fbpx

บรรณารักษศาสตร์ ‘รอด’ หรือไม่ ในวันที่อาชีพบรรณารักษ์กำลังเลือนหายไปพร้อมห้องสมุด

 

ความรู้เป็นเหมือนต้นธารการพัฒนาของมนุษย์

ในอดีตหากมนุษย์ต้องการค้นหาข้อมูลหรือองค์ความรู้บางอย่าง หลายคนอาจเลือกเดินเข้าห้องสมุด แต่ในปัจจุบันที่ผู้คนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงความรู้รอบโลกได้ภายในไม่กี่วินาที คำถามที่เกิดขึ้นคือ ห้องสมุดยังจำเป็นอยู่หรือไม่

ในวันที่โลกของความรู้อยู่แค่ปลายนิ้ว น่าตั้งคำถามว่าองค์ความรู้บนหน้ากระดาษกำลังจะตายไปหรือไม่ และห้องสมุดกำลังจะแปรเปลี่ยนจากวิหารความรู้สู่พิพิธภัณฑ์สิ่งพิมพ์หรือเปล่า อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในวิชาชีพที่ทำงานในห้องสมุดอย่าง ‘บรรณารักษ์’ จะได้รับแรงกดดันในการทำงานและปรับตัวมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากในวันนี้หากหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าอาชีพ ‘บรรณารักษ์’ กำลังจะหายไปในอนาคตอันใกล้หรือไม่ นับเป็นคำถามน่าสนใจว่าอนาคตของ ‘วิชาที่ว่าด้วยการบริหารห้องสมุด’ ซึ่งเป็นนิยามของ ‘บรรณารักษศาสตร์’ จะเป็นอย่างไร หรือบรรณารักษศาสตร์กำลังตกระกำลำบากและจะหายไปไม่ต่างกัน

ร่วมหาคำตอบผ่านบทสนทนาจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์เลิศชัย วาสนานิกรกุลชัย หัวหน้าภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ นฤมล บุญญานิตย์ บรรณารักษ์ชำนาญการประจำศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อตอบคำถามว่า

ในวันที่โลกของความรู้กำลังแปรเปลี่ยน ศาสตร์และวิชาชีพจะ ‘รอด’ หรือไม่ หรือค่อยๆ ตายลงไปตามโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

 

เมื่อโลกของความรู้เปลี่ยนไป ศาสตร์ของบรรณารักษ์ต้องเปลี่ยนแปลง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์เลิศชัย วาสนานิกรกุลชัย

 


 

สำหรับคุณ นิยามของ ‘บรรณารักษศาสตร์’ คืออะไร

บรรณารักษศาสตร์คือศาสตร์ที่ศึกษาเพื่อจัดการและเรียบเรียงข้อมูลที่กระจัดกระจายให้เป็นระบบ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นข้อมูลให้กับผู้ใช้ได้ง่ายและทันท่วงที เพียงแต่สมัยก่อนข้อมูลต่างๆ มักถูกรวมอยู่ในห้องสมุดและหอจดหมายเหตุ ดังนั้นสถานที่ทำงานหลักสำหรับบัณฑิตสาขาบรรณารักษศาสตร์คือห้องสมุด

 

หลายคนมองว่า ‘บรรณารักษศาสตร์’ ผลิตบุคลากรเพื่อเป็น ‘บรรณารักษ์’ ในห้องสมุด

หากภาควิชาตั้งโจทย์เริ่มต้นว่า นักศึกษาบรรณารักษศาสตร์ต้องไปทำงานในห้องสมุด หรือนักศึกษาต้องจบไปเป็นบรรณารักษ์ทุกคน มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ถ้าเราเชื่อเช่นนั้น ไม่ว่าสาขาวิชาไหนก็ไม่รอดเหมือนกันหมด  ยกตัวอย่างสาขาภาพยนตร์ ก็ไม่ได้ตั้งโจทย์ว่านักศึกษาทุกคนต้องเป็นผู้กำกับหรือเรียนเพื่อสร้างภาพยนตร์เท่านั้น เพียงแต่ภาพยนตร์เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของงานภาพเคลื่อนไหวที่สาขาภาพยนตร์สนใจ เขาอาจจะนำความรู้ของภาพยนตร์ไปทำแอนิเมชัน หรืองานมัลติมีเดียอื่นๆ ก็ได้

บรรณารักษศาสตร์ก็เช่นกัน หนังสือเป็นเพียงหนึ่งรูปแบบของเอกสารและองค์ความรู้ท่ามกลางรูปแบบของเอกสารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อภาพเคลื่อนไหว จดหมายเหตุ หรือข้อมูลดิจิทัล

สื่อแต่ละรูปแบบของสื่อย่อมมีวิธีการจัดการความรู้ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าบรรณารักษ์กำลังจะให้บริการอะไร และลักษณะข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการเป็นแบบไหน

ยกตัวอย่าง การจัดการข้อมูลหนังสือ บรรณารักษ์ใช้วิธีการจำกัดหัวเรื่อง และให้ผู้ใช้ค้นหาผ่านคำค้น วิธีดังกล่าวไม่สามารถใช้วิธีการจัดการข้อมูลเช่นนี้ไปจัดการกับเอกสารจดหมายเหตุได้ เนื่องจากเป็นเอกสารที่มีปริมาณเยอะจนไม่สามารถค้นคำจากเอกสารแต่ละฉบับได้ สำหรับจดหมายเหตุจึงนิยมจัดเรียงตามหน่วยงานที่สร้างเอกสารขึ้นมาและค้นหาเป็นคอลเลกชันแทน

เมื่อเราพิจารณาบทบาทของบรรณารักษ์ เราจะพบว่าบรรณารักษ์สามารถทำงานได้ในองค์กรทุกประเภท เพราะไม่มีองค์กรใดที่ปราศจากเอกสารให้จัดการและเรียบเรียง

 

นักศึกษาที่จบจากภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ทำงานอะไรกันบ้าง

แก่นของบรรณารักษศาสตร์คือการจัดการข้อมูล เพราะฉะนั้นไม่ว่าที่ไหนย่อมมีข้อมูลให้พวกเราจัดการทั้งสิ้น ทำให้นักศึกษาที่จบไปจากภาควิชาบรรณารักษศาสตร์สามารถทำงานได้หลายด้าน ทั้งข้าราชการ เลขานุการ หรือแม้แต่เป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุด

 

บรรณารักษศาสตร์ยังเป็นศาสตร์ที่จำเป็นในรั้วมหาวิทยาลัยอยู่หรือไม่

บรรณารักษศาสตร์ไม่ได้เป็นหลักสูตรที่จำเป็นในรั้วมหาวิทยาลัย แต่บรรณารักษศาสตร์เป็นทักษะที่จำเป็นกับทุกๆ คนต่างหาก

พื้นฐานของบรรณารักษศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่เป็นเหตุเป็นผลและเข้าใจง่าย มนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ เนื่องจากทุกคนย่อมมีบางสิ่งที่ต้องการเก็บและบางอย่างที่ต้องการจำ ย่อมเกิดคำถามว่าเราจะรักษาข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างไร บางคนอาจเก็บมันในรูปแบบของหนังสือ วัตถุ ภาพถ่าย ภาพวาด รูปแบบการเก็บรักษาย่อมแตกต่างกัน

ดังนั้น บรรณารักษศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่จำเป็นต่อทุกๆ คน ถ้าทุกคนเรียนรู้ศาสตร์นี้ ความทรงจำและความรู้ในโลกก็จะไม่สูญหายไปอย่างง่ายๆ ซึ่งแต่ละคนจะเรียนรู้วิธีจัดการเอกสารนอกรั้วมหาวิทยาลัยได้เอง ผ่านประสบการณ์หรือการลองผิดลองถูก เพียงแต่ในรั้วมหาวิทยาลัยนักศึกษาจะเรียนรู้แนวปฏิบัติมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งวิธีการจัดการเอกสารเฉพาะทางที่ถูกต้องเหมาะสม

 

“แก่นของบรรณารักษศาสตร์ คือการจัดการข้อมูล เพราะฉะนั้นไม่ว่าที่ไหนย่อมมีข้อมูลให้พวกเราจัดการทั้งสิ้น”

ในยุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการจัดการข้อมูล ภาควิชาต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรอย่างไรบ้าง

เปลี่ยนไปมาก เห็นได้จากชื่อสาขาวิชาที่ปัจจุบันภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ใช้ชื่อสาขาวิชาว่า ‘สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์’ จากเดิมที่มีเพียง ‘บรรณารักษศาสตร์’

หลักสูตรเดิมนั้นเน้นสอนทักษะการจัดการหนังสือ ทักษะการวิเคราะห์ทรัพยากร งานบริการ งานส่งเสริมการอ่าน ซึ่งทั้งหมดเป็นทักษะพื้นฐานของงานในห้องสมุด ต่อมาภาควิชาก็มองว่าเป็นทักษะที่เฉพาะเจาะจงมากเกินไป ถ้านักศึกษาไม่รู้วิธีการใช้งานเทคโนโลยีและรู้เฉพาะเพียงทักษะงานบรรณารักษ์ อาจจะทำให้นักศึกษาหางานได้ยากขึ้น

ถ้าเกิดเราทำอย่างนี้ต่อไป อย่างไรก็ไม่รอด หลักสูตรก็ต้องปรับ โดยเพิ่มเติมคำว่า ‘สารสนเทศศาสตร์’ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เนื่องจากทักษะด้านเทคโนโลยีจะเป็นทักษะพื้นฐานที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อการทำงานด้านบรรณารักษศาสตร์ได้ นักศึกษาต้องเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นการใช้โปรแกรมพื้นฐาน ทำความสะอาดข้อมูล (data cleansing)  หรือแม้แต่การทำกราฟิก

 

นอกจากหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลง ในฐานะผู้สอนต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ผู้สอนก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ผมเองก็ต้องไปอบรมด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง AI หรือทักษะการเขียนโปรแกรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนุกและน่าสนใจอย่างมาก เพราะทำให้รู้ว่าโลกของการจัดระเบียบของข้อมูลนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร

ยกตัวอย่าง การค้นหาใช้ตรรกะแบบบูล (boolean data type) นั้นค่อนข้างล้าสมัยไปแล้ว แต่ปัจจุบันผู้ใช้สามารถสืบค้นจากความสัมพันธ์ที่มีเชิงความหมาย ผู้สอนก็ต้องเรียนรู้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีองค์ประกอบการทำงานอย่างไร

นอกจากนี้  ผู้สอนก็ต้องปรับตัวให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองตามความสนใจได้

 

แม้จะปรับหลักสูตรเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลได้แล้ว แต่ในวันที่เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็ว บรรณารักษศาสตร์สามารถก้าวตามเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ทันหรือไม่

ผลลัพธ์ที่บรรณารักษศาสตร์ต้องการคือ การจัดการข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ทันเวลาที่ต้องการ ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าไปแค่ไหน ยิ่งทำให้บรรณารักษ์สามารถประมวลผลความรู้ได้ดีและรวดเร็วมากขึ้น

บรรณารักษ์เปรียบเหมือนวาทยกร (conductor) ที่ควบคุมและกำกับเครื่องดนตรีทั้งหมดของวงเพื่อบรรลุบทเพลงต่างๆ ได้ บรรณารักษ์ก็เช่นกันที่มีหน้าที่ควบคุมและใช้งานเทคโนโลยีที่มีเพื่อนำความรู้ให้แก่ผู้ใช้

ดังนั้น บรรณารักษศาสตร์คงก้าวทันเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องหรือสามารถประยุกต์ใช้กับงานบรรณรักษ์ แต่คงไม่ทันเทคโนโลยีล่าสุดเพราะต้องศึกษาก่อนและหาวิธีใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนำมาผนวกในหลักสูตร

 

ในมุมมองของผู้สอน ความแตกต่างระหว่างการจัดเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิม กับการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลมีความแตกต่างอย่างไร

ก่อนหน้านี้ข้อมูลถูกบันทึกในระบบแอนะล็อก หรือ textual data ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ แผนที่ ก้อนหิน ศิลาจารึก แต่ปัจจุบันข้อมูลเหล่านั้นได้กลายเป็นข้อมูลแบบดิจิทัลหรือ graphical data  ที่บรรจุอยู่ในรูปแบบของไบนารี

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าข้อมูลจะถูกจัดเก็บในรูปแบบใดก็ยังเป็นข้อมูลเหมือนเดิม เพียงแต่วิธีการจัดการข้อมูล และวิธีการประมวลผลข้อมูลแตกต่างออกไป เพราะเอกสารดิจิทัลเปราะบางมากกว่าข้อมูลแบบดั้งเดิม เช่น หากคุณใช้กระดาษทรายไปถูศิลาจารึก ข้อความบนศิลาจารึกก็ไม่ได้หายไปง่ายๆ แต่หากเป็นข้อมูลดิจิทัลเพียงหายไป 1 บิต หรือบิตสลับกัน คุณก็ไม่สามารถเปิดไฟล์ได้แล้ว

ความเปราะบางของข้อมูลดิจิทัลก็จะกลายเป็นโจทย์ใหม่ๆ ของวงการบรรณารักษศาสตร์ต่อไปว่า เราจะจัดการกับความเปราะบางของข้อมูลเช่นนี้อย่างไร

 

ในวันที่ข้อมูลถูกบรรจุในรูปแบบดิจิทัลที่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น บรรณารักษศาสตร์ยังจำเป็นหรือไม่

แม้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลผ่าน search engine แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน เนื่องจากบางครั้ง search engine ก็ไม่เข้าใจความหมายของคำและดูเฉพาะตัวอักษรได้ทั้งหมด เช่น ผมเคยค้นหาประโยคที่มีคำว่า ‘ในการ’ อยู่ สิ่งที่ผมได้กลับมาคือ รูปภาพของ ‘นก’ เพราะมีตัวอักษร น.หนู และ ก.ไก่ อยู่ในคำนั้น

แม้การค้นหาข้อมูลในโลกดิจิทัลทำให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลได้ดีมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่นั่นหมายความว่าการค้นหาในแต่ละครั้งมีองค์ความรู้ที่ตกหล่นไปถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของบรรณารักษศาสตร์โดยเข้ามาเติมเต็มส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ที่หายไป ผ่านการจัดเก็บและเรียบเรียงข้อมูลเพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลที่ตรงความต้องการมากที่สุด

นอกจากนี้ แม้จะมีระบบในการค้นหาอยู่แล้ว แต่เราต้องไม่ลืมว่าความต้องการหรือความคาดหวังของผู้ใช้มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นบรรณารักษ์ยุคใหม่จึงยังจำเป็นเพื่อปรับปรุงและออกแบบระบบใหม่เพื่อให้บริการได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ในต่างประเทศมีโมเดลการจัดการข้อมูลอะไรที่น่าสนใจหรือไม่

โมเดลหนึ่งที่น่าสนใจในวงการบรรณารักษศาสตร์ในต่างประเทศคือ การเริ่มใช้ ‘BIBFRAME’ เข้ามาค้นหาข้อมูลในห้องสมุด

BIBFRAME คือ ช่องทางใหม่ในการค้นหาหนังสือ แต่ก่อนเราจะบันทึกข้อมูลหนังสือแบบ metadata เป็นตาราง 2 คอลัมน์ โดยคอลัมน์ซ้ายจะบรรจุหน่วยของข้อมูล ส่วนอีกคอลัมน์คือ value ของข้อมูลนั้นๆ เช่น ชื่อผู้แต่ง-โบตั๋น เป็นต้น

เมื่อห้องสมุดหลายแห่งเปลี่ยนจากการค้นหาหนังสือผ่านระบบ metadata ไปสู่การค้นหาผ่าน BIBFRAME ซึ่งเป็นการจัดเก็บแบบ linked open data โดยจะมองหน่วยต่างๆ เป็น node แต่ละ node ก็จะเชื่อมโยงกับ node อื่นๆ เช่น โบตั๋นเป็นนักเขียนหนังสือเรื่องนี้ แต่โบตั๋นที่เป็นนามปากกาเขาก็มีชื่อจริง เห็นได้ว่าข้อมูลจะถูกร้อยเรียงและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น

การจัดเก็บข้อมูลแบบนี้จะทลายกำแพงการสืบค้นหลายๆ อย่าง หนึ่งในข้อดีคือการสืบค้นข้ามหน่วยงาน เช่น หอจดหมายเหตุอาจมีข้อมูลเกี่ยวกับโบตั๋นเหมือนกัน หากในอดีตถ้าคุณเอาไปวิธีการค้นหาจากหน่วยงานหนึ่งไปค้นหาในอีกหน่วยงานที่อาจจะมีรูปแบบการจัดเก็บแตกต่างกันไป เราก็จะไม่สามารถสืบค้นข้อมูลได้ แต่ถ้าเราจัดเก็บข้อมูลแบบ linked open data ผู้ใช้ก็สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงข้อมูลได้

 

ในฐานะผู้สอน อะไรคือเป้าหมายของการเรียนรู้ด้านบรรณารักษศาสตร์

ภาควิชาต้องออกแบบหลักสูตรเพื่อผลิตนักศึกษาที่มีทั้งทักษะบรรณารักษศาสตร์ แต่ก็นักศึกษาต้องมีความยืดหยุ่นในตนเอง

ทักษะความยืดหยุ่นในตนเองเป็นทักษะสำคัญอย่างมาก เพราะแม้แต่การทำงานในห้องสมุดก็มีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ

ห้องสมุดในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างยิ่งเพราะไม่ใช่แค่สถานที่สะสมหนังสือ แต่ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่ความรู้ พื้นที่ครอบครัว พื้นที่กิจกรรมที่รอการจัดการพื้นที่เพื่อเชื้อชวนผู้คนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น ทำให้นักศึกษาต้องมีทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยี

ผมคาดหวังให้นักศึกษาที่จบไปสามารถทำให้ห้องสมุดที่เขาทำงานเป็นห้องสมุดชั้นนำในด้านความรู้เฉพาะทาง เช่น ห้องสมุดเพื่อความคิดสร้างสรรค์ หรือห้องสมุดของชุมชน เป็นต้น

 

“การจัดการข้อมูลเป็นทักษะพื้นฐานของมนุษย์
แม้จะไม่มีชื่อ ‘บรรณารักษศาสตร์’ แต่แก่นความรู้ในการจัดการข้อมูลก็จะเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์อยู่ดี”

หากโลกนี้ไม่มีบรรณารักษศาสตร์ หน้าตาของโลกที่ข้อมูลไม่ถูกจัดการจะเป็นอย่างไร

หากโลกนี้ไม่มีบรรณารักษ์ ข้อมูลและองค์ความรู้จะไม่ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ การค้นหาข้อมูลก็จะไม่สะดวกรวดเร็วเช่นนี้ ไม่ใช่แค่ข้อมูลในแอนะล็อก แต่รวมถึงข้อมูลดิจิทัลด้วย

อาทิ Google จัดทำข้อมูลดัชนี (index) เพื่อให้ข้อมูลดิจิทัลถูกจัดเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระบบได้อย่างไร ในความจริงแล้วการจัดทำข้อมูลดัชนีมาจากทักษะสำคัญของบรรณารักษศาสตร์ นั่นคือการกำหนดคำค้นของบรรณารักษศาสตร์ ถ้าไม่มีทักษะพื้นฐานจากบรรณารักษศาสตร์ แม้แต่ข้อมูลในโลกดิจิทัลก็จะไม่เป็นระบบ

อีกกรณีหนึ่งอย่าง Microsoft words แต่ก่อนพอเป็นเอกสารดิจิทัล เวลามีใครมาแก้ไขเอกสารก็จะไม่มีร่องรอยการแก้ไข ซึ่งทำให้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเอกสารที่เราเห็นเป็นเอกสารจริงหรือไม่ แต่ปัจจุบันก็มีการบันทึกแล้วว่า เอกสารที่ถูกสร้างขึ้นใครเป็นผู้สร้าง มีประวัติการแก้ไขอย่างไร ทุกอย่างถูกบันทึกเป็นหลักฐานของเอกสารทั้งสิ้น นั่นก็มาจากการมองว่า เอกสารคือหลักฐานซึ่งเป็นแนวคิดของการทำงานจดหมายเหตุของนักบรรณารักษศาสตร์เช่นกัน

หากวันนี้ไม่มีบรรณารักษศาสตร์ขึ้นมา แต่เราก็น่าจะมีองค์ความรู้หรือเครื่องมือบางอย่างเพื่อใช้จัดการข้อมูลที่กระจัดกระจายให้เป็นระบบและหมวดหมู่อยู่ดี เพราะการจัดการข้อมูลเป็นทักษะพื้นฐานของมนุษย์

แม้จะไม่มีชื่อ ‘บรรณารักษศาสตร์’ แต่แก่นความรู้ในการจัดการข้อมูลก็จะเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์อยู่ดี

 

จากที่พูดคุยราวกับว่าบรรณารักษศาสตร์จะไม่มีวันตาย

ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ไหนก็ตาม หากมีคนต้องการมันและใช้มัน ศาสตร์นั้นก็ไม่ตายหรอก ผมมักจะเปรียบเทียบเหมือนจักรยานที่ต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเรื่อยๆ มันก็จะไม่ล้ม เพราะบรรณารักษศาสตร์มีเรื่องราวเข้ามาท้าทายอยู่เสมอ

วันไหนที่จักรยานคันนี้หยุดเคลื่อนที่ไปข้างหน้า จักรยานก็จะล้มแน่นอน ดังนั้นตราบใดที่เรายังต้องจัดการเอกสาร จัดการความรู้ มีการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ บรรณารักษศาสตร์ก็จะไม่มีวันตายและจำเป็นต่อสังคมมนุษย์เสมอ

 

ในวันที่บรรณารักษศาสตร์ไม่มีวันตาย วิชาชีพ ‘บรรณารักษ์’ ยังรอดหรือไม่? : นฤมล บุญญานิตย์


“เราทำงานที่ห้องสมุดแห่งนี้มาเกือบ 37 ปีแล้ว ตั้งแต่ห้องสมุดยังใช้โทรศัพท์แบบหมุนอยู่เลย” นฤมล บุญญานิตย์ เล่าให้เราฟังด้วยสีหน้าและแววตาที่เปื้อนรอยยิ้ม พร้อมกับวางแฟ้มจำนวนมากที่รวบรวมกฤตภาค (clipping) ที่เธอเป็นคนรวบรวมไว้ตรงหน้า

ปัจจุบันนฤมล บุญญานิตย์ หรือ เล็ก เป็นบรรณารักษ์ชำนาญการประจำศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นที่ทำงานที่แรกและที่เดียวของเธอ

หากเปรียบชีวิตการทำงานในฐานะบรรณารักษ์ของนฤมลเป็นเหมือนหนังสือหนึ่งเล่ม หนังสือเล่มนี้กำลังมาถึงบทสุดท้ายแล้ว เพราะอีก 6 เดือนข้างหน้า เธอกำลังก้าวย่างเข้าสู่วัย 60 ปีย่างกรายใกล้การเป็นข้าราชการเกษียณเต็มตัว

37 ปีนับเป็นระยะเวลาการทำงานที่ยาวนานของเธอในฐานะบรรณารักษ์ ณ ห้องสมุดแห่งนี้

นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการสนทนาเกี่ยวกับวิชาชีพ ‘บรรณารักษ์’ ที่เธอทำมาครึ่งค่อนชีวิตว่ากำลังจะตายเหมือนที่ใครหลายคนสงสัยหรือไม่ ห้องสมุดที่เป็นเหมือนสถานที่ทำงานหลักและสถานที่ทำงานเดียวของเธอนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และอะไรคือความท้าทายใหม่ๆ สำหรับบรรณารักษ์รุ่นหลังที่กำลังเผชิญผ่านมุมมองของบรรณารักษ์ชำนาญการคนนี้

ในมุมมองของนฤมล อาชีพบรรณารักษ์หน้าที่สำคัญคือ การบริหารจัดการทรัพยากรทั้งหมดในห้องสมุดอย่างเป็นระบบ เพื่อจัดบริการให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเทคโนโลยีเฟื่องฟู การเข้าถึงได้ในทุกที่ทุกเวลาเป็นความท้าทายยิ่งของบรรณารักษ์ยุคใหม่

หลายครั้งเมื่อพูดถึงอาชีพ ‘บรรณารักษ์’ ผู้คนมักติดภาพบรรณารักษ์ในโรงเรียนที่ทำหน้าที่ทุกอย่างในห้องสมุด ตั้งแต่การจัดการหนังสือ การบริหารห้องสมุด จนถึงการดูแลความเรียบร้อยในห้องสมุด ทั้งที่บรรณารักษ์ในโรงเรียนอาจไม่ได้รู้และเข้าใจบรรณารักษศาสตร์เสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ได้รับมอบหมายให้ดูแลห้องสมุด

“บรรณารักษ์ที่ทำงานเบื้องหลังของห้องสมุดขนาดใหญ่อย่างมหาวิทยาลัย เช่น บรรณารักษ์วิเคราะห์หมวดหมู่ (Cataloger) จะค่อนข้างสัมพันธ์กับสังคมน้อยมาก ขณะที่หลายคนยังติดภาพจำกับห้องสมุดโรงเรียน ที่บรรณารักษ์ต้องทำทุกอย่าง แต่ในความจริงบรรณารักษ์วิเคราะห์ฯ (Cataloger) มีหน้าที่เบื้องหลังเพื่อจัดการทรัพยากรต่างๆ ให้ผู้ใช้เข้าถึงทรัพยากรได้ง่าย เช่น การกำหนดหัวเรื่องหนังสือ เป็นต้น”

อาจกล่าวได้ว่างานที่บรรณารักษ์อาชีพต้องทำล้วนแต่มีความหมายต่อการเข้าถึงข้อมูลในห้องสมุดทั้งสิ้น นฤมลเสริมว่าในอดีตการให้หัวเรื่องที่สะท้อนถึงเนื้อหาข้างในหนังสือเล่มนั้นๆ บรรณารักษ์ต้องนึกคำเพื่อกำหนดหัวเรื่องที่จะเป็นคำค้นด้วยตนเองโดยอิงตามมาตรฐานของคำที่ถูกกำหนดไว้ในคู่มือการให้หัวเรื่องเพื่อจัดทำรายการทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ แต่ปัจจุบันการทำงานด้วยระบบออนไลน์ ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหาคำเพื่อกำหนดหัวเรื่องได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้การกำหนดคำค้นก็ยังจำเป็นต้องมีความครอบคลุมและหลากหลายให้มากที่สุด เช่น หัวเรื่องประวัติศาสตร์ของไทยสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 หากจะกำหนดเพียงประวัติศาตร์ไทย ก็จะไม่สามารถบอกช่วงเวลาได้ การกำหนดหัวเรื่องจึงมีความจำเป็นในการต้องระบุช่วงเวลาขณะเดียวกันหัวเรื่องที่เปิดกว้างก็ยังช่วยผู้ใช้ให้เข้าถึงทรัพยากรที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน แต่มีความหลากหลายด้วยเช่นกัน

“สมัยก่อนการทำงานบรรณารักษ์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นอกจากต้องกำหนดหมวดหมู่และกำหนดหัวเรื่องแล้ว ทุกสัญลักษณ์ที่เราเขียนลงไปในบัตรรายการ ไม่ว่าจะเป็นขีด จุด หรือแม้แต่การเว้นวรรค ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันเมื่องานห้องสมุดเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล การจะต้องรู้และต้องจำว่าเครื่องหมายไหน อยู่ตำแหน่งไหน และมีความหมายว่าอะไร ก็แทบจะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะระบบจัดการให้ตามแต่ละเขตข้อมูลจนเกือบจะหมดแล้ว

ไม่ว่าจะโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่วิชาชีพบรรณารักษ์ยังจำเป็น

เรื่องเล่าเกี่ยวกับการทำงานในอดีตของนฤมล สะท้อนให้เห็นว่าวันที่เทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น วิธีคิดและวิธีการทำงานของนฤมลในฐานะบรรณารักษ์ของห้องสมุดแห่งนี้ก็ต้องเปลี่ยนไปตามไปด้วย จนเกิดความสงสัยว่าวิชาชีพบรรณารักษ์จะอยู่รอดหรือไม่ในวันที่เทคโนโลยีเข้ามาเช่นนี้

เธอตอบว่า “พวกเราไม่สามารถตกยุคได้เลย และเราต้องเติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยีให้ได้ อาชีพเราต้องเก่งเหมือนเป็ด ไม่จำเป็นต้องเก่งเทคโนโลยีครบทุกด้าน แต่ต้องรู้ว่าจะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างไร”

“ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน บรรณารักษศาสตร์ยังจำเป็น เพียงแต่ต้องปรับตัวและต้องประยุกต์ตามให้ทันวิวัฒนาการแห่งยุคสมัย

“ไม่ว่าอย่างไรก็ตามอาชีพบรรณารักษ์ในห้องสมุดยังต้องมี แม้ในอนาคตบรรณารักษ์อาจไม่ต้องทำงานแค็ตตาล็อกหนังสือเหมือนเดิม หรือมีหน้าที่เพียงกรอกข้อมูลลงระบบคอมพิวเตอร์ แต่บรรณารักษ์ยังคงต้องจัดการองค์ความรู้ ให้คำแนะนำและช่วยเหลือผู้ใช้ เทคโนโลยีเป็นเพียงตัวช่วยในการทำงานเท่านั้น”

จากการสนทนาทำให้เห็นว่า แม้โปรแกรมที่ใช้จะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่แก่นการทำงานของบรรณารักษ์ยังคงเหมือนเดิม สอดคล้องกับคำตอบของผู้ช่วยศาสตราจารย์เลิศชัย วาสนานิกรกุลชัยว่า เทคโนโลยีเป็นเพียงรูปแบบของการเก็บข้อมูล แต่องค์ความรู้ด้านบรรณารักษศาสตร์ก็ยังคงนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกสื่อ

ทั้งนี้ เธอเปรียบเทียบการทำงานของบรรณารักษ์ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นเหมือนพ่อครัวอาหารไทยที่ต้องไปทำอาหารไทยในต่างแดนว่า แม้อุปกรณ์หรือวัตถุดิบจะเปลี่ยนไป แต่หลักคิดในการทำอาหารของพ่อครัวยังคงเหมือนเดิม เพื่อปรุงให้รสชาติของอาหารใกล้เคียงเดิมมากที่สุด หมายความว่า ผู้รับประทานจะต้องสัมผัสได้ในรสชาติความเป็นอาหารไทย เช่นเดียวกับการจัดการข้อมูลทรัพยากรห้องสมุด ถึงแม้วิธีการหรือรูปแบบการจัดการจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผู้ใช้ก็ยังคงเข้าถึงข้อมูลนั้น ๆ ดังเดิม และอาจได้รับอย่างหลากหลายตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้นด้วย

“ในฐานะคนทำงานในห้องสมุด เราต้องเข้าใจยุคสมัยนี้ด้วยว่าผู้ใช้วิ่งไปหาข้อมูลในกูเกิลก่อนห้องสมุดอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ที่ไม่มีคำตอบในกูเกิล เขาก็ต้องวิ่งมาหาห้องสมุดของเรา (หัวเราะ)

“บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีให้เป็น เพราะในอนาคตผู้ใช้อาจจะไม่เดินเข้าห้องสมุดแล้ว แต่เราต้องป้อนความรู้ให้เขาถึงหน้าประตูบ้าน ต้องทำงานเชิงรุก ทำอย่างไรให้ทรัพยากร ให้สารสนเทศที่เรามีอยู่เข้าไปถึงผู้อ่าน เพราะถ้าเขาค้นหาทุกอย่างได้บนกูเกิลแล้วเขาก็ไม่มีวันจะเข้ามาหาความรู้ในห้องสมุดหรอก พวกเราต้องใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ยูทูบ และติ๊กต็อก หรือสื่ออื่นๆ ที่จะมีในอนาคตโดยนำมาปรับประยุกต์ใช้ เพื่อนำเสนอสิ่งที่ห้องสมุดมีและดีกว่าออกมาให้ผู้คนเห็นและเข้าถึงได้ง่าย”

ไม่ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เทคโนโลยีจะก้าวหน้าแค่ไหน ห้องสมุดและการอ่านก็ยังสำคัญอย่างมากต่อสังคม เพราะการอ่านนอกจากจะได้ความรู้ ความสนุก หรือความเพลิดเพลินแล้วนั้น การอ่านยังสามารถจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนและสังคมได้อีกด้วย

“ตอนเราเลือกเรียนบรรณารักษศาสตร์ เราก็แทบไม่รู้จักสาขาวิชานี้เลยด้วยซ้ำ แต่เหตุผลที่ตัดสินใจเข้าเรียนเพราะ เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือและเข้าห้องสมุดมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เราจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงของห้องสมุดตลอดมา”

เมื่อมองผ่านสายตาบรรรณารักษ์ที่ทำงานมายาวนานกว่า 37 ปีคนนี้ เธอกำลังมองว่า สังคมไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการอ่าน ทั้งที่เป็นเหมือนทักษะพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์และเป็นต้นธารในการเรียนรู้และการพัฒนา เมื่อพื้นฐานการอ่านยังไม่ได้ถูกปลูกฝัง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมผู้คนถึงไม่รู้สึกผูกพันต่อการเข้าไปใช้งานห้องสมุด และห้องสมุดก็ดูออกห่างจากชีวิตผู้คนมากขนาดนี้

หากวันนี้สังคมไทยให้ความสำคัญกับ ‘การอ่าน’ และ ‘ห้องสมุด’ มากกว่านี้ อาจไม่เกิดคำถามเสียด้วยซ้ำว่า ‘บรรณารักษศาสตร์กำลังจะตายหรือไม่’

 

What’s in your bag?

มีอะไรอยู่ในกระเป๋าของบรรณารักษ์ อะไรคือเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ด้านบรรณารักษศาสตร์

‘อินเทอร์เน็ต’

ถ้าเราสามารถเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ เราก็สามารถทำงานกับข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลได้ ถ้าหากเราไม่มีอินเทอร์เน็ต เราก็ไม่มีทางจะเข้าถึงโลกของความรู้ได้เลย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เลิศชัย วาสนานิกรกุลชัย

‘หนังสือ’

“บรรณารักษ์ต้องอ่านให้มาก รู้ให้มาก ค่อยๆ สะสมทรัพยากรความรู้ในตัวเองให้มากที่สุด เพราะเวลาเราให้บริการผู้ใช้ หากเราไม่รู้เราก็จะช่วยคนอื่นไม่ได้เลย”

นฤมล บุญญานิตย์

เรื่อง: ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

กองบรรณาธิการ The101.World - สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากภาคการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจภาพยนตร์ไทย ญี่ปุ่น และการเมืองไทยร่วมสมัย ใฝ่ฝันอยากเห็นและทำหลายอย่างในชีวิต... ความจริงแล้วคงต้องเรียกว่าเป็นคนช่างฝันในรัฐที่ไม่อนุญาตให้ฝันต่างหาก

ภาพถ่าย: นิติพงษ์ การดี

จบนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ ชอบเล่าเรื่องด้วยภาพแต่ไม่จำกัดเครื่องมือการสื่อสารเพียงแค่ภาพเคลื่อนไหว

ครีเอทีฟ: ธนกร เนตรจอมไพร

จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ ลาดกระบัง เป็นครีเอทีฟที่ใช้หัวคิดนิดหน่อย แต่อร่อยเฉย…เอาจริงๆ ใช้หัวสมองคิดนิดหน่อย แต่ที่ใช้บ่อยคือหัวใจ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save