fbpx

สถานการณ์ขยะกับโควิดและชีวิตของเราหลังจากนี้

ภาพจาก Brian Yurasits

‘โควิดล้างโลก’  ในแง่หนึ่ง หากมองถึงผู้เสียชีวิตและผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้เราคิดอย่างนั้นได้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันไม่ได้ล้างหรอกครับ แต่กลับเป็นภาระมากกว่า ผลกระทบจากโรคระบาดในโลกสมัยใหม่นั้นมากมายกว่าการระบาดของกาฬโลกในยุคกลางมาก เพราะทุกวันนี้ไม่มีส่วนไหนของโลกไม่เชื่อมถึงกัน 

การเอาชนะโรคนี้ไม่ได้หมายถึงว่าพอเอาเข็มจิ้มหัวไหล่แล้วทุกอย่างจะจบ มีเรื่องราวต่อจากนั้นอีกมากโดยเฉพาะขยะที่มากับการระบาดครั้งนี้ คิดกันเล่นๆ ก็ได้ว่าถ้าประชากร 70% ของโลกต้องฉีดวัคซีน จะก่อให้เกิดขยะที่เกิดจากเข็มฉีดยาอีกเท่าไหร่ ยังไม่นับรวมถึงสำลี หน้ากากอนามัย ของใช้ในชีวิตประจำวันที่เราใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ถุงมือยาง ขวดใส่เจลแอลกอฮอลล์ หน้ากากผ้า แผ่นอะคริลิก แผ่นพลาสติกใส เครื่องยิงอุณหภูมิ สติกเกอร์ ฯลฯ

บั้นปลายของสิ่งของพวกนี้ก็คือขยะและส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราคิดไม่ถึง เราลองมาดูกันว่าสถานการณ์ของขยะที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างไรบ้าง และโลกของเรารับมือกับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นได้ดีแค่ไหน มีอะไรที่เราต้องเป็นห่วงบ้าง

1. ใครบางคนบอกว่าขยะลดลง ในช่วงแรกของการระบาด พบว่าปริมาณขยะลดลงอยู่บ้างนะครับ จากการรายงานของหลายสถาบันพบว่าปริมาณขยะของโลกในช่วงการระบาดระลอกแรกหายไป 20% เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การเดินทาง ธุรกิจโรงแรมหยุดทำการลงชั่วคราว เครื่องบินครึ่งหนึ่งของโลกจอดอยู่กับที่ 95% ของเที่ยวบินหยุดทำการบินในช่วงการระบาดระลอกแรก เมื่อไม่บิน อาหารบนเครื่องบินก็ไม่ต้องเสิร์ฟ ลองคิดว่าเมื่อธุรกิจขนาด 13,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.16 แสนล้านบาท) ต้องหยุดลง มันจะสร้างผลกระทบได้ขนาดไหน เท่านี้ก็ลดขยะไปได้มาก

โดยภาพรวม เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายเมืองใหญ่ทั้งในยุโรป เอเชียและสหรัฐอเมริกาหยุดชะงัก ปริมาณขยะก็ลดลง โดยเฉลี่ยเท่าที่ ACR+ (Association of Cities and Regions for sustainable Resource management) เก็บข้อมูล พบว่าขยะในเมืองใหญ่อย่างบาร์เซโลนา ปารีส ลอนดอนลดลงประมาณ 17%-20% แต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพราะตอนนี้ปริมาณขยะกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

2. แยกขยะช่วยได้ไหม การรายงานของ UN Habitat เมื่อปี 2020 พบว่าการระบาดขัดขวางกระบวนการการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพที่กำลังก่อตัวขึ้นเป็นวัฒนธรรมใหม่ในหลายประเทศต้องสะดุดลง คนกว่า 2 พันล้านคนไม่สามารถแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และกว่า 3 พันล้านคนหลงลืมการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพเพราะนอกเหนือจากกลัวติดเชื้อแล้ว ขยะบางอย่างที่เข้ามาในบ้านเป็นสิ่งที่หลายๆ คนไม่คุ้นเคยมาก่อน เช่น เจลแอลกอฮอลล์ หน้ากากอนามัย ทิชชูเปียก ยังไม่นับว่ามีขยะที่เข้ามาในบ้านมากขึ้นเพราะบริการอาหารเดลิเวอร์รีและการสั่งของออนไลน์ที่โตอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ตามมาก็คือ บ้านของเรามีอาหารมากขึ้นสำหรับแขกที่ไม่ได้รับเชิญ

3. บ้านใหม่ของหนูเมือง หน่วยงานสาธารณสุขในแคนาดาพบว่า ช่วงการระบาดตั้งแต่ปี 2019-2020 จำนวนหนูในบ้านเรือนเพิ่มขึ้น 50% เนื่องจากผู้คนสั่งอาหารมากินในบ้าน แต่ลดความถี่ในการออกไปทิ้งขยะนอกบ้านลง หรือเก็บอาหารไว้ในบ้านมากขึ้น หนูจากที่เคยอยู่ในตลาด หรือใกล้ๆ แหล่งอาหารของตามปกติ เช่น จุดทิ้งขยะของร้านอาหาร ก็เริ่มหาที่อยู่ใหม่ บริษัทรับกำจัดหนูก็ให้บริการกำจัดหนูได้ยากเนื่องจากสถานการณ์การระบาด นอกจากนี้ การเพิ่มของหนูเมืองก็นับว่าเป็นดัชนีชี้วัดเมืองได้ในหลายมิติ

4. เราใช้หน้ากากอนามัยมากขนาดไหน บินข้ามไปที่ทวีปแอฟริกา ที่นั่นก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้ที่อื่นในโลก สหประชาชาติคาดการณ์ว่าในทวีปแอฟริกา มีคนใช้หน้ากากอนามัยวันละประมาณ 586,833,053 ชิ้นต่อคน ส่วนมากใช้หน้ากากอนามัยสองชิ้นต่อวัน เนื่องจากทวีปนี้มีประวัติของการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรงกว่านี้มาก่อนหน้า ความหวาดกลัวมีมากกว่า นี่แค่ทวีปเดียวเท่านั้น หากนับรวมกันทั้งโลกปริมาณการใช้งานของหน้ากากอนามัยทั้งในแวดวงสาธารณสุขและในครัวเรือนจะมากแค่ไหน ขยะเหล่านี้ถือเป็นขยะติดเชื้อ การกำจัดให้ถูกต้องนั้นมีความจำเป็น แต่เอาเข้าจริงแค่แยกขยะก็ทำได้ยากแล้ว

5. หน้ากากอนามัยในเกาะฮ่องกง เนื่องจากฮ่องกงเป็นเกาะ ผลกระทบของหน้ากาอนามัยต่อประเทศแสนแออัดที่อยู่ ‘บน’ ทะลจึงมีมาก ที่เกาะฮ่องกงมีรายงานเรื่องการทิ้งหน้ากากอนามัยลงในทะเลที่อาจถูกทิ้งทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น อาจหล่นระหว่างการนั่งเรือ ปลิวลงทะเล หรือจงใจทิ้ง ตามมาด้วยรายงานเรื่องขยะหน้ากากอนามัยลอยเกยตื้นเป็นจำนวนมาก พบสัตว์น้ำตายเนื่องจากกินหน้ากากเหล่านี้เข้าไป เหตุการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นในหลายเมือง โดยเฉพาะเมืองที่อยู่ติดทะเลหรือเป็นเกาะ หากไม่มีระบบการจัดการที่ดี ปัญหานี้น่าจะลุกลามไปไกล

6. ขยะในมหาสมุทร การศึกษาของ UNEP เรื่อง Breaking the Plastic Wave: A Comprehensive Assessment of Pathways Towards Stopping Ocean Plastic Pollution ชี้ให้เห็นว่า การระบาดของโควิดทำให้ปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นอย่างมาก และคาดการณ์ว่าหากไม่มีการวางแผนการจัดการขยะให้ดี ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลจะเพิ่มจาก 11 ล้านตันต่อปี ไปเป็น 29 ล้านตันต่อปีในปี 2040 แต่ปัญหานี้แก้ได้หากทุกหน่วยงานย่อยในสังคมเปลี่ยนวิธีการใช้พลาสติกไปใช้แบบที่สามารถย่อยสลายได้ มีการเผาทำลายอย่างถูกวิธี และแยกขยะกันอย่างจริงๆ จังๆ

7. แวะมาดูที่ต้นกำเนิด ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ต้นกำเนิดของโควิด-19 ในช่วงที่มีการระบาดหนัก พบว่าปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มจาก 40 ตันต่อวันมาเป็น 240 ตันต่อวัน

8. บนเกาะอังกฤษ การใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นมาถึง 300% ในช่วงการล็อกดาวน์ ส่วนมากมาจากการส่งอาหารตามบ้าน สถานการณ์เช่นนี้ก็ไม่แตกต่างจากในประเทศไทยเท่าไหร่  

9. อุตสาหกรรมหน้ากากอนามัย จีนเป็นประเทศผู้ผลิตหน้ากากอนามัยใหญ่ที่สุดของโลก ผมไม่คิดว่าการระบาดนี้จะเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่ต้องการเพิ่มยอดขายของจีน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามูลของอุตสาหกรรมหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก UNTAD หน่วยงานการค้าระหว่างประเทศของสหประชาชาติประมาณมูลค่าอุตสาหกรรมหน้ากากอนามัยว่าอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ (ราว 25,000 ล้านบาท) ในปี 2019 แต่ในปี 2020 เพิ่มขึ้นมาเป็น 166,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.31 ล้านล้านบาท) ภายในปีเดียว ยังไม่ต้องนับอุตสาหกรรมแอลกอฮอลล้างแผล เครื่องวัดอุณหภูมิ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ ที่ผู้คนต้องใช้ในวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ปริมาณขยะในอีกห้าปีต่อจากนี้เพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

10. ขยะทางการแพทย์เป็นอย่างไร สถานะการณ์ก็น่าเป็นห่วง เฉพาะในประเทศจีน มีรายงานว่าขยะทางการแพทย์เพิ่มขึ้น 6 เท่าโดยเฉพาะในหมวดสิ่งของใช้แล้วทิ้ง ขยะติดเชื้อและของมีคม ในกรุงบาเซโลนา ประเทศสเปนซึ่งเคยเป็นเมืองที่มีการระบาดหนักระดับต้นๆ ในยุโรป ปริมาณขยะทางการแพทย์เพิ่มขึ้น 350% ขยะหน้ากากอนามัยและถุงมือยางเพิ่มขึ้นราว 1,200 ตัน เปรียบเทียบกับช่วงเวลาปกติซึ่งอยู่ที่ประมาณ 265 ตัน

11. เหตุการณ์นี้ก็ไม่แตกต่างจากในสหรัฐอเมริกา ช่วงการระบาดหนักของโควิดเมื่อปลายปี 2020 ทำให้ปริมาณขยะที่มาจากโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นอย่างมากจากเดิมอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 5 ล้านตัน แต่เฉพาะสองเดือนสุดท้ายของปลายปี 2020 โรงพยาบาลทั่วสหรัฐฯ ผลิตขยะออกมามากถึงเดือนละ 2.5 ล้านตัน

12. ปัญหาใหญ่ของการจัดการขยะ หลายประเทศไม่มีการเก็บข้อมูลเรื่องขยะเหล่านี้อย่างเป็นระบบ ไม่มีการเก็บบันทึกและไม่มีใครคิดเตรียมการเผื่อไว้ว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อเราเกิดภาวะการระบาดหนักทั่วโลก ทำให้ไม่ได้เตรียมการการจัดการขยะไว้ดีพอ โดยเฉพาะขยะอันตรายและขยะทางการแพทย์

13. ประเทศไทยเป็นอย่างไร สถานการณ์ก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ เราไม่มีข้อมูลเรื่องขยะมากพอ เราไม่มีการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เราไม่ได้สร้างจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมมากพอที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม ในกรุงเทพฯ แม้ว่าคลินิกจำนวนมากต้องปิดตัวลงช่วงโควิด ทำให้ปริมาณขยะที่มาจากสถานพยาบาลอาจลดลงจาก 40 ตัน แต่ขยะปนเปื้อนอย่างหน้ากากอนามัยหรือทิชชู่เปียกก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ปริมาณขยะจากการสั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ต ทั้งอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ขยะในกรุงเทพฯ ณ ตอนนี้อาจพุ่งขึ้นไปถึง 12,000 ตันต่อวันได้สบายๆ (จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10,000-10,500 ตันต่อวัน) ในขณะที่ประสิทธิภาพการแยกขยะ พนักงานเก็บขยะและการบริหารจัดการขยะของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ต้องยอมรับว่ายังไม่ใหญ่สมกับความเป็นเมืองที่มีประชากรเกือบสิบล้านคน  

สรุป: เรื่องราวในตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร   

ในสภาวะปกติที่ไม่ได้มีโรคระบาด แนวโน้มของขยะก็เพิ่มมากขึ้นอยู่แล้วตามการขยายตัวของเมือง โรคระบาดเป็นการเร่งให้เกิดขยะจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่ธุรกิจขยะไม่ได้เป็นธุรกิจที่สวยงามหรือเซ็กซีและมักถูกหลงลืมอยู่เสมอ หวังว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตจะสามารถทำให้เรานำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ในฐานะแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save