fbpx
You've got a friend เพลงยังอยู่ แต่เพื่อนอาจไม่

You’ve got a friend เพลงยังอยู่ แต่เพื่อนอาจไม่

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

 

– 1 –

 

อีกเพียง 3 วันโลกของเราก็เข้าสู่ปี 2019 พ่อขับรถออกจากบ้านพร้อมน้าใหญ่ตั้งแต่ตีสี่ ขึ้นเหนือสู่น่าน-ปลายทางคือบ้านสวนไผ่รำเพยของลุงหนึ่ง

ต้นฉบับบทกวีทั้งลายมือและลายพิมพ์ของลุงไผ่มากกว่า 500 หน้า วางอยู่เบาะหลังรถพร้อมกระเป๋าเสื้อผ้าและกุนเชียงที่ป้าจิ๋วฝากมาให้พวกเราเอาไปย่างกินแกล้มเบียร์กันในสวน

เราวางแผนรวบรวมและคัดสรรบทกวีของลุงไผ่ให้เป็นเล่มที่สมบูรณ์ที่สุด มีประโยชน์ที่สุด แม้ว่าลุงไผ่จะลาลับไปแล้วตั้งแต่ปี 2014 (ด้วยเหตุที่ไม่ใช่เพราะสังขารเขาไม่เที่ยง)

แม่ส่งข้อความมาบอกว่าลูกซนมาก พ่อแอบยิ้มในใจ “อืม ถูกต้องแล้ว”

ลูกกำลังหัดพูด ลูกเรียกหมาว่า “บ๊อก บ๊อก” กับ “หม่ำ หม่ำ” เวลาหิวได้ก่อนจะเรียกย่าว่า “ยาย่า” “ปูปู่”

ลูกเรียกชื่อแม่ได้อ่อนหวานที่สุดเท่าที่เราสองคนเคยได้ยินมา เช่นเดียวกับเวลาไม่พอใจก็กรี๊ดบ้านแทบแตก ถ้าวันที่ลูกโตขึ้น พ่อหวังว่าลูกคงหาบาลานซ์เสียงไพเราะกับหยาบกระด้างได้เอง

 

– 2 –

 

ระหว่างทางที่รถลัดเลาะไปตามถนนเรียบคดโค้ง สองข้างทางเป็นทุ่งนาสลับภูเขา เพลง You’ve Got a Friend ของ Carole King อัลบั้ม Tapestry ก็ดังขึ้นในรถ เพราะแทร็คเพลงเล่นสลับไปแบบอัตโนมัติ

รู้ไหม ชื่อเพลงนี้ของเธอเคยขึ้นปกมติชนสุดสัปดาห์ด้วยนะ ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย แล้วถูกทหารจับตัวไปขังคุก ใครหลายคนร้องเพลง “บทเพลงของสามัญชน” ร่วมกันเพื่อคิดถึงเพื่อนที่ถูกจับไปอยู่ข้างใน

เข้าใจว่าบรรณาธิการอาจจะชอบฟังเพลงของคาโรล คิง พอดี เลยเอาชื่อเพลงไปพาดหัว พร้อมภาพปกที่เป็นบรรดานักศึกษาที่ถูกจับ

 

– 3 –

 

เราเองก็ชอบเพลงของเธอ ในบรรดาเพลงโฟล์คร็อค เพลงของคาโรล คิง อยู่ในใจอันดับต้นๆ ของเราเสมอ

แม่ของลูกบอกว่าคงมีไม่กี่คนในชีวิตนี้ ที่เราค้นพบว่าเขาเขียนเพลงออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ มันเป็นเพลงที่มีเนื้อหาและทำนองที่ตรงไปตรงมา รักก็บอกว่ารัก เหงาก็บอกว่าเหงา คิดถึงก็บอกว่าคิดถึง

คาโรล คิง เกิดในครอบครัวชาวยิว ในช่วงสภาพเศรษฐกิจของอเมริกาย่ำแย่ เพราะพิษจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอเติบโตที่เมือง Brooklyn มีแม่เป็นครู พ่อเป็นนักดับเพลิง

ช่วงเวลาที่เธอยังเด็ก แม่ของเธอเลือกออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงดูลูก และเริ่มหัดเล่นเปียโนตอนเธอยังเล็กๆ

ตอนคาโรล คิง สามขวบ เธอเริ่มเรียนรู้โน้ตเพลงจากการฟัง พอสี่ขวบก็เริ่มเรียนเปียโนพื้นฐาน โดยที่แม่ของเธอไม่เคยต้องบังคับให้เรียนเปียโนเลย

 

– 4 –

 

เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ตอนนั้นพ่อและแม่ค้นพบว่าฉันมีหูขั้นเทพ หรือ Absolute pitch ที่สามารถแยกแยะเสียงโน๊ตต่างๆ หรือเสียงจากเครื่องดนตรีต่างๆ ได้ดี และพ่อของฉันก็ปลาบปลื้มทุกครั้งที่ได้ทดสอบการฟังของฉันให้เพื่อนๆ ดู”

เธอเคยเล่าว่าพ่อและแม่ของเธอสนับสนุนทุกๆ ทางที่เธออยากเรียนรู้ เมื่อเธออายุ 16 เธอขอให้พ่อกับแม่พาเธอมาออดิชั่นที่นิวยอร์คและเริ่มออกซิงเกิ้ลแรกที่ชื่อว่า The Right Girl (1958) กับค่าย ABC Records

พอเป็นสาวสะพรั่ง เธอเข้าเรียนที่ควีนส์ คอลเลจ ก่อนจะพบกับเจอร์รี่ กอฟฟินส์ ที่ทั้งคู่ชอบการแต่งเพลงเหมือนกัน ทั้งสองคบหากันไม่นาน พอเธอรู้ว่ากำลังตั้งท้องลูกคนแรก ทั้งคู่ก็ตัดสินใจแต่งงานกันทันที

ช่วงที่เลี้ยงลูกเล็ก ตอนกลางวันคาโรลไปทำงานเป็นเลขาฯ ในบริษัทเอกชน ส่วนเจอร์รี่เป็นผู้ช่วยนักเคมี พอกลางคืนก็กลับบ้านมาแต่งเพลงต่อ

ทั้งคู่เริ่มเข้าสู่ความสำเร็จเมื่อเพลง Will You Love Me Tomorrow ที่แต่งให้กับวง The Shirelles วงเกิลลกรุ๊ปผิวสีขึ้นชาร์ทเพลงยอดนิยมอันดับหนึ่ง

หลังจากดังเป็นพลุแตก ทั้งคู่ก็ตัดสินใจออกจากงานมาเป็นนักแต่งเพลงเต็มตัว

 

– 5 –

 

ปี 1967 ทั้งคู่ถูกมอบหมายให้แต่งเพลงร่วมกับราชินีเพลงโซล Aretha Franklin ที่คาโรลได้ชื่นชมอยู่แล้ว วันนั้นเธอได้กลับบ้านมาแต่งทำนองปูพื้นแบบแนว gospel แล้วเจอร์รี่ช่วยใส่เนื้อเพลง จนออกมาเป็นเพลงดังอย่าง (You Make Me Feel Like) A Natural Woman

ทั้งคู่ต้องทำงานหนัก จนต้องหาพี่เลี้ยงเด็กมาเพื่อช่วยดูแลลูกของเธอ ความบังเอิญที่พี่เลี้ยงชื่อ อีวา สาวผิวสีมาช่วยดูแลลูกของเธอ ไปๆ มาๆ พวกเขาก็ได้ร้องเล่นเพลงด้วยกัน คาโรลและเจอร์รี่แต่งเพลงและเล่นเปียโนให้อีวาร้องและเต้น จนโด่งดังในเพลง The locomotion by little eva

อีวานี่เองที่ทำให้คาโรลได้ซึมซับเพลงของคนผิวสี และเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงของเธอ

แต่คู่รักนักแต่งเพลงก็ใช้ชีวิตร่วมกันเพียงปีเดียว พวกเขาแยกทางกัน คาโรลย้ายบ้านพาลูกสาวสองคนมา Los Angeles ตั้งต้นทำอัลบั้มชื่อ The City ร่วมกับ Charles Larkey สามีคนที่สอง

ช่วงนั้นทำให้เธอรู้จักกับ Joni Mitchell, Danny Kortchmar และ James Taylor นักดนตรีมือกีตาร์ผู้อยู่เบื้องหลังศิลปินมากมาย

ช่วงปี 1970 เธอได้ร่วมทำแบคกิ้งแทรคให้กับ B.B.King ราชาเพลงบูลส์ในอัลบั้ม Indianola Mississippi Seeds ด้วย

 

 – 6 –

 

การทำงานร่วมกับ บี.บี.คิง มาไม่น้อย พอปี 1971 โลกก็รู้จักเธอจากอัลบั้ม Tapestry บวกกับช่วงชีวิตที่เข้มข้นของเธอ ทั้งอกหัก ย้ายบ้าน สร้างครอบครัว มีรักใหม่ ทำให้อัลบั้ม Tapestry เป็นอัลบั้มที่โลกยอมรับในคุณภาพ

หนึ่งในเพลงดังที่สุดคือ You’ve Got a Friend ที่เธอแต่งร่วมกับแต่งร่วมกับ James Taylor ก็มาจากความรู้สึกถึงเนื้อแท้ของมิตรภาพ ที่ไม่ใช่แค่กับเจมส์เท่านั้น แต่หมายถึงมิตรภาพในชีวิตเธอที่ผ่านมาทั้งหมด

 

 

เธอถ่ายทอดมันผ่านเสียงเปียโนที่ใสสะอาด และเสียงกีตาร์ของเจมส์ที่โปร่งเบา เสียงร้องที่เป็นเนียนสนิทไปกับเนื้อเพลง ทำให้เราๆ หลับตาฟังก็ต้องคิดถึงเพื่อนสักคนในชีวิต

เธอเคยเล่าว่าการได้เพลงนี้มาเหมือนเป็นของขวัญจากฟ้า

“ฉันเองก็ไม่รู้ว่าแต่งมันได้เพราะอะไร มันแค่เข้ามา ณ ตอนนั้น เหมือนว่าไม่เพียงแค่ฉันเท่านั้นที่ได้รับของขวัญนี้ แต่เป็นคนอื่นๆ ที่ได้ฟังเพลงนี้ด้วย”

บรรดาเพื่อนๆ นักดนตรีของเธอก็บอกว่า มันคือเพลงที่ทุกคนอยากจะมีความรู้สึกแบบนั้น นั่นคือความเป็นเพื่อน และเธอได้ส่งต่อในรูปแบบเพลงอย่างเรียบง่าย ตื้นตัน จนกลายเป็นอมตะไปแล้วมันเป็นเพลงที่พวกเราไม่เคยเบื่อจะร้องมัน

You just call out my name
And you know wherever I am
I’ll come running, to see you again
Winter, spring, summer or fall
All you have to do is call
And I’ll be there
You’ve got a friend

อัลบั้ม Tapestry ขึ้นสู่ชาร์ทสูงสุดในทันที และอีกหลายเพลง เช่น So far away ที่ Rod Stewart ได้เอาไปร้อง เธอแต่งตอนที่ต้องออกมาทำงานและห่างจากลูกๆ ความคิดถึง ความห่างไกลที่ไม่อาจไปพบหน้าลูกได้ บวกความรู้สึกที่ต้องแยกจากคนรักไป ทำให้เธอกลั่นออกมาเป็นเนื้อเพลงแบบนี้

But you’re so far away
Doesn’t anybody stay in one place anymore
It would be so fine to see your face at my door
Doesn’t help to know you’re so far away

 

– 7 –

 

พ่อกับน้าใหญ่มาถึงบ้านสวนไผ่รำเพยแล้ว ได้เจอครูต้อม แห่งห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ด้วย ถ้าลูกมาน่าน อย่าลืมแวะมาหาครูต้อม พ่อคิดว่าครูต้อมจะสอนให้ลูกรู้จักต้นไม้ทุกต้นและหนังสือทุกเล่มในบ้านของเธอได้

ลุงหนึ่งกำลังฟันลำไผ่แห้งเพื่อเอามาก่อกองไฟ แสงของวันกำลังลาลับไปหลังทิวเขา อากาศหนาวเย็นยามข้างกองไฟคือหนึ่งในความสมดุลของชีวิต

พรุ่งนี้ มะรืนนี้ เราจะหยิบต้นฉบับของลุงไผ่มานั่งดูด้วยกัน

เพลง You’ve Got a Friend ยังค้างอยู่ในหูของพ่อ แม้ว่าลุงไผ่จะไม่อยู่ แต่บทกวีของลุงไผ่ยังอยู่

เช่นเดียวกับเพลงของคาโรลที่พ่อกับแม่ได้เล่นและร้องด้วยกัน

เราอยากบอกลูกว่า ถ้าลูกรู้จักเคารพในมิตรภาพ ลูกอาจฟังเพลงได้เพราะขึ้น และบทกวีในบทเพลงจะประคับประคองลูกให้วางใจในมิตรภาพไปเอง แม้ว่าเพื่อนอาจจะไม่ได้อยู่ด้วยตลอดไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save