fbpx
ความฝันของชาติ และการสร้างรัฐสวัสดิการของพม่า ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ความฝันของชาติ และการสร้างรัฐสวัสดิการของพม่า ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ลลิตา หาญวงษ์ เรื่อง

 

หากใครเคยไปพม่าและเคยอ่านประวัติศาสตร์ ‘กระแสหลัก’ ของพม่ามาบ้าง คงจะคุ้นเคยอยู่ว่าคนพม่ามองระบอบอาณานิคมของอังกฤษเป็นศัตรูตัวฉกาจของชาติ หลายยุคหลายสมัย สังคมและการเมืองของพม่าหมกมุ่นอยู่กับการกำจัดรากเหง้าของระบอบอาณานิคม ทั้งในทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความพยายามสร้างระบบระเบียบที่เป็นของตนเอง

ปรากฏการณ์นี้ทำให้พม่าผลักสัญลักษณ์ของระบอบอาณานิคมทั้งหมดไปเป็นขั้วตรงข้าม ทั้งชาวตะวันตก ชาวอินเดียที่หลั่งไหลเข้าไปในพม่าตั้งแต่ยุคอาณานิคม (พม่าเป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดียภายใต้การบริหารงานของอังกฤษ มาจนถึงปี 1937) มีการรณรงค์ให้ใช้ภาษาพม่าในการเรียนการสอนแทนภาษาอังกฤษ และการฟื้นฟูอัตลักษณ์-เอกลักษณ์แบบพม่าขึ้นมาโต้ความเป็นตะวันตก เช่น ความพยายามสถาปนาให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ต่อมาเมื่อพม่าได้รับเอกราชในปี 1948 รัฐบาลชุดใหม่จึงมีนโยบายปลดแอกจากระบอบอาณานิคม ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในทันที

ในบทความนี้ ผู้เขียนขอหยิบยกการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลังพม่าได้รับเอกราช คือในทศวรรษ 1950 มากล่าวถึง เพื่อให้เห็นภาพว่าชนชั้นนำในพม่า นำลัทธิชาตินิยมมาผสมผสานกับแนวคิดเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม-มาร์กซิสม์ และประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอย่างไร ส่วนผสมนี้อาจจะฟังดูเป็นสิ่งแปลก แต่สำหรับชนชั้นนำที่มองว่าชาติ/ชนชาติของตนถูกผลักออกไปอยู่ชายขอบ และถูกระบอบอาณานิคมปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมมาโดยตลอด การวางแผนเศรษฐกิจที่มีศูนย์กลางที่คนพม่า โดยเน้นไปที่คนระดับล่าง จึงเป็นทั้งกุศโลบายที่รัฐใช้หาเสียง และเพื่อกำจัดเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ตลอดทศวรรษ 1950 รัฐบาลพม่ามีนโยบายฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจออกมาหลายฉบับ คำขวัญที่รัฐนำมาใช้คือ ‘สู่รัฐสวัสดิการ’ (Towards a Welfare State) แนวคิดรัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชนชั้นนำในพม่าที่ได้รับการศึกษาแบบอังกฤษมาแทบทั้งสิ้น ในอังกฤษเอง รัฐสวัสดิการเป็นประเด็นที่พรรคแรงงานของคลีเมนต์ แอทลี่ (Clement Attlee) ที่เพิ่งจะชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคอนุรักษนิยมของวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) ใช้รณรงค์หาเสียงมาตลอดก่อนการเลือกตั้งในปี 1945 ก่อนหน้านั้นไม่นานเชอร์ชิลล์เป็นวีรบุรุษที่ร่วมประกาศชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรเหนือพรรคนาซีของเยอรมันนี ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาคพื้นทวีปยุโรปได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี นโยบายที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝันแต่กินใจประชาชนทั่วทั้งเกาะอังกฤษ กลับทำให้พรรคแรงงานของแอทลี่มีชัยเหนือพรรคของเชอร์ชิลล์อย่างท่วมท้น

อิทธิพลแนวคิดแบบสังคมนิยม ที่รัฐเข้ามาแทรกแซงการสร้างพิมพ์เขียวด้านเศรษฐกิจ รวมถึงแนวคิดที่ว่ารัฐมีภารกิจหลักเพื่อทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างเท่าเทียมกัน อาจเข้าไปในพม่าพร้อมๆ กับการเติบโตของลัทธิชาตินิยมและกระแสต่อต้านระบอบอำนาจนิยม-จักรวรรดินิยม สำหรับประเทศกำลังพัฒนาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักเศรษฐศาสตร์ถกเถียงกันอย่างมากว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ที่ในขณะนั้นเรียกว่า ‘ประเทศด้อยพัฒนา’ (underdeveloped countries) มีช่องว่างรายได้ต่อหัว (per capita income) แคบลง ในปี 1949 สหรัฐอเมริกามีรายได้ต่อตัวถึง 1,450 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่พม่ามีรายได้ต่อหัวเพียง 30-40 ดอลลาร์ต่อปี[1] ตัวเลขนี้ขัดแย้งกับภาพลักษณ์เดิมของพม่าในยุคอาณานิคมที่ว่ากันว่ายิ่งใหญ่ มั่งคั่ง ไม่แพ้มหานครขนาดใหญ่อย่างนิวยอร์ก[2]

นักชาตินิยมพม่าเองก็เริ่มรู้สึกว่าระบอบอาณานิคมสร้างความเจริญให้กับพม่าเฉพาะในเชิงกายภาพ ทั้งเมืองท่าการค้าขนาดใหญ่อย่างย่างกุ้ง อาคารที่ทำการของรัฐบาลและบริษัทห้างร้านน้อยใหญ่ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ดี อันเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่แท้จริงแล้ว โครงสร้างทางเศรษฐกิจเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวตะวันตกและผู้ที่อยู่ใต้อาณัติของอังกฤษ (British subjects) ส่วนชาวพม่าส่วนมากถูกกีดกันออกไป มีชาวพื้นเมืองน้อยมากที่ได้เป็นข้าราชการในระบบอาณานิคม และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ หรือได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่มากมายในพม่า

ดังนั้น เมื่อพม่าได้รับเอกราช ชนชั้นนำในพม่าจึงทำทุกวิถีทางเพื่อสลัดคราบอาณานิคมที่พวกเขาเกลียดชังออกไป ส่วนหนึ่งของความพยายามนั้นสะท้อนออกมาในนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจหลายชิ้นตลอดทศวรรษ 1950 ที่เรียกรวมๆ กันว่านโยบาย ‘ปยีด่อตา’ (Pyidawtha) หรือที่แปลว่า ‘Happy Land’

ดังที่ได้เกริ่นไปข้างต้น รัฐสวัสดิการของพม่าแตกต่างจาก ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่เราคุ้นเคยกันอย่างโมเดลรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศนอร์ดิก เพราะเป็นการรวมนโยบายทางเศรษฐกิจเข้ากับคุณค่าแบบพม่าและลัทธิชาตินิยมอันเข้มข้น แฟรงค์ ทราเกอร์ (Frank N. Trager) อดีตผู้อำนวยการโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่พม่าของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (American Aid Program) และศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก วิจารณ์นโยบายทางเศรษฐกิจของผู้นำพม่าในยุคหลังสงครามไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ Building a Welfare State in Burma, 1948-1956 ว่า รัฐบาลพม่าของอู นุ ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมพุทธเป็นหลัก นั่นหมายความว่า รัฐบาลพม่ายุคใหม่จะไม่กลับไปดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรี ที่ระบอบอาณานิคมได้วางพื้นฐานไว้ให้อีกต่อไปแล้ว[3] และจะนำความเป็นพุทธนี้ไปปรับใช้กับนโยบายเศรษฐกิจแบบอื่น เพื่อกำจัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของระบอบอาณานิคมเดิม ตลอดจนสนับสนุนการสร้างกิจการที่เป็นของชาวพม่าเองไปด้วย กระแสลัทธิมาร์กซ์และเลนินที่โหมกระพือทั่วเอเชีย หลังการปฏิวัติรัสเซีย (1917) และการปฏิวัติในจีน (1949) ทำให้รัฐบาลพม่าตั้งปณิธาณอย่างแน่วแน่ที่จะดำเนินรอยตามแนวทางแบบมาร์กซ์

เนื่องจากว่าลัทธิมาร์กซ์เป็นแนวคิดจากโลกตะวันตก และฟังดูสุดโต่งเกินไปสำหรับผู้นำส่วนใหญ่ในรัฐบาล ชนชั้นนำพม่าจึงเลือกแนวคิดบางอย่างจากลัทธิมาร์กซ์มาผสมผสานกับหลักพุทธ กลั่นออกมาจนกลายเป็น ‘สังคมนิยมแนวพุทธ’ (Buddhist Socialism) แนวคิดสังคมนิยมที่สำคัญที่สุดของอู นุ คือการสร้างรัฐสวัสดิการแบบสังคมนิยม เป็นการสร้างรัฐที่มอบสวัสดิการและความเท่าเทียมให้กับชาวพม่า เน้นการควบรวมกิจการและที่ดินของชาวต่างชาติและของเอกชนมาเป็นของรัฐ (nationalisation) การสร้างรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนโรงงานเพื่อผลิตของอุปโภคบริโภคเพื่อลดการนำเข้า รวมถึงการเน้นบทบาทของคนใช้แรงงาน

ส่วนแนวทางแบบพุทธที่อู นุ นำมาใช้ คือการวิปัสสนา ความบริสุทธิ์ของมนุษย์และของรัฐ ดังนั้น รัฐสวัสดิการแบบสังคมนิยมในฝันของรัฐพม่ายุคหลังเอกราชคือ “รัฐแบบดั้งเดิมที่บริสุทธิ์ ก่อนที่ความอยากมีอยากได้และการทุจริตของมนุษย์จะเข้ามา เป็นการปกครองที่ไม่มีความแตกต่างใดๆ ระหว่างเพศ ความงาม หรือการเป็นเจ้าของ”[4]

แม้จะมีความพยายามสลัดความเป็นตะวันตกออกไป แต่รัฐบาลพม่าขาดผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและวิศวกรรมที่จะวางแผนพัฒนาได้อย่างเป็นระบบ ช่วงต้นปี 1951 รัฐบาลพม่าจึงเชิญคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ 5 คนจากอังกฤษให้มาช่วยด้านการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ในครั้งนั้น คณะที่ปรึกษาวางโรดแมปเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไว้ 8 ขั้นตอน ตั้งแต่การสำรวจเพื่อหาข้อมูลเชิงสถิติพื้นฐาน การบ่งชี้ประเภทของอุตสาหกรรมที่เหมาะกับพม่ามากที่สุด และการรื้อระบบเศรษฐกิจเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาทั้งระบบ

โรดแมปของที่ปรึกษาจากอังกฤษ ตามมาด้วยโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้ามาให้การสนับสนุนรวมเป็นเงินกว่า 20 ล้านดอลลาร์ เป็นโครงการที่ระดมผู้เชี่ยวชาญจากทุกสายงาน ทั้งวิศวกร นักเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรณี มาร่วมวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้พม่าร่วมกัน จนเกิดเป็นรายงานเล่มสำคัญ รู้จักกันในชื่อ ‘รายงาน KTA’ (Economic and Engineering Survey of Burma มีบริษัทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจชื่อ Knappen Tippets Abbett Engineering Co. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก)

นอกจากเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา พม่าที่แม้จะวางตัวเป็นกลางในสงครามเย็นยังได้รับเงินช่วยเหลือจากแผนการโคลอมโบ มูลนิธิหลายแห่งจากสหรัฐอเมริกา และองค์การสหประชาชาติ รัฐบาลพม่าตั้งใจว่าจะนำเงินที่ได้มาพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนการ KTA มาลงทุนในโครงการสวัสดิการทางสังคมที่ได้วางแผนไว้ ถนนสู่รัฐสวัสดิการของพม่าประกอบด้วยแผนการย่อย 10 แผน ซึ่งอาจสรุปเป็น 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1) การกระจายอำนาจสู่ชนบทและการกระจายรายได้ เน้นการสร้างองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งและโปร่งใส รวมทั้งจัดหาที่ดินทำกินให้กับประชาชนในชนบท 2) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการคมนาคมขนส่ง การแพทย์ การศึกษา การเคหะ การปฏิรูประบบการเงิน-ทุน ไฟฟ้า ชลประทาน และเหมืองแร่ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ใหญ่ที่สุด ใช้เวลานานถึง 10 ปี และจะใช้เงินลงทุนมหาศาลถึง 1.59 พันล้านดอลลาร์ และ 3) การปฏิรูปที่ดิน

นอกจากเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระหว่างประเทศ (International Bank for Reconstruction and Development – IBRD เป็นส่วนหนึ่งของธนาคารโลก) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ยังช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจของพม่าด้วย ในปี 1953 รัฐบาลพม่าเชิญคณะที่ปรึกษาจาก IBRD และ IMF ไปพม่าเพื่อประเมินแผนการ KTA ตัวแทน 4 คนจาก IBRD และ IMF ลงความเห็นว่าอุปสรรคต่อการพัฒนาที่สำคัญที่สุดของพม่าในทศวรรษ 1950 คือความไม่สงบภายใน อันเกิดจากสงครามกลางเมืองทั้งกับชนกลุ่มน้อยและการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องทุ่มเงินมหาศาลไปกับการสู้รบ ด้วยเหตุนี้ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศจึงยังต่ำกว่าในช่วงก่อนสงครามอยู่ถึงร้อยละ 20-25 แม้แต่ข้าวซึ่งเป็นผลผลิตส่งออกหลักของพม่าก็ไม่สามารถทำกำไรได้มากในตลาดโลก

ผู้เชี่ยวชาญจาก IBRD และ IMF ตั้งข้อสังเกตต่อว่า รัฐบาลพม่ามีโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากมาย และแต่ละโครงการใช้เงินลงทุนสูง ต่างกับประเทศกำลังพัฒนาในระดับเดียวกันอื่นๆ ที่ไม่ได้มีโครงการที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมากเช่นนี้ การใช้เงินของรัฐบาลพม่าสวนทางกับการลงทุนจากภาคเอกชนที่มีน้อย (เพราะรัฐบาลตั้งใจวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นแบบสังคมนิยม) นอกจากนี้การลงทุนในแต่ละโครงการก็ให้ความสำคัญกับมุมมองด้านวิศวกรรมและการเงินมาก จนรัฐบาลไม่ได้กลับมาพิจารณาแผนพัฒนาเศรษฐกิจองค์รวม และรัฐบาลพม่าเองก็มีข้อจำกัดเรื่องกำลังคนและการบริหารจัดการที่ไม่ดี ข้อจำกัดนี้เองที่จะทำให้พม่ามีการพัฒนาทางเศรษฐกิจช้ากว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ[5]

ดูเหมือนว่าภาพของการเคยเป็นอดีตประเทศอาณานิคม จะหลอกหลอนผู้นำพม่าในยุคหลังเอกราชอย่างมาก ในด้านหนึ่งรัฐบาลพม่ามุ่งมั่นกำจัดมรดกตกทอดทุกอย่างจากระบอบอาณานิคม ทั้งการกำจัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของชาวตะวันตกและชาวอินเดียออกไป การยึดที่ดินของเจ้าที่ดินมาแจกจ่ายให้เกษตรกร และการปฏิเสธระบอบทุนนิยม-เสรีนิยม และการทึกทักเอาว่าคุณค่าและจริยธรรมแบบพุทธจะช่วยทำให้สังคมพม่าต่อจากนี้สงบสุขขึ้น ผู้คนคิดถึงเงินน้อยลง และพม่าจะกลายเป็น ‘แผ่นดินแห่งความสุข’ ได้อย่างที่ฝันไว้

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ผู้นำในรัฐบาลรู้ดีว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของรัฐบาลและรัฐพม่าสมัยใหม่ คือการขาดกำลังคนที่มีทักษะในด้านการบริหาร การบริการ และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ 2 ชุดใหญ่เข้ามา พร้อมกับเชิญให้ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจจากหลายหน่วยงานเข้ามาประเมิน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจชุดนี้ที่จะเรียกว่าเสรีก็ไม่ใช่ จะเป็นสังคมนิยมก็ไม่เชิง ควบคู่ไปกับการขอเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลพม่าซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากคณะที่ปรึกษาจากทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา มองว่าการจะก้าวขึ้นไปเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ พม่าจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางอุตสาหกรรมเป็นหลัก (industrialisation) และลบภาพเดิมๆ ที่มีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมว่าพม่าเคยส่งออกเฉพาะพืชเศรษฐกิจราคาต่ำอย่างข้าว กระบวนการพัฒนาทางอุตสาหกรรมจึงมิได้เป็นเพียงแผนพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นกุศโลบายทางการเมืองของรัฐบาลพม่ายุคหลังเอกราช ที่มีตัวขับเคลื่อนหลักเป็นนักชาตินิยม ซึ่งต้องการกำจัดอิทธิพลของระบอบอาณานิคมในทุกๆ องฆาพยพออกไป[6]

ทราเกอร์วิจารณ์แผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลพม่าไว้อย่างตรงจุดว่า “ผู้นำพม่าหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ ‘ระบบราชการที่คร่ำครึ’ ของตัวเองและก็ตระหนักเป็นอย่างดีว่าระบบนี้ตกทอดมาจากยุคอาณานิคม แม้ว่าผู้นำในรัฐบาลพม่าจะเห็นด้วยกับการตั้งคณะทำงานและบริษัทใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงระบบระเบียบราชการแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน … แต่พวกเขากลับเพิกเฉยกับปัญหาในขณะนี้ที่ก่อขึ้นโดยคณะทำงานชุดใหม่ พวกเขายังอยู่กับระบบราชการเดิมๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยเป็นเวลา 30 หรือ 40 ปีมาแล้ว ข้อยกเว้นที่สำคัญมีอยู่ว่า ผู้ที่มาบริหารงานตอนนี้เป็นคนพม่า ไม่ใช่คนอังกฤษ เพราะฉะนั้นพวกเขา [ผู้นำพม่า] ไม่สามารถโบ้ยความผิดให้กับคนอังกฤษสำหรับความไร้ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้…”[7]

ปัญหาสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม-รัฐสวัสดิการแบบพม่า ไม่ได้อยู่ที่การขาดเงินทุน แต่อาจอยู่ที่ทัศนคติของรัฐบาลพม่า และสภาพเศรษฐกิจในโลกยุคสงครามเย็น (นโยบายสร้างรัฐสวัสดิการในพม่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีสงครามเกาหลีในปี 1950-1953) หลุยส์ วาลินสกี้ (Louis Walinsky) นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจจากบริษัทโรเบิร์ต อาร์ นาธาน ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกับทีมเศรษฐกิจในพม่า 6 ปี (1953-1959) [8] กล่าวว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจของพม่ามีจุดอ่อน 6 ประการ ได้แก่ 1) ราคาข้าวที่ตกต่ำทั่วโลกในทศวรรษ 1950 2) งบประมาณที่ไม่สมดุลของรัฐบาล (รายจ่ายมากกว่ารายรับ) 3) การประเมินว่าสงครามกลางเมืองจะจบลงได้โดยง่าย 4) การอนุมานว่าระบบราชการจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น 5) การมีแผนพัฒนาย่อยมากจนเกินไป และ 6) การดำเนินนโยบายแบบกึ่งสังคมนิยม โดยให้น้ำหนักที่การสร้างรัฐวิสาหกิจ มากกว่าการปล่อยให้เอกชนเป็นเจ้าของกิจการ ในจุดอ่อนทั้ง 6 ประการนี้ ดูเหมือนกว่าวาลินสกี้จะให้น้ำหนักกับราคาข้าวที่ตกต่ำทั่วโลก ว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พม่าไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างเต็มที่มากที่สุด

วาลินสกี้ให้ความเห็นว่า ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลพม่าประเมินราคาข้าวในตลาดโลกผิดพลาด เพราะประเมินไว้ว่าราคาข้าวจะไม่ตกต่ำมาก และพม่าจะสามารถผลิตข้าวเพื่อส่งออกได้ปริมาณมากขึ้นทุกปี แต่สถิติชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจพม่าในยุคหลังสงครามไม่สามารถกลับไปดีได้ดังเช่นในยุคอาณานิคม

ระหว่างปี 1952-1953 พม่าส่งออกข้าว 1.22 ล้านตัน และสามารถขายได้ในราคา 1,020 ล้านจ๊าต แต่ในอีก 7 ปีต่อมา (1959-1960) พม่าส่งออกข้าวได้มากขึ้นเป็น 2.08 ล้านตัน แต่กลับมีมูลค่าเพียง 2,080 ล้านจ๊าต[9] ความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลกเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลพม่าก็จริง แต่รัฐบาลและคณะทำงานที่มีประสิทธิภาพจะสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบา และไม่สนับสนุนให้เพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวทั้งๆ ที่ราคาข้าวตกต่ำลงทุกปี

ประเด็นต่อมาที่วาลินสกี้เน้นย้ำ และคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ของนโยบายเศรษฐกิจในยุคหลังพม่าได้รับเอกราช คือความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ การขาดคนที่มีความรู้ความสามารถ ด้วยเหตุนี้ทำให้นักชาตินิยมต่อต้านทั้งระบอบอาณานิคม และระบบระเบียบอื่นๆ ที่มาพร้อมกับระบอบนี้ คนอินเดียหรือ ‘กะลา’ (เป็นคำที่คนพม่าใช้เรียกคนหน้าตา ‘แขกๆ’ มีความหมายเชิงดูหมิ่น) จึงเป็นของแสลงของคนพม่ามาทุกยุคทุกสมัย

เมื่อพม่าได้รับเอกราช ปัญหาใหญ่ที่สุดคือระบบราชการที่มีคนพม่าเป็นพลังขับเคลื่อนหลัก แทนที่ชาวอังกฤษและชาวอินเดียเดิม มีคนพม่าจำนวนไม่มากที่เคยมีประสบการณ์เป็นผู้บริหารและทำงานในตำแหน่งสูงในรัฐบาลเมื่อครั้งที่อังกฤษปกครอง การทำให้ข้าราชการพม่ายุคใหม่เข้าใจเรื่องความก้าวหน้า (progress) และการพัฒนา (development) จึงไม่ง่ายนัก การขาดคนที่มีทักษะเฉพาะ (specialized manpower) และระบบราชการที่อุ้ยอ้ายของพม่า เป็นอุปสรรคสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจไปได้ตามแผน อันที่จริงรัฐบาลควรตั้งคณะทำงานที่เป็นอิสระจากระบบราชการ และตั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่จะมาสนับสนุนและรับนโยบายไปปฏิบัติใช้จริงด้วย แต่กว่าจะหารือและตั้งหน่วยงานอิสระได้ ก็ต้องเสียเวลาหลายปี

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงจะพอคาดการณ์ได้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจของพม่าไม่ประสบความสำเร็จ และนโยบายแบบสังคมนิยมแบบพุทธนี้จะเป็นเหตุผลหนึ่งที่กองทัพของนายพลเน วิน นำไปโจมตีรัฐบาล เพราะมองว่านอกจากรัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้แล้ว ยังทำให้สงครามกลางเมืองทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลใช้เงินจำนวนมากลงทุนไปกับโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลพม่าในปัจจุบันเล็งเห็นแล้วว่า การพัฒนาเศรษฐกิจท่ามกลางสภาวะสงครามกลางเมืองไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้จริง จึงหันมาทุ่มเทให้กับกระบวนการสร้างสันติภาพและเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาลพม่าพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือการขาดผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางเศรษฐกิจในประเทศ จากยุคหลังสงครามโลกมาจนถึงปัจจุบัน การเมืองพม่ายังให้ความสำคัญกับตัวผู้นำและรวมศูนย์กลางปกครองไว้ที่ผู้นำของพรรค แต่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรัฐสวัสดิการหรือไม่ คือการให้คนทุกคนของรัฐเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานี้อย่างเท่าเทียมกัน และการพัฒนาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากรัฐบาลไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนออกนอกกรอบพันธนาการเดิมๆ ที่มีชื่อว่า ‘วัฒนธรรมอันดีของชาติ’ ให้ได้เร็วที่สุดด้วย

เชิงอรรถ

[1] Frank N. Trager. Building a Welfare State in Burma. New York: Institute of Pacific Relations, 1958, p. 13.

[2]  Michael Charney. (2009). A History of Modern Burma. Cambridge: Cambridge University Press, หน้า 19, อ้างจาก John L. Christian. (1937). “Burma Divorces India,” Current History 46 (1) 1937, หน้า 82.

[3] Trager, 14.

[4] Moo Yubin, (2006). “A Comparative Study of U Nu and Sihanouk,” MA Thesis, National University of Singapore, หน้า 76, อ้างจาก Gustaaf Houtman. Mental Culture in Burmese Crisis Politics: Aung San Suu Kyi and the National League for Democracy. Study of Languages and Cultures of Asia and Africa Monograph Series No. 33. Tokyo University of Foreign Studies, Institute for the Study of Languages and Cultures of Asia and Africa, 1999.

[5] International Bank for Reconstruction and Development. The Economy of Burma. Washington D.C.: Department of Operations – Asia and Middle East, International Bank for Reconstruction and Development, 1953, pp. ii-iv: เข้าถึงได้ที่ http://documents.worldbank.org/curated/en/811521468279559568/pdf/multi0page.pdf

[6] Trager, p.22

[7] เล่มเดียวกัน, pp.22-23.

[8] ดูรายละเอียดได้ใน “อูนุ เทคโนแครตแบบพม่า และที่ปรึกษาเศรษฐกิจชาวต่างชาติ: การปะทะทางอารยธรรมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของพม่ายุคหลังเอกราช ค.ศ.1948-1958.” ฟ้าเดียวกัน 13, 3 (กันยายน-ธันวาคม 2558)

[9] Loiuis J. Walinsky. Economic Development in Burma 1951-60. New York: The Twentieth Century Fund, p.372.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save