fbpx

1

การอพยพครั้งสุดท้าย
บาดแผลสงคราม-มรดกเวียดนามในอุดรฯ





เรื่อง ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

ภาพ เมธิชัย เตียวนะ

อาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์, อุดรธานี

บ่ายเดือนมีนาคมร้อนระอุ โบสถ์คริสต์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่โดดเด่นใจกลางเมืองอุดรธานี กว้างขวางและดึงสายตาด้วยผนังสีขาวตัดกับหลังคาสีเหลืองทอง หากมองจากภายนอก สถานที่แห่งนี้โอ่อ่าและน่าเกรงขาม แต่ลึกเข้าไปด้านหลังโบสถ์ในระยะไม่กี่เมตร ความยิ่งใหญ่ของโบสถ์ก็กลายเป็นความเงียบสามัญของสุสานบนผืนดิน

ลานสุสานด้านหลังโบสถ์ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ ต้นตะแบกออกดอกสีชมพูรับหน้าร้อนตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางหลุมศพ ใกล้กันมีต้นจามจุรีแผ่ร่มเงาล้นไปด้านหลังกำแพงอิฐบล็อก ที่นี่มีเสียงแมลงเรไรอยู่ตลอดไม่ว่ายามบ่ายแก่หรือมืดค่ำ สิ่งเหล่านี้ทำให้บ่ายที่ร้อนอย่างบ้าคลั่งกลายเป็นความร่มเย็น

หลุมศพที่มีร่างของผู้วายชนม์อยู่เบื้องล่างเรียงรายอยู่กว่าร้อยหลุม สีชมพูสดใสของดอกไม้หน้าหลุมศพแซมไปกับสีเรียบขรึมขลังของกระเบื้องสีครีมและหินอ่อนดำมะเมื่อม ชื่อที่สลักบนป้ายหลุมศพเหล่านี้ส่วนมากเขียนด้วยภาษาไทยและเวียดนาม เกือบทั้งหมดเป็นคนเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์และเสียชีวิตในประเทศไทย อาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์เป็นสถานที่สำคัญของชาวเวียดนามอพยพผู้นับถือคาทอลิกในอุดรฯ เป็นทั้งที่ประกอบพิธีกรรมและที่อยู่สุดท้ายของร่างกาย นับตั้งแต่มีการสถาปนาสังฆมณฑลอุดรธานีในปี 2496

หลุมศพที่ดูเก่าแก่ที่สุดหลุมหนึ่ง บอกไว้ว่าชายเชื้อสายเวียดนามคนนี้เกิดเมื่อปี 2459 และคืนสู่พระเจ้าเมื่อปี 2512 หากยังมีชีวิตอยู่เขาจะมีอายุกว่า 107 ปี และแน่นอนว่าเขาเคยใช้ชีวิตอยู่ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเวียดนาม ท่ามกลางห้วงเวลาเหล่านั้น เขาเผชิญอะไรบ้างเป็นเรื่องเกินขอบเขตการรับรู้ แต่ ณ เวลานี้ หลุมศพของเขาตั้งอยู่อย่างเงียบสงบท่ามกลางลมพัดแผ่วผิว หน้าหลุมศพยังมีดอกไม้สดใหม่วางในแจกัน นั่นหมายความว่าลูกหลานของเขายังมาคารวะหลุมศพไม่ขาด สายธารชีวิตและเลือดเวียดนามยังไหลเวียนอยู่ในร่างกายของคนที่สืบเชื้อสายจากเขา ซึ่งไม่ใช่แค่ชายผู้นี้ แต่หมายถึงหลุมศพอื่นๆ ที่อยู่ในสุสานแห่งนี้ด้วย – สุสานเป็นที่อยู่สุดท้ายของชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็เป็นต้นรากของอีกชีวิต

2

อุดรธานีได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เมืองหลวงของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม’ เพราะที่นี่มี ‘เหวียตเกี่ยว’ หรือคนเวียดนามที่อยู่นอกประเทศมาตั้งรกรากเป็นจำนวนมาก หากใครไปในตัวเมืองอุดรธานีจะเจอร้านอาหารเวียดนามอยู่แทบทุกถนน ที่นี่มีคนเวียดนามอาศัยอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นในชุมชนบ้านจิกกลางตัวเมืองอุดรฯ และกระจายตัวอยู่ทั่วไปในจังหวัด นอกจากสุสานในโบสถ์พระมารดานิจจานุเคราะห์ที่อยู่ในตัวเมืองอุดรฯ แล้ว ยังมีสุสานชาวเวียดนามอยู่ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 30 กิโลเมตรที่ตำบลโพนงาม อำเภอหนองหาน มีพื้นที่ไกลสุดลูกลูกตากว่า 73 ไร่ มีทั้งหลุมศพแบบคริสต์และเจดีย์แบบพุทธวางเรียงกันอย่างเงียบเชียบบนผืนดินแห้ง

ไม่ใช่แค่สุสานและร้านอาหารที่เป็นมรดกหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบันเท่านั้น แต่ในอดีต อุดรธานีเป็นสถานที่สำคัญในการรวบรวมกำลังพลเพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศสของโฮจิมินห์ โดยเขาเลือกบ้านหนองโอนเป็นแหล่งรวมกำลังพลและเป็นที่พักอาศัยในช่วงปี 2471-2472 พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ถูกปรับปรุงใหม่สร้างเป็นแหล่งศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โฮจิมินห์มาแล้วกว่า 20 ปี ร่องรอยทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นมรดกของชาวเวียดนามที่ยังรุ่มรวยอยู่ในอุดรธานี

แหล่งศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โฮจิมินห์อยู่ไกลออกจากศูนย์กลางเมืองอุดรฯ ประมาณ 10 กิโลเมตร ลึกเข้าไปในชุมชนเงียบเชียบ มีอาคารพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ตรงลานด้านหน้าเป็นที่ตั้งบ้านจำลองเมื่อคราวโฮจิมินห์เคยอาศัย ที่แห่งนี้โฮจิมินห์เคยใช้เป็นทั้งบ้านพัก ประชุม สอนหนังสือ และฝึกกองกำลัง

ในบ่ายอันเงียบสงบ ที่พิพิธภัณฑ์ไม่มีใครอื่นนอกจาก ‘ป้อม’ อรรถพล เรืองสิริโชค วิทยากรประจำแหล่งศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โฮจิมินห์นั่งอยู่ เขาเป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนามรุ่นที่ห้า หากนับจากรุ่นบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเวียดนาม ชื่อเวียดนามของเขาคือ ‘วัน เวี๊ยด แถ่งห์’ (Văn Viết Thành)

“ผมเกิดและเติบโตที่อุดรธานี พ่อแม่เกิดที่สกลนคร แต่คุณทวดและคุณปู่คุณตามาจากเวียดนาม” เราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยเรื่องราวความเป็นมาของตัวเขา

เขาลงรายละเอียดให้ฟังว่า บ้านเกิดของตาอยู่อำเภอเฮืองเซิน จังหวัดฮาติ๋ง (แต่เดิม ‘เหงะอาน’ กับ ‘ฮาติ๋ง’ รวมกันเป็นจังหวัด ‘เหงะติ๋ง’) อยู่บริเวณภาคกลางของเวียดนาม ใกล้กับด่านผ่านแดนลาว ขณะที่บ้านเกิดของปู่อยู่ที่อำเภอเฮืองถุ่ย จังหวัดถือเทียนเกว๋ อยู่ในเมืองเว้ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของเวียดนาม

“เมื่อก่อนทั้งคุณทวดกับปู่ย่าตายายก็อยู่ที่เวียดนาม แต่ปรากฏว่าตอนหลังฝรั่งเศสเขาย้ายให้มาทำงานที่ลาว เพราะตอนนั้นฝรั่งเศสมาปกครองทั้งเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ตั้งประเทศใหม่เป็นอินโดจีน-ฝรั่งเศส” ป้อมย้อนอดีต

“พอย้ายมาอยู่เวียงจันทน์ คุณปู่คุณตาก็มาแต่งกับคุณย่าคุณยายผมที่เวียงจันทน์ อยู่ที่นั่นสักพักก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองอินโดจีน-ฝรั่งเศส ช่วงนั้นคนเวียดนามก็ร่วมมือกับญี่ปุ่นโจมตีฝรั่งเศส จนฝรั่งเศสออกไป ตอนแรกนึกว่าญี่ปุ่นจะชนะในที่สุด แต่ปรากฏว่าญี่ปุ่นแพ้สงครามอย่างที่เรารู้กัน เพราะฉะนั้นฝรั่งเศสเลยยกทัพกลับมาที่อินโดจีนใหม่ จัดการล้างแค้น เอาคืนกองทัพของเวียดนาม ลาว กัมพูชา ที่เอาใจออกห่างฝรั่งเศสไปเข้ากับญี่ปุ่น ชุมชนเวียดนามในลาวทั้งหมดต้องทิ้งทรัพย์สมบัติที่ทำไว้ อยู่ในลาว 50 กว่าปี เขาก็ร่ำรวยมีทรัพย์สินเงินทอง แต่สุดท้ายต้องทิ้งทั้งหมดแล้วข้ามแม่น้ำโขงมามือเปล่า” ป้อมลงรายละเอียด แม้เขาเองจะเกิดไม่ทัน แต่เรื่องราวเหล่านี้อยู่ในคำบอกเล่าของบรรพบุรุษอย่างเข้มข้น

อีกฝั่งแม่น้ำโขงของเวียงจันทน์ตรงกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จังหวัดที่ติดแม่น้ำโขงในอีสานจึงกลายเป็นหมุดหมายของคนเวียดนามที่ต้องการหนีภัยสงครามชั่วคราว โดยมีพื้นที่หลักในการอพยพคือจากฝั่งท่าแขกมานครพนม และจากเวียงจันทน์มาหนองคาย และขยายเข้าไปอาศัยในตัวหนองคาย นครพนม มุกดาหาร และสกลนครที่เป็นเส้นเรียงยาวติดขอบแม่น้ำโขงหลายร้อยกิโลเมตร

แม้พ่อแม่ของป้อมจะถือกำเนิดขึ้นในจังหวัดสกลนคร แต่ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ของเขาจะได้สัญชาติไทยตั้งแต่วินาทีแรกของชีวิต เมื่อคนเวียดนาม ณ ตอนนั้นยังเป็น ‘คนอื่น’ ในสายตารัฐไทย เช่นเดียวกับคนอีกหลายเชื้อชาติที่อพยพมาไทยในช่วงใกล้เคียงกันจากภัยที่แตกต่างกัน เช่น จีนฮ่อ ลาว เนปาล ฯลฯ ดังนั้นบัตรใบแรกของพวกเขาในไทยคือบัตร ‘ญวนอพยพ’ เป็นหนึ่งในประเภทบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

จุดของสายธารประวัติศาสตร์ที่ถือเป็นการอพยพครั้งใหญ่ของชาวเวียดนาม คือช่วงที่คนเวียดนามหลบหนีการปราบปรามของฝรั่งเศสในปี 2488-2489 จากลาวและเวียดนามเข้ามาตามแนวชายแดนของไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘วันท่าแขกแตก’ ช่วงปีนั้นคือหลังการปิดฉากของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งแม้เสียงระเบิดในหลายแห่งจะเงียบลงไปแล้ว แต่คนเวียดนามยังต้องเผชิญกับปืนและระเบิดไม่จบสิ้น

คนเวียดนามส่วนมากที่ข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งไทย แทบไม่ได้คิดว่าจะมาตั้งรกรากที่ไทยไปตลอดกาล พวกเขาเพียงต้องการหลบภัยสงครามชั่วคราวเท่านั้น ลูกหลานเวียดนามมักเล่าตรงกันว่า “ความฝันสูงสุดของปู่ย่าตาทวดคือการได้กลับเวียดนาม” เวลา ‘ชั่วคราว’ ผ่านไปกว่าสิบปี จนถึงวันที่กองกำลังเวียดมินห์เอาชนะฝรั่งเศสในศึกเดียนเบียนฟูในปี 2497 นำไปสู่ข้อตกลงเจนีวาแบ่งเวียดนามเป็นเขตเหนือ-ใต้ด้วยเส้นขนานที่ 17 แต่จุดจบของหนึ่งสงครามก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอีกสงคราม เมื่อสงครามเวียดนามหรือสงครามอินโดจีนครั้งที่สองก่อตัวขึ้นในปลายปี 2498

แม้จะยังอยู่ในช่วงสงคราม แต่ก็มีข้อตกลงระหว่างสภากาชาดไทยและสภากาชาดเวียดนามเหนือในปี 2502 เพื่อส่งคนญวนอพยพกลับเวียดนามประมาณ 48,000 คน แต่ในความเป็นจริงมีคนแสดงความจำนงอยากกลับถึง 70,000 คน และคาดกันว่าตัวเลขจริงๆ ของคนเวียดนามที่ต้องการกลับบ้านน่าจะมีมากกว่านั้น 

การส่งคนเวียดนามกลับชุดแรกเกิดขึ้นในช่วงปี 2503-2507 โดยมีคนเวียดนาม 45,000 คนได้กลับบ้าน ขณะที่ชุดที่สองอีก 36,000 คน มีคิวต้องส่งกลับในปี 2508 แต่เส้นทางกลับบ้านต้องปิดลงเมื่อเกิดการสู้รบในเวียดนามที่รุนแรงขึ้นจากการบุกเวียดนามเหนือของอเมริกา เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้ความฝันจะกลับบ้านของหลายคนไม่เคยเกิดขึ้นจริง

สงครามที่รบกันด้วยอาวุธจบลง แต่โลกก็ขยับเข้าสู่ยุคสงครามเย็นหรือสงครามตัวแทนเต็มรูปแบบ ระหว่างการผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก คนเวียดนามที่อยู่ในไทยต้องต่อสู้ทั้งในทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และอุดมการณ์ทางการเมือง เพราะแม้คนเวียดนามจะสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับมากมาย เช่น ห้ามออกนอกอาณาเขตไกลกว่าที่กำหนด ห้ามทำอาชีพที่สงวนไว้ให้คนไทย ฯลฯ รวมถึงถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะศรัทธาในตัวโฮจิมินห์

“ตอนที่เพิ่งจบสงครามเวียดนามใหม่ๆ ไทยยังอยู่ฝ่ายเดียวกับอเมริกา เขาก็ไม่ไว้วางใจชุมชนเวียดนามที่อีสาน เพราะชุมชนเวียดนามสนับสนุนลุงโฮอย่างมาก ศรัทธาในตัวลุงโฮมาก” ป้อมเล่าสถานการณ์ความขัดแย้งในอดีต ที่ ‘โลกเสรี’ กับ ‘โลกคอมมิวนิสต์’ เปิดศึกกันผ่านตัวแทนในช่วงสงครามเย็น แต่ถึงอย่างนั้น ‘ความไม่ไว้วางใจ’ ที่ว่านี้ ก็เป็นเพียงทางการเท่านั้นที่สร้างภาพไว้ แต่คนไทยที่อยู่ในชุมชนละแวกเดียวกันยังมีการไปมาหาสู่กันเป็นปกติ แม้ไม่แนบแน่นเป็นเนื้อเดียว แต่ก็ไม่ถึงกับแล่เนื้อเถือหนังกัน

จากอาศัยในจังหวัดริมแม่น้ำโขง ชาวเวียดนามก็ค่อยๆ ขยับเข้ามาลึกขึ้น จังหวัดที่มีการค้าขายคึกคักและอยู่ศูนย์กลางภาคอีสานอย่างขอนแก่นและอุดรธานีกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการแสวงโชค คนเวียดนามในไทยส่วนมากอาศัยรวมกันเป็นชุมชนอย่างเหนียวแน่น รวมถึงมีการส่งข่าวถึงกันหากพื้นที่ไหนทำมาหากินได้ดี พวกเขาฝึกอาชีพที่ได้รับอนุญาตให้ทำได้ แม้จะถูกจำกัด แต่ในความโชคร้ายกลายเป็นโชคดี เมื่อคนเวียดนามไม่ได้รับอนุญาตให้ถือครองที่ดิน ไม่อาจทำการเกษตร ทำให้ต้องหันหน้าไปสู่การค้าขาย ทำงานช่างไม้ ตัดเสื้อผ้าผู้ชาย ฯลฯ อาชีพเหล่านี้ทำให้พวกเขาสะสมทุนและขยับขยายไปสู่ธุรกิจอื่นได้อย่างหลากหลาย สอดรับกับโลกทุนนิยมที่เบ่งบานในประเทศไทย ตรงกันข้ามกับงานเกษตรกรรมที่รายได้แทบไม่มากขึ้นแม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปี คนเวียดนามในไทยจำนวนมากจึงสามารถส่งต่อทุนถึงลูกหลานให้มีชีวิตอย่างมั่นคงในประเทศไทย

เมื่อสงครามจบสิ้น ในยุคของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศต่อประเทศในอินโดจีนรวมถึงเวียดนาม ดังที่เราคุ้นหูกันจากสโลแกน ‘เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า’ ทำให้นโยบายที่เข้มงวดกับชาวเวียดนามอพยพค่อยๆ ผ่อนคลายลง และจุดคลี่คลายเส้นแบ่งสุดท้ายคือ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ให้สัญชาติไทยแก่บุตรหลานของชาวเวียดนามอพยพ คำว่า ‘ญวนอพยพ’ จึงค่อยๆ เลือนหายไป กลายเป็นคำว่า ‘คนไทยเชื้อสายเวียดนาม’ แทน

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจในอุดรธานีก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเห็นว่าการใช้ชีวิตในอุดรธานีมีแต่ทำให้ ‘เดินไปข้างหน้า’ คนเวียดนามจำนวนมากก็ยิ่งย้ายมาตั้งรกรากที่อุดรธานีมากขึ้น เมื่อเวลาผันผ่าน จากคนที่อพยพมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวกลายเป็นคนวัยชราที่มีลูกเติบโตเป็นคนหนุ่มสาวอีกรุ่น จากที่เคยสอนลูกเป็นภาษาเวียดนาม ลูกก็ต้องเรียนรู้ภาษาไทยและเข้าเรียนโรงเรียนไทย จากที่มีแค่ชื่อเวียดนาม ก็ต้องตั้งชื่อลูกหลานทั้งชื่อไทยและเวียดนาม อัตลักษณ์เวียดนามที่เข้มข้นก็ค่อยๆ ปรับเข้ากับสังคมไทยตามกาลเวลา

“ตอนนี้เรารู้สึกว่าเป็นคนทั้งสองสัญชาติ เรามีแม่สองคน คือแม่คนไทย และแม่คนเวียดนาม เรามีหน้าที่ดูแลสองท่านนี้ให้ดี เราเจอคนเวียดนามก็คุยกับเขาเป็นเวียดนาม ถ้าเจอคนไทยก็พูดไทย เราภูมิใจที่เป็นคนไทย เพราะเกิดที่อุดรฯ เรียนอนุบาล ประถม มัธยมที่ไทย แต่พอกลับไปที่บ้านเราก็เรียนภาษาเวียดนามกับพ่อแม่และคุณตา ดังนั้นเราเป็นทั้งไทยและเวียดนาม ภูมิใจทั้งสองประเทศ” ป้อมเล่าด้วยรอยยิ้ม เขาเล่าต่อว่าที่บ้านของเขามีธรรมเนียมพูดภาษาเวียดนามเมื่อกลับเข้าบ้าน เพื่อไม่ให้ภาษาเวียดนามหายไปในรุ่นหลาน

“ที่บ้าน คุณปู่คุณตาเคร่งมาก เขาบอกว่าพวกหลานๆ ออกไปนอกบ้านก็พูดภาษาไทยทั้งวันแล้ว แต่เข้ามาบ้านมาแล้วยังพูดไทยอีก ภาษาเวียดนามหายแน่นอน ดังนั้นเวลาพูดกับปู่ย่าตายายต้องพูดเป็นเวียดนาม ส่วนแม่ก็จะพูดกับเราคำง่ายๆ เช่น ไปอาบน้ำ ‘ดีตั๋ม’ (Đi tắm), กินข้าว ‘อันเกิม’ (ăn cơm), ไปนอน ‘ดีหงู่’ (Đi ngủ), ไปเที่ยว ‘ดีเจย’ (Đi chơi) เขาจะปลูกฝังให้พูด”

ป้อมอธิบายถึงอัตลักษณ์ความเป็นเวียดนามว่าอย่างแรกคือเรื่องภาษา เมื่อยังสื่อสารเป็นภาษาเวียดนามอยู่ก็ทำให้รู้ว่ามีเชื้อสายเวียดนาม “เรายึดมั่นตามคำสอนของลุงโฮที่บอกว่า ไม่ว่าคุณจะเกิดที่ไหนในโลก แต่อย่าลืมว่าเลือดในกายคุณยังมีเชื้อสายเวียดนามอยู่ ทางการเวียดนามจึงกลัวมากว่ารุ่นลูกรุ่นหลานในไทยจะไม่สามารถพูดสื่อสารภาษาเวียดนามได้ เพราะฉะนั้นทางเวียดนามก็เลยส่งเสริมให้เปิดสอนภาษาเวียดนาม เพราะเขาไม่อยากให้ภาษาเวียดนามสูญหาย”

3

ที่ซอยบ้านจิก ใจกลางเมืองอุดรธานี มีสมาคมชาวเวียดนามจังหวัดอุดรธานีตั้งอยู่ เปิดโถงโล่งเอาไว้จัดกิจกรรม ในซอยมีการปรับปรุงทางเดินเพื่อเตรียมเปิดเป็นถนนคนเดินและจัดกิจกรรมสำหรับคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ตลอดเส้นมีห้องแถวที่เป็นบ้านและร้านค้าของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม บ้านฝั่งตรงข้ามสมาคมฯ กำลังง่วนกับการนวดแป้งเพื่อทำขนมปัง รอร้านอาหารเวียดนามมารับไปทำบั๋นหมี่และอาหารชนิดอื่นๆ

วีระยุทธ ชูวรเชษฐ์ หรือ ‘ต้วน เหงียนเวียด’ (Tuấn  Nguyễn Viết) รองนายกสมาคมชาวเวียดนามจังหวัดอุดรธานี และหัวหน้าคุ้มชุมชนชาวชาวเวียดนามบ้านจิก (ชุมชนเวียดนามคุ้มที่ 1 จาก 5 คุ้มในอุดรธานี) เล่าให้ฟังว่าทางสมาคมฯ มีหน้าที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนเวียดนามในไทย ส่งเสริมวัฒนธรรมเวียดนาม และเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคม

วีระยุทธเกิดที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พ่อแม่ของเขาอพยพมาจากเวียดนาม ส่วนตัวเขาเองย้ายมาที่อยู่ที่อุดรธานีประมาณ 40-50 ปีแล้ว

“ตอนผมอายุสิบขวบ ตอนนั้นมีสงครามเวียดนามแล้ว ที่บ้านก็จะสอนลูกตลอดว่าเราเป็นคนเวียดนามและตั้งใจจะกลับเวียดนาม หนีภัยสงครามมานานจนพอตั้งหลักแหล่งได้ ผมจำได้ว่าตอนนั้นอีกเก้าวันเตรียมตัวจะเดินทางกลับเวียดนามแล้ว แต่อเมริกาทิ้งระเบิดทางเหนือของเวียดนาม เขาเลยหยุดไว้ เลยต้องอยู่ที่ท่าบ่อต่อ”

วีระยุทธเล่าให้ฟังว่าส่วนมากเด็กที่เกิดมายังเรียนเฉพาะภาษาเวียดนาม ไม่ได้เรียนภาษาไทย เพราะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าเรียนภาษาไทยในโรงเรียนได้ ดังนั้นโรงเรียนของเหล่าเด็กๆ เวียดนามที่เกิดในไทยคือคนในชุมชนเวียดนามแบ่งโซนให้ลูกหลานเรียนหนังสือเป็นภาษาเวียดนาม แบ่งเป็น ป.1-ป.7  

“ตอนนั้นคิดว่าสงครามคงไม่ยืดเยื้อ ไม่นานก็คงได้กลับเวียดนาม เลยเรียนเวียดนามอย่างเดียว” วีระยุทธขยายความ

เมื่อสงครามไม่มีทีท่าจะสงบ ครอบครัวของวีระยุทธก็ตัดสินใจย้ายออกจากท่าบ่อมาที่อุดรธานี เพราะสะดวกในการค้าขายและทำงานมากกว่า “ตอนแรกย้ายไปอยู่หน้าโรงเรียนหมากแข้ง พ่อผมทำงานรับจ้างซักรีดเสื้อผ้า แม่ผมขายหมูอยู่ตลาด ช่วงนั้นผมเรียนสายอาชีพแล้ว เรียนพวกซ่อมวิทยุโทรทัศน์ พอเรียนก็บังคับให้ต้องใช้ภาษาไทย เราก็หัดอ่านตามหนังสือพิมพ์ สุดท้ายก็ได้ภาษาไทย”

ช่วงเวลาที่สถานะของคนเวียดนามยังเป็นญวนอพยพ พวกเขาจึงยังถูกจำกัดสิทธิในการออกนอกพื้นที่ การประกอบอาชีพ และการถือครองที่ดิน แต่ถึงอย่างนั้นด้วยวิชาซ่อมวิทยุโทรทัศน์ที่ติดตัวมา ทำให้วีระยุทธจำเป็นต้องแอบทำอาชีพที่ทางการห้ามในขณะนั้น ด้วยการแอบทำงานอยู่บนร้านเงียบๆ

“ช่วงที่ผมอายุ 25-26 ปี ก็รู้ว่าจะไม่ได้กลับเวียดนามแล้ว หลายคนก็ลงหลักปักฐาน มีครอบครัว ทำธุรกิจ สร้างตัวได้แล้ว” วีระยุทธเล่า “หลังสงครามเวียดนามจบลง รัฐบาลไทยกับรัฐบาลเวียดนามก็ประชุมกัน สุดท้ายมีข้อสรุปว่าคนเวียดนามที่อยู่ในไทย ถ้าใครอยากอยู่เมืองไทย รัฐบาลก็จะให้สัญชาติไทย ถ้าใครอยากกลับไปเวียดนามก็กลับไปเป็นคนเวียดนาม แล้วแต่สมัครใจ ส่วนมากคนเวียดนามที่อยู่ไทยก็เลือกอยู่เมืองไทย เพราะลูกหลานเกิดมาเรียนหนังสือกันเยอะแยะแล้ว คงไม่กลับไป แต่บางคนที่กลับไปคือคนอายุมากที่มีความผูกพันกับเวียดนามเยอะ” วีระยุทธเล่าถึงช่วงเวลาที่เกิดความคลี่คลาย

เมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน สำหรับคนรุ่นแรกๆ ที่อพยพมาไทย อาจไม่รู้สึกห่างไกลกับความเป็นเวียดนามมากนัก แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดที่ไทย เรียนภาษาไทย และเติบโตในสังคมไทย อาจไม่เป็นอย่างนั้น

วีระยุทธบอกว่าในช่วงความขัดแย้งการเมืองเข้มข้น คนเวียดนามถูกมองด้วยความระแวดระวังจากทางการ การสอนภาษาเวียดนามให้ลูกหลานกลายเป็นเรื่องต้องระมัดระวัง ดังนั้นในช่วงแห่งความตึงเครียดนั้น พ่อแม่จึงไม่ได้สอนเวียดนามให้ลูก เพราะเหตุการณ์การเมืองไม่เอื้ออำนวย

“จริงๆ แล้วเราแทบจะไม่ได้สอนภาษาเวียดนามให้ลูกเลย พูดแล้วก็เสียดาย แต่มันก็จำเป็นตามเหตุการณ์การเมือง ก็ต้องทำแบบนั้น พอเขาโตขึ้น เราก็บอกให้เขารู้ เขาก็โอเค แต่เขาเชื่อมโยงกับสังคมของคนไทยมากกว่าอยู่แล้ว ตอนนี้สมาคมก็จะพยายามรักษาวัฒนธรรมของเวียดนาม สิ่งที่ดีๆ ก็รักษาเอาไว้ ภาษา อาหารการกิน ตอนนี้เราก็พยายามรณรงค์ ให้ลูกหลานเรียนภาษาเวียดนาม”

วีระยุทธกล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้รักษาทั้งสองวัฒนธรรม วัฒนธรรมประเทศไทยที่ดีๆ ก็มีเยอะ แล้วต่อไปกลุ่มประเทศในอาเซียนก็คงจะไปมาหาสู่กัน ผมคิดว่าการรู้ภาษาและวัฒนธรรมน่าจะเป็นประโยชน์”

4

ถัดจากที่ทำการของสมาคมชาวเวียดนามจังหวัดอุดรธานี เป็นร้านขายของชำของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม เสียงผู้ประกาศข่าวจากโทรทัศน์จอเล็กดังในร้าน ไม่มีใครสนใจจะฟังมากนัก เป็นแค่เสียงประกอบบรรยากาศเพื่อให้ตอนกลางวันไม่เงียบเหงาเกินไป

‘รุ่ง’ หรือในชื่อเวียดนาม ‘เกื่อง’ นั่งยิ้มแจ่มใสบนเก้าอี้ในร้าน เขาเป็นชายวัย 70 ที่แววตายังมีพลัง

“เกื่องแปลว่าคนแข็งแรง” เขากล่าวแล้วยิ้ม เปิดตู้แช่หยิบน้ำอัดลมให้หนึ่งขวด

โดยไม่ต้องให้ชื่อบอกตัวตน เกื่องเป็นชายร่างสันทัดที่ยังแข็งแรงอย่างนั้นจริงๆ เขาเป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนาม เกิดที่นครพนมในปี 2490 และย้ายเข้ามาอยู่อุดรธานี เพราะต้องการหางานทำ

“ย้ายมาอุดร เพราะต้องทำมาหากิน ทางนู้น (นครพนม) เงียบ ทำมาหากินยาก อุดรฯ ทำมาหากินได้ดีกว่า เพราะเป็นเมืองใหญ่ แต่นครพนมก็เป็นเมืองร่มเย็นนะ อยู่สบาย” เกื่องเริ่มเล่าเรื่อง พัดลมในร้านทำงานกลบความร้อนกำลังส่งเสียงดัง

“ผมย้ายมาอุดรฯ คนเดียว ผมเป็นคนดื้อ คนกินเที่ยว มาอุดรฯ ตอนอายุ 14-15 ปี มีญาติอยู่ที่นี่ก็มาช่วยเขาทำงาน ผมเรียนฝึกอาชีพก่อน แล้วก็ไปเปิดตู้ซ่อมนาฬิกาอยู่หน้าบ้านเขา ผมอยู่ไปเรื่อยนะ ไม่อยู่กับที่ ตรงไหนเดือดร้อน ผมหนี ตรงไหนสบาย ผมอยู่” เกื่องย้อนอดีตในวัยหนุ่ม

จากคนหนุ่มที่ระหกระเห เขาทำงานและเก็บเงิน จนสุดท้ายมาปักหลักที่ซอยบ้านจิก กลางเมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นชุมชนคนเวียดนาม เปิดบ้านเป็นร้านขายของชำและขายอาหารทั้งไทยและเวียดนาม เขาบอกว่าอาชีพหลักคือค้าขายและช่วยเหลือสังคม คำว่าช่วยเหลือสังคมของเขาหมายถึง การเป็นจิตอาสาช่วงที่เกิดภัยต่างๆ เช่น น้ำท่วม หรือไปช่วยงานศพ งานบุญของคนเวียดนาม ขณะเดียวกันเขาก็อยู่ร่วมกับชุมชนคนไทยได้อย่างสบาย “ไทยหรือเวียดนาม ผมเข้าได้หมด” เกื่องว่า

“ถามว่าความรู้สึกของความเป็นคนเวียดนามเข้มข้นไหม ก็เข้มข้นนะ จะบอกว่าไม่เข้มข้นก็ไม่ใช่ ผมโตขึ้นมาด้วยมุมมองว่ามีแม่สองคน อันหนึ่งแม่เวียดนาม อันหนึ่งแม่ไทย” เขาพูดจบแล้วยิ้ม ประโยคนี้เป็นประโยคเดียวกันกับที่ป้อมจากพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์พูด ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ฝังอยู่ในคนไทยเชื้อสายเวียดนามจำนวนมาก

เสียงผู้ประกาศข่าวยังดังต่อเนื่อง เราคุยกันเรื่องเพลงและอาหาร เกื่องบอกว่าเขากินได้ทั้งอาหารไทยและเวียดนาม แต่อาหารเวียดนามที่ชอบที่สุดคือพะโล้เวียดนาม ข้าวเปียก และเมี่ยงเวียดนาม

“พะโล้เวียดนามมีข่า ตะไคร้ ข้าวหมัก และขาหมูที่ย่างแล้วค่อยมาทำ” เกื่องพูดจบแล้วยกนิ้วโป้งขึ้นเพื่อยืนยันความอร่อย 

วีระยุทธที่ยืนฟังอยู่ด้วยเสริมว่า อาหารเวียดนามที่ยังเป็นมรดกในอุดรธานียังมีอีกมาก “เรื่องอาหารการกินก็มีแหนมเนือง ปอเปี๊ยะทอด ปอเปี๊ยะสด หอมพันผัก ขนมบั๋นแซว บั๋นแบ่ว บั๋นเย่อ แล้วก็มีพวกแกงปลา แกงเจียวป๋า ทำเข้มข้น มีพวกผัดหน่อไม้ผัดวุ้นเส้น เนื้อวัวผัดกินกับสลัด เยอะมาก พูดไม่หมด ยิ่งอยู่ที่เวียดนามยิ่งเยอะกว่านี้”

ด้านบนผนังของร้าน มีรูปโฮจิมินห์สวมสูทสีขาวนั่งบนเก้าอี้หวาย เป็นรูปที่เรามักเห็นในบ้านคนเวียดนามไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เมื่อพูดถึงรูป เกื่องบอกว่า “ผมเคารพลุงโฮเสมอ” และเสริมว่าเขาชอบฟังเพลงเวียดนาม และเพลงที่ชอบฟังที่สุดคือบทเพลงแห่งโฮจิมินห์

วีระยุทธบอกว่ามีเพลงร้องของเวียดนาม ที่คนอายุ 50 ขึ้นไปจะร้องได้ “เด็กๆ รุ่นใหม่ ถ้าไม่ฝึกร้องก็ร้องไม่ได้ มีเพลงเวียดนามทั้งทางเหนือ กลาง ใต้ แต่เดี๋ยวนี้ก็ร้องรวมกันหมด ไม่ได้แบ่งแยกแล้ว” เขาขยายความ

เราคุยกันสักพักก่อนมีของมาส่งที่ร้าน พอดีได้เวลาแดดร่มลมตก เราจึงร่ำลาและแยกย้าย

ไม่ไกลจากซอยบ้านจิกในตลาดที่อุดรฯ มีอาหารเวียดนามขายหลายประเภท ทั้งขนมปังเวียดนาม เส้นเปียก เฝอ และแกงหลายประเภท ความเป็นเวียดนามปรากฏชัดในป้ายสวัสดีปีใหม่ที่มีทั้งภาษาไทยและเวียดนามชูโดดเด่นอยู่กลางตลาด ตลาดที่ขายอาหารเวียดนามเหล่านี้เป็นที่พึ่งให้คนเวียดนามรุ่นเก่าแก่ที่ยังติดรสชาติของอาหารเวียดนามอยู่

ป้อมจากพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์เล่าให้ฟังว่า คนสูงอายุที่บ้านเขากินอาหารไทยไม่ค่อยได้ จึงมักไปตลาดเพื่อซื้ออาหารหรือวัตถุดิบมาทำอาหารเวียดนามกินเองที่บ้าน

“แม่เราชอบกินปลาต้มเค็ม ทำอร่อยนะ มีปลา ใส่มะเขือเทศ ส้มผักดอง น้ำมะพร้าว ใส่หมูสามชั้นกับปลา นอกจากนี้ก็มีหมูต้มเค็ม แกงปูมะเขือดอง เมี่ยงทอด ผัดผักบุ้ง หน้าร้อนกินผักบุ้งลวก น้ำลวกผักบุ้งต้องบีบมะนาว กินสไตล์เวียดนาม ทุกวันนี้แม่ยังไปตลาด ทำเฝอเวียดนามเอง แม่บอกว่าถ้าทำเองซดน้ำซุปหมดเลย” ป้อมเล่าอย่างออกรส เขาแนะนำร้านอาหารเวียดนามหลายร้านทั้งในอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง ก่อนขยายความต่อว่า “อาหารเวียดนามทุกวันนี้เข้ากับลิ้นคนไทยแล้ว คนไทยชอบทาน โดยเฉพาะแหนมเนือง แหนมเนืองนี่อาหารพระราชวังนะ”

คำว่าอาหารเวียดนามเข้ากับลิ้นคนไทยไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะอาหารเวียดนามเข้าแทรกซึมไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนอุดรฯ ไม่ว่าคุณจะมีเชื้อสายอะไร ไม่ใช่ว่ามีแค่ตลาดที่เป็นที่พึ่งสำหรับเรื่องอาหารการกิน แต่ร้านอาหารเวียดนามก็อยู่ในชีวิตทั้งตอนเช้าถึงมืดค่ำ ในช่วงเช้าตรู่ ร้านคิงส์โอชาจะเป็นที่รองรับบทสนทนาและท้องว่างเปล่ายามเช้าของคนอุดรฯ คนไทยเชื้อสายเวียดนามหลายคนมานั่งจิบชากินขนมปังตั้งแต่วัยกลางคนจนถึงวัยชรา กาแฟใส่นมข้นแบบเวียดนามถูกคนแก้วแล้วแก้วเล่า ท่ามกลางการพูดคุยยามเช้า ตกค่ำ ร้านแหนมเนืองกลายเป็นที่รองรับครอบครัวและกลุ่มเพื่อน อาหารมื้อใหญ่วางเต็มบนโต๊ะ วันแล้ววันเล่าดำเนินไปเช่นนี้

ว่าแล้วก็นึกถึงคำที่ป้อมพูดถึงอัตลักษณ์เวียดนาม ป้อมบอกว่ามีเรื่องที่เห็นได้ชัดคือ ภาษา อาหาร และเครื่องแต่งกาย และงานประเพณีปีใหม่เวียดนาม (เทศกาลเต๊ด) ขณะที่อัตลักษณ์ผันผ่านไปตามกาลเวลา ก็มีการปรับเปลี่ยนและกลืนกลายวัฒนธรรมเข้ากับสังคมไทย เขาพูดถึงการรวมวัฒนธรรมเอาไว้ว่า

“เราปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่ก็ต้องรักษาอัตลักษณ์ของเวียดนามไว้ด้วย อย่าให้กลืนหายไปหมด เราปรับตัวความเป็นเวียดนามให้เข้ากับทางไทย อัตลักษณ์ไม่หาย ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมไทยด้วย สุดท้ายจะผสมผสานกัน แล้วคนไทยใจดี คนไทยรับทุกวัฒนธรรม”

5

ช่วงพลบค่ำ ที่วัดศรีคุณเมืองมีงานศพของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม

รถเข้ามาจอดเต็มลานจอดรถ ตรงบริเวณศาลามีผู้คนสวมชุดดำมาร่วมงานกว่าสิบโต๊ะ ข้าวผัดแกงทอดวางเรียงบนโต๊ะส่งกลิ่นหอมอบอวล ไม่ต้องบอกก็พอเดาได้ว่าผู้วายชนม์เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในชุมชน ที่นั่นมีทั้งคนเชื้อสายไทยและเวียดนามนั่งอยู่ด้วยกัน

พิธีศพของงานนี้เป็นของคนเวียดนามที่นับถือพุทธ ขณะเดียวกันก็ผสมผสานทั้งพิธีแบบไทยและเวียดนาม โลงศพของเขาตั้งอยู่ด้านหน้าแถวเก้าอี้ไม้เรียงยาว มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์เตรียมไว้ 4 รูป สายไฟและพวงหรีดประดับอยู่หน้าโลง สิ่งที่ทำให้รู้ว่าเป็นพิธีศพของคนเวียดนามคือหน้าโลงศพมี ‘เกิมอุ๊บ’ หรือถ้วยข้าวพูนปักตะเกียบสองด้ามตั้งอยู่ คนเวียดนามเชื่อว่าเป็นถ้วยข้าวถ้วยสุดท้ายที่ให้ผู้เสียชีวิตกินกลางทาง สำหรับคนเชื้อสายเวียดนามที่นับถือพุทธจะใช้การเผาศพ ถ้าใครเคร่งครัดก็จะยังรักษาวัฒนธรรมแบบเวียดนามไว้ด้วยการให้ลูกหลานโพกหัวไว้ทุกข์อยู่ และให้สัปเหร่อเวียดนามมาทำพิธีตอนบรรจุศพ ก่อนจะส่งต่อให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์

หากอยากทำให้ครบถ้วนพิธีแบบเวียดนามจริงๆ หน้ารูปศพต้องใช้ป้ายวิญญาณแบบเวียดนาม ข้างโลงศพมีต้นไผ่นำวิญญาณ คล้ายเป็นการแขวนพาสปอร์ตของคนตาย เพราะคนเวียดนามเชื่อว่าความตายคือการเดินทางไปอีกโลกหนึ่ง ดังนั้นถ้าเราไม่มีหนังสือเดินทางก็จะไปภพหน้าไม่ได้

ตรงกำแพงข้างศาลามีช่องบรรจุอัฐิเรียงแน่น ป้ายชื่อคนไทยและคนเวียดนามเรียงต่อเนื่องกันไปโดยไม่แบ่งแยก เมื่อมนุษย์กลายเป็นเถ้ากระดูก การแบ่งแยกก็ไร้ความหมาย ไม่มีอุดมการณ์การเมือง ไม่มีอาวุธ และไม่มีการห้ำหั่นด้วยความเกลียดชัง

ตะวันกำลังจะตกดิน คนทยอยมามากขึ้น เก้าอี้ไม้หน้าโลงศพเริ่มถูกจับจอง หลอดไฟรอบโลงยังกะพริบเป็นจังหวะอยู่อย่างนั้น ก่อนออกจากงาน เจ้าภาพงานศพบอกเราว่า วันนี้เป็นวันสวดวันสุดท้าย และจะมีพิธีเผาในวันพรุ่งนี้ เขาบอกว่าในปัจจุบันชาวเวียดนามในไทยส่วนมากใช้การเผาแทนการฝัง เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าและสะดวกกว่า เพราะการฝังต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าจองหลุมที่ราคาอยู่ประมาณ 20,000-50,000 บาท มีค่าทำหลุมศพและต้องทำความสะอาดเป็นประจำทุกปี

เราร่ำลากันด้วยการแสดงความเสียใจ

วันรุ่งขึ้นเราเดินทางออกไปจากตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร เป้าหมายคือสุสานชาวเวียดนาม หรือที่คุ้นหูกันในชื่อสุสานยายแก้ว (แก้ว เกษตรทัต) ซึ่งเป็นคนบริจาคที่ดินจำนวน 73 ไร่ให้เป็นสุสานของชาวเวียดนามโดยเฉพาะ

จากถนนใหญ่เลี้ยวเข้าไปทางเข้าลูกรังหลายกิโลเมตร ป้ายโค้งเหนือหัวของสุสานตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางป่าและดิน ประตูอัลลอยด์เปิดอยู่ฝั่งเดียว อนุญาตให้เราเข้าไปในบริเวณสุสานอันกว้างขวางเรียงรายด้วยหลุมศพหลายร้อยหลุม ตอนที่เราไปถึง มีคนงานกำลังนั่งฉาบกระเบื้องหลุมศพอยู่ 2-3 คน ที่นี่แบ่งเป็นโซนหลุมศพและโซนเจดีย์ใส่อัฐิไว้ หลายช่องยังไม่มีป้ายชื่อมาติด เป็นเพียงช่องว่างรอไว้เท่านั้น คนงานฉาบกระเบื้องเล่าให้ฟังว่าค่าทำหลุมกระเบื้องราคาอยู่ที่ประมาณ 18,000-20,000 บาท แต่ถ้าเป็นหินอ่อนบางครั้งต้องสั่งจากกรุงเทพฯ ทำให้ราคาขึ้นไปถึงหลักแสนบาท

หลุมศพของที่นี่มีทั้งที่แกะสลักป้ายอย่างงดงาม กับหลุมศพว่างเปล่าที่เป็นเพียงฝาปูนขรุขระวางทับไว้เท่านั้น แต่ถึงจะว่างเปล่า ก็ไม่ได้หมายความว่าหลุมนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะคนที่ยังมีชีวิตอยู่จัดการจองหลุมของตัวเองไว้แล้วสำหรับวาระสุดท้ายของชีวิต

แดดยังร้อนระอุอย่างต่อเนื่อง แต่มีเพียง ‘คนเป็น’ เท่านั้นที่ทุกข์ทรมานกับสิ่งนี้ หลุมศพที่เรียงรายยังนิ่งไม่ยี่หระต่อแดดฟ้าหรือลมฝน ดำรงมาอย่างนั้นและจะดำเนินไปเช่นนี้

เมื่อความฝันของคนเวียดนามรุ่นทวดคือการใช้ชีวิตโดยคิดว่าสักวันหนึ่งจะได้กลับไปที่แผ่นดินเกิด หลุมศพเหล่านี้เป็นหลักฐานที่บอกว่าพวกเขาไม่ได้ย้อนกลับไปในที่ที่พวกเขาจากมา แต่ไม่ได้หมายความว่าแผ่นดินที่พวกเขาเสียชีวิตจะไม่ได้ถูกเรียกว่า ‘บ้าน’

Facebook
Twitter

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save