fbpx
‘อิหยังวะ ประเทศไทย’ ความในใจคนรุ่นใหม่ต่อการเมืองและรัฐธรรมนูญ

‘อิหยังวะ ประเทศไทย’ ความในใจคนรุ่นใหม่ต่อการเมืองและรัฐธรรมนูญ

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ และ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์การรวมกลุ่มนักศึกษาเพื่อแสดงออกทางการเมืองเรียกเสียงฮือฮาจากสังคมเป็นวงกว้าง พร้อมๆ กับกระแสต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

คำปรามาสทำนองว่า “มีผู้บงการอยู่เบื้องหลัง” “มีคนปลุกปั่นนักศึกษา” กระทั่ง “เป็นเด็กจะไปรู้อะไร” แสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มหนึ่งมองคนรุ่นใหม่เป็น ‘เด็ก’ ที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์สำคัญในอดีต จึงไม่รู้เดียงสาเกี่ยวกับการเมือง

แต่จริงหรือที่เด็กไม่รู้อะไร? ในเมื่อช่วงเวลาเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา เด็กกลุ่มหนึ่งเกิดและเติบโตมาในความผันผวนของการเมืองไทย เกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง  เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 2 ฉบับ ใช้ชีวิตอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไม่ (เคย) เต็มใบ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความ ‘อิหยังวะ’ ของบ้านเมืองที่พวกเขาได้สัมผัสมาตั้งแต่ยังเล็กจนเติบใหญ่ และไม่แน่ว่าอาจต้องอยู่ร่วมกับความ ‘อิหยังวะ’ จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไปอีกนาน

ความหวังของการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคม คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 101 จึงชวนตัวแทนคนรุ่นใหม่ ธนิสรา เรืองเดช ซีอีโอ Punch Up – Data-Storytelling Studio หนึ่งในทีมงาน ELECT.in.th ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหาร Spaceth.co และ แดนไท สุขกำเนิด นักเรียนนอกระบบ และนักออกแบบบอร์ดเกม มาบอกเล่าประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยในช่วงชีวิตของพวกเขา ร่วมสร้างการเมืองที่ชอบ รัฐธรรมนูญที่ใช่ สำหรับประเทศไทยในอนาคต

 

รัฐธรรมนูญ คนรุ่นใหม่

 

เริ่มต้นสนใจเรื่องการเมืองกันได้อย่างไร

ธนิสรา : เราหันมายุ่งกับการเมืองชัดเจนที่สุด คือ ตอนรัฐประหาร 5 ปีไม่ไปไหนสักที ที่ผ่านมา เราเคยชินกับการมีรัฐประหารเกิดขึ้นซ้ำๆ คิดว่าอีกเดี๋ยวทหารก็ไป ซึ่งนับว่าเป็นข้อเสียเหมือนกัน พอมาครั้งนี้ เราเห็นเขาพูดว่าจะเลือกตั้งมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เลื่อนเลือกตั้งมาแล้ว 4 ครั้ง ก็เริ่มตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมทหารอยู่นานจัง เขาสนุกหรือเปล่า (หัวเราะ)

พอมองย้อนกลับมาที่ตัวเองก็คิดได้ว่า เราเองเป็นกลไกที่ทำให้เขาทำแบบนี้ได้ เพราะเมื่อก่อนเรา ignore เรื่องการเมือง เวลาเลือกตั้งก็เลือกตามที่พ่อแม่บอก ไม่เคยตั้งคำถามว่าที่ออกไปเลือกตั้งแต่ละครั้งส่งผลอะไรกลับมา ตอนทำงานที่ THE MATTER ยังเคยบอกพี่แชมป์ (ทีปกร วุฒิพิทยามงคล) ด้วยซ้ำ ว่าไม่ขอทำเรื่องการเมือง เพราะไม่อิน สิ่งเหล่านี้เริ่มทำให้เราตระหนักว่าความเคยชินและการเชื่ออย่างเดียวโดยไม่ตั้งคำถามมันน่ากลัว

พอมีการเลือกตั้งปี 2562 เราคิดว่าตัวเองต้องทำอะไรสักอย่าง อย่างน้อยก็ทำให้คนที่เคยเป็นแบบเดียวกับเรา เคยออกไปเลือกตั้งเพราะแม่บอกให้เลือก ได้ลองตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง อย่างน้อยถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ยังเป็นการรับผลที่ตามมาอย่างเต็มใจ เลยมาทำโครงการ ELECT ได้ติดตามการเมืองเยอะขึ้น โดยเฉพาะเรื่องระบบเลือกตั้ง การทำงานของรัฐสภา ส.ส. ส.ว.ต่างๆ หลังเลือกตั้งเสร็จ และเรื่องที่เป็นเทรนด์ทวิตเตอร์ ซึ่งเราคงปฏิเสธที่จะไม่รู้ไม่ได้

ณัฐนนท์ : เมื่อก่อนเราไม่ได้สนใจการเมืองเชิงโครงสร้าง เราจะรู้แค่ว่าบ้านเราเชียร์คนนี้ บ้านอื่นเชียร์ใคร สิ่งที่ทำให้เราได้มาติดตามข่าวสารบ้านเมืองจริงๆ คือช่วงรัฐประหารปี 2557 ตอนนั้นอยู่ ม.3 เป็นช่วงที่เริ่มมีสื่อออนไลน์ เราจึงได้ติดตามข่าวสารออนไลน์มาเรื่อยๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เวลามีความเคลื่อนไหวอะไรเกิดขึ้น เราก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องรู้

พอเราได้อ่านมากขึ้น ก็เริ่มเข้าใจว่ารัฐประหารคืออะไร อำนาจนิยมเป็นอย่างไร รวมถึงตอนนั้นเป็นช่วงที่เราเริ่มออกมาทำงาน เลยได้เรียนรู้มุมมองแบบผู้ใหญ่มากขึ้น ต้องเรียนรู้เรื่องโครงสร้างภาษี การจดทะเบียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เราตั้งคำถามถึงอนาคตของประเทศที่เราอยู่ ว่าคนที่เอาเงินภาษีของเราไป เขาเอาไปทำอะไรบ้าง เขานำไปสร้าง scenario ที่เกื้อกูลต่อการทำงานของเราบ้างหรือเปล่า นั่นเป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวและส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง

เราสร้างเนื้อสร้างตัวภายใต้รัฐประหารมาจนถึงช่วงเลือกตั้ง ตอนเรียนปี 1 ที่ทำ spaceth.co ก็ได้เรียนรู้โมเดลการทำงานของหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้นมา เพราะการทำงานด้านเว็บวิทยาศาสตร์ เราต้องรู้ว่าใครเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ ภายในเขาทำงานกันอย่างไร เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมอเมริกาถึงไปดวงจันทร์ได้ ทำไมจีนมีเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ไม่สามารถร่วมมือกับอเมริกาแบบในหนังเรื่อง The Martian เรื่องเหล่านี้ทำให้เราเริ่มสนใจการเมืองต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะการเมืองสหรัฐฯ เพราะผมติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และประเด็นเรื่อง Fake News เป็นพิเศษ เราเรียนรู้ด้วยตัวเองบ้าง คุยกับเพื่อนที่ไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศบ้าง เช่น เขาไปเนเธอร์แลนด์ ก็แลกเปลี่ยนความเห็นกันเรื่องสภาพการเมือง การเลือกตั้งในประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไร เขาตั้งรัฐบาลกันอย่างไร ที่เนเธอร์แลนด์มีกษัตริย์เหมือนเรา แต่สภาพการเมืองไม่เหมือนกัน หรือคุยการเมืองจีนกับเพื่อน เรียนรู้มาเรื่อยๆ จนกลายเป็นเราทุกวันนี้

แดนไท : ผมอาจไม่ได้ติดตามการเมืองบ่อยนัก ส่วนใหญ่เป็นการตามข่าวจากเฟซบุ๊กกับทีวี เพราะผมไม่ได้เล่นทวิตเตอร์และคุณพ่อคุณแม่มักจะดูข่าวทีวีกัน สิ่งที่ทำให้ผมสนใจเรื่องการเมืองบ้าง มาจากการคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับคุณพ่อ (เดชรัต สุขกําเนิด) หรือติดตามคุณพ่อเวลาท่านไปคุยงาน ให้สัมภาษณ์กับคนอื่นๆ ท่านทำงานเกี่ยวกับการเมืองค่อนข้างมาก ดังนั้น บางทีผมจะพอได้ฟังบ้าง

ผมอาจจะไม่เหมือนพี่ๆ ที่ได้รับผลกระทบเรื่องการเมืองจนทำให้เราหันมาสนใจอย่างจริงจัง แต่ผมคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก คุณพ่อผมเคยเล่าให้ฟังว่า คำว่า “การเมือง” ไม่ได้เป็นแค่เรื่องในระดับประเทศเท่านั้น แต่ในสังคมกลุ่มเล็กๆ อย่างที่พ่อเขาเรียกว่าวัฒนธรรมกลุ่มย่อย (sub-culture) ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนที่สนใจเรื่องเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน ในกลุ่มเหล่านี้ก็มีการเมืองในแบบของมันอยู่ ตัวอย่างเช่น พี่คนหนึ่งที่ผมรู้จักเขาตาม BNK ในกลุ่มคนตาม BNK ก็มีการเมืองของมันเอง หรือตอนที่ผมยังเรียนอยู่ในโรงเรียนช่วงป.6 ก็ได้สัมผัสการเมืองในโรงเรียน จากการเป็นเด็กดีที่ทำตัวยุ่งวุ่นวายไปพร้อมๆ กัน ทำให้ครูทั้งรักทั้งชัง (ยิ้ม)

 

ก่อนหน้านี้สังคมไทยมีคำพูดที่ว่า คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจการเมือง ไม่เข้าใจการเมือง คุณคิดเห็นอย่างไร

แดนไท : ผมไม่ค่อยได้ยินด้วยตัวเองนะครับ อาจจะเป็นเพราะอยู่ในสังคมที่ไม่ค่อยมีผู้ใหญ่พูดแบบนี้ก็ได้ (หัวเราะ) แต่ถ้าเจอกับตัว ผมคงรู้สึกแปลก เพราะผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างพ่อผมก็ทำงานการเมือง หรืออย่างที่เล่าว่าการเมืองสอดแทรกอยู่ในชีวิตของคนแทบทุกกลุ่ม คนรุ่นใหม่เองก็คงได้สัมผัสการเมืองผ่านทางกลุ่มของเขาอยู่แล้ว

ณัฐนนท์ : เด็กไม่ได้สนใจการเมืองในแบบที่ผู้ใหญ่สนใจ ตอนที่มีเสื้อเหลืองเสื้อแดง ผู้ใหญ่อาจจะสนใจว่าใครอยู่ฝ่ายไหน มีอุดมการณ์อย่างไร แต่เด็กมักสนใจว่าการเมืองจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น เด็กจะพูดกันถึงเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาที่เกิดจากการแบ่งขั้วอำนาจ เด็กอาจจะไม่สนเลยก็ได้ว่าใครจะเป็นนายก  นายกจะเป็นคนของฝ่ายไหน เขาสนใจแค่ว่าพอเกิดรัฐประหารแล้ว เสรีภาพในการพูดของเขาลดลง แทนที่มันจะทำให้การงานของเขาก้าวหน้าขึ้นก็แย่ลง ผมว่านี่เป็นการเมืองที่คนรุ่นใหม่สนใจ

คน gen ก่อนหน้าอาจผ่านการเมืองที่มีการแบ่งขั้ว (polarization) เป็นการเมืองที่มีแกนนำ มีศูนย์กลาง แต่ทุกวันนี้การเมืองมีการกระจายศูนย์กลางมากขึ้น คนรุ่นใหม่แต่ละคนมีความคิดเห็น (opinion) เป็นของตัวเอง มันจึงเป็นการเมืองที่ไม่ต้องมีใครเป็นแกนนำก็ได้ ขอแค่ให้เป็นไปตามที่ฉันอยากให้เป็น พอเด็กไม่ได้เชียร์คนตามที่ผู้ใหญ่บอกให้เชียร์ เขาก็อาจจะมองว่าทำไมเด็กไม่เข้าใจการเมือง

ธนิสรา : เราไม่เชื่อประโยคที่ว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจการเมือง เพราะตอนที่ทำงาน ELECT ช่วงเลือกตั้ง เราดู analytics แล้วเห็นว่าอย่างน้อยบนโซเชียล มีกลุ่มคน gen เดียวกันที่ไม่เคยเลือกตั้งอยากเข้ามามีส่วนร่วม หรือเข้ามาแสดงความเห็นมากขึ้น

ถ้าประโยคนี้ถูกพูดโดยผู้ใหญ่ แปลว่าเราไม่ได้คุยเรื่องการเมืองในแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถเหมารวมได้ว่าทุกคนจะสนใจการเมืองได้เหมือนกัน อย่างเพื่อนเราก็ไม่ได้สนใจมาก แต่ถ้าเมื่อไรที่การเมืองกระทบกับชีวิตของเขา เช่น เรื่องฝุ่น PM2.5 แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่หลายคนคงหันกลับไปตั้งคำถามว่าระบบการเมืองตอนนี้ทำให้เรามีชีวิตแบบนี้หรือเปล่า

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน

 

การเมืองในระยะหลังมีความร้อนแรงมากขึ้น คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว แสดงจุดยืนกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน จุดยืนของพวกเขากลับสวนทางกับคนรุ่นก่อนหน้าบางกลุ่ม จนคนกล่าวว่าเป็น Clash of Generations 

ณัฐนนท์ : เราคิดว่าเป็นเพราะการรับรู้ข่าวสารในตอนนี้ต่างจากสมัยก่อนมาก ยุคก่อนมีทีวีแค่ 4-5 ช่อง ผู้ใหญ่บางกลุ่มอาจรู้จักชื่อนักการเมืองไม่กี่คน ไม่มีทวิตเตอร์ เวลาประชุมสภาก็ไม่ค่อยมีใครเปิดดู เขาจึงถูกชักนำให้เกิดการแบ่งขั้ว (polarization) เพราะการนำเสนอจากสื่อใหญ่ได้ง่าย แต่สมัยนี้มีเฟซบุ๊กไลฟ์ประชุมสภา และเด็กรุ่นเรานั่งดูกันเยอะมาก ถ้าคนไหนพูดไม่ make sense ก็เอาแล้ว แฮชแท็กขึ้นทวิตเตอร์ทันที เราได้รับข้อมูลข่าวสารอีกแบบจึงคิดเห็นแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน มีมุมมองกันคนละแบบ

การที่คนรุ่นเก่าบางกลุ่มไม่เปิดใจรับฟัง มันมีผลกระทบต่อเราอยู่แล้ว ไม่ได้กระทบในเชิงที่ว่าหมดหวังแล้ว พูดอะไรเขาก็ไม่ฟังเราเลย แต่มันยิ่งทำให้เราคิดว่าจะพูดอย่างไร จะสื่อสารอย่างไรให้เขาเข้าใจเราสักที เราจะพยายามบอกว่ามันเป็นแบบนี้ครับ เรารู้สิ่งนี้มาเพราะเราทำงานด้านนี้ ดังนั้นเราจึงคิดแบบนี้ ซึ่งสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราจะไม่หมดหวัง ไม่มัวแต่บ่นว่าทำไมผู้ใหญ่ไม่ฟังเราเลย เพราะการที่เขาไม่ฟัง เราจึงไม่พูด มันไม่ได้แก้อะไร กลับกัน ถ้าเราพยายามอธิบาย พยายามบอกว่าเราคิดอย่างไร ก็ยังมีโอกาสที่เขาจะคิดได้ว่าเด็กคิดต่างกันเพราะอะไร

ธนิสรา : ถ้าลองมองมุมกลับ การที่เราบอกว่าเขาไม่ยอมรับฟัง ไม่เข้าใจ มันไม่ต่างจากวิธีที่เขาทำกับเรา ไม่ต่างจากเวลาเขาบอกว่าเราไม่รู้เรื่องการเมือง เราเองก็ด่วนตัดสินเขา สุดท้ายเรื่องก็ไม่จบสักที เพราะต่างคนต่างไม่อยากทำความเข้าใจกัน เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วย คือไม่มีฝ่ายไหนพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งให้มากพอ เช่น คนเชียร์พรรคพลังประชารัฐไม่ได้พยายามเข้าใจพรรคอนาคตใหม่ หรือคนเชียร์อนาคตใหม่ก็ไม่ได้ทำความเข้าใจอีกฝ่าย มีแต่ปะทะกันอย่างเดียว ทำให้เราตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วน่าจะมีทางอยู่ร่วมกันได้ดีกว่านี้ไหม

ตอนที่ ผบ.ทบ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์มาบรรยายพิเศษ ก็มีหลายเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายเราค้นพบว่าเหตุที่เขาพูดแบบนั้นเพราะเขาเชื่อตามนั้นจริงๆ มันชวนให้เราคิดต่อว่าอะไรทำให้เขาเชื่อ สิ่งที่เขาเชื่อมันผิดจริงไหม และมันเข้ากับเราไม่ได้ตรงไหน เราคิดว่าการเมืองตอนนี้อาจไม่ได้ถึงขั้น Clash of Generations ที่เข้าใจกันไม่ได้เลย เราแค่โตกันมาคนละแบบ คำถามคือเราจะหาจุดร่วมในการอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ในเมื่ออีกไม่กี่สิบปีเดี๋ยวก็มี generation ใหม่เข้ามา ถ้าเรายังยันกันอยู่แบบนี้ ความขัดแย้งคงไม่มีทางจบสักที ต้องหาทางก้าวไปด้วยกัน

 

ในช่วงเวลาเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา เราเติบโตและได้เห็นการรัฐประหารในประเทศไทยถึง 2 ครั้ง สิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐประหาร’ ในสายตาคุณเป็นอย่างไร

แดนไท : เหตุการณ์รัฐประหารที่ผมจำได้จริงๆ มีแค่ตอนพลเอกประยุทธ์ เพราะผมเกิดปี 2547 ตอนเกิดรัฐประหารปี 2549 ผมยังเด็กมาก จำอะไรแทบไม่ได้ พอโตขึ้นมาเห็นคนรอบข้างพูดถึงสิ่งนี้ ก็สัมผัสได้ว่ามันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนที่เคยผ่านมาหลายครั้ง

ธนิสรา : บอกตามตรงว่าที่บ้านรู้สึกดีใจมากกับการมีรัฐประหารเกิดขึ้น เพราะถือว่าเป็นทางออกหนึ่งในการจัดการความวุ่นวาย เราเข้าใจว่ามีหลายคนที่รู้สึกว่าบ้านเมืองวุ่นวายจังเลย เกิดรัฐประหารแล้วจะจบ ซึ่งมันก็จบในตอนนั้น อย่างน้อยทำให้คนหยุดยิงกันได้ เขาถึงเชื่อว่ารัฐประหารเปรียบเหมือน quick solution ในบางสถานการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นฟังก์ชันหนึ่งของมันด้วย แต่ขณะเดียวกัน มันก็กลายเป็นข้ออ้างว่า ถ้าวันนั้นผมไม่ออกมา แล้วคุณจะหยุดไหม

ณัฐนนท์ : เราผ่านรัฐประหารมา 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2549 ยังเป็นเด็กน้อยวัยประถม จำได้ว่าเราดูข่าวในทีวีแล้วกำลังจะนอน จากนั้นภาพตัดมาถ่ายทอดเพลงในหลวง เราก็นอนไปโดยไม่รู้อะไร พอตื่นเช้ามาได้ยินว่าไม่ต้องไปโรงเรียน ยังรู้สึกงงๆ อยู่เลย

ครั้งที่สองคือปี 2557 ที่ผ่านมา เราไม่คิดว่านี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการเคลมว่าคนทำเป็นฮีโร่ เขาคงคิดว่าตัวเองบอกให้ทุกคนหยุดการชุมนุมแล้วไม่มีใครทำ พอเขานำทหารออกมาทีเดียว ทุกอย่างหยุดได้ เลยเอาสิ่งนี้มาเคลม ทั้งๆ ที่เราเห็นว่าเขายังทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ ไม่ใช่แค่ในแง่บริหารบ้านเมือง หน้าที่ของทหารก็ยังไม่ดีพอ กองทัพยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ยังเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ใช้ระบบอำนาจนิยม แต่เขากลับเอาสิ่งที่ทำในช่วงเวลาหนึ่งมาเคลมว่าเป็นฮีโร่ ให้คนชื่นชมอยู่เรื่อยๆ นี่เป็นสิ่งที่ไม่ถูก

 

การรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นเพราะสภาพบ้านเมืองมีความขัดแย้ง แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่ดูเหมือนว่าหลังรัฐประหาร สถานการณ์การแบ่งฝ่ายก็ยังไม่ดีขึ้น

ธนิสรา : การแบ่งฝ่ายไม่ใช่เรื่องผิด บางครั้งเป็นเรื่องดีเสียอีก เพราะสังคมเราเรียกร้องการคานอำนาจ เรียกร้องการตรวจสอบ อีกอย่างการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายน่าจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักแบ่งคนมองโลกแตกต่างกันเป็นขั้วตรงข้าม (binary) เสมอ สังเกตได้ว่าเราเคยมีขั้วการเมืองสองขั้ว หลังทำรัฐประหาร ก็เกิดเป็นขั้วใหม่ คือสนับสนุนรัฐประหารกับไม่สนับสนุน พอแก้ด้วยการเลือกตั้ง ก็กลับมาที่การเมืองแบบสองขั้วอีก ดังนั้น มันอาจจะไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพียงแต่ทั้งสองฝ่ายควรมีเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน เพื่อแบ่งกันการทำงาน คานอำนาจ ไม่งั้นก็จะได้แต่เถียงกันไม่จบ

ณัฐนนท์ : เห็นด้วยครับ เพราะถ้ามีแค่ฝั่งเดียว มันก็อาจจะไม่มีคำว่า ‘ความร่วมมือ’ เกิดขึ้นได้เลยนะ เพราะ ‘ความร่วมมือ’ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสองฝ่ายที่มีความคิดต่างกัน แต่มีเป้าหมายร่วมกัน มาทำงานร่วมกัน

แดนไท : พอพูดถึงความร่วมมือ ผมนึกถึงงานที่ Deschooling Game ทำร่วมกับสมัชชาคนจน เป็นการออกแบบเกมชื่อ “กำจัดอ้ายคนจน” ให้ตัวแทนนักการเมืองเกือบทุกพรรคมาเล่นกันช่วงเดือนธันวาคม ปี 2561 ในเกมจะให้นักการเมืองทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาสวมบทบาทเป็นคนจนแล้วไปลองใช้ชีวิต ต้องเผชิญกับกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้ใช้ชีวิตได้ลำบาก ต้องพยายามเอาตัวรอดและผลักดันกฎหมายด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น

หลังจากจบเกม เมื่อเขาเห็นภาพคนจนมากขึ้นว่าเป็นอย่างไร เราก็เปิดโอกาสให้นักการเมืองทุกคน รวมถึงผู้ชม คือเครือข่ายของสมัชชาคนจนและคนอื่นๆ มาร่วมพูดคุยกันว่าแต่ละพรรคมีแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างไร ซึ่งเราเห็นว่านักการเมืองที่มาจากต่างพรรคกัน มีแนวคิดต่างกัน แต่เมื่อมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว เขาสามารถหันมาร่วมกันหาทางออก แก้ไขปัญหาได้ มันอาจไม่ได้ถึงขั้นมีความเห็นไปในทางเดียวกันทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้ง ขัดคอซึ่งกันและกัน นี่เป็นตัวอย่างที่ผมได้ลองทำ

แดนไท สุขกำเนิด

 

มีต้นแบบจากเกมประเภทไหนอีกไหมที่น่าสนใจ และสามารถสะท้อนภาพการเมืองของเราได้

แดนไท : ผมนึกถึงเกมแนว semi cooperative เป็นเกมที่ผู้เล่นแต่ละคนจะชนะแยกกัน คุณทำอย่างไรให้ชนะก็ได้ ขณะเดียวกัน ผู้เล่นทุกคนก็มีโอกาสแพ้ร่วมกันทั้งหมด ตายด้วยกันทั้งหมด ยกตัวอย่างเกมหนึ่ง ชื่อว่า Deep Sea Adventure เป็นเกมที่ให้เราดำน้ำไปเก็บสมบัติในทะเล ซึ่งแต่ละคนจะเก็บสมบัติแยกกัน ถ้าใครเก็บสมบัติเสร็จ ขึ้นเรือได้ก่อน ก็ได้แต้มตามสมบัติที่เก็บได้ แต่เงื่อนไขสำคัญคือ ผู้เล่นทุกคนใช้ออกซิเจนในการดำน้ำหาสมบัติร่วมกัน ถ้ามัวแต่เก็บเยอะ ออกซิเจนส่วนกลางจะหมด คนอื่นๆ รวมถึงเรามีสิทธิ์ตายได้  ดังนั้น มันจึงเหมือนเป็นเกมทางเลือกว่าเราจะเก็บสมบัติเยอะๆ คนเดียว แล้วชนะ หรือว่าเลือกช่วยเหลือเพื่อนๆ ให้ได้สมบัติด้วย แต่เราไม่ได้แต้ม หรือได้น้อยหน่อย

ถ้าอยู่ในเกม เราอาจจะเล่นโดยเลือกให้ตัวเองชนะแค่คนเดียวก็ได้ อย่างผมคงเลือกเก็บสมบัติให้มากที่สุด รีบผลาญออกซิเจนแล้วก็รีบกลับ เพื่อให้คนอื่นมีโอกาสตายสูงขึ้น แต่ในชีวิตจริง เราต้องนึกถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม นึกถึงคนอื่นๆ นึกถึงประเทศด้วย ซึ่งแน่นอนว่ายากกว่าการทำให้ตัวเองชนะคนเดียว แต่มันเป็น solution ที่ดีที่สุด

 

ช่วงนี้วัยรุ่นมักมีคำพูดติดปากว่าอยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ไม่อยากอยู่ในไทยแล้ว คุณรู้สึกอย่างไรกับคำพูดเหล่านี้

แดนไท : ฟังดูแล้วก็คงมีคนบางส่วนรู้สึกสิ้นหวังประมาณหนึ่ง ผมเองก็ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรเหมือนกัน

ณัฐนนท์ : ฟังเท่าที่ผ่านมา น่าจะเป็นการตัดพ้อมากกว่าคิดจริง อย่างเราเคยคิดอยากไปอยู่ต่างประเทศนะ แต่ก็รู้สึกว่าชีวิตอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรบางอย่างเหมือนอยู่ที่นี่ เวลาเราไปอยู่ประเทศอื่น เป็นได้แค่ประชาชนคนธรรมดา หรือเป็นพลเมืองชั้นสองด้วยซ้ำ เราทำอะไรไม่ได้มาก แต่เมื่อเราอยู่ประเทศของตัวเอง ได้พูดออกสื่อ มีคนมาสัมภาษณ์ มีคนสนใจโพสต์เฟซบุ๊ก พอทุกคนให้ความสนใจแก่เรา ถ้าเราจะทิ้งมัน ไม่ทำอะไรเลยแล้วหนีไป ก็น่าเสียดาย

เราอยากทำให้สังคมดีขึ้นด้วยการให้ความรู้คนรอบตัว ทำให้คนใกล้ตัวเราหันมาคิดอยากแก้ไขปัญหาเหมือนกัน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีคนใกล้ชิด มีวงโคจรของตัวเองอยู่ ถ้าเราเปลี่ยนความคิดเขา เขาเปลี่ยนความคิดคนใกล้ตัวเขา มันจะขยายวงไปเรื่อยๆ แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงในที่สุด

ธนิสรา : เราเคยคิดเหมือนกันนะ แต่ก็แค่คิด เพราะถ้ามากกว่าคิด คงไม่อยู่ตรงนี้แล้ว (หัวเราะ) เรามองว่าการที่ประเทศหนึ่งจะมีรัฐบาลที่ดี มีสวัสดิการสังคมที่ดี มีปัญหาน้อย ไม่ใช่เพราะเขาโชคดีถึงได้มา แต่เป็นเพราะประชาชนในประเทศช่วยกันสร้างขึ้น สิ่งที่เรียกว่า active citizen เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่มีสิ่งนี้ เราก็ไม่มีทางมีประเทศแบบที่เราอยากได้ เพราะฉะนั้น เราเกิดตรงนี้ บ้านเราอยู่ตรงนี้ ถ้าเราไม่เป็นเอง แล้วใครจะเป็นให้เรา

คนที่เลือกไปอยู่ต่างประเทศ หา quick solution ให้ตัวเองก็ไม่ถือว่าผิด เพราะคงไม่ใช่ทุกคนที่ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายว่าฉันต้องขับเคลื่อนประเทศให้เป็นแบบที่ฉันฝัน แต่สิ่งที่อยากบอกคือเราสามารถทำให้ประเทศนี้ดีขึ้นได้นะ ถ้ากลับมาช่วยกันได้ ก็อยากให้กลับมาทำ

 

มีประเด็นปัญหาเรื่องใดบ้างที่คนรุ่นเรายกมาพูดถึงกันบ่อยๆ และอยากแก้ไขเป็นอันดับแรกของประเทศนี้

ณัฐนนท์ : เราเซ็งการเล่นนอกเกม นอกรัฐสภา หน้าที่ของรัฐสภาคือการตั้งเป้าหมาย (goal) ของประเทศ เราต้องมีเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน จะได้รู้ว่ากำลังทำเพื่ออะไรและไปให้ถึง ถ้าสมมติทุกคนเล่นตามกติกาก็ไม่มีปัญหา แต่พอมีการเล่นนอกเกมกัน มันก็เกิดเป็นความวุ่นวาย เกิดการเมืองนอกสภา เกิดสิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

พอมีคนเล่นนอกเกม คนที่จะเล่นตามกติกาก็โดนบีบให้เล่นนอกเกม นอกสภาเหมือนกัน ซึ่งสุดท้าย มันไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอะไรหรือทำให้ใครกลับมาเล่นในเกม มีแต่จะพาออกทะเลกันไปทุกฝ่าย ถ้าแก้ตรงนี้ได้ อย่างน้อยคงทำให้การแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ เช่น รถติด ฝุ่น PM2.5 ไวรัสโคโรนา ทำได้ง่ายขึ้น

แดนไท : ส่วนตัวผมอยากแก้ไขเรื่องการแบ่งอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ผมทำงานด้านการศึกษา ก็จะเห็นโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการว่ามีหน่วยงานย่อยๆ 5 ฝ่าย ผมเรียนสถาบันการศึกษาทางไกล ขึ้นกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.) อีกที แต่ขณะเดียวกัน ยังมีโฮมสคูลอีกแบบที่ขึ้นตรงกับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งคอยดูแลในแต่ละเขตการศึกษา ฝ่ายกศน.พยายามทำตัวเองเป็นเหมือนโรงเรียนที่ไม่ต้องมีโรงเรียน ส่วนสพฐ.ก็ทำโรงเรียนแบบที่มีหลักสูตรโฮมสคูล ผมมองว่าอำนาจหน้าที่มันทับซ้อนกัน ทำให้สับสน แถมยังทำงานแบบพยายามดึงผลงานจากกันและกัน มันไม่มีประสิทธิภาพ

ธนิสรา : เรื่องที่เราคุยกับเพื่อนบ่อยๆ ตอนนี้ คือเรื่องเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าบอกว่าหน้าที่ของรัฐคือการกำกับดูแลความสงบเรียบร้อยก็ไม่ผิด แต่ตอนนี้ดูจะกำกับมากกว่าดูแล เราไม่สามารถวิจารณ์อะไรหลายๆ อย่างได้ทั้งๆ ที่เขาเป็นองค์กรอิสระ เช่น ศาล ล่าสุดมีประกาศออกมาว่า การวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ กระทั่งมุกตลกที่เราใช้กันบ่อย เช่น เรียกไปปรับทัศนคติ อันที่จริงมันไม่ตลก  การที่คนใกล้ตัวเราอยู่ดีๆ ก็ถูกเรียกตัวไปขึ้นศาล มันทำให้ระแวงว่าเราจะโดนเมื่อไร หรือเราอยู่ในจอเรดาห์ของเขาไหม

สิ่งที่ควรแก้ไขคือ รัฐต้องปรับทัศนคติใหม่ในการกำกับดูแล (หัวเราะ) เขาควรกำกับดูแลเพื่อความสงบเรียบร้อยที่แท้จริง หรือไม่ก็บอกให้ชัดเจนไปเลยว่าจะควบคุม ในเคสต่างประเทศ เช่น จีน เขาก็กำกับดูแลแบบที่บอกตรงๆ ว่าเพราะเป็นเผด็จการ เขาไม่อยากให้คนขัดขืนอำนาจของผู้ปกครอง ฉะนั้น อะไรที่ไม่ตรงกับสิ่งที่รัฐพูด เขามีสิทธิ์จัดการ เขาตรงไปตรงมาไงว่าฉันกำกับดูแลเพราะฉันเป็นเผด็จการ แต่ประเทศไทยเรานี่กำกวมมากเลยนะ แล้วแต่จะตีความว่าใครเข้าข่าย แล้วเมื่อไรจะตีความมาโดนเราก็ไม่รู้

 

ธนิสรา เรืองเดช

 

ในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านสื่อ มองเห็นผลกระทบอะไร

ธนิสรา : หน้าที่ของสื่อ คือการรายงาน ตรวจสอบและตั้งคำถาม แต่เมื่อการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือองค์กรอิสระบางเรื่อง กลายเป็นการนำตัวเองไปอยู่ในเป้า เราถือว่านี่เป็นวิกฤตของเสรีภาพสื่อ (Freedom of Press) ของประเทศนี้ เพราะจริงๆ สื่ออยากทำตามหน้าที่ แต่คงไม่มีสื่อหน้าไหนแข็งแรงพอจะเอาตัวเองไปล่อเป้า ต้องเข้าใจว่าส่วนหนึ่ง สื่อยังคงเป็นธุรกิจ ยังต้องใช้เงิน เมื่อเกิดข้อขัดแย้งกับรัฐจึงกระทบถึงแหล่งทุน ถ้าขายโฆษณาไม่ได้ใครจะรับผิดชอบ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกัน

จริงๆ มันเป็นเรื่องที่กระทบต่อประชาชนทั่วไปทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อก็ได้ ลองสังเกตดูว่าเดี๋ยวนี้มีแอคหลุมเยอะเพราะอะไร เพราะเราโพสต์ ทวิตกันตรงๆ ไม่ได้ มันก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงเป็นตัวของตัวเองไม่ได้ในประเทศที่ควรให้เราแสดงตัวตนได้

 

ผ่านพ้นการเลือกตั้งมาแล้ว คุณเห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นมีแนวโน้มดีขึ้นบ้างไหม

ณัฐนนท์ : (ถอนหายใจ) เราว่ามันมีความ ‘อิหยังวะ’ เยอะขึ้นนะ เพราะตอนทำรัฐประหารใหม่ๆ ยังพอเข้าใจว่าเราไปขัดเขาไม่ได้ เพราะเขากุมอำนาจอยู่ แต่พอทุกวันนี้มีการเลือกตั้งแล้ว สังคมควรเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็ยังไม่ได้รู้สึกว่าบรรยากาศมันแตกต่างจากเดิมไปมากเท่าไร ตอนนั้นคุณเล่นงานตรงๆ ด้วยการนำทหารบุกบ้าน  แต่ตอนนี้คุณใช้วิธีการเอาทหารมายืนข้างๆ ถ้ามีอะไรก็เรียกไป ถึง spaceth.co ของเราจะยังไม่เคยโดนอะไร แต่มันทำให้เรารู้สึกว่าเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น มีจังหวะชะงักมากขึ้นว่า เฮ้ย เรื่องนี้ทำได้ไหม ทั้งๆ ที่ถ้าเราอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เราอาจไม่ต้องคิดเรื่องนี้ก็ได้ นั่นเลยเป็นที่มาของความรู้สึก ‘อิหยังวะ’

แดนไท : ถึงผมจะไม่ได้ทำงานสื่อโดยตรง ไม่ค่อยได้โพสต์เรื่องการเมืองบ่อยๆ ก็ยังรู้สึกได้เหมือนกันว่าเราโพสต์บางเรื่องไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเขาใช้หลักเกณฑ์อะไร จะมาถึงตัวเราเมื่อไร

 

เหตุผลหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมตัวบ่อยๆ คือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รู้สึกอย่างไรกับคำนี้

แดนไท : คำนี้ฟังดูเหมือนทำให้เราอยู่ในเกมที่มีกติกา มีกฎเกณฑ์ แต่แล้วแต่ว่าคนเล่นจะคิด ตีความกติกานั้นกันอย่างไร

ธนิสรา : คำนี้อันตรายมากเลย เรารู้สึกว่าสิ่งนี้น่ากลัวเพราะตีความได้หลายรูปแบบ ความมั่นคงของรัฐ รัฐที่ว่าคือใคร คือประชาชน หรือความมั่นคงทางอำนาจของใครบางคนหรือเปล่า นี่เป็นตัวอย่างความไม่ชัดเจนอย่างหนึ่ง เพราะเราตีความครอบราชอาณาจักรอย่างไรก็ได้ ตอนทำโปรเจกต์ ELECT เราพยายามขอข้อมูลบางอย่างจากหน่วยงานรัฐด้วยการใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร แต่กลับไม่ได้ข้อมูล เพราะในพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของไทยเขียนต่อไว้ว่าต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ จึงขึ้นอยู่กับว่ารัฐรู้สึกมั่นคงพอจะให้ข้อมูลได้ไหม เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนตัดสินสิ่งนี้

ถ้าถามว่าการรักษาความมั่นคงของรัฐนั้นผิดไหม ก็อาจจะไม่ เพราะทุกรัฐต่างทำเพื่อความมั่นคงของตัวเอง แต่ถ้ามีกติกาที่ชัดเจน เราก็จะรู้ว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง

ณัฐนนท์ : ยกตัวอย่างเคสอเมริกา เขานิยามว่ารัฐคือเสรีภาพ ทุกคนตีความไปในทางเดียวกัน เวลาที่ทหารเข้ามาปกป้องแนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพจึงยังมีบางคนสนับสนุนอยู่ คิดว่าเป็นเรื่องที่รับได้ แต่สำหรับไทย คำว่ารัฐของเรายังดูไม่ชัดเจน ถึงบางคนอาจจะพูดว่ามันคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่เราก็ยังรู้สึกบางครั้งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เลย

 

โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงความเห็นทางการเมืองของคนยุคนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คุณเชื่อในพลังโซเชียลไหมว่าจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

ณัฐนนท์ : เราไม่ได้เชื่อถึงขั้นว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่คุณเพิกเฉยไม่ได้ มีการประชุมรอบหนึ่งที่ส.ส.หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเปิดทวิตเตอร์ ให้คนดูว่าประชาชนพูดถึงประเด็นต่างๆ ในทวิตเตอร์อย่างไรบ้าง เราดูแล้วรู้สึกว่า เนี่ย มันควรจะเป็นแบบนี้ ประชาธิปไตยสอนให้คุณไม่เพิกเฉยต่อเสียงของใคร แม้จะเป็นเสียงจากกลุ่มที่เล็กที่สุด คุณต้องยอมรับให้ได้ว่ามีอยู่ และต้องไม่ไปลบเสียงนั้นทิ้ง นี่เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ประชาธิปไตยและเผด็จการแตกต่างกัน คนอาจจะมองว่าประชาธิปไตยและเผด็จการแตกต่างกันที่ระยะเวลาของผู้ปกครอง ความรุนแรง บ้าคลั่งของผู้ปกครอง แต่เรามองว่าสิ่งที่ ‘เซ็กซี่’ ที่สุดของประชาธิปไตย คือการที่เสียง 1 เสียงของคุณถูกลบออกไปไม่ได้ เปรียบเหมือนการทดลองวิทยาศาสตร์ 10 ครั้ง แล้วมี 9 ครั้งที่ได้ผลเหมือนเดิม มีต่างไปจากเดิม 1 ครั้ง คุณก็ไม่สามารถบอกได้ว่าการทดลองนี้ได้ผลแบบเดียวกัน หน้าที่ของคุณคือหาสาเหตุว่า 1 ครั้งที่ error เกิดจากอะไร แล้วคุณจะได้พบสภาพใหม่ สิ่งใหม่ที่คุณไม่เคยเรียนรู้มาก่อน

ในขณะที่เผด็จการบอกว่า แค่ครั้งเดียวเอง ตัดออกก็ได้ นี่ไง เป็นเสียงส่วนใหญ่แล้ว ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เสียงส่วนใหญ่ เผด็จการต่างหากคือเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการบังคับ แต่หัวใจของประชาธิปไตยคือเสียง 1 เสียงที่ไม่ถูกมองข้าม

ธนิสรา : ในมุมมองของเรา โซเชียลมีเดียก็เป็นอันตรายแบบหนึ่ง ตัวอย่างที่เขาพูดกันบ่อยๆ คือ ปรากฏการณ์ Echo Chamber หรือการที่เราได้เสพแต่สิ่งที่เราสนใจ เพราะอัลกอริทึมออกแบบมาให้เป็นแบบนั้น มันคิดมาจาก Model Business ที่ต้องการทำให้เราติดโซเชียลมีเดีย อีกเรื่องหนึ่งคือ โซเชียลไม่ได้บอกสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด ยกตัวอย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราเชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่อาจจะชนะ เพราะโลกโซเชียลบอกกับเราแบบนั้น แต่เรายังมีโลกคู่ขนานอยู่ ทั้งโลกแห่งความเป็นจริง และโลกโซเชียลที่เราไม่ได้อยู่ เช่น ไลน์ ส่วนตัวจึงรู้สึกว่ามันมีพลัง แต่ก็อันตรายเหมือนกัน เพราะมันอาจทำให้เราเชื่อในสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง 100 เปอร์เซ็นต์

แง่หนึ่ง มันก็มีพลังต่อนักการเมืองเหมือนกัน ถ้าวันนี้คุณพูดผิดในการประชุมสภา ยังไม่ทันก้าวเท้าออกมา ก็มีคนเตรียมรอด่าคุณเต็มไปหมด ดังนั้น จะเล่นการเมืองทุกวันนี้ต้องฟังเสียงประชาชน ซึ่งจริงๆ ยากเหมือนกันนะ เพราะช่องทางมันกว้าง ถ้าคุณฟังไม่ทั่วถึงก็อันตราย

แดนไท : ผมเห็นด้วยกับพี่ๆ ทั้งสองคน โซเชียลมีเดียมีข้อดี คือทำให้คนแสดงความคิดเห็นได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกัน สิ่งที่น่ากังวลคืออัลกอริทึมอาจทำให้เราเข้าถึงเสียงจากคนต่างกลุ่มได้น้อยลง หรืออาจไม่ได้ยินเลยด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าถ้าใช้โซเชียลมีเดียให้ดี ก็อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแค่นักการเมือง ประชาชนทั่วไปก็ต้องใช้ให้เป็น เปิดใจรับฟังเสียงอื่นๆ ที่ไม่เหมือนกับเราด้วยเหมือนกัน

 

แดนไท รัฐธรรมนูญ

 

หลายคนคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเข้าใจยาก คุณคิดเห็นอย่างไร

แดนไท : ถ้ามองในมุมคนออกแบบเกม คำในรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้าใจยาก แต่วิธีอ่านกติกาทั้งหมดยาก เพราะมีทั้งวงเล็บ วรรคต่างๆ มีการโยงไปมาตราอื่นๆ อีก ซึ่งถ้าสมมติเกมเกมหนึ่ง มี rule book หนาประมาณ 90 หน้า เวลาเล่นต้องเปิดไปเปิดมาเพื่อดูกติกาตลอด มันก็เป็นเกมที่เข้าใจยากมากเลย แต่ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งที่เขียนแบบนั้นเป็นเรื่องเชิงเทคนิคทางกฎหมาย

ณัฐนนท์ : การทำให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งที่รัฐควรจะทำ อย่างตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านมา เราเห็นว่า iLaw มีการพิมพ์เนื้อหาฉบับเข้าใจง่ายแจก ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่หน้าที่ของ iLaw ที่ต้องมาทำ รัฐบาลต่างหากที่ควรมาทำ จนบางครั้งเราเองก็สงสัยว่าเขาจงใจทำให้รัฐธรรมนูญเข้าใจยากหรือเปล่า

แดนไท : ก็เป็นไปได้นะ

 

รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดคือ ฉบับ 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายเรื่อง คุณเห็นอะไรจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้บ้าง

ธนิสรา : สิ่งที่เราเห็นบ่อยและคิดว่าเป็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญ คือกติกาการเลือกตั้งที่ไม่จบสักที จนทุกวันนี้ยังคิดเลขกันอยู่เลย วันดีคืนดี เดี๋ยวเราก็ได้ยินข่าวว่ามีส.ส.จากพรรคไหนโผล่ขึ้นมาเพิ่มอีกแล้ว เพราะคำนวณระบบบัญชีรายชื่อใหม่ เราก็คิดนะว่าทำงานกันได้จริงเหรอ (หัวเราะ) อันนี้เป็นห่วง และสงสัยว่าทำไมเขาไม่ทดลองจำลองสถานการณ์ดูก่อนว่าถ้าสถานการณ์ที่ 1 ได้คะแนนแบบนี้ ผลจะเป็นอย่างไร คิดง่ายๆ เหมือนตอนสร้างสินค้าขึ้นมาสักชิ้นก็ต้องมีตัว prototype ไว้เช็กว่ามี error ตรงไหนไหม นี่เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเข้าใจการพัฒนาเท่าไร

ตอนนี้เราเลยคิดว่า อย่างแรกที่ควรทำคือหันมาทบทวนระบบเลือกตั้งก่อนดีไหม กกต.เองก็ออกมาพูดหลายครั้งว่าวิธีเลือกตั้งมาจากรัฐธรรมนูญ แล้วถึงกำหนดระเบียบของกกต. เขาทำอะไรไม่ได้มาก เพราะถ้าทำมาก สุดท้ายจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็แปลว่านี่เป็นปัญหาที่เราคงต้องไปปลดล็อกตรงนั้นก่อน

อีกเรื่องที่รู้สึกขัดใจคือเรื่อง ส.ว. ในตอนนี้ ส.ว. เหมือนคนกดมิสไซล์ที่ทำหน้าที่แค่กดหรือไม่กดเท่านั้น มติส.ว.ที่ผ่านมา ไม่ต้องดูรายคนก็ได้ว่าใครโหวตอะไร เพราะมันกองไปทางฝั่งเดียวกันหมด เราเลยเกิดคำถามต่อโครงสร้าง ส.ว. ว่าเป็นเพราะที่มามันผิดหรือเปล่า

แดนไท : เรื่อง ส.ว. ผมเองก็สงสัยว่าเขาเลือกกันอย่างไร เคยไปเปิดอ่านในรัฐธรรมนูญดู ส.ว. 250 คน มาจากคณะกรรมการเลือกให้คสช.คัดเหลือ 194 คน รวม 6 ตำแหน่งผบ.เหล่าทัพ กับคัดบุคคลจาก 10 กลุ่มต่างๆ ให้คสช.เลือกอีก 50 คน แต่ขั้นตอนการเลือก เขาไม่บอกว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์ กระทั่งตอนเลือกตัวแทนบุคคลจาก 10 กลุ่มก็เขียนว่าให้เลือกกันเอง ไม่อธิบายเพิ่มเติมว่าเลือกกันอย่างไร ผมก็คิดนะว่าแบบนี้ก็ได้เหรอ (หัวเราะ)

ธนิสรา : นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งที่งอกมาใหม่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เราเห็นได้ชัด คือการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

ในฐานะคนที่อาจจะต้องอยู่ร่วมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไปอีกหลายปี มีความเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์นี้อย่างไร

ณัฐนนท์ : การวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรเป็นการวาง scenario ว่าอีก 20 ปี คุณมองภาพประเทศไทยไว้เป็นอย่างไร แล้วเปิดโอกาสให้คนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแต่ละชุด พยายามหา best practice ที่สอดคล้องกับยุคสมัยเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น ถ้าประชาชนไม่พอใจ เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถหาแนวทางบรรลุเป้าหมายที่เราวางไว้ได้ ก็เปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ มันควรเป็นแบบนี้ ไม่ใช่มีรัฐบาลหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งเขียนแผนให้รัฐบาลอีกหลายชุดข้างหน้าต้องทำตาม หรือบังคับให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายที่อยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์นี้เท่านั้น

ธนิสรา : ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่การกำหนดกรอบปฏิบัติให้คนอีก 20 ปีทำ และ scenario ที่อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติตอนนี้ไม่ได้ถามความเห็นจากคนที่ต้องอยู่ร่วมกับมันไปอีกหลายปี เราเข้าใจว่าในระดับโลก เช่น องค์กร World Economic Forum (WEF) ก็มีการสร้าง Foresight Tools  แต่ Foresight Tools ของเขาเป็นการให้ scenario โดยดูจากข้อมูลที่ผ่านมา ไม่ได้บังคับเรื่องกรอบปฏิบัติ นี่เป็นการคิดเผื่อคนในอนาคต แต่ยุทธศาสตร์ตอนนี้เหมือนเป็นการคิดเผื่อคนในอนาคตของพวกตัวเองเท่านั้น

แดนไท : ยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้ส่งผลแค่คนในปัจจุบัน แต่ยังส่งผลไปถึงคนในอนาคต ซึ่งบางทีอาจจะยังไม่เกิดด้วยซ้ำ แต่ถูกกำหนดกะเกณฑ์แล้วว่าต้องทำอะไร หรือต้องอยู่ในสังคมแบบไหน

เราเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ รวมถึงมีการแก้รัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้มันส่งผลต่อชีวิตเราหรือไม่ 

ธนิสรา : คำถามนี้ยากนะ เพราะรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเนื้อหาไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเราเองก็ไม่ได้รู้ลึกว่าที่จริงมันดีหรือไม่ดี อาจจะเคยได้ยินคนบอกว่าเปลี่ยนบ่อยไม่ดี เพราะมีผลต่อการวางแนวทางการทำงานหรือเรื่องอื่นๆ แต่ส่วนตัวคิดว่าถ้ารัฐธรรมนูญที่มีอยู่ไม่ดีจริงก็แก้เถอะ

ถ้าตามอุดมคติเลย คือเขียนให้ดีภายในครั้งเดียวแล้วใช้ได้นานๆ ไม่ต้องมาเปลี่ยนบ่อย แต่ถ้ามันยังมีปัญหา ก็น่าจะมีการตั้งคณะกรรมการคอยตรวจดูเนื้อหาว่ายังเข้ากับยุคสมัยอยู่หรือเปล่า ขนาดแอปพลิเคชันยังมีการอัปเดตเรื่อยๆ รัฐธรรมนูญก็น่าจะทำเหมือนกัน

แดนไท : สำหรับผม สิ่งที่สำคัญกว่าการคิดว่าทำไมถึงเปลี่ยนบ่อย แก้บ่อย คือผลลัพธ์ของการแก้ไข การแก้แต่ละครั้งแก้เรื่องอะไร เมื่อแก้แล้วจะเป็นอย่างไร ใครได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ และเรื่องที่เป็นพื้นฐาน อย่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำให้เสียงของประชาชนทุกคนมีความเสมอภาคกัน โดยไม่ไปกีดกันหรือลิดรอนสิทธิ์ของคนอื่น มันก็ไม่ควรถูกลบ

ณัฐนนท์  : รัฐธรรมนูญจะไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือแก้บ่อยๆ เลย ถ้าเขียนให้มันกว้าง เขียนสิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ (objective) และสิ่งที่ประเทศนั้นให้คุณค่า (value) ตั้งแต่ต้น เช่น อเมริกาให้ความสำคัญกับเสรีภาพ ก็ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ สำหรับไทย อาจจะเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็ระบุลงไป ส่วนรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ค่อยไปเขียนไว้ในกฎหมายลูกที่แยกย่อยออกมา เวลาเกิดข้อพิพาท ค่อยมาดูกฎหมายลูกว่าควรทำอย่างไรต่อไป

ช่วงหลังมานี้ เราได้ยินการอ้างมาตราในรัฐธรรมนูญปี 2560 บ่อยขึ้น บ่อยกว่าการใช้กฎหมายลูกระบุเป็นเรื่องๆ  เสียอีก ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนี้ เราไม่ควรเขียนอะไรก็ไม่รู้ลงไปในรัฐธรรมนูญเยอะแยะเพื่อใช้ตีความเรื่องเล็กๆ น้อยๆ กฎหมายลูกที่ออกมาก็ใช้อะไรไม่ได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้ ก็ควรแก้ในระดับกฎหมายลูก ไม่แก้ภาพใหญ่ วัตถุประสงค์ใหญ่ และการปรับเปลี่ยนแก้ไขต้องเกิดขึ้นในรัฐสภา เพราะรัฐสภาเกิดจาก ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้าไป ไม่ได้เกิดจากใครบางคนรวมกลุ่มกันเขียนขึ้นมา

การที่คุณไปแก้รัฐธรรมนูญบ่อยๆ มันหมายถึงรัฐไม่มีเสถียรภาพในเรื่องไหนเลย ขนาดรัฐธรรมนูญที่ควรเป็นวัตถุประสงค์ร่วมกันของคนในประเทศ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศชาติยังแก้กันบ่อยๆ แสดงว่ารัฐไม่มีเสถียรภาพ

ณัฐนนท์ spaceth.co

 

บางคนมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเฉพาะของนักการเมืองที่อยู่ในสภาเท่านั้น จริงหรือเปล่า

ณัฐนนท์ : นักการเมืองหรือส.ส.ไม่ได้มีสถานะแค่เป็นปัจเจกบุคคล แต่ยังเป็นตัวแทนเสียงจากประชาชนทั้งหมด เพราะเราเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกตัวแทนของตัวเองผ่านการเลือกตั้ง นี่เป็นประชาธิปไตยทางอ้อม ไม่ใช่ประชาธิปไตยทางตรงแบบยุคกรีก เราไม่สามารถนำคนไทย 70 ล้านคนไปอยู่ในรัฐสภาได้ เลยต้องเลือกตัวแทนเข้ามา ดังนั้น มันจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า คนเปิดประเด็นเป็นส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่หรือคนจากพรรคไหน แต่หมายถึงคนๆ นี้เป็นตัวแทนจากเขตที่มีอีกกี่ร้อยกี่พันคนเลือกเข้ามา และประชาชนต้องการให้เขาเป็นตัวแทนทำอะไร

ธนิสรา : เราเห็นด้วย จริงๆ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของประชาชนเหมือนกัน เราแค่ไม่ได้เป็นคนยื่นเรื่องแก้ไขหรือดำเนินการอะไรเอง เพราะเราเชื่อว่ากลไกของการเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนมันจะเวิร์ค

แดนไท : ก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยชอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนเลย เพราะคิดว่ามันจะเป็นไอเดียที่ดีได้อย่างไร ถ้าไม่ได้เป็นเสียงที่มาจากตัวประชาชนจริงๆ แต่พอฟังสิ่งที่พี่ๆ อธิบายก็เข้าใจได้ว่ามันไม่ได้แย่นะ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำได้ดีที่สุดแล้วในสภาพแบบนี้ ที่สำคัญคือเราจะมีกระบวนการตรวจสอบการทำงานหน้าที่ของส.ส.หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วม ออกความเห็น ตัดสินใจเรื่องรัฐธรรมนูญได้อย่างไรบ้าง

 

.ส.ในตอนนี้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนจริงไหม หรือสุดท้ายก็ยังมีสถานะเป็นตัวแทนขั้วอำนาจทางการเมืองของแต่ละฝ่ายมากกว่า

ธนิสรา : เราคิดว่าตอนนี้ส.ส.ยังไม่มีอิสระมากพอที่จะเป็นคนของประชาชนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันยังมีกติกาที่เขาควบคุมไม่ได้อยู่ในสภา เช่น เรื่องส.ส.โหวตสวนมติพรรค สมมติถ้าประชาชนในเขตเขาบอกว่าให้ทำแบบนี้  แต่ภายในมีกลการเมืองที่ตัดสินว่าถ้าโหวตสวนมติพรรคเท่ากับงูเห่า ก็ทำให้เขาไม่มีอิสรภาพในการตัดสินใจ และออกตัวว่าเป็นคนของประชาชนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เรายังก้าวข้ามการเมืองในการเมืองไม่พ้น

อันที่จริง เราเห็นใจคนเป็นส.ส.นะ เพราะคงเหนื่อยกับการรับมือหลายอย่าง บางทีเขาอยากจะทำอีกแบบหนึ่งซึ่งอาจจะตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่เขา แต่ถ้าไม่เข้ากับมติพรรค ก็โดนให้ออกอีก

ณัฐนนท์ : สิ่งที่เราเห็นจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคือ ส่วนใหญ่ประชาชนเลือกส.ส.เพราะเขาเป็นตัวแทนของขั้วแนวคิดใหญ่ๆ เช่น แนวคิดแบบอนาคตใหม่ หรือพลังประชารัฐ ไม่ใช่เพราะว่าส.ส.คนนี้เป็นตัวแทนของฉันได้ นอกจากนี้ กลยุทธ์ในการสื่อสารกับประชาชนของพรรคการเมืองตัวแทนขั้วแนวคิดพวกนี้ก็มีผล เหมือนยุทธศาสตร์ล่าสุดของเพื่อไทยที่บอกว่าถ้าไม่เอาประยุทธ์ ไม่เลือกเขา อย่างน้อยก็เลือกพรรคร่วมแนวคิดเขาก็ได้ เป้าหมายของทุกคนในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ได้ทำเพื่อเลือกตัวแทนไปพัฒนาประเทศ แต่ทำเพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ กลายเป็นภาพส.ส.ที่ดูเหมือนเป็นตัวแทนขั้วอำนาจมาปะทะกัน ซึ่งการใช้กลยุทธ์แบบนี้ มันไม่เวิร์ค

 

ที่ผ่านมา คนร่างรัฐธรรมนูญมักเป็นคนรุ่นเก๋าเสียส่วนใหญ่ คุณคิดว่านั่นส่งผลอะไรต่อชีวิตคุณบ้างไหม

ณัฐนนท์ : อายุไม่มีผลหรอก ถ้าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ อายุจะเป็นประเด็นก็ต่อเมื่อคุณแบ่งแยกกลุ่ม ‘เด็ก’ กับ ‘ผู้ใหญ่’ เท่านั้นเอง คำว่า ‘คนรุ่นใหม่’ กับ ‘คนรุ่นเก่า’ เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นขั้วตรงข้าม ดูเหมือนจะขัดแย้งกันแต่จริงๆ ไม่ใช่ เวลาทำงาน เราเคยเจอทั้งผู้ใหญ่ที่มีวิสัยทัศน์ สนับสนุนเรามาก และผู้ใหญ่แบบที่มักตำหนิติเตียนเด็กก็มีเหมือนกัน

ธนิสรา : ตัวเด็กเองก็มีคนที่แอนตี้ผู้ใหญ่ ไม่รับฟังอะไรเลยเหมือนกัน ฉะนั้น มันขึ้นอยู่กับนิสัย ความคิดของแต่ละคนมากกว่าเป็นเรื่องอายุ

 

ธนิสรา Punch Up

ถ้าให้ออกแบบรัฐธรรมนูญในแบบฉบับของตัวเอง อยากจะแก้หรือเพิ่มเติมเรื่องอะไร

แดนไท : ผมอยากแก้ไขเรื่องศาสนา รัฐธรรมนูญหลายฉบับ หรือในฉบับล่าสุดเองก็ตาม จะมีมาตราว่าด้วยเรื่องการอุปถัมภ์ศาสนา เขียนว่ารัฐต้องอุปถัมภ์ศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ แต่พอไปดูคำอธิบายจะเขียนแค่การสนับสนุนศาสนาพุทธ เชิดชูแต่ศาสนาพุทธ ซึ่งผมไม่ได้เกลียดศาสนาพุทธนะครับ แค่รู้สึกว่า ในเมื่อคุณโอเคกับทุกศาสนาอยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะเขียนเน้นย้ำเฉพาะศาสนาพุทธเท่านั้น

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าถ้าทำได้ก็จะดีมาก คือการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ไม่ใช่เข้าถึงในเชิงดาวน์โหลดมาอ่านได้ แต่ต้องอ่านรู้เรื่องด้วย ซึ่งนี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรจัดการให้ประชาชนอย่างที่ว่ากันไปแล้ว

ณัฐนนท์ : เราคิดว่ารัฐธรรมนูญควรทำหน้าที่ 2 อย่าง คือเป็นวัตถุประสงค์ร่วมกันของคนในรัฐ และเป็น Log หรือตัวแทนบันทึกสภาพสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในตอนที่สร้างมันขึ้นมาด้วย เราควรมีการบันทึกการสร้างหรือแก้ไขอย่างชัดเจน ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นได้จากการมีมติร่วมกันในวันไหน ประชุมวาระไหน ในตอนนั้นเรามีความเห็นร่วมกันว่าประเทศไทยควรเป็นอย่างไร บริบทของสังคมเป็นเช่นไร เวลาที่มีการตีความในอนาคต หลังผ่านไป 10 ปี เราจะได้มองเห็นภาพว่าอะไรที่เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ ทำไมมันจึงเป็นปัญหา มาจากสภาพสังคมในช่วงเวลานั้นหรือไม่ มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลและชัดเจน ทุกคนจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกันว่าควรแก้ไขอย่างไรและทำไม ไม่อย่างนั้นเราก็จะเกิดคำถามเวลาแก้ไขว่าทำตามความต้องการของใครหรือเปล่า

ตอนอเมริกาประกาศอิสรภาพ มีรัฐธรรมนูญของตัวเอง เรายังสามารถติดตามได้ว่าสภาพสังคมในช่วงนั้นเป็นอย่างไร เพราะอะไรจึงมีคำประกาศและรัฐธรรมนูญแบบที่เราเห็น แต่ของเราไม่มีการบันทึกที่ชัดเจนมาตั้งแต่สมัยคณะราษฎร ในเมื่อเราไม่ได้คำนึงถึงสิ่งนี้แต่แรก รัฐธรรมนูญของเราจึงทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ไว้ไม่ได้

ธนิสรา : เรื่องแรกน่าจะเป็นการแก้ระบบเลือกตั้ง เราคิดว่าน่าจะเขียนให้กว้างกว่านี้ ทำให้ระเบียบการเลือกตั้งแต่ละครั้งสามารถทำงานได้มากกว่านี้ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมามีความเข้มงวดมาก ต้องไปเป็นตามมาตราต่างๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทำให้ระเบียบเลือกตั้งทำงานได้ยาก

สิ่งที่สนใจอีกเรื่องคือเรื่อง Transparency หรือการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ ซึ่งกฎหมายแบบนี้ ในทางปฏิบัติอาจออกมาเป็นรูปแบบพ.ร.บ. แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรระบุในรัฐธรรมนูญเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยรัฐให้ชัดเจนขึ้น เพราะตอนนี้เรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดมาก ทั้งๆ ที่มันสิทธิของประชาชนด้านหนึ่งและเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเปิดเผย เพื่อให้ประชาชนนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ รวมถึงตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ เราว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนหนึ่งเพราะทำงานด้านนี้แล้วรู้สึกว่าต้องดิ้นรนมากกับการได้มาซึ่งข้อมูลต่างๆ เราจะช่วยกันตรวจสอบการทำงานของรัฐได้อย่างไรถ้าประเทศนี้ไม่เปิดโอกาสให้เราทำ

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save