำงานด้วยพลังสร้างสรรค์ (Constructive)

ย้ำอีกทีว่า นี่คือความคิด ความฝัน และความตั้งใจของพวกเรา — ทีมงาน 101 PUB ที่มี “ฉัตร คำแสง” เป็นผู้อำนวยการ ฉัตรเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ผู้สนใจโลกของนโยบายสาธารณะ ร่ำเรียนด้านนโยบายสาธารณะมาโดยตรงจาก Harvard Kennedy School และมีประสบการณ์ทำงานใน Think Tank ทั้งสายเทคโนแครตเอกชนและสายการเมืองเชิงนโยบาย นอกจากฉัตรแล้ว ทีมงานเล็กๆ ของเรายังประกอบด้วยทีมนักวิจัยนโยบายสาธารณะรุ่นใหม่ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในฐานะนักวิจัยประจำ 101 PUB ร่วมด้วยทีมนักวิชาการรุ่นกลางและทีมที่ปรึกษารุ่นมากประสบการณ์ ที่จะมาช่วยกำกับทิศทางงานวิจัย พร้อมด้วยเครือข่ายวิชาการหลายสถาบัน

เราจะค่อยๆ ลงแรงสร้าง 101 PUB ด้วยความตั้งใจ ‘เกินร้อย’ ตามจังหวะ เรี่ยวแรงกำลัง และทรัพยากรเท่าที่พอมี เหมือนที่ค่อยๆ สร้าง The101.world ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ฝากเนื้อฝากตัวให้ช่วยติดตาม แลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์ และให้คำแนะนำผลงานที่กำลังจะทยอยออกมาด้วยนะครับ ส่วนใครที่อยากสนับสนุนมากกว่าเสียงเชียร์ โปรดติดต่อหลังไมค์ (ฮา)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

101PUB

2 Feb 2023

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

กษิดิ์เดช คำพุช

2 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save