fbpx

เมื่อโครงสร้างประเทศไทยกำลังทำลายการเรียนการสอนศิลปะ​

วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร

โลกศิลปะเต็มไปด้วยคำถาม

ด้วยความท้าทาย หลากหลาย ทั้งจากคนทำงานและผู้สังเกตการณ์ภายนอก ชวนให้ผู้คนถกเถียงโต้แย้งกันไม่สิ้นสุด ตั้งแต่คุณค่า ความสูงส่ง เทคนิคการทำงาน ไปจนถึงอะไรที่ ‘เป็น’ และ ‘ไม่เป็น’ ศิลปะ และใครกันแน่ที่เป็นคนกำหนดคุณค่าเหล่านั้น 

ยิ่งในโลกที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน และสังคมที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ศิลปะก็ถูกท้าทายด้วยหลายคำถามสำคัญของยุคสมัย เช่นว่า บทบาทของศิลปะคืออะไรในวิกฤตทางการเมือง? ทำไมจำเป็นต้องสนับสนุนให้ศิลปะเติบโตท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน? ในโลกที่เทคโนโลยีรุกคืบ ศิลปะจะอยู่รอดหรือ? 

ทว่า ศิลปะก็ยังยืนร่วมกับคำถามเหล่านั้น ผ่านร้อนผ่านหนาวนับครั้งไม่ถ้วน อยู่ในจุดรุ่งเรืองสุดขีด มีอำนาจกำหนดทิศทางผู้คน ถูกแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางสังคม สื่อสารรสนิยมของผู้เสพ ไปจนถึงร่วมตั้งคำถามกับความเป็นไปของโลกด้วย

เช่นเดียวกับในการเรียน-การสอนศิลปะ  คำถามมากมายก็ปรากฏขึ้นในห้องเรียน ซึ่งตัวผู้เรียนและผู้สอนต่างก็แลกเปลี่ยนถกเถียงความเป็นศิลปะ มากไปกว่านั้น คำถามต่อการเรียนศิลปะยังเกิดขึ้นนอกห้องเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำถามที่ว่า ศาสตร์แห่งศิลปะยังคงจำเป็นหรือไม่ และจะอยู่รอดอย่างไรท่ามกลางโลกที่ไม่หยุดนิ่งและความซับซ้อนของสังคมที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

แต่การจะค้นหาคำตอบเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจโจทย์ที่การเรียนศิลปะต้องเจอ โดยเฉพาะศิลปะไทยร่วมสมัยที่ถูกตั้งคำถามอย่างไม่มีวันสิ้นสุด 

101 ชวน ผศ.วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร อาจารย์ประจำสาขาสื่อผสม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาร่วมไขโจทย์การเรียน-การสอนศิลปะที่ว่าด้วยความเข้าใจตัวเองและสังคม ไปจนถึงปัญหาที่ผู้สอนและผู้เรียนต้องเจอในภาวะ ‘กึ่งพิกลพิการ’ ของโลกศิลปะร่วมสมัยไทย

โดยทั่วไปแล้วการเรียนศิลปะคืออะไร

โดยหลักการ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โลกของเราแต่เดิมต้องมีหลายภาคส่วน แน่นอนว่าหลักๆ คนเราต้องทำงานหาเงิน แต่ว่าบางคนเขาไม่ได้รู้สึกว่าการหาเงินตอบโจทย์ เขาอยากหาตัวเอง ซึ่งวิชาค้นหาตัวเองก็มีหลายอย่าง เช่น ปรัชญา หรืออย่างศิลปะก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะเปิดกว้างให้คนที่อยากหาตัวเองเข้ามาเรียนกัน วิชานี้จึงพยายามทำให้คนเข้าใจตัวเอง แล้วคนก็มาเข้าใจสังคม เพราะถ้าคุณยังไม่เข้าใจตัวเอง คุณก็เข้าใจคนอื่นไม่ได้

ถ้าดูวิชาการเรียนศิลปะในไทยตอนนี้ ก็จะเห็นว่าไม่ได้ต่างจากอดีตมากนัก อาจจะมีการเพิ่มศาสตร์ของวิชาเข้ามา โดยหลักๆ มีวิชาเทคนิคซึ่งเป็นแค่สกิลพื้นฐาน เช่น วาดเส้น เพราะว่าเป็นสกิลที่ต้องมี แล้วก็เรียนเรื่ององค์ประกอบ ความเข้าใจในเรื่องของการจัดการภาพ ถ้าเป็นชั้นปีสูงขึ้นมาหน่อย ก็เรียนพื้นฐานด้านประติมากรรม หรือช่วงหลังๆ ก็มีการการเรียนเรื่องสื่อผสม (mixed media) ด้วย ทั้งเรื่องการตัดต่อ การใช้คอมพิวเตอร์ ใช้ซาวด์ เพอร์ฟอมานซ์ การถ่ายภาพ หรือการใช้วิดีโอ ซึ่งก็เป็นการเรียนแบบรวมๆ กัน สุดท้ายแล้วแต่ว่าคุณจะไปแนวทางไหน

แต่จริงๆ ทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาเอก ก็ทำให้คุณได้พูดคุย ได้ตั้งโจทย์ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ แล้วก็ไปค้นหา ซึ่งเราก็เดินหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยโจทย์ก็มีหลากหลายมาก เพราะศิลปะอยู่ที่ว่าคุณสนใจเรื่องอะไร ฉะนั้นทุกหัวข้อจึงเป็นไปได้หมด ไม่ว่าจะเรื่องตัวเอง สังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง อยู่ที่คุณเลยว่าอยากทำอะไร คุณก็ตั้งโจทย์มา โดยอาจารย์เป็นแค่ผู้ที่ไกด์ให้ หรืออาจจะคอยดูว่าตรงนี้ใช่หรือยัง หรือคอยเช็กลิสต์ให้เฉยๆ ซึ่งต่างจากสาขาวิชาอื่นที่เป็นการตอบโจทย์ โดยอาจารย์สั่งโจทย์ สมมติโจทย์ขึ้นมา ให้เราตอบ

ที่ผ่านมา องค์ความรู้ในการสอนศิลปะเปลี่ยนไปบ้างไหม

ถ้าเป็นศิลปะในไทย เริ่มต้นคือเขาต้องการผลิตช่างป้อนให้กรมศิลป์ฯ (กรมศิลปากร) เพราะเมื่อก่อนเราอิมพอร์ตช่างเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งเริ่มจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ต่อมาก็มีความพยายามดึงให้กลับมาเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อที่จะผลิตคนของตัวเอง โดยอาจารย์ศิลป์เป็นคนเริ่มสร้างขึ้นมาเอง แล้วจากนั้นก็เริ่มมีสถาบันอื่นๆ เกิดขึ้น เช่น วิทยาลัยเพาะช่าง

หลังจากนั้นเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ก็เริ่มเขยิบมาเป็นศิลปะร่วมสมัย ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องดั้งเดิม (traditional) อีกแล้ว แต่มาสนใจเรื่องศิลปะร่วมสมัยทั้งหลายที่เริ่มพยายามพูดคุยกับสังคมมากขึ้น หรือว่ามีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แล้วก็ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ รวมทั้งมีการเปิดสาขาใหม่เพื่อให้ดูเหมือนว่าสอดรับกับตลาดมากขึ้น



วิชานี้ปล่อยให้พวกคุณค้นหา ให้คุณออกไปตามหาสิ่งที่สนใจ โดยอาจารย์แค่เป็นคนไกด์ว่าสิ่งไหนที่เขามองเห็น หรือคอยเช็กให้ว่าสิ่งที่เขาสรุปมาถูกหรือเปล่า ถ้าเขาคิดอย่างนั้น มันจะเหมารวมไปหรือเปล่า หรือว่ามีวิธีคิดอื่นๆ อีก

อาจารย์บอกว่าการเรียนศิลปะสอนให้รู้จักตัวเอง โดยปกติในห้องเรียนคุยเรื่องอะไรกันบ้างเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจตัวเอง

คุยเรื่องที่เขาสนใจ เอางานที่เขาอยากทำมาคุยกัน แล้วก็ให้เขาลองตั้งคำถามกับตัวเอง หรือเวลาคุยกัน อาจารย์ก็จะคอยดูว่าเขาสนใจอะไรกันแน่ แต่มันก็แล้วแต่คนเลยนะ บางคนเขารู้ตัวเองอยู่แล้ว เขาก็เล่าให้ฟังเลยว่าอยากทำอะไร เพราะอะไร แต่บางคนก็ไม่รู้ตัว เราก็จะแนะนำว่า ถ้าอย่างนั้นคุณลองไปวาดสิ่งนั้นมา ลองไปดูสิ่งนั้นมา ลองไปดูสิว่าคุณมีอะไรอยู่ในมือบ้าง อาจารย์ก็จะช่วยสกัดว่า 10 อย่างที่นักศึกษาพูดมาทั้งหมดในนี้ อาจมีการพูดเรื่องนี้ซ้ำอยู่ประมาณ 7 หรือ 8 ครั้ง แล้วก็ค่อยๆ ตั้งคำถามเขาไปว่าทำไมเขาถึงพูดอย่างนี้ซ้ำๆ มันมีอะไรหรือเปล่า เราก็ไม่รู้ว่าเขาสนใจจริงไหมนะ แต่อนุมานจากการที่เขาพูดซ้ำๆ แล้วเราก็บอกเขาว่า อย่างนั้นไปลองทำมาดู เขาก็ลองค้นหา ถ้าไม่ใช่ เขาก็ทิ้ง เปลี่ยนใหม่ ซึ่งโดยหลักต้องเป็นอย่างนั้น เพราะวิชานี้ปล่อยให้พวกคุณค้นหา ให้คุณออกไปตามหาสิ่งที่สนใจ โดยอาจารย์แค่เป็นคนไกด์ว่าสิ่งไหนที่เขามองเห็น หรือคอยเช็กให้ว่าสิ่งที่เขาสรุปมาถูกหรือเปล่า ถ้าเขาคิดอย่างนั้น มันจะเหมารวมไปหรือเปล่า หรือว่ามีวิธีคิดอื่นๆ อีก คุณก็ลองไปดู หรือคุณลองไปเช็กหน่อยว่าที่คุณอ้างประวัติศาสตร์มาถูกหรือเปล่า

ในฐานะผู้สอนศิลปะ ถ้าให้มองภาพรวม คุณคิดว่ามีอะไรที่ทำให้การสอนเปลี่ยนไปไหม

จริงๆ วิชานี้เป็นวิชาที่ค่อนข้างเป็นปัจเจก เราอาจจะตอบแทนอาจารย์คนอื่นๆ ไม่ได้ทั้งหมดว่าใครมีหลักคิดในการสอนอย่างไร แต่คิดว่าพอโลกเปลี่ยน อย่างไรก็ต้องปรับวิธีการสอนกันอยู่แล้ว แต่ก็อยู่ที่ว่าใครจะจัดการแบบไหน เพราะแนวคิดต้องมีการปรับเรื่อยๆ คนเราโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นแนวคิดเดียวอยู่แล้ว 

แต่ถ้าถามโดยส่วนตัว ที่เราต้องคิดเรื่องการสอนมากขึ้น ก็เพราะเราคิดว่าโครงสร้างสังคมไทยกำลังทำลายการสอนศิลปะ เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ได้สนับสนุนการศึกษาร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ทำให้สถาบันต้องนึกถึงการหาลูกค้า แต่ถ้าเป็นหมวดหมู่วิชาอื่นๆ เช่น แพทยศาสตร์ ที่คนสนใจเรียนเยอะ เพราะคนก็รับรู้ว่าตลาดของโลกการรักษาเป็นสิ่งจำเป็น เราต้องการหมอ ฉะนั้นพ่อแม่ก็อยากให้เรียน เพราะจบไปมีงานทำ หมวดหมู่วิชาพวกนี้จึงได้งบเยอะ

แต่พอเป็นการเรียนศิลปะ มันพิสูจน์ยาก จะให้มาอธิบายแบบหมอว่ากินยาพาราเซตามอลแล้วจะแก้ตัวร้อนได้ มันก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ใช่ 1+1 เป็น 2 มันอาจจะเป็นพันก็ได้ ฟังดูอาจจะเพ้อฝัน เหมือนที่คนบอกว่าคนเรียนศิลปะบ้า ไม่มีเหตุผล แต่ที่นี่เปิดให้คนพวกนี้ได้สร้างสรรค์งาน คุณจะทิ้งหลักของคนแบบนี้ในสังคมได้อย่างไร  

ดังนั้น เมื่อรัฐตัดงบในสาขาที่ไม่ได้ถูกมองว่าจำเป็น ก็ต้องยอมรับว่าตลาดแรงงานที่รองรับวิชาชีพนี้มีน้อยมาก ในขณะที่ทุกมหาวิทยาลัยเปิดสอนศิลปะหมด ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเรื่องปกติ เราควรมีแบบนี้ อย่างที่เยอรมนีก็มีทุกจังหวัด ทุกเมือง เพื่อเป็นการกระจายศิลปะในหลายๆ ที่ แต่ของบ้านเรา เมื่อมีการสอนศิลปะแล้ว เขาก็ต้องการจำนวนคนเรียนเยอะเพื่อให้มีงบเพียงพอต่อการสอนได้  จึงมีจำนวนนักศึกษาเยอะมาก แล้วพอต้นทางผลิตมาเยอะ แต่ปลายทางไม่มีรับ มันก็ประหลาด 

ลองคิดภาพว่า ถ้าคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากรต้องการผลิตนักศึกษา 100 กว่าคน ซึ่งคณะนี้มี 5 ชั้นปี แสดงว่าในนั้นมีนักศึกษา 500-600 คน แล้วสถาบันอื่นๆ มีอีกกี่คน แล้วถ้าเอาแต่ละสถาบันมารวมกัน คุณคิดว่าประเทศนี้มีคนเรียนศิลปะทั้งหมดกี่คน ในขณะที่ตลาดเรามีพื้นที่รองรับคนจบศิลปะกี่คน มีแกลเลอรีกี่ที่ แล้วจบออกมา เขาสามารถขายงานได้ไหม นี่ยังไม่รวมถึงว่ารัฐบาลไม่ได้สนับสนุนในส่วนนี้ด้วย แม้จะชอบใช้คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ แต่ก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของมัน เพราะเขาต้องการให้ทุกอย่างทำกำไรเร็ว อยากเห็นงานออกมาแล้วได้กำไรตูมตามเลย



 

ปัญหาการหาคนมาเรียนให้มากขึ้น ส่งผลต่อการสอนอย่างไรบ้าง

เมื่อรัฐตัดงบ มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ คนสอนจะต้องหาคนเรียนให้มากขึ้นเพื่อให้มีงบมากพอ แต่ในวิชาชีพที่ต้องคุยเป็นคนๆ เพราะหนึ่งคนมีหนึ่งอย่างในความสนใจ หนึ่งคนมีหนึ่งปัญหาที่อยากทำ มันก็ยิ่งทำให้กระบวนการทำงานยากขึ้น เพราะมันไม่ใช่วิชาที่ทุกคนมีฟอร์แมตเดียวกัน มันไม่เหมือนการบรรยาย 2 ชั่วโมงให้คนจำนวน 3,000 คน ฟังทีเดียวได้ แต่สายวิชานี้อาจจะสอน 10 คนโดยที่ใช้เวลาทั้งวันก็ไม่รู้ว่าจะพอหรือเปล่า 

แล้วปกติคนสอนศิลปะก็จะต้องสะสมประสบการณ์และความรู้ในงานศิลปะด้วย ที่ต่างประเทศเขาจะให้เวลาอาจารย์ไปทำงานศิลปะ ไปศึกษาดูงาน อ่านหนังสือ หรือทำสิ่งที่สนใจ เพราะการเรียนสาขานี้คือการแชร์ประสบการณ์ ถ้าอาจารย์ไม่มีประสบการณ์ จะแชร์ให้นักศึกษาฟังได้อย่างไร 

แต่ทุกวันนี้ เราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปอยู่กับการประเมิน การทำงานตัวเลขต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการสอน การจัดการหลักสูตรให้ตอบโจทย์ที่รัฐมนตรีต้องการ ตอบโจทย์ที่ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ต้องการ แล้วเขาต้องการตัวเลขจากเราว่าผลิตนักศึกษาได้กี่เปอร์เซ็นต์ ต้องมาบวกลบคูณหารว่าเลขนี้หายไปไหน ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่เรา ทำให้คนสอนไม่รู้จะเอาเวลาไหนไปพัฒนาองค์ความรู้ให้มากขึ้นได้

 

นอกจากเรื่องระบบแล้ว ความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในสังคมส่งผลต่อการสอนไหม

เวลาที่เราพูดถึงเรื่องศิลปะ อาจจะต้องยอมรับว่ามันเป็นวิชาชีพที่กดดันอยู่แล้ว คุณยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร คุณต้องต่อสู้ แล้วไหนจะต้องต่อสู้กับครอบครัว ต่อสู้กับทุกอย่าง อย่าลืมว่าอาชีพนี้ทำอย่างไรก็ไม่รวย ถ้าคุณไม่ได้มีพื้นฐานบ้านรวย 

ทีนี้การวิจารณ์งานในบ้านเราก็ไม่แข็งแรง เพราะสังคมไทยไม่ได้สร้างวิธีคิดและวัฒนธรรมการวิจารณ์ขึ้นมาจริงๆ คนจึงแยกไม่ออกว่าการวิจารณ์งานกับการด่าทอเรื่องส่วนตัวเป็นคนละเรื่องกัน การวิจารณ์งานไม่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว การวิจารณ์งานคือคุณเสนออะไรมา ก็พูดถึงตรงนั้น เช่น สมมติว่าคุณจะทำเรื่องขวดเจลแอลกอฮอล์ แล้วอาจารย์ถามคุณว่ามันจะทำหน้าที่อะไร บางคนอาจจะบอกว่ามันต้องพกพาได้ แต่ว่าถ้าเขาทำเป็นขวดปั๊มอันใหญ่ จะพกได้สะดวกไหม มันเป็นวิธีที่ดีที่สุดไหม ก็ไม่ใช่ ฉะนั้นเราลองมาดู ซึ่งนี่คือการวิจารณ์งาน ไม่ใช่การวิจารณ์เรื่องส่วนตัวของเขา

ตัวอย่างนี้เป็นวิธีที่จับต้องได้นะ แต่นี่เป็นตัวอย่างของการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งศิลปะไม่ได้ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว มันนามธรรมกว่านั้น ฉะนั้น มันเลยยิ่งต้องลงลึกเพื่อต้องกลับไปเช็กว่าคุณคิดอะไรกันแน่ ถ้าคุณอยากพูดถึงเรื่องพ่อแม่ มันมีกี่วิธีที่จะพูด คุณอาจจะรักเขามาก หรือคุณไม่ค่อยได้พูดกับเขา หรือคุณเกลียดเขามาก สมมติถ้าเกลียด ก็ต้องถามว่าเกลียดเพราะอะไร มาจากครอบครัวแตกแยกหรือเปล่า แน่นอนว่าพอมาพูดแบบนี้ มันก็เข้าไปสะกิดปม เพราะว่ากำลังพูดถึงปมในใจล้วนๆ แต่เราไม่ใช่นักจิตวิทยานะ มันก็คนละแบบอีก ฉะนั้น ถ้าบอกให้เป็นรูปธรรมยาก เราก็ต้องพยายามหาทางว่าจะทำอย่างไรให้คุณเข้าไปสู่ปมของคุณได้เร็วที่สุด แล้วแก้ได้เร็วที่สุดผ่านงานศิลปะ

แล้วพอสภาพสังคมเป็นแบบนี้ เราพบว่าวิจารณ์ไม่ได้ เพราะเด็กรุ่นใหม่มีความกดดันขึ้นเยอะ มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูง มีสภาพจิตใจไม่เข้มแข็งพอ บางทีเขาแยกไม่ออกว่าการวิจารณ์งานกับการด่าทอเรื่องส่วนตัวเป็นคนละเรื่องกัน การวิจารณ์งานไม่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว การวิจารณ์งานคือคุณเสนออะไรมา ก็พูดถึงตรงนั้น แต่ด้วยความอ่อนแอบางอย่างของความรู้สึก บางคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าอันนี้คือฉัน ทั้งที่การวิจารณ์แต่ละครั้งไม่ได้เกี่ยวกับตัวตนคนเลย แต่เราโทษเด็กไม่ได้นะ ไม่ใช่ความผิดเขา สังคมเราต่างหากที่ทำให้เขาอ่อนแอ กระบวนการที่เราบ่มเพาะมาทำให้เขาอ่อนแอลง อย่างเราก็เข้าใจที่พ่อแม่ห่วงลูก ระวังลูกมากๆ เพราะเราเข้าใจนะว่าประเทศนี้น่ากลัว แต่บางทีมันก็ส่งผลอีกแบบด้วย คืออาจทำให้เด็กอ่อนแอ เราเลยไม่รู้จะช่วยเขาอย่างไร



แล้วเมื่อเจอโจทย์นี้ อาจารย์จะต้องเปลี่ยนการสอนอย่างไร

เราต้องประนีประนอม แต่ก็ยอมรับว่าการวิจารณ์หรือการบังคับให้เขาค้นหาตัวเองก็เป็นเรื่องยากเข้าไปอีก ตอนหลังอาจารย์เลยไม่อยากวิจารณ์มาก เพราะกลัวว่าจะกระทบเขา 

เราคิดว่าโจทย์ในการสอนของเราตอนนี้คือ ทำอย่างไรที่จะช่วยคนที่มีมุมมองต่างกันได้ เพราะคนรุ่นใหม่ๆ มีกระบวนคิดใหม่ๆ ที่ต่างกัน เราในฐานะอาจารย์ก็ต้องคิดว่าจะเท่าทันหรือจะช่วยเขาได้อย่างไร และช่วยได้มากน้อยแค่ไหน และต้องอย่าลืมว่าคนต่างรุ่นมีมุมมองต่างกัน Gen Z ก็เป็นอีกมุมมอง หนึ่ง อย่างเราที่เป็น Gen X พอเจอ baby boomer ก็ปวดหัว และเขาก็คงปวดหัวกับเราเหมือนกัน เช่นเดียวกัน เด็กรุ่นใหม่ก็ปวดหัวกับเรา เราก็ปวดหัวกับเขา มันมีช่องว่างของวัยอยู่แล้ว มันเลยเป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะต้องตาม ต้องเข้าใจโจทย์คนรุ่นใหม่ ต้องรู้ว่าเราจะทำอย่างไรกับเขาดี 

อันนี้คือหน้าที่ของการสอน แต่นอกเหนือจากนั้น ในเรื่องอื่นๆ เราคิดว่าไม่ใช่หน้าที่

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นบ่อย ต้องหาทางคุยกันอย่างไรระหว่างคนที่อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกัน

มันก็ต้องคุยกันนั่นแหละ เข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ต้องคุยกัน เพราะเป็นเรื่องคนกับคน ไม่ใช่ไปแก้โค้ดกับโปรแกรม ถ้าไม่เข้าใจก็ถาม ถามแล้วจะเข้าใจอยู่ไหม ก็อีกเรื่อง แต่อย่างน้อยเราได้คุยกัน แล้วเดี๋ยวเราค่อยมาคิดว่าจะหาจุดตรงกลางของสิ่งนี้อย่างไร มันต้องคุยกันอยู่แล้ว ไม่มีวิธีอื่น

แต่ถามว่ามันจะขยับได้ยังไง มันก็เกิดจากการที่ทุกคนต้องเปิดรับฟังกัน 

 

ช่วงหลังมีเทคโนโลยีเข้ามาทำงานด้านศิลปะมากขึ้น อย่างการนำ AI เข้ามาทำงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้ส่งผลอะไรต่อการเรียนการสอนหรือวงการบ้างไหม

เราก็เข้าไปเล่นภาพ AI นะ (หัวเราะ) เราคิดว่าเทคโนโลยีกับศิลปะเป็นเพื่อนกันมาเลย เพราะถ้าคุณไปดูประวัติศาสตร์ศิลป์ มันก็คือสื่อ ศิลปะจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เชื่อมกับรูปแบบเดิม (traditional) ก็พยายามทดลองกับสื่อ 

AI เกิดจากคนป้อนข้อมูลเข้าไป แล้วตอนนี้ก็เป็นกระแส แล้วสุดท้ายคนก็จะโหยหากลับมาที่บุคคลอยู่ดี เพราะคนที่มีอำนาจบอกว่ามันคือศิลปะ ก็คือศิลปิน ไม่มีแม่ค้าคนไหนมาสนใจแกลเลอรีแล้วบอกว่า ครกของฉันคือศิลปะ ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่ง แต่เขาไม่ได้สนใจอยากจะพูดว่ามันคือศิลปะ  

AI คงไม่ได้สนใจว่านี่คือศิลปะ แต่คนไปวิเคราะห์ว่า AI สร้างศิลปะ มันก็เหมือน NFT (Non-fungible Token) คือถึงจุดหนึ่งก็มีตลาดของมันอยู่ แต่ว่ามันก็ไม่ได้จะเข้ามาลุกลามถึงขั้นว่า บนโลกนี้ ถ้าใครไม่ทำ NFT ก็จะตายไปเลย แต่มันเป็นแค่การเพิ่มประเภทงานศิลปะขึ้นมา ซึ่งจะอยู่นานแค่ไหนก็ไม่รู้ ฉะนั้น มันไม่มีหรอก มีเดียดิสรัปต์ (media disrupted) สำหรับศิลปะ มีแต่ศิลปะที่เข้าไปเห็นอำนาจหรือเห็นความเป็นไปได้ของมีเดียที่ใช้มาทำงานศิลปะ 

แต่เราต้องแยกให้ออกนะ การดิสรัปต์ของคุณคืออะไร เพราะสำหรับเรา ปัญหาของวงการทัศนศิลป์ไม่ได้อยู่ที่ตัวสื่อ แต่อยู่ที่ทัศนคติการจัดการของผู้บริหารซึ่งอาจจะไม่ได้มองเห็นคุณค่าของมัน แต่พยายามจะจับใส่กรอบอย่างที่เขาพยายามกัน นี่คือตัวดิสรัปต์ของจริง

 

ที่ผ่านมาเคยเจอเหตุการณ์ที่คนตั้งคำถามเกี่ยวกับความอยู่รอดเยอะไหม

ตอนที่ภาพถ่ายเข้ามาก็เคยเจอ คือสมัยก่อนคนยังใช้เพนต์ติงวาดภาพเหมือน วาดพอตเทรต แต่พอมีภาพถ่ายเกิดขึ้นมา ก็ออกมาเหมือนกว่าศิลปินวาด ทำให้ภาพจิตรกรรมหนาวๆ ร้อนๆ 

แต่สุดท้ายก็ไม่หนาวหรือร้อน เพราะมันมีเสน่ห์คนละแบบ สุดท้ายก็ยังอยู่ ทุกอย่างยังอยู่ตรงนี้

แล้วในต่างประเทศมีการพัฒนาองค์ความรู้กันอย่างไรบ้าง

เรามีเพื่อนเป็นอาจารย์อยู่ที่เยอรมนี ตอนนั้นเราเรียนจบมาใหม่ๆ มีข่าวว่าโรงเรียนจะถูกยุบ แต่เป็นโรงเรียนของเมืองนะ แต่ละเมืองก็จะมีโรงเรียนศิลปะ แล้วเรามารู้จักเพื่อนที่ไปเป็นอาจารย์ที่นู่น แล้วเขาพยายามจะทำงานร่วมกับเรา เราเลยถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง คุณต้องมาหาลูกค้าเหมือนเราไหม เขาบอกว่า สบาย ไม่ต้องเลย แล้วตอนนั้นที่ว่าจะยุบหรือไม่ยุบ เขาก็ไม่ต้องกระเสือกกระสนอะไรนะ มันก็เป็นการจัดการของฝั่งผู้นำแหละ ซึ่งที่เยอรมนีก็คือ ผู้ว่าฯ เมือง ถ้ามีการเปลี่ยนตัวกัน วิธีคิดก็เปลี่ยน แต่อย่างไรที่สุด เขาก็ยังให้ศิลปะยังอยู่ สิ่งที่เขาทำคือส่งเสริมให้อาจารย์ทำงานศิลปะ เขาให้ทุนเลยนะ หรือแม้กระทั่งสนับสนุนให้ไปแสดงต่างประเทศ 

อย่างที่บอก ศิลปะคือการเรียนรู้เรื่องประสบการณ์ อาจารย์ก็ต้องมีประสบการณ์ มันมาจากการแสดงงาน การออกไปพบปะผู้คน ไปดูงาน แล้วเอาความรู้เหล่านั้นกลับเข้ามาแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา ต่างประเทศเป็นอย่างนั้น นักศึกษาเขาก็เติบโต มีตลาดรองรับ เป็นศิลปินดัง ได้ไปแสดงที่นู่นที่นี่ 

ยิ่งตอนนี้เมืองนอกถกเถียงกันหลายเรื่องมาก ตั้งแต่สงคราม องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ที่มาเกี่ยวพันกับศิลปะ หรือ non-human มันข้ามศาสตร์ไปนานแล้ว เขาทำได้เพราะว่าเขามีเวลาอ่านหนังสือ เขาไม่ได้เสียเวลากับรถติด เสียเวลาการประเมิน แล้วภาษาในหนังสือก็เป็นของเขาด้วย หนังสือดีๆ ของเขาก็ถูกแปลกันหมด แต่ของไทยไม่มีการแปลหนังสือดีๆ มากที่ควร กว่าแต่ละที่จะทำกันเอง เขาก็ต้องมาแบกรับภาระต่างๆ และไม่มีการส่งเสริมจริงจัง

ศิลปะคือการเรียนรู้เรื่องประสบการณ์ อาจารย์ก็ต้องมีประสบการณ์ มันมาจากการแสดงงาน การออกไปพบปะผู้คน ไปดูงาน แล้วเอาความรู้เหล่านั้นกลับเข้ามาแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา

ย้อนกลับมาดูศิลปะในไทยบ้าง อาจารย์บอกว่าตลาดแรงงานน้อย ตอนนี้การเรียนการสอนก็อยู่ในโครงสร้างที่บิดเบี้ยว แล้วคนในวงการศิลปะเองอยู่รอดในการทำงานอย่างไร

สำหรับเรา อยู่รอดด้วยคนภายนอก เอกชนต่างๆ ทำงานศิลปะ สนับสนุนการทำงานกันเยอะ และตอบโจทย์ไดอะล็อกกับโลกข้างนอกจริงๆ ไม่ใช่แค่โลกในกรุงเทพฯ หรือในเชียงใหม่ แต่คือการออกไปเชื่อมโยงกับมิติต่างๆ รวมถึงวิธีคิดในโลกต่างประเทศ 

 

คนนอกวงการเห็นว่าวงการศิลปะไม่เติบโต ไม่ได้รับการสนับสนุน ถ้าถามคนในวงการเอง คิดว่าศิลปะร่วมสมัยไทยเติบโตไหม

มันเติบโตแบบปัจเจก ไม่ได้ไปแบบองคาพยพ ไม่เหมือนเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นที่ยกเข่ง 

อย่างทุนต่างประเทศก็ไม่อยากมาเมืองไทยหรอก มันไม่น่าสนใจ เขาไปที่อื่นดีกว่า เพราะการเมืองเราเป็นอย่างนี้ เศรษฐกิจเราเป็นอย่างนี้ เขาจะมาทำไม 

 

ช่วงที่สังคมเปลี่ยนแปลง โลกศิลปะก็ดูเคลื่อนไหวไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องสังคมการเมืองที่มีงานออกมาเยอะมาก อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ใจกล้า ต้องยอมรับ ต้องให้เครดิตเขา ถามว่างานศิลปะขยับไหม ก็ขยับแหละ คนพูดเรื่องการเมืองมากขึ้น แต่ถามว่าจะเปลี่ยนอะไรได้ไหม ถ้ามีปืน ก็เปลี่ยนยาก

แต่ต้องยอมรับว่ามันเป็นกระแสการเมืองด้วยนะ ตลาดสนใจด้วยแหละ มันกำลังได้รับการตอบรับบางอย่าง คนอยากดูสิ่งนี้ ศิลปินก็ทำสิ่งนี้

แต่ถามว่าทำไมมีงานออกมาแล้ว ประเด็นด้านสังคมกลับไม่เติบโต มันก็ต้องกลับมาดูภาพรวมด้วยว่า ภาพรวมทางสังคมผ่านไปทางไหน คนทำงานศิลปะอยู่ช่วงวัยไหน แล้วเขาได้รับการกล่อมเกลาอย่างไร โอกาสเขาเป็นอย่างไร เขาโกรธเกรี้ยวจริงๆ ในเมื่อโลกใบนี้และสภาพสังคมตอนนี้น่าโกรธ น่าโมโห 

ฉะนั้น เมื่อคนโกรธมีความสามารถทางศิลปะ เขาก็ระบายออก ซึ่งถ้าถามว่าสิ่งที่ทำมีการเติบโตหรือไม่เติบโตในทางศิลปะหรือสังคมไหม ก็พูดยาก เพราะตอนนี้เขาแทบไม่มีทางเลือกอื่น เขาก็พยายามทำของเขาอยู่ มันใช้เวลา แล้วเราต้องกลับมาดูด้วยว่า ถ้ามันยังเป็นอย่างนี้ แล้วสังคมนี้มันพิกลพิการอย่างไรถึงทำให้เขาไม่มองอย่างอื่นเลย เพราะอะไร เพราะโลกนี้ทำให้เขาหยุดแค่นี้ 

ด้วยคุณภาพชีวิตแบบนี้ มันจะไปพูดเรื่องอะไรได้ ถ้าไม่ด่าทอ ไม่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง

อาจารย์มีภาพฝันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการศิลปะบ้างไหม

ไม่กล้าฝันหรอก (หัวเราะ) ทุกคนอยากฝัน อยากให้รัฐโยนเงินเข้ามาแล้วไม่ก้าวก่ายในสิ่งที่ศิลปินทำ แล้วให้ระบบนิเวศของมันเติบโตได้อย่างแท้จริง 

ถามว่าในวงการนี้มีอะไรบ้าง มันมีทั้งคิวเรเตอร์ อาร์ตเอเจนซี คอลเล็กเตอร์ แล้วก็มี art installer ที่มาช่วยติดตั้ง หรือมีแม้กระทั่งที่รับฝากผลงาน มีอีกเป็นสิบเป็นร้อยอาชีพที่อยู่ในนี้ได้ ถ้าคุณจัดการมันเป็นหรือส่งเสริมให้ถูกทาง มันก็จะเติบโต แล้ววงการนี้จะทำให้มีตลาดขึ้นมาได้จริงจัง 

อย่าโยนภาระทั้งหมดไปให้เอกชน มันไม่จีรัง เพื่อนคิวเรเตอร์ต่างประเทศของเราเคยบอกว่าเมืองไทยไม่โตหรอก เพราะขาดคอลเล็กเตอร์ ซึ่งคอลเล็กเตอร์จริงๆ แล้วสำคัญมาก เพราะเขาเป็นคนเข้ามาซื้องานศิลปะ จากนั้นเมื่อศิลปินมีเงิน ก็จ้างงานทำอย่างอื่น หรือศิลปินอาจจะสามารถมีเงินมาใช้จ่าย จ้างงานด้วย สร้างงานด้วย คิวเรเตอร์ก็จะเห็นความหลากหลาย มีงานเข้ามา นักประวัติศาสตร์ศิลป์ก็จะได้เขียนงาน นักวิจารณ์ก็จะได้เข้ามา 

เพราะฉะนั้น เมื่อจิ๊กซอว์ครบ เอามาต่อเป็นภาพใหญ่ได้ เราก็จะเติบโต ถ้าเรามีแกลเลอรีหลากหลาย มีแกลเลอรีให้กับมือสมัครเล่น มีภาพอย่างที่ต่างประเทศเขามี มันก็เติบโต แต่ว่าตอนนี้ไม่มีสักอย่าง เพราะมันไปฝากความหวังไว้กับเอกชน ซึ่งต้องขอบคุณเขามาก แต่เขาจะไหวเหรอ เพราะนี่คือเรื่องระดับโครงสร้างเลยนะ

What’s in your bag?

สำหรับคนเรียนศิลปะ หนังสือเล่มไหนที่ควรอ่าน ภาพยนตร์เรื่องใดที่ควรดู งานศิลปะชิ้นไหนที่สำคัญบ้าง?

ด้วยเพราะศาสตร์ของศิลปะคือการชวนให้ผู้คนได้เข้าใจตัวเอง ก่อนจะไปสู่ความเข้าใจสังคม และสื่อสารออกมาในรูปแบบที่ตัวเองถนัด ในความคิดเห็นของวันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร จึงมองว่าสิ่งของที่อยู่ในกระเป๋าของผู้เรียน ผู้สอน ไปจนถึงคนที่สนใจศิลปะ จะพกสิ่งที่สนใจมาด้วย ซึ่งไม่มีข้อจำกัดและเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นอะไร เพราะศิลปะพยายามทำความเข้าใจความเป็นไปทุกอย่างในมนุษย์และโลก ของที่อยู่ในกระเป๋าจึงเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น

เรื่อง: สุดารัตน์ พรมสีใหม่

จบการศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร สนใจประเด็นศิลปะ การเมือง สังคม และคุณภาพชีวิตคน พ้นไปจากการงาน อยากนอนฟังเพลงอยู่บ้านเฉยๆ และแวบไปโบกมือทักทายให้ศิลปินในคอนฯ หลายๆ รอบ

ภาพถ่าย: กมลชนก คัชมาตย์

จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รักแมว ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด สนใจการนำประเด็นทางสังคมมาทำเป็นสื่อสร้างสรรค์ชนิดใหม่ๆ

ครีเอทีฟ: ธนกร เนตรจอมไพร

จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ ลาดกระบัง เป็นครีเอทีฟที่ใช้หัวคิดนิดหน่อย แต่อร่อยเฉย…เอาจริงๆ ใช้หัวสมองคิดนิดหน่อย แต่ที่ใช้บ่อยคือหัวใจ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save